วัฒนธรรมดีงาม ศูนย์รวมพืชเศรษฐกิจ
คำว่า "บือมัง" หรือ "บูแม" เป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และในหมู่บ้านมีจำนวนมาก โดยมีลักษณะลำต้นขนาดใหญ่ ใบสีเขียว มีดอกเป็นแฉก ๆ ออกตามฤดูกาลมีรสฝาด รับประทานได้ ชาวบ้านจึงตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านว่า "บูแม" พอนานเข้าชื่อเรียกได้เพี้ยนเป็น "บ้านบือมัง"
วัฒนธรรมดีงาม ศูนย์รวมพืชเศรษฐกิจ
ผู้นำชุมชนคนเก่าแก่ เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนหมู่บ้านแห่งนี้เป็นป่า มีพืชพรรณนานาชนิด ชาวบ้านมาอาศัยอยู่ไม่กี่ครัวเรือน ทำมาหากินง่าย ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีถนนตามธรรมชาติเป็นป่าไม้ขึ้นอยู่รอบทุ่งนาและตามเชิงเขา มีสัตว์ป่ามากมาย ต่อมามีราษฎรมาอยู่อาศัยมากขึ้นเพื่อปักหลักตั้งถิ่นฐานทำหากิน จึงมีการปรับพื้นที่เป็นที่อยู่อาศัยของคน ขณะเดียวกันทางราชการได้ทำถนนตัดผ่าหมู่บ้าน ความเจริญเข้ามาในหมู่บ้าน มีถนนที่เดินทางสะดวก มีไฟฟ้าใช้ ชาวบ้านจึงพากันเข้ามาอยู่กลายเป็นชุมชนที่ใหญ่ขึ้น
คำว่า “บือมัง” หรือบูแม เป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่ง มีลำตันขนาดใหญ่ ใบสีเขียว มีดอกเป็นแฉก ๆ ออกตามฤดูกาลมีรสฝาด รับประทานได้ ชาวบ้านจึงตั้งชื่อเป็นหมู่บ้านบูแม พอนาน ๆ จึงเพี้ยนเป็นบ้านบือมัง จากต้นไม้ที่มีลักษณะแปลกกว่าต้นไม้อื่นที่พบในหมู่บ้าน ถือเป็นความโดดเด่นจึงนำไปใช้ตั้งชื่อหมู่บ้าน เพื่อเป็นการจดจำง่ายและสะดวกในการเรียกขานชื่อหมู่บ้านนี้
บ้านบือมัง อยู่ห่างออกจากเทศบาลตำบลโกตาบารูประมาณ 5 กิโลเมตร อยู่ห่างจากตัวเมืองยะลา ประมาณ 21 กิโลเมตร การเดินทางสามารถเดินด้วยรถส่วนบุคคล รถโดยสารประจำทางได้
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านตะโละเลาะ หมู่ที่ 1 ตำบลบือมัง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านบ้านปีแยะ หมู่ที่ 6 ตำบลบือมัง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านยะต๊ะ ตำบลยะต๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลกรงปินัง กิ่งอำเภอกรงปินัง และตำบลตาเนาะปูเต๊ะ อำเภอบันนังสตา
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
ลักษณะภูมิประเทศ มีทั้งที่เป็นภูเขา ที่ราบสูง และที่ราบลุ่ม ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ สภาพพื้นที่บ้านบือมังส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลาดชัน สภาพเป็นภูเขา และที่ราบสูง ตามเทือกเขากาลอและป่าสงวน มีความสมบูรณ์ตามธรรมชาติ มีการจัดสรรที่ดินเพื่อการเกษตร นอกจากนั้นยังมี แม่น้ำ ลำธาร การใช้ประโยชน์ที่ดินส่วนมากจะใช้ปลูกพืชยืนต้น เช่น ยางพารา ไม้ผล และทำนา สภาพภูมิอากาศอยู่ในลักษณะภูมิประเทศแบบร้อนชื้น มีฝนตกปริมาณมากในช่วงเดือนธันวาคม และปริมาณฝนตกต่ำสุดในเดือนกุมภาพันธ์
จากข้อมูลที่สำรวจโดยบัณฑิตอาสาหมู่บ้าน ระบุจำนวนครัวเรือนมีทั้งหมด 321 ครัวเรือน (ข้อมูลปี 2565) จำนวนประชากร 1,492 คน ชาย 762 คน หญิง 730 คน ทั้งหมดเป็นอิสลาม คนในชุมชนส่วนอยู่กับแบบครอบครัวในละแวกใกล้เคียง มีความหลากหลายในช่วงวัย คนในสังคมมีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้คนในสังคมมีความเอื้อเฟื่อเผื่อแผ่ระหว่างกัน
มลายูอาชีพหลัก ทำเกษตรกรรมมีการปลูกพืชเศรษฐกิจ และแปลงเกษตรผักส่วนครัว
อาชีพเสริม การเลี้ยงโค เลี้ยงแพะ เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ และเย็บผ้า และทำผึ้งชันโรง
การซื้อขายแลกเปลี่ยนภายในชุมชน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น อาหาร เครื่องปรุง เนื้อสัตว์ ผักสด ของใช้ในครัวเรือน ผ่านร้านขายของชำในชุมชน โดยมีร้านค้าภายในชุมชนจำนวน 5 ร้าน โดยนำสินค้าจากในพื้นที่และภายนอกมาจำหน่าย
การซื้อขายแลกเปลี่ยนกับคนภายนอก ส่วนใหญ่เป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้จากการทำเกษตรกรรม เช่น ทุเรียน ลองกอง มังคุด หรือซื้อสินค้าจากรถกับข้าว (รถพุ่มพวง) ที่เข้ามาในชุมชนหรือตลาดนัดภายในชุมชนในช่วงเย็นและพื้นที่ตลาดนัดรอบนอก
การออกไปทำงานนอกชุมชน การออกไปทำงานนอกชุมชน คิดเป็น 30% ของคนในชุมชน และที่ออกไปทำงานต่างประเทศมีอยู่ 2% ออกไปรับจ้างทำงานด้านอุตสาหกรรม พนักงานบริษัททั่วไป แต่ยังกลับมาอาศัยอยู่ในพื้นที่
ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกชุมชน สมาชิกชุมชนส่วนใหญ่อยู่กันเป็นกลุ่มตามโซน เป็นชุมชนที่มีพื้นว่างจากการปลูกสร้างที่พักอาศัยน้อยมาก หรือละแวกใกล้เคียงกับที่อยู่อาศัย ทำให้คนในชุมชนสามารถเข้าได้ทุกกลุ่ม โดยส่วนใหญ่จะเป็นเครือญาติที่ตามมาอยู่ในชุมชน
โครงสร้างอำนาจภายในชุมชน ตามโครงสร้างการปกครอง มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ทำงานร่วมกับหน่วยงานปกครองท้องถิ่น ส่วนภายในชุมชนในการทำโครงการต่าง ๆ จากภายนอกและงานขับเคลื่อนชุมชน โดยมีนายอารมัน ดาวาลี เป็นแกนนำชุมชน
การรวมกลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นการรวมกลุ่มกันตามครอบครัวและกลุ่มที่สนิทกันหรือมีช่วงวัยเดียวกัน เช่น กลุ่มแกนนำชุมชนที่ทำงานชุมชนด้านต่าง ๆ กลุ่มเด็กและเยาวชน รวมตัวกันเพื่อจัดกิจกรรมทางศาสนา และทำกิจกรรมร่วมกันในชุมชน
พาณิชยกรรม ภายในตำบลบือมัง มีร้านจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ร้านค้าขายของชำและสินค้าเบ็ดเตล็ดขนาดเล็ก ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่สามารถซื้อได้ภายในตำบล ตลอดจนอุปกรณ์การผลิตทางการเกษตร หาซื้อในเขตอำเภอรามันและตัวจังหวัดยะลา สำหรับการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญของตำบล ได้แก่ ยางพารา จะมีพ่อค้าจากภายนอกมารับซื้อ
อุตสาหกรรม ภายในตำบลบือมัง ไม่มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีเพียงอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ประเภทแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ โรงสีข้าว จำนวน 1 แห่ง
วัฒนธรรม ประเพณี ชาวบ้านบือมัง นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 100 มีการประกอบศาสนกิจรวมกันทุกคืน ทำให้เกิดผลดีในด้านการปฎิบัติศาสนกิจแล้วยังเกิดผลดี คือ การสร้างความสามัคคีและการแลกเปลี่ยนทัศนคติ ข่าวสาร กิจกรรมวันสำคัญทางศาสนา มีดังนี้
- เมาลิดินนบี เป็นวันคล้ายวันประสูติของศาสดามูฮัมหมัด (ซล.) ศาสดาแห่งมนุษยชาติ ผู้ศรัทธาในศาสนาอิสลาม จะมีการรำลึกถึงคุณงามความดี หรือประวัติของท่านในอดีตกาล ในบรรยากาศแห่งความรักและรำลึกถึงท่านอย่างแท้จริง ซึ่งจะจัดในเดือน เราะบีอุลเอาวัล ซึ่งเป็นเดือนที่ 3 ในปฏิทินอิสลาม
- วันตรุษอิดิลฟิตรี หรือที่นิยมเรียกว่า "วันรายอปอซอ" เพราะหลังจากที่มุสลิมได้ถือศีลอดมาตลอดในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่ 9 ของศาสนาอิสลาม ก็จะถึงวันออกบวช ตอนเช้าจะมีการละหมาดร่วมกัน ทุกคนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาด สวยงาม และมีการจ่าย “ซะกาตฟิตเราะฮ์”
- วันตรุษอิดิลอัฏฮา หรือวันรายอฮัจยี เนื่องจากมุสลิมทั่วโลกเริ่มประกอบพีธีฮัจญ์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย จะมีการทำกุรบานหรือการเชือดสัตว์เพื่อเป็นอาหารแก่เพื่อนบ้านและคนยากจน เพื่อขัดเกลาจิตใจให้เป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม
- การถือศีลอด เป็นหลักปฎิบัติที่มุสลิมจำเป็นต้องถือศีลอด ในเดือนรอมฎอน ตลอดระยะเวลา 1 เดือน มุสลิมที่มีอายุเข้าเกณฑ์ศาสนบัญญัติจะต้องงด การกิน ดื่ม การร่วมประเวณีตลอดจนทุกอย่าง ที่เป็นสิ่งต้องห้ามตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนกระทั่งตกดิน ทุกคนต้องสำรวมกาย วาจา ใจ เพราะเดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่มีประเสริฐยิ่งของศาสนาอิสลาม ซึ่งในเดือนนี้ชาวมุสลิมจะไปละหมาดที่มัสยิด ซึ่งเป็นการละหมาดที่ปฏิบัติภายในเดือนรอมฎอนเท่านั้น เรียกว่า “ละหมาดตะรอเวียะห์”
- การทำฮัจญ์ อัลลอฮห์ทรงบังคับให้มุสลิมที่มีความสามารถด้านกำลังกาย กำลังทรัพย์ ต้องไปทำฮัจญ์ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีขึ้นปีละครั้ง ชาวมุสลิมทั่วโลกจะเดินทางมารวมกัน เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮห์ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร มีฐานะทางสังคมอย่างไรต้องมาอยู่ที่เดียวกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ทุกคนมีฐานะเป็นบ่าวของอัลลอฮอย่างเท่าเทียมกัน ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม
- การเข้าสุนัต เป็นพิธีกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวมุสลิม ถือกันว่ามุสลิมที่แท้จริงควรเข้าสุนัต ถ้าไม่ทำถือว่าเป็นมุสลิมที่ไม่สมบูรณ์ ไม่บริสุทธิ์ การเข้าสุนัต คือการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศของผู้ชายออก เพื่อสะดวกในการรักษาความสะอาด การเข้าสุนัตจะนิยมขลิบในช่วงเดือนเมษายนเนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคการเรียนการสอนของเด็กในพื้นที่ กิจกรรมจะมีการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศ และมีการเตรียมอาหารเป็นข้าวเหนียวสีต่าง ๆ บางพื้นที่จะมีการขลิบเป็นหมู่คณะ โดยมีเด็กในชุมชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
- ประเพณีการกวนอาซูรอ เป็นการรำลึกถึงความยากลำบากของศาสดา นบีนูฮ โดยเชื่อว่าในสมัยของท่านมีเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ น้ำท่วมโลกเป็นระยะเวลานาน ศาสดานบีนูฮ ซึ่งล่องลอยเรืออยู่เป็นเวลานาน ทำให้อาหารที่เตรียมใว้น้อยลง จึงได้นำส่วนที่พอจะมีเหลือเอามารวมกันแล้วกวนกิน จึงกลายเป็นตำนานที่มาของขนมอาซูรอ
คำว่า "อาซูรอ" คือคำในภาษาอาหรับ แปลว่า การผสม ในที่นี้หมายถึงการนำของที่รับประทานได้ทั้งของคาวและของหวานจำนวน 10 อย่าง มากวนรวมกัน ประเพณีจะจัดในวันที่ 10 ของเดือนมูฮัรรอม ซึ่งเป็นเดือนแรกของฮิจเราะห์ศักราชตามปฏิทินอิสลาม เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาปีใหม่ของมุสลิม ลักษณะกิจกรรมจะมีการรวมตัวของชาวบ้านโดยที่ชาวบ้านจะนำวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเผือก มัน ฟักทอง กล้วย ข้าวสาร ถั่ว เครื่องปรุง ข่าตะไคร้ หอมกระเทียม เมล็ดผักชี ยี่หร่า เกลือ น้ำตาล กะทิ โดยวัตถุดิบทั้งหมดจะถูกกวนในกระทะเหล็กใช้เวลาเกือบ 6-7 ชั่วโมง โดยต้องกวนตลอด จนกระทั่งสุกแห้ง เมื่อเสร็จเรียบร้อยมีการแจกจ่ายแบ่งปันให้แก่ชาวบ้าน ภาพที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความสัมพันธ์และสามัคคีของคนในชุมชน
1. นางสาวรุสนี ดาวาลี มีความชำนาญ การทำเกษตรอินทรีย์ ได้รับความรู้จากการฟังยูทูปเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ แล้วนำมาปรับใช้ในพื้นที่
อาหาร "ขนมมาดูฆาตง" หรือ "ขนมรวงผึ้ง" ทำมาจากแป้งข้าวเหนียว แป้งข้าวจ้าว น้ำกะทิ น้ำตาลและเกลือ วิธีทำ นำแป้งข้าวเหนียว แป้งข้าวจ้าว และน้ำกะทิมาผสมรวมกัน แล้วนวดให้เหนียว จากนั้นพักแป้งทิ้งไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง นำไปปั้นกับซี่ไม้ไผ่ นำไปย่างให้สุกเหลือง แล้วนำมาราดน้ำกะทิอีกครั้งจึงคลุกกับน้ำตาลทรายขาวผสมงา เคล็ดลับความหอมอร่อยอยู่ที่ถ่านที่ใช้ในการย่าง ซึ่งที่ร้านจะใช้ถ่านกะลามะพร้าวย่างทำให้ขนมมีความหอมไม่เหมือนใคร เล่าให้ฟังว่า ครอบครัวของตนขายขนมมาดูฆาตงมากว่า 30 ปี จนสามารถส่งลูกเรียนระดับมหาวิทยาลัยได้ ทั้งนี้ยังขาดการประชาสัมพันธ์ และการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ และส่งเสริมให้ประชาชนได้ร่วมกันอนุรักษ์ศิลปะ วัฒนธรรมประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนการรักษาอัตลักษณ์ชุมชนและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ตลอดจนเพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ และกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ให้ดีขึ้น
ภาษาที่ใช้พูด : ภาษามลายูท้องถิ่น
ภาษาที่ใช้เขียน : ภาษาไทยกลาง
สถานการณ์การใช้ภาษาของผู้คนในชุมชนส่วนมากใช้ภาษามลายูท้องถิ่นและบางส่วนใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร
การเปลี่ยนแปลงค่านิยมเรื่องของสิทธิสตรีมากขึ้น สตรีจะมีบทบาทในสังคมไทยมากขึ้น แนวโน้มครอบครัวมีขนาดเล็กลง ความสัมพันธ์ในครอบครัวระบบเครือญาติลดลง หน้าที่การอบรมเลี้ยงดูบุตร หรือการขัดเกลาทางสังคมลดลง สถาบันการศึกษามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางการผลิตบุคคลเข้าสู่อาชีพ และตลาดแรงงานที่ขาดแคลนมากขึ้น มุ่งเน้นการสร้างครอบครัวให้เข้มแข็ง ชุมชนและสังคมได้รับการพัฒนาแบบยั่งยืนมากขึ้น แนวโน้มด้านการเมืองมีลักษณะสำคัญ คือ ประชาชนมีส่วนร่วมทางการการเมืองการปกครองมากขึ้น ระบบการตรวจสอบการทำงานของข้าราชการและนักการเมืองจะมีประสิทธิภาพ ประชาชนเข้าใจสิทธิเสรีภาพ รู้จักใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเองและส่วนรวม
ในชุมชนบ้านบือมัง มีศูนย์การเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง และการเลี้ยงผึ้งชันโรง เปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้ามาเรียนรู้
คอรีเย๊าะ มะหะมะ. (10 กุมภาพันธ์ 2566). ข้อมูลชุมชนบ้านบือมัง. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)
อารมัน ดาวาลี. (10 กุมภาพันธ์ 2566). ภูมิปัญญา, ปราชญ์ชุมชน. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)
รุสนี ดาวาลี. (10 กุมภาพันธ์ 2566). สภาพแวดล้อม, ประชากร. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)