
ชาติพันธุ์ม้งที่จัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน พื้นที่มีประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่พัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้และการท่องเที่ยวเพื่อการศึกษา ชุมชนมีแหล่งธรรมชาติเป็นทุนและทรัพยากรในการพัฒนา เช่น น้ำตกตาดปลากั้ง ป่าไม้ และภูเขา และอ่างเก็บน้ำ
บ้านน้ำจวง มีชื่อมาจากเแม่น้ำ และเป็นบริเวณที่มีต้นจวงมาก สมัยก่อนคนเฒ่าคนแก่เขาจะเอาเปลือกต้นจวงมาทำเป็นธูปเพราะมีกลิ่นหอม ต้นจวงเป็นต้นไม้ยืนต้นและเป็นไม้ขนาดใหญ่ บ้านน้ำจวงจึงเป็นชื่อที่มาจากลำน้ำและต้นจวง
ชาติพันธุ์ม้งที่จัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน พื้นที่มีประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่พัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้และการท่องเที่ยวเพื่อการศึกษา ชุมชนมีแหล่งธรรมชาติเป็นทุนและทรัพยากรในการพัฒนา เช่น น้ำตกตาดปลากั้ง ป่าไม้ และภูเขา และอ่างเก็บน้ำ
ประชากรหลักในบ้านน้ำจวงเป็นคนชาติพันธุ์ม้งที่อพยพมาจากดอยภูแว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ และในตำบลป่ากลาง อำเภอปัว จังหวัดน่านและจังหวัดเชียงรายในปัจจุบัน จากนั้นก็มีการอพยพมาเรื่อย ๆ เช่น จากภูขัด อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก หรืออำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ จนมาอยู่ที่น้ำจวง ก่อนหน้านี้อำเภอชาติตระการเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอนครไทย ชาวม้งในส่วนนี้จึงเริ่มต้นที่อำเภอนครไทย งานของปรารถนา มงคลถวัช (2541) ที่เล่าว่าเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2493 คนม้งจากน่านอพยพมาอยู่ในอำเภอนครไทยเพื่อหาพื้นที่ทำกินที่มีความอุดมสมบูรณ์ โดยก่อนการอพยพเข้ามานั้น บิดาของนายเปลี้ยท้ง แซ่ลี คือนายเกอ แซ่ลี และคณะ ได้เดินทางมาเลือกพื้นที่ก่อน ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกพื้นที่ตั้งถิ่นฐานของชาวม้ง คือดูพื้นที่ว่าสามารถปลูกข้าวได้อุดมสมบูรณ์และเป็นป่าดงดิบด้วยหรือไม่ เพราะบริเวณป่าดงดิบจะมีอากาศเย็น ซึ่งทำให้มียุงไม่มาก ปลอดภัยจากเชื้อไข้มาลาเรีย และเชื้อไข้ต่าง ๆ ที่เป็นกันมากในเขตร้อนพื้นที่ราบ
จีน มอตติน (Mottin, 1980) กล่าวว่าม้งอพยพจากดินแดนทางตอนใต้ของจีน ก่อนเข้าสู่เวียดนาม ลาว และสู่ภาคเหนือของไทยในจังหวัดน่านและเชียงรายเป็นที่แรก คนม้งเหล่านี้ให้ข้อมูลสืบสาวไปได้ว่าคนที่เกิดในแผ่นดินไทยรุ่นแรกน่าจะอยู่ในช่วงปี 1900 และพ่อแม่หรือบรรพบุรุษของเขาได้อพยพเข้ามาในไทยได้ประมาณ 10 กว่าปีหรือราวปี 1890 และมีการพูดกันในเวลานั้นแล้วว่าดินแดนในเวลานั้นเริ่มมีประชากรอาศัยอยู่แต่ไม่มากนัก ทำให้ในเวลานั้นการอพยพเข้าสู่ไทยของกลุ่มม้งยังไม่ได้เป็นที่สังเกตมากนักหรือมาแบบเงียบสงบ โดยไม่มีปัจจัยทางโครงสร้างที่ทำให้ผู้มีอำนาจของไทยในสมัยนั้นตระหนักถึง ขณะที่อีกกระแสหนึ่งเห็นว่าม้งน่าจะอพยพเข้าไทยระหว่างปี 1840-1870 และเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ 3 บริเวณแรก ได้แก่ 1) บริเวณเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้วในลาวปัจจุบัน และอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายในไทย 2) บริเวณแขวงไซยะบุรีที่มาอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ รวมถึงพิษณุโลกในปัจจุบัน 3) บริเวณภูเขาควาย แขวงเวียงจันทน์ในลาวติดกับจังหวัดเลยในไทย ซึ่งบริเวณนี้ไม่ไกลจากเวียดนาม
ในพื้นที่บริเวณเชียงของในไทยหรือในบริเวณแรก คนม้งได้แยกออกเป็น 2 กลุ่มและอพยพไปตามแนวภูเขา กลุ่มแรกลัดเลาะไปตามภูเขาในพม่าและได้เข้าสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่ในประเทศไทย ส่วนกลุ่มที่สองอพยพลงใต้เลียบชายแดนลาว ขณะที่อีกการอพยพอีก 2 บริเวณเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน คนม้งเริ่มอพยพเข้าสู่พื้นที่อำเภอทุ่งช้างในจังหวัดน่าน ก่อนเดินทางไปยังแพร่ และเข็กน้อยในจังหวัดเพชรบูรณ์ มอตตินกล่าว่าในช่วงปี 1928 ชุมชนม้งอย่างน้อย 2 แห่งในบริเวณนี้ถูกบันทึกไว้เป็นหลักฐานแล้ว และอีกปลายทางหนึ่งที่ม้งอพยพไปซึ่งเป็นเส้นทางที่ไม่ค่อยมีความสำคัญมากนัก ได้แก่ พื้นที่จังหวัดตาก กำแพงเพชร รวมถึงนครสวรรค์ ซึ่งม้งที่อาศัยอยู่ในบริเวณภาคเหนือตอนล่างในปัจจุบันถูกบันทึกว่าอพยพออกมา 2 ช่วง ช่วงแรกในปี 1930 จากจังหวัดน่าน ช่วงที่สองในปี 1950 อพยพมาจากอำเภอเชียงของ พวกเขาเริ่มตั้งถิ่นฐานในจังหวัดตากก่อน และจากนั้นเดินทางต่อไปตั้งชุมชนที่หมู่บ้านในอำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งถือเป็นการอพยพลงไปทางใต้มากที่สุดของกลุ่มม้ง (Mottin, 1980) ข้อมูลชุดนี้จึงเชื่อมให้เห็นรอยต่อของประวัติศาสตร์การอพยพเข้ามาของม้งในบ้านน้ำจวง อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก
จนกระทั่งเกิดการปราบปรามคอมมิวนิสต์ซึ่งเริ่มขึ้นช่วงปี 1967 รัฐบาลไทยพบว่าม้งบางส่วนเข้าร่วมกับขบวนการลัทธิคอมมิวนิสต์ จีน มอตติน (Mottin, 1979) สรุปว่ามีม้ง 2 สายที่เข้าร่วมกับขบวนการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) และมีการต่อสู้กับรัฐบาลไทย สายแรกม้งจังหวัดเพชรบูรณ์และตาก และสายที่อยู่ในจังหวัดน่านและเชียงราย ขณะที่ม้งที่อยู่ในเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอนไม่ได้อยู่ขบวนการและความขัดแย้งกับรัฐไทย การปราบปรามโดยรัฐไทยทำให้ม้งจำนวนหนึ่งถอนตัวและเข้าร่วมกับรัฐบาล ขณะที่ม้งจำนวนมากถึงร้อยละ 70 ยังคงร่วมอยู่ในขบวนการโดยมีม้งในจังหวัดเพชรบูรณ์และใกล้เคียงเป็นกำลังสำคัญและสร้างฐานปฏิบัติการอยู่ที่ 2 พื้นที่หลัก ได้แก่ บริเวณเขาค้อและหมู่บ้านร่องกล้า ขณะที่ม้งในจังหวัดตากที่ยังคงร่วมอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ลดจำนวนลง เช่นเดียวกับที่ม้งในจังหวัดเชียงรายที่ลดลง ส่งผลให้ม้งในจังหวัดน่านเป็นฐานปฏิบัติการสำคัญในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน (มุทิตา เจริญสุข, 2562)
บ้านน้ำจวงนั้นเป็นพื้นที่ปฏิบัติการของ พคท. เป็นพื้นที่เขตงานใหญ่ในชื่อว่า “ภูขัด/ทับ 4” ของฐานที่มั่นเขาค้อ-ร่องกล้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งเขตงาน 3 ที่ครอบคลุมจังหวัดคือพิษณุโลก เพชรบูรณ์ และน่าน ที่มีอาณาเขตติดกับประเทศลาว สมาชิกของ พคท. ในตอนนั้น นอกจากนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่หนีเข้าป่าหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แล้ว ยังมีแกนนำคนสำคัญ ได้แก่ พ.ท.โพยม จุลานนท์ บิดาของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี ในปี พ.ศ. 2525 ฐานที่มั่นนี้ถูกทำลายหลังสงครามระหว่างรัฐบาลไทยและ พคท. จบสิ้นลง และสมาชิก พคท. ที่เป็นม้งออกจากฐานที่มั่นและเริ่มตั้งถิ่นฐานในบริเวณบ้านน้ำจวงปัจจุบัน (สำนักพัฒนาทุนและองค์การเงินชุมชน กรมพัฒนาชุมชน, 2559) นายนิรันดร์ ลีวัฒนะกุล อดีตผู้ใหญ่บ้านน้ำจวง ในฐานะประธานการท่องเที่ยวชุมชนบ้านน้ำจวง (สัมภาษณ์, 3 มีนาคม 2567) เล่าว่าหลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบาย 66/23 คือ ผู้ที่มีความคิดต่างกันให้เข้ามาร่วมพัฒนาชาติไทย ทางรัฐบาลเลยให้ชาวม้งมาตั้งหมู่บ้านอยู่ที่น้ำจวงจนถึงปัจจุบัน และจัดสรรให้มีที่ดินทำกิน ซึ่งยังเป็นช่วงที่มีการอนุญาตให้ทำสัมปทานป่าไม้ จากนั้นเมื่อมีประกาศยกเลิกสัมปทานป่าไม้ทั่วประเทศในปี ซึ่งก่อนหน้านั้นมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดที่ดินสวนเมี่ยงสวนภูทองให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเมี่ยงและภูทองในปีพ.ศ. 2520 พื้นที่ตรงนี้ราชการก็มีการจัดสรรที่ดินทำกินให้ชาวบ้าน ครอบครัวละประมาณ 15 ไร่ ซึ่งคนที่ได้รับการจัดสรรพื้นที่ในเวลานั้นปัจจุบันก็อายุประมาณ 60 ปีขึ้นไป
การประกาศให้ชุมชนน้ำจวงเป็นหมู่บ้านอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2542 ในขณะนั้นชุมชนได้รับการจัดสรรที่ดินโดยหน่วยงานราชการ ได้แก่ กรมพัฒนาที่ดินเพื่อให้เป็นที่ดินทำกิน นายนิรันดร์ ลีวัฒนะกุล อดีตผู้ใหญ่บ้านน้ำจวง และประธานการท่องเที่ยวชุมชนบ้านน้ำจวง (สัมภาษณ์, 3 มีนาคม 2567) เปิดเผยว่าตามระเบียบจะมีระยะเวลาของการจัดสรรที่ดินอยู่ ในเวลานั้นการจัดสรรที่ดินมีกรอบระยะเวลาและงบประมาณในการดำเนินการ ทำให้จัดสรรที่ดินได้หมู่บ้านเดียวในเวลานั้นคือบ้านขุนน้ำคับ หมู่ 12 ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีชาติพันธุ์ม้งอาศัยอยู่เป็นหลัก และทำการจัดสรรหมู่บ้านอื่น ๆ ตามมาจนกระทั่งถึงหมู่บ้านน้ำจวง ซึ่งจัดสรรที่ดินได้ 16 ครัวเรือนที่มีการรังวัดพื้นที่เสร็จสิ้น อย่างไรก็ตาม ขณะที่ยังมีครัวเรือนอีก 10 กว่าครัวเรือนที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินจนถึงปัจจุบัน ทำให้ครัวเรือนเหล่านี้ต้องอาศัยครัวเรือนที่ได้รับการจัดสรรแล้วแบ่งพื้นที่ให้ทำกินหรือเพาะปลูก เป็นการประคองสถานการณ์ ทำให้เห็นว่าปัจจุบันชุมชนนี้ยังมีความเสี่ยงในเรื่องของการได้รับสิทธิในการจัดการที่ดินอยู่ และส่งผลกระทบต่อครัวเรือนอื่น ๆ ของชุมชนด้วย
ด้วยความที่บ้านน้ำจวงเป็นชุมชนบนพื้นที่สูง ซึ่งเป็นไปตามการพัฒนาที่ดินและการจัดการป่าไม้ของประเทศไทย ที่พื้นที่ลาดชันที่มากกว่า 45 องศาจะเป็นพื้นที่ที่ถูกจัดประเภทเป็นป่าไม้อนุรักษ์ที่ไม่มีการออกโฉนด แต่รัฐจะออกเป็นเอกสารชุมชนเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ได้ แต่ไม่สามารถจำนำจำนองที่ดินได้ ทำได้เพียงส่งต่อให้ลูกหลานทำกินได้ พื้นที่บ้านน้ำจวงจึงอยู่ภายใต้การดูแลของกองอำนวยการรักษาการความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) กรมพัฒนาที่ดิน และกรมป่าไม้ ที่ทำหน้าที่ออกเอกสารการใช้ที่ดินเป็นแปลงให้กับประชาชนและมีการติดตามด้วยเทคโนโลยี เพื่อให้ชาวบ้านใช้ที่ดินทำกิจกรรมทางเกษตรเป็นหลัก สำหรับบ้านน้ำจวงนั้นที่ดินเคยเป็นการดูแลของ กอ.รมน. ที่มีสัญญาเช่ากับกรมป่าไม้ และอนุญาตให้ชาวบ้านทำกินเป็นเวลา 20 ปี แต่ปัจจุบันสัญญาเช่าจบแล้วโดยที่ยังไม่มีการพิจารณาต่อว่าหน่วยงานไหนจะทำอย่างไรต่อไป การดูแลที่ดินจึงตกเป็นหน้าที่ของหน่วยงานท้องถิ่นหรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)
ส่วนใหญ่พื้นที่ตรงนี้สมัยก่อนเป็นพื้นที่ป่า แต่พอประกาศเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าขึ้นมา พื้นที่ตรงนี้ก็โดนรวมไปด้วย ทำให้ กอ.รมน. ซึ่งมีสัญญาเช่ากับกรมป่าไม้ให้ชาวบ้านทำกินได้ประมาณ 20 ปี ปัจจุบันบ้านน้ำจวงก็พ้นสัญญาเช่า 20 ปีนี้ไปแล้ว ก็ยังไม่มีข้อสรุปออกมา แต่ปัจจุบันเขาให้ทาง อบต.เป็นผู้ดูแลพื้นที่ ภาษีดอกหญ้าก็เสียให้อบต.ไป แต่หน่วยงานที่จะมาดูแลจริงจังยังหาข้อสรุปไม่ได้
บ้านน้ำจวง หมู่ 13 อยู่ห่างจากตัวอำเภอชาติตระการประมาณ 40 กิโลเมตร ห่างจากองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อภาค ประมาณ 22 กิโลเมตร หมู่บ้านมีอาณาเขตติดต่อ ดังต่อไปนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านน้ำปาด ตำบลน้ำปาด อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านน้ำจวงใต้ ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านขุนน้ำคับ ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านน้ำทองน้อย ตำบลบ้านดง อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก
ภูมิประเทศเกือบทั้งหมดของหมู่บ้านน้ำจวง มีสภาพเป็นป่าเขาสูงชัน อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 900-1,000 เมตร สภาพพื้นดินเป็นดินลูกรัง มีที่ราบหุบเขาใช้สำหรับการเกษตรบนพื้นที่สูง มีลำน้ำภาคไหลผ่านบริเวณตอนกลางตามแนวยาวของตำบลบ่อภาค
บ้านน้ำจวงเป็นชุมชนที่มีชาวม้งอาศัยอยู่มาราว 50 ปี ตามที่รัฐจัดสรรที่ดินให้ครอบครัวละ 15 ไร่ ข้อมูลจากอำเภอชาติตระการ ฝ่ายปกครอง ระบุว่าบ้านน้ำจวงได้รับประกาศเป็นหมู่บ้านอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ตำบลบ่อภาคแยกออกมาจากตำบลชาติตระการ จากนั้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2549 มีการประกาศแบ่งอาณาเขตหมู่บ้านใหม่และแยกออกมาเป็นบ้านน้ำจวงใต้ หมู่ 16 (ราชกิจจานุเบกษาประกาศจังหวัดพิษณุโลก เรื่อง ตั้งและกำหนดเขตหมู่บ้าน, 2549) ปัจจุบัน (พ.ศ. 2568) โดยมีนายยี แซ่หยาง เป็นผู้ใหญ่บ้านน้ำจวง ส่วนน้ำจวงใต้มีนายใจ แซ่หยาง เป็นผู้ใหญ่บ้าน แม้จะมีการแบ่งเขตการปกครองและการจัดสรรงบประมาณโดยฝ่ายปกครองของกระทรวงมหาดไทยก็ตาม สำหรับชุมชนนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดความชัดเจนระหว่างบ้านน้ำจวงและบ้านน้ำจวงใต้ ในทางกายภาพ ชาวบ้านรับรู้ว่ามีสะพานกลางหมู่บ้านแยกการปกครองของทั้ง 2 หมู่บ้านออกจากกัน ขณะที่สถานที่ราชการหรือองค์กรสำคัญทางศาสนาที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันนั้นส่วนใหญ่อยู่ในบ้านน้ำจวง เช่น โรงเรียนบ้านน้ำจวง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) คริสตจักรเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีสน้ำจวง ส่วนคริสตจักรบ้านน้ำจวงอยู่บริเวณบ้านน้ำจวงใต้
นิรันดร์ แซลี อดีตผู้ใหญ่บ้าน เล่าว่าพื้นที่บ้านน้ำจวงและน้ำจวงใต้มีพื้นที่ร่วมกันประมาณ 10,300 กว่าไร่ จากการที่รัฐจัดสรรให้ราษฎรทำกินเมื่อมีการตั้งหมู่บ้าน ก่อนที่จะมีหมู่บ้านพื้นที่บริเวณนี้เป็นป่าที่ยังไม่มีการประกาศเป็นเขตอุทยานหรือพื้นที่อนุรักษ์ ชาวบ้านทำมาหากินบริเวณนี้ ในช่วงก่อนหน้านั้นเป็นพื้นที่สัมปทานป่า และเส้นทางถนนที่สัญจรเข้ามาเป็นเส้นทางสำหรับลากซุง จนภายหลังก็ให้ชุมชนเข้ามาจัดตั้งเป็นหมู่บ้านได้ เพราะหน่วยราชการมีความมุ่งหวังว่าชาวบ้านจะเป็นหูเป็นตาให้ราชการแทนตามแนวชายแดน
ในเวลานั้น ความคิดทางราชการก็ไม่เหมือนกับสมัยนี้ เมื่อก่อนพื้นที่บริเวณนี้ ถ้าครอบครัวไหนถางป่าได้มากที่สุดเขาจะชมเชยนะ เพราะสมัยก่อนเป็นป่ารกไม่มีคนอาศัยอยู่ มีการสู้รบ มีสงคราม มีค้ายาเสพติดต่าง ๆ ทางราชการก็ไม่สามารถเข้ามาดูแลได้อย่างทั่วถึง เขาก็ต้องการให้พื้นที่มันโล่งเตียนหน่อย การจัดการดูแลจะได้ง่าย (นิรันดร์ แซลี, สัมภาษณ์, 3 มีนาคม 2566)
พอมีการจัดสรรที่ดินให้ด้วยพื้นที่ที่มีจำกัดก็เกิดปัญหาขึ้นคือพื้นที่ลาดชันเวลามีการเพาะปลูก ช่วงแรก ๆ จะทำเกษตรได้ดีอยู่ เพราะหน้าดินมีปุ๋ยและสารอาหารตามธรรมชาติ แต่พอเวลาผ่านไปหลายปี ชาวบ้านยังปลูกพืชซ้ำ ๆ ทุกปีประกอบกับไม่ได้พัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เวลาเพาะปลูกบนพื้นที่ลาดชัน ฝนตกน้ำก็ชะล้างหน้าดินไปเรื่อย ๆ สารอาหารก็ถูกชะหายไปด้วย ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลงทุกปี ๆ ช่วงหลังมาชาวบ้านปลูกข้าวไม่พอกิน เกิดความเดือดร้อนตามมา จนคนเฒ่าคนแก่ที่มีอายุ 70 ปีมีประสบการณ์การทำนาขั้นบันไดมาแล้ว ก็เลยขอความช่วยเหลือจากสมเด็จพระราชินี รัชกาลที่ 9 คือ สมเด็จพระพันปีหลวง ท่านก็มีโครงการพระราชดำริมาให้ทำนาขั้นบันไดแทน จึงมีการทำนาขั้นบันไดตั้งแต่บัดนั้น
นิรันดร์ ลีวัฒนะกุล อธิบายถึงรูปแบบการทำนาขั้นบันได คือการทำนาเป็นชั้น ๆ ข้อแรกเพื่อลดการเซาะหน้าดิน กับการทำนาปกติมันมีข้อแตกต่างกัน คือการทำนาขั้นบันไดเริ่มแรกผลผลิตจะต่ำมาก แต่จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งตรงข้ามกับการผลิตข้าวไร่ เริ่มต้นผลผลิตจะสูงและลดลงเรื่อย ๆ การทำนาขั้นบันไดนั้นเริ่มจากการขุดหน้าดินออกก่อน ทำให้หน้าดินที่มีแร่ธาตุหายไป เวลาเพาะปลูกแรก ๆ จะไม่งาม จึงต้องมีการบำรุงดินและเพิ่มแร่ธาตุให้ดินสม่ำเสมอผลผลิตก็จะดีตาม แต่การทำไร่ทั่วไป การเพาะปลูกแรก ๆ จะงาม แต่ก็นานไปน้ำฝนก็จะชะล้างแร่ธาตุหน้าดินออกไป ทำให้ผลผลิตลดลง ๆ เรื่อย ตรงนี้จึงเป็นข้อแตกต่างกัน ทำให้บ้านน้ำจวงจึงเน้นการทำนาแบบขั้นบันไดมาตั้งแต่นั้นมา
จากการสำรวจในเดือนธันวาคม 2567 บ้านน้ำจวงมีประชากร 1,394 จากครัวเรือน ส่วนบ้านน้ำจวงใต้ 1,243 คน บ้านน้ำจวงมีประชากรสูงสุดในตำบลบ่อภาค ขณะที่บ้านน้ำจวงใต้มีประชากรมากเป็นอันดับ 3 ของตำบล ส่วนบ้านที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ได้แก่ บ้านขุนน้ำคับ หมู่ 12 มีประชากร 1,285 คน และอันดับ 4 ได้แก่ บ้านร่มเกล้า หมู่ 8 มีประชากรที่ 1,228 คน ซึ่งเป็นข้อสังเกตว่าหมู่บ้านทั้ง 4 เป็นหมู่บ้านที่มีประชากรเป็นม้งเกือบร้อยละร้อย จากการสัมภาษณ์พบว่าบางครอบครัวคนม้งยังนิยมมีลูกหลายคนอยู่ เช่นบ้านของสมชัย สัมภาษณ์, 13 มิถุนายน 2565) ในแง่ของอายุและช่วงวัยพบว่า บ้านน้ำจวงมีประชากรกว่าร้อยละ 60 เป็นวัยทำงานในภาคเกษตรและรับจ้างทั่วไป ม้งในชุมชนแห่งนี้กว่าร้อยละ 70 นับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งในบ้านน้ำจวงและบ้านน้ำจวงใต้มีโบสต์ 2 แห่ง
จากประวัติศาสตร์การอพยพ ม้งในบ้านน้ำจวงยังติดต่อกับม้งในอำเภอปัว จังหวัดน่าน อยู่ เห็นได้จากการแต่งงานของคนม้งด้วยกัน นอกจากนี้ ยังสัมพันธ์กับม้งในอำเภอพบพระ จังหวัดตาก ม้งที่จังหวัดกาญจนบุรี ม้งที่บ้านแม่ท่าแพ ตำบลบ้านแก่ง อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ผ่านการแต่งงาน (ตะวัน [นามสมมติ], สัมภาษณ์ 23 มิถุนายน 2565) หนุ่มสาวอาจทำความรู้จักกันผ่านงานประเพณี แต่ปัจจุบันติดต่อสื่อสารกันทางโซเชียลมีเดีย และตกลงปลงใจกันในที่สุด อย่างไรก็ตาม หนุ่มสาวม้งในปัจจุบันเริ่มแต่งงานกับคนนอกกลุ่มชาติพันธุ์มากขึ้น เช่นแต่งงานกับคนไทย แต่ส่วนใหญ่มักจะไม่อาศัยอยู่ในบ้านน้ำจวง แม้ว่าประเพณีการแต่งงานนอกกลุ่มชาติพันธุ์จะได้รับการยอมรับมากขึ้นจากผู้ใหญ่หรือพ่อแม่ก็ตาม (พิชญ์นรี มณีศรี และบุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล, 2567) ขณะที่การเดินทางไปทำงานต่างประเทศของผู้ชายม้งในระยะหลังก็ทำให้เกิดปัญหาครอบครัวแตกแยกด้วยเช่นกัน จากการสัมภาษณ์ (เดือนมิถุนายน 2565) ชายม้งบางคนต้องตัดสินใจไปทำงานต่างประเทศเพราะต้องการเก็บเงินจำนวนมาก แม้ว่าจะมีความกังวลว่าภรรยาอาจเปลี่ยนใจหรือตัดสินใจไม่อยู่ด้วยก็ตาม
ม้งการท่องเที่ยวในชุมชนได้รับการพัฒนาจากสภาพภูมิศาสตร์ของชุมชนที่อยู่บนภูเขาสูง มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ เช่นน้ำตก ผสมผสานกับความเป็นชาติพันธุ์ของคนม้งในหมู่บ้านน้ำจวง และประวัติศาสตร์ทางการเมือง ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับคนภายนอก จึงทำให้ชุมชนมีความรวมกลุ่มรวมตัวกันสร้างการท่องเที่ยวในชุมชนในปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา โดยเริ่มต้นจากการปลูกป่าทดแทนป่าที่ถูกทำลายจากการสัมปทานป่าไม้ ปลูกผักอินทรีย์ และนาขั้นบันได จากนั้นในปี พ.ศ. 2552 บ้านน้ำจวงได้จัดทำโครงการปลูกป่าเพื่อใช้หนี้แผ่นดิน ซึ่งเป็นความร่วมมือของคนในชุมชนทั้งผู้นำ ครูและนักเรียน และเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ โดยมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นที่ปรึกษา (สำนักพัฒนาทุนและองค์การเงินชุมชน กรมพัฒนาชุมชน, 2559) จากนั้นชุมชนมีการพัฒนาเป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งเป็นการทำงานในระดับครอบครัวหรือตระกูลเดียวกัน และรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านน้ำจวง และศูนย์การเรียนรู้ทับ 4 บ้านน้ำจวง
สำนักพัฒนาทุนและองค์การเงินชุมชน กรมพัฒนาชุมชน ยังได้สนับสนุนให้ผู้หญิงม้งในหมู่บ้านน้ำจวงทำกลุ่มอาชีพเย็บเสื้อผ้า นอกจากลดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังเป็นการนำเอาศิลปด้านหัตถกรรมของกลุ่มม้งมาแปรรูปและเผยแพร่เป็นสินค้า ทำให้มีแม่บ้านและผู้หญิงได้เข้ามามีส่วนร่วมโดยการสนับสนุนจากภาครัฐ (สำนักพัฒนาทุนและองค์การเงินชุมชน กรมพัฒนาชุมชน, 2559)
1.วิถีการผลิต
ม้งในหมู่บ้านน้ำจวงและบ้านน้ำจวงประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยปลูกข้าวกินเองในครัวเรือน ไม่ได้ปลูกสำหรับขาย โดยมีพันธุ์ข้าวอยู่ 3-4 สายพันธุ์ แต่ส่วนใหญ่ที่กินกันคือข้าวเจ้าขาวที่เมล็ดแข็งทำให้แมลงไม่ค่อยกิน แต่รสชาติไม่ได้อร่อยเท่าข้าวอีกสายพันธุ์ที่สีน้ำตาลหรือเรียกว่าข้าวโค้ก แต่มีข้อเสียคือแมลงจะชอบมากิน เวลาที่คนเก็บในยุ้งระยะยาว ทำให้ต้องดูแลรักษาให้ดีไม่เช่นนั้นแมลงก็จะมากินหมด จึงทำให้คนนิยมปลูกข้าวเจ้าขาวมากกว่า หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวแล้วในช่วงฤดูหนาวหรือต้นปี ชุมชนม้งจะมีประเพณีกินข้าวใหม่ ซึ่งก่อนหน้าที่ข้าวจะสุก เริ่มเป็นรวงสีเขียว ชาวบ้านจะนำมาคั่วซึ่งได้รสชาติอร่อย ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่สมาชิกในชุมชนจะเริ่มมาปรึกษากันเรื่องการทำกิจกรรมที่ผสานกับวัฒนธรรมชุมชน
อดีตผู้ใหญ่บ้านนิรันดร์ ลีวัฒนะกุล อธิบายว่าข้าวตั้งแต่กระบวนการตั้งท้องจนถึงเมล็ดข้าวที่เรากิน มีงานวิจัยบอกว่าช่วงที่ข้าวมันตั้งท้องและมีน้ำนมข้าวข้างในมีคุณค่าโภชนาการสูง ชาวบ้านน้ำจวงจึงเลือกข้าวที่เติบโตในช่วงที่ข้าวเริ่มแข็งตัวเป็นเม็ดแข็ง วิตามินข้าวจะเคลือบอยู่ที่ผิวเสียมาก แต่หากเราเอาไปสีวิตามินก็จะหายไป ได้ออกมาเป็นรำข้าวและข้าวขาว แต่มีคุณค่าน้อยกว่าเพราะเหลือแต่ในส่วนที่เป็นแป้ง ประกอบกับเป็นวัฒนธรรมของคนม้งในการกินข้าวใหม่ ที่พอข้าวเริ่มออกรวงและข้างในยังเป็นวุ้น ๆ ชาวบ้านก็จะเกี่ยวมาแล้วเอามาเคาะให้เป็นข้าวเปลือกแต่เม็ดยังเขียวอยู่ แล้วเอาไปคั่วผ่านความร้อนก่อนเพื่อให้สีออกมา ถ้าไม่ผ่านความร้อนข้าวจะเละออกมาเป็นน้ำนม แต่หากข้าวผ่านความร้อนเมื่อแล้วสีจะเป็นเม็ดข้าวใหม่ให้คนได้กิน และเป็นของฝากของบ้านน้ำจวงให้นักท่องเที่ยวโดยตรง และจากงานวิจัยก็บอกว่า ข้าวที่เป็นระยะน้ำนมจะมีคุณค่าทางโภชนาการเยอะที่สุด เราก็เลยเอาข้อดีตรงนี้มาเป็นจุดขายของบ้านน้ำจวง
ส่วนพืชเศรษฐกิจ ชาวบ้านปลูกขิง กระชายดำ กระชายหอม และว่านชักมดลูก พืชบางประเภทโดยเฉพาะขิงนั้น ชาวบ้านขายให้กับพ่อค้าคนกลางแล้วนำไปแปรรูปต่อขายไปยังต่างประเทศด้วย นอกจากนี้ ยังผักที่ปลูกไว้บริโภคเอง เช่น ผักกาดเขียว ผักโขม และผักที่ขึ้นได้ดีบนพื้นที่สูงอย่างผักลิ้นมังกรที่รสชาติขมแต่มีสารต้านอนุมูลอิสระที่ป้องกันมะเร็ง สำหรับการปลูกผักโดยรวมนั้นจะปลูกมากในฤดูฝนเนื่องจากเป็นพืชที่ใช้น้ำมาก นอกจากจุดที่ปลูกไว้ให้นักท่องเที่ยวที่มาพักได้ลองชิม ก็จะมีการจัดสรรแปลงปลูกผักเพื่อจุดประสงค์นี้
2.ประเพณีและความเชื่อ
ม้งในบ้านน้ำจวงยังถือดำรงความเป็นชาติพันธุ์ที่ยังคงรักษาประเพณีดั้งเดิมท่ามกลางการคืบคลานของความทันสมัย ผ่านการเปิดหมู่บ้านให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และคนรุ่นใหม่มีโอกาสไปเรียนหนังสือในเมืองใหญ่ เช่น พิธีกรรมทำขวัญ คนม้งยังใช้หมูในการประกอบพิธีกรรม แต่สำหรับประเพณีที่จัดเมื่อมีคนตาย คนม้งจะบังคับเลยว่า ถ้าคนตายเป็นพ่อเป็นแม่ ต้องใช้วัว 2 ตัวในการประกอบพิธีกรรมจากการสืบทอดจากบรรพบุรุษ หากครอบครัวมีฐานะเคยใช้วัวถึง 11 ตัว โดยวัวจะถูกฆ่าและคนจะเอาวัวที่ตายแล้วมาวางท่านอนไว้ที่ข้างคนตาย แล้วผูกด้ายที่เขาวัวแล้วดึงเส้นด้ายโยงไปที่คนตาย เพราะมีความเชื่อว่าคนตายจะได้เอาวัวตัวนั้นไปใช้ในปรโลกต่อไป พิธีกรรมนี้จึงมีความสำคัญกับคนม้ง โดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่เมื่อเสียชีวิต คนที่จัดพิธีศพจะต้องใช้เงินถึง 200,000-300,000 บาท ในการซื้อวัว เพราะปัจจุบันวัวราคาแพง อย่างวัวราคาถูก ๆ เลยราคาก็เกือบ 20,000 กว่าบาทแล้ว ใช้ 2 ตัวก็ใกล้ ๆ ราคาก็เกือบแสนแล้ว วัวจึงถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ทำให้บางครอบครัวที่เดือดร้อนหากต้องประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ เมื่อไม่มีเงินก็ต้องกู้หนี้ยืมสินมา เพราะเป็นกฎของชุมชนมาตั้งแต่โบราณ และมีข้อแม้อีกว่าวัวต้องมีเขาสวย ปัจจุบันจึงมีสัตว์ 2 ประเภทนี้ที่ใช้ในพิธีกรรมหลัก แต่หากเป็นงานเรียกขวัญขนาดเล็ก ๆ อาจมีไก่ใช้ประกอบบ้าง แต่ไม่สำคัญเท่าหมูและวัว วัวยังใช้เป็นสินสอดของคนม้งในการแต่งงาน พ่อแม่ฝ่ายหญิงจะต้องเตรียมวัวไว้เป็นสินสอดและถือว่ามันเป็นทรัพย์สินของผู้หญิง ค่าสินสอดปัจจุบันจะอยู่ที่ 40,000 บาท และฝ่ายพ่อแม่จะต้องคืนเงิน 10,000 บาท ให้ลูกสาว หมายความว่าถ้าอนาคตลูกสาวเกิดเจ็บป่วยหรือตายไปจะเอาเงินหมื่นนี้ไปซื้อวัวมาประกอบพิธีให้กับลูกสาวของตนเอง
ดังนั้นด้วยข้อผูกมัดตรงนี้ทำให้บางครอบครัวที่มีข้อจำกัดเรื่องเงินก็เปลี่ยนจากการนับถือบรรพบุรุษไปนับถือศาสนาคริสต์มากขึ้น เพราะศาสนาคริสต์ไม่ได้เคร่งครัดอะไรเรื่องเหล่านี้ ถึงกระนั้น คนกว่าร้อยละ 70 ของชุมชนบ้านน้ำจวงยังคงเชื่อเรื่องการใช้วัวในการประกอบพิธีกรรมอยู่ นอกจากนี้ การใช้วัวในพิธีกรรมงานศพเคยเป็นประเด็นเชิงสังคมที่เป็นข้อจำกัดในการจัดพิธีกรรม คือ ประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวกับทารุณกรรมสัตว์ ทำให้ชุมชนม้งบ้านน้ำจวงต้องหารือและต่อรองกับการจัดพิธีกรรมนี้ เนื่องจากการสังหารนั้นเป็นการใช้ความรุนแรงหรือทารุณสัตว์ ด้วยต้องใช้วัวถึง 2 ตัว เพชฌฆาตหรือผู้ฆ่าวัวต้องเอาวัวผูกกับขอนไม้ไว้แล้วเอาเหล็กแหลมแทงไปที่จมูกวัว จากนั้นเพชฌฆาตใช้ขวานไปทุบวัวจนตาย พิธีกรรมนี้ได้เคยมีคนถ่ายวิดีโอแล้วนำไปเผยแพร่ จึงทำให้สังคมตั้งคำถามและทำให้มีหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบ แม้ว่าการสังหารวัวจะเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม แต่ทางเจ้าหน้าที่ก็อนุโลมให้คนม้งที่นี่ยังปฏิบัติตามความเชื่อของกลุ่มได้ อย่างไรก็ตาม ทางชุมชนเองก็พยายามแก้ไขปัญหาในจุดนี้
นายนิรันด์เล่าด้วยว่าคนม้งเคยมีประเพณีฉุดสาวที่ทุกวันนี้ถือว่าเลิกปฏิบัติไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว เนื่องจากปัจจุบันสังคมมีความคิดเปลี่ยนแปลงไป และยอมรับหลักการความเท่าเทียมของหญิงชายมากขึ้น รวมถึงมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิสตรี หากย้อนไปประมาณช่วง 30 ปีที่แล้ว ประเพณีฉุดสาวยังคงมีการปฏิบัติการอยู่ คือถ้าผู้ชายม้งคนไหนไปชอบผู้หญิงคนหนึ่ง แต่ผู้หญิงคนนั้นไม่มีใจด้วย แต่หากฝ่ายชายหรือทางบ้านฐานะพอสมควรก็ สามารถไปฉุดผู้หญิงได้ แม้ผู้หญิงจะไม่ยินยอมก็ตาม โดยปกติคนชาติพันธุ์ม้งเชื่อว่า ถ้าผู้ชายพาผู้หญิงคนนั้นเข้ามาบ้าน ก็ถือว่าบรรพบุรุษของผู้ชายคนนั้นปกป้องผู้หญิงคนนั้นแล้ว และบรรพบุรุษของฝ่ายหญิงก็ไม่จำเป็นต้องมีหน้าที่ปกป้องผู้หญิงคนนั้นอีกต่อไป แต่ปัจจุบันประเพณีนี้ไม่มีการถือปฏิบัติอีกต่อไป
3.ความเชื่อและหลักปฏิบัติของผู้หญิงม้งเมื่อตั้งครรภ์
สำหรับผู้หญิงม้งนั้นยังมีข้อห้ามในระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น ห้ามไปอยู่ในที่ใกล้กับแม่น้ำ เพราะเชื่อว่าการที่ลงไปในแม่น้ำลำคลองอาจทำให้แท้งลูกได้ นอกจากนี้ ยังห้ามไม่ให้มีการมีดหรือกรรไกรซึ่งรวมถึงการเย็บปักถักร้อยหรือตัดผ้าในห้องนอนหรือระหว่างเดินเข้าประตูบ้าน เพราะเชื่อว่าจะไปตัดลูกในท้อง ทำให้ลูกแขนขาด หูหนวก ตาบอด ส่วนฝ่ายชายหรือสามีเวลาจะไปตัดไม้ให้วางอุปกรณ์ไว้นอกบ้าน พอเข้ามาในตัวบ้านแล้ว จะไม่ให้จับมีดขวานมาตัดอะไรในบ้านเลย ซึ่งยังเป็นวิถีปฏิบัติที่ดำรงอยู่ ณ ปัจจุบัน
มันก็เป็นความเชื่อที่ทำกัน แต่มันก็ทำให้เราเห็นกับตาหลายอย่าง อย่างพ่อแม่สมบูรณ์ดี ไม่มีสายเลือกที่พิการ แต่ผู้หญิงบางคนที่เขาอาจจะไม่เชื่อสิ่งเหล่านี้ มีการจัดเย็บเสื้อผ้าอยู่ตลอด พอลูกคลอดออกมาก็ไม่สมบูรณ์ หูไม่มี ตาไม่มีแบบนี้ก็มีนะครับ เป็นสิ่งที่เราไม่ได้ลบหลู่ และเราก็ยังถือปฏิบัติกัน มันก็เหลือเชื่อเหมือนกัน
จนเมื่อคลอดและหลังคลอดแล้ว 1 เดือนแรก คนเป็นแม่ได้รับคำแนะนำให้กินไก่ต้มสมุนไพรซึ่งเป็นอาหารของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ลดาวัลย์ ลีวัฒนะกุล ภรรยาของนายนิรันดร์ กล่าวว่าเป็นความเชื่อที่สืบทอดต่อจากคนแก่ที่ว่าไก่ต้มสมุนไพรทำให้เรามีน้ำนมเลี้ยงและทำให้เลือดลมไหลเวียนดี และยังต้องไฟ 1 เดือนเต็ม เพื่อสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกาย
เราสังเกตว่าถ้าผู้หญิงหลังคลอดแรก ๆ ถ้าชอบทานของเย็นมาก ๆ จะป่วยบ่อย พอหลังจากคลอดเสร็จแล้วอยู่ไฟครบ 1 เดือนไปแล้ว ผู้หญิงคนนั้นจะมีประจำเดือนจะปวดเมื่อยมาก ผู้หญิงข้างบนหลังคลอด เขาก็จะให้ทานแต่น้ำอุ่น และสมุนไพรเสริม
สำหรับเด็ก เมื่อคลอดครบ 3 วันแล้ว คนม้งจัดพิธีรับขวัญด้วยการเอาด้ายมาผูกข้อมือและตั้งชื่อ ในพิธีก็มีไก่ในการประกอบพิธีกรรมสำหรับครอบครัวฐานะไม่ค่อยดี แต่ถ้าบ้านที่ฐานะดีจะใช้หมู และมีการเรียกผู้หลักผู้ใหญ่มาร่วมงานและทำอาหารเลี้ยง
1.นายนิรันดร์ ลีวัฒนะกุล อดีตผู้ใหญ่บ้านน้ำจวง ระหว่างปี พ.ศ. 2556-2562 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานการท่องเที่ยวบ้านน้ำจวง เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาบ้านน้ำจวงและบ้านน้ำจวงใต้ให้ใช้ทุนทางวัฒนธรรมและธรรมชาติมาส่งเสริมเป็นการท่องเที่ยวชุมชน
นายนิรันดร์ ลีวัฒนะกุล เกิดวันที่ 1 มกราคม 2520 ปัจจุบัน อายุ 48 ปี มีพี่น้อง 7 คน ครอบครัวของเขานั้นอพยพมากจากอำเภอปัว จังหวัดน่าน มาอยู่ที่เขาค้อก่อนแล้วอพยพมาอยู่บ้านน้ำจวงและสร้างครอบครัวมาจนถึงปัจจุบัน นายนิรันดร์เป็นพี่ชายคนจากพี่น้องทั้งหมด 7 คน เขาได้เรียนหนังสือจนจบมัธยม 6 และสามารถสอบเข้าเรียนด้านชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร แต่เรียนไปได้ 1 ปี ก็ต้องลาออกเพื่อมารับภาระช่วยเหลือพ่อแม่ในภาคเกษตร และดูแลน้อง ๆ อีก 6 คน ให้ได้เรียนหนังสือ ปัจจุบันน้องทุกคนต่างเติบโตและได้งานทำที่อยู่ในตัวเมืองพิษณุโลก กรุงเทพมหานคร และจังหวัดบุรีรัมย์
นายนิรันด์ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านตอนอายุ 36 ปี หรือราวปี พ.ศ. 2556 ในเวลานั้นเขาได้มาทำงานกับพ่อแม่มาสักระยะหนึ่ง จึงทำให้เห็นปัญหาต่าง ๆ ที่ชาวบ้านน้ำจวงประสบอยู่ในเวลานั้น ขณะที่ชาวบ้านเองก็ประสบปัญหาการเข้าถึงการศึกษา จึงต้องการนำประสบการณ์ที่ทำงานในเวลานั้นมาพัฒนาชุมชน ปัญหาอีกประการคือความเดือนร้อนแรก ๆ ที่บ้านน้ำจวงประสบคือการอยู่ในพื้นที่มาก่อนที่จะมีการประกาศเขตอนุรักษ์ แต่ตอนนั้นเคยมีการสัมปทานป่าไม้ ประกอบการวิถีชีวิตชาวบ้านที่ยังทำเกษตรกรรมแบบย้ายที่การเพาะปลูกที่ถูกมองว่าเป็นการทำไร่เลื่อนลอยในขณะนั้น (ปัจจุบันมีการใช้คำว่า “ไร่หมุนเวียน”) จนเมื่อมีการประกาศจัดตั้งหมู่บ้าน ทำให้ทางราชการประกาศพื้นที่ป่าเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า และรัฐจำกัดการใช้พื้นที่สำหรับทำกินให้ครอบครัวละ 15 ไร่ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่บนดอย จึงเกิดปัญหาในการทำเกษตรกรรมที่ได้ผลดีในระยะยาว เนื่องจากเป็นพื้นที่ลาดชันจึงทำให้น้ำก็เซาะที่ดินไปเรื่อย ๆ ทำให้ทำที่ดินขาดสภาพสมบูรณ์ พ่อแม่ของเขาและชาวบ้านก็มีความกังวลในเรื่องการผลิตที่ไม่เพียงพอต่อการบริโภคและการดำรงชีพ
ในเวลานั้น เขาได้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านได้ประมาณ 2 ปีแล้ว ชุมชนบ้านน้ำจวงและหมู่บ้านอื่น ๆ ในตำบลบ่อภาคที่มีพื้นที่ทำกินประสบปัญหาใกล้เคียงกันก็เลยได้ดำเนินการรายงานปัญหาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและถึงพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ในเวลานั้นหรือสมเด็จพระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในปัจจุบัน หลังจากนั้น พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ได้ทรงรับสั่งให้หน่วยงานพัฒนาที่ดินจนโครงการราชดำริได้เข้ามาทำงานและส่งเสริมให้เกิดการทำนาแบบขั้นบันได เมื่อชาวบ้านทำได้ระยะหนึ่งผลผลิตเริ่มดีขึ้นและมีข้าวพอกิน สามารถบรรเทาปัญหาเกษตรกรรมในชุมชนได้ นอกจากปัญหาสภาพที่ดินทำกินแล้ว ในช่วงที่เขาเป็นผู้ใหญ่บ้าน ก็ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น การพัฒนาถนนจากลูกรังเป็นซีเมนต์ จนกระทั่งเป็นถนนลาดยางในช่วงต้นปี พ.ศ. 2560 และมีไฟฟ้ใช้แทบทุกครัวเรือน
จากนั้นในราวปี พ.ศ. 2559 นายนิรันดร์เห็นว่าพื้นที่น้ำจวงมีศักยภาพมีทุนทางธรรมชาติ นาขั้นบันไดก็เป็นส่วนหนึ่งของการดึดดูดผู้คนที่สนในเข้ามาศึกษา จึงได้ผลักดันให้บ้านน้ำจวงเป็นพื้นที่การท่องเที่ยว หลังจากพบว่าบ้านน้ำจวงและพื้นที่ก็ห่างไกลในตำบลบ่อภาค ยังมีฐานะยากจน ความเป็นอยู่ตกเกณพ์ความยาก จากที่เขาได้เขาทำงานและเก็บข้อมูล จปฐ. จึงได้เกิดความคิดส่งเสริมการท่องเที่ยวในหมู่บ้าน เขาเริ่มผลักดันจนบ้านน้ำจวงได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติ วิถีวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์การเมือง จากที่เป็นฐานหนึ่งของ พคท. ทำให้ในเวลาต่อมาเขาตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านเพื่อมาทำงานส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนให้เต็มที่ โดยติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ และบริษัท ม้ง ไซเบอร์ โซเชียล เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด มาช่วยผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยว ในช่วงแรกจึงมีการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นที่พัก โดยมี 2 แห่งดำเนินการโดยวิสาหกิจชุมชน และจุดที่เป็นภูทับสี่ในบริเวณบ้านน้ำจวงใต้ ซึ่งมี 9 ครอบครัวเข้าร่วม จากนั้นชุมชนได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรืออพท. ทำให้ปัจจุบันบ้านน้ำจวงพัฒนาการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ ชาวบ้านจำนวนมากหรือประมาณ 20 ครัวเรือนเริ่มพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีลานแคมปิ้งและกางเตนท์ ประมาณ 20 ครัวเรือน นอกจากนี้ ชุมชนดำเนินโครงการสร้างศูนย์ประวัติศาสตร์การเมืองใหม่จากอาคารเดิมที่รื้อทิ้งไป ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นและพร้อมให้คนเข้าชมได้อีกประมาณ 2 ปี
ประธานการท่องเที่ยวชุมชนยังมีเป้าหมายต่อไปสำหรับการพัฒนาการท่องเที่ยวคือสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เช่น ข้าวใหม่ และสมุนไพรแปรรูป เป้าหมายสำคัญของเขาคือพัฒนาเศรษฐกิจให้กับชุมชนแต่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญคือดำเนินการกิจกรรมทุกอย่างภายใต้กฎหมายและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ (นิรันดร์ ลีวัฒนะกุล, สัมภาษณ์, 26 กุมภาพันธ์ 2568)
2.ป้าสุริยา แซ่ลี อายุ 67 ปี (พ.ศ. 2568) เป็นหนึ่งในอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ที่ประจำการที่เขตภูขัด ซึ่งในเวลานั้นหรือประมาณ พ.ศ. 2516 เธอได้เข้าป่าและทำให้เจอกับสามีซึ่งเป็นทหาร แต่ปัจปัจจุบันสามีเสียชีวิตแล้ว ป้าสุริยาเล่าว่าเธอเป็นหมอในค่ายทหารในเวลานั้นด้วย และมีความเชี่ยวชาญด้านการฝังเข็ม ในเวลานั้นเป็นช่วงที่เธอได้เรียนหนังสือผ่านกลุ่มนักศึกษาที่หนีเข้าป่าและประจำการในบริเวณที่เธออยู่ นักศึกษาเหล่านี้เป็นคนไทยและได้มาสอนหนังสือคนม้งจำนวนหนึ่งที่เข้าร่วมขบวนการ ป้าสุริยาเล่าว่าเธอเป็นเพียงคนม้งไม่กี่รุ่นที่ได้เรียนหนังสือ คนที่เกิดก่อนการหนีเข้าป่าก็ไม่ได้เรียน หรือคนที่เกิดหลังการหนีเข้าป่าแล้วมามอบตัวกับรัฐบาลไทยก็ไม่ได้เรียนเช่นกัน เพราะฉะนั้น คนที่เข้าร่วมสงครามการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลไทยกับ พคท. เท่านั้นที่ได้มีโอกาสเรียนหนังสือ
เรียนได้ 4 ปี อาจารย์เขาไม่สอนแบบปกตินะ เขาสอนแบบให้ได้รู้เร็วที่สุดได้เยอะที่สุด เพราะโอกาสมันไม่มากที่จะได้เรียน ไม่ต้องมีขั้นตอนอะไร เพื่อต้องการคนที่จะไปเป็นหมอ ไปเป็นอาจารย์ให้ทันกับสถานการณ์ตอนนั้น (ป้าสุริยา, สัมภาษณ์, 14 มิถุนายน 2565)
หลังจากที่ พคท. แตกสลาย ตอนนั้นป้าสุริยาท้องลูกชายคนแรกแล้ว แต่ยังต้องหนีทัพจากภูหินร่องกล้ากลับไปเขาค้อ พอเจ้าหน้าที่จับตัวผู้นำได้ สมาชิกที่เหลือก็กลับมามอบตัวกันหมดเลย จากนั้นก็มาที่เข็กน้อยได้สักพัก ในเวลาต่อมาทหารได้นำป้าและคนอื่น ๆ มาอยู่ที่บ้านนาตอน หรือหมู่ 1 ตำบลบ่อภาคในปัจจุบัน ขณะนั้นพ่อแม่ของสามีป้าสุริยาก็หลบหนีจากภูสอยดาวมาอยู่ที่บ้านน้ำจวง จนกระทั่งเมื่อได้พบกับพ่อแม่ของสามีก็ตอนที่ฝ่ายหลังมารับข้าวสารที่บ้านนาตอน จนได้รู้ว่าเขาทั้งสองคนได้หนีมาอยู่ที่บ้านน้ำจวง ส่วนพ่อแม่ของเธอนั้นอยู่ที่หมู่บ้านภูทับเบิก พร้อมกับน้องชายอีก 3 คน
ป้าสุริยาเล่าอีกว่า ด้วยความที่เธอไม่ได้แต่งงานเหมือนกับคนอื่นเขา เนื่องจากเธอพบสามีในป่า มีการจัดพิธีง่าย ๆ ในป่าเพื่อรับรู้ว่าแต่งงานกันแล้ว ไม่ได้มีพิธีกรรมใด ๆ ตามประเพณีม้ง หลังจากที่พ่อแม่เสียชีวิต ทำให้แม่ยังทิ้งสมบัติให้เธอบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ปัจจุบัน ป้าสุริยายังคงเป็นที่รู้จักของคนในหมู่บ้านถึงความรู้และเชี่ยวชาญด้านการฝังเข็ม เธอเล่าว่าได้ไปเพิ่มพูนความรู้ด้านการฝังเข็มต่อที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ เธอเชื่อว่าการฝังเข็มช่วยบรรเทาโรคได้หลายโรค รวมถึงโรคหูไม่ดีหรือหูตึงที่เมื่อรับการฝังเข็มแล้วจะทำให้การได้ยินดีขึ้น
ชาวบ้านน้ำจวงใน นำประวัติศาสตร์ทางการเมือง ได้แก่ การเป็นพื้นที่ปฏิบัติงานของ พคท. มาเป็นจุดดึงดูดในการท่องเที่ยวเชิงการศึกษา ทำให้กลายเป็นทุนทางสังคมให้คนที่สนใจประวัติศาสตร์การเมืองเข้ามาศึกษาได้ แต่ปัจจุบัน (กุมภาพันธ์ 2568) ศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าวอยู่ในระหว่างปรับปรุงอาคาร จึงทำให้แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์นี้หยุดให้บริการชั่วคราว
นอกจากนี้ นักเรียนโรงเรียนบ้านน้ำจวงได้รับทุนการศึกษาจากโครงการกองทุนการศึกษา ซึ่งเป็นกองทุนที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงรับสั่งให้จัดตั้งในปี พ.ศ. 2555 ให้ประธานองคมนตรีและคณะองคมนตรี ดำเนินงานโครงการเพื่อพัฒนาการศึกษาและส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมให้แก่เด็กนักเรียนที่ยากจน แต่มีความประพฤติดี ให้มีโอกาสทางการศึกษาจนสำเร็จและประกอบอาชีพ โรงเรียนบ้านน้ำจวงเป็น 1 ใน 2 โรงเรียนของจังหวัดพิษณุโลกที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ ส่วนอีกโรงเรียนคือโรงเรียนบ้านร่มเกล้า หมู่ 8 ซึ่งอยู่ในตำบลบ่อภาคเช่นเดียวกัน โดยมีพลเอกกัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี เป็นผู้ให้การดูแล (คณะกรรมการประสานเพื่อสนับสนุนโครงการกองทุนการศึกษา วุฒิสภา, 2566)
บ้านน้ำจวง หมู่ 13 และบ้านน้ำจวงใต้ หมู่ 16 มีประชากรหลักเป็นชาติพันธุ์ม้ง จึงมีการใช้ภาษาม้งในการสื่อสารเป็นหลัก และภาษาไทยสำหรับการสื่อสารนอกกลุ่มชาติพันธุ์ และเป็นภาษาราชการในการติดต่อสื่อสารกับราชการ สื่อกลางในการเรียนในโรงเรียน
สถานการณ์ความไม่แน่นอนใจภาคเกษตร
สถานการณ์สำคัญที่ท้าทายชุมชนบ้านน้ำจวงคือความไม่แน่นอนของราคาพืชผลการเกษตร ได้แก่ขิง กระชายดำ และว่านชักมดลูก โดยเฉพาะขิงพืชสำคัญในการเกษตรเชิงพาณิชย์ ราคาที่ถือว่าดีเมื่อทำแล้วได้กำไรหลังเสร็จสิ้นฤดูกาลคืออยู่ที่กิโลกรัมละ 20 บาท แต่บางปีราคาตกมาอยู่ที่ 10 บาทต่อกิโลกรัม หากชาวบ้านรู้ว่าราคาขิงจะตก พวกเขาจะรับมือด้วยการไถหัวขิงที่ปลูกอยู่ทิ้ง เพราะฝืนทำไปก็จะขายไม่ได้กำไร (สมชัย [นามสมมติ], สัมภาษณ์, 13 มิถุนายน 2565) อย่างไรก็ตาม พื้นที่เกษตรที่มีจำกัดทำให้คนม้งในปัจจุบันขาดแคลนแหล่งทำกินที่จะทำให้รายได้ไม่เพียงพอ นอกจากนี้ การปลูกพืชอย่างขิงอ่อน ที่การใช้พื้นที่ปลูกซ้ำ ๆ จะทำให้ผลผลิตไม่ดี ทำให้ความจำเป็นต้องไปหาหรือเช่าที่ดินที่อื่นในการปลูกขิงด้วย จึงทำให้คนม้งต้องไปย้ายไปอยู่ที่อื่นเพื่อเช่าบ้านหรืออยู่ในพื้นที่ทำกินในที่อื่น ๆ เป็นช่วงเวลาหนึ่งด้วย คนม้งในบ้านน้ำจวงเล่าว่าไปเช่าที่แถวอำเภอเขาค้อ และอำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ และแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ การเช่าอยู่ที่ไร่ละ 2,000-3,000 ต่อปี ซึ่งเป็นราคาคนรู้จักกัน ชาวบ้านบางคนมีประสบการณ์ไปเช่าที่ดินที่อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่ราคาค่าเช่าแพงมากปีละหนึ่งหมื่นบาท ปรากฏว่าปีนั้นราคาขิงขายได้ไม่ดี เลยไม่ได้กลับไปเช่าที่นี่อีก ชาวบ้านน้ำจวงบอกด้วยว่าหากขิงราคาไม่ดีต่อไป ทางเลือกในการเกษตรคือการหันไปปลูกกะหล่ำปลี และผักกาดขาวมากขึ้น เพราะยังพอได้ราคา นอกจากนี้ เกษตรกรสูงวัยในชุมชนสะท้อนด้วยว่า ร่างกายทรุดโทรมจากการทำงานในไร่และพื้นที่เกษตรมานาน ทำให้เจ็บป่วยบ่อย และการได้รับสารพิษในภาคเกษตรสะสม
สถานการณ์การย้ายถิ่นของคนม้ง
คนม้งในบ้านน้ำจวงปัจจุบันมีการย้ายถิ่นไปทำงานหรือรับจ้างในจังหวัดต่าง ๆ ของประเทศไทย โดยเฉพาะผู้ชายจะเป็นคนย้ายถิ่นมากกว่า โดยเลือกไปเมืองใหญ่ที่มีโอกาสงานที่หลากหลาย รวมถึงไปทำงานใช้แรงงานในต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ และอิสราเอล ที่มีความต้องการแรงงานในภาคเกษตรกรรมค่อนข้างมาก จากการเก็บข้อมูลภาคสนามในเดือนมิถุนายน 2565 พบว่าคนม้งไปขายไก่ทอดหาดใหญ่ตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เช่นที่พบในการเก็บข้อมูลคือไปขายที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร ชลบุรี ปทุมธานี ลพบุรี ฉะเชิงเทรา อุบลราชธานี และหนองบัวลำภู คนในบ้านน้ำจวงเล่าที่มาของการขายไก่ทอดหาดใหญ่ว่ามาจากคนในหมู่บ้านร่มเกล้า หมู่ 8 ซึ่งเป็นหมู่บ้านม้งเหมือนกัน ไปแต่งงานได้แฟนกับคนทางใต้ จนได้เรียนรู้สูตรอาหารมา และได้คิดมาทำไก่ทอดหาดใหญ่ขาย สูตรไก่ทอดได้มีการขายสูตรต่อให้กับคนม้งนำไปขายในเวลาต่อมา สูตรไก่ทอดขายกันที่ 10,000 บาท รวมถึงมีการเซ้งร้านขายหรือทำเลต่อกันด้วย เช่น ร้านไก่ทอดหน้าร้านสะดวกซื้อ 7/11 จะมีราคาแพง อาจต้องเซ้งที่ราคา 1-2 แสนบาทก็ว่าได้
บางส่วนก็ไปรับจ้างในสวนผลไม้ เช่น สวนลำไยในจังหวัดลำพูน ทำให้เห็นว่าสมาชิกในหมู่บ้านน้ำจวงกระจัดกระจายไปตามที่ต่าง ๆ หรือรับจ้างในโรงงานขนมในจังหวัดสระบุรี และจังหวัดสมุทรสาคร รวมถึงเดินทางไปต่างประเทศด้วย ส่วนใหญ่ของคนม้งที่ไปทำงานที่ต่างประเทศจะเป็นผู้ชายที่เดินทางไปตามสัญญาจ้าง โดยมีเป้าหมายเพื่อเก็บเงินตามที่วางแผนไว้ เช่น ใช้หนี้ในภาคเกษตร สร้างบ้านของตนเองเพื่อแยกออกจากครัวเรือนของพ่อแม่ฝ่ายชาย และหากเงินเหลือก็ซื้อยานพาหนะ เช่นรถกระบะที่ใช้ในการเกษตร บางคนอาจเก็บเงินเพื่อมาลงทุนทำธุรกิจการท่องเที่ยวหรืออื่น ๆ ในหมู่บ้าน เนื่องจากสถานการณ์ราคาสินค้าในภาคเกษตรไม่สามารถที่สร้างความมั่นใจต่อการสร้างรายได้ให้ครอบครัวได้ (สร้อยมาศ รุ่งมณี และคณะ, 2565)
การย้ายถิ่นของเยาวชนเป็นสถานการณ์หนึ่งที่เป็นความท้าทาย หลังจากออกจากหมู่บ้านไปเรียนหนังสือในเมืองแล้ว ก็อาจจะหางานทำต่อ บางคนอาจกลับมาเพราะครอบครัวต้องการการดูแลสุขภาพของพ่อแม่ในวัยผู้สูงอายุ (พิชญ์นรี มณีศรี และบุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล, 2567) นอกจากนี้ โรงเรียนบ้านน้ำจวงยังประสบข้อท้าทายเรื่องบุคลากรสอนหนังสือ เนื่องจากโรงเรียนมีถึงชั้นมัธยม 6 ที่ต้องมีความรู้ในสาขาต่าง ๆ รองรับ ปรากฏว่าครูในด้านวิทยาศาสตร์ค่อนข้างขาดแคลน หากมีครูมาประจำก็มักจะอยู่ได้ไม่นาน เพราะเป็นคนจากที่อื่นมา ดังนั้น มาบรรจุได้ 4 ปีก็จะขอย้ายไปที่อื่น ขณะที่คนม้งในชุมชนอาจจะไม่ได้ต้องการเป็นครู ทำให้เด็กเรียนไม่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเรียนสายวิทยาศาสตร์ ทำให้คุณภาพการศึกษาของนักเรียนที่นี่ตกเกณฑ์หรือแข่งขันกับเด็กโรงเรียนในเมืองหรือพื้นที่ราบไม่ได้ ที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการกำหนดโควตานำนักเรียนไปเรียนในสถาบันการศึกษาในเมือง และพยายามส่งเสริมให้คนในชุมชนเรียนครูเพื่อจะได้กลับบ้านมาทำงานในถิ่นบ้านเกิด (นิรันดร์ ลีวัฒนะกุล, สัมภาษณ์, 12 ธันวาคม 2564)
คณะกรรมการประสานเพื่อสนับสนุนโครงการกองทุนการศึกษา วุฒิสภา. (2566). รายชื่อโรงเรียนในโครงการกองทุนการศึกษา.
ปรารถนา สัตย์สงวน. (2541). เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม และการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของ ชาวเขาเผ่าม้ง บ้านห้วยน้ำไซ อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก (ปริญญามหาบัณฑิต). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
พิชญ์นรี มณีศรี และบุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล. (2567). การย้ายถิ่นและการต่อรองอัตลักษณ์ชาติพันธุ์และเพศภาวะของหนุ่มสาวม้งในจังหวัดพิษณุโลก. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ปริทัศน์ มรภ.ลำปาง, 12(2), 32-54.
มุทิตา เจริญสุข. (2562). แนวร่วมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2515-2525. ปริญญามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร.
สร้อยมาศ รุ่งมณี, วาสนา ละอองปลิว และบุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล. (2565). พลวัตครอบครัวในสังคมไทยในสถานการณ์โควิด-19: การปรัับตัวของครัวเรือนเปราะบางและข้อเสนอเชิงนโยบายด้านเด็กและครอบครัว. กรุงเทพฯ: สสส. & 101 Pub.
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพิษณุโลก. (1 กันยายน 2567). องคมนตรี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนในโครงการกองทุนการศึกษา รุ่นที่ 4 พร้อมมอบทุนการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนในโครงการฯ ณ โรงเรียนบ้านร่มเกล้า และโรงเรียนบ้านน้ำจวง อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก. https://phitsanulok.prd.go.th/th/content/
สำนักพัฒนาทุนและองค์การเงินชุมชน กรมพัฒนาชุมชน. (2559). การจัดการองค์ความรู้หมู่บ้านทุนชุมชนขยายผลตามแนวพระราชดำริ. บริษัท อับทรู ยู ครเอทนิว.
Mottin, J. (1980). History of the Hmong. Odeon Store Ltd.
สมชัย (นามสมมติ), สัมภาษณ์, 13 มิถุนายน 2565.
สุริยา แซ่ลี, สัมภาษณ์, 14 มิถุนายน 2565.
ลดาวัลย์ ลีวัฒนะกุล, สัมภาษณ์, 3 มีนาคม 2567.
นิรันดร์ ลีวัฒนะกุล, สัมภาษณ์, 12 ธันวาคม 2564, 3 มีนาคม 2567, และ 26 กุมภาพันธ์ 2568.