พึ่งพาตนเองตามวิถีพอเพียง หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เชิงวัฒนธรรม เชิงวิถีเกษตรอินทรีย์
ชื่อหมู่บ้าน "ลูโบ๊ะลาบี" หมายถึง บึงตะพาบน้ำ ซึ่งเป็นการนำลักษณะเด่นของหมู่บ้านมาตั้งเป็นชื่อบ้าน ด้วยบริเวณกลางหมู่บ้านเป็นลุ่มน้ำ มีตัวตะพาบอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกขานว่า "ลูโบ๊ะลาบี" หรือ บึงตะพาบน้ำ
พึ่งพาตนเองตามวิถีพอเพียง หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เชิงวัฒนธรรม เชิงวิถีเกษตรอินทรีย์
คนสูงอายุในพื้นที่ได้เล่าให้ลูกหลานฟังว่า เป็นตำนานที่ติดตรึงในความทรงจำ ความรู้สึกของคนในหมู่บ้าน และลุ่มน้ำตะพาบแห่งนี้ มีปลาหลากหลายชนิดอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่ดีที่สุดของคนในหมู่บ้านแห่งนี้ ในอดีตคนสมัยก่อนมีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย มีอาหารอุดมสมบูรณ์ ทำให้ในอดีตหมู่บ้านแห่งนี้มีความเข็มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน บ้านลูโบ๊ะลาบีมีสภาพแวดล้อมแบบชนบท ยังไม่มีผลกระทบจากมลพิษต่าง ๆ แต่ยังขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อยตามบริเวณบ้าน
โดยในหมู่บ้านมีแหล่งน้ำที่สร้างขึ้นเอง จำนวน 1 แห่ง คือ บึงลูโบ๊ะดาเอ็ง และแหล่งน้ำธรรมชาติ 3 แห่ง คือ
- บึงลูโล๊ะนิบง มีพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ เป็นแหล่งน้ำที่ใหญ่ของหมู่บ้าน มีน้ำใช้เพียงพอในฤดูฝน แต่ในฤดูแล้งไม่เพียงพอกับการเกษตร เนื่องจากบึงมีความตื้นเขินมาก
- บึงลูโบ๊ะซีรอ มีพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ เป็นแหล่งน้ำที่ใหญ่รองลงมาจากบึงลูโบ๊ะนิบง มีน้ำใช้เพียงพอในฤดูฝนแต่ในฤดูแล้งสามารถนำน้ำมาใช้ในการเกษตร เนื่องจากบึงมีการขุดลอกคลอง
- บึงลูโบ๊ะยามู มีพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ บึงแห่งนี้มีน้ำใช้เพียงพอในฤดูฝน แต่ในฤดูแล้งไม่เพียงพอกับการเกษตร เนื่องจากบึงมีความตื้นเขินมาก
ชุมชนบ้ายลูโบ๊ะลาบีตั้งอยู่ในตำบลบาโงย อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ห่างจากอำเภอรามันประมาณ 12 กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดยะลา ประมาณ 17 กิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านโต๊ะน๊ะ ตำบลเนินงาม อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านยือโร๊ะ ตำบลบาโงย อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านบาโงย ตำบลบาโงย อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านรายอกายู ตำบลบุดี อำเภอเมือง จังหวัดยะลา
จากข้อมูลที่สำรวจโดยการเก็บข้อมูล จปฐ. ของบัณฑิตอาสา ระบุจำนวนครัวเรือนมีทั้งหมด 226 ครัวเรือน (ข้อมูลปี 2565) จำนวนประชากร 815 คน (ข้อมูลปี 2565) ชาย 402 คน หญิง 413 คน ส่วนใหญ่คนในชุมชมเป็นมุสลิมทั้งหมด ลักษณะการตั้งบ้านเรือนของประชาชนในหมู่บ้านลูโบ๊ะลาบี มีลักษณะการตั้งบ้านเรือนขนานไปตามแนวทางของถนนเป็นส่วนมาก และมีบ้างเล็กน้อยที่กระจายออกไปตามพื้นที่ราบสูง
มลายูอาชีพหลัก มีการประกอบอาชีพหลากหลาย ประกอบด้วย การทำนา ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ทำสวนยางพารา เป็นต้น
อาชีพเสริม การเลี้ยงโค เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลาในกระชัง ทำไอศกรีม การซื้อขายแลกเปลี่ยนภายในชุมชน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น อาหาร เครื่องปรุง เนื้อสัตว์ ผักสด ของใช้ในครัวเรือน ผ่านร้านขายของชำในชุมชน โดยมีร้านค้าภายในชุมชนจำนวน 4 ร้าน โดยนำสินค้าจากในพื้นที่และภายนอกมาจำหน่าย
การซื้อขายแลกเปลี่ยนกับคนภายนอก ส่วนใหญ่เป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้จากการทำเกษตรกรรม เช่น ทุเรียน ลองกอง มังคุด หรือซื้อสินค้าจากรถกับข้าว (รถพุ่มพวง) ที่เข้ามาในชุมชนหรือตลาดนัดภายในชุมชนในช่วงเย็นและพื้นที่ตลาดนัดรอบนอก ส่วนพืชผักส่วนมากจะเป็นการซื้อตามครัวเรือนที่มีการปลูกพืชสวนครัวแบบปลอดสารพิษ
การออกไปทำงานนอกชุมชน การออกไปทำงานนอกชุมชน คิดเป็น 43% ของคนในชุมชน และที่ออกไปทำงานต่างประเทศมีอยู่ 2% ออกไปรับจ้างทำงานด้านอุตสาหกรรม พนักงานบริษัททั่วไป แต่ยังกลับมาอาศัยอยู่ในพื้นที่ และยังมีบุคคลภายนอกเข้ามาพักอาศัยในพื้นที่
ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกชุมชน สมาชิกชุมชนส่วนใหญ่อยู่กันเป็นกลุ่มตามโซน เป็นชุมชนที่มีบ้านพักอาศัยเป็นจำนวนมากแบบเต็มพื้นที่หรือละแวกใกล้เคียงกับที่อยู่อาศัย ทำให้คนในชุมชนสามารถเข้าได้ทุกกลุ่ม โดยส่วนใหญ่จะเป็นเครือญาติที่ตามมาอยู่ในชุมชน จากการคาดการณ์ยังมีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของบุคคลภายนอกเข้ามาในชุมชนบางส่วนประมาณ 4%
โครงสร้างอำนาจภายในชุมชน ตามโครงสร้างการปกครอง มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ทำงานร่วมกับหน่วยงานปกครองท้องถิ่น ส่วนภายในชุมชนมีการทำโครงการต่าง ๆ จากภายนอกและงานขับเคลื่อนชุมชน โดยมีนายรอนิง เด็งระกีนา เป็นแกนนำชุมชน
การรวมกลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นการรวมกลุ่มกันตามครอบครัวและกลุ่มที่สนิทกันหรือมีช่วงวัยเดียวกัน เช่น กลุ่มแกนนำชุมชนที่ทำงานชุมชนด้านต่าง ๆ กลุ่มเด็กและเยาวชน รวมตัวกันเพื่อจัดกิจกรรมทางศาสนา และทำกิจกรรมร่วมกันในชุมชน
วัฒนธรรม ประเพณี ชาวบ้านลูโบะลาบี นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 100 มีการประกอบศาสนกิจรวมกันทุกคืน ส่งผลดีให้เกิดการสร้างความสามัคคีและการแลกเปลี่ยนทัศนคติ ข่าวสาร กิจกรรมวันสำคัญทางศาสนา มีดังนี้
- เมาลิดินนบี เป็นวันคล้ายวันประสูติของศาสดามูฮัมหมัด (ซล.) ศาสดาแห่งมนุษยชาติ ผู้ศรัทธาในศาสนาอิสลาม มีการรำลึกถึงคุณงามความดี หรือประวัติของท่านในอดีตกาล ในบรรยากาศแห่งความรัก และรำลึกถึงท่านอย่างแท้จริง ซึ่งจะจัดในเดือน เราะบีอุลเอาวัล ซึ่งเป็นเดือนที่ 3 ในปฏิทินอิสลาม
- วันตรุษอิดิลฟิตรี หรือที่นิยมเรียกว่า “วันรายอปอซอ” เพราะหลังจากที่มุสลิมได้ถือศีลอดมาตลอดในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่ 9 ของศาสนาอิสลาม ก็จะถึงวันออกบวช ตอนเช้าจะมีการละหมาดร่วมกัน ทุกคนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาด สวยงาม และมีการจ่าย “ซะกาตฟิตเราะฮ์”
- วันตรุษอิดิลอัฏฮา หรือวันรายอฮัจยี เนื่องจากมุสลิมทั่วโลกเริ่มประกอบพีธีฮัจญ์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย มีการทำกุรบานหรือการเชือดสัตว์เพื่อเป็นอาหารแก่เพื่อนบ้านและคนยากจน เพื่อขัดเกลาจิตใจให้เป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม
- การถือศีลอด เป็นหลักปฎิบัติที่มุสลิมจำเป็นต้องถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ตลอดระยะเวลา 1 เดือน มุสลิมที่มีอายุเข้าเกณฑ์ศาสนบัญญัติจะต้องงด การกิน ดื่ม การร่วมประเวณีตลอดจนทุกอย่างที่เป็นสิ่งต้องห้าม ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนกระทั่งตกดิน ทุกคนต้องสำรวมกาย วาจา ใจ เพราะเดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่มีประเสริฐยิ่งของศาสนาอิสลาม ซึ่งในเดือนนี้ชาวมุสลิมจะไปละหมาดที่มัสยิด ซึ่งเป็นการละหมาดที่ปฏิบัติภายในเดือนรอมฎอนเท่านั้น เรียกว่า “ละหมาดตะรอเวียะห์”
- การละหมาด เป็นการแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ ซึ่งเป็นที่ศรัทธาของชาวมุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยถือว่าเป็นการเข้าเฝ้าผู้ทรงสร้างที่ยิ่งใหญ่ การแต่งกายต้องสะอาด เรียบร้อย มีความสำรวม พระองค์กำหนดเวลาละหมาดไว้วันละ 5 เวลา
- การทำฮัจญ์ อัลลอฮห์ทรงบังคับ ให้มุสลิมที่มีความสามารถด้านกำลังกาย กำลังทรัพย์ ต้องไปทำฮัจญ์ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีขึ้นปีละครั้งชาวมุสลิมทั่วโลกจะเดินทางมารวมกัน เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮห์ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร มีฐานะทางสังคมอย่างไร ต้องมาอยู่ที่เดียวกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ทุกคนมีฐานะเป็นบ่าวของอัลลอฮอย่างเท่าเทียมกัน ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม
- การเข้าสุนัต เป็นพิธีกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวมุสลิม ถือกันว่ามุสลิมที่แท้จริงควรเข้าสุนัต ถ้าไม่ทำถือว่าเป็นมุสลิมที่ไม่สมบูรณ์ ไม่บริสุทธิ์ การเข้าสุนัต คือการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศของผู้ชายออก เพื่อสะดวกในการรักษาความสะอาด การเข้าสุนัตจะนิยมขลิบในช่วงเดือนเมษายนเนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคการเรียนการสอนของเด็กในพื้นที่ กิจกรรมจะมีการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศ และมีการเตรียมอาหารเป็นข้าวเหนียวสีต่าง ๆ บางพื้นที่จะมีการขลิบเป็นหมู่คณะ โดยมีเด็กในชุมชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
- ประเพณีการกวนอาซูรอ เป็นการรำลึกถึงความยากลำบากของศาสดา นบีนูฮ โดยเชื่อว่าในสมัยของท่านมีเหตุการณ์อุกทกภัยครั้งใหญ่ น้ำท่วมโลกเป็นระยะเวลานาน ศาสดานบีนูฮ ซึ่งล่องลอยเรืออยู่เป็นเวลานาน ทำให้อาหารที่เตรียมไว้หร่อยหรอลง จึงได้นำส่วนที่พอจะมีเหลือเอามารวมกันแล้วกวนกิน กลายเป็นตำนานที่มาของขนมอาซูรอ
คำว่า "อาซูรอ" คือคำในภาษาอาหรับ แปลว่า การผสม ในที่นี้หมายถึงการนำของที่รับประทานได้ทั้งของคาวและของหวานจำนวน 10 อย่าง มากวนรวมกัน ประเพณีจะจัดในวันที่ 10 ของเดือนมูฮัรรอม ซึ่งเป็นเดือนแรกของฮิจเราะห์ศักราชตามปฏิทินอิสลาม เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาปีใหม่ของมุสลิม ลักษณะกิจกรรมจะมีการรวมตัวของชาวบ้านโดยที่ชาวบ้านจะนำวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเผือก มัน ฟักทอง กล้วย ข้าวสาร ถั่ว เครื่องปรุง ข่าตะไคร้ หอมกระเทียม เมล็ดผักชี ยี่หร่า เกลือ น้ำตาล กะทิ โดยวัตถุดิบทั้งหมดจะถูกกวนในกระทะเหล็กใช้เวลาเกือบ 6-7 ชั่วโมง โดยต้องกวนตลอด จนกระทั่งสุกแห้ง เมื่อเสร็จเรียบร้อยมีการแจกจ่ายแบ่งปันให้แก่ชาวบ้าน ภาพที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความสัมพันธ์และสามัคคีของคนในชุมชน
- ประเพณีการกินนาซิบารู คำว่า "นาซิบารู" หมายถึง ข้าวสารใหม่ที่ได้ผ่านกรรมวิธีจากการลงแขกเก็บเกี่ยวข้าวในช่วงฤดูทำนา เมื่อเสร็จการทำนา ข้าวเปลือกที่ได้จะนำไปโรงสีข้าวเพื่อเปลี่ยนมาเป็นข้าวสาร หลังจากนั้นชาวบ้านจะเชิญผู้รู้ทางศาสนาและคนในชุมชนมาร่วมรับประทานอาหารที่บ้านเพื่อเป็นการขอบคุณพระผู้เป็นเจ้าที่ได้ทำนาสำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี
1. นางสีตีหะวอ เปะกะงอ มีความชำนาญ หมอนวดเส้น กระดูก ทำเฉพาะผู้หญิงและเด็ก โดยรับการสืบทอดความรู้จากบรรพบุรุษ
อาหาร ข้าวต้มมัด เป็นชื่อเรียกข้าวต้มมัดของคนภาคใต้ มีเอกลักษณ์โดดเด่น คือ การนำข้าวเหนียวไปห่อแล้วมัดให้มีลักษณะเหมือนไต้ที่ใช้จุดไฟ มัดเป็นปล้อง ๆ 4-5 ปล้อง ซึ่งมีขนาดยาวกว่าข้าวต้มมัดทั่วไป ไม่มีไส้ มีรสชาติเค็มที่ทำมาจากส่วนผสมถั่วทองโขลกกับเครื่อง เช่น รากผักชี กระเทียมและพริกไทย แถมยังใส่หมูและมันหมูลงไปด้วย และยังแยกออกไปอีกด้วยว่า ถ้าห่อด้วยใบกะพ้อ เรียก “ตูปะ” แต่ถ้าห่อด้วยใบมะพร้าวและมัดด้วยเชือกเรียกว่า “ห่อมัด”
ข้าวต้มกล้วย ใช้ข้าวเหนียวดิบปรุงรสด้วยเกลือ ใส่ถั่วลิสงต้มสุก เคล้าให้เข้ากัน นำไปห่อเป็นมัด ใส่ไส้กล้วย แล้วเอาไปต้มให้สุก ส่วนแบบที่ 2 คือ แบบผัด จะผัดข้าวเหนียวกับกะทิ นำไปห่อใส่ไส้กล้วยแล้วต้มให้สุก ไม่ใส่น้ำตาลลงไปในส่วนผสม แต่จะใช้วิธีนำมาจิ้มกินกับน้ำตาลแทน
ภาษาที่ใช้พูด : ภาษามลายูท้องถิ่น
ภาษาที่ใช้เขียน : ภาษาไทยกลาง
สถานการณ์การใช้ภาษาของผู้คนในชุมชนส่วนมากใช้ภาษามลายูท้องถิ่นและบางส่วนใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร
สถานการณ์ ปัญหาในด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนซึ่งมีผลกระทบมาจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทำให้ประชาชนเสียสุขภาพจิตเกิดความวิตกกังวลจนไม่สามารถไปประกอบอาชีพได้ตามปกติ และเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหรือถดถอย ทำให้การจ้างงานลดลง การว่างงานเพิ่มขึ้น รายได้ประชาชนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลง แนวทางแก้ไข คือ รัฐบาลวางนโยบายทางเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนของประชาชน ให้ใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการในประเทศ ทำให้ปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้น หรือลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นการลงทุน ทำให้การจ้างงานเพิ่มขึ้น ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังคงยากจน มีชีวิตความเป็นอยู่ในระดับพอยังชีพ แนวทาง แก้ไข คือ ถ้าในระยะสั้น ใช้การกระตุ้นการลงทุนและการจ้างงาน เพื่อให้ประชาชนมีรายได้ ส่วนแนวทางแก้ไขอย่างยั่งยืน คือ พัฒนาการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
ในชุมชนบ้านลูโบ๊ะลาบีมีจุดเด่นในการทำนาข้าวมาสังเคราะห์เป็นแป้งทำบราวนี่
รอนิง เด็งระกีนา. (18 กุมภาพันธ์ 2566). ข้อมูลชุมชนบ้านลูโบ๊ะลาบี. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)
สีตีหะวอ เปะกะงอ . (18 กุมภาพันธ์ 2566). ภูมิปัญญา, ปราชญ์ชุมชน. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)
แวสปีเยาะ เตะโซะ และมูเน๊าะ สาและหม๊ะ. (18 กุมภาพันธ์ 2566). สภาพแวดล้อม, ประชากร. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)
พาตีเม๊าะ เจ๊ะเล็ง. (18 กุมภาพันธ์ 2566). ข้อมูลทั่วไปของชุมชน. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)
วรรณวิไล สนิทผล. (2566). ชาวรามัน ที่บาโงย ลงแขกเกี่ยวข้าว แข่งขันนวดข้าวสร้างความสนุกสนาน อนุรักษ์วิถีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน. [ฉบับอิเล็กทรอนิกส์]. สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดยะลา. ค้นจาก https://thainews.prd.go.th/