
ภูมิปัญญาด้านจักสานและแกะสลักหิน เขาสมอแคลงซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ แหล่งโบราณสถานด้านพุทธศาสนา รอยพระพุทธบาทตะแคงซึ่งมีแหล่งเดียวในโลก
ในปี พ.ศ. 2528 บ้านโรงบ่มหรือหมู่ 11 ตำบลวังทอง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ได้รับการประกาศให้แยกออกจากบ้านสมอแคลง หรือหมู่ 8 ตำบลเดียวกัน เนื่องด้วยมีประชากรจำนวนมากจนสามารถแยกออกมาตั้งเป็นอีกหมู่บ้านได้ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงมหาดไทย ลุงเสงี่ยม มีเอี่ยว อดีตผู้ใหญ่บ้านคนที่ 2 และอดีตกำนันอำเภอวังทอง (สัมภาษณ์, 11 กุมภาพันธ์ 2568) เล่าว่าชื่อโรงบ่มตั้งมาจากบริเวณชุมชนหลักในขณะนั้น ซึ่งยังเป็นบ้านเดียวกับหมู่บ้านสมอแคลง มีประธานชุมชนชื่อ "ตาทอง" ซึ่งทำอาชีพเกษตรกรและมีโรงบ่มยาสูบที่ขนมาจากตัวอำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก และ จังหวัดอื่น ๆ ใกล้เคียง โดยเฉพาะจากอำเภอหล่มเก่าและอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ พื้นที่บ้านโรงบ่มแต่เดิมทำการเกษตรได้ผลไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากเป็นดินทราย ทำให้ชาวบ้านในบริเวณนั้นผันพื้นที่บางส่วนเป็นโรงบ่มยาสูบเพื่อสร้างรายได้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การผลิตยาสูบขยายตัวในภูมิภาคโดยเฉพาะภาคเหนือและพื้นที่ผลิตใกล้เคียง จนต้องหาแหล่งบ่มยาสูบเพื่อผลิตให้ทันต่อความต้องการ ทำให้มีโรงบ่มยาสูบเกิดขึ้นมากถึง 20 โรงในบริเวณบ้านโรงบ่มปัจจุบัน
ลุงเสงี่ยมเล่าว่าในเวลานั้น การตั้งชื่อหมู่บ้านเกิดขึ้นด้วยความรวดเร็วเพื่อเสนอไปยังกระทรวงมหาดไทย ขณะที่ชื่อได้สะท้อนอาชีพสำคัญของชุมชนในเวลานั้น แต่ในช่วงราวปี พ.ศ. 2538-2540 การปลูกยาสูบลดความสำคัญลง เนื่องด้วยปัจจัยต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น กรอปกับต้องการทำยาสูบต้องเสียภาษีสูงขึ้น จึงทำให้การปลูกยาสูบในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและใกล้เคียงลดลงจนแทบไม่เหลือเลยในปัจจุบัน อาชีพหรือรายได้ที่มาจากโรงบ่มก็สูญพันธุ์ไปด้วย จึงทำให้ปัจจุบันโรงบ่มจึงเหลือเพียงแต่เป็นชื่อของหมู่บ้าน จบแทบไม่เห็นร่องรอยของอาชีพหรือรายได้ของชุมชนเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมามากนัก
ลุงเสงี่ยมเล่าว่าในสมัยที่ตนเองเป็นกำนันอยู่ก็มีความคิดที่จะเปลี่ยนชื่อหมู่บ้าน แต่เมื่อศึกษาขั้นตอนและระเบียบต่าง ๆ ที่ต้องส่งเรื่องและดำเนินการไปยังกระทรวงมหาดไทยที่ส่วนกลาง จึงล้มเลิกความตั้งใจไป บ้านโรงบ่มจึงเป็นชื่อของหมู่บ้านที่เรียกติดปากมาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ลุงเสงี่ยมบอกว่าชื่อนี้ไม่เป็นที่รู้จักสำหรับคนภายนอกเท่ากับบ้านสมอแคลง ซึ่งเป็นบ้านเดิมที่คนในชุมชนแยกตัวออกมาตั้งหมู่บ้านใหม่
ภูมิปัญญาด้านจักสานและแกะสลักหิน เขาสมอแคลงซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ แหล่งโบราณสถานด้านพุทธศาสนา รอยพระพุทธบาทตะแคงซึ่งมีแหล่งเดียวในโลก
หมู่บ้านโรงบ่ม เดิมเป็นพื้นที่ป่าไม้ซึ่งยังครอบคลุมพื้นที่เขาสมอแคลงทั้งหมด ต่อมาผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณหน้าเมือง โคกมะตูม โคกช้าง และสมอแข ซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่มใกล้แหล่งน้ำขนาดใหญ่ ได้แก่ แม่น้ำวังทองซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักไหลผ่าน นอกจากนี้ยังมีบึงราชนกและคลองเสือลากหาง ทำให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวประสบกับปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนเป็นประจำ เนื่องจากไม่สามารถระบายมวลน้ำที่ไหลบ่าจากทุกทิศทางได้ทัน ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าวต้องพากันขนย้ายสมาชิกในครอบครัวและวัวควายขึ้นเขาสมอแคลง บางครัวเรือนสร้างเพิงพักชั่วคราว แต่บางครัวเรือนพัฒนาจากเพิงพักเป็นบ้านเรือนมั่นคงถาวร ด้วยเหตุที่ว่าพื้นที่นาและบ้านเรือนได้รับความเสียหายหนักเกินไป จนไม่สามารถอยู่ในพื้นที่เดิมได้ ครัวเรือนกลุ่มนี้มีมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงหลังจากที่มีการสร้างทางหลวงสาย 12 พิษณุโลก-วังทอง ทำให้การระบายน้ำมีอุปสรรคมากขึ้น ปัญหาน้ำท่วมจึงรุนแรงขึ้น ทำให้ครัวเรือนจำนวนมากอพยพขึ้นเขาสมอแคลง กระทั่งได้มีการจัดตั้งหมู่บ้านขึ้นอย่างเป็นทางการ (สอนศักดิ์ ปรัศนี, 23 สิงหาคม 2567)
หมู่บ้านโรงบ่ม หมู่ 11 แยกออกจากหมู่บ้านสมอแคลงหรือหมู่ 8 ในปี พ.ศ. 2528 เนื่องจากประชากรหนาแน่นและมีจำนวนมากพอตามเกณฑ์ของกระทรวงมหาดไทย ในเวลานั้นจึงมีการเลือกผู้นำหรือผู้ใหญ่บ้านด้วยการขานชื่อและมีสมาชิกในชุมชนรองรับ ผู้ใหญ่บ้านคนแรกของบ้านโรงบ่ม ได้แก่ นายสมใจ ยิ้มปิ่น คนที่สอง ได้แก่ นายเสงี่ยม มีเอี่ยว เป็นคนบ้านบางสะพาน หรือหมู่ 4 ในตำบลเดียวกัน ก่อนย้ายเข้ามาเป็นเขยในบ้านสมอแคลงจนแยกออกมาเป็นบ้านโรงบ่ม ปัจจุบัน (พ.ศ. 2568) บ้านโรงบ่มมีผู้ใหญ่บ้านคนที่ 3 ได้แก่ นายสำเริง แตงทองแท้ (สำเริง แตงทองแท้, สัมภาษณ์, 11 กุมภาพันธ์ 2568) ลุงเสงี่ยม มีเอี่ยว หรืออดีตผู้ใหญ่บ้านคนที่ 2 ของบ้านโรงบ่ม (สัมภาษณ์, 11 กุมภาพันธ์ 2568) ในยามที่แยกหมู่บ้านออกมานั้นเป็นช่วงที่คนในพื้นที่บ้านโรงบ่มมีรายได้จากการทำโรงบ่มยาสูบ โดยมีตาทอง เป็นประธานชุมชนย่อยก่อนที่จะแยกหมู่บ้านออกมา ตาทองในเวลานั้นเป็นหนึ่งในสมาชิกชุมชนที่มีโรงบ่มยาสูบในจำนวนกว่า 20 โรงในขณะนั้น (ปัจจุบันตาทองเสียชีวิตแล้ว)
ลุงเสงี่ยมเล่าว่าเวลานั้น การปลูกยาสูบในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงและบางพื้นที่ในพิษณุโลกค่อนข้างเติบโต และได้ส่งผลผลิตหรือใบยาสูบมาจากหลายแห่ง เช่น จากอำเภอหล่มสัก และอำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ รวมถึงจากในจังหวัดพิษณุโลกด้วย เช่น จากอำเภอนครไทย และอำเภอชาติตระการ และที่ในอำเภอวังทองเองก็มีการปลูกยาสูบด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นในตำบลวังทองและตำบลวังพิกุล หรือในตำบลท่าตาลในอำเภอบางกระทุ่ม แม้ว่าพิษณุโลกจะไม่ใช่พื้นที่ปลูกยาสูบที่สำคัญเท่ากับภาคเหนือหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเวลานั้น ลุงเสงี่ยมเป็นคนหนึ่งที่ปลูกยาสูบในบริเวณอำเภอวังทอง ในพื้นที่ที่มีแม่น้ำวังทองไหลผ่าน เนื่องด้วยยาสูบเป็นพืชที่มีความต้องการในการผลิตทั้งบุหรี่และใบยาเส้น ซึ่งมีอยู่หลายยี่ห้อ เช่น กรุงไทย กรุงทอง ขณะที่ในเวลานั้นในบริเวณหมู่บ้านโรงบ่มไม่สามารถปลูกข้าวหรือพืชหลักได้ดี เนื่องด้วยสภาพที่เป็นดินทราย แต่ยังเหมาะสมกับการปลูกพืชบางชนิด เช่น มันเทศ มันสำปะหลัง และผักอย่างถั่วฝักยาว และมะระ โดยการใช้น้ำจากบ่อขุดในการปลูก อีกทั้งสภาพดินที่ค่อนข้างเก่าเสื่อมโทรม จึงทำให้ปลูกอะไรไม่ได้ผลดีนัก บางฤดูกาลก็เกิดน้ำท่วม ดังนั้น การใช้พื้นที่ในการทำโรงบ่มจึงเป็นยุทธศาสตร์การดำรงชีพที่ลงตัวที่สุดในเวลานั้น คนในบ้างโรงบ่มจึงปลูกโรงบ่มยาสูบที่มีลักษณะคล้ายยุ้งข้าวแต่ขนาดใหญ่กว่า เป็นซุ้มขนาดกว้างประมาณ 6 ศอก เพื่อให้มีพื้นที่แขวนใบยาสูบที่เรียงกันได้ โดยชาวบ้านกั้นพื้นที่กั้นไม้เป็นล็อก ๆ เพื่อวางใบยาสูบสีเขียวที่รูดออกจากก้านมาเรียงและใช้ผ้าคลุมไว้ 3-4 วัน เพื่อใบเปลี่ยนเปลี่ยนเป็นสีเหลืองที่สวยงาม ก่อนที่นำมาตัดเป็นเส้น ๆ ซึ่งชาวบ้านสามารถตัดด้วยมือเองหรือจะส่งไปตัดด้วยเครื่องที่ในตัวเมืองพิษณุโลกที่ตัดใบยาสูบเป็นเส้นได้เร็วกว่า
ในเวลานั้นชาวบ้านคัดยาสูบออกเป็น 3 ประเภทหลัก ประเภทแรก ยาจืด ซึ่งประเภทนี้เอาไว้ใช้ทำยาสีฟัน ในสมัยที่คนยังเคี้ยวหมากฟันดำ และต้องใช้ส่วนประกอบของยาสูบสีฟันทำความสะอาด ประเภทที่สองคือยายอดหรือยาฉุน (หรือยอดใบยาสูบ) ประเภทที่สามคือ ยากลาง การคัดเลือกใบต้องพิจารณาจากจำนวนใบว่าในแต่ละก้านมีจำนวนเท่าใด เช่น ก้านหนึ่งมี 10-15 ใบ ก็ต้องหักยอดออกมารูดใบเพื่อนำมาบ่ม จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2538-2539 โรงงานบ่มยาสูบเริ่มปิดตัวลง เนื่องจากต้นทุนในการปลูกยาสูบมีมากขึ้น ผนวกกับการขึ้นภาษีของการผลิตบุหรี่และยาเส้น จึงทำให้การปลูกยาสูบลดลงและอาชีพหรือรายได้จากโรงบ่มก็ได้รับผลกระทบตามมา ปัจจุบันจึงไม่มีโรงบ่มในหมู่บ้านโรงบ่มที่กลายเป็นเพียงชื่อ คนในชุมชนจำนวนหนึ่งของบ้านโรงบ่มซึ่งยังมีที่ดินการเกษตรในหมู่บ้านเดิมคือบ้านสมอแคลงจึงยังคงทำการเกษตรต่อไป โดยเฉพาะการทำนา แต่สำหรับคนที่มีที่ดินในบ้านโรงบ่มก็มักยกมรดกให้ลูกหลาน แต่คนในรุ่นถัดมา หากได้รับมรดกเป็นที่ดินจากพ่อแม่ก็เลือกที่จะขายที่ดินให้กับคนทั้งในและนอกชุมชนเพื่อพัฒนาเป็นเมืองไป (ลุงเสงี่ยม มีเอี่ยว, สัมภาษณ์, 11 กุมภาพันธ์ 2568)
ทั้งนี้ ชุมชนบ้านโรงบ่มยังมีความผูกพันกับพื้นที่เขาสมอแคลง (หรือสมอแครง) ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ชาติและการบำรุงพระพุทธศาสนา ตามที่ปรากฎในพงศาวดารและตำนานซึ่งกล่าวไว้ว่าเขาสมอแคลงเป็นชุมชนโบราณเก่าแก่ร่วมสมัยทวาราวดี ลพบุรี สุโขทัย และอยุธยา สิ่งสำคัญได้แก่ เจดีย์ทรงลังกา เป็นศิลปะสมัยสุโขทัยตอนปลาย หรือสมัยอยุธยาตอนต้น น่าจะมีการบูรณะปฏิสังขรณ์ในสมัยสุโขทัยตอนปลาย และพระพุทธรูปสมัยทวาราวดี และองค์พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย พบหลักฐานโบราณสถานและโบราณวัตถุสำคัญหลายประการที่เกี่ยวข้องกับการเสด็จของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ที่มีความสำคัญกับพระพุทธศาสนาของไทย อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของวัดโบราณมากถึง 7 วัด แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 4 วัด คือ วัดตระพังนาค วัดสระสองพี่น้อง (เป็นวัดที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสร้างไว้) วัดพระพุทธ-บาทเขาสมอแคลง มีบันไดนาคโบราณทั้งหมด 197 ขั้น ซึ่งมีรอยพระพุทธบาทตะแคงแห่งเดียวของโลก และองค์เจดีย์บนเขาสมอแคลงที่วัดพระมหาชัยเจดียศรีสมอแคลงหรือวัดเจดีย์ยอดด้วน เป็นวัดเก่าแก่สมัยสุโขทัย ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์หลายครั้ง (กองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2563)
นอกจากนี้ เขาสมอแคลงซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนยังเป็นสถานที่สำคัญในเส้นทางเดินทัพตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงสมัยอยุธยาหรือสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และยังเป็นเส้นทางการค้าขายที่สำคัญตั้งแต่สมัยยังมีการขนสินค้าด้วยช้างม้าและล้อเกวียนกระทั่งถึงปัจจุบัน เพื่อขนสินค้าจากป่าสู่เมืองใหญ่ รวมถึงการขนสินค้าจากเมืองใหญ่ซึ่งเต็มไปด้วยสินค้าแปรรูปหลากหลายกลับไปยังบ้านป่าซึ่งต้องการข้าวของเครื่องใช้ที่ตนไม่ต้องเสียเวลาผลิตเอง เช่น ถ้วยชามไห เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น เส้นทางการค้าสายนี้ถูกพัฒนาเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบันกลายเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งที่มีความสำคัญในระดับประเทศและระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สอนศักดิ์ ปรัศนี, 23 สิงหาคม 2567)
บ้านโรงบ่มตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาสมอแคลง ที่มีสภาพเป็นภูเขาขนาดย่อม วัดความสูงจากพื้นดินประมาณ 200 เมตร หรือสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 30 เมตร เขาสมอแคลงตั้งโดดเดี่ยวริมทางกลางท้องทุ่ง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 14 ริมถนนพิษณุโลก-หล่มสัก ก่อนถึงตัวอำเภอวังทองประมาณ 3-4 กิโลเมตร และตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกประมาณ 17 กิโลเมตร เขาสมอแคลงยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมของจังหวัดพิษณุโลก เป็นที่ตั้งของโรงเจไซทีฮุกตึ๊ง ศาสนาพุทธนิกายมหายาน ประวัติเล่าว่าชาวจีนที่ตั้งรกรากอยู่ในเมืองพิษณุโลกเป็นผู้สร้างขึ้น โดยเริ่มสร้างให้มีรูปปั้นเจ้าพ่อเห้งเจีย จนทำให้เรียกกันติดปากว่าศาลเจ้าพ่อเห้งเจีย หลังจากนั้นก็มีการขยายต่อเติมจนมีขนาดใหญ่และตกแต่งสวยงาม โดยมีรูปปั้นของเจ้าแม่กวนอิมสร้างด้วยหยกขาวเป็นอีกสิ่งดึงดูดสำคัญ โรงเจแห่งนี้ยังมีอาหารเจเลี้ยงผู้ที่มาเยี่ยมชมและจิตศรัทธาด้วย นอกจากโรงเจไซทีฮุกตึ๊งแล้ว เขาสมอแคลงยังเป็นที่ตั้งของวัดราชคีรีหิรัญยาราม ที่มีจุดชมวิวที่สวยงาม ทำให้เห็นวิวทิวทัศน์ของทุ่งนาและความเจริญบริเวณใกล้เคียง จนได้ฉายาว่าเป็น "ดอยสุเทพ 2" (แขวงทางหลวงพิษณุโลกที่ 2 [วังทอง], ม.ป.ป.)
แต่เดิมบ้านโรงบ่มมีสภาพเป็นป่าทึบบริเวณเชิงเขา เมื่อมีผู้คนอพยพขึ้นมาอาศัยอยู่จำนวนมากขึ้น สภาพพื้นที่จึงเปลี่ยนจากป่าทึบเป็นบ้านเรือนน้อยใหญ่ที่ขยายไปตามเชิงเขา และสถานที่สำคัญของชุมชน เช่น โรงเรียนบ้านเขาสมอแคลง ซึ่งตั้งอยู่ติดกับถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (พิษณุโลก-วังทอง) และมีทางหลวงชนบทหมู่ 11 ตำบลวังทอง เป็นถนนสายหลักของหมู่บ้านตั้งเป็นแนวยาวเลียบเชิงเขาสมอแคลง รวมถึงถนนสายเล็ก ๆ เข้าถึงซอกซอยต่าง ๆ อย่างสะดวกสบาย นอกจากนี้ ภายในหมู่บ้านยังมีศูนย์เรียนรู้ชุมชน ซึ่งเป็นเหมือนศาลากลางหมู่บ้านหรือที่ทำกิจกรรมร่วมกันของคนในชุมชน รวมถึงร้านค้า ร้านอาหาร บริการทั้งคนในชุมชนและนักท่องเที่ยว
จากข้อมูลที่ตั้งและสภาพทั่วไปของหมู่บ้าน ซึ่งรวบรวมโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (2567) ระบุว่าบ้านโรงบ่มประกอบด้วยครัวเรือนจำนวน 466 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 484 คน และหญิง 521 คน รวม 1,005 คน แต่เดิมประชากรบ้านโรงบ่มแบ่งได้เพียง 2-3 เชื้อสาย ได้แก่ ชาวไทยวนกลุ่มที่อพยพมาจากราชบุรี เชื้อสายจีนที่มาจากการขยายตัวในการค้าขายจากอำเภอเมืองพิษณุโลกมายังอำเภอวังทอง จากจังหวัดสุโขทัย และคนท้องถิ่นดั้งเดิมของวังทอง (สุดารัตน รัตนพงษ และคณะ, 2564) ต่อมามีการแต่งงานระหว่างคนในพื้นที่กับคนนอกพื้นที่ รวมถึงการอพยพโยกย้ายของประชากรจากภูมิภาคอื่นเข้ามาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านมากขึ้น การเปิดรับประชากรโดยปราศจากการแบ่งแยกหมู่เหล่าหรือเชื้อชาติ ส่งผลให้ในปัจจุบันบ้านโรงบ่มประกอบด้วยประชากรที่มาจากแทบทุกภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ใต้ กลาง อีสาน ซึ่งทุกคนต่างได้ชื่อว่าเป็นสมาชิกหมู่บ้านโรงบ่มที่มีสิทธิมีเสียงเท่าเทียมและเสมอภาค ภายใต้การอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข (อำไพ พอกประโคน, 23 สิงหาคม 2567)
ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานระดับหมู่บ้านของบ้านโรงบ่ม (กรมการพัฒนาชุมชน, 2565) ระบุว่าคนบ้านโรงบ่มมีการประกอบอาชีพหลากหลาย แต่ที่มากที่สุด คือ อาชีพรับจ้างทั่วไป 580 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 57.71 รองลงมาคือ อาชีพค้าขาย 102 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 10.15 อาชีพพนักงานประจำ ได้แก่ พนักงาน-รับราชการ, พนักงาน-รัฐวิสาหกิจ และพนักงาน-พนักงานบริษัท 60 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 5.97 อาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ ทำนา ทำไร่-สวน และปศุสัตว์ 53 ครัวเรือน หรือคิดเป็นร้อยละ 5.28 และการประกอบธุรกิจส่วนตัว 26 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 2.59 ประกอบอาชีพอื่น ๆ 41 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 4.08 และกำลังศึกษา 108 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 10.75
จะเห็นได้ว่าการประกอบอาชีพของคนบ้านโรงบ่มมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมินิเวศและสังคมของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการลดลงของพื้นที่เกษตรกรรมภายใต้การพัฒนาพื้นที่ของภาครัฐ ทำให้พื้นที่นาข้าวของชาวบ้านถูกใช้เป็นสถานที่ราชการ และส่วนหนึ่งถูกพัฒนาเป็นพื้นที่สร้างถนน สำหรับชาวบ้านดั้งเดิมที่เคยมีพื้นที่เกษตรอยู่ต่างหมู่บ้าน บริเวณบึงราชนก สมอแข โคกมะตูม โคกช้าง ก็ประสบชะตากรรมไม่ต่างกัน คือพวกเขาต้องขายที่ดินให้กับคนนอกพื้นที่ เนื่องจากประสบปัญหาน้ำท่วมซึ่งมีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะช่วงหลังจากที่มีการสร้างถนนทางหลวงหมายเลข 12 ซึ่งเป็นถนนสายใหญ่ที่ขวางกั้นทางน้ำไหลตามธรรมชาติ เมื่อพื้นที่เกษตรกรรมหายไปพร้อมกับความวิถีการพึ่งพาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้ผู้คนต้องขวนขวายจากอาชีพอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างหลากหลายท่ามกลางการขยายตัวของเศรษฐกิจทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ ผู้คนบ้านโรงบ่มอพยพแรงงานเข้าสู่เมืองพิษณุโลกและกรุงเทพมหานครไม่ต่างจากผู้คนบ้านอื่น ๆ และขณะเดียวกันผู้คนจากที่ต่าง ๆ ก็อพยพเข้ามาอยู่ในบ้านโรงบ่มซึ่งเป็นพื้นที่ชานเมืองไม่ไกลจากแหล่งงานของพวกเขามากนัก ทำให้บ้านโรงบ่มเต็มไปด้วยผู้คนจากหลายภูมิภาคที่เข้ามาแสวงหาโอกาสทางอาชีพจากเมืองใหญ่เช่นพิษณุโลก
กลุ่มองค์กรที่มีอยู่ในชุมชน นอกจากคณะกรรมการพัฒนาหมู่บ้าน อันประกอบด้วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และกรรมการที่ทำหน้าที่ดูแลฝ่ายต่าง ๆ แล้ว ยังมีการจัดตั้งกลุ่มอาชีพเพื่อการเสริมทักษะและสร้างรายได้เสริมให้แก่คนในชุมชน โดยแบ่งเป็นกลุ่มอาชีพดั้งเดิมที่อยู่คู่กับชุมชนมาเนิ่นนาน สืบค้นได้ว่าเป็นภูมิปัญญาและองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยสุโขทัยตอนปลาย ได้แก่ กลุ่มจักสานไม้ไผ่ กลุ่มแกะสลักหิน และกลุ่มอาชีพตามทักษะที่ได้รับการพัฒนาคุณภาพการผลิตของกลุ่มแม่บ้าน ได้แก่ กลุ่มน้ำพริก กลุ่มไข่เค็ม กลุ่มข้าวแต๋น เป็นต้น
สำหรับวิถีทางประเพณีและวัฒนธรรมของผู้คนบ้านโรงบ่มมีความสัมพันธ์กับพื้นที่เขาสมอแคลงซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเกี่ยวโยงกับพุทธศาสนาอย่างแนบแน่นและได้รับการสืบทอดต่อกันมา ผู้คนบ้านโรงบ่มต่างมีความเชื่อความศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ของพื้นที่เขาสมอแคลงซึ่งเต็มไปด้วยร่องรอยความเจริญทางพุทธศาสนา งานประเพณีสำคัญของชุมชน ได้แก่ งานประเพณีการตักบาตรเทโวโรหณะ เนื่องในวันออกพรรษาของทุกปี เป็นประเพณีทางพุทธศาสนา ซึ่งมีความเจริญในพุทธศาสนา วัฒนธรรม และประเพณีมาเป็นเวลายาวนาน และทำการประกอบพิธีในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ คือ วัดพระพุทธบาทเขาสมอแคลง ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของรอยพระพุทธบาทตะแคง
ส่วนอีกงานคือประเพณีเวียนเทียนห่มผ้าพระมหาเจดีย์ศรีสมอแคลง ถือเอาวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 3 ถึงแรม 2 ค่ำ เดือน 3 หรือเนื่องในวันมาฆบูชาของทุกปี พุทธศาสนิกชนทั้งในและนอกชุมชนจำนวนมากจะร่วมกันเดินแห่ผ้าห่มผืนที่มีความยาวขึ้นสู่บริเวณยอดเขาเพื่อทำการเปลี่ยนผ้าห่มองค์พระมหาเจดีย์ศรีสมอแคลงเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว ประเพณีดังกล่าวยังเป็นการสักการะพ่อปู่ขุนเณร ซึ่งเป็นการจัดงานใหญ่ประจำปีของพื้นที่ระยะเวลา 10 คืน 10 วัน ในงานมีการจัดจำหน่ายสินค้าของดีอำเภอวังทองและสินค้าอื่น ๆ มากมาย (กฤติมา อินทะกูล และณัฐพร ตั้งเจริญชัย, 2563;สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพิษณุโลก, 2567)
นอกจากนี้ ยังมีงานสมโภชเจ้าแม่ทองคํา-เจ้าแม่ทับทิม ซึ่งเป็นงานประจำปีของอำเภอวังทองในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤศจิกายน และชุมชนหมู่บ้านโรงบ่มให้ความสำคัญ เพราะเป็นประเพณีของคนไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่ ไฮไลต์ของงานคือการเดินขบวนของเจ้าแม่ทองคำ-เจ้าแม่ทับทิมไปตามที่ต่าง ๆ เริ่มต้นจากศาลเจ้าแม่ทองคำ-เจ้าแม่ทับทิม บริเวณริมแม่น้ำวังทอง มายังใจกลางตลาดสี่แยกวังทอง และแวะเวียนไปตามบ้านของผู้คนที่เตรียมของไว้สำหรับไหว้หรือสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล พร้อมด้วยการแสดงศิลปวัฒนธรรมที่สะท้อนความหลากหลายของวัฒนธรรมที่มาจากกลุ่มคน เช่น การแสดงเองกอ การแสดงมังคละ และการแสดงของเยาวชนของโรงเรียนในอำเภอวังทอง (แนวหน้า, 2567)
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย. (2565). จำนวนประชากรจำแนกตามประเภทอาชีพ ปี 2565 ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานระดับหมู่บ้าน/ชุมชน. สืบค้น 24 สิงหาคม 2567. https://ebmn.cdd.go.th/#/jpt/report
กฤติมา อินทะกูล และณัฐพร ตั้งเจริญชัย. (2563). การศึกษาศักยภาพของชุมชนเพื่อการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม กรณีศึกษาตำบลวังทอง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก. วารสารวิทยาลัยสงฆ์นครลำปาง, 9(3), 53-70.
แขวงทางหลวงพิษณุโลกที่ 2 [วังทอง]. (ม.ป.ป.). เขาสมอแคลง, โรงเจไซทีฮุกตึ๊ง, เจ้าแม่กวนอิมหยกขาว. http://webmain.doh.go.th:88/dohphitsanulok2/
แนวหน้า. (23 พฤศจิกายน 2567). นักท่องเที่ยวแห่ชมการแสดง'เองกอ'งานสมโภช'เจ้าแม่ทองคำ-เจ้าแม่ทับทิม'คึกคัก. แนวหน้า. https://www.naewna.com/
พิษณุโลกฮอตนิวส์. (2566). ชาววังทองสืบสานประเพณีตักบาตรเทโว เชิงบันไดนาคของวัดพระพุทธบาทเขาสมอแครง. สืบค้น 25 สิงหาคม 2567. https://www.phitsanulokhotnews.com/
โรงเจไซทีฮุกตึ๊ง ศาลเจ้าพ่อเห้งเจีย. Facebook. https://www.facebook.com/Saiteehooktung
Phitsanulok Hotnews. (23 พฤศจิกายน 2567). เปิดงานสมโภชเจ้าแม่ทองคำ-เจ้าแม่ทับทิม อ.วังทอง ประจำปี 2567. Facebook. https://www.facebook.com/phitsanulokhotnews/
Thaibunterng ThaiPBS. (5 มีนาคม 2567). เรื่องนี้มีตำนาน : พ่อปู่ขุนเณรแห่งเขาสมอแคลง. Youtube. https://www.youtube.com/
โรงเรียนพิณพลราษฎร์ ตั้งตรงจิตร 12. (5 ธันวาคม 2566). งานสมโภชเจ้าแม่ทองคำ - เจ้าแม่ทับทิม ประจำปี 2566. จดหมายข่าว, ฉบับที่ 6. http://www.ppr12.ac.th/
สุดารัตน์ รัตนพงษ์, หนึ่งฤทัย ศรีสุกใส, กฤติมา อินทะกูล, จุฑาธิป ประดิพัทธ์นฤมล และนันทพันธ์ คดคง. (2564). การจัดการท่องเที่ยวโดยใช้ชุมชนเป็นฐานตําบลวังทอง อําเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก. วารสาร มจร พุทธปัญญาปริทรรศน์, 6(1), 35-46.
สำนักข่าวเอดีดีนิวส์. (20 กุมภาพันธ์ 2562). สืบสานประเพณีเวียนเทียนห่มผ้าเจดีย์ยอดด้วน ประจำปี 2562. สืบค้น 25 สิงหาคม 2567. http://addnewsphitsanulok.com/
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพิษณุโลก. (23 กุมภาพันธ์ 2567). เริ่มแล้วงานนมัสการกราบรอยพระพุทธบาท สักการะพ่อปู่ขุนเณร ประจำปี 2567 (22 กุมภาพันธ์ 2567 ถึง 2 มีนาคม 2567). Facebook. https://www.facebook.com/PhitsanulokPRD/posts/
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก. (2561). บ้านโรงบ่ม(เขาสมอแคลง) หมู่ 11 ตำบลวังทอง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก. สืบค้น 25 สิงหาคม 2567. https://district.cdd.go.th/wangthong/
สอนศักดิ์ ปรัศนี, สัมภาษณ์, 23 สิงหาคม 2567.
เสงี่ยม มีเอี่ยว, สัมภาษณ์, 11 กุมภาพันธ์ 2568.
สำเริง แตงทองแท้, สัมภาษณ์, 11 กุมภาพันธ์ 2568.
อำไพ พอกประโคน, สัมภาษณ์, 23 สิงหาคม 2567.