Advance search

บ้านมีดิง

มีดิง

คุณภาพชีวิตดี เศรษฐกิจยั่งยืน สู่ชุมชนเข้มแข็ง

หมู่ที่ 1
บ้านมีดิง
เนินงาม
รามัน
ยะลา
อับดุลเลาะ รือสะ
24 ก.พ. 2023
นิรัชรา ลิลละฮ์กุล
25 มี.ค. 2023
อับดุลเลาะ รือสะ
28 เม.ย. 2023
บ้านมีดิง
มีดิง

เมื่อประมาณ 100 ปี ล่วงมาแล้ว มีผัวเมียคู่หนึ่งได้มาตั้งรกรากอยู่ที่นี่ ได้อาศัยพืชพรรณไม้ชนิดหนึ่งที่ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น มีลักษณะเป็นเถาคล้ายเถาวัลย์ ทานเป็นอาหารแทนพืชผัก มีชื่อว่า "มีดิง" จึงใช้ชื่อเรียกนี้เป็นชื่อหมู่บ้านเป็นต้นมา


ชุมชนชนบท

คุณภาพชีวิตดี เศรษฐกิจยั่งยืน สู่ชุมชนเข้มแข็ง

บ้านมีดิง
หมู่ที่ 1
เนินงาม
รามัน
ยะลา
95140
อบต.เนินงาม โทร. 0-7329-9983
6.498549968
101.3430887
องค์การบริหารส่วนตำบลเนินงาม

เดิมหมู่ 1 ตำบลเนินงามมีชื่อเดิมว่า "บ้านเยาะ" เยาะคือ อาหารผสม ในอดีตบริเวณกลางหมู่บ้านแห่งนี้จะเป็นพื้นที่สำหรับจัดทำอาหารประเภทหนึ่งที่จะใช้การผสมของผลไม้ต่าง ๆ นานาชนิดมารวมกัน ตำกับครกขนาดใหญ่ เช่น ขนุน มะม่วงหิมพานต์ สับปะรด แตงกวา มะเขือ ฯลฯ ซึ่งการตำดังกล่าวภาษายาวีเรียกว่า "เยาะ" เป็นสูตรอาหารที่คิดค้นโดยคนในหมู่บ้านแห่งนี้และได้รับการสืบทอดกันมา จนเป็นชื่อหมู่บ้านในปัจจุบัน สภาพของหมู่บ้านในอดีตพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่า ต่อมาได้ปรับแปรพื้นที่บางส่วนมาเป็นที่นา "บ้านมีดิง" เดิมพื้นที่นี้เป็นคลองกว้าง และมีต้นมีดิงเกิดขึ้นเต็มคลองนั้น ชาวบ้านทั้งในและนอกพื้นที่ใกล้เคียงก็จะนิยมมาเก็บต้นมีดิงที่นี้แล้วเอานำไปทำเป็นอาหารหรือทำเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก

"มีดิง" นั้นเป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกเป็นภาษามาลายูถิ่น หากแปลตามชื่อเรียกในภาษาไทยถิ่น มีการเรียกชื่อต้นนี้ไว้หลากหลาย เช่น ต้นลำเพ็ง ต้นลำเท็ง ต้นผักกูดแดง มีลักษณะลำต้นเป็นไม้เถาเลื้อยเกาะยึดติดไม้อื่น ใบจะคล้ายยอดผักกูด สีแดงอมน้ำตาล ขอบใบหยักเล็กน้อย ผิวใบด้านหน้าเรียบมัน หลังใบมีเส้นใบนูน ใบแก่จะแข็งมาก ส่วนที่ชาวบ้านนิยมนำมาทำเป็นอาหาร มักเอายอดอ่อน ๆ มาทำผัดผัก แกงเลียง ผัดกับไข่ หรือจะต้ม ลวกจิ้มน้ำบูดู มีรสชาติจืดเย็น ซึ่งจะช่วยในเรื่องแก้ไข้พิษ ไข้ปวดหัวตัวร้อน ไข้หวัด หืดหอบ ไข้สันนิบาต นอกจากใบแล้ว รากของลำเพ็งสามารถรักษาแผลงูกัดความเชื่อในศาสนาเป็นเรื่องที่สำคัญมากของชาวบ้านเพราะหลักธรรมคำสอนพิธีกรรมที่แสดงออกถึงความเชื่อนั้น ชาวบ้านมักนำความเชื่อนั้นมาปฏิบัติตามในชีวิตประจำวันความเชื่อในศาสนาแสดงออกในการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้นับถือศาสนานั้น

ชุมชนมีดิงตั้งอยู่ในตำบลเนินงาม อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ห่างจากอำเภอประมาณ 13 กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดยะลา ประมาณ 12 กิโลเมตร

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านกือแล ตำบลเนินงาม จังหวัดยะลา
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านลูโบ๊ะลาบี ตำบลบาโงย จังหวัดยะลา
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านบาโงบูโล๊ะ ตำบลเนินงาม จังหวัดยะลา
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านบุดี ตำบลบุดี จังหวัดยะลา

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ

มีสภาพพื้นที่และลักษณะภูมิประเทศของหมู่บ้าน คือ เป็นที่เนินสูงและภูเขาเตี้ย ๆ ระหว่างตอนเหนือและทางทิศตะวันตกของตำบลเหมาะสมแก่การเพาะปลูกยางพารา ไม้ผล ไม้ยืนต้น มีที่ราบลาดมาทางตอนกลางของตำบล และทิศทางตะวันออกของตำบล ซึ่งพื้นที่ราบนี้เป็นดอนจะเหมาะแก่การเพาะปลูกยางพารา แต่ถ้าเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำนาและเลี้ยงสัตว์ ได้สรุปพื้นที่ของตำบลเนินงาม ส่วนสภาพภูมิอากาศเป็นแบบร้อนชื้น คือ มี 2 ฤดู คือในช่วงเดือนกุมภาพันธ์–เมษายน เป็นช่วงฤดูร้อน และในช่วงเดือนพฤษภาคม–มกราคม เป็นช่วงฤดูฝน 

จากข้อมูลที่สำรวจโดยการเก็บข้อมูล จปฐ. ของบัณฑิตอาสา ระบุจำนวนครัวเรือนมีทั้งหมด 216 ครัวเรือน (ข้อมูลปี 2565) จำนวนประชากร 926 คน (ข้อมูลปี 2565) ชาย 461 คน  หญิง 465 คน ทั้งหมดเป็นอิสลาม ลักษณะการตั้งบ้านเรือนของประชาชนในหมู่บ้านมีดิง มีลักษณะบ้านเรือนขนานไปตามแนวทางของถนนเป็นส่วนมาก และมีบ้านส่วนน้อยที่กระจายออกไปตามพื้นที่ราบสูง

มลายู

อาชีพหลัก มีการประกอบอาชีพหลากหลาย เช่น การทำนาปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ทำสวนยางพารา ทำนา เป็นต้น

อาชีพเสริม การเลี้ยงโค เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลาในกระชัง ปลูกผักสวนครัว

การซื้อขายแลกเปลี่ยนภายในชุมชน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น อาหาร เครื่องปรุง เนื้อสัตว์ ผักสด ของใช้ในครัวเรือน ผ่านร้านขายของชำในชุมชน มีร้านค้าภายในชุมชนจำนวน 5 ร้าน โดยนำสินค้าจากในพื้นที่และภายนอกมาจำหน่าย

การซื้อขายแลกเปลี่ยนกับคนภายนอก ส่วนใหญ่เป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้จากการทำเกษตรกรรม เช่น ทุเรียน ลองกอง มังคุด หรือ ซื้อสินค้าจากรถกับข้าว (รถพุ่มพวง) ที่เข้ามาในชุมชนหรือตลาดนัดภายในชุมชนในช่วงเย็นและพื้นที่ตลาดนัดรอบนอก ส่วนพืชผักส่วนมากเป็นการซื้อจากผักตามครัวเรือนที่มีการปลูกสวนครัวแบบปลอดสารพิษ และยังมีร้านค้าขายของสดสำหรับปรุงอาหารโดยมีบุคคลจากภายนอกเข้ามาอุดหนุน

การออกไปทำงานนอกชุมชน การออกไปทำงานนอกชุมชน คิดเป็น 33% ของคนในชุมชน และที่ออกไปทำงานต่างประเทศมีอยู่ 4% ออกไปรับจ้างทำงานด้านอุตสาหกรรม พนักงานบริษัททั่วไป แต่ยังกลับมาอาศัยอยู่ในพื้นที่ และยังมีบุคคลภายนอกเข้ามาพักอาศัยในพื้นที่

ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกชุมชน สมาชิกชุมชนส่วนใหญ่อยู่กันเป็นกลุ่มตามโซน แบ่งออกเป็น 4 โซน แต่ละโซนจะมีกรรมการหมู่บ้านเป็นคนดูแล เป็นชุมชนที่มีบ้านพักอาศัยเป็นจำนวนมากแบบเต็มพื้นที่ หรือละแวกใกล้เคียงกับที่อยู่อาศัย และยังเป็นพื้นที่ทุ่งนาสักส่วนใหญ่ ทำให้คนในชุมชนสามารถเข้าได้ทุกกลุ่ม โดยส่วนใหญ่จะเป็นเครือญาติที่ตามมาอยู่ในชุมชน ยังมีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของบุคคลภายนอกเข้ามาในชุมชนบางส่วน

โครงสร้างอำนาจภายในชุมชน ตามโครงสร้างการปกครอง มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ทำงานร่วมกับหน่วยงานปกครองท้องถิ่น ส่วนภายในชุมชนมีการทำโครงการต่าง ๆ จากภายนอกและงานขับเคลื่อนชุมชน โดยมีนายมาหะมะสุกรี กาจิเจ๊ะแย เป็นแกนนำชุมชน

การรวมกลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นการรวมกลุ่มกันตามครอบครัวและกลุ่มที่สนิทกันหรือมีช่วงวัยเดียวกัน เช่น กลุ่มแกนนำชุมชนที่ทำงานชุมชนด้านต่าง ๆ กลุ่มเด็กและเยาวชน รวมตัวกันเพื่อจัดกิจกรรมทางศาสนา และทำกิจกรรมร่วมกันในชุมชน ส่วนกลุ่มที่ไม่เป็นทางการส่วนมาก และยังมีการรวมกลุ่มจัดกิจกรรมตามหลักศาสนาและความเชื่อของคนในพื้นที่ เช่น การทำอาซูรอ การทำเมาลิดนาบี การรวมตัวละหมาดรายออีดิลฟิตรีและอีดิลอัฎฮา เป็นต้น

วัฒนธรรม ประเพณี ชาวบ้านมีดิง นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 100 มีการประกอบศาสนกิจรวมกันทุกคืน ทำให้เกิดผลดีในด้านการปฏิบัติศาสนกิจแล้วยังเกิดผลดี คือการสร้างความสามัคคีและการแลกเปลี่ยนทัศนคติ ข่าวสาร กิจกรรมวันสำคัญทางศาสนา มีดังนี้

  • เมาลิดินนบี เป็นวันคล้ายวันประสูติของศาสดามูฮัมหมัด (ซล.) ศาสดาแห่งมนุษยชาติ ผู้ศรัทธาในศาสนาอิสลามจะมีการรำลึกถึงคุณงามความดีหรือประวัติของท่านในอดีตกาล ในบรรยากาศแห่งความรักและรำลึกถึงท่านอย่างแท้จริง ซึ่งจะจัดในเดือน เราะบีอุลเอาวัล ซึ่งเป็นเดือนที่ 3 ในปฏิทินอิสลาม

  • วันตรุษอิดิลฟิตรี หรือที่นิยมเรียกว่า “วันรายอปอซอ” เพราะหลังจากที่มุสลิมได้ถือ ศีลอดมาตลอด ในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่ 9 ของศาสนาอิสลาม ก็จะถึงวันออกบวช ตอนเช้าจะมีการละหมาดร่วมกัน ทุกคนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาด สวยงาม และมีการจ่าย “ซะกาตฟิตเราะฮ์”

  • วันตรุษอิดิลอัฏฮา หรือวันรายอฮัจยี เนื่องจากมุสลิมทั่วโลกเริ่มประกอบพีธีฮัจญ์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย จะมีการทำกุรบานหรือการเชือดสัตว์เพื่อเป็นอาหารแก่เพื่อนบ้านและคนยากจน เพื่อขัดเกลาจิตใจให้เป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ จะตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม

  • การถือศีลอด เป็นหลักปฎิบัติที่มุสลิมจำเป็นต้องถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ตลอดระยะเวลา 1 เดือน มุสลิมที่มีอายุเข้าเกณฑ์ศาสนบัญญัติจะต้องงด การกิน ดื่ม การร่วมประเวณีตลอดจนทุกอย่างที่เป็นสิ่งต้องห้าม ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนกระทั่งตกดิน ทุกคนต้องสำรวมกาย วาจา ใจ เพราะเดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่มีประเสริฐยิ่งของศาสนาอิสลาม ซึ่งในเดือนนี้ ชาวมุสลิมจะไปละหมาดที่มัสยิด ซึ่งเป็นการละหมาดที่ปฏิบัติภายในเดือนรอมฎอนเท่านั้น เรียกว่า “ละหมาดตะรอเวียะห์”

  • การละหมาด เป็นการแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ ซึ่งเป็นที่ศรัทธาของชาวมุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยถือว่าเป็นการเข้าเฝ้าผู้ทรงสร้างที่ยิ่งใหญ่ การแต่งกายต้องสะอาด เรียบร้อย มีความสำรวม พระองค์กำหนดเวลาละหมาดไว้วันละ 5 เวลา

  • การทำฮัจญ์ อัลลอฮ์ทรงบังคับให้มุสลิมที่มีความสามารถด้านกำลังกาย กำลังทรัพย์ ต้องไปทำฮัจญ์ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีขึ้นปีละครั้งชาวมุสลิมทั่วโลกจะเดินทางมารวมกัน เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร มีฐานะทางสังคมอย่างไร ต้องมาอยู่ที่เดียวกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ทุกคนมีฐานะเป็นบ่าวของอัลลอฮ์อย่างเท่าเทียมกัน ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม

  • การเข้าสุนัต เป็นพิธีกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวมุสลิม ถือกันว่ามุสลิมที่แท้จริงควรเข้าสุนัต ถ้าไม่ทำถือว่าเป็นมุสลิมที่ไม่สมบูรณ์ ไม่บริสุทธิ์ การเข้าสุนัต คือการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศของผู้ชายออก เพื่อสะดวกในการรักษาความสะอาด การเข้าสุนัตจะนิยมขลิบในช่วงเดือนเมษายนเนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคการเรียนการสอนของเด็กในพื้นที่ กิจกรรมจะมีการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศ และมีการเตรียมอาหารเป็นข้าวเหนียวสีต่าง ๆ บางพื้นที่จะมีการขลิบเป็นหมู่คณะ มีเด็กในชุมชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

  • ประเพณีการกวนอาซูรอ เป็นการรำลึกถึงความยากลำบากของศาสดา นบีนูฮ โดยเชื่อว่าในสมัยของท่านมีเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ น้ำท่วมโลกเป็นระยะเวลานาน ศาสดานบีนูฮ ซึ่งล่องลอยเรืออยู่เป็นเวลานาน ทำให้อาหารที่เตรียมไว้ร่อยหรอลง จึงได้นำส่วนที่พอจะมีเหลือเอามารวมกันแล้วกวนกิน จึงกลายเป็นตำนานที่มาของขนมอาซูรอ

คำว่า "อาซูรอ" คือคำในภาษาอาหรับ แปลว่า การผสม ในที่นี้หมายถึงการนำของที่รับประทานได้ทั้งของคาวและของหวานจำนวน 10 อย่าง มากวนรวมกัน ประเพณีจะจัดในวันที่ 10 ของเดือนมูฮัรรอม ซึ่งเป็นเดือนแรกของฮิจเราะห์ศักราชตามปฏิทินอิสลาม เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาปีใหม่ของมุสลิม ลักษณะกิจกรรมจะมีการรวมตัวของชาวบ้านโดยที่ชาวบ้านจะนำวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเผือก มัน ฟักทอง กล้วย ข้าวสาร ถั่ว เครื่องปรุง ข่าตะไคร้ หอมกระเทียม เมล็ดผักชี ยี่หร่า เกลือ น้ำตาล กะทิ โดยวัตถุดิบทั้งหมดจะถูกกวนในกระทะเหล็กใช้เวลาเกือบ 6-7 ชั่วโมง โดยต้องกวนตลอด จนกระทั่งสุกแห้ง เมื่อเสร็จเรียบร้อยมีการแจกจ่ายแบ่งปันให้แก่ชาวบ้าน ภาพที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความสัมพันธ์และสามัคคีของคนในชุมชน

1. นายอัมรี  ยามา  มีความชำนาญ การทำเกษตรพอเพียง ตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 

อาหาร กะหรี่ปั๊บเป็นสินค้าท้องถิ่นของชาวมีดิง กะหรี่ปั๊บนั้นเป็นอาหารแบบตะวันตกผสมกับอินเดีย ได้รับความนิยมจากชาวมุสลิมในประเทศไทย คาดว่าท้าวทองกีบม้าคิดค้นขึ้น ต่อมาได้เพี้ยนมาเป็น กะหรี่พัฟฟ์ และเพี้ยนเป็นกะหรี่ปั๊บในที่สุด กะหรี่ปั๊ปไส้ไก่เป็นที่นิยมมาก  กระหรี่ปั๊บ เป็นขนมที่มีลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัว นั่นก็คือ จะมีรูปทรงพับเป็นรูปคล้าย ๆ “หอย” และจะสอดไส้ด้วยเครื่องปรุงนานาชนิด เช่น ไก่ ถั่ว เผือก เป็นต้น และกะหรี่ปั๊บก็เป็นอาหารที่ขึ้นชื่อมากในจังหวัดยะลา และโด่งดังในหลาย ๆ อำเภอในจังหวัดยะลา เป็นของฝากที่นักท่องเที่ยวต่างก็ต้องซื้อติดไม้ ติดมือกัน รวมถึงของฝากอื่นอีกด้วย เช่น เนื้อทุบและถั่ว จนได้มีคำขวัญประจำอำเภอ ว่า “เนื้อนุ่ม ถั่วดีดี กะหรี่ดัง” นั่นเองกะหรี่ปั๊ปบ้านมีดิงขายกันมาเป็นเวลานานมาก แล้วสินค้าที่นี่ได้ถูกส่งไปขายต่อยังอำเภอใกล้เคียงรวมถึงจังหวัดใกล้เคียงอื่น ๆ อีกด้วย โดยขนมของแต่ละเจ้าได้รับประกันคุณภาพ

ภาษาที่ใช้พูด : ภาษามลายูท้องถิ่น

ภาษาที่ใช้เขียน : ภาษาไทยกลาง

สถานการณ์การใช้ภาษาของผู้คนในชุมชนส่วนมากใช้ภาษามลายูท้องถิ่นและบางส่วนใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร


ชุมชนได้มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอดเวลา เริ่มจากเมื่อคนในชนบทมีจำนวนมากขึ้น ที่ดินทำกินที่ทำอยู่เดิมก็ไม่พอ จำเป็นต้องขยายพื้นที่เพาะปลูก โดยการบุกเบิกพื้นที่รกร้างว่างเปล่าหรือที่ป่า ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นที่พื้นที่ราบสูง ไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูกข้าว แต่เหมาะกับการปลูกพืชไร่ จำพวกข้าวโพด ข้าวฟ่าง มันสำปะหลัง ปอและอ้อย วิถีชีวิตของคนในชุมชนจึงเปลี่ยนไปจากการทำนาบนที่ราบลุ่ม ไปสู่การเพาะปลูกพืชไร่บนพื้นที่ดอนเพิ่มขึ้น เดิมคนในชุมชนปลูกข้าว โดยเก็บส่วนหนึ่งไว้บริโภค ส่วนที่เหลือจึงนำไปขาย แต่เมื่อมาทำการเพาะปลูกพืชไร่ จึงต้องเอาผลิตผลของพืชไร่เหล่านี้มาขาย แล้วนำรายได้มาซื้อข้าวบริโภค ทำให้เกิดการค้าขายและตลาด แพร่กระจายกว้างขวางขึ้น ในสังคมชนบทมากขึ้นทุกที การเปลี่ยนแปลงในสังคมหมู่บ้าน เริ่มจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนคนในชุมชน มีผลทำให้ต้องขยายพื้นที่การเพาะปลูก และต้องเปลี่ยนชนิดของพืชผลจากการเพาะปลูกข้าว เป็นการปลูกพืชชนิดอื่นตามความเหมาะสมของพื้นที่ โดยอาศัยธรรมชาติที่ค่อย ๆ หมดไป กลับกันการค้าขายและอาศัยเงินเป็นปัจจัยมีความสำคัญเพิ่มขึ้นทุกที ชีวิตของคนในชุมชนจึงจำเป็นที่จะต้องมีการปรับตัว เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัว คนในชุมชนที่เปลี่ยนการประกอบอาชีพจากการเป็นเกษตรกรหันมาประกอบอาชีพอื่น ๆ เช่น พ่อค้า ช่างก่อสร้าง ช่างไม้ ช่างปูน การ รับจ้างขนส่ง ฯลฯ แต่คนเหล่านี้ก็ยังอาศัยอยู่ในท้องถิ่นในชุมชนของตน


บ้านมีดิงมีพื้นที่ของหมู่บ้านที่มีศักยภาพเหมาะในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมแบบผสมผสานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และประชากรมีศักยภาพในการพัฒนา มีความสามารถในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และประกอบอาหารสำเร็จรูป ประกอบกับมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่สงบ มีความรัก ความสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และเป็นหมู่บ้านที่เป็นพื้นที่ที่ยังไม่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ (เป็นพื้นที่สีเขียว) เพราะในหมู่บ้านมีความเข้มแข็ง ปลอดภัย มีการช่วยเหลือสอดส่องดูแล และมีการบริหารจัดการที่ดี

ประชาชนและเยาวชนบางกลุ่มติดยาเสพติด สาเหตุมาจากปัญหาทางครอบครัวเนื่องจากประชากรในพื้นที่ส่วนใหญ่ออกไปประกอบอาชีพในประเทศเพื่อนบ้านเป็นระยะเวลานานจึงจะกลับ ทำให้บุตรหลานขาดการดูแลเอาใจใส่จากผู้ปกครอง ขาดความรักและความอบอุ่น


มีสภาพแวดล้อมแบบชนบท ยังไม่มีผลกระทบจากมลพิษต่าง ๆ แต่ยังขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อยตามบริเวณบ้าน มีแหล่งน้ำธรรมชาติ คือ บ่อน้ำตื้นที่ขุดขึ้นใช้เองในครัวเรือน

ในชุมชนบ้านมีดิงมีจุดเด่นในเรื่องการทำนาข้าว

มาหะมะสุกรี กาจิเจ๊ะแย. (18 กุมภาพันธ์ 2566). ข้อมูลชุมชนบ้านบีดิง. (โซเฟีย  ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)

อัมรี ยามา. (18 กุมภาพันธ์ 2566). ภูมิปัญญาปราชญ์ชุมชน. (โซเฟีย  ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)

พาวาตี ดอลี และพาตีเมาะ มาหะวอ. (18 กุมภาพันธ์ 2566). สภาพแวดล้อมประชากร. (โซเฟีย  ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)

สานีย๊ะ หามะ. (18 กุมภาพันธ์ 2566). ข้อมูลทั่วไปของชุมชน. (โซเฟีย  ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)