Advance search

บางไส้ไก่บ้านสมเด็จ

บ้านลาว

ชุมชนชาวลาวเวียงจันทน์อายุเก่าแก่กว่า 200 ปี เป็นแหล่งผลิตขลุ่ยเรียกว่า "ขลุ่ยบ้านลาว" มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ตลอดจนปัจจุบัน ทั้งนี้ภายในพื้นที่ยังมีแหล่งผลิตหัวโขนที่มีชื่อว่า "บ้านศิลปะไทย"

ถนนอิสรภาพ 15
หิรัญรูจี
ธนบุรี
กรุงเทพมหานคร
กนกวรรณ อินต่าย
19 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
14 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
27 เม.ย. 2023
บางไส้ไก่บ้านสมเด็จ
บ้านลาว

ชื่อบ้านลาวหรือหมู่บ้านลาวนั้นมีที่มาจากการเรียกชุมชนที่มีชาวลาวอาศัยอยู่ ส่วนชื่อบางไส้ไก่บ้านสมเด็จนั้นเพี้ยนมาจากคำว่า "จักกาย" ที่แปลว่าทัพ และต่อมาได้เพี้ยนเป็นคำว่า "สะกาย" จนกลายมาเป็นคำว่า "ไส้ไก่" ในที่สุด ส่วนคำว่า "บาง" นั้นเป็นคำที่ไว้ใช้เรียกลักษณะของถิ่นอาศัย


ชุมชนชาวลาวเวียงจันทน์อายุเก่าแก่กว่า 200 ปี เป็นแหล่งผลิตขลุ่ยเรียกว่า "ขลุ่ยบ้านลาว" มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ตลอดจนปัจจุบัน ทั้งนี้ภายในพื้นที่ยังมีแหล่งผลิตหัวโขนที่มีชื่อว่า "บ้านศิลปะไทย"

ถนนอิสรภาพ 15
หิรัญรูจี
ธนบุรี
กรุงเทพมหานคร
10600
วัดบางไส้ไก่ โทร. 0-2466-1484, สำนักงานเขตธนบุรี โทร. 0-2465-0025
13.73248865475526
100.48930671647362
กรุงเทพมหานคร

ชุมชนบางไส้ไก่บ้านสมเด็จ หรือบ้านลาว เป็นชุมชนเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี โดยบรรพบุรุษของชาวบางไส้ไก่บ้านสมเด็จนั้นเป็นชาวลาวเวียงจันทน์ที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวน 2 ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2321 ตรงกับสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดเนื่องมาจากมีกบฏขึ้นทางเมืองเวียงจันทน์ โดยทางเวียงจันทน์นั้นไม่ให้ความร่วมมือต่อไทยในการปราบพม่า ทำให้ไทยต้องยกทัพไปปราบอาณาจักรล้านช้าง ส่งผลให้เวียงจันทน์ตกเป็นของไทย หลังเหตุการณ์นี้มีการอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานในไทยและกวาดต้อนชาวลาวเวียงจันทน์เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่กรุงธนบุรี ชาวลาวบางส่วนได้อ้างว่าการเข้ามาในไทยเพราะติดตามพระแก้วมรกต จุดนี้แสดงให้เห็นนัยยะทางความคิดว่าตนไม่ใช่เชลยที่ถูกกวาดต้อนมา โดยชาวลาวเวียงจันทน์ที่ถูกกวาดต้อนมานั้นได้สร้างบ้านเรือนติดลำคลองเพื่อประกอบอาชีพได้อย่างสะดวก อีกทั้งอยู่ใกล้กับการดูแลของทางการไทย

การเข้ามาครั้งที่สองนั้นเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ในปี พ.ศ. 2367 เกิดเหตุการณ์กบฏเจ้าอนุวงศ์ มีการกวาดต้อนชาวเวียงจันทน์ และชาวลาวที่อาศัยอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงเข้ามาอยู่อาศัยในไทยโดยมีการตั้งบ้านเรือนอยู่ทางภาคกลาง และภาคอีสานของไทย บางส่วนมีการเข้ามาอยู่อาศัยที่บ้านลาวหรือชุมชนบางไส้ไก่บ้านสมเด็จ และนำเอาภูมิปัญญาการทำเครื่องดนตรีพื้นบ้านอย่างแคน และขลุ่ยเข้ามา 

ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์โปรดการขับร้องเพลงลาว และการเป่าแคน พระองค์ได้ชุบเลี้ยงชาวลาวเหล่านั้นไว้ในวัง แต่เมื่อชาวไทยได้หันมาเป่าแคนแทนดนตรีไทยทำให้ รัชกาลที่ 4 ได้ออกประกาศห้ามไม่ให้เล่นเพลงลาวและเป่าแคน ในปี พ.ศ. 2401 เนื่องด้วยพระองค์เกรงว่าอิทธิพลดนตรีของลาวจะมากขึ้นจนทำให้ดนตรีไทยเสื่อมถอย ชาวลาวบางไส้ไก่ที่จากเดิมมีการผลิตแคนจึงหันมาผลิตขลุ่ยแทน จนในช่วงของรัชกาลที่ 5 ขลุ่ยบ้านลาวได้พัฒนาคุณภาพยิ่งขึ้นเนื่องจากได้รับการแนะนำในการผลิตจาก พระองค์เจ้าสนิทพงษ์พัฒนเดช และชาวบ้านได้ยึดถือการทำขลุ่ยเป็นอาชีพเรื่อยมา รวมถึงมีการประกอบอาชีพตามเดิมที่เคยทำเมื่อครั้งอาศัยอยูที่เวียงจันทน์ เช่น การเลี้ยงไหม ทำสวน ค้าขาย แต่ปัจจุบันอาชีพผลิตขลุ่ยนั้นมีน้อยลงมาก เนื่องจากการทำขลุ่ยนั้นต้องมีการใช้ตะกั่วในการผลิต ซึ่งส่งผลก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ผลิต ทำให้ชาวบ้านนั้นเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่นจำนวนมาก

ชุมชนบางไส้ไก่บ้านสมเด็จมีพื้นที่ราว 11 ไร่ ตั้งอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาโดยชุมชนจะอยู่ติดกับคลองบางไส้ไก่ 

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา 
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ชุมชนสามัคคีศรีสุพรรณ
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ชุมชนมัสยิดบ้านสมเด็จ
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ วัดบางไส้ไก่

บรรพบุรุษอพยพมาจากเมืองเวียงจันทน์ ปัจจุบันยังคงประกอบอาชีพทำขลุ่ยอยู่ ซึ่งชาวลาวที่ชุมชนบางไส้ไก่นี้มีความสัมพันธ์ไปมาหาสู่กับคนลาวที่สระบุรี

ลาวเวียง
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชุมชนบางไส้ไก่บ้านสมเด็จนั้นเป็นชุมชนที่ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธที่ค่อนข้างเข้มแข็ง ทำให้รูปแบบของวิถีชีวิตนั้นจะเป็นไปตามวันสำคัญทางศาสนา อาทิ วันเข้าพรรษา ออกพรรษา ในอดีตมีงานประเพณีแบบชาวลาวเวียง อาทิ ประเพณีบุญข้าวจี่ บุญบั้งไฟ เป็นต้น

1. คุณมงคล โคมปิ่น  เป็นผู้เชี่ยวชาญในการผลิตขลุ่ยบ้านลาวที่ได้รับภูมิปัญญาสืบต่อมาจากบรรพบุรุษ โดยยังคงอนุรักษ์วิธีการทำขลุ่ยแบบดั้งเดิมมีการพัฒนาปรับใช้วัสดุอื่น ๆ เข้ามาแทนที่ไม้ไผ่ และให้ความอนุเคราะห์แก่นิสิตนักศึกษาผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาศึกษาการทำขลุ่นบ้านลาว

2. คุณเจริญ กิจราษฎร์  เป็นผู้ผลิตหัวโขนบ้านศิลปะไทยมีความรู้ความชำนาญในการประดิษฐ์หัวโขน โดยเดิมทีมีการผลิตเป็นหัวโขนขนาดเล็กทำจากกระดาษหนังสือพิมพ์เพื่อจำหน่ายในงานวัด และพัฒนาจนเป็นหัวโขนขนาดจริงที่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจึงมาการผลิตเรื่อยมา แต่เนื่องจากหัวโขนได้รับความนิยมน้อยลงจึงมีการผลิตสินค้าอื่น ๆ เช่น เครื่องประดับละครไทย ของที่ระลึกต่าง ๆ เป็นต้น

ทุนวัฒนธรรมและภูมิปัญญา

1. วัดบางไส้ไก่ เป็นวัดที่ตั้งอยู่หลังมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาโดยเดิมมีชื่อว่า วัดลาว ต่อมาทางหน่วยงานราชการมีการเปลี่ยนชื่อเป็น วัดบางไส้ไก่ ซึ่งวัดนี้ถูกสร้างโดยเจ้านนทเสน และชาวลาวเวียงจันทน์ที่ถูกกวาดต้อนมาอาศัยในประเทศไทย โดยภายในวัดจะมีศาลพ่อปู่-พ่อตา ท้าวนนทะเสน-ท้าวอินทะเสน ที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของวัดกับกลุ่มชาวลาวที่อาศัยอยู่ในพื้นที่

2. ขลุ่ยบ้านลาว เป็นสินค้าขึ้นชื่อของชุมชนในอดีตมีการใช้ไม้ไผ่รวกที่มีลำไผ่ตรงยาวปล้องไม่ห่างกัน โดยขลุ่ยบ้านลาวนี้จะมีลักษณะที่ต่างจากพื้นที่อื่น ๆ คือ ลวดลายบนขลุ่ย ที่มีการใช้ตะกั่วที่หลอมเหลวเทราดบนตัวขลุ่ยเป็นลวดลายต่าง ๆ โดยลายหลักจะมี 7 ลาย คือ ลายหิน ลายกระจับ ลายดอกพิกุล ลายรดน้ำ ลายรมดำ ลายหกคะเมน ลายตลก ในปัจจุบันการผลิตขลุ่ยแบบดั้งเดิมนี้ไม่มีแล้วเนื่องจากตะกั่วนั้นจัดเป็นโลหะหนักที่เป็นอันตรายแก่ผู้ผลิตและคนในชุมชน การผลิตปัจจุบันมีการใช้พลาสติกเข้ามาแทนที่

3. หัวโขนบ้านศิลปะไทย มีนางเจริญ กิจราษฏร์ เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายโดยจะมีตั้งแต่หัวโขน เครื่องประกอบการเล่นโขน ละคร ตุ๊กตากระดาษ โดยรูปแบบการทำหัวโขนของบ้านศิลปะไทยนั้นจะมีการใช้ดินมาปั้นเป็นหน้าหุ่น และนำมาหล่อเป็นหุ่นถาวร จากนั้นจะใช้กระดาษสาป้ายแป้งข้าวเจ้าแปะลงไปที่ตัวหุ่นจนทั่ว และนำไปตากแดด 1-2วัน เพื่อให้มั่นใจว่าหุ่นนั้นแห้งจึงผ่าเอากระดาษออกจากหุ่น และตกแต่งตัดขอบต่างๆ และตกแต่งปั้นหน้า และนำไปตากแดดอีกครั้งพร้อมนำมาลงสีตกแต่งเป็นตัวละครนั้น ๆ ผลงานบ้านศิลปะไทยได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ในฐานะผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมภาคกลาง สาขาศิลปะการช่างศิลปะและการช่างฝีมือประจำปี 2535

4. อาหาร ชาวลาวบางไส้ไก่นั้นมีวัฒนธรรมการทานอาหารที่คล้ายคลึงกับชาวอีสานของไทย แต่ด้วยรูปแบบการดำเนินชีวิต และระยะเวลาที่เข้ามาอยู่อาศัยทำให้รูปแบบการรับประทานอาหารไม่ได้แตกต่างไปจากชาวไทยภาคกลางแต่ยังคงมีอาหารที่โด่ดเด่น

  • ปลาส้ม ที่เดิมนิยมนำปลาตะเพียนมาใช้ในการถนอมอาหาร ซึ่งปัจจุบันในชุมชนนั้นคงเหลือเพียง 2-3 ครัวเรือนเท่านั้นที่สืบสานสูตรการทำปลาส้มมาจากบรรพบุรุษ โดยปกติจะทำเพื่อรับประทานกันในครอบครัว และทำในงานบุญสำคัญ ๆ เท่านั้น โดยรูปแบบของปลาส้มที่หมู่บ้านลาวนี้จะมีรสชาติแตกต่างไปจากท้องตลาด แต่จะคล้ายกับปลาส้มของพื้นที่ที่ชาวลาวเวียงจันทน์ได้ไปอาศัยอยู่  
  • ต้มซั่วไก่ เป็นอาหารโบราณที่สืบทอดต่อกันมาในพื้นที่โดยรับอิทธิพลมาจากชาวลาวเวียงจันทน์ที่เข้ามาอยู่อาศัย นิยมทำกันในช่วงเทศกาลสำคัญ หรือช่วงออกพรรษา เข้าพรรษา ซึ่งจะทำเพื่อรับประทานกันในครอบครัวเท่านั้นไม่มีการทำขาย ทำให้ต้มซั่วไก่นี้เป็นอาหารที่เริ่มจะเลือนหายไปจากชุมชนกลุ่มคนรุ่นใหม่แทบจะไม่รู้จักหรือไม่เคยรับประทาน

ถึงแม้ว่าบรรพบุรุษของชาวชุมชนบางไส้ไก่บ้านสมเด็จนั้นจะเป็นชาวลาวเวียงจันทน์ แต่ปัจจุบันเนื่องจากการพัฒนาทางด้านต่าง ๆ และการเข้ามาอยู่อาศัยของกลุ่มคนนอกพื้นที่ทำให้ภาษาที่ใช้กันอยู่ภายในชุมชนนั้นเป็นภาษาไทยทั่วไป


การเคลื่อนย้ายของประชากร อันเนื่องจากเหตุการณ์ไฟไหม้ทำให้เริ่มมีการเคลื่อนย้าย ประชากรดั้งเดิมในชุมชนมีการย้ายถิ่นฐานไปอาศัยอยู่ภายนอก และมีกลุ่มคนจากภายนอกเข้ามาอยู่อาศัยในชุมชนมากขึ้นโดยจะเช่าพื้นที่จากเจ้าของเดิม นอกจากเหตุการณ์ไฟไหม้การย้ายออกไปอยู่อาศัยที่อื่นยังเกิดจากการพัฒนาของสังคม ชาวบ้านมีอาชีพในต่างพื้นที่มากขึ้นการออกจากชุมชนจึงเป็นสิ่งที่ตอบสนองต่อความต้องการมากกว่า ซึ่งการย้ายออกของประชากรนั้นทำให้ภูมิปัญญาวัฒนธรรมของชุมชนนั้นเริ่มหายไปภูมิปัญญาต่าง ๆ เริ่มขาดผู้สืบทอด  


ชุมชนบางไส้ไก่นั้นมีสินค้าทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นอย่างขลุ่ยบ้านลาว ที่ต้องพบกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากการผลิตแบบดั้งเดิมนั้นมีการใช้ตะกั่วในการสร้างลวดลาย แต่ปัจจุบันตะกั่วถูกห้ามใช้เนื่องจากเป็นโลหะหนักที่เป็นอันตรายต่อผู้ผลิตและชุมชน จึงไม่สามารถผลิตขลุ่ยแบบดั้งเดิมได้ ทำให้ชุมชนมีการทำขลุ่ยโดยใช้วัสดุอื่นอย่างพลาสติกเข้ามาแทนที่ 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

โครงการแผนที่วัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีชีวิต. (ม.ป.ป.). ช่างฝีมือ เขตธนบุรี. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 17 มีนาคม 2566, จาก http://livingculturalsites.com/

จิราพร แซ่เตียว. (2562). รอยลาวศรีภูมิถึงลาวบางไส้ไก่. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 17 มีนาคม 2566, จาก https://www.muangboranjournal.com/

ชลธิชา เมืองคำ. (2544). การเปลี่ยนแปลงและคงอยู่ของการทำครื่องดนตรีไทย กรณีศึกษา : การทำขลุ่ยที่ชุมชนบางไส้ไก่. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาภาษาสันสกฤต คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปกร.

นงเยาว์ อุทุมพร. (2558). การพัฒนาการบริหารจัดการแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชนเขตธนบุรี. (รายงานการวิจัย). ม.ป.ท.: ม.ป.พ.

วรรณิตา อาทิตยพงศ์. [บรรณาธิการ]. (ม.ป.ป.). วิถีชีวิต ศาสนา ชาติพันธุ์ สองฟากคลองบางหลวง หลากหลายอย่างกลมกลืน. ม.ป.ท.: ม.ป.พ.

สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา. (2550). การศึกษาองค์ความรู้และแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ย่านกุฎีจีนและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง เขตธนบุรี. (รายงานการวิจัย). กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา.