บ้านกือแลสงบสุข ปลอดสารพิษ ทุ่งหญ้าเขียวขจี
"กือแล" เป็นภาษายาวีแปลว่า กำไล มีประวัติเล่าขานว่า เมื่อสมัยก่อนมีควานช้างคนหนึ่งได้นำช้างจากบ้านจือนือแรไปยังบ้านบูเกะจือฆา การเดินทางต้องผ่านพื้นที่บริเวณกลางป่าเสม็ดแห่งหนึ่ง การเดินทางครั้งนั้นทำให้กำไลของช้างเชือกหนึ่งตกหายไปบริเวณชุมชนบ้านบูเกะจือฆา ซึ่งบริเวณดังกล่าวคือชุมชนบ้านกือแลในปัจจุบัน
นอกจากนี้ คำว่า "กือแล" มาจากคำมลายูถิ่นคือ "ฆือแล" หมายถึงต้นเสม็ด โดยทุกพื้นที่ในหมู่บ้านกือแลปกคลุมด้วยต้นเสม็ดชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านแห่งนี้ว่า บ้านกือแลกำปงฆือแล
บ้านกือแลสงบสุข ปลอดสารพิษ ทุ่งหญ้าเขียวขจี
"กือแล" เป็นภาษายาวีแปลว่า "กำไล" มีประวัติเล่าขานว่า เมื่อสมัยก่อนมีควานช้างคนหนึ่งได้นำช้างจากบ้านจือนือแรไปยังบ้านบูเกะจือฆา การเดินทางต้องผ่านพื้นที่บริเวณกลางป่าเสม็ดแห่งหนึ่งการเดินทางครั้งนั้นทำให้กำไลของช้างเชือกหนึ่งตกหายไป บริเวณดังกล่าวคือบริเวณชุมชนบ้านบูเกะจือฆา ซึ่งก็คือบริเวณชุมชนบ้านกือแลในปัจจุบัน ความเป็นอยู่ของคนในชุมชนในอดีตจะอยู่แบบเรียบง่าย ข้าวสารชาวบ้านจะตำกับครกขนาดใหญ่ บ้านทุกหลังจะมีครกไว้ตำข้าวเปลือก โดยส่วนใหญ่ผู้หญิงจะเป็นคนตำ การแต่งกายจะนุ่งผ้าถุง ผ้าขาวม้าพาดไหล่ เพื่อปกปิดบริเวณเนินอก เนื่องจากหมู่บ้านเป็นพื้นที่ที่ขาดความเจริญ ส่วนการทำนาผู้ชายจะเป็นคนไถนาเมื่อไถเสร็จแล้วจะพาวัวควายไปเลี้ยงตามท้องทุ่ง บางคนรื้อพื้นที่ป่าเสม็ดเพื่อทำเป็นที่นา เพราะการทำนาทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น
คำว่า "กือแล" มาจากคำมลายูถิ่นคือ "ฆือแล" ฆือแลเป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งมีใบเล็ก ๆ เป็นไม้จำพวกเนื้อแข็ง เห็ดจากต้นฆือแลสามารถรับประทานได้ (ฆือแล =ภาษาถิ่น ภาษาไทย = ต้นเสม็ด) ทุกพื้นที่ในหมู่บ้านกือแลปกคลุมด้วยต้นเสม็ดชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านแห่งนี้ว่า บ้านกือแลกำปงฆือแล ซึ่งในภาษามาลายูคำว่า ฆือแล หมายถึงต้นเสม็ดนั่นเอง จากหมู่บ้านที่มีชื่อตามสภาพแวดล้อมทางอาชีพและการดำรงชีวิต เป็นหมู่บ้านที่มีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจที่ชาวบ้านได้ประกอบอาชีพ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกและการค้าขาย จนกลายเป็นชุมชนใหญ่ขึ้นประกอบอาชีพเกษตรกรรมตามอัธยาศัย
ในปัจจุบัน บ้านกือแล มีสภาพเป็นพื้นที่ราบเชิงเขา ลักษณะภูมิประเทศของหมู่บ้านที่มีศักยภาพเหมาะในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมแบบผสมผสานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้านเลี้ยงสัตว์เพราะมีทุ่งหญ้าขนาดกว้างและการเพาะปลูกข้าวที่เป็นที่นาประชากรมีศักยภาพในการพัฒนา มีความสามารถในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรด้านข้าว และประกอบอาหารกึ่งสำเร็จรูปทำข้าวกล้องประกอบกับมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่สงบมีความรักความสามัคคี เอื้ออาทรเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
แผนที่สังเขปที่ตั้งหมู่บ้าน ตั้งอยู่ทางทางทิศเหนือของตำบลวังพญา ของอำเภอรามัน ห่างจากจังหวัดยะลาประมาณ 9 กิโลเมตร และห่างจากตัวอำเภอรามัน ประมาณ 19 กิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านวัดนิโคธาวาส ตำบลวังพญา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านเยาะ ตำบลเนินงาม
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านไม้แก่น ตำบลเนินงาม
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านบูดี ตำบลบูดี
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
ลักษณะภูมิประเทศ สภาพพื้นที่ทั่วไปของหมู่บ้านกือแล เป็นเนินสูงและภูเขาเตี้ยๆ อยู่ทางตอนเหนือและทางทิศตะวันตกของตำบลเหมาะแก่การปลูกยางพาราไม้ผลไม้ยืนต้นและมีที่ราบลาดมาทางตอนกลางของตำบล และทางทิศตะวันออกของตำบล ซึ่งพื้นที่ราบนี้ถ้าเป็นดอนจะเหมาะแก่การปลูกยางพารา แต่ถ้าเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำนามีร้อนชื้นเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ มี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อน ( เริ่มตั้งแต่กุมภาพันธ์ ถึงสิงหาคม) และฤดูฝน (กันยายน ถึงมกราคม) มีฝนตกตลอดช่วงฤดู และมีฝนตกชุกมากที่สุด ในระหว่างเดือนตุลาคม ถึง มกราคม
จากข้อมูลที่สำรวจโดย จปฐ. ระบุจำนวนครัวเรือนมีทั้งหมด 290 ครัวเรือน (ข้อมูลปี 2565) จำนวนประชากร 1,214 คน (ข้อมูลปี 2565) ชาย 599 คน หญิง 615 คน ในชุมชนเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรมมีคนไทยเชื้อสายมลายู ประมาณ 77% และไทยพุทธอยู่ประมาณ 23% ของชุมชนทั้งหมดคนในชุมชนส่วนอยู่กับแบบครอบครัว ในละแวกใกล้เคียง มีสภาพพื้นที่ราบเชิงเขาเป็นลักษณะภูมิประเทศของหมู่บ้านที่มีศักยภาพเหมาะในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมแบบผสมผสานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้านเลี้ยงสัตว์เพราะมีทุ่งหญ้าขนาดกว้างและการเพาะปลูกข้าวที่เป็นที่นา
มลายูอาชีพหลัก ทำเกษตรกรรมสวนยาง สวนผลไม้ผสม ทำนา
อาชีพเสริม การเลี้ยงโค ทำขนม ปลูกผักริมรั้ว เลี้ยงปลาในกระชัง
การซื้อขายแลกเปลี่ยนภายในชุมชน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น อาหาร เครื่องปรุง เนื้อสัตว์ ผักสด ของใช้ในครัวเรือน ผ่านร้านขายของชำในชุมชน โดยมีร้านค้าภายในชุมชนจำนวน 8 ร้าน โดยนำสินค้าจากในพื้นที่และภายนอกมาจำหน่าย มีร้านค้าทั้งขายของชำและขายอาหารสด โดยการนำสินค้าจากชาวบ้านบ้างส่วนมาจำหน่ายในร้าน
การซื้อขายแลกเปลี่ยนกับคนภายนอก ส่วนใหญ่เป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้จากการทำเกษตรกรรม เช่น ทุเรียน ลองกอง มังคุด หรือ ซื้อสินค้าจากรถกับข้าว (รถพุ่มพวง,รถขายกับข้าว) ที่เข้ามาในชุมชนหรือตลาดนัดภายในชุมชนในช่วงเย็นของทุก ๆ วันพฤหัสบดีจะมีตลาดช่วงเย็นมีทั้งคนภายนอกและภายในพื้นที่ร่วมจำหน่ายสินค้า อุปโภค บริโภค ต่าง ๆ โดยคนในชุมชนจะใช้วิธีการกักตุ๋นอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละสัปดาห์และพื้นที่ตลาดนัดรอบนอก
การออกไปทำงานนอกชุมชน การออกไปทำงานนอกชุมชน คิดเป็น 42% ของคนในชุมชน ออกไปรับจ้างทำงานด้านอุตสาหกรรม พนักงานบริษัททั่วไป และรับราชการ แต่ยังกลับมาอาศัยอยู่ในพื้นที่ เนื่องจากบ้านกือแลอยู่ในเขตชุมชนที่ไม่ไกลมากจากตัวเมืองยะลาทำให้อัตราการออกไปทำงานนอกพื้นที่เยอะ และยังมีการออกไปทำงานต่างประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น โดยคิดเป็นร้อยละ 5% จากจำนวนรายงานแรงงานในพื้นที่
ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกชุมชน สมาชิกชุมชนส่วนใหญ่อยู่กันเป็นกลุ่มตามโซนเป็นหย่อม ๆ บางพื้นที่ก็ไม่มีที่อยู่อาศัยห่างกันเป็น 2-3 กิโล และในส่วนมากจะดูแลกันเป็นโซนพื้นที่ เป็นชุมชนที่มีพื้นที่ว่างจากการปลูกสร้างที่พักอาศัยน้อยมาก และมีพื้นที่ทำทุ่งนา 60% หรือละแวกใกล้เคียงกับที่อยู่อาศัย ทำให้คนในชุมชนสามารถเข้าได้ทุกกลุ่ม โดยส่วนใหญ่จะเป็นเครือญาติที่ตามมาอยู่ในชุมชน โดยในชุมชนบ้านกือแลจะมีคนนอกพื้นที่เข้ามาอาศัยเนื่องจากชุมชนติดกับค่ายพญาลิไทและเขตโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครืนทร์ ยะลา
โครงสร้างอำนาจภายในชุมชน ตามโครงสร้างการปกครอง มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ทำงานร่วมกับหน่วยงานปกครองท้องถิ่น ส่วนภายในชุมชนในการทำโครงการต่าง ๆ จากภายนอกและงานขับเคลื่อนชุมชน โดยมีนายอาลี สาแม เป็นแกนนำชุมชน
การรวมกลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นการรวมกลุ่มกันตามครอบครัวและกลุ่มที่สนิทกันหรือมีช่วงวัยเดียวกัน เช่น กลุ่มแกนนำชุมชนที่ทำงานชุมชนด้านต่าง ๆ กลุ่มเด็กและเยาวชน รวมตัวกันเพื่อจัดกิจกรรมทางศาสนา และทำกิจกรรมร่วมกันในชุมชน ส่วนกลุ่มที่ไม่เป็นทางการส่วนมาก และยังมีกลุ่มทำนาปี รวมตัวกันจัดกิจกรรมร่วมด้วยช่วยกันเกี่ยวข้าว ส่งต่อเข้าสู่ชุมชนเพื่อลดอัตราการออกไปซื้อสินค้านอกพื้นที่
วัฒนธรรม ประเพณี
- เมาลิดินนบี เป็นวันคล้ายวันประสูติของศาสดามูฮัมหมัด (ซล.) ศาสดาแห่งมนุษยชาติ ผู้ศรัทธาในศาสนาอิสลาม จะมีการรำลึกถึงคุณงามความดี หรือประวัติของท่านในอดีตกาล ในบรรยากาศแห่งความรัก และรำลึกถึงท่านอย่างแท้จริง ซึ่งจะจัดในเดือน เราะบีอุลเอาวัล ซึ่งเป็นเดือนที่ 3 ในปฏิทินอิสลาม
- วันตรุษอิดิลฟิตรี หรือที่นิยมเรียกว่า “วันรายอปอซอ” เพราะหลังจากที่มุสลิมได้ถือศีลอดมาตลอดในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่ 9 ของศาสนาอิสลาม ก็จะถึงวันออกบวช ตอนเช้าจะมีการละหมาดร่วมกัน ทุกคนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาด สวยงาม และมีการจ่าย “ซะกาตฟิตเราะฮ์”
- วันตรุษอิดิลอัฏฮา หรือวันรายอฮัจยี เนื่องจากมุสลิมทั่วโลกเริ่มประกอบพีธีฮัจญ์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย จะมีการทำกุรบาน หรือการเชือดสัตว์เพื่อเป็นอาหารแก่เพื่อนบ้านและคนยากจน เพื่อขัดเกลาจิตใจให้เป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม
- การถือศีลอด เป็นหลักปฎิบัติที่มุสลิมจำเป็นต้องถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ตลอดระยะเวลา 1 เดือน มุสลิมที่มีอายุเข้าเกณฑ์ศาสนบัญญัติจะต้องงด การกิน ดื่ม การร่วมประเวณีตลอดจนทุกอย่าง ที่เป็นสิ่งต้องห้าม ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนกระทั่งตกดิน ทุกคนต้องสำรวมกาย วาจา ใจ เพราะเดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่มีประเสริฐยิ่งของศาสนาอิสลาม ซึ่งในเดือนนี้ชาวมุสลิมจะไปละหมาดที่มัสยิด ซึ่งเป็นการละหมาดที่ปฏิบัติภายในเดือนรอมฎอนเท่านั้น เรียกว่า “ละหมาดตะรอเวียะห์”
- การละหมาด เป็นการแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ ซึ่งเป็นที่ศรัทธาของชาวมุสลิม ทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยถือว่าเป็นการเข้าเฝ้าผู้ทรงสร้างที่ยิ่งใหญ่ การแต่งกายต้องสะอาด เรียบร้อย มีความสำรวม พระองค์กำหนดเวลาละหมาดไว้วันละ 5 เวลา
- การทำฮัจญ์ อัลลอฮ์ทรงบังคับ ให้มุสลิมที่มีความสามารถด้านกำลังกาย กำลังทรัพย์ ต้องไปทำฮัจญ์ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีขึ้นปีละครั้งชาวมุสลิมทั่วโลกจะเดินทางมารวมกัน เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร มีฐานะทางสังคมอย่างไรต้องมาอยู่ที่เดียวกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ทุกคนมีฐานะเป็นบ่าวของอัลลอฮ์อย่างเท่าเทียมกัน ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม
- การเข้าสุนัต เป็นพิธีกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวมุสลิม ถือกันว่ามุสลิมที่แท้จริงควรเข้าสุนัต ถ้าไม่ทำถือว่าเป็นมุสลิมที่ไม่สมบูรณ์ ไม่บริสุทธิ์ การเข้าสุนัต คือการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศของผู้ชายออก เพื่อสะดวกในการรักษาความสะอาด การเข้าสุนัตจะนิยมขลิบในช่วงเดือนเมษายนเนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคการเรียนการสอนของเด็กในพื้นที่ กิจกรรมจะมีการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศ และมีการเตรียมอาหารเป็นข้าวเหนียวสีต่าง ๆ บางพื้นที่จะมีการคลิปเป็นหมู่คณะ โดยมีเด็กในชุมชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
- ประเพณีการกวนอาซูรอ เป็นการรำลึกถึงความยากลำบากของศาสดา นบีนูฮ โดยเชื่อว่าในสมัยของท่านมีเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ น้ำท่วมโลกเป็นระยะเวลานาน ศาสดานบีนูฮ ซึ่งล่องลอยเรืออยู่เป็นเวลานาน ทำให้อาหารที่เตรียมไว้ร่อยหรอลง จึงได้นำส่วนที่พอจะมีเหลือเอามารวมกันแล้วกวนกิน จึงกลายเป็นตำนานที่มาของขนมอาซูรอ
คำว่า "อาซูรอ" คือคำในภาษาอาหรับ แปลว่า การผสม ในที่นี้หมายถึงการนำของที่รับประทานได้ทั้งของคาวและของหวานจำนวน 10 อย่าง มากวนรวมกัน ประเพณีจะจัดในวันที่ 10 ของเดือนมูฮัรรอม ซึ่งเป็นเดือนแรกของฮิจเราะห์ศักราชตามปฏิทินอิสลาม เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาปีใหม่ของมุสลิม ลักษณะกิจกรรมจะมีการรวมตัวของชาวบ้านโดยที่ชาวบ้านจะนำวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเผือก มัน ฟักทอง กล้วย ข้าวสาร ถั่ว เครื่องปรุง ข่าตะไคร้ หอมกระเทียม เมล็ดผักชี ยี่หร่า เกลือ น้ำตาล กะทิ โดยวัตถุดิบทั้งหมดจะถูกกวนในกระทะเหล็กใช้เวลาเกือบ 6-7 ชั่วโมง โดยต้องกวนตลอด จนกระทั่งสุกแห้ง เมื่อเสร็จเรียบร้อยมีการแจกจ่ายแบ่งปันให้แก่ชาวบ้าน ภาพที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความสัมพันธ์และสามัคคีของคนในชุมชน
พฤติกรรมการกินอยู่ การทำงาน
การทำงานส่วนใหญ่ประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรมทั้งในพื้นที่ของตัวเอง และพื้นที่ที่เป็นของสมาชิกชุมชน รวมถึงการออกไปรับจ้างทำงานภายนอกชุมชนในบางช่วงเวลา
อาหาร ใช้วัตถุดิบที่หาได้จากในชุมชน เช่น ผักพื้นบ้านที่ได้จากละแวกบ้านและในไร่ ของป่าตามฤดูกาล ข้าว ส่วนเนื้อสัตว์และผักภายนอกซื้อจากรถพุ่มพวงและร้านค้าในชุมชน ที่จะรับสินค้าจากข้างนอกเข้ามาขาย เช่น เนื้อ ไก่ ไส้กรอกลูกชิ้น ผักต่าง ๆ ไข่ไก่ ส่วนเครื่องปรุงต่าง ๆ เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว น้ำมันพืช จะซื้อจากร้านขายของชำเป็นหลัก
1. นายอับดุลเล๊าะ สาแม มีความชำนาญ การเลี้ยงโคขุน เลี้ยววัวพื้นบ้าน โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการเลี้ยงโคขุนในระดับตำบลจึงทำให้ท่านได้ต่อยอดการเลี้ยงโคขุนและวัวพื้นบ้านจนสามารถตั้งตัวได้และมีการเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาเข้ามาเรียนรู้วิธีการเลี้ยงวัวซึ่งนับได้ว่าหาได้ยากแล้วในปัจจุบัน
อาหาร ปัจจุบันมีความต้องการของเนื้อสูง แต่ในขณะเดียวกันในพื้นที่จังหวัดยะลายังมีการนำเข้าเนื้อวัวจากต่างประเทศทำให้มีราคาสูง ทางชุมชนได้มีแนวคิดริเริ่มมองเห็นเส้นทางการหาเงินเข้าสู่ชุมชนโดยการส่งเสริมให้คนในชุมชนประกอบอาชีพเสริม เกี่ยวกับการเลี้ยงโคขุน โดยการนำบุคคลากรจากกรมปศุสัตว์มาให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงโคขุนในพื้นที่ในช่วงปี พ.ศ. 2562 โดยริเริ่มจากงบประมาณภาครัฐ จนมีอาสาสมัครที่สนใจเข้าร่วมในปัจจุบัน จำนวน 20 คน ในการสลับสับเปลี่ยนไปให้อาหารโดยการตั้งเวรการดูแลโค และสิ่งที่ง่ายที่สุดในการเลี้ยงคือ พื้นที่บ้านกือแลมีทุ่งนาเยอะพอสมควร ทำให้ลดอัตราการสั่งอาหารโคได้เยอะ จนปัจจุบันเป็นการต่อยอดจากโครงการของภาครัฐ ให้มีการเลี้ยงมาถึง ณ บัดนี้ โดยการหาตลาดเนื้อคือส่งไปตามร้านค้าในตัวเมืองจังหวัดยะลา วันละ 100 กิโลต่อวัน ทำให้บางส่วนทำเป็นรายได้หลักและเริ่มมีการแยกตัวออกไปเลี้ยงกันเองโดยยึดหลักจากที่เรียนรู้มาต่อยอดใช้ทำให้เกิดรายได้ที่มากพอสมควร
ภาษาที่ใช้พูด : ภาษามลายูท้องถิ่น และภาษาไทยใช้เป็นภาษรอง
ภาษาที่ใช้เขียน : ภาษาไทยกลาง
สถานการณ์การใช้ภาษาของผู้คนในชุมชนส่วนมากใช้ภาษามลายูท้องถิ่นและบางส่วนใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร
อาชีพหลักคือ การทำการเกษตรกรรม ราคาผลผลิตไม่แน่นอนตามฤดูกาลมีการบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บางส่วนเกษตรกรขาดการพัฒนาระบบการผลิต การแปรรูป การตลาด และการเพิ่มมูลค่าการผลิต ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมในหมู่บ้านทำให้แรงงานออกไปทำงานนอกพื้นที่และแรงงานบางส่วนไม่มีงานทำ ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ
ประชาชนส่วนใหญ่นับถืออิสลามและศาสนาพุทธอยู่ด้วยกันอย่างเข้าใจกัน ไม่หวาดระแวงกันความมั่นคง เป็นหมู่บ้านที่ไม่มีปัญหาการก่อการร้ายและความไม่สงบ มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ประชาชนมีความพร้อมและรับฟังความคิดเห็นให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีต่อส่วนร่วมเสมอมา เกษตรกรส่วนใหญ่ทำสวนยางพารา ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญที่ก่อให้เกิดรายได้แก่ประชาชนมีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็งและชาวบ้านมีความศรัทธาในตัวผู้นำ
การคมนาคมและการสื่อสารภายในหมู่บ้านบางส่วนยังไม่สะดวกและทั่วถึง และภาครัฐให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาของหมู่บ้าน โดยการผ่านกระบวนการจัดเวทีประชาคม ทำให้ได้ปัญหาที่แท้จริงของชุมชนชาวบ้านมีความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐเป็นอย่างดี จึงง่ายต่อการพัฒนาไปสู่ชุมชนที่เข้มแข็ง ในปัจจุบันกระแสโลกาภิวัฒน์ วัฒนธรรมต่างชาติ การบริโภคนิยม มีผลกระทบต่อสังคมและวัฒนธรรมของท้องถิ่นราคาผลผลิตทางการเกษตรไม่คงที่เพราะขึ้นอยู่กับกลไกราคาของตลาดโลกและฤดูกาล มาตรการกีดกันทางการค้าและมาตรฐานสากลเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของผลผลิตทางการเกษตร ในภาพรวมของประเทศชาติการเกิดภัยทางธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเกษตรกรรม งบประมาณน้อยไม่เพียงพอในการพัฒนาด้านต่าง ๆ เนื่องด้วยสถานการณ์ความไม่สงบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เอื้ออำนวยในการประกอบอาชีพ
ในชุมชนบ้านกือแลเป็นชุมชนที่มีความโดดเด่นในการละเล่นว่าว เนื่องจากมีพื้นที่นาเป็นจำนวนมาก เหมาะแก่การเล่นว่าวและยังมีการแข่งขันว่าว
ศักกุรรอวี มะทา. (22 กุมภาพันธ์ 2566). ข้อมูลชุมชนบ้านกือแล. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)
อับดุลเล๊าะ สาแม และอาลี สาแม. (22 กุมภาพันธ์ 2566). ภูมิปัญญา, ปราชญ์ชุมชน. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)
พาตีเมาะ มาหะวอ. (22 กุมภาพันธ์ 2566). สภาพแวดล้อม, ประชากร. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)
ตัสนีม แลหะ และสากีเร๊าะ มามะ. (22 กุมภาพันธ์ 2566). การประกอบอาชีพ. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)