
"อีสานพลัดถิ่น มีกินวิถีพอเพียง แหล่งท่องเที่ยวกระบือไทย งามวิลัยผ้าทอมือ" ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวด้านวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่โดดเด่นแหล่งเรียนรู้ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ชื่อ "บ้านใหม่ไทยพัฒนา" มาจากลักษณะการก่อตั้งชุมชนและแนวคิดในการพัฒนา โดย "บ้านใหม่" หมายถึงชุมชนที่เกิดขึ้นใหม่จากการอพยพของผู้คนมาตั้งรกรากในพื้นที่ "ไทยพัฒนา" สื่อถึงแนวคิดการพัฒนาชุมชนให้มีความเจริญก้าวหน้า ตามแนวทางของการพัฒนาประเทศ
"อีสานพลัดถิ่น มีกินวิถีพอเพียง แหล่งท่องเที่ยวกระบือไทย งามวิลัยผ้าทอมือ" ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวด้านวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่โดดเด่นแหล่งเรียนรู้ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
บ้านใหม่พัฒนาเดิมมีชื่อว่า "หนองหมอบ" เริ่มมีคนเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่เมื่อ ปี พ.ศ. 2521 โดยคนกลุ่มแรกที่เข้ามาอาศัย คือ นายอยู่ฝา อนงค์เวช เป็นผู้บุกเบิกคนแรก ต่อมาจึงได้มีประชาชนอพยพเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มขึ้น นายอยู่ฝา ซึ่งเป็นผู้ที่เข้ามาอาศัยคนแรกจึงมีการจัดกลุ่มให้ผู้เข้ามาอยู่อาศัยใหม่ได้อพยพเข้ามาเป็นกลุ่มหรือเป็นคุ้ม เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยผู้อพยพส่วนใหญ่มาจากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น นครราชสีมา อุบลราชธานี อุดรธานี ศรีสะเกษ มหาสารคาม สุรินทร์ สาเหตุของการย้ายถิ่นฐานมาจากพื้นที่เดิมเนื่องจากความแห้งแล้งของพื้นที่เดิม น้ำไม่เพียงพอต่อการใช้ประโยชน์ ทำให้เกิดปัญหาหนี้สิน ต้องขายไร่ขายนาและหาที่อยู่ใหม่ มาอยู่ที่บ้านใหม่พัฒนา
ในปี พ.ศ. 2525 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จยังโรงเรียนร่มเกล้า อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว ซึ่งนางสี นาเก่า ได้เป็นตัวแทนหมู่บ้านไทยพัฒนาถวายผ้าไหมลายปลาซิว พระองค์ทรงส่งเสริมกลุ่มทอผ้าโดยมีการตลาดรองรับผลิตภัณฑ์ผ้าไหมและช่วยเหลือด้านวัสดุที่ใช้ในการทอผ้าให้แก่ชาวบ้าน เพื่อช่วยให้ชาวบ้านในชุมชนพ้นจากปัญหาความยากจนมีรายได้ในการเลี้ยงชีพ และเพื่อไม่ให้ภูมิปัญญาการทอผ้าไหมของบ้านใหม่พัฒนาสูญหายไป
พื้นที่ชุมชนมีลักษณะเป็นที่ราบเชิงเขา มีลำน้ำจากคลองพระปรงไหลผ่านและเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 74 เมตร สภาพพื้นที่ราบเชิงเขาส่วนใหญ่มีสภาพเป็นป่าโปรง โดยมีพื้นที่ทั้งหมด 4,080 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่โฉนด 280 ไร่ พื้นที่ ส.ป.ก. 3,100 ไร่ พื้นที่ น.ส. 3 จำนวน 575 ไร่ พื้นที่สาธารณะประโยชน์ 65 ไร่ และพื้นที่ราชพัสดุ 60 ไร่ ทั้งนี้สภาพพื้นที่โดยรอบชุมชน มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ อุทยานแห่งชาติปางสีดา ตำบลท่าแยก
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 3 บ้านหนองตะเคียนบอน และหมู่ที่ 7 บ้านคลองทรายใต้
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลโนนหมากเค็ง อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว
- ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 3 บ้านหนองตะเคียนบอน
จากระบบสถิติทางการทะเบียน สำนักบริหารทะเบียนกรมการปกครองปี 2560 บ้านใหม่ไทยพัฒนามีประชากรทั้งหมด 1,184 คน เป็นเพศชาย 609 คน และเป็นเพศหญิง 575 คน และมีจำนวนบ้านเรือนทั้งหมด 312 หลังคาเรือน ปี 2561 มีประชากรทั้งหมด 1,180 คน เป็นเพศชาย 604 คน เพศหญิง 576 คน และมีจำนวนบ้านเรือนทั้งหมด 312 หลังคาเรือน ปี 2562 ข้อมูลจากสำนักทะเบียนอำเภอวัฒนานคร ณ เดือนมีนาคม 2562 มีประชากรทั้งหมด 1,185 คน เพศชาย 604 คน เพศหญิง 581 คน และมีจำนวนบ้านเรือนเพิ่ม 1 หลังคาเรือน เป็น 313 หลังคาเรือน นอกจากนี้ชุมชนบ้านใหม่ไทยพัฒนามีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ เนื่องจากพื้นที่นี้เคยเป็นเส้นทางอพยพของผู้คนจากหลายภูมิภาคของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน โดยกลุ่มชาติพันธุ์ที่พบในชุมชน ได้แก่ ชาวลาวพวน, ลาวเวียง, ลาวโซ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลักในชุมชน อพยพมาจากภาคอีสานและภาคกลางของไทย เขมร (ขแมร์) มีอิทธิพลทางวัฒนธรรมต่อภาษาพูด อาหาร และประเพณี เช่น ข้าวต้มมัดใบมะพร้าว ไทยอีสาน มีลักษณะคล้ายลาวเวียง จีนฮ่อ (ยูนนาน-จีนแต้จิ๋ว) พบในบางครัวเรือนที่มีเชื้อสายจีนอพยพมาตั้งรกรากในอดีต และชาวไทยมอญ
ปี | จำนวนประชากรเพศชาย | จำนวนประชากรเพศหญิง | จำนวนหลังคาเรือน |
พ.ศ. 2560 | 609 | 575 | 312 |
พ.ศ. 2561 | 604 | 576 | 312 |
พ.ศ. 2562 | 604 | 581 | 313 |
ชุมชนบ้านใหม่ไทยพัฒนามีโครงสร้างเครือญาติที่แน่นแฟ้น เนื่องจากเป็นชุมชนที่ก่อตั้งขึ้นจากการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของกลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์กันในเชิงเครือญาติ โดยครอบครัวส่วนใหญ่จะเป็นแบบครอบครัวขยาย (Extended family) ที่อาศัยรวมกันอยู่ร่วมกันหลายรุ่นในบ้านเดียวกัน หรืออยู่ใกล้เคียงกันในชุมชน ปู่ ย่า ตา ยาย มีบทบาทสำคัญในการดูแลเด็ก และถ่ายทอดวัฒนธรรมท้องถิ่น ส่วนใหญ่เป็นการแต่งงานในกลุ่มเครือญาติใกล้เคียง (Endogamy) เพื่อรักษาความสัมพันธ์ภายในชุมชน และฝ่ายชายมักย้ายเข้ามาอยู่กับครอบครัวฝ่ายหญิงตามระบบครอบครัว "มาตุยถิภาคี" (Matrilocal Residence) นอกจากเครือญาติทางสายเลือดแล้วยังมีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติโดยการรับเป็น "พี่น้องทางน้ำใจ" หรือ "พี่น้องร่วมสาบาน"
ขแมร์ลือ, ไทดำ, ไทยพวน, มอญ, ลาวเวียง, จีนยูนนาน(จีนฮ่อ)ชุมชนบ้านใหม่ไทยพัฒนา ตำบลหนองตะเคียนบอน อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ปลูกมันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด และยูคาลิปตัส และเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ เป็ด หมู ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ เพื่อสะท้อนถึงความร่วมมือและความพยายามของชุมชนบ้านใหม่ไทยพัฒนาในการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจ เสริมสร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของสมาชิกในชุมชน ประกอบไปด้วย
- วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์หม่อนไหม (กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าไหมทอมือ บ้านใหม่ไทยพัฒนา) ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 42 คน คณะกรรมการ 1 คณะ จำนวน 7 คน มุ่งเน้นการผลิตผ้าไหมมัดหมี่ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมพื้นบ้านที่มีความประณีตและสวยงาม มีลักษณะเด่นคือใช้เส้นไหมแท้มาย้อมสี ทอเป็นผ้าที่มีลวดลาย สีไม่ตก ซักแล้วไม่หด ช่วยเสริมสร้างรายได้และอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น
- กลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปสมุนไพรท้องถิ่น การผลิตยาหม่องไพลและน้ำมันไพล ซึ่งโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีการอบรมและพัฒนาทักษะให้กับสมาชิกในชุมชน การส่งเสริม
- การรวมกลุ่มแบบสหกรณ์ จัดตั้งสหกรณ์ปฏิรูปที่ดิน อำเภอวัฒนานคร (คทช.) จำกัด เพื่อพัฒนากลุ่มการผลิตและรวบรวมผลผลิต โดยมีการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการรวมกลุ่มและการบริหารงานในรูปแบบสหกรณ์ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
มกราคม-กุมภาพันธ์
- วันขึ้นปีใหม่ : ชาวบ้านรวมตัวกันที่วัดบ้านใหม่ไทยพัฒนาเพื่อทำบุญตักบาตร เสริมสิริมงคลให้กับชีวิต
- วันมาฆบูชา : ทำบุญ ร่วมฟังเทศน์ และเวียนเทียนที่วัดในชุมชน
มีนาคม-เมษายน
- พิธีกรรมขอฝน : เกษตรกรในพื้นที่ทำพิธีขอฝนตามความเชื่อโบราณ เพื่อให้พืชผลเจริญงอกงาม
- เทศกาลสงกรานต์ : รดร้ำดำหัวผู้สูงอายุ เล่นน้ำสงกรานต์ตามประเพณี และร่วมทำบุญ
พฤษภาคม-มิถุนายน
- วันวิสาขบูชา : เวียนเทียนและปฏิบัติธรรมที่วัด
- เทศกาลแห่นาคหมู่ : มีการจัดขบวนแห่นาคแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นโอกาสที่ชาวบ้านในชุมชนได้ร่วมบุญ
กรกฎาคม-สิงหาคม
- วันเข้าพรรษา : ทำบุญตักบาตรและถวายเทียนพรรษา
- พิธีบายศรีสู่ขวัญ : จัดขึ้นหลังจากเริ่มทำนา เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้ชาวนา
กันยายน-ตุลาคม
- ประเพณีสารทไทย : ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ
- วันออกพรรษาและตักบาตรเทโว : ชาวบ้านร่วมกันทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง
พฤศจิกายน-ธันวาคม
- เทศกาลลอยกระทง : ชาวบ้านร่วมกันทำกระทงจากงัสดุธรรมชาติ และนำไปลอยที่แหล่งน้ำของชุมชน
- งานประจำปีวัดบ้านใหม่ไทยพัฒนา : จัดงานบุญ ผูกผ้าเจดีย์ ฟังเทศน์ และกิจกรรมรื่นเริงในชุมชน
1.นางสาคร พรมบุตร ความสามารถในงานหัตถกรรม การถักกระเป๋าด้วยเชือกพลาสติก
2.นางสี นาเก่า ประธานกลุ่มทอผ้าไหมบ้านใหม่ไทยพัฒนา
ด้วยการจัดสรรพื้นที่ในชุมชนเป็นส่วนต่าง ๆ ทำให้ชุมชนบ้านใหม่ไทยพัฒนามีทุนทางกายภาพที่หลากหลาย มีพื้นที่ป่าชุมชนบ้านใหม่ไทยพัฒนา เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2545 เป็นเนื้อที่ 65 ไร่ จัดประเภทป่าเป็นป่าสงวนแห่งชาติ โดยสภาพทั่วไปเป็นที่ราบลุ่ม ดินมีลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย นอกจากนี้บ้านใหม่ไทยพัฒนายังเป็นชุมชนที่มีภูมิปัญญาโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ที่สืบทอดมาช้านาน ได้แก่ ภูมิปัญญาด้านหัตถกรรมและงานฝีมือ การทอผ้าไหมมัดหมี่ที่เป็นศิลปะที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยใช้สีธรรมชาติจากพืชในท้องถิ่น การจักสานจากไม้ไผ่ เช่น ตะกร้า ฝาชี ถูกนำไปใช้ในครัวเรือนและจำหน่ายสร้างรายได้แก่คนในชุมชน ภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร ยาหม่องไพลและน้ำมันไพล ใช้บรรเทาอาการปวดเมื่อยและเคล็ดขัดยอก การใช้สมุนไพรพื้นบ้านเป็นยารักษาโรค เช่น ฟ้าทลายโจรแก้ไข้ ขมิ้นชันรักษาอาการทางเดินอาหาร การอบสมุนไพรและประคบสมุนไพร ใช้รักษาอาการปวดเมื่อยและช่วยให้ระบบไหลเวียนโลหิตดีขึ้น
เนื่องจากประชากรในบ้านใหม่ไทยพัฒนามีการย้ายถิ่นฐานมาจากหลายภูมิภาค ทั้งภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาษาพูดของชาวบ้านจึงมีความหลากหลาย เช่น ภาษาถิ่นอีสาน ภาษาโคราช ภาษาระยอง ภาษาไทยกลาง และในบางครอบครัวยังมีการใช้ภาษามอญภายในครอบครัว
ในปัจจุบันชุมชนบ้านใหม่ไทยพัฒนามีการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจที่น่าสนใจ เนื่องจากมีการร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรท้องถิ่นด้วยการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เช่น ยาหม่องไพลและน้ำมันไพล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชนและส่งเสริมการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นอย่างยั่งยืน มีการส่งเสริมการเกษตรและการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม โดยการเปิดโครงการ "Kick off 72 หมู่บ้าน รวมใจปลูกหม่อนน้อมถวาย 72 พรรษา ทศมินทรราชา" ภายใต้โครงการหม่อนไหมรวมใจเฉลิมพระเกียรติ โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เพื่อเพิ่มรายได้และสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน
ชุมชนบ้านใหม่ไทยพัฒนาได้รับการจัดตั้งเป็นหมู่บ้านอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2525 และมีการมุ่งเน้นพัฒนาทุนทางสังคมและความเป็นธรรมในการจัดสวัสดิการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
หลังจากได้รับการจัดตั้งเป็นหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ ส่วนหนึ่งได้ช่วยทำให้ผู้อยู่อาศัยได้รับสิทธิพลเมืองและการยอมรับทางกฎหมาย นอกจากนี้กระทรวงมหาดไทยยังได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลและสัญชาติให้กับบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน การดำเนินการนี้มีเป้าหมายเพื่อให้บุคคลเหล่านี้ได้รับสิทธิและสวัสดิการที่พึงมี
มีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน เช่น การปรับปรุงถนนสายภายในชุมชนบ้านใหม่ไทยพัฒนา หมู่ 6 ตำบลหนองตะเคียนบอน โดยขยายความกว้างเป็น 4 เมตร ยาว 3,100 เมตร หนา 0.05 เมตร หรือมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 12,400 ตารางเมตร การพัฒนานี้ช่วยเพิ่มความสะดวกในการคมนาคมและส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่
มีการจัดโครงการเพื่อส่งเสริมสุขภาพให้แก่คนในชุมชน เช่น จัดโครงการบริการวิชาการแก่ชุมชน โดยคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ วันที่ 12 มีนาคม 2560 เพื่อให้ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ เช่น ท่ายืดกล้ามเนื้อเพื่อลดอาการปวดเมื่อย และการบริหารร่างกายเพื่อป้องกันและบรรเทาอาการข้อเข่าเสื่อม นอกจากนี้ยังมีการสาธิตการทำลูกประคบสมุนไพร รวมไปถึงให้บริการตรวจวัดความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ
บ้านใหม่ไทยพัฒนามีการจัดตั้งสถานศึกษาภายในชุมชน คือ โรงเรียนบ้านใหม่ไทยพัฒนา เป็นสถาบันศึกษาหลักในพื้นที่ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระแก้ว เขต 2 และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบลหนองตะเคียนบอน ผ่านโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพการศึกษาของเยาวชนในชุมชน
ชุมชนบ้านใหม่ไทยพัฒนาได้รับการยกย่องว่าเป็น "ชุมชนคุณธรรม" โดยยึดมั่นในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาเป็นศูนย์รวมจิตใจ และเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และการตลาดของผลิตภัณฑ์ผ้าไหมมัดหมี่ซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของชุมชน ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของชุมชนบ้านใหม่ไทยพัฒนาในการรักษาและพัฒนาวัฒนธรรมท้องถิ่นดั้งเดิม พร้อมทั้งปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป
ภายในชุมชนมีการแบ่งพื้นที่เป็นป่าชุมชนบ้านใหม่ไทยพัฒนา โดยเริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2545 เนื้อที่จำนวน 65 ไร่ เป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ที่สมาชิกในชุมชนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ตามกฎระเบียบของป่าชุมชน เช่น การเข้าไปหาของป่ามาใช้สำหรับบริโภคภายในครัวเรือน การทำกิจกรรมหรือพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เป็นการอนุรักษ์พื้นที่ป่า เช่น การบวชป่า การปลูกป่า ซึ่งป่าชุมชนบ้านใหม่ไทยพัฒนาอยู่ภายใต้การดูแลของกรมป่าไม้
ชุมชนบ้านใหม่ไทยพัฒนาเป็นชุมชนที่ยังคงรักษาวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมทางสังคม ส่งเสริมอาชีพและเศรษฐกิจชุมชนโดยร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกชุมชน เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และหน่วยงานด้านการพัฒนาชุมชน มีศูนย์การเรียนรู้อนุรักษ์กระบือบ้านใหม่ไทยพัฒนา นอกจากนี้ชุมชนบ้านใหม่ไทยพัฒนายังได้รับการพัฒนาให้เป็นชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในพื้นที่
กฤชณรงค์ ดู่อุด. (2566). แนวทางการพัฒนาบรรจุภัณฑ์กลุ่มทอผ้าไหมบ้านใหม่ไทยพัฒนา จังหวัดสระแก้ว. ภาคนิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
กษิดิส อุดมวรรณ์. (3 สิงหาคม 2566). ผ้าไหมลายสระแก้ว วิสาหกิจชุมชนผ้าไหมทอมือ บ้านใหม่ไทยพัฒนา. http://m-culture.in.th/album
กรมป่าไม้. (ม.ป.ป.) ป่าชุมชนบ้านใหม่ไทยพัฒนา. https://forestinfo.forest.go.th/
ธธิธา เวียงปฏิ. (2563). โครงการชุมชนนวัตกรรม : ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสมุนไพรท้องถิ่น (ยาหม่องไพล และน้ำมันไพล) หมู่ที่ 6 บ้านใหม่ไทยพัฒนา ตำบลหนองตะเคียนบอน อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว. คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์. https://ppi.psu.ac.th/project/
องค์การบริหารส่วนตำบลหนองตะเคียนบอน. (1 มกราคม 2564). สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน. https://www.nongtakhianbon.go.th/