
ชุมชนชาติพันธุ์ชาวไทยวนแห่งบ้านดอนม่วง
แต่เดิมคนในหมู่บ้านและที่อาศัยอยู่โดยรอบจะเรียกชื่อหมู่บ้านดอนม่วงว่า “หมู่บ้านทุ่งกะโล้” เนื่องจากพื้นที่ใกล้เคียงหมู่บ้านมีหนองน้ำใหญ่ชื่อ “หนองกะโล้” ชาวบ้านจึงเรียกที่ตั้งหมู่บ้านว่าทุ่งกะโล้ นอกจากนี้ยังมีการเรียกชื่อหมู่บ้านอีกชื่อหนึ่งว่า “บ้านม่วงเฒ่า” เนื่องจากในพื้นที่นี้มีต้นมะม่วงป่าขนาดใหญ่และอายุยืนนานจำนวนมาก ชาวราชบุรีผู้ก่อตั้งบ้านจึงได้นำมาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านที่บุกเบิกใหม่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 ได้มีการเปลี่ยนชื่อจากหมู่บ้านม่วงเฒ่าเป็นหมู่บ้านดอนม่วงเพื่อให้มีความไพเราะเหมาะสมมากขึ้น (บุญตา ดอนทิพย์ไพร, สัมภาษณ์, 23 สิงหาคม 2567)
ชุมชนชาติพันธุ์ชาวไทยวนแห่งบ้านดอนม่วง
หมู่บ้านดอนม่วงมีความเป็นมาเริ่มต้นจากกลุ่มชาวไทยวนที่โยกย้ายมาจากราชบุรี 2 ตระกูล ได้แก่ ตระกูลดอนทิพย์ไพร และตระกูลเย็นเยือก ผู้บุกเบิก 2 ครอบครัวนี้ ได้แก่ บ้านพ่อคุณสุ่มและแม่คุณกา ดอนทิพย์ไพร อพยพมาจากอำเภอบ้านโป่ง ตำบลหนองปลาหมอ จังหวัดราชบุรี และอีกครอบครัวคือบ้านแม่คุณปาน เย็นเยือก อพยพมาจากบ้านหนองหลวง จังหวัดราชบุรี ต่อมาสองครอบครัวนี้มีลูกหลานขยับขยายครอบครัวแตกแขนงออกไปเป็นจำนวนมากขึ้น อีกทั้งยังได้ชักชวนญาติพี่น้องที่ราชบุรีมาอาศัยรวมกันเพิ่มเติม ทำให้มีประชากรมากขึ้น จนกระทั่งรวบรวมประชากรในละแวกพื้นที่บึงราชนกตั้งเป็นหมู่บ้าน หมู่ที่ 6 (ปัจจุบันคือบ้านบึงราชนก) แต่เมื่อประชากรที่อาศัยอยู่รอบหนองกะโล้ขยายจำนวนมากขึ้น และต้องการเข้าถึงสาธารณูปโภคมากขึ้น ผู้นำชุมชนที่เป็นชาวไทยวนจึงได้ขอจัดตั้งหมู่บ้านแยกต่างหากเป็น “บ้านทุ่งกะโล้” ต่อมาในปี 2527 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “บ้านดอนม่วง” หมู่ที่ 10 (บุญตา ดอนทิพย์ไพร, สัมภาษณ์, 23 สิงหาคม 2567) โดยมีผู้ใหญ่บ้านคนแรกเป็นผู้นำชาวไทยวนที่ผลักดันการจัดตั้งหมู่บ้าน คือ นายบุญตา ดอนทิพย์ไพร ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน พ.ศ. 2527 – 2544 ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 2 คือ นายเสน่ห์ อินคำ ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน พ.ศ. 2544 – 2545 ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 3 คือ นางอุบล ใจโอด ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน พ.ศ. 2545 – 2555 และผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน ซึ่งดำรงตำแหน่งกำนันตำบลวังทองด้วย คือ นายอาทิตย์ อินคำ ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน พ.ศ. 2555 – จนถึงปัจจุบัน (2568) (อาทิตย์ อินคำ, 23 สิงหาคม 2567)
บ้านดอนม่วงตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอวังทอง 7 กิโลเมตร และตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองจังหวัดพิษณุโลกประมาณ 15 กิโลเมตร ในแผนพัฒนาหมู่บ้านปี 2566 ระบุว่าหมู่บ้านมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 3,686 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่เกษตร 2,400 ไร่ พื้นที่อยู่อาศัย 1,200 ไร่ และพื้นที่สาธารณะ 86 ไร่
มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อ บ้านศรีธนูชิศ หมู่ 15
- ทิศใต้ ติดต่อ บ้านบึงราชนก หมู่ 6
- ทิศตะวันออก ติดต่อ หมู่บ้านเขาสมอแคลง หมู่ที่ 8
- ทิศตะวันตก ติดต่อ หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 4 ของตำบลสมอแข
พื้นที่ส่วนใหญ่ของบ้านดอนม่วงเป็นที่ราบลุ่มเหมาะสำหรับทำการเกษตร มีบึงสำหรับกักเก็บน้ำไว้ใช้ทำการเกษตรในหน้าแล้ง มีคลองธรรมชาติและคลองส่งน้ำชลประทานเข้ามาทำให้มีน้ำใช้ด้านการเกษตรมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันพื้นที่เกษตรกรรมลดลง เนื่องจากครัวเรือนที่ประสบปัญหาขาดทุนและการเป็นหนี้สินจากการทำเกษตรกรรมได้ขายที่ดินที่ใช้ทำเกษตรให้กับคนภายนอก เช่น กลุ่มคนชั้นกลางในเมือง กลุ่มธุรกิจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือกลุ่มผู้ประกอบการบ้านจัดสรร ที่ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมกลายเป็นบ้านจัดสรรหลายโครงการ และมีคนภายนอกที่ไม่ใช่คนดั้งเดิมเข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชนมากขึ้น
การเก็บข้อมูล จปฐ. (ความจำเป็นพื้นฐานของหมู่บ้าน) ระบุข้อมูลจำนวนประชากรของบ้านดอนม่วง ประกอบด้วยครัวเรือนจำนวน 95 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 171 คน และหญิง 173 คน รวม 344 คน ในจำนวนนี้มีผู้สูงอายุ 56 คน และคนพิการ 12 คน สำหรับที่มาของประชากร หากย้อนกลับไปช่วงบุกเบิกตั้งบ้านส่วนใหญ่เป็นคนไทยวนที่ย้ายมาจากราชบุรีหลายครอบครัว แต่เมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. 2486 หลายครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างหนักพากันอพยพหนีน้ำท่วมไปอยู่บนเขาสมอแคลงจนกระทั่งตั้งบ้านเรือนถาวรจนถึงปัจจุบัน ทำให้คนไทยวนที่อาศัยอยู่ในบ้านดอนม่วงเหลือไม่กี่ครอบครัว ได้แก่ ครอบครัวตระกูลดอนทิพย์ไพร และครอบครัวตระกูลเยือกเย็น ประชากรนอกเหนือจากนี้เป็นคนไทยดั้งเดิมในพิษณุโลกและที่ย้ายมาจากจังหวัดใกล้เคียงเพื่อหาที่ดินทำกิน แต่ในปัจจุบันหลังจากจังหวัดพิษณุโลกเติบโตและมีการขยายการพัฒนาสาธารณูปโภคในพื้นที่ ทำให้มีการอพยพโยกย้ายของคนต่างถิ่นต่างภูมิภาคและต่างวัฒนธรรมเข้ามาอาศัยอยู่มากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่มีการสร้างบ้านจัดสรรขึ้น ทำให้มีประชากรวัยทำงานและส่วนใหญ่เป็นมนุษย์เงินเดือนที่มีวิถีชีวิตแบบใหม่เข้ามาเป็นสมาชิกของหมู่บ้านมากขึ้นเรื่อยๆ
ไทยวนข้อมูลจากแผนพัฒนาหมู่บ้านดอนม่วงปี 2566 ระบุว่าหมู่บ้านดอนม่วงมีองค์กรชุมชนหลายระดับและหลายรูปแบบ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระดับใหญ่ๆ ได้แก่
ระดับที่ 1 องค์กรชุมชนเพื่อการบริหารงานหมู่บ้าน ในหมู่บ้านดอนม่วงประกอบด้วย คณะกรรมการหมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้านเป็นประธานคณะกรรมการ มีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเป็นรองประธานและเหรัญญิก และมีตัวแทนสมาชิกหมู่บ้านเป็นกรรมการที่คอยขับเคลื่อนงานด้านต่างๆ ของหมู่บ้าน ได้แก่ ฝ่ายอำนวยการ ฝ่ายพัฒนา ฝ่ายรักษาความสงบ ฝ่ายศึกษาวัฒนธรรม รวมถึงการแต่งตั้ง สมาชิก อบต. ให้เป็นกรรมการหมู่บ้าน เนื่องจากเป็นตัวแทนของหมู่บ้านในการผลักดันความต้องการของชาวบ้านสู่แผนพัฒนาของสภา อบต.
นอกจากนี้ ยังได้มีการแบ่งการบริหารจัดการคุ้มหมู่บ้าน แบ่งออกเป็น 6 คุ้ม โดยมีคณะกรรมการประจำคุ้ม คุ้มละ 5 คน เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ใหญ่บ้านในการดูแลทุกข์สุขและการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันของสมาชิกในคุ้มนั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่ในคุ้ม ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้บ้านของแต่ละคน (อาทิตย์ อินคำ, สัมภาษณ์, 23 สิงหาคม 2567)
ระดับที่ 2 คือ องค์กรชุมชนที่จัดตั้งตามนโยบายภาครัฐ ได้แก่ คณะกรรมการพัฒนาสตรี (กพสม.) ประกอบด้วยกรรมการซึ่งเป็นสมาชิกของชุมชน 9 คน ทำหน้าที่ ปัจจุบันมีจำนวนสตรีอาสาพัฒนาชุมชน จำนวน 76 คน และคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน ประกอบด้วยกรรมการ 9 คน สมาชิกกองทุน 121 คน และมีสมาชิกกู้เงินเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกร จำนวน 69 ราย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ดูแลเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยของสมาชิกชุมชน และกลุ่มอาสาพัฒนาชุมชน (อช.) ที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนงานโครงการหรือกิจกรรมพัฒนาหมู่บ้าน และเป็นผู้ประสานงานระหว่างองค์กรประชาชนกับหน่วยงานของรัฐ และเอกชน รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามเวทีประชาคม คณะกรรมการหมู่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลหรือทางราชการมอบหมาย
ระดับที่ 3 คือ องค์กรชุมชนตามวัตถุประสงค์การพัฒนาด้านต่างๆ ได้แก่ กลุ่มอาชีพต่างๆ ที่ตั้งขึ้นตามความสนใจและความต้องการของสมาชิกหมู่บ้าน ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มแม่บ้าน มีสมาชิก 76 คน มีเงินทุนหมุนเวียน 640,000 บาท กลุ่มเกษตรกร มีสมาชิก 35 คน มีเงินทุนหมุนเวียน 220,000 บาท และกลุ่มพันธุ์ข้าวชุมชน มีสมาชิก 37 คน และมีเงินทุนหมุนเวียน 270,000 บาท
ประชากรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านดอนม่วงประกอบอาชีพเกษตรกรรม จำนวน 85 ครัวเรือน หรือคิดเป็นร้อยละ 80 ของครัวเรือนทั้งหมด (95 ครัวเรือน) การประกอบอาชีพเกษตรในที่นี้หมายรวมถึงการทำนา ทำสวน และเลี้ยงสัตว์ ทั้งโค กระบือ สุกร เป็ด ไก่ และปลา อย่างไรก็ตาม รายได้จากภาคเกษตรเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพทุกคนในครัวเรือน ทำให้ 85 ครัวเรือนที่ทำอาชีพเกษตรต้องหารายได้จากการประกอบอาชีพอื่นๆ ด้วย ซึ่งอาชีพที่รองลงมาจากอาชีพเกษตร คือ การรับจ้าง และค้าขาย รวมถึงการเป็นพนักงานในโรงงาน ห้างร้าน และบริษัททั้งในตัวเมืองพิษณุโลก และในเมืองใหญ่อื่นๆ เช่น กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้อีก 10 ครัวเรือน หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของครัวเรือนทั้งหมด เลือกประกอบอาชีพรับจ้าง ค้าขาย และทำธุรกิจส่วนตัวเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีรายได้จากการทำเกษตร ครัวเรือนเหล่านี้จัดเป็นครัวเรือนที่ไม่มีที่ดินทำกิน เนื่องจากเหตุผล 2 ประการ คือ เป็นครัวเรือนที่เพิ่งอพยพโยกย้ายเข้ามาตั้งบ้านในชุมชน ทำให้ไม่มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรที่ดินเหมือนกลุ่มคนที่อพยพมาก่อน และเหตุผลประการต่อมาคือการขายที่ดินทำกินที่มีอยู่ทั้งหมด ทำให้ครัวเรือนกลุ่มนี้ต้องปรับตัวและดิ้นรนสู่วิถีการยังชีพแบบใหม่ (อาทิตย์ อินคำ, สัมภาษณ์, 23 สิงหาคม 2567)
สำหรับวิถีทางประเพณีและวัฒนธรรมที่ปรากฎในบ้านดอนม่วงจะมีลักษณะตามแบบชุมชนไทยภาคเหนือตอนล่างที่ได้รับอิทธิพลการเผยแพร่ส่งต่อจากชุมชนไทยภาคกลาง แม้เป็นชุมชนที่มีชาวไทยวนเป็นผู้บุกเบิกตั้งบ้านและอยู่อาศัยขยายครอบครัวจนกระทั่งกลายเป็นหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ แต่จากการสำรวจและสอบถามคนในชุมชน แทบไม่ปรากฎประเพณีหรือพิธีกรรมที่มีลักษณะเป็นของชาวไทยวน ประเพณีของชุมชนบ้านดอนม่วงในหนึ่งรอบปี ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งปีจะเป็นประเพณีตามเทศกาลหลักและวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของไทย เช่นในเดือนมกราคม ชุมชนจะร่วมกันจัดงานฉลองปีใหม่และงานวันเด็ก เดือนเมษายนมีงานฉลองสงกรานต์และการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และข้ามไปเดือนพฤษภาคม จะมีการจัดงานบุญกลางบ้าน ซึ่งถือเป็นงานสำคัญของหมู่บ้าน คนในหมู่บ้านจะให้ความสำคัญกับงานนี้ เนื่องจากเป็นการทำบุญให้กับเจ้าที่เจ้าทางหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้คอยปกปักรักษาคุ้มครองคนในหมู่บ้านให้อยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข ในช่วงเดือนสิบตามปฏิทินไทยหรือในเดือนกันยายนจะมีการจัดงานบุญวันสารท ซึ่งเป็นการทำบุญให้แก่ผู้ล่วงลับตามความเชื่อดั้งเดิมของชุมชนส่วนใหญ่ในประเทศไทย นอกจากนี้ ในเดือนกรกฎาคมและข้ามไปในช่วงสิ้นปี จะเป็นงานประเพณีทางศาสนา ได้แก่ เดือนกรกฎาคมจะมีการจัดงานบุญเข้าพรรษา ซึ่งจะมีการแห่เทียนพรรษาเข้าวัด เดือนตุลาคมมีงานบุญออกพรรษา และการจัดเทศน์มหาชาติ ปิดท้ายด้วยบุญกฐิน ที่ลูกหลานต่างถิ่นต่างแดนจะช่วยกันรวบรวมเงินเพื่อนำมาพัฒนาวัดและชุมชนของตนเอง (อาทิตย์ อินคำ, สัมภาษณ์, 23 สิงหาคม 2567)
ตารางงานประเพณีที่จัดในแต่ละเดือนของบ้านดอนม่วง
เดือน |
กิจกรรม |
มกราคม |
งานฉลองปีใหม่ (จับฉลากของขวัญ), งานวันเด็ก |
เมษายน |
งานสงกรานต์, รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ |
พฤษภาคม |
บุญกลางบ้าน |
กรกฎาคม |
บุญเข้าพรรษา มีการแห่เทียนพรรษาเข้าวัด |
กันยายน |
บุญวันสารท (ทำบุญให้ผู้ล่วงลับ) |
ตุลาคม |
บุญวันออกพรรษา เทศน์มหาชาติ |
พฤศจิกายน |
บุญกฐิน |
จากแผนพัฒนาหมู่บ้านดอนม่วงปี 2566 ระบุข้อมูลที่ได้จากการสำรวจและรวบรวมรายชื่อปราชญ์ชาวบ้านและผู้มีความรู้/ภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชน จำนวน 5 คน ดังนี้
- พ่อบุญตา ดอนทิพย์ไพร มีความสามารถพิเศษด้านสมุนไพรที่ใช้ในการรักษาโรคภัยต่างๆ เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต และสมุนไพรที่ใช้บำรุงร่างกาย เป็นต้น พ่อบุญตาได้เรียนรู้และรับเอาความรู้นี้มาจากหมอสมุนไพรในอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เมื่อครั้งที่ตนเองป่วยเป็นอัมพฤกษ์แล้วได้กินยาต้มสมุนไพรของหมอสมุนไพรคนนี้แล้วหายจากโรค ทำให้ตนเห็นความสำคัญของการรักษาสืบทอดสูตรยาต้มสมุนไพรไว้ จึงได้ยกครูขอเป็นลูกศิษย์กับหมอสมุนไพร เมื่อได้สูตร ส่วนประกอบ และวิธีการทำครบถ้วนแล้ว พ่อบุญตาจึงได้นำความรู้ที่ได้มารักษาคนในชุมชนต่อไป
- นายสุรินทร์ ศิริอ่อน และนางอุบล ใจโอด มีความรู้และประสบการณ์การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ กระทั่งสามารถเผยแพร่ความรู้ เทคนิค วิธีการ ให้แก่บุคคลทั้งภายในและภายนอกชุมชนที่เข้ามาศึกษาดูงานทั่วทั้งจังหวัดพิษณุโลก ส่งผลให้หมู่บ้านดอนม่วงเป็นหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงของจังหวัดพิษณุโลกในปี 2549 ได้รับรางวัลผู้ใหญ่บ้านยอดเยี่ยมเมื่อปี 2547 และนางอุบล ใจโอด ได้รับคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่นสาขาบัญชีฟาร์ม เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในวันพืชมงคล ณ พลับพลาที่ประทับมณฑลพิธีสนามหลวง 13 พฤษภาคม 2554 และได้รับรางวัลแทนคุณแผ่นดินประจำปี 2554 ที่เครือเนชั่นกรุ๊ปจัดขึ้นเชิดชูบุคคลที่ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม 76 จังหวัดทั่วประเทศ (พิษณุโลกฮอตนิวส์, 2554)
- นายเมธี ลาสูง มีความสามารถพิเศษด้านกล้าโยนในนาข้าว โดยได้เรียนรู้ด้วยตนเองและมีการศึกษาเพิ่มเติมจากศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากชุมชน
- นายอารมณ์ ใจโอด มีความสามารถพิเศษด้านพิธีกรรมทางพุทธศาสนา โดยจะเป็นผู้นำและผู้จัดเตรียมและดำเนินพิธีกรรมร่วมกับพระสงฆ์ในวัดศรีโสภณซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้านในเวลาที่ต้องจัดพิธีกรรมทางศาสนา
- หมู่บ้านดอนม่วงมีการส่งเสริมให้ประชาชนปลูกผักปลอดสารพิษเพื่อลดรายจ่ายของครัวเรือน ส่วนในด้านการผลิต เพื่อทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น หมู่บ้านส่งเสริมให้ชุมชนปรับปรุงหน้าดินด้วยปุ๋ยชีวภาพและปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและความเสี่ยงที่มีต่อสุขภาพผู้ผลิตและผู้บริโภค
- ชุมชนมีเกษตรกรที่ใช้การเกษตรแนวใหม่ ได้แก่นายสุรินทร์ ศิริอ่อน และนางอุบล ใจโอด ที่ได้นำเทคนิค วิธีการ ให้แก่บุคคลทั้งภายในในการดำเนินการ อีกทั้งหมู่บ้านยังเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับคนนอกนอกชุมชน ส่งผลให้หมู่บ้านดอนม่วงเป็นหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงของจังหวัดพิษณุโลกในปี 2549
- หมู่บ้านมีการจัดตั้งศูนย์ป้องกันยาเสพติดและได้รับกองทุนแม่ของแผ่นดิน ซึ่งทรงริเริ่มโดยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในปีพ.ศ. 2546 โดยมอบทุนทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของประชาชนที่อาสาร่วมป้องกันยาเสพติดของหมู่บ้านชุมชน ผ่านสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) จนต่อมาป.ป.ส. จึงได้จัดสรรงบประมาณสมทบและตั้งเป็น “กองทุนแม่ของแผ่นดิน” (กองทุนแม่ของแผ่นดิน, ม.ป.ป.)
ชุมชนบ้านดอนเมืองได้ทำกิจกรรมจากกองทุนแม่ของแผ่นดินเพื่อป้องกันยาเสพติดที่ระบุในเว็บไซต์ “บ้านดอนม่วง หมู่ที่ 10 ตำบลวังทอง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก” โดยมีรายละเอียดดังนี้
- จัดตั้งศูนย์อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ประจำหมู่บ้าน 1 แห่ง
- ประชุมประจำเดือนชี้แจงปัญหายาเสพติดทุกเดือน
- จัดเวรยามเฝ้าระวังทุกเดือน
- จัดตั้งคณะกรรมการกองทุนแม่ของแผ่นดินเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดในหมู่บ้านโดยเลือกสมาชิก 1 คนต่อ 4 ครัวเรือน
- จัดตั้งประชาคมคัดกรองผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด 2 เดือนต่อครั้ง
- ดำเนินการรับสมัครสมาชิกกองทุนแม่ของแผ่นปีละ 1 ครั้ง
- จัดกิจกรรมวันพ่อแห่งชาติและวันแม่แห่งชาติเพื่อแสดงความจงรักภักดีประจำทุกปี
- จัดกิจกรรมหาทุนเข้าสมทบกองทุนแม่ของแผ่นดิน ปีละ 1 ครั้ง
ภาษาที่ใช้กันในหมู่บ้านดอนม่วงคือภาษาไทยภาคกลาง โดยส่วนหนึ่งมีสำเนียงแปร่งไปทางภาษาเหนือ และอีกส่วนหนึ่งมีสำเนียงแปร่งไปทางภาษาอีสาน
เนื่องจากหมู่บ้านเป็นทางผ่านในการสัญจรไปมาระหว่างหมู่บ้านอื่นๆ ทำให้ยากต่อการควบคุมดูแลการเข้ามาของยาเสพติด
ด้านการผลิตในภาคเกษตร เนื่องด้วยราคาปัจจัยการผลิตที่มีราคาขึ้นลงไม่แน่นอน โดยเฉพาะราคาปุ๋ยและยา ทำให้การลงทุนการผลิตคาดการณ์ยาก และอาจขาดทุนในบางปี ตลอดจนปัญหาดินที่เสื่อมสภาพและขาดความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากการผลิตมีความต่อเนื่องและขาดการพักหน้าดินเพื่อให้ดินฟื้นฟูสภาพ
การคมนาคมไม่สะดวก เนื่องด้วยถนนที่ผ่านการใช้งานจนทรุดโทรมและไม่ได้ปรับปรุง และเป็นหมู่บ้านที่มีเส้นทางสัญจรไปมาหรือเชื่อมต่อไปยังหมู่บ้านอื่น จึงทำให้เกิดการใช้ถนนมากเป็นพิเศษ ส่งผลต่อการเสื่อมสภาพของถนนอย่างรวดเร็ว ชุมชนต้องการพัฒนาถนนบางจุดเพื่อสร้างการสัญจรและคมนาคมที่สะดวกขึ้น
ผู้ใหญ่บ้านดอนม่วง. (2566). แผนพัฒนาหมู่บ้านดอนม่วง หมู่ที่ 10 ต.วังทอง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก. พิษณุโลก: คณะกรรมการหมู่บ้านดอนม่วง.
กองทุนแม่ของแผ่นดิน. (ม.ป.ป.). ประวัติความเป็นมากองทุนแม่ของแผ่นดิน (วันที่ 25 พฤศจิกายน 2546). เข้าถึงข้อมูลจาก https://www.kongtunmae-oncb.go.th/detail_57/detail_1.php
พิษณุโลกฮอตนิวส์. (2554, 16 พฤศจิกายน). อยู่แบบพอเพียง”อุบล ใจโอด. สืบค้น 30 สิงหาคม 2567, เข้าถึงข้อมูลจาก https://www.phitsanulokhotnews.com/2011/11/16/7120
เว็บไซต์ “บ้านดอนม่วง หมู่ที่ 10 ตำบลวังทอง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก”. (ม.ป.ป.). เข้าถึงข้อมูลจาก https://donmaung10.wordpress.com/
สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์พิษณุโลก. (2554, 16 ธันวาคม). อตส.ลงพื้นที่เยี่ยมเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาบัญชีฟาร์ม ประจำปี 2554 ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก. เข้าถึงข้อมูลจาก https://phitsanulok.cad.go.th/ewt_news.php?nid=20&filename=index
อาทิตย์ อินคำ, สัมภาษณ์, 23 สิงหาคม 2567
บุญตา ดอนทิพย์ไพร, สัมภาษณ์, 23 สิงหาคม 2567