Advance search

ปาโละ

เต็มไปด้วยนาข้าว ยืนยาวต้นยางพารา พึ่งพาเศรษฐกิจพอเพียง

หมู่ที่ 3
บ้านปาโล๊ะ
บาโงย
รามัน
ยะลา
อบต.บาโงย โทร. 0-7325-1322
อับดุลเลาะ รือสะ
22 ก.พ. 2023
นิรัชรา ลิลละฮ์กุล
24 มี.ค. 2023
อับดุลเลาะ รือสะ
27 เม.ย. 2023
บ้านปาโล๊ะ
ปาโละ

ชื่อหมู่บ้าน "ปาโล๊ะ" หมายถึง ที่เก็บข้าว ด้วยพื้นที่ในหมู่บ้านเป็นที่ราบลุ่มเหมาะสำหรับการทำนา ประกอบกับดินที่นี่มีคุณภาพ ซึ่งสมัยก่อนเจ้าเมืองโกตาบารูได้ให้คนสร้างปาโล๊ะ (ที่เก็บข้าวและทุกคนในละแวกหมู่บ้านได้เรียกหมู่บ้านนี้ว่า "ปาโละ" และปัจจุบันนี้กลายมาเป็น "ปาโล๊ะ"


ชุมชนชนบท

เต็มไปด้วยนาข้าว ยืนยาวต้นยางพารา พึ่งพาเศรษฐกิจพอเพียง

บ้านปาโล๊ะ
หมู่ที่ 3
บาโงย
รามัน
ยะลา
95140
6.470488331
101.3502757
องค์การบริหารส่วนตำบลบาโงย

คำว่า "ปาโล๊ะ" เป็นภาษามลายูถิ่น ซึ่งหมายถึง ที่กั้นน้ำหรือที่เก็บน้ำ หมู่บ้านนี้ มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ที่มีทั้งนา ข้าว ปลา และอาหาร บ้านปาโล๊ะจะมีแหล่งน้ำไว้สำหรับบริโภคและไว้ใช้ประโยชน์ทางการเกษตร เพราะเหตุนี้ชาวบ้านสมัยก่อนได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า ปาโล๊ะ สภาพของหมู่บ้านในสมัยนั้นมีแต่คนทำนา เพราะแวดล้อมไปด้วยทุ่งนา ในอดีตการไถ่นาจะไถ่นาด้วยวัว ควาย เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จจะเก็บข้าวด้วยการใส่ (บาโก) แล้วยกตั้งหัวเพื่อนำข้าวไปเก็บไว้ในยุ้งข้าว จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน ปาโล๊ะ หมายถึง ที่เก็บข้าว พื้นที่ในหมู่บ้านเป็นที่ราบลุ่มเหมาะสำหรับการทำนา เพราะเป็นดินที่เหมาะปลูกข้าวเป็นอย่างมาก และในสมัยก่อนเจ้าเมืองโกตาบารูได้ให้คนสร้างปาโล๊ะ (ที่เก็บข้าว) และทุกคนในละแวกหมู่บ้านได้เรียกหมู่บ้านนี้ว่า ปาโล๊ะ และปัจจุบันนี้กลายมาเป็นปาโล๊ะ แบ่งเขตกลุ่มบ้าน แบ่งเป็น กลุ่ม

  1. ปาโล๊ะโต๊ะอุ่ง
  2. ปาโล๊ะโต๊ะนาโม
  3. ปาโล๊ะโต๊ะมาเล๊ะ
  4. กำปงบาโร๊ะ

ปาโล๊ะ ตั้งอยู่ในตำบลบาโงย อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ห่างจากอำเภอประมาณ 9 กิโลเมตร  และห่างจากจังหวัดยะลา ประมาณ 16 กิโลเมตร

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านบาโงย ตำบลบาโงย
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านโกตาบารู เทศบาลตำบลโกตาบารู
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านกาลูปัง ตำบลกาลูปัง
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านยือโร๊ะ ตำบลบาโงย

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ

ลักษณะการตั้งบ้านเรือนของประชาชนในหมู่บ้านปาโละ มีลักษณะตั้งบ้านเรือนขนานไปตามแนวทางของถนนเป็นส่วนมาก และมีส่วนน้อยที่กระจายออกไปตามพื้นที่ราบสูง สภาพพื้นที่และลักษณะภูมิประเทศของหมู่บ้าน เป็นที่ราบลุ่ม เหมาะสำหรับการทำนาและเลี้ยงสัตว์ มีสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น คือ มี 2 ฤดู ดังนี้ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์–เมษายน เป็นช่วงฤดูร้อน และในช่วงเดือนพฤษภาคม–มกราคม เป็นช่วงฤดูฝน

จากข้อมูลที่สำรวจโดยการเก็บข้อมูล จปฐ. ของบัณฑิตอาสา ระบุจำนวนครัวเรือนมีทั้งหมด 78 ครัวเรือน (ข้อมูลปี 2565) จำนวนประชากร 457 คน (ข้อมูลปี 2565) ชาย 241 คน หญิง 216 คน ทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลาม คนในชุมชนส่วนใหญ่อยู่กันแบบครอบครัวในละแวกใกล้เคียง มีความหลากหลายในช่วงวัย คนในสังคมมีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้คนในสังคมมีความเอื้อเฟื่อเผื่อแผ่ระหว่างกัน

มลายู

อาชีพหลัก มีการประกอบอาชีพหลัก ๆ ได้แก่ ทำสวนยางพารา ปลูกไม้ผล ทำนา เย็บผ้า ค้าขาย

อาชีพเสริม การเลี้ยงโค เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลาในกระชัง

การซื้อขายแลกเปลี่ยนภายในชุมชน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น อาหาร เครื่องปรุง เนื้อสัตว์ ผักสด ของใช้ในครัวเรือน ผ่านร้านขายของชำในชุมชน โดยมีร้านค้าภายในชุมชนจำนวน 2 ร้าน นำสินค้าจากในพื้นที่และภายนอกมาจำหน่าย

การซื้อขายแลกเปลี่ยนกับคนภายนอก ส่วนใหญ่เป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้จากการทำเกษตรกรรม เช่น ทุเรียน ลองกอง มังคุด หรือ ซื้อสินค้าจากรถกับข้าว (รถพุ่มพวง) ที่เข้ามาในชุมชนหรือตลาดนัดภายในชุมชนในช่วงเย็นและพื้นที่ตลาดนัดรอบนอก

การออกไปทำงานนอกชุมชน การออกไปทำงานนอกชุมชน คิดเป็น 40% ของคนในชุมชน ออกไปรับจ้างทำงานด้านอุตสาหกรรม พนักงานบริษัททั่วไป แต่ยังกลับมาอาศัยอยู่ในพื้นที่

ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกชุมชน บ้านปาโล๊ะ พื้นที่ของหมู่บ้านที่มีศักยภาพเหมาะในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมแบบผสมผสานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และประชากรมีศักยภาพในการพัฒนา มีความสามารถในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรและประกอบอาหารสำเร็จรูป ประกอบกับมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่สงบ มีความรัก ความสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และเป็นหมู่บ้านที่เป็นพื้นที่ที่ยังไม่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ (เป็นพื้นที่สีเขียว) เพราะในหมู่บ้านมีความเข้มแข็ง ปลอดภัย  มีการช่วยเหลือสอดส่องดูแล และมีการบริหารจัดการที่ดี

โครงสร้างอำนาจภายในชุมชน ตามโครงสร้างการปกครอง มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ทำงานร่วมกับหน่วยงานปกครองท้องถิ่น ส่วนภายในชุมชนมีการทำโครงการต่าง ๆ จากภายนอกและงานขับเคลื่อนชุมชน โดยมีนายมะตอเฮ เด็งสาแม เป็นแกนนำชุมชน

การรวมกลุ่ม การตั้งบ้านเรือน การตั้งบ้านเรือนของประชาชนในหมู่บ้านปาโล๊ะมีลักษณะตั้งบ้านเรือนขนานไปตามแนวทางของถนนเป็นส่วนมาก และมีบ้านเล็กบ้านน้อยที่กระจายออกไปตามพื้นที่ราบสูงและยังมีการจัดตั้งกลุ่มแกนนำชุมชนที่ทำงานชุมชนด้านต่าง ๆ กลุ่มสตรี กลุ่มเกษตรกร กลุ่มเด็กและเยาวชน รวมตัวกันเพื่อจัดกิจกรรมทางศาสนา และทำกิจกรรมร่วมกันในชุมชน ส่วนมากจะเป็นกลุ่มที่ไม่เป็นทางการไม่มีการจดทะเบียนจัดตั้งกลุ่ม เพียงแต่เป็นการตั้งกลุ่มจากการเลือกกันเองในชุมชนและเป็นที่ยอมรับในพื้นที่

วัฒนธรรม ประเพณี ชาวบ้านปิแยะ นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 100 มีการประกอบศาสนกิจรวมกันทุกคืน ทำให้เกิดผลดีในด้านการปฎิบัติศาสนกิจแล้วยังเกิดผลดี คือการสร้างความสามัคคีและการแลกเปลี่ยนทัศนคติ ข่าวสาร กิจกรรมวันสำคัญทางศาสนา มีดังนี้

  • เมาลิดินนบี เป็นวันคล้ายวันประสูติของศาสดามูฮัมหมัด (ซล.) ศาสดาแห่งมนุษยชาติ ผู้ศรัทธาในศาสนาอิสลาม มีการรำลึกถึงคุณงามความดี หรือประวัติของท่านในอดีตกาล ในบรรยากาศแห่งความรัก และรำลึกถึงท่านอย่างแท้จริง จัดในเดือน เราะบีอุลเอาวัล ซึ่งเป็นเดือนที่ 3 ในปฏิทินอิสลาม

  • วันตรุษอิดิลฟิตรี หรือที่นิยมเรียกว่า วันรายอปอซอเพราะหลังจากที่มุสลิมได้ถือศีลอดมาตลอดในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่ 9 ของศาสนาอิสลาม ก็จะถึงวันออกบวช ตอนเช้าจะมีการละหมาดร่วมกัน ทุกคนแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาด สวยงาม และมีการจ่าย ซะกาตฟิตเราะฮ์

  • วันตรุษอิดิลอัฏฮา หรือวันรายอฮัจยี เนื่องจากมุสลิมทั่วโลกเริ่มประกอบพีธีฮัจญ์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย จะมีการทำกุรบานหรือการเชือดสัตว์เพื่อเป็นอาหารแก่เพื่อนบ้านและคนยากจน เพื่อขัดเกลาจิตใจให้เป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม

  • การถือศีลอด เป็นหลักปฎิบัติที่มุสลิมจำเป็นต้องถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ตลอดระยะเวลา 1 เดือน มุสลิมที่มีอายุเข้าเกณฑ์ศาสนบัญญัติจะต้องงด การกิน ดื่ม การร่วมประเวณีตลอดจนทุกอย่างที่เป็นสิ่งต้องห้าม ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนกระทั่งตกดิน ทุกคนต้องสำรวมกายวาจาใจ เพราะเดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่มีประเสริฐยิ่งของศาสนาอิสลาม ซึ่งในเดือนนี้ชาวมุสลิมจะไปละหมาดที่มัสยิด ซึ่งเป็นการละหมาดที่ปฏิบัติภายในเดือนรอมฎอนเท่านั้น เรียกว่า ละหมาดตะรอเวียะห์

  • การละหมาด เป็นการแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ ซึ่งเป็นที่ศรัทธาของชาวมุสลิม ทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยถือว่าเป็นการเข้าเฝ้าผู้ทรงสร้างที่ยิ่งใหญ่ การแต่งกายต้องสะอาด เรียบร้อย มีความสำรวม พระองค์กำหนดเวลาละหมาดไว้วันละ 5 เวลา

  • การทำฮัจย์ อัลลอฮ์ทรงบังคับให้มุสลิมที่มีความสามารถด้านกำลังกาย กำลังทรัพย์ ต้องไปทำฮัจญ์ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีขึ้นปีละครั้ง ชาวมุสลิมทั่วโลกจะเดินทางมารวมกัน เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร มีฐานะทางสังคมอย่างไรต้องมาอยู่ที่เดียวกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ทุกคนมีฐานะเป็นบ่าวของอัลลอฮ์อย่างเท่าเทียมกัน ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม

  • การเข้าสุนัต เป็นพิธีกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวมุสลิม ถือกันว่ามุสลิมที่แท้จริงควรเข้าสุนัต ถ้าไม่ทำถือว่าเป็นมุสลิมที่ไม่สมบูรณ์ ไม่บริสุทธิ์ การเข้าสุนัต คือการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศของผู้ชายออก เพื่อสะดวกในการรักษาความสะอาด การเข้าสุนัตจะนิยมขลิบในช่วงเดือนเมษายนเนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคการเรียนการสอนของเด็กในพื้นที่ กิจกรรมจะมีการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศ และมีการเตรียมอาหารเป็นข้าวเหนียวสีต่าง ๆ บางพื้นที่จะมีการขลิบเป็นหมู่คณะ โดยมีเด็กในชุมชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

  • ประเพณีการกวนอาซูรอ เป็นการรำลึกถึงความยากลำบากของศาสดา นบีนูฮ โดยเชื่อว่าในสมัยของท่านมีเหตการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ น้ำท่วมโลกเป็นระยะเวลานาน ศาสดานบีนูฮ ซึ่งล่องลอยเรืออยู่เป็นเวลานาน ทำให้อาหารที่เตรียมไว้ร่อยหรอลง จึงได้นำส่วนที่พอจะมีเหลือเอามารวมกันแล้วกวนกิน จึงกลายเป็นตำนานที่มาของขนมอาซูรอ

คำว่า "อาซูรอ" คือคำในภาษาอาหรับ แปลว่า การผสม ในที่นี้หมายถึงการนำของที่รับประทานได้ทั้งของคาวและของหวานจำนวน 10 อย่าง มากวนรวมกัน ประเพณีจะจัดในวันที่ 10 ของเดือนมูฮัรรอม ซึ่งเป็นเดือนแรกของฮิจเราะห์ศักราชตามปฏิทินอิสลาม เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาปีใหม่ของมุสลิม ลักษณะกิจกรรมจะมีการรวมตัวของชาวบ้านโดยที่ชาวบ้านจะนำวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเผือก มัน ฟักทอง กล้วย ข้าวสาร ถั่ว เครื่องปรุง ข่าตะไคร้ หอมกระเทียม เมล็ดผักชี ยี่หร่า เกลือ น้ำตาล กะทิ โดยวัตถุดิบทั้งหมดจะถูกกวนในกระทะเหล็กใช้เวลาเกือบ 6-7 ชั่วโมง โดยต้องกวนตลอด จนกระทั่งสุกแห้ง เมื่อเสร็จเรียบร้อยมีการแจกจ่ายแบ่งปันให้แก่ชาวบ้าน ภาพที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความสัมพันธ์และสามัคคีของคนในชุมช

  • ประเพณีการกินนาซิบารู คำว่า "นาซิบารู" หมายถึง ข้าวสารใหม่ที่ได้ผ่านกรรมวิธีจากการลงแขกเก็บเกี่ยวข้าวในช่วงฤดูทำนา เมื่อเสร็จการทำนา ข้าวเปลือกที่ได้จะนำไปโรงสีข้าวเพื่อเปลี่ยนมาเป็นข้าวสาร หลังจากนั้นชาวบ้านจะเชิญผู้รู้ทางศาสนาและคนในชุมชนมาร่วมรับประทานอาหารที่บ้านเพื่อเป็นการขอบคุณพระผู้เป็นเจ้าที่ได้ทำนาสำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี

พฤติกรรมการกินอยู่ การทำงาน ประชาชนส่วนใหญ่ปลูกพืชผักกินเองเพื่อลดรายจ่าย แต่พืชผลทางการเกษตรผลผลิตมีจำนวนมากแต่ยังขาดตลาดรองรับในการรับซื้อผลผลิตทางเกษตรก่อให้เกิดภาระหนี้ ประกอบกับประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีงานทำ ก่อให้เกิดการว่างงานในพื้นที่ อาหารจะใช้วัตถุดิบที่หาได้จากในชุมชน เช่น ผักพื้นบ้านที่ได้จากละแวกบ้านและในไร่ ของป่าตามฤดูกาล ข้าว ส่วนเนื้อสัตว์และผักภายนอกซื้อจากรถพุ่มพวงและร้านค้าในชุมชน ที่จะรับสินค้าจากข้างนอกเข้ามาขาย เช่น เนื้อ ไก่ ไส้กรอกลูกชิ้น ผักต่าง ๆ ไข่ไก่ ส่วนเครื่องปรุงต่าง ๆ เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว น้ำมันพืช จะซื้อจากร้านขายของชำเป็นหลัก 

1. นางสารีอ๊ะ สะอะ  มีความชำนาญด้านการตัดเย็บเสื้อผ้ามืออาชีพทั้งแบบงานเจ้าสาวและงานตัดโต๊ปชายแบบฉบับจากเมกกะ และยังเป็นวิทยากรชำนาญการสอนการตัดเย็บ โดยได้รับความรู้จากการเรียนตัดเย็บสมัยที่ทำงานประเทศซาอุดีอาระเบีย

ผลิตภัณฑ์ จากเดิมในหมู่บ้านมีการนำผ้าโหลสำเร็จรูปมาเย็บกันหลายครัวเรือน จุดเริ่มต้นของกลุ่มแม่บ้านในชุมชนตัดเย็บเสื้อผ้า เกิดจากการที่ประธานกลุ่ม มีอาชีพเป็นช่างตัดเย็บเสื้อผ้า และต่อมาได้รวบรวมสมาชิกที่มีความรู้ ความชำนาญ ด้านการเย็บผ้าสำเร็จรูปมารวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มขึ้น โดยการสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรท้องถิ่นที่มีการ จัดสรรงบประมาณในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อจัดซื้อวัตถุดิบและเครื่องจักรในการตัดเย็บเสื้อผ้า มีส่วนร่วมในการสนับสนุนผลักดัน ทั้งในด้านวิชาความรู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มทักษะในการตัดเย็บ ตลอดจนหาแหล่งเงินทุน และหาตลาดให้กับกลุ่มฯ มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน การจัดตั้งกลุ่มครั้งแรก มีสมาชิกทั้งหมด 8 คน โดยตัดเย็บเสื้อผ้าธรรมดา และเย็บผ้าโหล ต่อมาเมื่อกลุ่ม ฯ มีการศึกษา ข้อมูลทางตลาด พบว่าเสื้อเชิ้ตอัดกาวในขณะนั้นเป็นที่ต้องการของตลาดมาก จึงเปลี่ยนรูปแบบของการตัดเย็บเสื้อผ้า มาเป็นเสื้อเชิ้ต อัดกาวเป็นหลัก จนถึงปัจจุบันนี้ได้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นโดยลำดับ ในปัจจุบันจะเป็นการรับผ้าโหลมาเย็บประกบเนื่องจากออเดอร์ในช่วง 3 เดือนแรกก่อนรายอ

ภาษาที่ใช้พูด : ภาษามลายูท้องถิ่น

ภาษาที่ใช้เขียน : ภาษาไทยกลาง

สถานการณ์การใช้ภาษาของผู้คนในชุมชนส่วนมากใช้ภาษามลายูท้องถิ่นและบางส่วนใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร


ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมในหมู่บ้านทำให้แรงงานออกไปทำงานนอกพื้นที่และแรงงานบางส่วนไม่มีงานทำ ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ


สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงการเป็นอยู่เนื่องจากมีการปรับตัวจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในเรื่องสุขภาพและเรื่องเศรษฐกิจพื้นฐานในชุมชน โดยเฉพาะพืชผลทางการเกษตรที่มีราคาตกต่ำ ทำให้อัตราคนในชุมชนออกไปทำงานนอกพื้นที่,uมากยิ่งขึ้น เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอในการดำรงชีพทั้งครอบครัว ส่วนการมีส่วนร่วมในพื้นที่ยังมีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและสร้างความร่วมมือให้คนในพื้นที่ได้มีกิจกรรมทำร่วมกัน

นอกจากนี้ยังมีปัญหาในด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนซึ่งมีผลกระทบมาจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทำให้ประชาชนเสียสุขภาพจิตเกิดความวิตกกังวลจนไม่สามารถไปประกอบอาชีพได้ตามปกติ


การคมนาคมไม่สะดวก เนื่องจากถนนเชื่อมต่อระหว่างชุมชนภายในและระหว่างหมู่บ้านไม่ได้ขยายเพิ่มเติมเพราะขาดงบประมาณ


การดูแลสุขภาพไม่ดีเท่าที่ควร ขาดการออกกำลังกายขาดเครื่องมือ/อุปกรณ์ในการออกกำลังกาย ความสะอาดหมู่บ้าน ทิ้งขยะเกลื่อนกลาด


มีการทำนุบำรุงแหล่งน้ำตามธรรมชาติอย่างสม่ำเสมอ

ในชุมชนบ้านปาโล๊ะขึ้นชื่อในเรื่องการตัดเย็บเสื้อผ้า

อับดุลเล๊าะอิน กานิเซ็ง. (18 กุมภาพันธ์ 2566). ข้อมูลชุมชนบ้านปาโล๊ะ. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)

สารีอ๊ะ สะอะ. (18 กุมภาพันธ์ 2566). ภูมิปัญญาปราชญ์ชุมชน. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)

คอลีเปาะ แลสารี และเสาะเดาะ แดระแมง. (18 กุมภาพันธ์ 2566). สภาพแวดล้อมประชากร. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)

ยามีล๊ะ ตูแกบือซี. (18 กุมภาพันธ์ 2566). ข้อมูลทั่วไปของชุมชน. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)

อบต.บาโงย โทร. 0-7325-1322