
อัตลักษณ์ลาวเวียงหรือลาวครั่ง ประวัติศาสตร์ชุมชนเก่าแก่ ผลิตพริกกองโครสชาติโดดเด่น และมีชื่อเสียงทำแจ่วหม้อ อาหารท้องถิ่นและชาติพันธุ์
ชุมชนแห่งนี้เกิดจากการที่ถูกกวาดต้อนมาจากเมืองเวียงจันทน์ ในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่ได้ยกทัพไปปราบกบฏในลาว เมื่อชนะศึกสงคราม สยามได้กวาดต้อนผู้คนที่เป็นเชลยสงครามกลับมาและได้จัดตั้งเป็นกองกำลังในการเตรียมความพร้อมในการทำศึก คนจาก 70 ครัวได้รับมอบหมายให้จัดตั้งเป็นกองเลี้ยงโค และให้ขุดบึงน้ำเพื่อไว้ใช้สำหรับเลี้ยงวัว บึงละ 1,000 ตัว ในบริเวณชุมชนแห่งนี้ หมู่บ้านนี้จึงได้ชื่อว่า "บ้านกองโค" ซึ่งหมายถึง กองกำลังที่ดูแลโค (ประวัติศาสตร์มหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดอุตรดิตถ์, 2529, น.126) ขณะที่ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอพิชัยระบุว่า การกวาดต้อนเชลยศึกมายังบ้านกองโคในปัจจุบันเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าตาก หลังจากที่ได้กอบกู้เอกราชจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในเวลานั้น พระเจ้าตากต้องการขยายอำนาจและอาณาเขตไปยังอาณาจักรลาวในเวลานั้น จึงได้สั่งให้พระยาพิชัยต้อนเชลยที่มีวัวร่วมอยู่ด้วยประมาณ 100 ตัว มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านกองโค และมีหัวหน้าเลี้ยงวัวชื่อ นายยา และตามด้วยชื่อ กองโค จึงทำให้เกิดนามสกุลของคนในหมู่บ้านนี้ว่า "ยากองโค" (ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอพิชัย, 2530, น. 21 อ้างถึงใน ประทีป ทิมให้ผล, 2540)
อัตลักษณ์ลาวเวียงหรือลาวครั่ง ประวัติศาสตร์ชุมชนเก่าแก่ ผลิตพริกกองโครสชาติโดดเด่น และมีชื่อเสียงทำแจ่วหม้อ อาหารท้องถิ่นและชาติพันธุ์
บ้านกองโคแต่เดิมเป็นชุมชนเดียวที่มีความสัมพันธ์จากประวัติศาสตร์การอพยพจากประเทศลาว จนในปี พ.ศ. 2492 ชุมชนขยายตัวและมีประชากรเพิ่มมากขึ้น หมู่บ้านกองโคจึงแยกออกเป็น 2 หมู่บ้านตามหลักเกณฑ์ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย โดยแบ่งเป็นบ้านกองโค หมู่ 3 และบ้านกองโค หมู่ 6 โดยมีวัดกองโคเป็นหมุดหมายในการแบ่งเขต บ้านเรือนที่อยู่เหนือวัด คือ บ้านกองโค หมู่ 3 ส่วนบ้านเรือนที่อยู่ใต้วัด คือ อาณาเขตของบ้านกองโค หมู่ 6
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ชุมชนชาวลาวที่อพยพเข้ามาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ 3 โดยการยกทัพไปปราบกบฏที่เมืองเวียงจันทน์ และได้กวาดต้อนผู้คนกลับมายังสยาม คนในชุมชนนี้จึงมีชื่อเรียกในเวลาต่อมาว่า "ลาวเวียง" ลาวเวียงที่บ้านกองโคถือเป็นชุมชนแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณหมู่บ้านกองโคในปัจจุบัน ขณะที่ก่อนหน้านี้ไม่มีชุมชนตั้งถิ่นฐานมาก่อน ลาวเวียงที่มากับการอพยพจากศึกสงครามในครั้งนี้ยังไปตั้งถิ่นฐานในหมู่บ้านอื่น ๆ ในบริเวณด้านเหนือของบ้านกองโค เช่น บ้านวังแดง บ้านสะโม บ้านหาดสองแคว บ้านเด่นสำโรง อำเภอตรอน โดยมีบ้านดั้งเดิม คือ บ้านกองโค ซึ่งสันนิษฐานจากนามสกุลของชาวบ้านที่จะมีคำว่า "กองโค" ต่อท้าย เช่น สกุล "ยากองโค" และ "แดงกองโค" (ประทีป ทิมให้ผล, 2540)
ชุมชนบ้านกองโคมีการตั้งถิ่นฐานเริ่มต้นจาก 70 ครอบครัวที่เป็นเชลยศึก และได้รับมอบหมายให้ดูแลโคหรือวัวเพื่อเป็นกองกำลัง โดยการดูแลวัวจึงต้องมีการขุดสระเป็นบึง บึงหนึ่งสำหรับวัว 1,000 ตัว (ประวัติศาสตร์มหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดอุตรดิตถ์, 2529, น.126) อย่างไรก็ตาม คำสัมภาษณ์มหาพล ชยะเสโน อดีตเจ้าอาวาสวัดกองโค และนายโพ ทากะถา อายุ 87 ปี (ในปี พ.ศ. 2540) ผู้ใหญ่บ้านคนแรกของบ้านกองโค ที่ปรากฏในงานศึกษาของประทีป ทิมให้ผล (2540) ระบุว่ามีอย่างน้อย 3 บึงในบริเวณบ้านกองโค ได้แก่บึงฆ้อง บึงสามพัน (บึงกลาง) และบึงตาดิษฐ์ ที่ไม่น่าจะเกิดจากการขุดที่ในอดีต แต่เป็นบึงธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากแม่น้ำเปลี่ยนทางเดินจนกลายเป็นร่องน้ำปรากฏขึ้นในช่วงที่มีน้ำท่วม ซึ่งกระแสน้ำไหลผ่านบ้านม่วงตลาดเข้าสู่หนองกระเทียมสายร้อง จนมาทะลุกับบึงสามพัน จึงทำให้เกิดเป็นบึงขึ้นมา แต่หลังจากมีการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ จึงทำให้ไม่เกิดกระแสน้ำทะลุมายังพื้นที่บึงนี้อีก อีกข้อสันนิษฐาน คือ พบวัดร้างอยู่ที่ริมบึง จากนั้นได้รับการบูรณะและยกให้เป็นการดูแลของวัดบึงสามพัน
นอกจากนี้ ยังมีอีกตำนานหนึ่งเขียนโดยสำนักงานวัฒนธรรมอำเภอพิชัย (2530, อ้างถึงใน ประทีป ทิมให้ผล, 2540) ที่ระบุว่าบ้านกองโคเป็นชุมชนที่เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าตากสินหลังจากที่ได้กอบกู้กรุงศรีอยุธยาแล้ว มีความคิดขยายอาณาเขตไปยังฝั่งตะวันออกหรือราชอาณาจักรลาว จึงได้สั่งพระยาพิชัยไปขนผู้คนที่เป็นเชลยศึกพร้อมกับวัว 100 ตัว มาตั้งกองกำลังดูแลโค โดยมีหัวหน้าชุมชน คือ นายยา จนเป็นเรียกขานว่า "ยา กองโค" และเป็นชื่อหมู่บ้านมาจนถึงปัจจุบัน ในเวลาต่อมามีการตั้งหัวหน้าหมู่บ้านขึ้นชื่อว่านายพิทักษ์ นาฆิน ซึ่งเป็นคนที่เดินทางมาจากฝั่งลาวเพื่อต้องการมาตามหาญาติคนลาวที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสิน จนเมื่อเปลี่ยนรัชสมัยเข้าสู่การปกครองของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หรือรัชกาลที่ 1 ผู้รับสั่งให้พระยาพิชัยดาบหักหรือเจ้าพระยาพิชัยในขณะนั้นดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยา เพื่อแสดงตนรับใช้ใต้พระยุคลบาท หากไม่ยอมจะต้องถูกประหารหรือตายด้วยคมหอกคมดาบ แต่พระยาพิชัยปฏิเสธจะกระทำการดังกล่าวเนื่องจากยังมีความจงรักภักดีต่อพระเจ้าตากสินจึงถูกตัดสินประหารชีวิต โดยก่อนตายได้สั่งเสียว่าขอให้ตระกูลของท่าน คือ "วิชัยขัทคะ" รับราชการสนองใต้ยุคลบาทต่อไป ชื่อนามตระกูลของท่านจึงยังปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบัน และได้นำชื่อของนายยา กองโค มาเป็นชื่อหมู่บ้าน ต่อมาบ้านกองโคได้สร้างวัดกองโคขึ้นในปี พ.ศ. 2348 ในช่วงรัตนโกสินทร์ต้น
หมู่บ้านกองโคทั้งหมู่ 3 และหมู่ 6 ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นแม่น้ำสำคัญไหลผ่านอำเภอพิชัย หมู่บ้านนี้ตั้งห่างจากตัวอำเภอพิชัยราว 4 กิโลเมตร
- ทิศเหนือ มีอาณาเขตติดกับ บ้านม่วงตาล หมู่ 2 ตำบลคอรุม
- ทิศใต้ ติดกับ หมู่บ้านหาดสาแล หมู่ 5 ตำบลบ้านหม้อ
- ทิศตะวันออก ติดกับ แม่น้ำน่าน
- ทิศตะวันตก ติดกับ บริเวณที่นาหรือพื้นที่การเกษตร ที่เริ่มขยายตัวจากการขยายตัวของชุมชน
การเดินทางยังไปบ้านกองโคนั้นสามารถเดินทางโดยรถยนต์ รถจักรยานยนต์ มีถนนสายหลัก คือ ทางหลวงแผ่นดินสาย 1104 (อุตรดิตถ์-พิษณุโลก) นอกจากนี้ยังมีเส้นทางสายรองเชื่อมต่อระหว่างตำบล อำเภอและจังหวัด นอกจากนี้ยังสามารถเดินทางไปถึงด้วยรถไฟโดยลงที่สถานีอำเภอพิชัยและเดินทางต่อไปยังหมู่บ้านกองโคตำบลคอรุมได้
โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญสำหรับชุมชน คือ ถนนที่เป็นทั้งลาดยางสำหรับสัญจรบนทางหลัก และถนนลูกรังที่เชื่อมต่อกับพื้นที่และการเกษตร บ้านกองโคหมู่ 3 และหมู่ 6 เป็น 2 ในจำนวน 5 หมู่บ้านของตำบลคอรุมที่ตั้งใกล้กับแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นแม่น้ำสำคัญสำหรับชุมชนในตำบลคอรุม อำเภอพิชัย และสำหรับจังหวัดอุตรดิตถ์ ชุมชนบ้านกองโคมีป่าไม้เฉลิมพระเกียรติครอบคลุมพื้นที่ ประมาณ 10 ไร่ โดยมีโรงเรียนบ้านกองโค ร่วมกับประชาชนภายในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียง ช่วยกันดูแลรักษา โดยมีไม้สำคัญหลัก ๆ คือ ต้นสะเดา ต้นสักและต้นประดู่ (อบต.คอรุม, ม.ป.ป.)
จำนวนประชากรในเดือนธันวาคม 2567 ของบ้านกองโคทั้งหมู่ 3 และหมู่ 3 รวมกันอยู่ที่ 1,525 คน จาก 576 หลังคาเรือน ในแง่สายสัมพันธ์ ประชาชนของหมู่บ้านกองโคยึดโยงกันด้วยความเป็นชาติพันธุ์ลาวเวียง ซึ่งมีประวัติศาสตร์การอพยพมาจากเมืองเวียงจันทน์ ราชอาณาจักรลาว อย่างไรก็ตาม อาจารย์ประทีป ทิมให้ผล นักวิชาการวัฒนธรรม สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และเคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศึกษาธิการอำเภอลับแล อำเภอพิชัย อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ ในช่วงปี พ.ศ. 2532-2534 ซึ่งเป็นคนบ้านกองโคด้วยบอกว่า ก่อนหน้านี้คนในชุมชนก็เรียกตนเองว่าเป็น "ลาวกองโค" คำว่าลาวเวียงจันทร์เพิ่งจะมาใช้เมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ และกล่าวว่าคนที่มีประวัติศาสตร์อพยพมาจากลาวในช่วงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้นมักเรียกตัวเองว่าเป็นลาวในพื้นที่ต่าง ๆ (สัมภาษณ์, 5 พฤศจิกายน 2567)
เขาก็เรียก ลาวกองโคบ้าง ลาวโน้นนี่นั้นบ้าง แต่ตอนหลังมันมาดังคำว่าลาวเวียง ที่หาดสองแคว เขาก็อ้างกันว่าเป็นลาวเวียง...ไม่เกิน 10 ปี นี้แหละ เขาเรียกว่า ลาวหาดสองแคว ลาววังแดง ลาวกองโค คำว่าลาวเวียง มันน่าจะมาจากงานวิจัยของใครสักคน ที่ตอนนั้นที่คำว่า ลาวหาดสองแควมันติดตลาด จริง ๆ มันอันเดียวกันนั้นแหละ
อาจารย์ประทีป ทิมให้ผล เล่าว่าครอบครัวของเขาเป็นคนลาวกองตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งน่าจะเป็นรุ่นเทียด แต่เขาสามารถสืบสาวเครือญาติของเขาที่ยังมีชื่อปรากฏจากการเล่าต่อ ๆ กันมาตั้งแต่รุ่นพ่อที่ได้ฟังจากพ่อหรือปู่ของเขาอีกทีว่า หลังจากเทียดแล้วเขามีทวดชื่อนายอิน ทิมให้ผล ซึ่งแต่งงานกับนางเพ็ง และมีลูกทั้งหมด 10 คน ซึ่งก็คือปู่ของอาจารย์ประทีปเป็นลูกชายคนโต มีชื่อว่านายเชย ที่อพยพเข้ามาจับที่จับทางบริเวณที่เรียกว่าหนองกระเทียมและเลี้ยงควายเป็นหลัก ต่อมาได้แต่งงานกับย่าของเขาที่ชื่อว่านางพัน และมีลูกด้วยกัน 4 คน ลูกคนที่ 3 คือนายสินได้แต่งงานกับนางน้อย ซึ่งก็คือพ่อแม่ของอาจารย์ประทีป และมีลูกด้วยกัน 4 คน อาจารย์ประทีปเป็นลูกคนที่ 3 ปัจจุบันแต่งงานและมีลูก 2 คน ตามที่ปรากฏในแผนผังด้านล่าง
อาจารย์ประทีปเล่าต่อว่านายอินหรือทวดของอาจารย์ประทีปนั้นน่าจะเกิดในสยามในเวลานั้น มีการเล่าต่อมาในครอบครัวว่านายอินมีประสบการณ์ในการรบซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นสงครามอะไร แต่เป็นคนถือธงรบนำขบวนซึ่งถือเป็นคนที่สำคัญที่สุดในการรบ
เพราะธงไปอยู่ตรงไหน กองทัพก็ไปอยู่ตรงนั้น ธงล้มเมื่อไรก็แพ้แล้ว แต่เขาต้องเหนียว เขาสักอาคมทั้งตัว นี่เขาเล่ากันมา แล้วพวกผมก็มาอยู่ที่หนองกระเทียม บ้านที่ผมอยู่ บ้านครูกำไร (นามสกุลเดิมยากองโค) บ้านครูชลอ (นุ่มมีชัย) บ้านครูสิงห์ เขาก็อยู่ริมหนองกระเทียมซึ่งเกิดจากแม่น้ำเปลี่ยนทางเดิน สมัยก่อนมันมีเสือ สมัยพ่อผมมีเสืออยู่ เพิ่งจะมาเจริญมาไม่กี่ปีเอง
ดังนั้น หนองกระเทียมจึงเป็นพื้นที่ตั้งถิ่นฐานของครอบครัวครูประทีปที่เริ่มในรุ่นปู่เชย และเข้ามาจับจองที่ดินด้วยการรกร้างถางพงเพื่อทำกินในบริเวณที่เป็นแม่น้ำและก่อตั้งเป็นชุมชน และขยายออกไปจากริมแม่น้ำน่านสัก 1 กิโลเมตรได้ เมื่อก่อนมีสภาพเป็นป่าในที่ลุ่มและเป็นหนองน้ำ ก็จะเป็นที่สำหรับการทำนา ส่วนที่ดอนก็จับจองสำหรับทำไร่ ในเวลานั้นคนขยันก็จะขยายพื้นที่ออกไปจากหลังหมู่บ้าน และไปจับจอง "ที่ว่าตรงต้นนี้ถึงตรงนี้ของกูเด้อ เพราะเขาเป็นญาติ ๆ กันหมด ครัวเรือนมีไม่เท่าไรหรอกในเวลานั้น"
นอกจากเกษตรกรรมแล้วในเวลานั้น อาชีพการค้าไม้สักในอำเภอพิชัยเริ่มมีการพูดถึง น้องชายของปู่เชยชื่อเมฆ ซึ่งครูประทีปเรียกว่าปู่เมฆเป็นพ่อค้าไม้สักที่เริ่มจากครอบครัว การค้าไม้เป็นอาชีพที่แพร่หลายแล้วในจังหวัดอุตรดิตถ์และแพร่ พ่อค้าสั่งให้มีการตัดไม้และล่องแม่น้ำน่านผ่านไปยังปากน้ำโพ นครสวรรค์ แล้วไปเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อไปถึงที่กรุงเทพมหานคร เรียกว่าเป็น "นายฮ้อย" หรือนายหน้าค้าไม้ พอจัดส่งเสร็จก็หิ้วเงินโดยสารรถไฟมาลงสถานีพิชัยกลับบ้าน
เขาทำแบบปัจเจก รวมกลุ่มกันแล้วก็ไปจ้างคนตัดไม้ เอาซุงมาร้อย ๆ มัดติดกันเป็นแพ ค่ำไหนก็นอนนั้น แล้วก็มีเมียที่นั่น ย่าว่าปู่มึงน่ะเป็นแบบนี้ แกเล่าให้ฟัง
ดังนั้น นอกจากสกุล "ทิมให้ผล" ให้แล้ว คนในหมู่บ้านกองโคจึงนามสกุล "ยากองโค" ที่เป็นตระกูลดั้งเดิมหรือเป็นผู้บุกเบิกก่อร่างสร้างชุมชนจนกลายเป็นหมู่บ้านกองโคดังเช่นปัจจุบัน
ลาวครั่ง, ลาวเวียงพัฒนาการโครงสร้างทางสังคม
คนบ้านกองโคนั้นยังคงยึดถืออาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ซึ่งเป็นอาชีพที่สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ คนรุ่นปู่ย่าตายายในเวลานั้นนอกจากทำนาที่อาศัยน้ำฝน เลี้ยงวัวควายไว้ไถนา ก็ทำไร่ข้าวโพดข้าวเหนียวแบบฝักหักด้วยมือ ในเวลานั้นมีอาชีพรับแกะเมล็ดข้าวโพดใส่ถังไปชั่งขาย รวมถึงผัก เช่น ถั่วแขก พริกสดที่ทำไปทำพริกแห้ง โดยเฉพาะพริกนั้นถือว่ามีพันธุ์เฉพาะของบ้านกองโค ที่เอาไปทำน้ำพริกที่เรียกในภาษาท้องถิ่นว่า "แจ่วหม้อ" พริกทำเครื่องแกง พริกอั่วเอาไปย่าง แม้ว่าปัจจุบันจะปลูกน้อยลง แต่ยังพอเหลือให้ขึ้นชื่อว่าเป็น "พริกบ้านกองโค" พอพริกตากแห้งเสร็จ ก็มีพ่อค้าจากสุโขทัยจากอำเภอใกล้เคียงอย่างศรีนครและสวรรคโลกใช้รถเกวียนรับซื้อประมาณ 10 กิโลกรัมต่อครั้งไปขายต่อบนเส้นทางบึงท่ายนต์ ในสมัยนั้นถนนหนทางยังไม่ค่อยมีมากนัก ต่อมาเป็นเส้นทางที่สามารถขี่รถจักรยานได้ คนก็มักจะถีบไปใกล้ ๆ เช่นไปเที่ยวงานฤดูหนาว หรือบ้านเรือนที่อยู่ใกล้ ๆ หน่อย เช่น บึงท่ายวนก็เดินไปเที่ยวได้ (ครูชลอและครูหิรัญญา นุ่มมีชัย, สัมภาษณ์, 3 พฤศจิกายน 2567)
ชุมชนกองโคยังเป็นศูนย์กลางของการค้าพืชผลในระดับท้องถิ่น ครูประทีป ทิมให้ผล (สัมภาษณ์, 7 พฤศจิกายน 2567) กล่าวว่าคนกองโคจะเป็นแบบนี้กับคนหมู่บ้านอื่น ๆ สมัยปู่ย่าตายาย เขานิยมแลกเปลี่ยนสินค้ากันถ้าไม่มีการค้าขาย อย่างเช่น แถวนาอิน นายาง มันอยู่โน้นนะติดทองแสนขัน เขาไม่มีนา มีแต่ปีไหนถ้าแล้งนะ แถวนั้นเขาเป็นดินทรายเก็บน้ำลำบาก เขาก็ทำนาไม่ได้ ไม่มีข้าวกิน แต่แถวกองโค ทำนามีข้าว เขาปลูกอ้อย ก็เอาอ้อยมาหีบทำน้ำอ้อย เก็บของป่า เขาเอามาแลกข้าวสารบ้านเรา เขาก็มานั่งตกลงกัน เขาก็ตักข้าวสารไปเป็นถังหาบกลับบ้านไป...พอใกล้ ๆ วันเพ็ญเดือน 3 หน้าแล้ง ก็จะเก็บอาหารที่พอจะเก็บถนอมอาหารได้กัน พริก เกลือ มะเขือ ปลาร้า มะขวิดเอย หาบรถมาลับแลมาแลกกับหมาก เพราะแถวลับแลเขามีหมากเยอะนอกจากสวนทุเรียน เดินทางไปปีละครั้ง แล้วจะมาเป็นกลุ่มแบบนี้ แลกเปลี่ยนกันสมัยก่อน ค้าขายกันด้วยเงินสดยังน้อยอยู่
คำอธิบายด้านบนเป็นการแลกเปลี่ยนกันของชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง ในอดีตยังมีการค้าขายในพื้นที่ไกลออกไปด้วย แต่ส่วนใหญ่เป็นการค้าขายสัตว์ พวกวัวควาย ไม้ และสินค้าอื่น ๆ ที่มีนายหน้าหรือนายฮ้อยร่วมด้วย รวมถึงข้าวและสินค้าอื่น ๆ ในชุมชน ในเวลาต่อมาเมื่อมีการค้าขายในชุมชน มีพ่อค้าที่ไปรับซื้อผลผลิตจากชาวบ้านหรือเกษตรกรด้วยกัน หมู่บ้านหนึ่งจะมีพ่อค้าลักษณะ 2-3 คน นอกจากนี้ คนเหล่านี้จะไปรับสินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือนจากตลาดมาขายในชุมชนด้วย
ครูประทีป ทิมให้ผล ยังให้ข้อมูลเสริมในเรื่องบทบาทของผู้หญิงที่ทำให้เห็นโครงสร้างสังคมระหว่างหญิงชายไว้ในช่วงนี้ว่า ผู้หญิงไทยสมัยก่อน ทำนาแล้วก็ทำงานบ้านเลี้ยงลูก ส่วนใหญ่ผู้ชายก็เอาวัวควายออกไร่นาแต่เช้า เพราะเมื่อก่อนคนใช้สัตว์ไปถางพงรกร้างที่ต้นไม้มีมาก ซึ่งที่ไร่นาจะอยู่ห่างจากบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านที่อยู่ใกล้ ๆ และติด ๆ กัน ทำให้ผู้ชายจะต้องออกจากบ้านแต่เช้ามืดไปไร่ไปนา ผู้หญิงก็หุงหาอาหารเอาไปให้ผู้ชายที่ไร่นากินมื้อเช้า หลังจากดูแลครอบครัวแล้ว ผู้หญิงทั้งรุ่นยายและแม่ของอาจารย์ประทีปต้องทอผ้าไว้ใช้ และผ้าขาวม้าสำหรับผู้ชายด้วย แต่ตอนหลังการทอผ้าขาวม้าหายไป เพราะความเจริญเข้ามา มีตลาดในตัวเมืองพิชัยใกล้แค่ 3-4 กิโลเมตร คนก็เลือกซื้อโดยพายเรือไปหรือเดินไป ตลาดในเวลานั้นมีทั้งผ้าขาวม้าและเสื้อม่อฮ่อม ดังนั้น การทอผ้าเริ่มจางหายไปในตอนที่อาจารย์ประทีปเริ่มโตแล้ว และเขาเองไม่ได้เก็บไว้เป็นที่ระลึกเพราะไม่นึกว่าจะต้องมาทำงานด้านการศึกษาและวัฒนธรรม
ความทันสมัยและเทคโนโลยีการเกษตรจากการเจาะบ่อบาดาลและระบบน้ำสูบชลประทานที่เข้ามาประมาณ 40 ปีที่แล้วหรือราวปี พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา แต่ชาวบ้านในเวลานั้นไม่สามารถจับจองที่ดินหรือขยายที่ดินทำกินเพิ่ม การถือครองหรือโอนถ่ายการถือครองที่ดินเป็นการซื้อขายระหว่างคนที่มีที่ดินและคนที่ต้องการจะซื้อ ระบบชลประทานทำให้ในปัจจุบันบ้านกองโคปลูกข้าวได้ถึง 3 รอบในหนึ่งปี ที่ดินส่วนใหญ่มีน้ำไหลเข้าถึง เกษตรกรเลิกปลูกข้าวโพดข้าวเหนียว ถั่วแขก และพริกลง หันไปทำนามากขึ้นเพราะมีน้ำเพียงพอ ขณะที่พืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และอ้อยนั้นเริ่มเข้ามาทีหลังในบ้านกองโคและอำเภอพิชัย ขณะที่แถวอำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย เริ่มปลูกพืชเศรษฐกิจนำหน้าไปก่อนแล้ว สำหรับอาชีพอื่นของคนกองโคในเวลานั้น ด้วยความที่อำเภอพิชัยเป็นอีกจุดสำคัญของการคมนาคมทั้งทางน้ำและทางรถไฟ ทำให้คนสามารถเดินทางไปยังสถานที่อื่นได้สะดวกกว่าคนในอำเภออื่นในจังหวัดอุตรดิตถ์ ขณะที่ราคาที่ดินเริ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อมีคนนอกเข้ามาในชุมชนจากการแต่งงานกับคนกองโค ทำให้เกิดความต้องการที่ดินและมีการซื้อในราคาที่สูงขึ้น
ครูชลอ นุ่มมีชัย ข้าราชการครูเกษียณ (สัมภาษณ์, 3 พฤศจิกายน 2567) เล่าว่าในวัยเด็กเขาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนที่วัดกองโคและในอำเภอพิชัย จากนั้นเขานั่งรถไปเรียนที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในจังหวัดพิษณุโลก เช่นเดียวกับคนอื่น ๆ ที่ต้องการไปเป็นครูหรือรับราชการเป็นเจ้าคนในคน ขณะที่ในเวลานั้นมีคนเริ่มย้ายถิ่นไปทำงานต่างถิ่น เช่น พี่น้องของทั้งครูชลอและครูหิรัญญา พี่สาวหรือน้องสาวมัธยมแล้วก็ไปทำงานในโรงงานที่จังหวัดชลบุรี ระยอง ปทุมธานี และสมุทรปราการที่ส่วนใหญ่เป็นหญิงสาวที่จบประถม 4 แล้วเข้าไปทำงานที่โรงทอผ้าไทบริษัท ไทยเกรียงกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) พี่น้องของครูชลอและครูหิรัญญาจะกลับบ้านเมื่อโรงงานปิด
ในเวลานั้น คนตัดสินใจไปทำงานที่โรงงานเนื่องจากไม่อยากทำเกษตร แม้ว่าจะมีระบบชลประทานเข้ามา แต่ต้นทุนในการทำนาก็ยังสูงอยู่ บางส่วนก็เริ่มขายที่นาให้คนมาทำหรือให้เช่าปลูกข้าวไร่ละ 2,000 บาทต่อปี ขณะที่เจ้าของที่นาเลือกที่จะซื้อข้าวกินเอง ที่ดินของทั้งครูชลอและครูหิรัญญาที่มีกว่า 40 ไร่ ที่บ้านกองโคตกเป็นของลูกชายที่เรียนจบมาทางด้านเกษตรกรรมและไปทำงานที่กรมประมงมาสักระยะ ตัดสินใจกลับบ้านและมาทำการเกษตรแนวใหม่ที่พึ่งพาทั้งแรงงานในหมู่บ้านและเทคโนโลยี เช่น จ้างแรงงานและโดรนในการพ่นยา ส่วนการย้ายถิ่นไปทำงานต่างประเทศยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน คนบ้านกองโคเหมือนกับอีกหลายแห่งที่คนเดินทางไปค้าแรงที่ต่างประเทศ ไต้หวันยังเป็นปลายทางสำคัญ ที่เพิ่มขึ้นมาคือสิงคโปร์ และประเทศเกาหลีใต้ ที่เป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่ รวมถึงไปเก็บผลไม้ที่ออสเตรเลีย หรือสวิตเซอร์แลนด์ในยุโรป
กลับมาแล้ว เล่ากันต่อมาว่า เงินดี ก็ลองเสี่ยงไป อยากได้บ้านรถ กลับมาปุ๊บกลงทุนก้หมดอีกแลว ก็ไปกันอีก ทุกวันนี้ก็ยังมีไป ส่วนใหญ่เกาหลี (ครูชลอ นุ่มมีชัย, สัมภาษณ์, 3 พฤศจิกายน 2567)
กลุ่มอาชีพของชุมชน
1.กลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร (แจ่วหม้อ)
ตามที่กล่าวแล้วว่า พริกเป็นพืชประเภทหนึ่งที่ปลูกในชุมชนบ้านกองโคและใกล้เคียง และเป็นพริกที่มีชื่อเสียง โดยเฉพาะเมื่อนำไปทำแจ่วหม้อซึ่งเป็นอาหารที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของลาวกองโคหรือลาวเวียง หน่วยงานรัฐไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลคอรุม จึงมักให้การสนับสนุนกลุ่มอาชีพนี้ให้กับชุมชน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงและผู้สูงวัย เช่น สร้างกลุ่มทำแจ่วหม้อหรือน้ำพริกท้องถิ่นของคนลาวเวียง หรือในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 กองสวัสดิการสังคม อบต.คอรุม ได้ดำเนินโครงการศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุตำบลคอรุม โดยจัดกิจกรรมการเรียนรู้อบรมอาหารพื้นเมืองแจ่วหม้อ (เฟสบุ๊ค "กองสวัสดิการสังคม อบต.คอรุม", 2563) หรือการจัดอบรมโดยหรือสำนักงานสภาเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อยกระดับให้แจ่วหม้อให้เป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนให้กับกลุ่ม กลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร หมู่ 3 บ้านกองโค ในวันที่ 10 สิงหาคม 2564 โดยนอกจากจะพัฒนาตัวสินค้าแล้ว ยังริเริ่มให้ออกแบบบรรจุภัณฑ์และส่งเสริมการตลาดทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ รวมถึงช่องทางในการขนส่งสินค้า (สำนักงานสภาเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์, 2564)
2.วงดนตรีมังคละ
วงดนตรีมังคละเป็นวงดนตรีพื้นบ้านของบ้านกองโค ที่ประกอบไปด้วยเครื่องดนตรีประเภทเครื่องตี ที่มีกลองเป็นเครื่องดนตรีหลัก ร่วมกับเครื่องประกอบจังหวะ ได้แก่ ฉิ่ง ฉาบ กรับ และโหม่ง ดนตรีมังคละเป็นชื่อเรียกดนตรีท้องถิ่นที่มีการแสดงในพื้นที่จังหวัดที่มีวัฒนธรรมด้านดนตรีร่วมกันในภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ พิษณุโลก สุโขทัย และอุตรดิตถ์ ที่มักแสดงในงานรื่นเริงและงานบุญที่ให้ความรู้สึกสนุกสนาน กลองมังคละในภาษาถิ่นของบ้านกองโคเรียกว่ากลองโกร๊ก ในชุมชนบ้านกองโคมีวงดนตรีมังคละรวมตัวกันอยู่ โดยมีนายเสมียน เนื้อนุ้ย เป็นผู้นำวงผู้ที่ได้รับการสืบทอดวัฒนธรรมดนตรีมังคละมาจากนายกระทรวง สินหลักร้อย แต่ปรากฏว่าปัจจุบันสมาชิกวงดนตรีเริ่มสูงอายุ (นพดล พันธุ์เพ็ชร์ และคณะ, 2566) ทำให้หน่วยงานรัฐตระหนักในสถานการณ์ดังกล่าว จึงสนับสนุนให้นำดนตรีมังคละมาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมหรือโอกาสต่าง ๆ มากขึ้น เช่น นำมาเป็นดนตรีนำในการออกกำลังกาย หรือเป็นดนตรีบำบัดในกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นนักเรียนในโรงเรียนผู้สูงอายุ รวมถึงความพยายามในการถ่ายทอดภูมิปัญหาเหล่านี้ให้กับคนรุ่นใหม่หรือเยาวชนเพื่อเป็นการสืบสานวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ด้านดนตรีท้องถิ่นต่อไป (เฟสบุ๊ค "คอรุม-Korrum", 2568)
1) เทศกาลสงกรานต์ ประเพณีชักธงสงกรานต์ และประเพณีแห่ต้นผึ้ง
สำหรับชุมชนบ้านกองโคแล้ว เดือนเมษายนน่าจะเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านนั้นจัดกิจกรรมมากที่สุดในหนึ่งปี ไม่ว่าจะเป็นประเพณีวันสงกรานต์ การทำบุญกลางบ้าน ประเพณีรดน้ำดำหัว ซึ่งเป็นประเพณีคล้ายกับคนภาคกลางทั่วไป รวมถึงประเพณีที่แสดงอัตลักษณ์ของคนลาวเวียง โดยเฉพาะประเพณียกธงสงกรานต์ และประเพณีแห่ต้นดอกผึ้ง ประเพณีแห่ต้นผึ้งเป็นการทำต้นผึ้งหรือดอกเผิ้งในภาษาท้องถิ่นจัดขึ้นในวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ หลังจากที่ชาวบ้านไปทำบุญใส่บาตรที่วัดแล้ว สมาชิกชุมชนโดยเฉพาะผู้หญิงจะเตรียมทำต้นขี้ผึ้ง นำขี้ผึ้งที่หลอมแล้วมาทำเป็นรูปดอกไม้ โดยเอาขี้ผึ้งที่หลอมไปเคลือบใบมะละกอขนาดเล็กเป็นแม่พิมพ์ซึ่งเรียกว่าดอกผึ้ง จากนั้นเอาดอกผึ้งนี้ไปเสียบกับต้นกล้วยที่ประดับประดาไปด้วยดอกทิง ซึ่งเป็นดอกไม้ป่าชนิดหนึ่งที่ขึ้นในสวนของชาวบ้านในฤดูร้อน หมาก พลู บุหรี่ ไม้ขีดไฟ ยารักษาโรคต่าง ๆ และสมุดดินสอ รวมถึงเครื่องไทยธรรมขนาดกะทัดรัด ต้นกล้วยนี้เรียกว่าต้นผึ้งหรือต้นดอกเผิ้ง
ในช่วงค่ำ ชาวบ้านจะนำต้นผึ้งซึ่งถูกแบ่งกันถือแห่ไปยังวัด พร้อมทั้งมีการเล่นดนตรีมังคละหรือดนตรีพื้นบ้านประกอบพร้อมกับการร้องรำทำเพลงของคนที่ร่วมขบวนแห่ เมื่อเสร็จสิ้นพิธีนี้จึงถือว่าเป็นการเริ่มต้นทำไร่หรือทำนาในฤดูกาลใหม่ การแห่ต้นผึ้งที่มีการปฏิบัติจนถึงปัจจุบันเป็นความเชื่อของชาวบ้านว่าประเพณีนี้ปฏิบัติและสืบทอดกันมาของคนลาวในเมืองเวียงจันทน์แหละหลวงพระบาง ที่จัดขึ้นเพื่อบูชาพระพุทธเจ้าและสร้างสิริมงคลให้กับตนเอง
ในวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ ชาวบ้านกองโคยังมีประเพณียกธงสงกรานต์ โดยการตัดผ้าเป็นมาเย็บเป็นธงสี่เหลี่ยมกว้าง 1 เมตร และยาวประมาณ 2-4 เมตร หรือเป็นรูปสามเหลี่ยม แล้วนำผ้าไปผูกกับเสาธงไม้ไผ่ขนาดยาวและลำตรงที่ปักไว้บริเวณหน้าศาลเปรียญวัดกองโค
2) พิธีไหว้ศาลเจ้าปู่ต้นตะคร้อ
ในเดือนมิถุนายนของทุกปี ก่อนเริ่มทำการเกษตรในฤดูกาลใหม่หรือต้นฤดูฝน ชาวบ้านกองโคทำพิธีไหว้ศาลปู่ต้นตะคร้อ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณป่าช้าหลังวัดกองโค ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นเจ้าปู่เจ้าพ่อที่มีอิทธิฤทธิ์ดลบันดาลให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุข และผลการผลิตในภาคเกษตรเป็นไปด้วยดี และสภาพอากาศเป็นใจ เช่น ฝนตกต้องตามฤดูกาล การจัดพิธีกรรมนี้จัดการโดยคณะกรรมการของหมู่บ้านที่ต้องประกาศให้ชาวบ้านได้ทราบในวันที่กำหนดไว้ล่วงหน้า เพื่อให้คนได้เตรียมตัวนำกรวยใบตองดอกไม้ธูปเทียน และเงินมาเป็นปัจจัยในการซื้อหมู่และไก่มาเซ่นไหว้เจ้าปู่ตะคร้อ จนถึงวันที่จัดพิธีกรรม ชาวบ้านจะนำขนมข้าวต้มขาว ขนมข้าวต้มแดง หมาก พลู บุหรี่ ขนม 4 ถ้วย ไปเลี้ยงที่ศาล การจัดพิธีกรรมในอดีต มีความเชื่อว่าปู่ต้นตะคร้อมาเข้าทรงด้วย เพื่อให้ชาวบ้านได้ถามข้อมูลเกี่ยวกับดินฟ้าอากาศ เช่น ฝนตกตามฤดูกาลหรือไม่ การทำมาหากินจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด แต่ปัจจุบันการเข้าทรงของหลวงปู่ต้นตะคร้อไม่เกิดขึ้น ทดแทนด้วยการเสี่ยงทายจากการจับไม้สั้นไม้ยาว หรือการหยิบเม็ดข้าวสารว่าจะได้จำนวนเลขคู่หรือเลขคี่ หรือเป็นการเสี่ยงทายเพื่อถามว่าเจ้าปู่มาหรือยัง มารับเครื่องเซ่นไหว้แล้วหรือไม่ จำนวนของเซ่นไหว้เพียงพอหรือไม่ รวมถึงคนที่เข้าร่วมพิธีกรรมต้องพูดสิ่งดี ๆ เพื่อเป็นสิริมงคล (ประทีป ทิมให้ผล, 2540)
3) ประเพณีลอยกระทงและประเพณีลอยเรือเทียน
ส่วนในเดือนพฤศจิกายน ชุมชนจัดประเพณีลอยกระทง พร้อมทั้งประเพณีลอยเรือเทียน ซึ่งประเพณีลอยเรือเทียนถือเป็นประเพณีที่แนบแน่นกับความเป็นลาวบ้านกองโคหรือลาวเวียงในช่วงเทศกาลลอยกระทง ที่จัดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับพื้นที่อื่น ๆ เรือเทียนเปรียบเสมือนกระทงรวมหรือกระทงกลางของชุมชน ที่ทำขึ้นโดยสมาชิกทุกอายุและวัยในชุมชนที่วัดกองโคหรือศูนย์กลางของชุมชน โดยมีเจ้าอาวาสของวัดกองโคซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในการประกาศและประสานให้ชาวบ้านมาร่วมประดิษฐ์เรือไฟ วัสดุที่ใช้ทำเรือเป็นต้นกล้วยน้ำว้าหรือกล้วยตานีที่เป็นวัสดุหลัก และไม้ไผ่ที่ผูกต่อกันเป็นแพให้มีรูปร่างคล้ายเรือ ประดับด้วยดอกไม้ต่าง ๆ ชุมชนจะทำเรือเทียน 2 ลำสำหรับ 2 ชุมชนคือบ้านกองโคหมู่ 3 และหมู่ 6 เมื่อจะนำไปลอย ชาวบ้านจุดตะเกียงและเทียนให้เกิดแสงสว่างและความสวยงาม การลอยเรือเทียนทำขึ้นเพื่อบูชาแม่คงคาเช่นเดียวกับการลอยกระทง (ประทีป ทิมให้ผล, 2540; เสาวนีย์ ปานเกิด, 2554) นอกจากนี้ งานศึกษาของเสาวน์ ปานเกิด (2554) ยังขยายความต่อว่าประเพณีลอยเรือเทียนของชาวบ้านกองโคสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อและแรงศรัทธาในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นศาสนาพุทธ ความเชื่อเรื่องกุศลผลบุญ รวมถึงความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และสร้างคุณค่าทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม
4) การหาบจังหัน
ประเพณีหาบจังหัน เป็นกิจกรรมที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปฏิทินตามฤดูกาล แต่เป็นวิถีของคนในชุมชนที่นำของไปถวายพระ โดยการจัดเตรียมจังหันซึ่งหมายถึงสำรับอาหารคาวหวานใส่ถ้วยเล็ก ๆ ประมาณ 5-6 ใบ และจัดใส่ถาด จากนั้นนำถาดใส่สาแหรกที่คานหาบ แล้วหาบไปยังวัดหรือจุดที่พระสงฆ์จะเดินผ่านมารับบาตร คนที่หาบจังหันจะเดินตามพระเอาอาหารใส่สำรับรวมในจังหันของตนเองด้วย เมื่อถึงวัดจะถ่ายเอาอาหารออกจากหาบถวายให้แก่พระ ก่อนที่จะเอาภาชนะและหาบกลับเพื่อใช้ในวันรุ่งขึ้นหรือวันต่อไป ปัจจุบัน การหาบจังหันเป็นกิจกรรมหนึ่งในการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนหรือวัฒนธรรมในหมู่บ้านหาดสองแคว ตำบลหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านกองโค
5) ประเพณีแห่ดอกไม้ที่เลิกปฏิบัติไปแล้ว
นอกจากนี้ เป็นที่น่าเสียดายว่าชุมชนบ้านกองโคเคยมีประเพณีที่เคยปฏิบัติกันมาอย่างเนิ่นนานกว่า 30 ปีแล้ว เนื่องจากปัจจุบันสภาพแวดล้อมและสังคมเปลี่ยนไป ทำให้ประเพณีบางอย่างสูญหายหรือประชาชนไม่ได้รักษาหรือปฏิบัติเช่นดังเดิม เช่น ประเพณีแห่ดอกไม้ป่าที่จัดในเทศกาลสงกรานต์ที่วัด โดยหลังจากสรงน้ำพระที่วัดในช่วงเช้าแล้ว ช่วงบ่ายมีการจัดขบวนแห่ดอกไม้ไปวัด ดอกไม้ที่เตรียมในขบวนแห่มาจากป่าหรือแหล่งธรรมชาติ ระหว่างแห่ดอกไม้ไปยังวัด ชาวบ้านจะร้องเล่นเต้นรำไปตลอดทาง ประเพณีนี้มีเพื่อถวายดอกไม้แก่พระเพื่อขอขมาและขอพรจากพระศรีรัตนตรัยเพื่อให้เกิดสิริมงคลแก่ตนเอง ปัจจุบันประเพณีนี้หาดูไม่ได้อีกแล้ว เนื่องจากชาวบ้านไม่ได้ไปหาดอกไม้ป่าจากธรรมชาติได้เหมือนแต่ก่อน เนื่องด้วยพื้นที่ป่าได้เปลี่ยนเป็นนาหรือพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน (ประทีป ทิมให้ผล, 2540)
ช่วงเวลา (เดือน) | กิจกรรมและประเพณี |
มกราคม | ทำบุญวันขึ้นปีใหม่, สลากภัตข้าวหลามประจำปี |
กุมภาพันธ์ | |
มีนาคม | |
เมษายน | ประเพณีสงกรานต์และแจงรวมญาติ, พิธีสรงน้ำพระและรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่, ประเพณีชักธงสงกรานต์ |
พฤษภาคม | งานบุญสลากภัตวัดกองโค |
มิถุนายน | พิธีเซ่นไหว้ศาลเจ้าปู่ต้นตะคร้อ |
กรกฎาคม | พิธีถวายเทียนพรรษา ผ้าอาบน้ำฝน ผ้าห่มพระพุทธ ไทยทาน และจตุปัจจัย |
สิงหาคม | |
กันยายน | |
ตุลาคม | งานประจำปีพิธีตักบาตรเทโวโรหณะในช่วงออกพรรษา, ประเพณีการแข่งขันเรือยาว |
พฤศจิกายน | งานทอดกฐินสามัคคีวัดกองโค, ประเพณีลอยกระทง, ประเพณีลอยเรือเทียน |
ธันวาคม | เทศน์พระมาลัยสูตร, เทศน์มหาชาติ |
1.อาจารย์ประทีป ทิมให้ผล
อาจารย์ประทีป ทิมให้ผล หรือ "อบเชย" ซึ่งเป็นนามปากกาหรือนามแฝง เกิดเมื่อ พ.ศ. 2499 เป็นคนบ้านกองโคแต่กำเนิด เข้าเรียนระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนบ้านกองโค ในระหว่างนั้นเขาได้อาศัยวัดกองโคเป็นที่อยู่ไปด้วย จนจบชั้นประถม 4 เขาได้ไปเข้าโรงเรียนจรัสศิลป์ เป็นโรงเรียนเอกชนในตัวอำเภอพิชัยในระดับประถม 5 ถึงประถม 7 ซึ่งเป็นช่วงที่เขาใช้เวลาร่วมชั่วโมงโดยการเดินไปเรียนเพื่อนั่งเรือข้ามแม่น้ำน่านและเดินต่อเพื่อให้ถึงโรงเรียน เมื่อจบระดับชั้นประถม อาจารย์ประทีปเข้าศึกษาต่อระดับ มศ.1-3 ที่โรงเรียนพิชัย ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำอำเภอ จากนั้นก็ไปต่อวิทยาลัยครูอุตรดิตถ์จนได้ประกาศนียบัตรชั้นสูงซึ่งใช้เวลา 4 ปี จนในช่วงปี พ.ศ. 2525-2526 ไปเรียนต่อด้านครูที่สูงขึ้นหรือเทียบเท่าปริญญาตรีที่วิทยาลัยครูพิบูลสงครามพิษณุโลก และในปี พ.ศ. 2535-2540 ได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยมหิดล ด้านจริยศาสตร์ศึกษา และสำเร็จจนรับปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ด้วยวิทยานิพนธ์เรื่อง "การวิเคราะห์แนวคิดพื้นฐานทางจริยศาสตร์ที่ปรากฏในสมุดข่อยของกลุ่มชนบ้านกองโค ตำบลคอรุม อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์" (2540)
ด้านอาชีพ อาจารย์ประทีปเริ่มสอนหนังสือในปี พ.ศ. 2520 จนถึง พ.ศ. 2529 เป็นครูระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนคลองบ้านกล้วย ตำบลคอรุม อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ในปี พ.ศ. 2530 ดำรงตำแหน่งนักวิชาการศึกษา สำนักงานศึกษาธิการ จังหวัดอุตรดิตถ์ จากนั้นในปี พ.ศ. 2532 ได้รับตำแหน่งผู้ช่วยศึกษาธิการอำเภอลับแล อำเภอพิชัย และอำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ ในปี พ.ศ. 2534 ดำรงตำแหน่งนักวิชาการวัฒนธรรม สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) กระทรวงศึกษาธิการ จากนั้นเขาทำงานอยู่ที่สวช.อยู่หลายปีและทำงานในหลายตำแหน่งและหน้าที่ ตั้งแต่หัวหน้าฝ่ายทะเบียน กองชนสัมพันธ์ หัวหน้าโครงการน้ำใจไมตรี หัวหน้ากลุ่มเครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือและกรุงเทพมหานคร และตำแหน่งเลขาธิการสภาพวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร จนเกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมเครือข่ายสภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร สำนักส่งเสริมและเผยแพร่วัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
ปัจจุบัน อาจารย์ประทีปยังทำงานส่งเสริมวัฒนธรรมอยู่ในจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยเป็นข้าราชการบำนาญของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นวุฒิอาสาธนาคารสมองของจังหวัดอุตรดิตถ์ และยังคงใช้ความรู้และทักษะครูในการเป็นอาจารยพิเศษสอนที่มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หน่วยวัดหนอนไม้ จังหวัดอุตรดิตถ์ และทำงานเคลื่อนไหวในการเป็นโค้ชในโครงการ STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริต
2.ครูกำไร อุปรี (นามสกุลเดิมยากองโค)
ครูกำไร อุปรี อายุ 72 ปี (สัมภาษณ์, 3 พฤศจิกายน 2567) เป็นอดีตครูโรงเรียนกองโค เธอถือเป็นลูกหลานบ้านกองโค และยังปลูกพริกขาย อีกทั้งมีฝีมือในการทำแจ่วหม้อจนได้รับรางวัลชนะเลิศในงานประกวดสินค้าโอท็อปนวัตวิถีระดับจังหวัดอุตรดิตถ์ประจำปี พ.ศ. 2560
สำหรับประวัติของครูกำไรนั้น นามสกุลเดิมของครูได้มาจากบรรพบุรุษที่ก่อตั้งชุมชน และพ่อของเธอก็เป็นหมอยาสมุนไพรอยู่ในชุมชนและเป็นแพทย์ประจำตำบล ส่วนแม่ชื่อเรียบ นามสกุลทิมคล้ายผล บรรพบุรุษก่อนรุ่นพ่อแม่นั้นทำเกษตรกรรม และตกทอดมาจนถึงรุ่นลูกหลาน บรรพบุรุษของเธอนอกจากปลูกข้าวแล้วยังปลูกถั่วเขียว ผักพื้นบ้าน แตง และพริกท้องถิ่นของคนกองโคที่ทำให้ครอบครัวยกระดับฐานะเศรษฐกิจได้ รายได้จากการขายพริกของครอบครัวครูกำไรนั้นดีมาก เธออธิบายต่อว่าขายพริกเพื่อเอาไปเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดงานแต่งงาน หากต้องการจะแต่งงานต้องปลูกพริกเพื่อเอาไปขาย
ปลูกพริกจนรวย คนกองโคพอขายของได้ก็เก็บเงินกัน ตอนนั้นพริกราคาดี ตอนนี้ก็ยังปลูกอยู่ ได้กิโลกรัมละ 200 บาท
ครูกำไรมีพี่น้อง 12 คนจากแม่คนเดียวกัน แต่พ่อของเธอมีภรรยา 10 คน และรวมแล้วมีลูกทั้งหมด 35 คน พี่น้องท้องเดียวกับครู 12 คนนั้น เป็นผู้ชาย 6 คน ผู้หญิง 6 คน ครูเป็นคนที่ 11 คนหนึ่งในจำนวนพี่น้องเป็นตำรวจเสียชีวิตที่เขาค้อ ทำให้เธอต้องช่วยเลี้ยงลูกให้กับพี่ชาย บรรดาพี่น้องของครูและคนทั่วไปในเวลาที่เธอเติบโตมานั้นไม่ได้เรียนหนังสือสูงนัก โดยเฉพาะผู้หญิง มีแต่ผู้ชายที่ได้เรียน ครูกำไรบอกว่ายกเว้นที่ตัวเธอซึ่งเป็นผู้หญิงกลับได้เรียนหนังสือในเวลานั้น เพราะมีพี่ผู้ชายส่งเรียน และเธอมีบุคลิกไม่ค่อยกลัวมากนัก จึงกล้าออกจากบ้านไปเรียนไกลจากหมู่บ้าน คือไปเรียนที่ตัวอำเภอพิชัย และราชภัฏพิบูลสงคราม ก่อนที่จะจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ในเวลานั้นของหมู่บ้านมีผู้หญิง 3 คน ที่ได้ไปเรียน นอกจากเธอแล้ว อีก 2 คน เป็นลูกกำนัน เขาไปเรียน แต่คนหนึ่งเขาสวย สุดท้ายเลยได้ไปเป็นผัวทหาร อีกคนเป็นพยาบาล และมีผู้ชายอีก 2 คนลาออก
ครูกำไรเป็นคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงในการทำแจ่วหม้อดังที่กล่าวไปข้างต้น เริ่มจากเธอทำไปแจกเพื่อนที่โรงเรียนพร้อมไข่ต้ม สูตรของเธอคือใช้พริกแห้งผสมกับพริกสด ทำให้เธอได้รับรางวัลนวัตกรรมของโรงเรียน จนทางโรงเรียนขอให้เธอจัดกิจกรรมพาเด็กไปลงชุมชน และเป็นวิทยากรสอนเด็กในโรงเรียนและชุมชน
ถ้าแจ่วหม้อต้องกองโค บ้านปลาร้าใครปลาร้ามัน ของใครของมัน แล้วแต่ ก็อย่างนั้น ก็เลยบอกว่าอร่อยอยู่ตรงไหน ปลาร้าก็ต้องทำเองด้วยนะ
ครูกำไรมีประสบการณ์แข่งขันทำแจ่วหม้อมาหลายเวที เช่น ในระดับตำบลที่มีตัวแทนจากหมู่บ้านเข้าแข่งขัน เธอเล่าบรรยากาศว่ามีการตั้งซุ้มเป็นแผง เตรียมวัตถุดิบพร้อมมีผักสดและไข่ต้ม แล้วเขียนสูตรอาหารเป็นแผ่นพับมาวาง ซึ่งทำให้คนและกรรมการสนใจ แต่อีก 7 บ้านไม่ค่อยมีคน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเธอพูดภาษาไทยเก่ง ก็พูดอยู่คนเดียว ขณะที่ชาวบ้านหมู่อื่นก็เสียใจเมื่อประกาศผล "พอชาวบ้านแพ้ร้องไห้ ก็บอกว่าเขาว่าไม่ต้องร้องไห้ ไม่ทำขายหรอก จะทำกินเองที่บ้าน"
3.ครูชลอ นุ่มมีชัย
ครูชลอ นุ่มมีชัย เกิดเมื่อ พ.ศ. 2497 ที่บ้านกองโค หมู่ 3 ครูได้เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนบ้านกองโค จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 บ้านในเมือง จากนั้นต่อระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่โรงเรียนพิชัย แล้วไปเรียนต่อประกาศนียบัตร (ปกศ.) ที่วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์ จากนั้นศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี เอกประถมศึกษาที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (พิษณุโลก) ภายหลังครูได้บรรจุครั้งแรกที่โรงเรียนบ้านกองโคและสอนหนังสืออยู่ที่นี่จนเกษียณอายุราชการ และได้แต่งงานกับครูแอ๊ดหรือครูหิรัญญาสร้างบ้านอยู่ในหมู่ 2 ในปัจจุบัน (ครูชลอ นุ่มมีชัย, สัมภาษณ์, 22 กรกฎาคม 2567)
ครูชลอ นุ่มมีชัย มีประสบการณ์ฝึกสอนนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันการคัดลายมือ การอ่านภาษาไทย และการเขียนเรียงความ และได้รับรางวัลอย่างต่อเนื่อง เช่น ในปี พ.ศ. 2553 ได้ฝึกสอนให้นักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันทักษะทางวิชาการและศิลปหัตถกรรมนักเรียนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุตรดิตถ์ (สพป. อุตรดิตถ์) เขต 1 โดยนักเรียนได้รับรางวัลเหรียญทองประเภทการคัดลายเมืองและการอ่านภาษาไทย และได้รับเหรียญเงินประเภทการเขียนเรียงความ เป็นต้น
หลังเกษียณราชการ ครูชะลอได้ช่วยเหลืองานในชุมชนและโรงเรียนบ้านกองโคเสมอ โดยได้เป็นคณะกรรมการสถานศึกษามาตั้งแต่ก่อนเกษียณราชการ ปัจจุบันครูเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการสถานศึกษาของโรงเรียนบ้านกองโค และช่วยงานในชุมชนอย่างต่อเนื่อง เช่น ได้รับเชิญให้เป็นโฆษกดำเนินการในงานประเพณีต่าง ๆ นอกจากนี้ยังเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาแทนมัคนายกหากมีเจ้าภาพเชิญมา
4.ครูหิรัญญา นุ่มมีชัย
ครูหิรัญญา นุ่มมีชัย อดีตอาจารย์โรงเรียนบ้านกองโคที่แม้เกษียณอายุราชการแล้ว แต่ยังคงแข็งขันในการทำงานช่วยเหลือและเป็นกำลังสำคัญให้กับโรงเรียน เธอเกิดเมื่อ พ.ศ. 2499 ได้เล่าว่าทวดของครูได้ย้ายจากบ้านกองโคไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านบึงท่ายวน ครูได้ใช้ชีวิตวัยเด็กที่บ้านบึงท่ายวน หากนับตั้งแต่การก่อตั้งบ้านบึงท่ายวน ครูหิรัญญาเป็นคนในชุมชนรุ่นที่ 3 ในปัจจุบันกลุ่มคนจากบ้านกองโคที่ย้ายเข้าไปอยู่บ้านบึงท่ายวนมีอยู่ไม่กี่ครอบครัวแล้ว และหมู่บ้านก็เป็นคนต่างที่ต่างถิ่นที่เข้ามาอาศัยอยู่รวมกันมากขึ้น ภายหลังครูหิรัญญาได้มาสอนหนังสือที่โรงเรียนบ้านกองโค และได้แต่งงานกับครูชะลอ จึงสร้างบ้านอยู่ในหมู่ 2 ในปัจจุบัน (ครูหิรัญญา นุ่มมีชัย, สัมภาษณ์, 22 กรกฎาคม 2567)
ครูหิรัญญาสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวศ.) ด้านการเกษตรจากวิทยาลัยเกษตรกรรมชัยภูมิ และระดับปริญญาตรีด้านการเกษตร ที่วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์หรือมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ในปัจจุบัน เริ่มรับราชการครูในปี พ.ศ. 2519 ที่โรงเรียนบ้านดอนโพธิ์ ตำบลบ้านหม้อ อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ จนในปี พ.ศ. 2522 ได้ย้ายมารับราชการที่โรงเรียนบ้านกองโคจนเกษียณอายุราชการ ในระหว่างที่เป็นครูนั้น ได้สร้างผลงานที่มีชื่อเสียงให้กับโรงเรียนไว้มากมาย เช่น ได้ฝึกสอนให้นักเรียนได้เข้าแข่งขันท่องอาขยานจนได้รับรางวัลเหรียญทองได้ระดับชั้นประถมศึกษา 1 ถึงชั้นประถมศึกษา 3 ได้ฝึกสอนนักเรียนเข้าแข่งขันการคัดลายมือระดับชั้นประถมศึกษา 3 และชนะเลิศได้รับรางวัลเหรียญทอง เป็นต้น
หลังเกษียณราชการครูหิรัญญาจะช่วยเหลืองานในชุมชนและโรงเรียนบ้านกองโคเสมอ ในช่วงปี พ.ศ. 2566 โรงเรียนบ้านกองโคได้เชิญครูมาเป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านอาชีพให้ความรู้กับเด็กในโรงเรียน และ พ.ศ. 2567 ได้เชิญครูมาเป็นคณะกรรมการสถานศึกษา
1.พริกกองโค
บ้านกองโคและพื้นที่ใกล้เคียงในอำเภอพิชัยมีการปลูกพริกมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน ในหลายครอบครัวพริกเป็นพืชเศรษฐกิจที่ยกระดับเศรษฐกิจในครัวเรือนอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะช่วงกลางทศวรรษ พ.ศ. 2510 กองโคจึงถือเป็นแหล่งผลิตพริกที่สำคัญมาเนิ่นนาน โดยมีพริก 3 ประเภท ได้แก่ 1) พริกเล็กซึ่งเป็นพันธุ์ที่ปลูกไว้เพื่อการขาย 2) พริกชี้ฟ้าหรือคนท้องถิ่นเรียกว่าพริกอีเด่เพราะมีลักษณะเด่ชี้ขึ้นฟ้า มีรสชาติคล้ายพริกเล็กแต่ขนาดใหญ่กว่า และนำไปทำพริกป่น และ 3) พริกหยวกสำหรับบริโภคในครัวเรือน ที่คนลาวเวียงเอาไปทำอั่วบักเผ็ด ในเวลานั้นมีโรงงานมารับซื้อจากคนในพื้นที่ที่เปิดเป็นลานรับซื้อพริกจากชาวบ้านและส่งไปขายตามที่ต่าง ๆ รวมถึงที่กรุงเทพมหานครและสมุทรสงครามด้วย อาจารย์ประทีป ทิมให้ผล (สัมภาษณ์, 5 พฤศจิกายน 2567) กล่าวว่า
ขายพริกนี้ได้เงินรายสัปดาห์เลยนะ เพราะเราจะตากพริกเป็นรอบ ๆ แล้วพอแห้งก็เอาไปขายโรงรับได้เงินเลย อย่างผมเรียนมา ก็เพราะเงินพริกเลยนะ บ้านผมทำ 10 กว่าไร่ ผมนี้เก็บพริกจนมือร้อนไปหมด
2.แจ่วหม้อ
แจ่วหม้อหรือน้ำพริกถือว่าเป็นทุนทางวัฒนธรรมในฐานะที่เป็นอาหารชาติพันธุ์ของกลุ่มลาวเวียงในบ้านกองโค ที่ทางหน่วยงานรัฐได้พยายามส่งเสริมและเผยแพร่อัตลักษณ์ด้านอาหารนี้ให้คนในชุมชน รวมถึงการส่งเสริมการเรียนรู้ถึงวัฒนธรรมอาหารนี้ในระดับโรงเรียนด้วย โรงเรียนบ้านกองโคได้จัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรการทำแจ่วหม้อให้กับนักเรียนมาอย่างต่อเนื่อง โดยจะเชิญผู้รู้ในชุมชนมาสาธิตการทำอย่างป้าน้อย วิจิตรา คอรอด ให้กับเด็ก ๆ ในโรงเรียน (โรงเรียนบ้านกองโค, 2564ก, 2564ข)
ครูประทีม ทิมให้ผล ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมเรื่องแจ่วหม้อว่า ส่วนใหญ่คนกองโคจะใช้พริกหยวกผสมลงไปในการทำ แต่จะขาดปลาไม่ได้ แต่ความจริงหากไม่มีปลาก็สามารถใส่เนื้อสัตว์อื่น ๆ แทน เป็นแจ่วหม้อกบ อึ่ง หมู หรือปลาซิวก็ได้ แต่ที่เป็นต้นตำรับคือต้องใส่ปลาโขลกหรือไม่ก็ปลาย่างโขลกรวมไป การใส่เนื้ออะไรลงไปผสมกับแจ่วหม้อยังสะท้อนมิติด้านชนชั้นด้วย หากบ้านที่มีฐานะยากจนไม่มีเนื้อปลา สามารถใส่มะเขือเอามาตำและใส่แทนปลาได้
ชุมชนกองโคอพยพมาจากลาวตั้งแต่สมัยธนบุรีต่อเนื่องมายังรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในปัจจุบันพวกเขายังคงพูดภาษาของกลุ่มตนเองที่แสดงถึงถิ่นฐานที่จากมา แม้ว่าจะเป็นสำเนียง "ลาวกองโค" แต่ก็เรียกว่าเป็นภาษาลาวจากเวียงจันทน์ด้วยในขณะเดียวกัน ซึ่งต่างจากภาษาอีสานหรือภาษาลาวในที่อื่น ๆ เช่น ลาวที่อำเภอน้ำปาด อำเภอท่าฟาก และอำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ (ประทีป ทิมให้ผล, สัมภาษณ์, 5 พฤศจิกายน 2567) จากการลงพื้นที่และสัมภาษณ์อดีตครูโรงเรียนบ้านกองโค เล่าว่าคนกองโคยังมีปัญหาในการสื่อสารภาษาไทยให้มีความชัดเจน ยังติดสำเนียงภาษาท้องถิ่นอยู่ ซึ่งทำให้ และคำบางคำในภาษาลาวกองโคก็ยังมีการใช้ในการสื่อสาร "เด็ก ๆ ในเมืองพิชัยจะอายในการพูด เช่น ไม้กวาดเป็นไม้กวัด บ้างบนเป็นข้างเท้ง ขางล่างเป็นข้างลุ่ม ทุกวันนี้ภาษาอยากจะรื้อฟื้น ให้พูดภาษาลาวเวียง" (ครูหิรัญญา นุ่มมีชัย, สัมภาษณ์, 3 พฤศจิกายน 2567)
เช่นเดียวกับประสบการณ์การสอนของครูกำไร อุปรี (3 พฤศจิกายน 2567) อดีตครูโรงเรียนบ้านกองโค ที่เล่าว่า
เด็กลาวเวียงมันจะอาย ไม่กล้าอ่านภาษาไทย เด็กบ้างกองโค สมัยก่อนมันพูดไทยไม่ได้ ก็หาวิธีการให้กล้าพูดกล้าแสดงออก ถ้าพูดออกมาเป็นลาวก็ไม่หัวเราะขบขัน สมัยก่อนจบ ป.4 ไม่พูดเลยจนจบ ม.3 พูดออกมาเขาก็หัวเราะ เอาไม้กวัด (ไม้กวาด) มาหน่อย ไปเที่ยว ก็บอกว่า "ไปเทว" ไปตลาดก็ว่า "ไปตล๊าด"
สถานการณ์ด้านภาษาที่เกิดขึ้นในชุมชนลาวเวียงที่บ้านกองโคและชุมชนใกล้เคียง จึงทำให้ในช่วงปีต้นทศวรรษ พ.ศ. 2550 ครูกำไรในเวลานั้นต้องทำผลงานเลื่อนระดับครูและบุคลากรการศึกษา (ค.ศ.) ให้ขึ้นเป็นระดับ ค.ศ.3 จึงได้ทำผลงาน "ภาษาไทยแบบบูรณาการ" ซึ่งเป็นการออกแบบเทคนิคการสอนภาษาไทยในพื้นที่ที่นักเรียนพูดภาษาลาว ครูกำไรได้นำเทคนิคการสอนภาษาไทยแนวทางของศาสตราจารย์บรรลือ พฤกษวรรณ มาพัฒนาต่อยอดเป็นแนวการสอนภาษาไทยปรับสภาพแก้ปัญหาในชุมชน ตั้งแต่ระดับการศึกษาประถม 1 เป็นต้นไป ในชื่อย่อยว่า "เปรียบเทียบภาษาถิ่นเป็นภาษาไทยกลาง" ผลงานนี้ทำให้ครูกำไรได้เลื่อนขั้นในปี พ.ศ. 2542
ภาษาลาวเวียงที่ควรจะรื้อฟื้นดังที่ปรากฏในวิทยานิพนธ์ของประทีป ทิมคล้ายผล (2540, น.15-16)
ภาษาไทยกลาง | ภาษาลาวกองโค |
น้อยหน้า | มะเขียบ |
ฝรั่ง | หมากสีดา |
พริก | มะเผ็ด |
รองเท้า | เกิบ |
พริกขี้หนู | มะเผ็ดน่อย |
ปลาร้า | ปลาแดก |
น้ำพริก | แจ่ว |
บ้าน | เฮือน |
ทำงาน | เฮ็ดเวียก |
เหนื่อย | เมื่อย |
ไม่ | บ่ |
ทำอะไร | เฮ็ดหยัง |
ร้อน | ห่อน |
ไปไหน | ไปเดอย |
วิ่ง | แล่น |
นอกจากนี้ คนกองโคยังมีคำเรียกหรือคำที่ใช้เฉพาะในกลุ่มลาวกองโคเป็นการเฉพาะ เช่น
ภาษาไทยกลาง | ภาษาลาวกองโค |
หม่อม | เป็นคำใช้เรียกพระสงฆ์ |
ข้อย | สรรพนามเรียกแทนตนเอง (สรรพนามบุรุษที่ 1) |
เจ้าหรือสู (หลายคน) | สรรพนามเรียกคอื่น (สรรพนามบุรุษที่ 2) |
กินดอง | หมายถึง แต่งงาน |
เฮือนเย็น | คำเรียกบ้านที่มีคนตาย |
นอกจากชุมชนบ้านกองโคจะจัดงานประเพณีและกิจกรรมที่แสดงให้เห็นถึงศรัทธาที่มีต่อศาสนาพุทธแล้ว ชุมชนยังมีสถานที่ที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อความศรัทธาอื่น ๆ ด้วย ที่วัดกองโคมีผู้คนที่รู้จักและไปเคารพสักการะศาลหลวงพ่อโอ๊ต พระนิมิตร จารุวณโณ รองเจ้าคณะอำเภอพิชัย เล่าว่าเป็นพระภิกษุที่เดินทางมาจากหลวงพระบาง ประเทศลาว และมาพำนักที่วัดกองโค และได้เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดในเวลาต่อมา คนมีความเชื่อว่าหากต้องการประสบความสำเร็จด้านการงาน สอบเข้า หรือสอบบรรจุครู หรือมีของหายที่ต้องการได้คืน ก็จะมาบนบานกับหลวงพ่อโอ๊ตเพื่อให้สมหวังด้วยพวงมาลัยหรือหัวหมู เมื่อสำเร็จก็จะนำของดังกล่าวมาแก้บน นอกจากนี้ พระนิมิตร จารุวณโณ พระพุทธรูปในนามหลวงพ่ออู่ทอง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่มีความศักดิ์สิทธิ์ของวัดกองโคเช่นเดียวกัน (เฟสบุ๊ค U2T Korrum, 2565ก, 2565ข)
บริเวณริมแม่น้ำน่านใกล้กับวัดกองโคเช่นเดียวกัน ยังมีศาลปู่คอวังหรือปูวังที่คล้ายกับศาลพระภูมิ ต่อมาเปลี่ยนชื่อศาลพระธาตุธารา ซึ่งเป็นที่สถิตย์ของเทพที่จะช่วยปกป้องคุ้มภัยให้กับชุมชนที่ตั้งอยู่ริมน้ำ คุณประสิทธิ์ พันจันทร์ มัคนายกวัดกองโค เล่าว่ามีความเชื่อว่าปู่วังเป็นบุตรองค์สุดท้องจาก 9 คนของท้าวทศราชและนางจันทรุทกลาศรี จึงเป็นเทพที่คอยดูแลหนอง คลอง บึง แม่น้ำ บริเวณหมู่บ้านกองโค ทำให้ต่อมามีคนมาบนบานศาลเก่ากับปู่วังนี้ ด้วยหมู ไก่ เหล้าป่าหรือเหล้าขาว 35 ดีกรี คนมาบนเพื่อให้ประสบความสำเร็จหรือสอบทหารตำรวจได้ ศาลแห่งนี้เปลี่ยนชื่อเป็นพระธาตุธารา เมื่อศาลหลังเก่าทรุดโทรมและมีการรื้อสร้างและตั้งอีกชื่อหนึ่งขึ้นมา (เฟสบุ๊ค U2T Korrum, 2565ก, 2565ข)
ประทีป ทิมให้ผล. (2540). การศึกษาวิเคราะห์แนวคิดพื้นฐานทางจริยศาสตร์ที่ปรากฏในสมุดข่อยของกลุ่มชนบ้านกองโค ตำบลคอรุม อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ (ปริญญานิพนธ์มหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยมหิดล.
เสาวนีย์ ปานเกิด. (2554). การศึกษาประเพณีการไหลเรือเทียนของชาวบ้านกองโค ตำบลคอรุม อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ (การศึกษาค้นคว้าอิสระด้วยตนเอง). มหาวิทยาลัยนเรศวร.
นพดล พันธุ์เพ็ชร์ และคณะ. (2566). รูปแบบจังหวะกลองโกร๊ก “เพลงไม้สี่” วงมังคละบ้านกองโค ตําบลกองโค อําเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์. วารสารอักษราพิบูล, 4(1), 21-36.
บ้านกองโค. (22 กุมภาพันธ์ 2564). แจ่วหม้อ บ้านกองโค โดย โรงเรียนบ้านกองโค. Youtube. https://www.youtube.com/
บ้านกองโค. (20 สิงหาคม 2564). แจ่วหม้อ @ กองโค. Youtube. https://www.youtube.com/
สำนักงานจังหวัดอุตรดิตถ์. (2529). ประวัติศาสตร์มหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดอุตรดิตถ์. อุตรดิตถ์.
กองสวัสดิการสังคม อบต.คอรุม. (14 ตุลาคม 2563). โครงการศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุตำบลคอรุม ปี 2563 (กิจกรรมการเรียนรู้อบรมอาหารพื้นเมือง แจ่วหม้อ). Facebook. https://www.facebook.com/
คอรุม-Korrum. (21 มกราคม 2568). Soft Power อัตลักษณ์ท้องถิ่น สัปดาห์นี้ คอรุม ขอนำเสนอเรื่องราวศิลปะการแสดงพื้นถิ่น. Facebook. https://www.facebook.com/photo/
วัดกองโค ตำบลคอรุม อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์. (15 พฤษภาคม 2567). ขอเชิญร่วมประเพณีแห่ต้นผึ้งต้นเทียน. Facebook. https://www.facebook.com/
วัดกองโค ตำบลคอรุม อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์. (11 พฤศจิกายน 2567). ขอเชิญชมเรือไฟกลางลำน้ำน่านและประเพณีลอยเรือเทียนของบ้านกองโค บริเวณ ท่าน้ำวัดกองโค. Facebook. https://www.facebook.com/photo/
เฟสบุ๊ค U2T Korrum. (15 สิงหาคม 2565). สายบุญ สายมูเตลู ฟังทางนี้!. Facebook. https://www.facebook.com/U2TKorrum/posts/
เฟสบุ๊ค U2T Korrum. (21 กันยายน 2565). Ep.3 บ้านกองโคสัมผัสเส้นทางการท่องเที่ยวเรื่องราวความเชื่อเสน่ห์มนต์ขลัง อารยธรรม ชุมชนลาวเวียง ท่องเที่ยววิถีคอรุม มูเตลูบ้านฉันมันปังยังไง เที่ยวกันเมาะ … เลาะคอรุม. Facebook. https://www.facebook.com/U2TKorrum/videos/
เฟสบุ๊ค U2T Korrum. (2568, 17 กุมภาพันธ์). Soft Power อัตลักษณ์ท้องถิ่น สัปดาห์นี้ คอรุม ขอนำเสนอเรื่องราว อัตลักษณ์ท้องถิ่นอาหาร “น้ำพริกแจ่วหม้อ”. Facebook. https://www.facebook.com/photo
สำนักงานสภาเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์. (2564, 28 สิงหาคม). น้ำพริกแจ่วหม้อ อาหารพื้นถิ่นบ้านกองโค สู่การพัฒนายกระดับเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน. YouTube. https://www.youtube.com/watch
กำไร อุปนี. สัมภาษณ์, 3 พฤศจิกายน 2567.
ประทีป ทิมให้ผล. สัมภาษณ์, 5 พฤศจิกายน 2567.
ชลอ นุ่มมีชัย. สัมภาษณ์, 22 กรกฎาคม 2567 และ 3 พฤศจิกายน 2567.
หิรัญญา นุ่มมีชัย, สัมภาษณ์, 22 กรกฎาคม 2567 และ 3 พฤศจิกายน 2567.