เต็มไปด้วยนาข้าว ยืนยาวต้นยางพารา พึ่งพาเศรษฐกิจพอเพียง
หมู่บ้านบาโงบูโล๊ะ มีเรื่องเล่าว่าเมื่อประมาณ 100 ปีล่วงมาแล้ว มีผัวเมียคู่หนึ่งได้ตั้งรกรากอยู่ที่นี่ และได้นำเอาต้นไผ่มาสร้างบ้านบนเนิน จึงได้เรียกชื่อบ้านของตนเองว่า “บาโงบูโล๊ะ” ซึ่งคำว่า "บาโง" หมายถึง เขาเตี้ย ๆ หรือเนิน และคำว่า "บูโล๊ะ" หมายถึง ไผ่
เต็มไปด้วยนาข้าว ยืนยาวต้นยางพารา พึ่งพาเศรษฐกิจพอเพียง
เนื่องจากพื้นที่ของหมู่บ้านบาโงส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม ในหน้าฝนน้ำจะท่วมขังเหมาะสำหรับทำนาเป็นอย่างยิ่ง พอถึงหน้าฝนชาวบ้านในละแวกนั้นจะนำสัตว์เลี้ยงทุกชนิดหนีน้ำไปเลี้ยงโดยหาพื้นที่ที่สูงกว่าซึ่งเป็นเนินเหมาะสำหรับการเลี้ยงสัตว์ในหน้าฝน คำว่า “เนิน” ภาษามลายูท้องถิ่นเรียกว่า “บาโง” เลยได้ตั้งชื่อว่า “บาโง” หมู่บ้านแห่งนี้เมื่อ 100 ปีล่วงมาแล้ว มีผัวเมียคู่หนึ่งได้ตั้งรกรากอยู่ที่นี่ และได้นำเอาต้นไผ่มาสร้างบ้านบนเนิน โดยใช้วิธีการตีปล่องไม่ไม้ไผ่ให้เป็นแผ่นที่สามารถนำมาสานเป็นผนังบ้านได้ ใช้ไม้ไผ่เป็นจำนวนมากในการสานทำผนังบ้าน ในพื้นที่แห่งนี้เป็นเนินที่เต็มไปด้วยไม้ไผ่ จึงนำไม้ไผ่มาสร้างบ้านเพื่อเป็นที่พักอาศัยยามที่ฝนตกน้ำก็ไม่ท่วม จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ คือ หมู่บ้านบาโงบูโล๊ะ "บูโล๊ะ" ในภาษามลายูแปลว่า ไผ่ ในปัจจุบันพื้นที่บ้านบาโงบูโล๊ะ เป็นหมู่บ้านที่มีศักยภาพเหมาะในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมแบบผสมผสานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประชากรมีศักยภาพในการพัฒนา มีความสามารถในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และประกอบอาหารสำเร็จรูป ประกอบกับมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่สงบ มีความรัก ความสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และเป็นหมู่บ้านที่เป็นพื้นที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบนานมาแล้ว ปัจจุบันพื้นที่สามารถควบคุมการเกิดเหตุการณ์ได้แล้ว เพราะในหมู่บ้านมีความเข้มแข็ง ปลอดภัย มีการช่วยเหลือสอดส่องดูแล และมีการบริหารจัดการที่ดี
บ้านบาโงบูโล๊ะ หมู่ที่ 6 ตำบลเนินงาม ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของตำบลบาโงย อำเภอรามัน ระยะทางจากอำเภอไปหมู่บ้าน ประมาณ 13 กิโลเมตร จากจังหวัดไปหมู่บ้าน ประมาณ 18 กิโลเมตร โดยมีอาณาเขตดังนี้
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อ บ้านไม้แก่น หมู่ที่ 2 ตำบลเนินงาม อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศใต้ ติดต่อ บ้านหมู่ที่ 4 บ้านบาโงย ตำบลบาโงย อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศตะวันออก ติดต่อ บ้านตาโงง หมู่ที่ 5 ตำบลเนินงาม อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศตะวันตก ติดต่อ บ้านมีดิง หมู่ที่ 1 ตำบลเนินงาม อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
ลักษณะการตั้งบ้านเรือนของประชาชนในหมู่บ้านบาโงบูโล๊ะ มีลักษณะ ตั้งบ้านเรือนขนานไปตามแนวทางของถนนเป็นส่วนมาก และมีบ้านที่กระจายออกไปตามพื้นที่ราบสูงและราบต่ำ มีสภาพพื้นที่และลักษณะภูมิประเทศเป็นเนินสูงและภูเขาเตี้ย ๆ อยู่ทางตอนเหนือและทางทิศตะวันตกของตำบลเ หมาะแก่การปลูกยางพารา ไม้ผล ไม้ยืนต้นและมีที่ราบลาดมาทางตอนกลางของตำบล และทางทิศตะวันออกของตำบล ซึ่งพื้นที่ราบนี้ถ้าเป็นดอนจะเหมาะแก่การปลูกยางพารา อากาศร้อนชื้นเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ มี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อน (เริ่มตั้งแต่กุมภาพันธ์ ถึงสิงหาคม) และฤดูฝน (กันยายน ถึงมกราคม) มีฝนตกตลอดช่วงฤดู และมีฝนตกชุกมากที่สุด ในระหว่างเดือนตุลาคม ถึงมกราคม
จากข้อมูลที่สำรวจโดยการเก็บข้อมูล จปฐ. ของบัณฑิตอาสา ระบุว่าบ้านบาโงบุโล๊ะมีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 206 ครัวเรือน (ข้อมูลปี 2565) จำนวนประชากร 933 คน (ข้อมูลปี 2565) ชาย 439 คน หญิง 494 คน ทั้งหมดเป็นอิสลาม คนในชุมชนส่วนใหญ่อยู่กับแบบครอบครัวในละแวกใกล้เคียงมีความหลากหลายในช่วงวัย คนในสังคมมีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้คนในสังคมมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน
มลายูอาชีพหลัก มีการประกอบอาชีพหลากหลาย ประกอบด้วย การทำนา ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ทำสวนยางพารา ปลูกไม้ผล เช่น เงาะ ทุเรียน ลองกอง มังคุด ตัดเย็บ
อาชีพเสริม การเลี้ยงโค เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา แปรรูปผลิตภัณฑ์ ขนมพื้นบ้าน และเย็บผ้า
การซื้อขายแลกเปลี่ยนภายในชุมชน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น อาหาร เครื่องปรุง เนื้อสัตว์ ผักสด ของใช้ในครัวเรือน ผ่านร้านขายของชำในชุมชน โดยมีร้านค้าภายในชุมชนจำนวน 5 ร้าน โดยนำสินค้าจากในพื้นที่และภายนอกมาจำหน่าย โดยสินค้าในชุมชนจะมีทั้งของสด ผักสวนครัวนำมาตั้งจำหน่ายตามร้านขายของชำในชุมชน และยังมีการนำสินค้าจากภายนอกมาจำหน่ายในพื้นที่และเป็นธุรกิจขนาดเล็กที่ทำให้คนในชุมชนมีรายได้นอกเหนือจากการทำเกษตร ปลูกยางปลูกทุเรียน
การซื้อขายแลกเปลี่ยนกับคนภายนอก ส่วนใหญ่เป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้จากการทำเกษตรกรรม เช่น ทุเรียน ลองกอง มังคุด หรือ ซื้อสินค้าจากรถกับข้าว รถพ่วงข้างและรถขายของอาหารสด ที่เข้ามาในชุมชนหรือตลาดนัดภายในชุมชนในช่วงเย็นและพื้นที่ตลาดนัดรอบนอก โดยมีคนในชุมชนร่วมกันนำของที่ตัวเองมีไปขายในตลาดนัดด้วย เป็นรายได้ให้คนในชุมชนอีกทาง ถึงแม้จะมีตลาดช่วงเย็นเพียงแค่ 1 วันของสัปดาห์ บางส่วนจะมีประชากรจากชุมชนใกล้เคียงมาซื้อสินค้า เรียกได้อีกอย่างหนึ่งคือเศรษฐกิจหมุนเวียนในตำบลของตนเอง
การออกไปทำงานนอกชุมชน การออกไปทำงานนอกชุมชน คิดเป็น 30% ของคนในชุมชน และที่ออกไปทำงานต่างประเทศมีอยู่ 4% ออกไปรับจ้างทำงานด้านอุตสาหกรรม พนักงานบริษัททั่วไป พนักงานราชการ รับจ้างทั่วไป แต่ยังกลับมาอาศัยอยู่ในพื้นที่ บางส่วนยังคงอาศัยอยู่ในพื้นที่เนื่องจากบ้านบาโงบูโล๊ะไม่ไกลจากตัวเมืองสักเท่าไรการออกไปทำงานนอกพื้นที่เป็นทางเลือกที่ดีอย่างหนึ่งในเศรษฐกิจในปัจจุบัน และบางส่วนมีการออกไปทำงานต่างประเทศโดยฝากลูกหลานให้ตา ยายเป็นคนดูแล ส่งเงินจากต่างประเทศมาให้ตายายเลี้ยงดู โดยมีการกลับมาในชุมชนประมาณ 5-6 เดือนกลับมาเยี่ยมเยือนครั้งหนึ่ง
ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกชุมชน สมาชิกชุมชนส่วนใหญ่อยู่กันเป็นกลุ่ม เป็นชุมชนที่มีพื้นว่างสำหรับการปลูกยาง และทุ่งนา จากการปลูกสร้างที่พักอาศัยน้อยมาก หรือระแวกใกล้เคียงกับที่อยู่อาศัย ทำให้คนในชุมชนสามารถเข้าได้ทุกกลุ่ม โดยส่วนใหญ่จะเป็นเครือญาติที่ตามมาอยู่ในชุมชน มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันในพื้นที่ตามโซนที่ตนเองอยู่ ในแต่โซนจะมีผู้ดูแลโซนนั้น ๆ เพื่อให้ง่ายในการดูแลในพื้นที่
โครงสร้างอำนาจภายในชุมชน ตามโครงสร้างการปกครอง มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ทำงานร่วมกับหน่วยงานปกครองท้องถิ่น ส่วนภายในชุมชนมีการทำโครงการต่าง ๆ จากภายนอกและงานขับเคลื่อนชุมชน โดยมีนายอาแด ดอเลาะเจะแต เป็นแกนนำชุมชน ในแต่ละชุมชนมีคนดูแลจากการแต่งตั้งจากคนในชุมชนในแต่ละโซนนั้น ๆ
การรวมกลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นการรวมกลุ่มกันตามครอบครัวและกลุ่มที่สนิทกันหรือมีช่วงวัยเดียวกัน เช่น กลุ่มแกนนำชุมชนที่ทำงานชุมชนด้านต่าง ๆ กลุ่มสตรีแปรรูปผลิตภัณฑ์ของชุมชน กลุ่มนาข้าว ร่วมกันเกี่ยวข้าวบางส่วนนำมาจำหน่ายให้คนในพื้นที่และเก็บไว้ในครัวเรือนตัวเอง กลุ่มเด็กและเยาวชน รวมตัวกันเพื่อจัดกิจกรรมทางศาสนา และทำกิจกรรมร่วมกันในชุมชน ส่วนกลุ่มที่ไม่เป็นทางการส่วนมากมีความคล้ายคลึงกับทุกพื้นที่ในละแวกเดียวกัน
วัฒนธรรม ประเพณี กิจกรรมวันสำคัญทางศาสนา มีดังนี้
- เมาลิดินนบี เป็นวันคล้ายวันประสูติของศาสดามูฮัมหมัด (ซล.) ศาสดาแห่งมนุษยชาติ ผู้ศรัทธาในศาสนาอิสลาม จะมีการรำลึกถึงคุณงามความดีหรือประวัติของท่านในอดีตกาล ในบรรยากาศแห่งความรักและรำลึกถึงท่านอย่างแท้จริง ซึ่งจัดในเดือน เราะบีอุลเอาวัล ซึ่งเป็นเดือนที่ 3 ในปฏิทินอิสลาม
- วันตรุษอิดิลฟิตรี หรือที่นิยมเรียกว่า “วันรายอปอซอ” เพราะหลังจากที่มุสลิมได้ถือศีลอดมาตลอดในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่ 9 ของศาสนาอิสลาม ก็จะถึงวันออกบวช ตอนเช้ามีการละหมาดร่วมกัน ทุกคนแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาด สวยงาม และมีการจ่าย “ซะกาตฟิตเราะฮ์”
- วันตรุษอิดิลอัฏฮา หรือวันรายอฮัจยี เนื่องจากมุสลิมทั่วโลกเริ่มประกอบพีธีฮัจญ์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย มีการทำกุรบานหรือการเชือดสัตว์เพื่อเป็นอาหารแก่เพื่อนบ้านและคนยากจน เพื่อขัดเกลาจิตใจให้เป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม
- การถือศีลอด เป็นหลักปฎิบัติที่มุสลิมจำเป็นต้องถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ตลอดระยะเวลา 1 เดือน มุสลิมที่มีอายุเข้าเกณฑ์ศาสนบัญญัติจะต้องงด การกิน ดื่ม การร่วมประเวณีตลอดจนทุกอย่างที่เป็นสิ่งต้องห้าม ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนกระทั่งตกดิน ทุกคนต้องสำรวมกายวาจาใจ เพราะเดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่มีประเสริฐยิ่งของศาสนาอิสลาม ซึ่งในเดือนนี้ชาวมุสลิมจะไปละหมาดที่มัสยิด ซึ่งเป็นการละหมาดที่ปฏิบัติภายในเดือนรอมฎอนเท่านั้น เรียกว่า “ละหมาดตะรอเวียะห์”
- การละหมาด เป็นการแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ ซึ่งเป็นที่ศรัทธาของชาวมุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยถือว่าเป็นการเข้าเฝ้าผู้ทรงสร้างที่ยิ่งใหญ่ การแต่งกายต้องสะอาด เรียบร้อย มีความสำรวม พระองค์กำหนดเวลาละหมาดไว้วันละ 5 เวลา
- การทำฮัจญ์ อัลลอฮห์ทรงบังคับ ให้มุสลิมที่มีความสามารถด้านกำลังกาย กำลังทรัพย์ ต้องไปทำฮัจญ์ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีขึ้นปีละครั้ง ชาวมุสลิมทั่วโลกจะเดินทางมารวมกัน เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮห์ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร มีฐานะทางสังคมอย่างไร ต้องมาอยู่ที่เดียวกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ทุกคนมีฐานะเป็นบ่าวของอัลลอฮอย่างเท่าเทียมกัน ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม
- การเข้าสุนัต เป็นพิธีกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวมุสลิม ถือกันว่ามุสลิมที่แท้จริงควรเข้าสุนัต ถ้าไม่ทำถือว่าเป็นมุสลิมที่ไม่สมบูรณ์ ไม่บริสุทธิ์ การเข้าสุนัต คือการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศของผู้ชายออก เพื่อสะดวกในการรักษาความสะอาด การเข้าสุนัตจะนิยมขลิบในช่วงเดือนเมษายนเนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคการเรียนการสอนของเด็กในพื้นที่ กิจกรรมจะมีการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศ และมีการเตรียมอาหารเป็นข้าวเหนียวสีต่าง ๆ บางพื้นที่จะมีการขลิบเป็นหมู่คณะ โดยมีเด็กในชุมชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
- ประเพณีการกวนอาซูรอ เป็นการรำลึกถึงความยากลำบากของศาสดา นบีนูฮ โดยเชื่อว่าในสมัยของท่านมีเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ น้ำท่วมโลกเป็นระยะเวลานาน ศาสดานบีนูฮ ซึ่งล่องลอยเรืออยู่เป็นเวลานาน ทำให้อาหารที่เตรียมไว้ร่อยหรอลง จึงได้นำส่วนที่พอจะมีเหลือเอามารวมกันแล้วกวนกิน จึงกลายเป็นตำนานที่มาของขนมอาซูรอ
คำว่า "อาซูรอ" คือคำในภาษาอาหรับ แปลว่า การผสม ในที่นี้หมายถึงการนำของที่รับประทานได้ทั้งของคาวและของหวานจำนวน 10 อย่าง มากวนรวมกัน ประเพณีจะจัดในวันที่ 10 ของเดือนมูฮัรรอม ซึ่งเป็นเดือนแรกของฮิจเราะห์ศักราชตามปฏิทินอิสลาม เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาปีใหม่ของมุสลิม ลักษณะกิจกรรมจะมีการรวมตัวของชาวบ้านโดยที่ชาวบ้านจะนำวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเผือก มัน ฟักทอง กล้วย ข้าวสาร ถั่ว เครื่องปรุง ข่าตะไคร้ หอมกระเทียม เมล็ดผักชี ยี่หร่า เกลือ น้ำตาล กะทิ โดยวัตถุดิบทั้งหมดจะถูกกวนในกระทะเหล็กใช้เวลาเกือบ 6-7 ชั่วโมง โดยต้องกวนตลอด จนกระทั่งสุกแห้ง เมื่อเสร็จเรียบร้อยมีการแจกจ่ายแบ่งปันให้แก่ชาวบ้าน ภาพที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความสัมพันธ์และสามัคคีของคนในชุมชน
1. นายอูมา ดอเลาะ มีความชำนาญ การทำโคกหนองนาโมเดล ได้รับแนวคิดจากหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9
อาหาร ต้นจาก เป็นพืชที่คนไทยรู้จักกันมานาน และสามารถนำต้นจากมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ตั้งแต่ใบจนถึงผล ใบจาก มีลักษณะคล้ายใบมะพร้าว แต่มีความเหนียวและกว้างกว่า ทำให้สามารถนำมาใช้เย็บเป็นตับ เรียกว่า ตับจาก แล้วนำไปมุงหลังคา กันแดดกันฝนได้เป็นอย่างดี แม้ว่าจะใช้งานไปนาน ใบจากจะกรอบเปลี่ยนจากสีเขียวเข้มเป็นสีเหลือง สีน้ำตาล กระทั่งเกือบเป็นสีดำ แต่ก็ยังคงกันฝนและแดดได้จนกว่าจะแห้งกรอบและผุไป
ใบจาก ใช้ทำหมวก ที่เรียก เปี้ยว ท่อนจากใช้ทำเชื้อเพลิง ส่วนใบจากอ่อน ตากแห้งใช้มวนยาสูบ ห่อขนมต้ม ทำที่ตักน้ำ เรียก หมาจาก ตอกบิด เสวียนหม้อ และที่สำคัญคือใช้ห่อ ขนมจาก ซึ่งเป็นขนมที่ทำจากแป้ง น้ำตาล และมะพร้าว ผสมกันจนเหลวได้ที่ แล้วนำห่อด้วยใบจากปิ้งบนไฟจนมีกลิ่นหอม แม้อาจมีการใช้ใบมะพร้าวมาห่อ แต่ก็ไม่อร่อยเท่าใช้ใบจาก นอกจากนั้น ใบจากยังใช้ต้มน้ำดื่มแก้อาการท้องร่วงได้อีกด้วย
การใช้ส่วนต่าง ๆ มาประกอบอาหาร ผลอ่อนอายุประมาณ 4 เดือน ของจาก สามารถนำมาหั่นเป็นชิ้นบาง ๆ เพื่อทำเป็นผักดอง หรือเป็นผักแกง ส่วนผลจากอายุประมาณ 5-7 เดือน นั้น เนื้อในผลจากก็สามารถนำมากินได้โดยทำขนมหวานน้ำเชื่อม ลักษณะคล้ายลูกชิดแต่มีขนาดใหญ่กว่า นอกจากนี้ ช่อดอกอ่อนอายุประมาณ 1 เดือน สามารถนำมาหั่น ทำเป็นผักจิ้มน้ำพริกโดยการลวกหรือกินสด ๆ และสามารถทำเป็นผักดองกับน้ำส้มที่ทำจากต้นจากใช้กินเป็นผักดองขนมจีน ซึ่งเป็นที่นิยมของท้องถิ่นภาคใต้
ขนมจาก เป็นขนมไทยที่มาจากภูมิปัญญาของคนโบราณสมัยก่อน คือ การใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติทั้งผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงการใช้ประโยชน์จากต้นไม้ในการใช้เป็นภาชนะห่ออาหารหรือขนมชนิดนั้นๆ ขนมจาก เป็นภูมิปัญญาของคนโบราณ ได้ขนมไทยแท้ๆ ได้จากแป้งที่โม่จากข้าวเหนียว มะพร้าวที่ให้กะทิ และน้ำตาลที่ได้จากอ้อย หรือมะพร้าว ขนมจากนั้นมีหลาย ๆ สูตร แต่ส่วนมากเป็นขนมจากที่ผสมจากมะพร้าวอ่อน และมะพร้าวทึนทึก กับแป้งข้าวเหนียวดำและน้ำตาลปี๊บจึงนำมาเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชน
ภาษาที่ใช้พูด : ภาษามลายูท้องถิ่น
ภาษาที่ใช้เขียน : ภาษาไทยกลาง
สถานการณ์การใช้ภาษาของผู้คนในชุมชนส่วนมากใช้ภาษามลายูท้องถิ่นและบางส่วนใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร
เศรษฐกิจของครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบและ สูญเสียสมาชิกจากเหตุการณ์ความไม่สงบจะประสบปัญหาดังนี้
- รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย เป็นผลที่เกิดจากครอบครัวขาดผู้หาเลี้ยงครอบครัวหรือเมื่อก่อนอาจจะช่วยกันหารายได้เข้าบ้าน แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์สูญเสียสมาชิกผู้หาเลี้ยงครอบครัวไม่สามารถทำหน้าที่ได้ จึงทำให้รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย
- ปัญหาไม่สามารถประกอบอาชีพได้ มีสาเหตุมาจากเมื่อเกิดการสูญเสียภรรยาซึ่งไม่เคยทำหน้าที่หาเลี้ยงครอบครัว ไม่เคยทำงานหรือมีหน้าที่เพียงช่วยเหลือไม่สามารถทำเองได้ จึงไม่สามารถที่จะประกอบอาชีพเองได้ และสาเหตุที่เกิดจากความพิการทุพพลภาพก็เป็นเหตุให้ไม่สามารถประกอบอาชีพที่เคยทำก่อนเหตุการณ์จะเกิดขึ้น
- ปัญหาเรื่องไม่มีอาชีพทำกิน เป็นปัญหาที่เกิดเมื่อระยะเริ่มแรกของเหตุการณ์ เป็นปัญหาการสูญเสียสมาชิกที่หาเลี้ยงครอบครัว ทำให้สมาชิกที่เหลือต้องรับภาระหน้าที่ในครอบครัวต้องออกไปประกอบอาชีพเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ซึ่งจากคนที่ไม่เคยทำงาน ไม่เคยประกอบอาชีพ ก็ไม่รู้จะทำอะไรเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว
- ปัญหาภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้น มีสาเหตุจากไม่มีรายได้หรือรายได้ไม่เพียง และก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์มีภาระหนี้สินเดิมอยู่แล้ว ทำให้ต้องไปกู้เงินเพื่อนำมาใช้จ่ายในครอบครัวจึงทำให้ต้องรับภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้น
เมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรงจากความไม่สงบในพื้นที่ มีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวทั้งด้านร่างกายและด้านจิตใจ ด้านร่างกายจะเป็นการบาดเจ็บ พิการ และทุพพลภาพ ส่วนด้านจิตใจก็จะเป็นความโศกเศร้าเสียใจจากการสูญเสียบุคคล อันเป็นที่รักในครอบครัว
ครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ความสัมพันธ์ทางสังคม และวัฒนธรรมในชุมชนลดน้อยลง สภาพชุมชนเกิดความหวาดระแวง ไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน ดังนั้นภาครัฐ หน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องและประชาสังคม ในพื้นที่ ควรมีนโยบายส่งเสริมการจัดกิจกรรมในชุมชนในแนวทางการประสานความสัมพันธ์ของประชาชนในชุมชน และควรมีมาตรการป้องกันเหตุการณ์ที่จะเกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบในชุมชนอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์และสามารถดำรงชีวิตได้อย่างสันติสุข
มีการทำนุบำรุงแหล่งน้ำตามธรรมชาติอย่างสม่ำเสมอ มีการบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบางส่วน
ในชุมชนบ้านบาโงบูโล๊ะมีจุดเด่นในด้านการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและมีกิจกรรมในช่วงเย็น เช่น กิจกรรมเล่นว่าว
แยนะ ดาการิง. (26 กุมภาพันธ์ 2566). ข้อมูลชุมชนบ้านบาโงบูโล๊ะ. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)
อูมา ดอเลาะ และอาซือนะ สาแม. (26 กุมภาพันธ์ 2566). ภูมิปัญญา, ปราชญ์ชุมชน. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)
อาแด ดอเลาะเจะแต และพาตีเม๊าะ มาหะวอ. (26 กุมภาพันธ์ 2566). สภาพแวดล้อม, ประชากร. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)