บ้านตะโหนด มีรูปแบบวิธีการทำนาแบบพิเศษที่มีความแตกต่างจากการทำนาทั่วไป เรียกว่า "นาพรุ" ซึ่งต้องเลือกสรรพันธุ์ข้าวที่ใช้สำหรับนาพรุเป็นการเฉพาะ
มีคำบอกเล่าว่ามาจาก 2 กรณี คือ
กรณีแรกมาจากชื่อของสามีภรรยาคู่หนึ่งที่เข้ามาบุกเบิกที่ทำกินในพื้นที่ สามีชื่อ “นายตาล” ภรรยาชื่อ “นางโหนด” รวมกันเป็น “ตาลโหนด” และนานวันเข้าเกิดการออกเสียงผิดเพี้ยนเป็น “ตะโหนด”
กรณีที่สองมาจากลักษณะทางกายภาพของชุมชนมีต้นตาลโตนดขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงเรียกชื่อหมู่บ้านตามลักษณะทางกายภาพของพื้นที่
บ้านตะโหนด มีรูปแบบวิธีการทำนาแบบพิเศษที่มีความแตกต่างจากการทำนาทั่วไป เรียกว่า "นาพรุ" ซึ่งต้องเลือกสรรพันธุ์ข้าวที่ใช้สำหรับนาพรุเป็นการเฉพาะ
บ้านตะโหนดเป็นเขตกลุ่มหมู่บ้าน ประกอบด้วย 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านตะโหนด บ้านกูโบร์ บ้านดือแยหะยี และบ้านปอเนาะ ทั้ง 4 หมู่บ้านนี้เรียกรวมกันว่า “กลุ่มบ้านตะโหนด” บ้านตะโหนดในอดีตอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าเมือง “รือมัญ” เจ้าเมืองได้ขยายพื้นที่ทำกินมาบริเวณบ้านตะโหนด โดยสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการทำนา ในลักษณะทำนบเก็บน้ำจากคลองรูมุ สำหรับทำนาในพื้นที่ร้อยกว่าไร่ การทำนาได้เกณฑ์กำลังคนจากหมู่บ้านที่อยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าเมืองรือมัญ ซึ่งคนเหล่านี้เป็นกลุ่มผู้ติดตามของเจ้าเมืองระหว่างออกเดินทางเที่ยวป่า เช่น บ้านลีเซ็ง บ้านตะโล๊ะมูดู บ้านบือเจาะ และหมู่บ้านอื่น ๆ ซึ่งคนเหล่านี้เป็นกลุ่มผู้ติดตามของเจ้าเมืองระหว่างออกเดินทางเที่ยวป่า บ้านตะโหนดปรากฏหลักฐานว่าเป็นพื้นที่ที่คนงานทำนาของเจ้าเมืองรือมัญเคยอาศัยอยู่ สถานที่นี้เรียกว่า “สวนดูชง” ซึ่งเกิดจากการกินและทิ้งเมล็ด ทำให้มีต้นดูชงงอกขึ้นมาเองเป็นจำนวนมาก
“กลุ่มบ้านตะโหนด” มีประวัติความเป็นมาและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในชุมชนหลายเหตุการณ์ ดังจะกล่าวเป็นข้อ ๆ ต่อไปนี้
การก่อตั้งบ้านตะโหนดโดยวงศ์ตระกูล “โต๊ะกูแช” และ “ชัยยิดซามะและแชนะห์”
ตามตำนานการก่อตั้งบ้านตะโหนด เล่าว่าบ้านตะโหนดอาจถูกก่อตั้งจากคน 2 ตระกูล ได้แก่ วงศ์ตระกูล “โต๊ะกูแช” และวงศ์ตระกูล “ชัยยิดซามะและแชนะห์”
“โต๊ะกูแช” หมายถึง “ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องช้าง” ตามประวัติศาสตร์ตำนานเจ้าเมืองรือมัญ (ราญอรือมัญ) ได้ขายช้างส่งออก ซึ่งการจับช้างเพื่อขายส่งออกจะต้องอาศัยโต๊ะกูแช จึงอาจบ่งบอกได้ว่าเจ้าเมืองรือมัญและโต๊ะกูแชมีความสนิทชิดเชื้อกันในระดับหนึ่ง ซึ่งปรากฏร่องรอยหลักฐานว่าตระกูลโต๊ะกูแชคือคนกลุ่มแรกที่เข้ามาบุกเบิกสร้างที่อยู่อาศัยในบริเวณบ้านตะโหนดก่อนการเข้ามาสร้างพื้นที่ทำกินของเจ้าเมืองรือมัญ
“ชัยยิดซามะ” แต่เดิมคือลูกเจ้าเมืองรัฐเคดาห์ ต่อมาเกิดสงครามแย่งชิงอำนาจในเมือง ซัยยิดซามะและพี่ชายจึงได้หลบหนีออกจากเมืองมาอาศัยอยู่กับเจ้าเมืองรือมัญที่บ้านลีเซ็ง ซัยยิดซามะแต่งงานกับลูกสาวบ้านลีเซ็ง มีลูกชื่อ “ดะห์ยอ” ดะห์ยอแต่งงานกับลูกสาวแชนะห์ (คนงานทำนาข้าวของเจ้าเมืองรือมัญ) ต่อมา “ราญอจาแว” รุ่นหลานของเจ้าเมืองรือมัญได้แต่งงานกับ “ราญอปูแว” ลูกพี่ลูกน้องของแชนะห์ ดังนั้นซัยยิดซามะและแชนะห์จึงเป็นอีกวงศ์ตระกูลที่มีความใกล้ชิดกับเจ้าเมืองรือมัญ และมีบทบาทในการขอพื้นที่ทำบูโกร์ในชุมชนบ้านตะโหนด และนำคนอาเล็มมาสอนศาสนาอิสลามในชุมชน
การเป็นชุมนุมชุมทาง
มีตำนานเล่าว่าในอดีตบ้านตะโหนดเป็นทางผ่านและที่พักของคณะนักเดินทางติดตามหาช้างเผือกงาสีดำที่หลุดออกมา ระหว่างเดินทางคณะผู้เดินทางเกิดล้มป่วยและเสียชีวิตลงถึง 6 คน และเมื่อเดินทางมาพบช้างเผือกที่บ้านโต๊ะแนปา หนึ่งในคณะผู้เดินทางชื่อ “โต๊ะแนปา” ก็ล้มป่วยและเสียชีวิตลง ซึ่งเป็นคณะผู้เดินทางรายที่ 6 ที่เสียชีวิตระหว่างเดินทาง สมาชิกในกลุ่มได้ฝังศพโต๊ะแนปาไว้ ณ ที่แห่งนั้น อันเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน “โต๊ะแนปา” ส่วนศพคณะนักเดินทางอีก 5 ราย ที่เสียชีวิตก่อนหน้านั้นได้ฝังศพไว้บริเวณบ้านตะโหนดดังปรากฏร่องรอยในปัจจุบัน
ตำนานเรื่องที่สองมีชื่อว่า “เมาะแซกดูแว” เป็นเรื่องเล่าปรัมปราว่าเมาะแซกดูแวมีลักษณะคล้ายคนแต่ไม่ใช่คน ตัวใหญ่เหมือนยักษ์ ตั้งที่อยู่อาศัยอยู่บริเวณเชิงเขา ห่างจากหมู่บ้านตะโหนดประมาณ 4 กิโลเมตร ปรากฏร่องรอยที่อยู่อาศัยมีลักษณะเหมือนดาบบนแผ่นหิน วันหนึ่งเมาะแซกดูแวทราบข่าวว่ามีมนุษย์มาบุกรุกพื้นที่ทำกินของเขาจึงไปแอบดู เกิดเข้าใจผิดว่ามนุษย์นั้นมีขนาดตัวใหญ่มหึมากว่าตน และอาจทำอันตรายแก่ตัวเขาได้ จึงอพยพหนีไปตั้งบ้านเรือนที่อื่น ในบ้านตะโหนดมีร่องรอยซึ่งคาดว่าเคยเป็นที่อยู่อาศัยของเมาะแซกดูแว ดินในบริเวณนั้นมีสีดำสนิท ซึ่งเชื่อว่าเป็นดินสีดำที่เกิดจากการเผาที่อยู่อาศัยเพื่ออพยพหนีมนุษย์
ตำนานที่สามกล่าวถึงการเดินทางเข้ามาสอนศาสนาอิสลามของชาวอินเดีย (ชาวอาเล็ม) ซึ่งคาดว่าเข้ามาที่บ้านตะโหนดด้วย
การย้ายถิ่นฐานจากที่อื่น
ในอดีตมีชาวอาเล็มเดินทางเข้ามาเผยแผ่ศาสนาในแถบภาคใต้ แต่เนื่องจากบ้านตะโหนดเป็นพื้นที่ห่างไกลความเจริญจึงขาดชาวอาเล็มเข้ามาสอนและเป็นผู้นำศาสนา เจ้าเมืองจึงได้เชิญโต๊ะซาฆาห์ ซึ่งเป็นผู้รู้ทางศาสนาจากบ้านกะดูนงตาโมง จังหวัดปัตตานี เข้าอาศัยในฐานะผู้นำศาสนาของหมู่บ้าน และได้แต่งงานกับลูกสาวชาวบ้าน เป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์และได้รับความเคารพจากผู้คนในหมู่บ้านตะโหนด จนเกิดการก่อตั้งชุมชนแห่งใหม่แยกออกไป แต่ไม่ไกลจากบ้านตะโหนด
การเกิดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง
ในเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง ชาวบ้านเรียกว่า “สงครามญี่ปุ่น” กองทัพญี่ปุ่นทิ้งระเบิดโจมตีเหมืองแร่ที่เป็นสัมปทานของอังกฤษที่บ้านแบหอ จังหวัดยะลา แต่พลาดเป้าไปโดนชาวบ้านเสียชีวิต และบ้านเรือนเกิดความเสียหาย สร้างความหวาดกลัวให้กับชาวบ้านตะโหนดเป็นอย่างมาก ฉะนั้นในตอนกลางคืนจะไม่มีการจุดไฟและไม่นอนบนบ้าน เนื่องจากเป้าหมายการโจมตีของกองกำลังญี่ปุ่นจะดูจากแสงไฟ นอกจากนี้ยังมีการจับชาวบ้านเป็นเชลยเพื่อเกณฑ์ไปสร้างทางรถไฟที่ชุมพร ชาวบ้านจึงหลบหนีไปซ่อนตัวในป่า และสร้างกระท่อมเล็ก ๆ เป็นที่พักอาศัยในเวลากลางคืน
ขบวนการแบ่งแยกดินแดน
เนื่องจากบ้านตะโหนดมีภูมิประเทศล้อมรอบด้วยภูเขา เหมาะสำหรับใช้เป็นศูนย์กลางและการเคลื่อนไหวของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ในสมัยนั้นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเข้าไปมีบทบาทในการควบคุมวิถีชีวิตของชาวบ้าน เช่น เรียกร้องให้มีการละหมาด 5 เวลา ถือศีลอด ยับยั้งผู้มีอิทธิพลที่เข้ามารังแกชาวบ้าน และยื่นมือเข้าช่วยเหลือเมื่อชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น ด้านนโยบายของรัฐเพื่อยับยั้งอิทธิพลที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนมีต่อชาวบ้าน ได้เกณฑ์คนเพื่อเป็นอาสาสมัครป้องกันหมู่บ้าน (อส.) ที่น้ำตกปาโจ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส บางคนไม่อยากไปจนยอมหนีออกจากหมู่บ้าน หรือไปเข้าร่วมกลุ่มแบ่งแยกดินแดนก็มี ในขณะเดียวกันก็มีการตอบโต้กันอย่างหนักระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน รัฐต้องการจับกุมกวาดล้างชาวบ้านที่ทำหน้าที่เป็นสายให้กลุ่มแบ่งแยกดินแดน เข้าจับกุมและทำร้ายร่างกายประชาชนที่มีบ้านอาศัยอยู่อยู่บริเวณป่าท้ายหมู่บ้านซึ่งเป็นที่ทำกินของชาวบ้าน ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการอุกอาจต่อประชาชน ชาวบ้านบางรายถูกอุ้มหาย จับเผาทั้งเป็น จึงได้ตกลงใจย้ายที่อยู่อาศัยมาสร้างบ้านติดถนนที่บ้านดือแยหะยี
สภาพภูมิประเทศของบ้านตะโหนด ตำบลสุวารี อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส มีลักษณะเป็นที่ราบสูง ล้อมรอบด้วยภูเขาน้อยใหญ่ ทรัพยากรป่าไม้อุดมสมบูรณ์ สภาพดินโดยทั่วไปเป็นดินร่วนปนทราย สภาพภูมิอากาศมีลักษณะแบบมรสุม 2 ฤดูกาล ได้แก่ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม-เดือนมิถุนายน และฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-เดือนกุมภาพันธ์ มีพรุหรือบาโระ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำให้คนในหมู่บ้านได้ใช้ประโยชน์ มีมัสยิดอัรเราะห์มานียะห์ ศาสนสถานสำคัญประจำชุมชน และตาดีกานะห์ฎอตุลอัฏฟาลศูนย์การเรียนรู้อิสลามประจำมัสยิดอัรเราะห์มานียะห์ เป็นสถานที่สำคัญประจำชุมชน
มัสยิดอัรเราะห์มานียะห์ ศาสนสถานสำคัญของชาวมุสลิมบ้านตะโหนด สำหรับปฏิบัติศาสนกิจเพื่อแสดงความภักดีต่อพระเจ้า เช่น การละหมาด การอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน ฯลฯ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางกิจกรรมของชุมชน เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ในแนวทางของศาสนา อีกทั้งยังเป็นศูนย์ประชุมชุมชนเนื่องในวาระโอกาสต่าง ๆ อีกด้วย
ตาดีกานะห์ฎอตุลอัฏฟาล หรือศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิดอัรเราะห์มานียะห์ เป็นศูนย์การศึกษาที่ทำหน้าที่สำคัญในการอบรมสั่งสอนบุตรหลานหรือผู้อยู่ในปกครองให้มีความรู้ความเข้าใจและปฏิบัติตามหลักการศาสนาอิสลาม โดยใช้พื้นที่และอาคารในบริเวณมัสยิดอัรเราะห์มานียะห์ มีอิหม่ามหรือผู้มีความรู้ในท้องถิ่นทำหน้าที่สอน
ประชากรบ้านตะโหนดเป็นกลุ่มชาวไทยมุสลิม จากข้อมูลปี 2564 ระบุว่าบ้านตะโหนด ตำบลสุวารี อำเภอรือเสาะ นราธิวาส มีประชากรทั้งสิ้น 771 คน 294 ครัวเรือน ชาวบ้านในชุมชนมีความสัมพันธ์ที่ผูกพันแน่นแฟ้น เนื่องจากมีการแต่งงานภายในเครือญาติเดียวกัน
มลายูชาวมุสลิมบ้านตะโหนดมีสถานที่ซึ่งเป็นสถานที่นัดรวมตัวพบปะกันของคนในชุมชนคือมัสยิด มัสยิดกับชุมชนชาวมุสลิมนั้นนับว่าเป็นสิ่งที่มิอาจแยกขาดจากกันได้ ชาวมุสลิมจะต้องทำการละหมาดถึง 5 ครั้ง ต่อวัน ทำให้มัสยิดไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์รวมของชุมชนด้วย คือ เป็นทั้งสถานศึกษา สถานที่สำหรับร่วมแสดงความคิดเห็น และสถานที่สำหรับพึ่งพิงทางจิตใจ นอกจากมัสยิดแล้ว ร้านน้ำชายังเป็นอีกหนึ่งสถานที่ปรากฏในทุกชุมชนชาวมุสลิม ชาวมุสลิมมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับร้านน้ำชาตั้งแต่วัยเยาว์จนกระทั่งแก่เฒ่า กล่าวได้ว่าร้านน้ำชาไม่ใช่เพียงที่พบปะสังสรรค์ พูดคุยไถ่ถามสารทุกข์ หากหมายรวมถึงเป็นสัญลักษณ์ที่ผู้คนใช้สื่อสารถึงเหตุการณ์บ้านเมือง สำหรับชาวมุสลิมแล้วหากบุคคลใดไม่เคยไปนั่งที่ร้านน้ำชาจะถือว่าบุคคลนั้นเป็นบุคคลจำพวกไม่มีสังคม และไร้พวกพ้องคบหา
ชาวมุสลิมบ้านตะโหนดมีการประกอบอาชีพที่สอดคล้องกับลักษณะทางกายภาพของชุมชน เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศของบ้านตะโหนดเป็นพื้นที่ป่าและถูกล้อมรอบไปด้วยภูเขา ชาวบ้านตะโหนดจึงมีป่าเป็นที่พึ่งสำคัญในการหล่อเลี้ยงชีวิต มีการทำนา ทำไร่ และหาของป่าเป็นอาชีพหลัก
เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศของบ้านตะโหนดเป็นพื้นที่ป่า ล้อมรอบไปด้วยภูเขา ชาวบ้านตะโหนดจึงมีวิถีการดำเนินชีวิตโดยมีป่าเป็นที่พึ่งสำคัญในการสร้างปัจจัยสี่ ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ล้วนแล้วแต่เป็นผลผลิตที่ได้รับมาจากป่าทั้งสิ้น
ชุมชนบ้านตะโหนดเป็นชุมชนมุสลิมที่ประชากรในชุมชนนับถือศาสนาอิสลาม ยังคงปฏิบัติตนตามหลักศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด ทว่าก่อนหน้าการเข้ามาของศาสนาอิสลาม ชาวมุสลิมชุมชนบ้านตะโหนดยังคงมีความเชื่อ และนับถือผี ใช้ชีวิตกินอยู่ในป่า มีการกราบไหว้ก้านมะพร้าวหรือตาลโตนดในพิธีเข้าสุนัต การขึ้นเสาเอกในการสร้างบ้านจะผูกเสาเอกด้วยอ้อย เคารพดวงอาทิตย์เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้า (ซาฮาดะบูลูบาแล) แต่ในปัจจุบันคนในชุมชนเริ่มมีความรู้มากขึ้น พิธีกรรมต่าง ๆ ที่ขัดกับหลักศาสนาก็เริ่มเลือนหายไป
อย่างไรก็ตาม ในชีวิตประจำวันของชาวชุมชนตะโหนด ยังคงปรากฏความเชื่อ ศรัทธา และให้ความเคารพนับถือเจ้าที่เจ้าทาง บูชาผีบรรพบุรุษ ตลอดจนการเลี้ยงผีไว้ใช้งาน การนับถือผีเจ้าที่เจ้าทาง เป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นเป็นประจำในชีวิตประจำวันของชาวมุสลิมชุมชนตะโหนด เช่น การหาที่อยู่อาศัย การทำนา ทำไร่ การหาของป่า ทุกครั้งจะมีการขอขมาเจ้าที่เจ้าทาง
การนับถือผีบรรพบุรุษประจำวงศ์ตระกูล เช่น มีสีประจำวงศ์ตระกูล มีเชือกผูกเอว คอ เอว สายสะพาย มีทรงผมเด็กอายุก่อน 15 ปี มีการสืบสานขนบ จารีต และธรรมเนียมของวงศ์ตระกูล สีประจำวงศ์ตระกูล หมายถึง สีที่ต้องนำมาใช้ในกรณีต่าง ๆ เช่น เด็กแรกเกิด จะมีการใช้ผ้าซึ่งเป็นสีประจำตระกูลมาห่อตัวเด็ก และมีการทำสำรับข้าวเหนียวด้วยสีประจำตระกูลเพื่อเป็นการเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ, งานแต่งงาน ในวันแต่งงานสีของชุดที่เจ้าสาวสวมเป็นชุดแรก จะต้องเป็นสีประจำตระกูล และทำสำรับข้าวเหนียวเซ่นไหว้บรรพบุรุษ, การจัดงานเข้าสุนัต ในวันที่สองของงานจะมีการจัดเดินขบวนช้าง โดยจะต้องใช้ผ้าสีประจำตระกูลผูกธง, การขึ้นบ้านใหม่ จะประดับตกแต่งบ้านด้วยสีประจำตระกูล และทำสำรับข้าวเหนียวเพื่อเซ่นไหว้บรรพบุรุษ
ทุนกายภาพ
การทำไร่ของชาวบ้านตะโหนดเป็นการทำไร่ข้าว โดยปลูกคู่กับพืชชนิดอื่น เช่น ข้าวโพด แตงกวา ฟักทอง พริก มะเขือ เผือก มัน ส่วนการทำนาของชาวบ้านตะโหนดนั้นจะมีความแตกต่างจากการทำนาทั่วไป เรียกว่า “นาพรุ” การทำนาพรุจะต้องเลือกสรรพันธุ์ข้าวที่ใช้สำหรับนาพรุเท่านั้น และจะต้องคัดพันธุ์ข้าวให้ทันต่อเวลาเก็บเกี่ยว พันธุ์ข้าวที่นิยมสำหรับนาพรุ เช่น พันธุ์เมาะมะโดะ พันธุ์จือปอ พันธุ์กือรายี และพันธุ์ช่อ การหาพื้นที่หว่านเมล็ดพันธุ์ จะต้องเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์และแสงแดดส่องถึง แต่หากมีแสงแดดมากเกินไปจะทำให้ข้าวขึ้นได้ไม่สูง อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงปริมาณน้ำในพรุให้พอเหมาะกับการลงข้าว หากลงพันธุ์ข้าวแล้วแต่น้ำในพรุมากเกินไป จะต้องทำการเปิดทำนบเพื่อระบายน้ำในพรุออกเสียก่อน เมื่อได้ปริมาณที่พอเหมาะจึงนำต้นข้าวลงมาดำในพรุ แล้วสังเกตระดับน้ำอีกครั้งหนึ่ง หากน้ำอยู่ในระดับที่สมควรต่อการเจริญเติบโตของต้นกล้าจึงจะทำการปิดทำนบ เมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ชาวบ้านจะเตรียมตาแม เรือ ตือแรเนาะ เพื่อป้องกันฝนและแดด และเมื่อนำข้าวมาเก็บในยุ้งข้าว จะเชิญผู้นำทางศาสนามาขอพรเรียกขวัญข้าว (สมางัตปาดี) การทำนาพรุจะอาศัยการดูดาว เรียกว่า “แตเงาะกือตีกอ” เพื่อคำนวณเวลาฤดูกาลลงข้าว
บ้านตะโหนดมีการแปรรูปอาหารที่ได้ผลผลิตจากป่าส่งออกจำหน่ายนอกชุมชน ได้แก่ กลอย ลูกชิด และลูกหยี
กลอยในภาษาถิ่น เรียกว่า “กาญิง” หรือ “กาดง” กลอยเป็นพืชมีพิษ ก่อนจะนำมาแปรรูปจะต้องทำการล้างพิษโดยฝานเป็นชิ้นบาง ๆ นำมาแช่น้ำเกลือ 3 วัน แล้วนำไปแช่น้ำไหล (เช่น น้ำคลอง) อีก 2-3 วัน จึงจะสามารถนำมาต้มหรือนึ่งได้
ลูกชิด เป็นพืชตระกูลปาล์มขึ้นตามป่า ภาษาถิ่นเรียก “ตาว หรือ ต๋าว” ส่วนที่นำมาเป็นอาหารคือผลอ่อน การเก็บลูกชิดต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก เนื่องจากยางของลำต้นมีพิษทำให้เกิดอาการคันอย่างรุนแรง ส่วนลูกชิดที่เก็บมาจะต้องเผาไฟให้ยางแห้ง แล้วน้ำมาบิดใส่ภาชนะบรรจุน้ำเย็น ภาษาถิ่นเรียกว่า “กาบง”
ลูกหยี เดิมทีเป็นไม้ยืนต้นที่ขึ้นอยู่บนภูเขา แต่เนื่องจากลูกหยีมีราคาค่อนข้างสูง จึงเป็นพืชที่นิยมปลูกอย่างมาก
นอกจากนี้ บ้านตะโหนดยังมีพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ มะพร้าว และยางพารา สำหรับมะพร้าวแรกเริ่มนั้นปลูกเพื่อใช้ในประเพณีพิธีกรรม เช่น เมื่อให้กำเนิดลูกจะไปปลูกต้นมะพร้าวหนึ่งต้นเพื่อให้เป็นคู่ชีวิตตามความเชื่อ ต่อมาเริ่มมีกระแสจากภายนอกว่าลูกมะพร้าวจะมีราคาแพง ชาวบ้านตะโหนดจึงเริ่มหันมาทำสวนมะพร้าวมากขึ้น ส่วนยางพาราเป็นพืชที่นำมาจากภายนอกโดยชาวอังกฤษนำมาปลูกที่บูเกะคละ นราธิวาส ขยายพื้นที่มาถึงบูเกะลูแวะหอ อำเภอรือเสาะ จนมาถึงบ้านตะโหนด ตำบลสุวารีในที่สุด
ทุนวัฒนธรรม
วัฒนธรรมการกิน
ชาวบ้านตะโหนดนิยมบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก แต่ในยามขาดแคลนอาหารจะนิยมบริโภคพืชมีหัวใต้ดิน ได้แก่ มันนก มันกาโซ มันซาไก หัวบุก กลอย ลูกเนียงแก่ ลูกสะบ้า ลูกปากูฮาญี และลูกชิด
ในชุมชนชาวมุสลิมมีอาหารประเภทหนึ่งเรียกว่า “โบ๊ะแบ” เป็นอาหารชนิดหนึ่งที่มีส่วนประกอบจากผลไม้หลากชนิด ได้แก่ ลูกพลา ขนุนอ่อน ชมพู่อ่อน มะม่วงหิมพานต์ ลูกหว้า มะเฟือง มะไฟ มะม่วงอ่อน หรือผลไม้ชนิดอื่นตามฤดูกาล นำมาซอยเป็นชิ้นเล็ก โขลกในครก เติมเกลือ พริก และน้ำบูดู รับประทานเป็นอาหารว่าง
ภาษาพูด : ภาษามลายู
ภาษาเขียน : อักษรยาวี
บ้านตะโหนด ตำบลสุวารี อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส อยู่ในเขตความไม่สงบสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชนในพื้นที่ประสบกับปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อันมีสาเหตุมาจากการตอบโต้กันอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มขบวนการแบ่งแยกแผ่นดิน รัฐบาลได้ออกมาตรการ นโยบาย และกฎหมายต่าง ๆ เพื่อกำกับควบคุมพฤติกรรมของประชาชน ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ถูกจำกัดขอบเขตในการดำเนินชีวิต ซึ่งนโยบาย หรือกฎหมายข้อบังคับต่าง ๆ ที่ออกมาเพื่อควบคุมความสงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐมากเกินไป เจ้าหน้าที่มีอิสระที่จะปฏิบัติและกระทำการเช่นใดกับประชาชนย่อมได้ทั้งสิ้น บางครั้งมีการเข้าจับกุมผู้ต้องสงสัยว่าก่อความไม่สงบ ใช้กำลังเข้าปิดล้อมตรวจค้น และจับกุมคนในพื้นที่ไปให้ปากคำ แล้วกระทำทารุณกรรมทั้งทางกายและศาสนาเพื่อให้ผู้ต้องสงสัยยอมรับสารภาพ ชาวบ้านบางรายถูกอุ้มหาย จับเผาทั้งเป็น เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่อยู่บ่อยครั้ง ทำให้ชาวมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน อีกทั้งยังเกิดความหวาดกลัว รู้สึกถึงความอยุติธรรม และไม่เท่าเทียม อันเนื่องมาจากความล้มเหลวของนโยบายที่แข็งกร้าวเพื่อใช้ควบคุมพฤติกรรมและวิถีชีวิตของชาวมุสลิม และการใช้อำนาจที่เกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่รัฐ
เนื่องจากการทำนาพรุมีความเสี่ยงเกิดน้ำท่วมสูง ปัจจุบันชาวบ้านตะโหนดจึงไม่นิยมทำนาพรุแล้ว อีกทั้งพันธุ์ข้าวสำหรับทำนาพรุยังหายากและน้ำในพรุไม่มี ชาวบ้านจึงได้เปลี่ยนวิถีชีวิตมาเป็นการทำสวนยางและสวนผลไม้แทน และชาวบ้านบางครัวเรือนยังได้ปรับเปลี่ยนนาพรุเป็นบ่อขนาดใหญ่เพื่อเลี้ยงปลา
มะอีซอ โซะมะดะ สะแม ซิมา งามพล จะปะกิยา และคณะ. (2549). การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศวัฒนธรรม ในเขตเชิงเขาบูโด-สันกาลาคีรี กรณีศึกษาบริเวณบ้านตะโหนด อำเภอรือเสาะ และอำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส. โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อศึกษาท้องถิ่นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้.
บุญเอื้อ บุญฤทธิ์. (2556). การก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กับอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ และพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ. วารสารเกษมบัณฑิต, 14(2), 55.