สวนทุเรียนของดี ธรรมชาติงามตา วัฒนธรรมดีเด่น
ปรากฏเรื่องเล่าที่เล่าต่อกันมาว่า ชาวบ้านได้มีถางพื้นที่ป่าและพื้นที่เชิงเขาบนเทีอกเขากาลอเพื่อทำการเพาะปลูก ในอดีตมีสวน (ดูซง) ทุเรียนจำนวนมาก และมีต้นทุเรียนต้นใหญ่ต้นหนึ่งในสวนแห่งหนึ่ง มีรสจืด (ตาวา) ไม่มีรสชาติหวานเลยแม้แต่น้อย จากวัตถุประสงค์การตั้งถิ่นฐานหมู่บ้านเพื่อทำสวน ประกอบกับส่วนใหญ่เป็นสวนทุเรียน และบางต้นมีรสจืด จนกลายมาเป็นชื่อเรียกติดปากกันทั่วผู้คนทั่วไปว่า "ดูซงตาวา"
ขณะเดียวกันบางส่วนก็เล่าว่าได้มีทหารเดินทางมาในพื้นที่ตำบลบือมัง เพื่อมาตามหาช้างเผือกเพื่อมาประดับบารมีของพระองค์ การเดินทางของทหารเหล่านั้นก็ดำเนินต่อไปจนมาถึงบริเวณป่าที่เต็มไปด้วยผลไม้นานาชนิด และในป่าแห่งนี้ก็มีต้นทุเรียนต้นใหญ่มาก แต่ด้วยความเหนื่อยและหิวของทหารเหล่านั้น จึงตัดสินใจปีนต้นทุเรียนเพื่อเอาลูกทุเรียนมากิน แต่พวกเขาพบว่ารสชาติของทุเรียนนั้นจืดมาก ด้วยเหตุนี้เอง จึงเรียกที่นี้ว่า “ดูซงตาวา” จนถึงปัจจุบันซึ่งแปลว่า สวนจืด
สวนทุเรียนของดี ธรรมชาติงามตา วัฒนธรรมดีเด่น
บ้านดูซงตาวา จากการเล่าของผู้เฒ่าในพื้นที่ ชาวบ้านบ้านดูซงตาวาในยุคแรก ๆ กว่า 150 ปี ที่ผ่านมา ได้เดินทางมาจากนอกพื้นที่ตั้งถิ่นฐาน ทำการเกษตร ทำสวนทุเรียน และหาของป่า โดยมีการตั้งบ้านเรือนกระจัดกระจายเป็นคุ้มบ้าน โดย 1 คุ้มบ้าน จะมีบ้านเรือนชาวบ้านตั้งอยู่ประมาณ 3-5 หลังคาเรือน ประกอบด้วย บ้านปายอ บ้านบาโง บ้านดูรีแยซือพง บ้านบีโล๊ะ บ้านมาแฮยาโต๊ะ เป็นต้น ซึ่งชาวบ้านได้มีถากถางพื้นที่ป่าและพื้นที่เชิงเขาบนเทีอกเขากาลอเพื่อทำการเพาะปลูก ในอดีตมีสวนหรือดูซงทุเรียนจำนวนมาก และมีต้นทุเรียนต้นใหญ่ต้นหนึ่งในสวนแห่งหนึ่ง มีรสจืด ไม่มีรสชาติหวานเลยแม้แต่น้อย นอกจากนั้นยังมีต้นเล็ก ๆ อีกหลายต้น กระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่สวนของชาวบ้าน จากวัตถุประสงค์การตั้งถิ่นฐานหมู่บ้านเพื่อทำสวน ประกอบกับส่วนใหญ่เป็นสวนทุเรียน และบางต้นมีรสจืด จนกลายมาเป็นชื่อเรียกติดปากกันทั่วผู้คนทั่วไปจึงเรียกพื้นที่แถบนี้ว่า ดูซงตาวา และกลายเป็นชื่อหมู่บ้านในเวลาต่อมา
บ้างก็เล่ากันว่าได้มีทหารเดินทางมาในพื้นที่ตำบลบือมัง เพื่อมาตามหาช้างเผือกเพื่อมาประดับบารมีของพระองค์ การเดินทางของทหารเหล่านั้นก็ดำเนินต่อไปจนมาถึงบริเวณหนึ่ง ที่เป็นป่าเต็มไปด้วย ผลไม้นานาชนิด และในป่าแห่งนี้ก็มีต้นทุเรียนซึ่งมีลักษณะใหญ่มากแต่ด้วยความเหนื่อยและหิวโหยของทหารเหล่านั้น จึงตัดสินใจปีนต้นทุเรียนเพื่อเอาลูกทุเรียนมากินแต่พวกเขาพบว่ารสชาติของทุเรียนนั้นจืดมากไม่มีรสหวานเหมือนทุเรียนทั่ว ๆไปด้วยเหตุนี้เอง จึงเรียกที่นี้ว่า "ดูซงตาวา" จนถึงปัจจุบันซึ่งแปลว่า สวนจืด คำว่า สวน แปลว่า ดูซง และคำว่า จืด แปลว่า ตาวาจนกลายเป็นชื่อเรียกหมู่บ้านแห่งนี้ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน
บ้านดูซงตาวาตั้งอยู่ในเขตปกครองของอำเภอรามัน โดยมีพื้นที่ครึ่งหนึ่งของอาณาเขตหมู่บ้านเป็นเทือกเขาจึงมีแม่น้ำสายสำคัญที่ประชาชนใช้ประโยชน์ในการทำการเกษตร คือ แม่น้ำอาเหะอูแบ บ้านดูซงตาวา มีเนื้อที่ประมาณ 6,881 ไร่ (ข้อมูลจากการสำรวจของ อบต.บือมัง) บ้านดูซงตาวาเป็นพื้นที่ลาดชัน สภาพเป็นภูเขา และที่ราบสูงตามเทือกเขากาลอ มีความสมบูรณ์ตามธรรมชาติ มีการจัดสรรที่ดินเพื่อการเกษตร พื้นที่ราบ ประมาณ 30% ของหมู่บ้าน การใช้ประโยชน์ที่ดินส่วนใหญ่จะปลูกพืชยืนต้น เช่น ยางพาราและไม้ผลชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะ ลองกอง เงาะ ทุเรียน มังคุด เป็นต้น
สภาพภูมิอากาศ อยู่ในลักษณะภูมิประเทศแบบร้อนชื้น มีฝนตกปริมาณมากในช่วงเดือนธันวาคม และปริมาณฝนตกต่ำสุดในเดือนกุมภาพันธ์
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 4 บ้านมาแฮ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลตาเนาะปูเตะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 2 ตำบลกาลอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 6 บ้านปีแย๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
สภาพพื้นที่
บ้านดูบ้านดูซงตาวา มีพื้นที่ด้านทิศเหนือติดกับหมู่บ้านมาแฮเป็นหมู่บ้านใกล้เคียง พื้นที่หมู่บ้านด้านทิศใต้ติดกับพื้นที่ต่างตำบลต่างอำเภอ คือ ตำบลตาเนาะปูเตะ อำเภอบันนังสตา โดยพื้นที่ด้านทิศใต้นั้น ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ภูเขาลาดชัน ค่อนข้างมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ส่วนทิศตะวันออกติดกับตำบลกาลอ ซึ่งอยู่ในเขตปกครองของอำเภอรามันเช่นเดียวกัน มีแม่น้ำอาเหะอูแบเป็นแนวเขต และด้านทิศตะวันตกติดกับบ้านปีแย๊ะ โดยแนวเขตหมู่บ้านด้านนี้จะเป็นพื้นที่เชิงเขาที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ทางการเกษตรเสียส่วนใหญ่ บ้านดูซงตาวาจึงเป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่เป็นภูเขาเสียส่วนใหญ่ ถูกโอบล้อมด้วยเทือกเขากาลอถึง 2 ด้าน ส่วนพื้นที่ที่เหลือจะเป็นพื้นที่ราบ ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์ของพื้นที่ในการทำการเกษตรและหาของป่า บ้านดูซงตาวา มีพื้นที่ด้านทิศเหนือติดกับหมู่บ้านมาแฮเป็นหมู่บ้านใกล้เคียง พื้นที่หมู่บ้านด้านทิศใต้ติดกับพื้นที่ต่างตำบลต่างอำเภอ คือ ตำบลตาเนาะปูเตะ อำเภอบันนังสตา โดยพื้นที่ด้านทิศใต้นั้น ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ภูเขาลาดชัน ค่อนข้างมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ส่วนทิศตะวันออกติดกับตำบลกาลอ ซึ่งอยู่ในเขตปกครองของอำเภอรามันเช่นเดียวกัน มีแม่น้ำอาเหะอูแบเป็นแนวเขต และด้านทิศตะวันตกติดกับบ้าน ปีแย๊ะ โดยแนวเขตหมู่บ้านด้านนี้จะเป็นพื้นที่เชิงเขาที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ทางการเกษตรเสียส่วนใหญ่ บ้านดูซงตาวาจึงเป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่เป็นภูเขาเสียส่วนใหญ่ ถูกโอบล้อมด้วยเทือกเขากาลอถึง 2 ด้าน ส่วนพื้นที่ที่เหลือจะเป็นพื้นที่ราบ ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์ของพื้นที่ในการทำการเกษตรและหาของป่า
จำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในครัวเรือน จากการสำรวจข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ระดับหมู่บ้านประจำปี 2565 มีครัวเรือนทั้งหมด 273 ครัวเรือน มีจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่จริงในพื้นที่ทั้งหมด 1,122 คนโดยแบ่งเป็น เพศชาย 582 คนและเพศหญิง 540 คน ทั้งหมดเป็นอิสลาม คนในชุมชนส่วนอยู่กับแบบครอบครัว ในละแวกใกล้เคียง มีความหลากหลายในช่วงวัย คนในสังคมมีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้คนในสังคมมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
มลายูบ้านดูซงตาวา ได้จัดตั้งกองทุนแม่ของแผ่นดินขึ้นเพื่อพัฒนาความเข้มแข็งของหมู่บ้าน เพื่อการพัฒนาและเอาชนะยาเสพติดอย่างยั่งยืนตามรอยพระยุคลบาท กองทุนแม่ของแผ่นดินบ้านดูซงตาวา ได้รับพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อทำหน้าที่ป้องกันยาเสพติดในหมู่บ้านและเพื่อเป็นการถวายความจงรักภักดีแด่สถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเป็นสิ่งที่ต้องเทิดทูนไว้สูงสุด และเป็นขวัญกำลังใจแก่ประชาชนในหมู่บ้าน เป็นศูนย์รวมของจิตใจของคนทั้งหมู่บ้าน
อาชีพหลัก การทำสวนยาง การทำสวนผลไม้ผสมผสาน
อาชีพเสริม การเลี้ยงแพะ เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ ทำขนมพื้นบ้าน เย็บผ้า และทำเฟอร์นิเจอร์ การซื้อขายแลกเปลี่ยนภายในชุมชน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น อาหาร เครื่องปรุง เนื้อสัตว์ ผักสด ของใช้ในครัวเรือน ผ่านร้านขายของชำในชุมชน โดยมีร้านค้าภายในชุมชนจำนวน 2 ร้าน โดยนำสินค้าจากในพื้นที่และภายนอกมาจำหน่าย
การซื้อขายแลกเปลี่ยนกับคนภายนอก ส่วนใหญ่เป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้จากการทำเกษตรกรรม เช่น ทุเรียน ลองกอง มังคุด เงาะ หรือ ซื้อสินค้าจากรถกับข้าว (รถพุ่มพวง) ที่เข้ามาในชุมชนหรือตลาดนัดภายในชุมชนในช่วงเย็นและพื้นที่ตลาดนัดรอบนอก
การออกไปทำงานนอกชุมชน การออกไปทำงานนอกชุมชน คิดเป็น 36% ของคนในชุมชน และที่ออกไปทำงานต่างประเทศมีอยู่ 5% ออกไปรับจ้างทำงานด้านอุตสาหกรรม พนักงานบริษัททั่วไป แต่ยังกลับมาอาศัยอยู่ในพื้นที่
ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกชุมชน สมาชิกชุมชนส่วนใหญ่อยู่กันเป็นกลุ่มตามโซน เป็นชุมชนที่มีพื้นว่างจากการปลูกสร้างที่พักอาศัยน้อยมาก คนในชุมชนสามารถเข้ากันได้ทุกกลุ่ม โดยส่วนใหญ่จะเป็นเครือญาตที่ตามมาอยู่ในชุมชน
โครงสร้างอำนาจภายในชุมชน ตามโครงสร้างการปกครอง มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ทำงานร่วมกับหน่วยงานปกครองท้องถิ่น ส่วนภายในชุมชนมีการทำโครงการต่าง ๆ จากภายนอกและงานขับเคลื่อนชุมชน โดยมีนายอับดุลเล๊าะ อูเซ็ง เป็นแกนนำชุมชน
การรวมกลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นการรวมกลุ่มกันตามครอบครัวและกลุ่มที่สนิทกันหรือมีช่วงวัยเดียวกัน เช่น กลุ่มแกนนำชุมชนที่ทำงานชุมชนด้านต่าง ๆ กลุ่มเด็กและเยาวชน รวมตัวกันเพื่อจัดกิจกรรมทางศาสนา และทำกิจกรรมร่วมกันในชุมชน
สังคมและการนับถือศาสนา ประชากรบ้านดูซงตาวา นับถือศาสนาอิสลาม 100 % โดยมีมัสยิดและสุเหร่า เป็นศาสนสถานสำหรับการประกอบพิธีทางศาสนา ภายในหมู่บ้านมีมัสยิด จำนวน 2 แห่งและสุเหร่า 3 แห่ง สถานอบรมคุณธรรมจริยธรรมหรือโรงเรียนตาดีกา 2 แห่งสถานบันปอเนาะ
ประเพณีและวัฒนธรรม บ้านดูซงตาวามีการดำรงชีวิตตามประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นประจำภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นสามจังหวัดชายภาคใต้ ดังนี้
- เมาลิดินนบี เป็นวันคล้ายวันประสูติของศาสดามูฮัมหมัด (ซล.) ศาสดาแห่งมนุษยชาติ ผู้ศรัทธาในศาสนาอิสลาม จะมีการรำลึกถึงคุณงามความดี หรือประวัติของท่านในอดีตกาล ในบรรยากาศแห่งความรัก และรำลึกถึงท่านอย่างแท้จริง ซึ่งจัดในเดือน เราะบีอุลเอาวัล ซึ่งเป็นเดือนที่ 3 ในปฏิทินอิสลาม
- วันตรุษอิดิลฟิตรี หรือที่นิยมเรียกว่า “วันรายอปอซอ” เพราะหลังจากที่มุสลิมได้ถือศีลอดมาตลอดในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่ 9 ของศาสนาอิสลาม ก็จะถึงวันออกบวช ตอนเช้าจะมีการละหมาดร่วมกัน ทุกคนแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาด สวยงาม และมีการจ่าย “ซะกาตฟิตเราะฮ์”
- วันตรุษอิดิลอัฏฮา หรือวันรายอฮัจยี เนื่องจากมุสลิมทั่วโลกเริ่มประกอบพีธีฮัจญ์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย มีการทำกุรบานหรือการเชือดสัตว์เพื่อเป็นอาหารแก่เพื่อนบ้านและคนยากจน เพื่อขัดเกลาจิตใจให้เป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม
- การถือศีลอด เป็นหลักปฎิบัติที่มุสลิมจำเป็นต้องถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ตลอดระยะเวลา 1 เดือน มุสลิมที่มีอายุเข้าเกณฑ์ศาสนบัญญัติจะต้องงด การกิน ดื่ม การร่วมประเวณีตลอดจนทุกอย่างที่เป็นสิ่งต้องห้าม ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนกระทั่งตกดิน ทุกคนต้องสำรวมกาย วาจา ใจ เพราะเดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่มีประเสริฐยิ่งของศาสนาอิสลาม ซึ่งในเดือนนี้ชาวมุสลิมจะไปละหมาดที่มัสยิด ซึ่งเป็นการละหมาดที่ปฏิบัติภายในเดือนรอมฎอนเท่านั้น เรียกว่า “ละหมาดตะรอเวียะห์”
- การละหมาด เป็นการแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ ซึ่งเป็นที่ศรัทธาของชาวมุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยถือว่าเป็นการเข้าเฝ้าผู้ทรงสร้างที่ยิ่งใหญ่ การแต่งกายต้องสะอาด เรียบร้อย มีความสำรวม พระองค์กำหนดเวลาละหมาดไว้วันละ 5 เวลา
- การทำฮัจญ์ อัลลอฮ์ทรงบังคับ ให้มุสลิมที่มีความสามารถด้านกำลังกาย กำลังทรัพย์ ต้องไปทำฮัจญ์ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีขึ้นปีละครั้งชาวมุสลิมทั่วโลกจะเดินทางมารวมกัน เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร มีฐานะทางสังคมอย่างไร ต้องมาอยู่ที่เดียวกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ทุกคนมีฐานะเป็นบ่าวของอัลลอฮ์อย่างเท่าเทียมกัน ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม
- การเข้าสุนัต เป็นพิธีกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวมุสลิม ถือกันว่ามุสลิมที่แท้จริงควรเข้าสุนัต ถ้าไม่ทำถือว่าเป็นมุสลิมที่ไม่สมบูรณ์ ไม่บริสุทธิ์ การเข้าสุนัต คือการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศของผู้ชายออก เพื่อสะดวกในการรักษาความสะอาด การเข้าสุนัตจะนิยมขลิบในช่วงเดือนเมษายนเนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคการเรียนการสอนของเด็กในพื้นที่ กิจกรรมจะมีการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศ และมีการเตรียมอาหารเป็นข้าวเหนียวสีต่าง ๆ บางพื้นที่จะมีการขลิบเป็นหมู่คณะ โดยมีเด็กในชุมชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
- ประเพณีการกวนอาซูรอ เป็นการรำลึกถึงความยากลำบากของศาสดา นบีนูฮ โดยเชื่อว่าในสมัยของท่านมีเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ น้ำท่วมโลกเป็นระยะเวลานาน ศาสดานบีนูฮ ซึ่งล่องลอยเรืออยู่เป็นเวลานาน ทำให้อาหารที่เตรียมไว้ร่อยหรอลง จึงได้นำส่วนที่พอจะมีเหลือเอามารวมกันแล้วกวนกิน จึงกลายเป็นตำนานที่มาของขนมอาซูรอ
คำว่า "อาซูรอ" คือคำในภาษาอาหรับ แปลว่า การผสม ในที่นี้หมายถึงการนำของที่รับประทานได้ทั้งของคาวและของหวานจำนวน 10 อย่าง มากวนรวมกัน ประเพณีจะจัดในวันที่ 10 ของเดือนมูฮัรรอม ซึ่งเป็นเดือนแรกของฮิจเราะห์ศักราชตามปฏิทินอิสลาม เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาปีใหม่ของมุสลิม ลักษณะกิจกรรมจะมีการรวมตัวของชาวบ้านโดยที่ชาวบ้านจะนำวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเผือก มัน ฟักทอง กล้วย ข้าวสาร ถั่ว เครื่องปรุง ข่าตะไคร้ หอมกระเทียม เมล็ดผักชี ยี่หร่า เกลือ น้ำตาล กะทิ โดยวัตถุดิบทั้งหมดจะถูกกวนในกระทะเหล็กใช้เวลาเกือบ 6-7 ชั่วโมง โดยต้องกวนตลอด จนกระทั่งสุกแห้ง เมื่อเสร็จเรียบร้อยมีการแจกจ่ายแบ่งปันให้แก่ชาวบ้าน ภาพที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความสัมพันธ์และสามัคคีของคนในชุมชน
1. นายยูโซ๊ะ เสแมบอซู มีความชำนาญด้านการทำการเกษตรแบบผสมผสานและการเลี้ยงปลากระบ่อดิน เนื่องจากว่ามีพื้นที่ว่างในการทำเกษตรเยอะพอสมควรจึงริเริ่มขุดบ่อเพื่อเลี้ยงปลาและทำการเกษตรเป็นการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน
อาหาร ขนมมาดูฆาตง หรือขนมรวงผึ้ง ทำจากแป้งข้าวเหนียว ด้วยการนำแป้งข้าวเหนียวและกะทิผสมกัน แล้วนวดจนเหนียว จากนั้นจึงนำไปปั้นประกบรอบซี่ไม้ใผ่ แล้วย่างให้สุกเหลือง ชะโลมกะทิอีกครั้งหนึ่ง แล้วคลุกน้ำตาล นำมาถือรับประทาน หรือจะรับประทานกับกาแฟร้อน ๆ ก็จะเพิ่มอรรถรสยิ่งขึ้น ขนมมาดูฆาตง มักใช้ในการตอนรับผู้หลักผู้ใหญ่ที่ลงมาเยี่ยมชุมชน และเป็นอาหารว่างในการจัดการประชุมชุมชน
ภาษาที่ใช้พูด : ภาษามลายูท้องถิ่น
ภาษาที่ใช้เขียน : ภาษาไทยกลาง
สถานการณ์การใช้ภาษาของผู้คนในชุมชนส่วนมากใช้ภาษามลายูท้องถิ่นหรือที่เรียกภาษายาวี บางส่วนใช้ภาษาไทยในการสื่อสารและใช้ในการเขียน
ประชากรบ้านดูซงตาวาส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ ได้แก่ ทำสวนยางพาราและสวนผลไม้เป็นสวนแบบผสมผสาน เช่น เงาะ ทุเรียน ลองกอง มังคุด การเลี้ยงสัตว์พื้นบ้าน เช่น วัว แพะ เป็ด ไก่ เป็นต้น จากข้อมูลจากผลการจัดเก็บขอมูล จปฐ. ประจำปี 2563 พบว่า มีรายได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 38,000บาท/คน/ปี ผลผลิตที่จำหน่ายสู่ตลาดภายในและภายนอกชุมชน ได้แก่ ผลไม้ต่างๆ และยางพารา ผลผลิตแปรรูปการทำหมากแห้งสะตอดอง ลูกเหรียง เป็นต้น
การเปลี่ยนแปลงของสังคมไปสู่ความทันสมัยระบบความคิดของคนรุ่นใหม่ในสังคม ส่งผลให้วิถีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เนื่องจากอิทธิพลของเทคโนโลยี การเป็นอยู่ ระบบสื่อในมิติต่าง ๆ ที่มีความรวดเร็วเชื่อมโยงก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความเชื่อของทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ ประกอบกับอิทธิพบทางการศึกษาสมัยใหม่ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองไม่มีความรู้ในด้านนี้ทำให้เด็กขาดโอกาสทางการศึกษา
ในชุมชนบ้านดูซงตาวามีจุดเด่นในด้านวัฒนธรรมมลายูที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นและเห็นได้ชัด ในช่วงวันออกอีดของคนมลายูเป็นชุมชนต้นแบบการแต่งกายมลายูแบบดั้งเดิม
ซารีปะห์ ซิลากง. (10 กุมภาพันธ์ 2566). ข้อมูลชุมชนบ้านดูซงตาวา. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)
ยูโซ๊ะ เสแมบอซู. (10 กุมภาพันธ์ 2566). ภูมิปัญญา, ปราชญ์ชุมชน. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)
อับดุลเล๊าะ อูเซ็ง. (10 กุมภาพันธ์ 2566). สภาพแวดล้อม, ประชากร. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)