ลำธารเก่าแก่ องค์กรเข้มแข็ง
เดิมชื่อหมู่บ้านแห่งนี้เป็นที่รู้จักกันในหมู่บ้านว่า "บ้านจาเราะดาตัง" เป็นภาษามลายูท้องถิ่น "เจาเราะ" เป็นภาษามลายู มีความหมายคือ ลำธาร ส่วนคำว่า "ดาตัง" เป็นภาษามาลายู หมายถึง การมาเจอกันหรือมาบรรจบกัน กล่าวคือเป็นหมู่บ้านที่มีสองลำธารมาบรรจบกันในพื้นที่แห่งนี้ จึงเรียกที่แห่งนี้ว่า "จาเราดาตัง" และได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "จาเราะดาตัง" และได้เพี้ยนมาเป็น "หมู่บ้านเจาะกาแต" จนถึงปัจจุบัน
ลำธารเก่าแก่ องค์กรเข้มแข็ง
เป็นหมู่บ้านที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2546 เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยแม่น้ำลำธาร และเป็นพื้นที่ติดแม่น้ำสายบุรีไหลผ่าน ได้มีประชากรเข้ามาสร้างที่อยู่อาศัยในหมู่บ้าน และอยู่ในเขตความรับผิดชอบของบ้านพรุ เนื่องจากมีประชากรจำนวนมากทางคณะกรรมการหมู่บ้านได้มีการประชุมเกี่ยวกับการแยกหมู่บ้าน และจัดตั้งหมู่บ้านขึ้นมาใหม่
เดิมชื่อหมู่บ้านเป็นที่รู้จักในหมู่บ้านว่า บ้านจาเราะดาตัง เป็นภาษามลายูท้องถิ่น เดิมนั้นเล่าว่าประวัติการเรียกชื่อหมู่บ้านหรือชุมชนแห่งนี้มีที่มาจาก คำว่า จาเราะ เป็นภาษามลายูถิ่น มีความหมายว่า ลำธาร ส่วนคำว่า ดาตัง หมายถึง การมาเจอกันหรือมาบรรจบกัน กล่าวคือเป็นหมู่บ้านที่มีสองลำธารมาบรรจบกันในพื้นที่แห่งนี้
บ้านเจาะกาแตอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอรามัน ประมาณ 16 กิโลเมตร อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 28 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 1,072 กิโลเมตร การเดินทางจากจังหวัดยะลามายังชุมชนบ้านเจาะกาแต สามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล และรถโดยสารสองแถวสาย ยะลา – ต้นไทร
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านจะรังตาดง หมู่ที่ 2 ตำบลท่าธง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านพรุ หมู่ที่ 3 ตำบลท่าธง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านเกะรอ หมู่ที่ 5 ตำบลเกะรอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านโต๊ะพราน หมู่ที่ 1 ตำบลท่าธง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
สภาพพื้นที่กายภาพ
สภาพโดยทั่วไปของบ้านเจาะกาแต มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม ติดแม่น้ำสายบุรี ที่มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาสันกาลาคีรี ไหลผ่านมาทางแม่น้ำตอนบนในเขตอำเภอสุคีริน ผ่านมาทางอำเภอศรีสาคร อำเภอรือเสาะ ในจังหวัดนราธิวาส และลงสู่พรุลานควายหรือบึงโต๊ะพรายหรือพรุน้ำดำ ซึ่งเป็นแอ่งน้ำและป่าพรุที่สำคัญของพื้นที่
ลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้น มี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อนและฤดูฝน ฤดูฝนจะมีน้ำหลากและน้ำส่วนเกินในแม่น้ำสายบุรี เนื่องด้วยพื้นที่บ้านเจาะกาแตมีลักษณะอยู่ในพื้นที่สูงจึงไม่ได้ผลกระทบจากน้ำท่วม พื้นที่โดยส่วนใหญ่มีความอุดมสมบูรณ์เนื่องจากติดแม่น้ำสายบุรี
จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือน และประชากรชุมชนบ้านเจาะกาแต จำนวน 220 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 1,034 คน แบ่งประชากรชาย 518 คน หญิง 516 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายมลายู คนในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวที่มีความหลากหลายช่วงวัย มีเพียงส่วนน้อยที่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผุ้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน
มลายูผู้คนในชุนชนบ้านเจาะกาแต มีการรวมกลุ่มที่เป็นทางการ
กลุ่มเลี้ยงปลาในกระชัง เป็นกลุ่มที่จัดตั้งโดยคนในชุมชนเนื่องด้วยพื้นที่ในหมู่บ้านติดกับแม่น้ำสายบุรีจึงเล็งเห็นว่าสามารถนำปลาไปเลี้ยงในบริเวณแม่น้ำสายบุรีได้ทางกลุ่มจึงได้จัดหางบประมาณซื้อปลามาเลี้ยงในพื้นที่ดังกล่าว
กลุ่มกองทุนชุมชนสัจจะ กองทุนนี้ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจตามแนวทางประชารัฐ
ด้านกลุ่มอาชีพ พื้นที่แห่งนี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร ปลูกต้นยาง ทุเรียน ลองกอง เลี้ยงปลาในกระชัง รองลงมาประกอบอาชีพรับราชการและค้าขาย
ในรอบปีของผู้คนบ้านเจาะกาแตมีวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นดังต่อไปนี้
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
- งานเมาลิดนบี เป็นวันแห่งการยกย่องวันเกิดของท่านนบีมูฮัมหมัด (ซ.ล.) คำว่า "เมาลิด" เป็นภาษาอาหรับแปลว่า เกิด, ที่เกิด หรือวันเกิด ซึ่งหมายถึงวันเกิดของท่านนบีมูฮัมหมัด (ซ.ล.) ตรงกับวันที่ 12 เดือนรอบิอุลเอาวัล หรือเดือนที่ 3 ตามปฏิทินอิสลาม ในพื้นที่หมู่บ้านเจาะกาแตจะจัดกิจกรรมในงานเมาลิดที่มัสยิดประจำหมู่บ้านโดยมีลักษณะกิจกรรมได้แก่ การอัญเชิญคัมภีร์อัล-กุรอาน การกล่าวสรรเสริญ อ่านซางี เพื่อระลึกถึงท่านนบีมูฮัหมัด (ซ.ล.) นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงอาหารแก่ผู้ที่ไปร่วมงานด้วย
- ประเพณีการกวนอาซูรอ เป็นการรำลึกถึงความยากลำบากของศาสดา นบีนูฮ โดยเชื่อว่าในสมัยของท่านมีเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ น้ำท่วมโลกเป็นระยะเวลานาน ศาสดานบีนูฮ ซึ่งล่องลอยเรืออยู่เป็นเวลานาน ทำให้อาหารที่เตรียมไว้เหลือน้อยลง จึงได้นำส่วนที่พอจะมีเหลือเอามารวมกันแล้วกวนกิน จึงกลายเป็นตำนานที่มาของขนมอาซูรอ ในชุมชนเจาะกาแตจะจัดงานกวนอาซูรอช่วงเดือนมูฮัรรอมของทุกปี โดยจะทำที่มัสยิดเป็นส่วนใหญ่มีชาวบ้านในพื้นที่ให้ความร่วมมือในการมากวนขนมอาซูรอเป็นจำนวนมากจึงถือได้เป็นการสร้างความสัมพันธ์ของคนในพื้นที่ลุ่มน้ำสายบุรีแห่งนี้
คำว่า "อาซูรอ" คือคำในภาษาอาหรับ แปลว่า การผสม ในที่นี้หมายถึงการนำของที่รับประทานได้ทั้งของคาวและของหวานจำนวน 10 อย่าง มากวนรวมกัน ประเพณีจะจัดในวันที่ 10 ของเดือนมูฮัรรอม ซึ่งเป็นเดือนแรกของฮิจเราะห์ศักราชตามปฏิทินอิสลาม เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาปีใหม่ของมุสลิม ลักษณะกิจกรรมจะมีการรวมตัวของชาวบ้านโดยที่ชาวบ้านจะนำวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเผือก มัน ฟักทอง กล้วย ข้าวสาร ถั่ว เครื่องปรุง ข่าตะไคร้ หอมกระเทียม เมล็ดผักชี ยี่หร่า เกลือ น้ำตาล กะทิ โดยวัตถุดิบทั้งหมดจะถูกกวนในกระทะเหล็กใช้เวลาเกือบ 6-7 ชั่วโมง โดยต้องกวนตลอด จนกระทั่งสุกแห้ง เมื่อเสร็จเรียบร้อยมีการแจกจ่ายแบ่งปันให้แก่ชาวบ้าน ภาพที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความสัมพันธ์และสามัคคีของคนในชุมชน
- วันตรุษอิดิลฟิตรี หรือที่นิยมเรียกว่า “วันรายอปอซอ” เพราะหลังจากที่มุสลิมได้ถือ ศีลอดมาตลอดในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่ 9 ของศาสนาอิสลาม ก็จะถึงวันออกบวช ตอนเช้าจะมีการละหมาดร่วมกัน ทุกคนแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาด สวยงาม และมีการจ่าย “ซะกาตฟิตเราะฮ์”
- วันตรุษอิดิลอัฏฮา หรือวันรายอฮัจยี เนื่องจากมุสลิมทั่วโลกเริ่มประกอบพีธีฮัจญ์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย มีการทำกุรบานหรือการเชือดสัตว์เพื่อเป็นอาหารแก่เพื่อนบ้านและคนยากจน เพื่อขัดเกลาจิตใจให้เป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม
- การถือศีลอด เป็นหลักปฎิบัติที่มุสลิมจำเป็นต้องถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ตลอดระยะเวลา 1 เดือน มุสลิมที่มีอายุเข้าเกณฑ์ศาสนบัญญัติจะต้องงด การกิน ดื่ม การร่วมประเวณีตลอดจนทุกอย่างที่เป็นสิ่งต้องห้าม ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนกระทั่งตกดิน ทุกคนต้องสำรวมกาย วาจา ใจ เพราะเดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่มีประเสริฐยิ่งของศาสนาอิสลาม ซึ่งในเดือนนี้ชาวมุสลิมจะไปละหมาดที่มัสยิด ซึ่งเป็นการละหมาดที่ปฏิบัติภายในเดือนรอมฎอนเท่านั้น เรียกว่า “ละหมาดตะรอเวียะห์”
- การละหมาด เป็นการแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ ซึ่งเป็นที่ศรัทธาของชาวมุสลิม ทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยถือว่าเป็นการเข้าเฝ้าผู้ทรงสร้างที่ยิ่งใหญ่ การแต่งกายต้องสะอาด เรียบร้อย มีความสำรวม พระองค์กำหนดเวลาละหมาดไว้วันละ 5 เวลา
- การทำฮัจญ์ อัลลอฮห์ทรงบังคับ ให้มุสลิมที่มีความสามารถด้านกำลังกาย กำลังทรัพย์ ต้องไปทำฮัจญ์ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีขึ้นปีละครั้งชาวมุสลิมทั่วโลกจะเดินทางมารวมกัน เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮห์ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร มีฐานะทางสังคมอย่างไรต้องมาอยู่ที่เดียวกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ทุกคนมีฐานะเป็นบ่าวของอัลลอฮอย่างเท่าเทียมกัน ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม
- การเข้าสุนัต เป็นพิธีกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวมุสลิม ถือกันว่ามุสลิมที่แท้จริงควรเข้าสุนัต ถ้าไม่ทำถือว่าเป็นมุสลิมที่ไม่สมบูรณ์ ไม่บริสุทธิ์ การเข้าสุนัต คือการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศของผู้ชายออก เพื่อสะดวกในการรักษาความสะอาด การเข้าสุนัตจะนิยมขลิบในช่วงเดือนเมษายนเนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคการเรียนการสอนของเด็กในพื้นที่ กิจกรรมจะมีการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศ และมีการเตรียมอาหารเป็นข้าวเหนียวสีต่าง ๆ บ้างพื้นที่จะมีการขลิบเป็นหมู่คณะ โดยมีเด็กในชุมชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพ ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ได้แก่ สวนยางพารา สวนผลไม้ ค้าขาย และเลี้ยงปลาในกระชัง
1. นายสะมะแอ มะมิง เป็นหมอบ้านเชี่ยวชาญในการรักษากระดูกและปัดเป่าโรคต่าง ๆ ท่านได้รับการสืบทอดความรู้ในแขนงนี้จากรุ่นสู่รุ่น
2. นางบีเดาะ เวาะเซ็ง ชาวบ้านในพื้นที่มักเรียกว่า โต๊ะบีแดบีเดาะ ซึ่งเป็นภาษามลายูท้องถิ่น หมายถึง หมอตำแยหรือผดุงครรภ์โบราณ ซึ่งในสมัยก่อนหมอตำแยมักจะถูกเรียกหาเพื่อทำหน้าที่ช่วยคลอดจนถึงหลังคลอด โดยได้รับการสืบทอดจากบรรพบุรุษในตระกูลของท่าน
อาหาร อาหารที่นิยมรับประทานประเภทแกง ชาวบ้านจะเรียกว่า ปูโจ๊ะแคและ หรือ แกงขี้เหล็กซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารที่นิยมปรุงกินในช่วงเทศกาลต่าง ๆ เช่น งานแต่งงาน วันอีด วันครบรอบการเสียชีวิต เป็นต้น
ภาษามลายู หรือภาษามาเลย์เป็นภาษาหนึ่งในตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน ซึ่งใช้ในดินแดนประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน และภาคใต้ของประเทศไทย
ประเทศไทยมีจังหวัดที่มีประชากรพูดภาษามลายู คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาสและบางอำเภอของจังหวัดสงขลา ประชากรที่นี่ส่วนใหญ่เขียนและบันทึกโดยใช้อักษรยาวี ปัจจุบันคนในชุมชนยังคงรักษาไว้ซึ่งภาษาท้องถิ่นในพื้นที่อย่างเหนียวแน่น คนในชุมชนเจาะกาแตยังคงสื่อสารภาษามลายูเป็นหลักแม้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงของสังคมเข้าสู่ความทันสมัย
การเปลี่ยนแปลงของสังคมไปสู่ความทันสมัย ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือ การสร้างบ้านเรือนที่มีความทันสมัยมากขึ้น ประกอบกับอิทธิพลทางการศึกษาสมัยใหม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเดิม
ด้านความท้าทายของชุมชน บ้านเจาะกาแตเผชิญกับความท้าทายเกี่ยวกับปัญหายาเสพติดในพื้นที่ที่มีการระบาด แต่ด้วยความตระหนักของคนในชุมชมโดยร่วมมือของผู้นำสี่เสาหลักในพื้นที่เข้ามาการจัดการแก้ปัญหาทำให้การระบาดลดลงอย่างต่อเนื่อง
สายในชุมชนเจาะกาแต มีจุดสนใจอื่น ๆ เช่น คลองแม่น้ำบุรี
ซูไรดา เจะนิ. (2559). การศึกษาภูมินามของหมู่บ้านในอำเภอรามัน จังหวัดยะลา. ทุนอุดหนุนจากงบประมาณการศึกษาประจำปี 2559.มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา.
กรมการปกครอง. (2565). ระบบสถิติทางการทะเบียน จำนวนประชากร. ออนไลน์. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566. เข้าถึงได้จาก https://stat.bora.dopa.go.th/