Advance search

โตะฟากิฮ

วิถีชุมชน กลุ่มอาชีพเหนี่ยวแน่น มัสยิดโต๊ะปาแกะสถานที่รวมความเป็นหนึ่งเดียวของชุมชน

หมู่ที่ 2
บ้านโต๊ะปาแก๊ะ
วังพญา
รามัน
ยะลา
อบต.วังพญา โทร. 0-7329-9962
อับดุลเลาะ รือสะ
22 ก.พ. 2023
นิรัชรา ลิลละฮ์กุล
25 มี.ค. 2023
อับดุลเลาะ รือสะ
28 เม.ย. 2023
บ้านโต๊ะปาแก๊ะ
โตะฟากิฮ

คำว่า "โต๊ะปาแก๊ะ" เป็นชื่อบุคคลหนึ่งที่มีความสำคัญต่อชาวบ้าน ในภาษามลายู คำว่า "โต๊ะ" คือ ผู้ที่มีความสามารถในด้านใดด้านหนึ่ง และ "ปาแกะ" มาจาก ฟากิฮ แปลว่าผู้เชี่ยวชาญในวิชาฟิกฮ์หรือกฏหมายอิสลาม


ชุมชนชนบท

วิถีชุมชน กลุ่มอาชีพเหนี่ยวแน่น มัสยิดโต๊ะปาแกะสถานที่รวมความเป็นหนึ่งเดียวของชุมชน

บ้านโต๊ะปาแก๊ะ
หมู่ที่ 2
วังพญา
รามัน
ยะลา
95140
6.53369043197217
101.376712918281
องค์การบริหารส่วนตำบลวังพญา

คำว่า "โต๊ะปาแก๊ะ" เป็นชื่อบุคคลหนึ่งที่มีความสำคัญต่อชาวบ้าน ในภาษามลายู คำว่า "โต๊ะ" คือ ผู้ที่มีความสามารถในด้านใดด้านหนึ่ง และ "ปาแกะ" มาจาก ฟากิฮปลว่าผู้เชี่ยวชาญในวิชาฟิกฮ์หรือกฏหมายอิสลาม ในอดีตโต๊ะปาแกะถือว่าเป็นบุคคลที่ความสามารถด้านศาสนาและมีความเชี่ยวชาญในวิชาศาสนาเป็นอย่างมากโดยเฉพาะแขนงวิชาฟิกฮ์หรือกฎหมายอิสลาม

กล่าวกันว่าความสามารถของท่านสามารถอธิบายวิชาโดยใช้เวลาไม่กี่นาที มือของท่านเสมือนมีไฟส่องสว่างหากท่านต้องการเขียนหนังสือนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้ไฟช่วยส่องสว่าง เสมือนที่มือของท่านมีแสงสว่าง ชาวบ้านเล่าต่อว่า ไม่มีใครโกหกต่อท่านได้ ถ้าผู้ใดโกหกอย่างไรจะได้สิ่งนั้นตามที่พูดไป ครั้งหนึ่งมีพ่อค้าหาบน้ำผึ้งเดินผ่านหน้าบ้านของท่าน ท่านเลยถามคนหาบน้ำผึ้งว่า หาบอะไรในนั้น พ่อค้าตอบกลับมาว่า หาบน้ำบูดู เมื่อพ่อค้ากลับมาถึงบ้านลองเปิดออกมาปรากฏว่าเป็นน้ำบูดูตามที่พ่อค้าหาบเร่ได้กล่าวต่อหน้าโตะปาแกะ และนี้คือความพิเศษของผู้รู้ท่านนี้ ชาวบ้านเล่าว่าท่านเป็นผู้รู้ที่เดินทางจากประเทศอินโดนีเซียมาอาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้และสถาบันปอเนาะสอนชาวบ้านในพื้นที่อีกด้วย ปัจจุบันหลุมฝังศพของท่านตั้งอยู่บริเวณมัสยิดโต๊ะปาแกะ

บ้านโต๊ะปาแกะยู่ห่างจากตัวอำเภอรามันประมาณ 13 กิโลเมตรและอยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 22 กิโลเมตร การเดินทางมายังชุมชนบ้านยาลงโต๊ะปาแกะสามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลแลแวะ อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านปากาสาแม หมู่ที่ 1 ตำบลวังพญา อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านตาลาแน หมู่ที่ 3 ตำบลวังพญา อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านบูเกะจือฆา หมู่ที่ 5 ตำบลวังพญา อำเภอรามัน จังหวัดยะลา

สภาพพื้นที่กายภาพ

สภาพทั่วไปของชุมชนโต๊ะปาแกะมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบลุ่ม พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทำนาและมีบางส่วนทำการเพาะปลูกต้นทุเรียน และยางพารา ลักษณะพื้นที่สามารถแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนด้านในจะเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านที่อยู่กันอย่างหนาแน่นและพื้นที่บางส่วนเป็นทุ่งนา ส่วนพื้นที่ด้านนอกจะติดถนนใหญ่เป็นทางผ่านสู่ชุมชนอื่น มีบ้านเรือนเป็นบางส่วนและพื้นที่เพาะปลูกทางเกษตรกรรม

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือน และประชากรชุมชนบ้านโต๊ะปาแกะ จำนวน 458 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 1,629 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 837 คน หญิง 792 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายมลายูในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวที่มีความหลากหลายช่วงวัย มีเพียงส่วนน้อยที่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผู้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน

มลายู

ผู้คนในชุนชนโต๊ะปาแกะมีการรวมกลุ่มที่เป็นทางการ

กลุ่มจักสาน เป็นกลุ่มที่จัดขึ้นผ่านกลุ่มสตรีในหมู่บ้านโดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น เตยหนาม มาจักสานเป็นกระเป๋า เสื่อ ตะกร้าใส่ข้าวสาร และทำภาชนะต่าง ๆ มากมาย ซึ่งเป็นไอเดียความคิดภูมิปัญญาท้องถิ่นตั้งแต่รุ่นยาย ได้มีการสืบทอดรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน

ด้านกลุ่มอาชีพ พื้นที่แห่งนี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนยางพารา ทำนา ทุเรียน รองลงมาประกอบอาชีพค้าขายและรับราชการ 

ในรอบปีของผู้คนบ้านโต๊ะปาแกะมีวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นดังต่อไปนี้

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

  • งานเมาลิดนบี เป็นวันแห่งการยกย่องวันเกิดของท่านนบีมูฮัมหมัด (ซ.ล.) คำว่า "เมาลิด" เป็นภาษาอาหรับแปลว่า เกิด, ที่เกิด หรือวันเกิด ซึ่งหมายถึงวันเกิดของท่านนบีมูฮัมหมัด (ซ.ล.) ตรงกับวันที่ 12 เดือนรอบือุลเอาวัล หรือเดือนที่ 3 ตามปฏิทินอิสลาม ชุมชนบ้านโต๊ะปาแกะจะจัดงานเมาลิดตามบ้านแต่ละหลังโดยผลัดเวียนตามเวรที่ได้รับมอบหมายจากผู้นำในพื้นที่ กิจกรรมในงานเมาลิดได้แก่ การอัญเชิญคัมภีร์อัล-กุรอาน การกล่าวสรรเสริญ อ่านซางี เพื่อระลึกถึงท่านนบีมูฮัหมัด (ซ.ล.) นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงอาหารแก่ผู้ที่ไปร่วมงานด้วย

  • วันรายอแนหรือรายอหก ความหมายรายอแน คือ คำว่า "รายอ" ในภาษามลายูแปลว่า ความรื่นเริง และ คำว่า "แน" คือ หก ในทางปฏิบัติ เมื่อถึงวันตรุษอีฎี้ลฟิตรี จะเฉลิมฉลองวันอีดใหญ่และวันต่อมาชาวบ้านมักจะถือศีลอด 6 วัน ในเดือนเชาวาลต่อเนื่องจนครบ 6 วัน เมื่อเสร็จสิ้นการถือศีลอด คนในพื้นที่จะถือโอกาสนี้เฉลิมฉลองวันรายอแน โดยจะเดินทางไปทำบุญให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับที่กุโบร์หรือสุสาน

  • กิจกรรมฟื้นฟูค่ำคืนนิสฟูซะห์บาน ค่ำคืนนิสฟูซะห์บานจะตรงตามปฎิทินอิสลาม วันที่ 14 เดือนซะบาน โดยมีลักษณะกิจกรรม คือ มีการละหมาดฟัรดู อ่านอัลกุรอาน ซูเราะห์ยาซีน 3 จบ ซึ่งแต่ละจบจะมีดุอาร์ ขอพรจากอัลลอฮ์ เมื่อเสร็จพิธีการ จะมีการกินเลี้ยงร่วมรับประทานอาหาร และอาหารบางส่วนจะนำแจกจ่ายให้ชาวบ้านในหมู่บ้าน

  • วันตรุษอิดิลฟิตรี หรือที่นิยมเรียกว่า วันรายอปอซอเพราะหลังจากที่มุสลิมได้ถือศีลอดมาตลอดในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่ 9 ของศาสนาอิสลาม ก็จะถึงวันออกบวช ตอนเช้าจะมีการละหมาดร่วมกัน ทุกคนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาด สวยงาม และมีการจ่าย ซะกาตฟิตเราะฮ์

  • วันตรุษอิดิลอัฏฮา หรือวันรายอฮัจยี เนื่องจากมุสลิมทั่วโลกเริ่มประกอบพีธีฮัจญ์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย มีการทำกุรบานหรือการเชือดสัตว์เพื่อเป็นอาหารแก่เพื่อนบ้านและคนยากจน เพื่อขัดเกลาจิตใจให้เป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม

  • การถือศีลอด เป็นหลักปฎิบัติที่มุสลิมจำเป็นต้องถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ตลอดระยะเวลา 1 เดือน มุสลิมที่มีอายุเข้าเกณฑ์ศาสนบัญญัติจะต้องงดการกิน ดื่ม การร่วมประเวณีตลอดจนทุกอย่าง ที่เป็นสิ่งต้องห้าม ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนกระทั่งตกดิน ทุกคนต้องสำรวมกาย วาจา ใจ เพราะเดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่มีประเสริฐยิ่งของศาสนาอิสลาม ซึ่งในเดือนนี้ชาวมุสลิมจะไปละหมาดที่มัสยิด ซึ่งเป็นการละหมาดที่ปฏิบัติภายในเดือนรอมฎอนเท่านั้น เรียกว่า ละหมาดตะรอเวียะห์

  • การละหมาด เป็นการแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ ซึ่งเป็นที่ศรัทธาของชาวมุสลิม ทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยถือว่าเป็นการเข้าเฝ้าผู้ทรงสร้างที่ยิ่งใหญ่ การแต่งกายต้องสะอาด เรียบร้อย มีความสำรวม พระองค์กำหนดเวลาละหมาดไว้วันละ 5 เวลา

  • การทำฮัจญ์ อัลลอฮ์ทรงบังคับให้มุสลิมที่มีความสามารถด้านกำลังกาย กำลังทรัพย์ ต้องไปทำฮัจญ์ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีขึ้นปีละครั้งชาวมุสลิมทั่วโลกจะเดินทางมารวมกัน เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร มีฐานะทางสังคมอย่างไร ต้องมาอยู่ที่เดียวกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ทุกคนมีฐานะเป็นบ่าวของอัลลอฮ์อย่างเท่าเทียมกัน ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม

  • การเข้าสุนัต เป็นพิธีกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวมุสลิม ถือกันว่ามุสลิมที่แท้จริงควรเข้าสุนัต ถ้าไม่ทำถือว่าเป็นมุสลิมที่ไม่สมบูรณ์ ไม่บริสุทธิ์ การเข้าสุนัต คือการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศของผู้ชายออก เพื่อสะดวกในการรักษาความสะอาด การเข้าสุนัตจะนิยมขลิบในช่วงเดือนเมษายนเนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคการเรียนการสอนของเด็กในพื้นที่ กิจกรรมจะมีการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศ และมีการเตรียมอาหารเป็นข้าวเหนียวสีต่าง ๆ บางพื้นที่จะมีการขลิบเป็นหมู่คณะ โดยมีเด็กในชุมชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

  • ประเพณีการกวนอาซูรอ เป็นการรำลึกถึงความยากลำบากของศาสดา นบีนูฮ โดยเชื่อว่าในสมัยของท่านมีเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ น้ำท่วมโลกเป็นระยะเวลานาน ศาสดานบีนูฮ ซึ่งล่องลอยเรืออยู่เป็นเวลานาน ทำให้อาหารที่เตรียมไว้ร่อยหรอลง จึงได้นำส่วนที่พอจะมีเหลือเอามารวมกันแล้วกวนกิน กลายเป็นตำนานที่มาของขนมอาซูรอ

คำว่า "อาซูรอ" คือคำในภาษาอาหรับ แปลว่า การผสม ในที่นี้หมายถึงการนำของที่รับประทานได้ทั้งของคาวและของหวานจำนวน 10 อย่าง มากวนรวมกัน ประเพณีจะจัดในวันที่ 10 ของเดือนมูฮัรรอม ซึ่งเป็นเดือนแรกของฮิจเราะห์ศักราชตามปฏิทินอิสลาม เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาปีใหม่ของมุสลิม ลักษณะกิจกรรมจะมีการรวมตัวของชาวบ้านโดยที่ชาวบ้านจะนำวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเผือก มัน ฟักทอง กล้วย ข้าวสาร ถั่ว เครื่องปรุง ข่าตะไคร้ หอมกระเทียม เมล็ดผักชี ยี่หร่า เกลือ น้ำตาล กะทิ โดยวัตถุดิบทั้งหมดจะถูกกวนในกระทะเหล็กใช้เวลาเกือบ 6-7 ชั่วโมง โดยต้องกวนตลอด จนกระทั่งสุกแห้ง เมื่อเสร็จเรียบร้อยมีการแจกจ่ายแบ่งปันให้แก่ชาวบ้าน ภาพที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความสัมพันธ์และสามัคคีของคนในชุมชน

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพของประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ประกอบอาชีพทำสวน เช่น ปลูกยางพารา ทุเรียน ทำนา ลองกอง รองลงมาประกอบอาชีพรับราชการ

1. นางมาซีเตาะ  เป็นผู้สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นการจักสานเตยหนาม ซึ่งได้เรียนรู้การจักสานมาจากรุ่นยายจนสามารถนำมาประกอบอาชีพในปัจจุบัน

ทุนวัฒนธรรม

มัสยิดโต๊ะปาแกะเป็นสถานที่รวมความเป็นหนึ่งของชุมชนอีกทั้งมีสุสานโต๊ะปาแกะ เพื่อเป็นการรำลึกคุณงามความดีของท่านในเผยแพร่ศาสนาสู่พื้นที่โต๊ะปาแกะแห่งนี้

ประเทศไทยมีจังหวัดที่มีประชากรพูดภาษามลายู คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาสและบางอำเภอของจังหวัดสงขลา ประชากรที่นี่ส่วนใหญ่เขียนและบันทึกโดยใช้อักษรยาวี ปัจจุบันคนในชุมชนยังคงรักษาไว้ซึ่งภาษาท้องถิ่นในพื้นที่อย่างเหนียวแน่น พื้นที่ชุมชนโต๊ะปาแกะส่วนใหญ่จะสื่อสารภาษามลายูเป็นหลักและเมื่ออยู่ในส่วนราชการจะใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร


การเปลี่ยนแปลงของสังคมไปสู่ความทันสมัย ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือ การสร้างบ้านเรือนที่มีความทันสมัยมากขึ้น ประกอบกับอิทธิพลทางการศึกษาสมัยใหม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเดิม


ความท้าทายของชุมชนโต๊ะปาแกะเผชิญความท้าทายด้านทรัพยากรทางธรรมชาติ เนื่องจากเป็นพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนเป็นประจำทุกปี อย่างไรก็ตามปัญหาน้ำท่วมไม่ได้สร้างความเสียหายที่รุนแรง เนื่องจากชาวบ้านมีการปรับวิถีชีวิตโดยการสร้างบ้านยกพื้นสูงเพื่อหลีกเลี่ยงจากน้ำท่วมสูง

ในชุมชนมีจุดน่าสนใจอื่น ๆ ได้แก่ โรงเรียนบ้านโต๊ะปาแกะ คอฟฟี่โต๊ะปาแกะ

ซูไรดา เจะนิ. (2559). การศึกษาภูมินามของหมู่บ้านในอำเภอรามัน จังหวัดยะลา. ทุนอุดหนุนจากงบประมาณการศึกษาประจำปี 2559. มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา.

กรมการปกครอง. (2565). ระบบสถิติทางการทะเบียน จำนวนประชากร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566. เข้าถึงได้จาก https://stat.bora.dopa.go.th/

อบต.วังพญา โทร. 0-7329-9962