บ้านท่าไทร ชุมชนเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของคนในชุมชนมาตั้งแต่ก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
บ้านท่าไทร ชุมชนเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของคนในชุมชนมาตั้งแต่ก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
ประชาชนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชนบ้านท่าไทรยุคแรกเริ่ม คือชาวบ้านที่อพยพมาจากพื้นที่บริเวณรอบทะเลสาบสงขลา โดยเฉพาะเมืองสงขลา สําหรับชื่อชุมชนบ้านท่าไทรนั้น ว่ากันว่าในอดีตการไปมาหาสู่กับชุมชนหรือหมู่บ้านอื่น ๆ สามารถทําได้ 2 ทาง คือ ทางบก ด้วยการเดินเท้า และทางน้ำโดยการใช้เรือ ก่อนที่ชุมชนเมืองหาดใหญ่จะเกิดขึ้น ชุมชนบ้านท่าไทรได้มีการติดต่อไปมาหาสู่ซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินค้ากับเมืองสงขลา โดยใช้เรือในการเดินทาง ดังนั้นตลอดแนวคลองอู่ตะเภาจึงบริเวณที่เรียกว่า “หน้าท่า” เป็นพื้นที่สำหรับให้เรือเข้ามาจอดเทียบเพื่อรับส่งสินค้าและผู้โดยสาร
เมื่อครั้งญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่สงขลาเพื่อจะเคลื่อนทัพเข้าสู่มาลายูนั้น จำเป็นต้องใช้เส้นทางรถไฟในการเคลือนทัพ ญี่ปุ่นจึงต้องให้ทหารตั้งกองกําลังไว้ที่บริเวณสะพานแห่งนี้เพื่อรักษาจุดยุทธศาสตร์ที่สําคัญ ซึ่งมีถึง 3 แห่ง คือ สะพานดำ สะพานยาว และสะพานข้ามคลองอู่ตะเภา บริเวณริมคลองอู่ตะเภาใกล้กับสะพานแห่งนี้ จึงเป็นหน้าท่าสําหรับจอดเรือที่มีขนาดขนาดใหญ่ และมีความคึกคักมากในสมัยนั้น มีการนําสินค้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างชาวบ้านกับชาวบ้าน และชาวบ้านกับทหารญี่ปุ่น และด้วยเหตุที่บริเวณแห่งนี้มีต้นไทรขึ้นอยู่ริมคลอง ชาวบ้านสมัยก่อนจึงเรียกหน้าท่าแห่งนี้ว่า “หน้าท่าต้นไทร” ซึ่งต่อมาก็ได้เพี้ยนมาเป็น “บ้านท่าต้นไทร” และ “บ้านท่าไทร” ตามลําดับ ต่อมาภายหลังจากญี่ปุ่นแพ้สงครามและยกกองกําลังกลับไป ความสําคัญของหน้าท่าแห่งนี้ก็ลดความสําคัญลง ในสมัยนั้นมีชาวบ้านชุมชนบ้านท่าไทรทั้งหมดอาศัยอยู่ประมาณ 69 ครัวเรือน ต่อมาประชากรในชุมชนบ้านท่าไทรได้ขยายอาณาเขตกลายกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ และมีการแบ่งชุมชนออกเป็น 2 ส่วน คือ ชุมชนบ้านท่าไทร 1 และ ชุมชนบ้านท่าไทร 2 โดยพื้นที่ที่ประชาชนย้ายเข้ามาอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นนั้น ส่วนใหญ่เป็นที่ดิน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2520 มีชาวบ้านจากบ้านหารเทา เกาะนางคํา จังหวัดพัทลุง หัวเขาแดง จังหวัดสงขลา และที่อื่น ๆ อีกหลายแห่ง ซึ่งส่วนมากจะเป็นชาวมุสลิมได้เดินทางเข้ามาจับจองเอาที่ดิน แล้วปลูกสร้างบ้านอาศัยอยู่แบบชั่วคราว หลังจากนั้นชุมชนบ้านท่าไทรก็ได้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็วในปี กระทั่งในปี พ.ศ. 2540 บ้านท่าไทรมีจำนวนประชากรถึง 1,500 ครัวเรือน
ที่ตั้งชุมชน
ชุมชนบ้านท่าไทร หมู่ที่ 1 เป็นส่วนหนึ่งของเทศบาลตําบลคลองแห อําเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลามีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่และชุมชนข้างเคียง ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 2 ชุมชนบ้านหนองบัว เทศบาลตําบลคลองแห
- ทิศใต้ ติดต่อกับ เทศบาลนครหาดใหญ่ มีเส้นทางรถไฟเป็นแนวเส้นเขต
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 4 ชุมชนบ้านคลองเตย เทศบาลตําบลคลองแห
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ องค์การบริหารส่วนตําบลคลองอู่ตะเภา โดยมีคลองอู่ตะเภาเป็นเส้น กั้นเขต
ลักษณะภูมิประเทศ
บ้านท่าไทรเป็นชุมชนเก่าแก่ สภาพชุมชนเป็นที่ราบลุ่มสลับทุ่งนา ประกอบด้วย ห้วย หนอง คลอง และบึงน้ำธรรมชาติ ด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกถูกปิดกั้นทางน้ำโดยแนวถนนหลวง ทิศใต้มีแนวเส้นทางรถไฟ ทิศตะวันตกติดคลองอู่ตะเภาตลอดแนว เมื่อน้ำในคลองอู่ตะเภาล้นตลิ่งจะไหลเข้าสู่ชุมชน ทำให้บ้านท่าไทรต้องประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่ตลอด มีแหล่งน้ำสำคัญ ได้แก่ คลองอู่ตะเภา และคลองลำห้วย
คลองอู่ตะเภาเป็นลําคลองกั้นแนวเขตแดนระหว่างบ้านท่าไทรกับองค์การบริหารส่วนตำบลคลองอู่ตะเภา โดยน้ำจากคลองอู่ตะเภานี้จะไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา ในอดีตลําคลองแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์มากชาวบ้านใช้ประโยชน์จากลําคลองหลายอย่าง โดยเฉพาะการใช้น้ำเพื่อการเกษษตร ต่อมาเมื่อหมู่บ้านมีความเจริญมากขึ้น อาชีพเกษตรกรรมลดน้อยลง ชาวบ้านก็ให้ความสําคัญกับคลองแห่งนี้น้อยลง ลําคลองจากที่เคยให้ประโยชน์กับชาวบ้าน แปรสภาพกลายเป็นที่รองรับน้ำเสียจากชุมชนและโรงงาน บางครั้งส่งกลิ่นเหม็นเน่าทําให้มีผลต่อมลภาวะและสิ่งแวดล้อมในบริเวณใกล้เคียง อีกทั้งเมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วมยังประสบกับปัญหาดินเซาะตลิ่ง ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณริมคลองเป็นอย่างมาก
คลองลําห้วยเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่อยู่บริเวณกึ่งกลางหมู่บ้าน ในอดีตชาวบ้านใช้เป็นที่จับสัตว์น้ำเพื่อการเลี้ยงชีพ ในคลองลําห้วยมีวัชพืชจําพวกกกและผักตบชวาอยู่มาก ทำให้น้ำในคลองลำห้วยประสบกับภาวะตื้นเขิน และถูกใช้ประโยชน์น้อยลง
ลักษณะการตั้งบ้านเรือน
การตั้งบ้านเรือนในยุคแรก กระจัดกระจายอยู่ตามแนวขอบด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้าน คือ ริมคลองอู่ตะเภา พื้นที่ส่วนอื่น ๆ ที่อยู่ถัดมาทางทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศใต้ แทบจะไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ เนื่องจากชาวบ้านใช้บริเวณนี้เป็นพื้นที่ทางการเกษตรเพื่อเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์
เนื่องจากหมู่บ้านท่าไทรทางด้านทิศใต้มีเส้นทางรถไฟเป็นแนวแบ่งเขต ดังนั้น ที่ดินส่วนมากที่อยู่ริมทางรถไฟจึงเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2520 เริ่มมีชาวบ้านจากพื้นที่อื่นเข้ามาจับจองที่ดินเพื่อปลูกสร้างอาคารพักอาศัย ทำให้ชุมชนมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ต่อมาได้มีการจัดแบ่งชุมชนออกเป็น 2 ส่วน ในส่วนที่เป็นชุมชนเดิม คือ บ้านท่าไทร 1 และในส่วนที่เป็นชุมชนเกิดใหม่ริมทางรถไฟเรียกว่า บ้านท่าไทร 2 หรือชุมชนสะพานดํา ลักษณะการตั้งบ้านเรือนของชุมชนในหมู่บ้านของทั้ง 2 ส่วน จึงมีลักษณะที่แตกต่างกัน
บ้านท่าไทร 1 จะเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของชาวท้องถิ่นเดิม ประชาชนในบริเวณนี้ส่วนใหญ่จะถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของตนเอง จึงตั้งบ้านเรือนแยกห่างกันเป็นหลัง ๆ พอมีลูกหลานก็มักแบ่งที่ดินให้ลูกหลานสร้างบ้านหลังต่อ ๆ ไป ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในระยะที่ใกล้เคียงกัน ลักษณะของที่พักอาศัยของประชาชนกลุ่มนี้มีหลายรูปแบบ ถ้าเป็นบ้านเรือนที่ปลูกสร้างมาแต่เดิม จะเป็นบ้านไม้มีใต้ถุน แต่หากเป็นบ้านเรือนที่ปลูกสร้างใหม่ซึ่งในปัจจุบันมีจํานวนค่อนข้างมาก จะปลูกสร้างเป็นแบบบังกะโลชั้นเดียวและสองชั้น หรือเป็นห้องแถวติดต่อกัน ลักษณะอาคารเป็นแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก
ส่วนบ้านท่าไทร 2 เป็นพื้นที่ฝั่งของชาวบ้านที่ย้ายมาจากถิ่นอื่น ซึ่งเริ่มปรากฏเด่นชัดเมื่อมีการก่อสร้างถนนลพบุรีราเมศวร์แล้วเสร็จ และเมื่อมีการเปิดเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างชุมชนกับเทศบาลนครหาดใหญ่โดยการทําถนนลอดผ่านสะพานเส้นทางรถไฟ การตั้งบ้านเรือนของผู้ที่เข้ามาอยู่ใหม่จะอาศัยรวมตัวกันอย่างหนาแน่นบริเวณรอยต่อระหว่างชุมชนบ้านท่าไทร 2 กับเทศบาลนครหาดใหญ่ การปลูกสร้างบ้านเรือนของชาวบ้านกลุ่มนี้ ในระยะแรกเป็นลักษณะของการเข้ามาจับจองที่ดิน แล้วปลูกสร้างอาคารแบบชั่วคราวพักอาศัย ต่อมาจึงค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนเป็นสร้างเป็นอาคารถาวร ลักษณะโครงสร้างทั่วไปส่วนใหญ่เป็นแบบครึ่งไม้ครึ่งปูน และคอนกรีตเสริมเหล็ก มีลักษณะเป็นห้องแถวติดกัน
การคมนาคม
ในอดีตเส้นทางการคมนาคมติดต่อระหว่างบ้านท่าไทรกับชุมชนอื่นมี 2 เส้นทาง คือ ทางเรือ โดยใช้เส้นทางคลองอู่ตะเภาสู่ตลาดสดหาดใหญ่ใน และทางบก คือ ถนนดินเดิมตามแนวริมคลองอู่ตะเภา ปัจจุบันมีถนนทางหลวงแผ่นดินตัดผ่าน ถนน รพช. ถนนคอนกรีต ผ่านชุมชนบ้านท่าไทร และสามารถเชื่อมโยงไปยังสถานที่ต่าง ๆ ได้ เส้นทางเรือและถนนดินเดิมตามแนวริมคลองอู่ตะเภาก็ถูกยกเลิกไป ภายในชุมชนมีถนนคอนกรีต ถนนลาดยาง และถนนดินลูกรังต่อเนื่องถึงกันโดยตลอด
สถานที่สำคัญ
ชุมชนบ้านท่าไทรมีสถานที่สำคัญมากมายหลายแหล่ง ทั้งสถานที่สำคัญทางศาสนา การศึกษา และการสาธารสุข ได้แก่ สำนักสงฆ์สว่างวงค์ มัสยิดสำราญสุข มัสยิดสะพานดำ โรงเรียนบ้านท่าไทร และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านท่าไทร
ประชากรชุมชนบ้านท่าไทร หมู่ที่ 1 เทศบาลตำบลคลองแหง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ข้อมูลประชากร ณ ปี พ.ศ. 2566 ระบุว่า มีจำนวน 7,017 คน เป็นชุมชนที่มีจำนวนมากที่สุดเป็นอันดับสองในเขตเทศบาลตำบลคลองแหรองจากชุมชนบ้านคลองเตย ภายในชุมชนบ้านท่าไทรประกอบด้วยประชากรถึง 3 เชื้อชาติ ได้แก่ ไทย มุสลิม และจีน
จีน, มลายูการเมืองการปกครอง
บ้านท่าไทรเป็นส่วนหนึ่งของตําบลคลองแห ในยุคแรกที่ทางราชการเริ่มมีการแบ่งเขตการปกครอง เพื่อให้เกิดความสงบสุขในหมู่บ้านนั้น เนื่องจากบ้านท่าไทรเป็นหมู่บ้านที่มีประชากรอาศัยอยู่มากกว่าหมู่บ้านอื่น กํานันที่ทําหน้าที่ปกครองหมู่บ้านสมัยนั้นจึงเป็นคนในหมู่บ้านท่าไทร ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 องค์การบริหารส่วนตําบลคลองแห ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเทศบาลตําบลคลองแห จึงเริ่มมีการแบ่งชุมชนบ้านท่าไทรออกเป็น 2 ส่วน คือ ชุมชนท่าไทร 1 และชุมชนท่าไทร 2 และมีบางส่วนที่แยกไปรวมกับพื้นที่ในหมู่ที่ 2 เกิดเป็นชุมชนใหม่ คือชุมชนบ้านหนองบัว และชุมชนปรีด์เปรม ประกอบด้วยพื้นที่หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 2 บางส่วนรวมกัน
การประกอบอาชีพ
ในอดีตชุมชนบ้านท่าไทรเป็นชุมชนเกษตรกรรม เพราะชาวบ้านทุกครัวเรือนประกอบอาชีพเกษตรเป็นหลัก อาชีพดั้งเดิมของชุมชนบ้านท่าไทร คือ การทํานา ทําสวน ประมงน้ำจืด รองลงมา คือ รับจ้าง ต่อมาเมื่อชุมชนมีความเจริญขึ้น การขยายตัวของสังคมเมืองจากอําเภอหาดใหญ่เริ่มเข้าสู่บ้านท่าไทรมาก ขึ้นทําให้อาชีพเกษตรกรรมค่อย ๆ หมดไปจากสังคมชุมชนบ้านท่าไทร ซึ่งปัจจุบันอาชีพหลักที่มีความสำคัญกับชาวบ้านท่าไทรมากที่สุด คือ อาชีพในภาคธุรกิจ บริษัท ห้างร้าน อสังหาริมทรัพย์ การค้าขาย และรับจ้าง
อาชีพรับจ้าง ถือได้ว่าเป็นอาชีพที่สมาชิกในชุมชนยึดถือเป็นอาชีพหลักกันมาก เนื่องจากบ้านท่าไทรตั้งอยู่ติดกับย่านธุรกิจ คือ เทศบาลนครหาดใหญ่ และในส่วนของเทศบาลตําบลคลองแหเองก็มีย่านธุรกิจ เกิดขึ้นมากมาย จึงเป็นแหล่งการจ้างงานสำคัญให้ประชากรในชุมชนมีโอกาสเข้าไปทํางานในสถานที่ดังกล่าวได้มากกว่าคนจากท้องถิ่นอื่น เพราะการเป็นคนในพื้นที่ และอยู่ใกล้กับสถานประกอบการ
กลุ่มชุมชน
- กลุ่มแม่บ้านอาชีพ: กลุ่มแม่บ้านอาชีพเกิดจากการเข้ามาสนับสนุนของเกษตรกรอําเภอเพื่อสอนผลิตน้ำยาล้างจาน แต่มีผลตอบรับไม่ดีเท่าที่ควร ภายหลังจึงเปลี่ยนมาทำขนมแล้วนำไปวางจำหน่ายตามร้านค้า และตามงานเทศกาลต่าง ๆ สมาชิกในกลุ่มจะเป็นสมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ซึ่งได้มารวมกลุ่มกันประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้กับตัวเอง และครอบครัว สมาชิกส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรในพื้นที่ชุมชนบ้านท่าไทรที่ว่างงาน
- กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร: จัดตั้งขึ้นเพื่อร่วมดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมทางการเกษตร เคหกิจเกษตร ประเพณีวัฒนธรรม ตลอดจนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต การเพิ่มรายได้ และพัฒนาหมู่บ้าน
- กลุ่มตัดเย็บที่นอนเด็ก: กลุ่มอาชีพตัดเย็บที่นอนเด็กบ้านท่าไทรก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2540 จากการรวมตัวกันของสมาชิกในชุมชนบ้านท่าไทร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับสมาชิก เป็นกลุ่มชุมชนที่เกิดขึ้นจากการที่ประชาชนในชุมชนตระหนักในปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกันด้านเศรษฐกิจ สังคม และต้องการมุ่งเน้นพัฒนาคนในชุมชน เพื่อยกคุณภาพชีวิตให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงได้รวมกลุ่มกันเองขึ้นมา
ชุมชนบ้านท่าไทรเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรมที่ประกอบด้วยประชากรหลากหลายเชื้อชาติ ได้แก่ กลุ่มชาวพุทธ มุสลิม และชาวจีน แต่ละกลุ่มล้วนแต่มีลักษณะของประเพณีที่แตกต่างกันตามแนวทางของศาสนา แต่จะมีประเพณีสำคัญซึ่งเป็นประเพณีร่วมของคนในชุมชนทุกเชื้อชาติ รวมถึงประชาชนทั่วไปในพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ ประเพณีสารทเดือนสิบ ประเพณีชักพระ และประเพณีสงกรานต์ หรือบุญเดือนห้า
- ประเพณีสารทเดือนสิบ: จะทำปีละ 2 ครั้ง คือ ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และอีกครั้งหนึ่งในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10
- ประเพณีชักพระ: เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ประเพณีลากพระ” จัดขึ้นทุกปีในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 หลังเทศกาลออพรรษา
- ประเพณีสงกรานต์: จัดขึ้นในวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี
ชาวไทยพุทธ : ภาษาถิ่นใต้ และภาษาไทยกลาง
ชาวไทยมุสลิม: ภาษามลายู ภาษาถิ่นใต้ และภาษาไทยกลาง
ชาวไทยเชื้อสายจีน: ภาษาไทยกลาง
กรีธา พันธุฤกษ์. (2551). การศึกษากระบวนการดํารงอยู่ของกลุ่มชุมชนที่เข้มแข็ง: กรณีศึกษากลุ่มชุมชนในชุมชนบ้านท่าไทร หมู่ที่1 เทศบาลตำบลคลองแห อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขายุทธศาสตร์การพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา.
โรงเรียนบ้านท่าไทร. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://map.longdo.com/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566].
มัสยิดสำราญนุข บ้านท่าไทร. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์] ได้จาก: https://th.placedigger.com/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566].