
ชาติพันธุ์ลาวเวียงที่ยังคงใช้ภาษาลาวในการสื่อสาร และมีอัตลักษณ์ด้านการทอผ้าที่กลายเป็นสินค้า OTOP ที่มีชื่อเสียง ศูนย์การเรียนรู้และแสดงภูมิปัญญาด้านการทอผ้าด้วยลวดลายที่สวยงามลึกซึ้ง วัดผาทั่งมีรูปจำลองของหลวงพ่อโต ที่เป็นเคารพศรัทธาของคนในและนอกชุมชน เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ จัดงานประเพณีแห่ค้างดอกไม้และงานไหลบ้านผาทั่งในช่วงเดียวกับเทศกาลสงกรานต์
บ้านผาทั่งมีชื่อมาจากลักษณะของพื้นที่ตามลำคลองห้วยกระเสียวที่อยู่ใกล้กับชุมชนบ้านผาทั่ง ซึ่งมีน้ำไหลจากที่สูงลงที่ต่ำตามลำที่คดเคี้ยวไปมา โดยเฉพาะในฤดูน้ำหลากหรือหน้าฝนน้ำจะยิ่งไหลเชี่ยวกรากและทำให้น้ำกระทบกับจุดที่เป็นหน้าผาเสียงดังตลอด เสียงน้ำไหลกระแทกกับหน้าผานั้นเป็นที่มาให้ชาวบ้านเรียกว่า "น้ำทั่งผา" จนได้นำมาคำนี้มาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านน้ำทั่งผา" หรือ "บ้านปะทั่ง" เมื่อนานไปชาวบ้านเริ่มเรียกชื่อเพี้ยนจากเดิมเป็น "บ้านผาทั่ง" (ชุมชนคุณธรรม, ม.ป.ป.)
ชาติพันธุ์ลาวเวียงที่ยังคงใช้ภาษาลาวในการสื่อสาร และมีอัตลักษณ์ด้านการทอผ้าที่กลายเป็นสินค้า OTOP ที่มีชื่อเสียง ศูนย์การเรียนรู้และแสดงภูมิปัญญาด้านการทอผ้าด้วยลวดลายที่สวยงามลึกซึ้ง วัดผาทั่งมีรูปจำลองของหลวงพ่อโต ที่เป็นเคารพศรัทธาของคนในและนอกชุมชน เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ จัดงานประเพณีแห่ค้างดอกไม้และงานไหลบ้านผาทั่งในช่วงเดียวกับเทศกาลสงกรานต์
บ้านผาทั่ง หรือหมู่ 2 ของตำบลห้วยแห้ง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี นั้นมีการตั้งถิ่นฐานของชาวลาวเวียงจันทน์มากว่า 200 ปี ข้อมูลจากเว็บไซต์ชุมชนคุณธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (ม.ป.ป.) ระบุว่าเป็นชาวลาวที่ได้รับผลกระทบจากสงรามในสมัยญี่ปุ่น ทำให้ประเทศลาวทางตอนใต้ได้รับผลกระทบ จึงเกิดการหนีสงครามไปทั่วทุกสารทิศ ลาวเวียงจันทน์ส่วนหนึ่งได้หนีภัยสงครามมาถึง สุพรรณบุรี แล้วเดินทางเรื่อยลงมาถึงอำเภอด่านช้าง แล้วได้เลาะตามลำน้ำห้วยกระเสียว ผ่านทัพผึ้ง-ทัพหมัน-ทัพคล้าย-ทัพหลวง จนกระทั่งมาตั้งรกรากปักฐานที่บ้านผาทั่ง บริเวณริมน้ำห้วยกระเสียวบริเวณศูนย์ทอผ้าโบราณบ้านผาทั่งในปัจจุบัน (ชุมชนคุณธรรม, ม.ป.ป.)
ขณะที่มีอีกกระแสหนึ่งระบุว่าชุมชนผาทั่งเป็นชาวบ้านหนีการข้าศึกที่เป็นญวนหรืออีกชื่อว่า "พวกแกะ" ที่มารุกรานผู้คนในเวียงจันทน์ และกระจัดกระจายมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณแหล่งน้ำ ซึ่งบ้านผาทั่งในปัจจุบันเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีแหล่งน้ำไหลจากภูเขาและน้ำได้ไหลกระทบหน้าผาจนเป็นเสียง และกลายเป็นชื่อหมู่บ้านตามที่กล่าวแล้วข้างต้น (ศิริขวัญ ดวงแก้ว, 2553)
การอพยพมาจากลาวโดยเฉพาะจากเมืองเวียงจันทน์ ทำให้บ้านผาทั่งประกอบไปด้วยคนที่มีอัตลักษณ์ "ลาวเวียง" ในฐานะชาติพันธุ์หนึ่งของอำเภอบ้านไร่ อย่างไรก็ตาม สื่อหรือเอกสารทางวิชาการก็เรียกชุมชนแห่งนี้ว่า "ลาวครั่ง" ด้วยในขณะเดียวกัน ลาวเวียงหรือลาวครั่งเริ่มอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเช่นเดียวกับลาวกลุ่มอื่นคือในช่วงรัชกาลที่ 3 ในช่วงกบฏเจ้าอนุวงศ์ในลาวจนเป็นศึกสงคราม ทำให้มีการกวาดต้อนคนกลุ่มต่าง ๆ ในลาวเข้ามาในดินแดนสยามในหลายครา จนชุมชนชาวลาวรวมถึงลาวเวียงได้ตั้งรกรากและเคลื่อนย้ายไปยังที่อื่น ๆ รวมถึงภาคเหนือตอนล่าง (บังอร ปิยะพันธุ์ และคณะ, 2541)
ลาวเวียงมีประวัติศาสตร์การอพยพใน 2 กระแสหลัก ได้แก่ในช่วงรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 3 (ดวงพร เฮงบุณยพันธ์, 2555) ในเวลาต่อมาลาวเวียงได้ตั้งถิ่นฐานโดยเลือกพื้นที่ลุ่มน้ำต่าง ๆ ในภาคกลาง ได้แก่ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำแม่กลอง และลุ่มน้ำเพชรบุรี ทำให้พวกเขาอาศัยกระจายตัวอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี นครปฐม เพชรบุรี และราชบุรี (โสภา ศรีสำราญ, 2562) และในเวลาต่อมาได้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาในภาคเหนือตอนล่างในจังหวัดอุตรดิตถ์ ในอำเภอตรอนและอำเภอพิชัย และมีการหยุดพักตามหัวเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะเมืองพิษณุโลกและเมืองพิชัย (ดวงพร เฮงบุณยพันธ์, 2555)
ส่วนลาวครั่งนั้นมีประวัติศาสตร์ที่ซ้อนทับลาวเวียง อัญชลี สิงห์น้อย วงศ์วัฒนา (2560) อธิบายไว้อย่างน่าสนใจถึงความซับซ้อนและความสัมพันธ์ของลาว 2 กลุ่มนี้ นอกจากนี้ ยังซ้อนทับกับลาวหลวงพระบางด้วย แต่สำหรับชุมชนบ้านผาครั่งนั้นมีเพียงลาวเวียงและลาวครั่งที่เป็นคำที่ถูกกล่าวถึง อัญชลีกล่าวว่าลาวเวียงหรือลาวครั่งแบ่งออกเป็น 2 สายหลักจากพื้นที่ต้นทางการอพยพคือสายเวียงจันทน์และสายหลวงพระบาง ที่เข้ามาในสยามในช่วงเวลาใกล้เคียงกับลาวกลุ่มอื่น ๆ คือเข้ามาครั้งแรกในช่วงสงครามในสมัยกรุงธนบุรีจนถึงสมัยรัชกาลที่ 3 ของกรุงรัตนโกสินทร์ อัญชลียังให้รายละเอียดเส้นทางการอพยพของทั้ง 2 สายคือ ลาวครั่งสายเวียงจันทน์ถูกเกณฑ์จากศึกสงครามระหว่างสยามและเวียงจันทน์และหลวงพระบาง ตั้งแต่ในสมัยพระเจ้าตากสินจนถึงสมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งในช่วงรัชกาลที่ 1 ได้เคลื่อนย้ายชาวลาวที่กวาดต้อนมาเป็นทหารและตั้งทัพต่าง ๆ ตามเส้นทางจากสุพรรณบุรีจนถึงอุทัยธานี ได้แก่ทัพหลวง ทัพละคร ทัพไฟไหม้ ทัพผึ้ง ทัพหมัน ทัพคล้าย และทัพหลวง และได้ทิ้งให้ชาวลาวบางส่วนเป็นแนวหน้าเฝ้าพื้นที่และคอยรายงานข่าว หลังจากที่รัชกาลที่ 1 ยกทัพกลับกรุงธนบุรี ในเวลาต่อมาชาวลาวครั่งในบริเวณนี้จึงรวมตัวกันเป็นชุมชนขึ้นแห่งแรกที่ทัพคล้าย ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานีในปัจจุบัน ส่วนตำบลห้วยแห้ง ก่อนหน้า พ.ศ. 2436 ยังเป็นกิ่งอำเภอห้วยแห้ง อำเภอบ้านเชี่ยน จังหวัดชัยนาท แล้วมารวมกับอำเภอคอกควาย จากนั้นมีการตั้งที่ว่าการอำเภอคอกหมายที่ตำบลบ้านไร่ จนในเวลาต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อจากอำเภอคอกควายเป็นอำเภอบ้านไร่ โดยมีขุนแสวง วัฒนราษฎร์ ดำรงตำแหน่งนายอำเภอบ้านไร่เป็นคนแรก (สำนักประชาสัมพันธ์จังหวัดอุทัยธานี, ม.ป.ป.)
ทั้งนี้ น่าสนใจว่า สำนักประชาสัมพันธ์จังหวัดอุทัยธานี ในสมัยที่มีนายอุทัย มั่นถาวร เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัย ได้จัดทำหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์จังหวัดอุทัย โดยไม่ได้ระบุปีที่พิมพ์ แต่อยู่ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2531 ถึงวัน 30 กันยายน พ.ศ. 2534 ซึ่งเป็นช่วงที่นายอุทัยดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด และมีนายไพโรจน์ ทุ่งทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุทัยธานี ในขณะนั้นให้การสนับสนุนการจัดพิมพ์ หนังสือเล่มนี้ได้กล่าวถึงอำเภอบ้านไร่ซึ่งส่วนหนึ่งกล่าวถึงแหล่งท่องเที่ยวคือชุมชนหรือหมู่บ้านลาว ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีการระบุว่าเป็นลาวเวียงหรือลาวครั่งดังเช่นปัจจุบัน ขณะที่หนังสือ "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดอุทัยธานี" (2544) จัดทำโดยคณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ได้ระบุลาวหรือลาวเวียงหรือลาวครั่งเป็นชาติพันธุ์หนึ่งที่อาศัยอยู่ในจังหวัดอุทัยธานี ระบุเพียง 3 ชาติพันธุ์ ได้แก่กะเหรี่ยง ละว้า และขมุ (น.16) ขณะที่เมื่อพูดถึงหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงของจังหวัด โดยอ้างถึงการทอผ้าที่มีลวดลายสวยงามเฉพาะตัวหลายแห่ง รวมถึงบ้านผาทั่งด้วย หนังสือเล่มนี้ระบุเพียงชื่อชุมชนและใช้คำว่าผ้าซิ่นตีนจก แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียงหรือลาวครั่งเช่นปัจจุบัน (น.148)
บ้านผาทั่งหรือหมู่ 2 เป็นหนึ่งใน 9 หมู่บ้านของตำบลห้วยแห้ง บ้านผาทั่งมีอาณาเขตติดต่อ ดังต่อไปนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลห้วยคต อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลทัพหลวงและตำบลบ้านไร่ อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลกำรุ้งและตำบลหูช้าง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลเจ้าวัดและตำบลคอกควาย อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี
ข้อมูลจากองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแห้งอธิบายสภาพภูมิประเทศบริเวณตำบลห้วยแห้งว่าส่วนใหญ่เป็นที่ราบสลับกับที่ราบสูงเชิงเขาและมีภูเขาล้อมรอบ ลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ส่วนสภาพของดินเป็นดินร่วนปนทราย และเป็นดินเหนียวในส่วนที่ราบลุ่ม ทำให้ตำบลนี้เหมาะกับการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจและเลี้ยงสัตว์ พื้นที่มีความสูงเฉลี่ย 170 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ในหมู่บ้านและชุมชนใกล้เคียงสามารถพึ่งพิงน้ำจากลำห้วยกระเสียว และจากฝายเก็บน้ำบ้านผาทั่ง-บ้านสระ และอ่างเก็บน้ำเขาแหลม
จำนวนประชากรของบ้านผาทั่งที่มีการสำรวจในเดือนธันวาคม 2567 อยู่ที่ 862 คน และมีครัวเรือน 362 หลัง เมื่อเทียบกับทั้งหมด 9 หมู่บ้านในตำบลห้วยแห้งพบว่าบ้านผาทั่งมีประชากรและครัวเรือนเป็นอับดับหนึ่งของตำบลห้วยแห้ง
ประชากรส่วนใหญ่ของหมู่บ้านผาทั่งนิยามตนเองว่าเป็นลาวเวียงหรือลาวครั่ง อย่างไรก็ตาม แม่กิ๊ก วัย 62 ปี แม่บ้านที่มาทอผ้าที่ศูนย์ผ้าทอลายโบราณ บอกว่าเป็นคำที่เพิ่งใช้ไม่นานหรือเมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเปิดตั้งศูนย์ผ้าทอลายโบราณนี้ขึ้น หากแต่ก่อนก็นิยามตนเองว่าเป็น “ลาวผาทั่ง” ในสมัยรุ่นทวดจนถึงปู่ยาตายาย ก่อนมาเป็นลาวครั่งในรุ่นต่อมา และลาวเวียงในปัจจุบัน (แม่กิ๊ก, สัมภาษณ์, 11 พฤศจิกายน 2567)
อย่างเราลาวที่อยู่ผาทั่ง ก็ลาวผาทั่ง อย่างอยู่หมู่บ้านอื่นเค้าก็แบบนี้ เป็นลาวที่นั้น ๆ ที่เริ่มเรียกลาวเวียงก็เริ่มต้นจากทอผ้านี่แหละ ที่คนก็เริ่มขุดคุ้ยที่ว่าพื้นเพมายังไง ประวัติมายังไง
จากประวัติที่ระบุว่าคนในผาทั่งอพยพมาจากเวียงจันทน์ ครอบครัวแม่ทองลี้ คณทา (ภูริผล) ผู้ก่อตั้งศูนย์ผ้าทอลายโบราณบ้านผาทั่ง เป็นหนึ่งในครอบครัวที่มีภูมิหลังดังกล่าว เธอติดตั้งรูปของบรรพบุรุษที่อพยพจากเมืองเวียงจันทน์ไว้ที่ศูนย์ของเธอ และระบุว่าบรรพบุรุษสายพ่อและแม่อพยพมาจากลาว โดยบรรพบุรุษคนสำคัญคือนายพิมพา ขามาลา เกิดที่เวียงจันทน์ในปี พ.ศ. 2384 เวียงจันทน์ แล้วอพยพหนีสงครามมาตั้งรกรากและมีลูกหลานในเวลาต่อมา ท่านเสียชีวิตปี พ.ศ. 2511 อายุสิริรวม 127 ปี โดยเธอเล่าว่าคุณยายของเธอเกิดที่นี่และได้แต่งงานกับตาซึ่งได้รับการเรียกขานว่าปู่แซว และเป็นผู้นำหรือผู้ใหญ่บ้านคนแรก ในเวลานั้น จากที่ฟังมาจากบรรพบุรุษ ผู้คนในช่วงตั้งถิ่นฐานไม่นานนั้นต้องถางป่าเพื่อปลูกข้าว และในอดีตปลูกฝ้ายด้วย แม้ว่าจะมีข้าวกิน แต่ก็ยังต้องการของประเภทอื่นด้วย จึงทำให้มีการแลกเปลี่ยนสินค้าพวก พริก กะปิ ปลาร้า โดยเอาข้าวของคนในชุมชนไปแลก การเดินทางไปไกลถึงตัวเมืองอุทัยธานี วัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท และจังหวัดสิงห์บุรี ในปัจจุบัน (แม่ทองลี้ คณทา (ภูริผล), สัมภาษณ์, 11 พฤศจิกายน 2567)
แม้ว่าผาทั่งจะมีภาพเป็นชุมชนชาติพันธุ์ลาวเวียง แต่จากการลงพื้นที่ของผู้เรียบเรียงข้อมูลในเดือนพฤศจิกายน 2567 พบการเคลื่อนย้ายของคนจากหลากหลายแหล่งที่มาที่เข้าออกบ้านผาทั่ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของชาติพันธุ์มากกว่าลาวเวียง เนื่องด้วยตำบลห้วยแห้งเคยเป็นกิ่งอำเภอของอำเภอบ้านเชี่ยน จังหวัดชัยนาท ก่อนหน้า พ.ศ. 2436 ยังเป็นกิ่งอำเภอห้วยแห้ง อำเภอบ้านเชี่ยน จังหวัดชัยนาท ก่อนที่จะแยกออกมารวมเป็นตำบลในอำเภอคอกควายและอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานีในเวลาต่อมา (สำนักประชาสัมพันธ์จังหวัดอุทัยธานี, ม.ป.ป.) และบางส่วนอพยพผ่านการแต่งงานของคนผ่าทั่งกับคนนอกพื้นที่ เนื่องจากการย้ายออกไปอยู่ต่างถิ่นชั่วคราวด้วยโอกาสทางการศึกษา หรือการย้ายไปทำงานที่อื่น ตลอดจนรู้จักกันผ่านญาติที่มาเยี่ยมเยียนที่บ้านผาทั่ง เป็นต้น ดังนั้น บ้านผาทั่งในปัจจุบันจึงมีคนภาคเหนือ เช่น จังหวัดแพร่ ภาคกลางจากอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดลพบุรี ภาคอีสานจากจังหวัดบุรีรัมย์ บึงกาฬ และอุบลราชธานี รวมถึงคนกะเหรี่ยง ทั้งที่อยู่ในอำเภอบ้านไร่ด้วยกันกับผาทั่ง และกะเหรี่ยงจากบ้านกล้วย ตำบลวังยาว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี รวมถึงคนสัญชาติลาวจากประเทศลาวที่มาแต่งงานกับคนไทยที่บ้านผาทั่ง
ลาวครั่ง, ลาวเวียงแม้ว่าผาทั่งจะมีภาพเป็นชุมชนชาติพันธุ์ลาวเวียง แต่จากการลงพื้นที่ของผู้เรียบเรียงข้อมูลในเดือนพฤศจิกายน 2567 พบการเคลื่อนย้ายของคนจากหลากหลายแหล่งที่มาที่เข้าออกบ้านผาทั่ง ซี่งแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของชาติพันธุ์มากกว่าลาวเวียง เนื่องด้วยตำบลห้วยแห้งเคยเป็นกิ่งอำเภอของอำเภอบ้านเชี่ยน จังหวัดชัยนาท ก่อนหน้า พ.ศ. 2436 ยังเป็นกิ่งอำเภอห้วยแห้ง อำเภอบ้านเชี่ยน จังหวัดชัยนาท ก่อนที่จะแยกออกมารวมเป็นตำบลในอำเภอคอกควายและอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานีในเวลาต่อมา (สำนักประชาสัมพันธ์จังหวัดอุทัยธานี, ม.ป.ป.) และบางส่วนอพยพผ่านการแต่งงานของคนผ่าทั่งกับคนนอกพื้นที่ เนื่องจากการย้ายออกไปอยู่ต่างถิ่นชั่วคราวด้วยโอกาสทางการศึกษา หรือการย้ายไปทำงานที่อื่น ตลอดจนรู้จักกันผ่านญาติที่มาเยี่ยมเยียนที่บ้านผาทั่ง เป็นต้น ดังนั้น บ้านผาทั่งในปัจจุบันจึงมีคนภาคเหนือ เช่น จังหวัดแพร่ ภาคกลางจากอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดลพบุรี ภาคอีสานจากจังหวัดบุรีรัมย์ บึงกาฬ และอุบลราชธานี รวมถึงคนกะเหรี่ยง ทั้งที่อยู่ในอำเภอบ้านไร่ด้วยกันกับผาทั่ง และกะเหรี่ยงจากบ้านกล้วย ตำบลวังยาว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี รวมถึงคนสัญชาติลาวจากประเทศลาวที่มาแต่งงานกับคนไทยที่บ้านผาทั่ง
การรวมกลุ่มในชุมชน
1.กลุ่มทอผ้า
งานศึกษาเกี่ยวกับการจัดตั้งกลุ่มทอผ้าของศิริขวัญ ดวงแก้ว (2553) เสนอว่าคนในชุมชนเริ่มทอผ้ากันเองเพื่อใช้ส่วนตัวและครอบครัวก่อน แต่เนื่องจากประชาชนมีรายได้น้อยและมีเวลาว่างหลังช่วงการเกี่ยวในภาคเกษตร จนในปี พ.ศ. 2538 จึงได้รวมตัวกันทอผ้าขึ้นมีสมาชิกประมาณ 10 คน โดยมีผู้นำคือนายธวัชร์ ภูริผล และภรรยา คุณทองลี้ คณทา (ภูริผล) ในเวลานั้นนายธวัชร์ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านผาทั่งด้วย สมาชิกในช่วงเริ่มแรกเป็นเครือญาติกัน ก่อนที่เวลาต่อมาสมาชิกกลุ่มจะเพิ่มเป็น 10 คน จนกระทั่งมีถึง 120 คนในช่วงการศึกษาของงานวิจัยนี้ (ราวต้นปี พ.ศ. 2550-2553) ในเวลานั้นสินค้าที่ผลิตเพื่อจำหน่ายของกลุ่ม ได้แก่ ผ้าขาวม้า ผ้าซิ่นตีนจก ผ้าคลุมไหล ผ้าสไบ ผ้าห่มลาย ผ้ารองจาน ผ้าไหมพรม และชุดเครื่องนอน การจัดตั้งกลุ่มทอผ้าเกิดขึ้นได้อย่างเป็นทางการ ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายของรัฐบาลในช่วงที่นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยแรก หรือราว พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา ในช่วงนั้นได้มีการประกาศนโยบาย "หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์" กระตุ้นให้แต่ละชุมชนสร้างผลิตภัณฑ์ที่มาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของการหารายได้ โดยรัฐจะเป็นผู้สนับสนุนหาตลาดให้ทั้งในไทยและต่างประเทศ จนในปี พ.ศ. 2545 กลุ่มทอผ้าจึงได้จัดตั้งศูนย์ผ้าทอโบราณบ้านผาทั่งขึ้น ซึ่งเป็นการรวบรวมผ้าทอของสมาชิกในกลุ่มมาแสดงที่ศูนย์และจัดจำหน่าย (ชวลิต น่วมธนัง, 2555)
ปัจจุบัน ศูนย์ผ้าทอโบราณบ้านผาทั่งยังเป็นแหล่งรายได้หลักและเสริมสำหรับคนในบ้านผาทั่ง เนื่องจากศูนย์มีชื่อเสียงในระดับชาติ และเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมลาวเวียงที่สำคัญของอำเภอบ้านไร่ จากการสังเกต ชุมชนบ้านผาทั่งในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2567 พบว่าศูนย์ผ้าทอยังมีคนในชุมชนมาหารายได้จากการทอและขายผ้าของป้าทองลี้ ซึ่งมีจำนวน 20-30 คนได้ เป็นคนจากชุมชนดั้งเดิม และคนที่ย้ายเข้ามาใหม่และต้องการหารายได้เสริม ราคาขายขึ้นอยู่กับประเภทของผ้าและความละเอียดของลวดลาย ดังนั้น คนที่สามารถทอได้ละเอียดนั้นต้องมีประสบการณ์การทอผ้ามานาน แต่ศูนย์ผ้าทอของป้าทองลี้นั้นขายสินค้าหลายเกรด ทำให้คนที่เริ่มต้นมาทอผ้าใหม่ ๆ สามารถที่จะฝึกปรือฝีมือทอผ้าจากงานที่ไม่เน้นรายละเอียดมากและราคาไม่แพง
นอกจากลุ่มทอผ้าแล้ว ข้อมูลของ อบต.ห้วยแห้ง ระบุว่า บ้านผาทั่งมีกลุ่มที่ดำเนินการในด้านต่าง ๆ เช่น กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มจิตอาสา กลุ่มพัฒนาบทบาทสตรี และกลุ่มกองทุนหมู่บ้าน และกลุ่มสตรีตำบลห้วยแห้งที่มีบทบาทในการเข้าร่วมกิจกรรมเดินขบวนแสดงวัฒนธรรมลาวเวียง/ลาวครั่งในงานบุญเดือนสาม
ประเพณีแห่ค้างดอกไม้และงานวันไหลบ้านผาทั่ง
เดือนเมษายนของทุกปีสำหรับบ้านผาทั่งนั้นเป็นช่วงเวลาที่มีงานประเพณีและกิจกรรมต่าง ๆ หนาแน่น นอกจากประเพณีสงกรานต์ซึ่งเป็นประเพณีที่จัดในอื่น ๆ ทั่วประเทศไทยแล้ว บ้านผาทั่งมีกิจกรรมที่เฉพาะเจาะจงของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียงหรือลาวครั่ง และแสดงความเป็นท้องถิ่นได้แก่ประเพณีแห่ค้างดอกไม้และงานวันไหลบ้านผาทั่ง ซึ่งงานวันไหลคืองานที่คนมาร่วมกันจัดงานรื่นเริง รวมถึงการจัดประเพณีวันขึ้นปีใหม่ไทยด้วย ประเพณีค้างดอกไม้และวันไหลบ้านผาทั่งมีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพหลัก ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแห้ง (อบต.ห้วยแห้ง) สภาวัฒนธรรมตำบลห้วยแห้ง โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุทัยธานี และวิทยาลัยชุมชนอุทัยธานี โดยใช้วัดผาทั่งเป็นสถานที่จัดงาน เนื่องจากมีหลวงพ่อโตซึ่งเป็นรูปจำลองให้คนเข้ามากราบไหว้และเป็นที่นับถือศรัทธาทั้งคนในและคนนอกชุมชน ประเพณีแห่ค้างดอกไม้นั้น ดั้งเดิมคือชาวบ้าจจะนำดอกไม้ต่าง ๆ ที่หาเก็บได้ในท้องถิ่นมาตกแต่งที่ค้างไม้ไผ่ที่สร้างเป็นรูปทรงคล้ายเจดีย์ และมีขบวนแห่งค้างดอกไม้เข้าไปที่วัดเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา การจัดประเพณีนี้เป็นการจัดในระดับตำบลห้วยแห้ง จึงบ้านอื่น ๆ มาร่วมด้วย นอกจากการแห่ค้างดอกไม้แล้ว งานนี้ยังส่งเสริมให้มีการแสดงผ้าทอลายโบราณ และกิจกรรมอื่น ๆ เกี่ยวกับวัฒนธรรมลาวเวียงและท้องถิ่น เช่น ขบวนแห่ตุง ขบวนนางรำ ขบวนแสดงอัตลักษณ์การแต่งกายแบบ "ลาวเวียง" คือใส่เสื้อม่อฮ่อมและผ่าซิ่นตีนจกสีแดง และกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การสาธิตทำขนมไทยโบราณ เช่น ขนมปง (มติชนออนไลน์, 2566)
งานมรดกวัฒนธรรมห้วยขาแข้ง และงานเทศกาลของดีอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี
ต้นเดือนธันวาคมของทุกปีมีงานใหญ่สำหรับคนบ้านผาคั่งอีกงานคืองานมรดกวัฒนธรรมห้วยขาแข้ง และงานเทศกาลของดีอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรำลึกถึงสืบ นาคะเสถียร อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อรณรงค์การรักษาสิ่งแวดล้อม และในวันที่ 9 ธันวาคม เป็นวันที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศให้เป็นวันเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร มรดกโลก และประกาศในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมของโลก งานมรดกวัฒนธรรมห้วยขาแข้งจึงเป็นงานยิ่งใหญ่จัดขึ้นเป็นเวลา 9 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคมของทุกปี ที่ว่าการอำเภอบ้านไร่ และสนามกีฬาเทศบาลตำบลบ้านไร่ อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี (มติชนออนไลน์, 2567)
แม้ว่าจะเป็นงานระดับอำเภอแต่ทางบ้านผาทั่งต้องเตรียมตัวไปร่วมเดินขบวนพาเหรดใส่ชุดนำเสนอความเป็นลาวเวียง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประกวดขบวนแห่รณรงค์ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและวิถีวัฒนธรรมประมาณจำนวน 20 กว่าขบวน ในงานประจำปี พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมาขบวนแสดงวิถีวัฒนธรรมของตำบลห้วยแห้งได้รับรางวัลชนะเลิศ และเงินรางวัลจำนวน 60,000 บาท ซึ่งเป็นการรักษาตำแหน่งชนะเลิศในปี พ.ศ. 2566 (เฟสบุ๊ค อบต.ห้วยแห้ง อ.บ้านไร่. จ.อุทัยธานี, 2567) ในงานยังมีกิจกรรมแข่งขันวิ่งมาราธอน เดินและวิ่งเพื่อสุขภาพต้านยาเสพติด การแข่งขันทักษะวิชาการและการแสดงความสามารถของนักเรียน นิทรรศการสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและป่าทุ่งใหญ่นเรศวร (มติชนออนไลน์, 2567) งานนี้ทางบ้านผาทั่งยังนำสินค้าผ้าทอลายโบราณไปแสดงด้วยเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอพหุวัฒนธรรมของอำเภอบ้านไร
ประเพณีบุญเดือนสามและการสืบสานประเพณีวิถีชาวอู่ไท
ชาวบ้านผาทั่งยังเป็นส่วนหนึ่งของการจัดประเพณีบุญเดือนสามในระดับจังหวัด ในประเพณียังมีกิจกรรมเดินขบวนนำเสนออัตลักษณ์ลาวเวียง/ลาวครั่งเพื่อเป็นการสืบสานวิถีชีวิตชาวอู่ไท โดยอู่ไทยคือชื่อเดิมของจังหวัดอุทัยธานี ประเพณีนี้มักจัดขึ้นในช่วงระหว่างวันขึ้น 12 ค่ำ ถึงวันแรม 5 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งเชื่อว่ามีการดำรงประเพณีนี้มากว่าร้อยปีแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนมัสการรอยพระพุทธบาทจำลอง ที่ประดิษฐานอยู่ภายในมณฑปของวัดหนองขุนชาติ อำเภอหนองฉาง วัดเก่าแก่คู่เมืองหนองฉาง ดังนั้น พื้นที่ศูนย์กลางของการจัดงานประเพณีนี้จึงอยู่ที่อำเภอหนองฉาง ณ ลานกิจกรรมหน้าศาลาการเปรียญ วัดหนองขุนชาติ โดยมีหน่วยงานร่วมจัด ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานี,สภาวัฒนธรรมจังหวัดอุทัยธานี ส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 8 อำเภอของจังหวัดอุทัยธานี บางปีมีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานอุทัยธานี ให้การสนับสนุนด้วย ในงานนอกจากการเดินขบวนแห่นาคที่นำเสนออัตลักษณ์ของชุมชนกลุ่มต่าง ๆ แล้ว ในขบวนยังมีการรำหน้านาค ขบวนกลองยาว แตรวง ขบวนหัวโต กระตั้วแทงเสือ และการแสดงการละเล่นพื้นบ้าน (ไทยรัฐออนไลน์, 2565)
ประเพณีในวิถีชีวิต
สำหรับประเพณีในชีวิตประจำวันนั้น เช่น การแต่งงานนั้นพบว่าหากเป็นการแต่งงานระหว่างคนลาวเวียงกับคนที่ไม่ใช่ลาวเวียง รูปแบบการแต่งงานเป็นแบบไทย ขณะที่แม่กิ๊กระบุว่าส่วนใหญ่คนผาทั่งแต่งงานแบบไทยเสียส่วนใหญ่
ช่วงเวลา (เดือน) | กิจกรรม/ประเพณี |
มกราคม | |
กุมภาพันธ์ | เข้าร่วมขบวนแห่วัฒนธรรมประเพณีอำเภอบ้านไร่ ในงานประเพณีบุญเดือนสาม สืบสานประเพณีวิถีชาวอู่ไท (ชื่อเดิมจังหวัดอุทัยธานี) |
มีนาคม | |
เมษายน | |
พฤษภาคม | |
มิถุนายน | |
กรกฎาคม | ประเพณีเข้าพรรษา |
สิงหาคม | |
ตุลาคม | ประเพณีตักบาตรเทโว |
พฤศจิกายน | งานลอยกระทงที่สะท้อนพหุชาติพันธุ์ ซึ่งจัดขึ้นที่บ้านผาทั่ง |
ธันวาคม | งานมรดกวัฒนธรรมห้วยขาแข้ง และงานเทศกาลของดีอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ที่อบต.ห้วยแห้งเข้าร่วม และต้องแสดงวัฒนธรรมท้องถิ่นในขบวนพาเหรด |
1.นายธวัชร์ ภูริผล อดีตผู้ใหญ่บ้านผาทั่งและกำนันตำบลห้วยแห้ง ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านดีเด่น
ชุมชนผาทั่งเป็นที่รู้จักระดับชาติด้วยการเปิดตัวของศูนย์ผาทอลายโบราณ ที่ริเริ่มโดยแม่ทองลี้ ภูริภัทร และนายธวัชร์ ภูริผล สามีซึ่งเป็นคนจากอำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี ในปี พ.ศ. 2538 นายธวัชร์ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านผาทั่ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่กลุ่มทอผ้าลายโบราณผาทั่งเริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง และมีบทบาทในการส่งเสริมให้ผ้าทอของบ้านผาทั่งเป็นสินค้าโอท็อปจนมีชื่อเสียงในระดับชาติ นายธวัชร์เป็นผู้นำและทำงานในองค์กปกครองส่วนท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านตามที่กล่าวไป ในปี พ.ศ. 2542 เขาขึ้นเป็นประธานสภา อบต.ห้วยแห้ง และกลับมาดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านผาทั่งอีกครั้งในปี พ.ศ. 2543 และดำรงตำแหน่งเป็นเวลาเกือบ 8 ปี ก่อนขึ้นเป็นกำนันตำบลห้วยแห้งในปี พ.ศ. 2551-2553 และเคยได้รับรางวัลผู้ใหญ่ดีเด่น (รางวัลกำนันผู้ใหญ่บ้านยอดเยี่ยม) ในปี พ.ศ. 2547 และได้รับมอบแหนบทองคำเป็นรางวัล
จากประวัติที่ติดไว้ที่ผนังของอาคารศูนย์ผ้าทอลายโบราณบ้านผาทั่ง ทำให้ไม่น่าแปลกใจที่นายธวัชร์ได้รับรางวัลผู้ใหญ่บ้านดีเด่นหรือแหนบทองคำ เนื่องจากมีผลงานด้านการพัฒนามากมาย เช่น การเป็นผู้ประสานงานของบประมาณจากกรมชลประทานในการสร้างเก็บน้ำบ้านผาทั่ง-บ้านสระ และชุดลอกอ่างเก็บน้ำเขาแหลมลำห้วยกระเสียว ประสานของบประมาณสร้างถนนคอนกรีตภายในหมู่บ้านผาทั่ง และของบประมาณจากทางทหลวงชนบทในการสร้างถนนลาดยางเส้นผาทั่ง-นาทุ่งเชือก ประสานของบประมาณจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคให้กับชุมชนเส้นผาทั่ง-หนองอีบุญ และของบประมาณสร้างห้องสมุด เป็นต้น
สำหรับบทบาทของนายธวัชร์ ภูริผล ในส่วนการสนับสนุนผ้าทอในฐานะผู้นำนั้น ป้ายประวัติระบุว่าเขาเป็นส่วนสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ประสานของบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานีในการสร้างศูนย์ทอลาย สนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์ผ้าทอจากไหมและฝ้ายได้รับมาตรฐานชวนชิมชวนใช้ ได้ส่งผลิตภัณฑ์เข้าประกวดผ้าทอพื้นเมืองในงานกาดจัดหวัดอุทัยธานี ในปี พ.ศ. 2543 และได้รับรางวัลชนะเลิศ ลำดับที่ 2 ได้รับรางวัลชนะเลิศ อันดับที่ 1 ในการประกวดผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติลวดลายโบราณ และได้รับรางวัลที่ 2 จากนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ในงานมหกรรม “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” ประเภทพัฒนาเชิงพาณิชย์ (ผลิตภัณฑ์จากผ้า) และผลิตภัณฑ์ผ้าทอในท้ายที่สุดได้รับคัดเลือกเป็นสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ระดับ 4 ดาว เป็นต้น
2.แม่ทองลี้ คณทา (ภูริผล) ผู้นำสตรีกลุ่มทอผ้อและเสาหลักก่อตั้งศูนย์ผ้าทอลายโบราณบ้านผาทั่ง
แม่ทองลี้ คณทา (ภูริผล) เกิดประมาณปี พ.ศ. 2493 และได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ประธานกลุ่มศูนย์ผ้าทอลายโบราณบ้านผาทั่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้ผ้าทอมือลายโบราณที่สะท้อนอัตลักษณ์ลาวเวียง/ลาวครั่งเป็นที่รู้จักในระดับชาติ มากว่า 40 ปี เธอเรียนรู้การทอผ้าจากบรรพบุรุษที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ เธอได้เรียนรู้การทอผ้าด้วยมือตั้งแต่ยังเป็นสาวจากคุณยายและคุณแม่ที่สืบต่อกันมา ถือเป็นความรู้และทักษะที่สืบทอดมาในกลุ่มผู้หญิงลาวเวียงหรือลาวครั่งในอดีต แม่ทองลี้เล่าตอนหนึ่งในช่วงสัมภาษณ์กับผู้เรียบเรียงข้อมูล (10 พฤศจิกายน 2567) ว่าในช่วงปี พ.ศ. 2512 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จมาจังหวัดอุทัยธานีครั้งแรก และตรัสว่าให้เก็บผ้าเก่าโบราณไว้ ซึ่งเธอก็เชื่อในคำตรัสนี้มาตลอด
แม่ก็เก็บตั้งแต่นู้นเลาะมาตั้งแต่ท่านบอก เมื่อก่อนบอก หนึ่ง คนตายไปเผาหมด สองผ้าเก่านิด ๆ หน่อย ๆ ก็ทำผ้าขี้ริ้ว แล้วก็ทำผ้าอ้อมทิ้งไปหมดเลย คราวนี้พระองค์ท่านพูดเหมือน เราก็เลยเก็บไว้ตั้งแต่นู่นมาจนผ้าลวดลายต่าง ๆ มีผ้าประมาณ 400-500 ผืน และมีเป็นพัน สะสมไว้เป็นแม่ครู คราวนี้ทอเสร็จแล้ว มีลูกสอนลูกมีหลานสอนหลาน แต่ละบ้านก็ต้องมีกี่ทุกบ้าน เพราะเราต้องเตรียมขุดเครื่องนอนไว้แต่งงาน ไว้กินดอง เพื่อที่จะทอผ้าเป็นไว้ไปรับไหว้พ่อแม่ผู้บ่าว ต้องเตรียมเพราะว่าคนไหนทอผ้าไม่เป็นก็หนีตามกันไป ถ้าทอผ้าสวย ผู้บ่าวมาเล่นด้วยก็ขอผ้านี้ไปให้พ่อแม่ เออผู้หญิงคนนี้พอจะเป็นแม่เหย้าแม่เรือนได้ไหม ฝีมือดี มีความอดทน เวลาพ่อแม่ผู้บ่าวมาสู่ขอก็ไม่เกี่ยงราคา ถึงได้เป็นชุดเครื่องนอนก่อนวิวาห์
ในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2530 บ้านผาทั่งได้มีการรวมตัวของกลุ่มผู้หญิงที่ว่างเว้นจากงานในภาคเกษตร มาทอผ้าเพื่อหารายได้เสริมให้กับครอบครัว ซึ่งในเวลานั้นภูมิปัญหาด้านการทอผ้าเกือบสูญหายไปจากชุมชน กลุ่มทอผ้าดำเนินการจากจุดเริ่มต้นที่เป็นการช่วยเหลือกันและกันระหว่างสมาชิกของกลุ่ม และพยายามเข้าร่วมการอบรมความรู้ด้านการทอผ้าในด้านต่าง ๆ ที่หน่วยงานรัฐจัดและสนับสนุน เช่น โครงการอบรมกี่กระตุก และการย้อมสีผ้าฝ้ายด้วยธรรมชาติ จนต่อมาหน่วยประชาสงเคราะห์จังหวัดอุทัยธานีจัดอบรมการทอผ้าไหมพรมที่จังหวัดลำปาง ทางกลุ่มได้ส่งแม่ทองลี้ไปเป็นตัวแทนในการอบรม และนำความรู้มาพัฒนาการทอผ้าและผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง (ปราโมทย์ กรีโรจนีย์, 2555)
ในเวลาต่อมาป้าทองลี้และผลิตภัณฑ์ของเธอเป็นที่รู้จักและได้รับรางวัลมากมาย โดยเฉพาะปี พ.ศ. 2559 ถือเป็นปีที่แม่ทองลี้ได้รับรางวัลด้านการทอผ้ามากมาย เช่น รางวัลทายาทศิลป์หัตถกรรม จากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) รางวัลประกวดผ้าทอพื้นเมือง ประเภท ผ้าซิ่นจกฝ้ายชาติพันธุ์ลาวครั่งแบบประยุกต์จกเต็มผืน ย้อมด้วยธรรมชาติ และในงานมหากรรมผ้าทอพื้นเมืองเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในขณะนั้น ป้าทองลี้ยังได้รับการยกย่องในฐานะเป็นปราชญ์ด้านการทอผ้าในระดับประเทศ สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ได้นำความรู้ไปถ่ายทอดเชิงบูรณาการ (อภิญญา จงพัฒนากร และคณะ, 2565) ตลอดจนได้รับรางวัลช่างฝีมือดั้งเดิม ในการส่งเสริมและรักษาภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม จากกรมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ความรู้และความสามารถของป้าทองลี้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง เธอได้รับเชิญให้ไปบรรยายเกี่ยวกับภูมิปัญญาด้านทอผ้าทั้งหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ได้มอบปริญญาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน) ประจำปีการศึกษา 2566
1.วัดผาทั่ง
วัดผาทั่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2477 มีชื่อตามหมู่บ้านซึ่งเป็นที่ตั้งของวัด วัดผาตั้งมีชื่อเสียงนอกจากเป็นวัดที่มีอายุเกือบร้อยปีแล้ว คือมีปูชนียวัตถุได้แก่หลวงพ่อโต ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประดิษฐานกลางแจ้ง ปางประธานพร หน้าตักกว้าง 23 เมตร สูง 52 เมตร ซึ่งมีขนาดใหญ่ติดอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ใช้เวลาสร้างประมาณ 8 ปี คือเริ่มในปี พ.ศ. 2532 และเสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2540 โดยแรงศรัทธาจากคณะศิษยานุศิษย์ของสมเด็จพระพุทธาจารย์ (โต พรหมรังษี) และชาวบ้าน ในอาคารใต้ฐานหลวงพ่อโต ยังเป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนสมเด็จพระพุทธาจารย์โต หลวงปู่ทวด หลวงปู่ศุข ให้ประชาชนทั่วไปได้กราบไหว้สักการบูชา (อบต.ห้วยแห้ง, ม.ป.ป.)
2.ศูนย์ผ้าทอลายโบราณบ้านผาทั่ง
บ้านผาทั่งมีทุนทางภูมิปัญญาที่โดดเด่นได้แก่ผ้าทอลายโบราณ ที่ส่งเสริมและพัฒนาโดยศูนย์ผ้าทอลายบ้านผาทั่ง ที่ก่อตั้งอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2539 ผ้าทอลายโบราณหรือผ้าซิ่นตีนจกชองคนลาวเวียงหรือลาวครั่งที่ทางศูนย์นำเสนอและผลิตขึ้นนั้นแตกต่างจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ เช่น ไทพวน ไทยวน และไทยลื้อ ได้แก่ลวดลายผ้าซิ่นของลาวเวียง/ครั่งมีลวดลายแนวตั้ง ขณะที่ผ้าซิ่นจากลุ่มชาติพันธุ์มีลวดลายเป็นแนวนอน และออกแบบการทอด้วยการใช้รูปนาคเป็นลายหลัก (ชนิดา ตั้งถาวรสิริกุล, 2541 อ้างถึงใน ชวลิต น่วมธนัง, 2555) ลักษณะผ้าทอดังกล่าวถือเป็นลายโบราณที่สืบทอดมาจากลาวเวียงที่ดั้งเดิมอยู่ในประเทศ ผลิตภัณฑ์ผ้าทอเป็นภูมิปัญญาที่เกิดจากการรวมกลุ่มและพัฒนาเป็นศูนย์ผ้าทอพื้นเมืองโบราณบ้านผาทั่งในปี พ.ศ. 2545 ผลผลิตของชุมชนในนามศูนย์ได้รับรางวัลมากมาย เช่น รางวัลชนะเลิศการประกวดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ระดับประเทศ พ.ศ. 2546 และชุดเครื่องนอนก่อนวิวาห์ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับโลกจากองค์การยูเนสโก (ชวลิต น่วมธนัง, 2555; ชุมชนคุณธรรม, ม.ป.ป.) ล่าสุดในปี พ.ศ. 2565 ศูนย์ผ้าทอฯ ได้รับรางวัลชมเชยประเภทผ้าจากกลุ่มชาติพันธุ์ การประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ระดับประเทศ ทำให้เห็นว่าศูนย์ผ้าทอฯ ยังผลิตและสร้างสรรค์ลายผ้าทอใหม่ ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ต่อมา ยลดา ภูริผล ลูกสาวของแม่ทองลี้ได้เข้ามาดูแลด้านการออกแบบและการตลาดผลิตภัณฑ์ ถือเป็นการส่งต่อความรู้และภูมิปัญญาด้านผ้าทอมือให้อยู่ต่อไป และประยุกต์สินค้าให้มีความทันสมัย จนกระทั่งการเสียชีวิตของคุณแม่ทองลี้ในปลายเดือนพฤศจิกายน 2567 ทำให้ยลดาต้องเข้ามารับช่วงต่อการดูแลศูนย์ผ้าทอฯ กิจกรรม และธุรกิจผลิตภัณฑ์แบบเต็มตัว
คนส่วนใหญ่ที่เป็นลาวเวียงหรือลาวครั่งที่บ้านผาทั่งพูดภาษาลาวที่มีสำเนียงผาทั่ง และเป็นภาษาที่ใช้ในงานพิธีกรรม เช่น พิธีทำขวัญ ภาษาลาวสำเนียงผาทั่งเป็นการนิยามโดยคนที่เกิดและอยู่ที่นี่หรือมีบรรพบุรุษอยู่ที่นี่ สำหรับชุมชนที่มีคนนอกชุมชนหรือไม่ใช่ลาวเวียง คนผาทั่งสื่อสารด้วยภาษาไทยเป็นหลัก แต่คนนอกชุมชนเมื่ออยู่นานวันเข้าก็เข้าใจภาษาลาวเวียงของคนผาทั่งได้ไม่ยาก
ศัพท์บางคำในภาษาลาวบ้านผาทั่งเป็นคำเดียวกับภาษาไทย เพียงแต่ออกเสียงแตกต่าง เช่น คำว่า "กินข้าว" ในภาษาไทย ภาษาลาวผาทั่งออกเสียงว่า "กิ๋นเข้า" หรือไม้กวาดในภาษาไทย ภาษาลาวเวียงเรียกว่า "ไม้กวัด" เป็นต้น ขณะที่บางคำมีรากมาจากภาษาลาวแต่ก็ไม่ใช่คำเดียวกัน เช่น คำว่า ซุบบะเขือ ในภาษาลาว ลาวเวียงเรียกว่า "แจ่วเขือ" แต่ก็มีบางคำที่เหมือนกับภาษาลาว เช่น บักหมี่ ที่แปลว่าขนุน
บ้านผาทั่งเป็นชุมชนที่ได้รับการเสนอเป็นชุมชนคุณธรรม (เว็บไซต์ชุมชนคุณธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, ม.ป.ป.) เนื่องจากเข้าเกณฑ์ในการแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่มีคุณธรรม ความสุข และความดีงามในหลายด้าน เช่น มีสภาพแวดล้อมที่ดีและพร้อมในการเปิดการท่องเที่ยวชุมชน และมีการยึดมั่นในหลักสำคัญในการดำรงชีวิตที่สำคัญ ๆ ได้แก่
- ชุมชนยึดมั่นในหลักศาสนา ทำให้ปัญหาต่าง ๆ ในชุมชนลดลง เช่น ปัญหายาเสพติด การทะเลาะวิวาท อบายมุข ปัญหาสิ่งแวดล้อม หนี้สิน เป็นต้น
- ชุมชนน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต สามารถพึ่งพาตนเอง และใช้จ่ายด้วยความพอประมาณ มีการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับผู้มีรายได้น้อย และรวมกลุ่มพัฒนาอาชีพ สร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจฐานราก เช่น กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มพัฒนาอาชีพ และกลุ่มจิตอาสาลำเพ็ญสาธารณประโยชน์
- ชุมชนมีความจงรักภักดี เคารพเทิดทูนในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีการสืบทอดศิลปวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่น พัฒนาต่อยอดให้เป็นทุนทางวัฒนธรรม และสร้างสรรค์สินค้าและบริการทางวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงการท่องเที่ยวและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ
ข้อมูลจากเว็บไซต์ชุมชนคุณธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (ม.ป.ป.) ได้แนะนำอาหารพื้นบ้านของคนลาวเวียงที่บ้านผาทั่งไว้ 2 อย่าง หนึ่ง คือ อั่วดอกแคหรือหมกดอกแค และหมกหน่อไม้ ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านที่แสดงอัตลักษณ์อาหารพื้นบ้านที่รับประทานทั้งในชีวิตประจำวันและงานบุญ
คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. (2544). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดอุทัยธานี. กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงศึกษาธิการ และกรมศิลปากร
ชวลิต น่วมธนัง. (2555). การศึกษาซิ่นตีนจกลาวเวียงสู่การปรับปรุงศูนย์ผ้าทอลายโบราณบ้านผาทั่ง (ปริญญานิพนธ์มหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
ชุมชนคุณธรรม. (ม.ป.ป.). บ้านผาทั่ง จังหวัดอุทัยธานี. https://moral.m-culture.go.th/moralcommunity/
ดวงพร เฮงบุณยพันธ์. (2555). หาดสองแคว. เปนไท พับลิชชิ่ง.
ไทยรัฐออนไลน์. (19 กุมภาพันธ์ 2565). ททท.หนุนงาน “บุญเดือนสาม” สืบสานประเพณี “วิถีชาวอู่ไท”. https://www.thairath.co.th/news/local/central/
บังอร ปิยะพันธุ์, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ กาญจนี ละอองศรี. (2541). ลาวในกรุงรัตนโกสินทร์. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
ปราโมทย์ กรีโรจนีย์. (2555). ผ้าฝ้ายทอมือของกลุ่มคนไทยเชื้อสายลาวครั่งในเขตอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี (ปริญญามหาบัณฑิต). มหาวิทยาศรีนครินทรวิโรฒ.
เฟสบุ๊ค “ทองลี้ คณทา (ภูริผล)”. (20 กรกฎาคม 2557).
เฟสบุ๊ค “อบต.ห้วยแห้ง อ.บ้านไร่. จ.อุทัยธาน”. (9 ธันวาคม 2567). อบต.ห้วยแห้ง จ.อุทัยธานี ที่ 1 ขบวนแห่วิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น งานมรดกโลกห้วยขาแข้ง. https://www.facebook.com/
เฟสบุ๊ค “อบต.ห้วยแห้ง อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี”. (17 กุมภาพันธ์ 2568). ขอขอบคุณกลุ่มสตรีตำบลห้วยแห้ง ใน ขบวนแห่วัฒนธรรมประเพณีอำเภอบ้านไร่ ในงานประเพณีบุญเดือนสาม สืบสานประเพณีวิถีชาวอู่ไท ประจำปี 2568. https://www.facebook.com/
มติชนออนไลน์. (16 เมษายน 2566). อุทัยฯ สืบสานประเพณีแห่ค้างดอกไม้ห้วยแห้ง ไหว้หลวงพ่อโต โชว์ผ้าทอลายโบราณ จากทั้ง 9 หมู่บ้าน. https://www.matichon.co.th/
มติชนออนไลน์. (4 ธันวาคม 2567). อุทัยแถลงข่าวงานวันมรดกโลกห้วยขาแข้ง และงานเทศกาลของดีอำเภอบ้านไร่ ระหว่างวันที่ 1-9 ธ.ค.นี้. https://www.matichon.co.th/
ศิริขวัญ ดวงแก้ว. (2553). แนวทางการบริหารจัดการของกลุ่มผ้าทอพื้นเมืองบ้านผาทั่ง ตำบลห้วยแห้ง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี (ปริญญานิพนธ์มหาบัณฑิต.) มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์.
สำนักประชาสัมพันธ์จังหวัดอุทัยธานี. (ม.ป.ป.). อุทัยธานี. เผด็จการพิมพ์.
โสภา ศรีสำราญ. (17 มิถุนายน 2562). ลาวเวียง. ฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย. https://ethnicity.sac.or.th/database-ethnic/
องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแห้ง. (ม.ป.ป.). https://www.huaihaeng.go.th/home
อภิญญา จงพัฒนากร และคณะ. (2565). ความรู้พื้นฐานการทอผ้าของลาวครั่ง ลาวเวียง จังหวัดอุทัยธานี สำหรับการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการและต่อชุมชน. วิทยาลัยชุมชนอุทัยธานี สถาบันวิทยาลัยชุมชน.
อัญชลี สิงห์น้อย วงศ์วัฒนา. (2560). ชาติพันธุ์ “ไทครั่ง” ภูมิภาคเหนือตอนล่าง: อัตลักษณ์และความหลากหลาย. Journal of Community Development Research (Humanities and Social Sciences), 10(2), 107-127.
แม่กิ๊ก, สัมภาษณ์, 10 พฤศจิกายน 2567.