ชุมชนหาดเฉวงเป็นชุมชนแหล่งพักนักท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในเกาะสมุย
เชื่อว่ามาจากคำว่า เหวง แปลวว่า อ้างง้าง โล่งแจ้ง เพราะเมื่อยืนอยู่บนหาดเฉวงแล้วทอดสายตามองออกไปยังท้องทะเล จะมองไม่เห็นเกาะแก่งใด ๆ เห็นได้แต่เพียงน้ำกับฟ้าเท่านั้น
ชุมชนหาดเฉวงเป็นชุมชนแหล่งพักนักท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในเกาะสมุย
ในเอกสารจดหมายเหตุพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสหัวเมืองในแหลมมลายูเมื่อ พ.ศ. 2451 เรียกอ่าวเฉวงว่า “อ่าวระเวน” หรือ “ระแวง” ซึ่งถ้าเป็นสําเนียงของชาวเกาะจะเรียกว่า “เหวง” และอีกนัยหนึ่งอาจมีที่มาจากคําว่าโหวงเหวง ซึ่งแปลว่าโล่งแจ้งว่างเปล่า เมื่อนักบุกเบิกยุคแรกมาพบเห็นอ่าวเฉวงแล้วก็เกิดความรู้สึกเบิกบานใจและรู้สึกชอบจึงตั้งหลักปักฐานอยู่ที่ดินแดนแห่งนี้ และเมื่อยืนอยู่กลางหาดเฉวงแล้วมองออกไปยังทะเลข้างหน้า จะเห็นแต่น้ำกับฟ้าเท่านั้น ไม่มีเกาะแก่งใด ๆ ก็ยิ่งมีความเชื่อมากยิ่งขึ้นว่าเหวงน่าจะมาจากคําพื้นบ้าน เหวง ที่มีนัยว่า อ้างว้าง ว่างโล่ง (กวี รังสิวรารักษ์, 2546: 103-104 อ้างถึงใน )
ชุมชนเฉวงตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเกาะสมุย ห่างจากอําเภอเป็นระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร มีขอบเขตครอบคลุมพื้นที่ 3 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 2 บ้านเฉวงน้อย หมู่ที่ 3 บ้านเกาะฟาน และหมู่ที่ 6 บ้านเฉวงใหญ่ชุมชนเฉวงเป็นที่ตั้งของหาดเฉวง ชายหาดที่มีความสวยงามได้รับและความนิยมจากนักท่องเที่ยวมากที่สุดในสมุย ทําให้ชุมชนเฉวงซึ่งเป็นชุมชนเกษตรชนบทเดิม เปลี่ยนแปลงมาเป็นชุมชนศูนย์กลางที่พักสําหรับนักท่องเที่ยวที่หนาแน่นที่สุดในเกาะสมุย ก่อให้เกิดกิจกรรมอํานวยความสะดวกและบริการสําหรับนักท่องเที่ยวเป็นจํานวนมาก
ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพพื้นที่ของชุมชนเฉวงมีลักษณะเป็นรูปทรงสามเหลี่ยม ด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกถูกล้อมรอบด้วยภูเขาสูง ส่วนด้านที่เหลือเป็นชายฝั่งทะเล ทิวเขาทางทิศเหนือเป็นเนินเขาที่คั่นระหว่างหาดเฉวงกับหาดบ่อผุด และหาดบางรักษ์ เหนือสุดหาดเฉวงเป็นแหลม ถัดไปไม่ห่างจากปลายแหลมมากนักมีเกาะเล็ก ๆ ชื่อ เกาะมัดหลัง เช่นเดียวกับทางใต้ที่มีลักษณะเป็นแหลมขนาดเล็กชื่อ เกาะฟาน โดยหาดทางด้านใต้ของแหลมเกาะฟานเรียกว่า หาดเฉวงน้อย พื้นที่มีความลาดเอียงจากที่สูงทางด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือลงสู่ที่ลุ่มพรุเฉวงตอนกลาง ซึ่งมีลําคลองสายสั้น ๆ หลายสายไหลลงสู่พรุ ได้แก่ คลองแบก คลองหรั่ง คลองหมาก คลองตาแช่ม คลองป่าจาก และคลองตากลอม แต่จะมีน้ำเฉพาะฤดูฝนเท่านั้น ระหว่างพรุเฉวงกับชายฝั่งทะเลเป็นสันทรายใหญ่ อันเป็นที่ตั้งของ ย่านที่พักและสิ่งอํานวยความสะดวกมากมาย
หาดเฉวงแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ หาดเฉวงน้อย และหาดเฉวงใหญ่ มีแหลมเกาะฟานและลำคลองกั้นแบ่งเขตพื้นที่ ชายหาดมีความยาวประมาณ 5 กิโลเมตร นับตั้งแต่ถนนเลียบหาดยาวไปจนถึงแหลมสน
การใช้ประโยชน์ที่ดิน
- การปลูกสร้างที่อยู่อาศัย กระจายตัวอยู่ทางทิศเหนือ ทิศตะวันตก และทางด้านทิศใต้ของพรุเฉวง มีทั้งที่เกาะกลุ่มกับชุมชนเดิม และกระจายตัวไปตามแนวถนนที่สร้างขึ้นในภายหลัง
- ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม ส่วนใหญ่เป็นที่พักและสิ่งอํานวยความสะดวกสําหรับนักท่องเที่ยว อันได้แก่ โรงแรม หรือที่พักในรูปแบบอื่น ๆ เป็นต้นว่า รีสอร์ท บังกะโล รวมตัวเป็นแนวยาวตลอดชายหาดเฉวงและชายหาดเฉวงน้อย นอกจากที่พักและสิ่งอํานวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวแล้ว ยังมีกิจการการค้าและบริการ ส่วนใหญ่รวมตัวอยู่เป็นแนวยาวตามถนนเฉวง-เชิงมน ตรงข้ามกับที่พักของนักท่องเที่ยว
- ที่ดินสำหรับสถาบันการศึกษา ซึ่งมีอยู่ไม่มากนัก ประกอบด้วยโรงเรียนวัดบุณฑริการาม โรงเรียนวัดสว่างอารมณ์ และโรงเรียนบ้านหาดงาม
- ที่ดินปลูกสร้างศาสนสถาน มีอยู่ไม่มากนัก ประกอบด้วยวัดบุณฑริการาม วัดสว่างอารมณ์ และโบสถ์คริสต์อีก 1 แห่ง
- ที่ดินสถาบันราชการ สาธารณูปโภค และสาธารณูปการมีอยู่น้อยมาก ได้แก่ ที่ทําการไปรษณีย์โทรเลขเฉวง
- พื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งเป็นที่ดินส่วนใหญ่ของชุมชน มีลักษณะกระจายอยู่ทั่วอาณาบริเวณหมู่บ้าน ไม่ได้กระจุกอยู่เพียงด้านใดด้านหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นสวนมะพร้าว
ประชากรในชุมชนหาดเฉวงมีทั้งชาวไทยพุทธ ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู ชาวจีนส่วนใหญ่จะสร้างบ้านเรือนอยู่บริเวณริมฝั่งถนนในเขตชุมชน เพราะคนกลุ่มนี้มีอาชีพค้าขายเป็นหลัก ส่วนชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูจะตั้งบ้านเรือนริมฝั่งทะเล เพราะส่วนใหญ่มีอาชีพประมง นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีชาวตะวันตกได้เข้ามาอยู่อาศัยเพื่อประกอบอาชีพภาคธุรกิจการท่องเที่ยวในชุมชนหาดเฉวงมากขึ้นด้วย
จีน, มลายูรายได้หลักของชุมชนหาดเฉวงส่วนใหญ่มาจากธุรกิจภาคการท่องเที่ยวและการบริการ เนื่องจากบริเวณชุมชนเฉวงเป็นแหล่งที่พักนักท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของเกาะสมุย ส่วนรายได้จากภาคเกษตรกรรม ส่วนใหญ่มาจากการทำสวนมะพร้าว โดยมีพื้นที่สวนถึง 14.96 ตารางกิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีการทำนาและปลูกผลไม้อื่น ๆ อีกหลายชนิด แต่คิดเป็นอัตราที่น้อยมากเมื่อเทียบกับสวนมะพร้าว
ชุมชนหาดเฉวงมีประเพณีวัฒนธรรมชุมชน ซึ่งบ้านบ้านได้ทำการปฏิบัติสืบทอดมาอย่างยาวนาน ดังนี้
- ประเพณีลอยเคราะห์ : เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งของชาวไทยทางภาคใต้ที่อาศัยอยู่บริเวณริมทะเล การลอยเคราะห์ คือ การนําสิ่งไม่ดีทั้งหลายทั้งปวงออกจากร่างกาย ครอบครัว หมู่บ้าน นิยมทํากันวันเสาร์หรือวันอังคารในเดือนเมษายนหรือเดือนพฤษภาคม สถานที่ประกอบพิธีส่วนมากจะเป็นสถานที่ใกล้ชายทะเล ซึ่งมีการปลูกศาลไว้ 1 หลัง เรียกว่า “ศาลพ่อตา” เนื่องจากพิธีลอยเคราะห์จะทำร่วมกับการทำบุญศาลพ่อตา โดยจะทําเรือเป็นแพเล็กขนาดเล็ก จากนั้นชาวบ้านจะนําข้าวสารอาหารแห้งอย่างละเล็กน้อย ตัดเล็บมือ เล็บเท้า เส้นผม เสื้อผ้า เหรียญบาทลงในเรือเคราะห์ แล้วนําเรือเคราะห์ลงสู่ทะเลลึกที่มีกระแสน้ำเชี่ยว เพื่อป้องกันไม่ให้เรือเคราะห์กลับสู่ฝั่ง
- ประเพณีรับส่งตายาย : บางท้องถิ่นเรียกว่า รับเปรต-ส่งเปรต หรือประเพณีวันสารท จัดขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 (วันรับตายาย) และวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 (วันส่งตายาย) เพื่อทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลแก่ญาติผู้ล่วงลับ ในวันรับตายายชาวบ้านจะจัดสํารับคาวหวานดอกไม้ธูปเทียนไปทําบุญถวายสังฆทานที่วัด สําหรับวันส่งตายายนั้น ชาวบ้านจะจัดเตรียมขนมต่าง ๆ เป็นพิเศษซึ่งเชื่อกันว่า ตายายจะได้นํากลับไปด้วย ขนมในวันบุญนี้เรียกกันทั่วไปว่าขนมตายาย ได้แก่ ขนมลา ขนมกรุบ ยาหนม ยาสาด ขนมไข่ปลา ขนมพองต้มและผลไม้ต่าง ๆ โดยจะจัดใส่กระเชอนําไปถวายที่วัด นอกจากนี้ อาหารคาวที่ชาวบ้านถือว่าขาดไม่ได้คือ "น้ำพริกหุ้ม" เพราะเชื่อว่าเป็นของที่ตายายชอบ หลังถวายพระเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านจะนําอาหารและขนมส่วนหนึ่งไปวางไว้ตามประตูวัด ริมกําแพง หรือโคนต้นไม้ภายในวัด เพื่อให้ตายายหรือวิญญาณที่ไม่มีญาติได้รับส่วนกุศล เรียกว่า “ตั้งเปรต” หรือวัดบางแห่งจะสร้างยกพื้นขึ้นมาหรือตั้งโต๊ะให้ชาวบ้านนําอาหารและขนมไปตั้งรวมกัน เรียกว่า “หลาเปรต” เมื่อสวดบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลเสร็จพิธีแล้วบรรดาชาวบ้านทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะกรูเข้าแย่งชิงอาหารจากหลาเปรต เพราะเชื่อกันว่าอาหารเหล่านี้กินแล้วจะดีเป็นสิริมงคล จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกพิธี “ชิงเปรต”
เนื่องจากชุมหาดเฉวงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีผู้คนหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ ทั้งที่เป็นประชากรพื้นที่ และประชากรแฝงซึ่งมีจำนวนหลายหมื่นคน จึงเป็นเหตุให้ภายในชุมชนหาดเฉวงมีการการใช้ภาษาที่ค่อนข้างหลาหลาย เช่น ภาษาไทยกลาง ภาษาไทยถิ่นใต้ ภาษามลายู ภาษาจีน รวมถึงภาษาอังกฤษที่ใช้กันในกลุ่มนักท่องเที่ยว
ไฟฟ้า : กระแสไฟฟ้าในชุมชนเฉวงให้บริการโดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อําเภอเกาะสมุย
ประปา : ระบบการประปาชุมชนหาดเฉวงดําเนินการโดยการประปาส่วนภูมิภาค อําเภอเกาะสมุย ซึ่งได้รับน้ำประปาจากโรงผลิตน้ำประปาที่น้ำตกหินลาด ตําบลอ่างทอง
มีบริการด้านการศึกษาของรัฐในชุมชนบริเวณหาดเฉวง 3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนวัดบุณฑริกการาม โรงเรียนบ้านหาดงาม และโรงเรียนวัดสว่างอารมณ์ โดยเปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษาจนถึงระดับประถมศึกษา
ชุมชนเฉวงใหญ่ ซอย 13. (2553). [ออนไลน์]. ได้จาก: http://th.soidb.com [สืบค้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566].
บุรารัตน์ โยธีเสวด. (2548). การพัฒนาภูมิทัศน์เมืองเพื่อการท่องเที่ยวชุมชนหาดเฉวง อำเภอเกาะสมุย สังหวัดสุราษฎร์ธานี. วิทยานิพนธ์ปริญญาครุศาสตร์อุตสาหกรรมมหาบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง.
สุธิรา อินทร์พรหม. (2547). ผลกระทบของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต่อวิถีชีวิตของเกษตรกร: ศึกษากรณีชุมชนเฉวง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนามนุษย์และสังคม (สหสาขาวิชา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.