ชุมชนประวัติศาสตร์ ทุ่งนาเขียวขจี
"กอตอตือร๊ะ" เป็นภาษามลายู "กอตอ" หมายถึง วัง "ตือร๊ะ" แปลว่า ไม้แก่นหรืออีกความหมายหนึ่งแปลว่า ซากไม้เก่า ที่แข็งแรงและทนมาก
ชุมชนประวัติศาสตร์ ทุ่งนาเขียวขจี
"กอตอตือร๊ะ" เป็นภาษามลายู "กอตอ" หมายถึง วัง "ตือร๊ะ" แปลว่า ไม้แก่นหรืออีกความหมายหนึ่งแปลว่า ซากไม้เก่า ที่แข็งแรงและทนมาก บ้านกอตอตือร๊ะเป็นเมืองเก่าของเจ้าเมืองในสมัยก่อน ต่อมามีการจัดตั้งเป็นหมู่บ้านในราวปี พ.ศ. 2440 มีกำนันปกครองชื่อ โต๊ะขุน ขึ้นตรงกับหัวเมืองรามันในรัชกาลที่ 5 ต่อมาได้มีการปฏิรูปการปกครองเป็นมณฑล จังหวัด อำเภอ ตำบล
บ้านกอตอตือร๊ะอยู่ห่างจากตัวอำเภอ 1.5 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 28 กิโลเมตร การเดินทางมายังชุมชนบ้านรามันสามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านบาตะตีงี หมู่ที่ 2 ตำบลกอตอตือร๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านกาดือแป หมู่ที่ 5 ตำบลกอตอตือร๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านสโลว์ปาแต หมู่ที่ 4 ตำบลกอตอตือร๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลเนินงาม อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
สภาพพื้นที่กายภาพ
สภาพทั่วไปของชุมชนกอตอตือร๊ะเป็นพื้นที่ราบลุ่มและเป็นพื้นที่ซึ่งเหมาะแก่ทำการเกษตร ประเภททำนาข้าว สวนผลไม้ สวนยางพารา แหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น คลอง ห้วย บึง ภูมิอากาศ ฝนตกเกือบตลอดปี ลักษณะพื้นที่สามารถแบ่งเป็นสองส่วน พื้นที่ด้านในมีลักษณะเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านในพื้นที่ ส่วนพื้นที่รอบนอกมีการทำนาเป็นส่วนใหญ่เรียกได้ว่าเป็นอู่ข้าวที่สำคัญในพื้นที่
จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือน และประชากรชุมชนบ้านตอแล จำนวน 329 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 1,312 คน แบ่งประชากรชาย 641 คน หญิง 671 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายมลายู คนในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวที่มีความหลากหลายช่วงวัย มีเพียงส่วนน้อยที่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผู้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน
มลายูผู้คนในชุนชนกอตอตือร๊ะมีการรวมกลุ่มที่เป็นทางการ
กลุ่มแม่บ้าน เป็นกลุ่มที่จัดตั้งเพื่อเป็นแหล่งทุนช่วยเหลือสตรีในชุมชนให้มีความเข้มแข็งและเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ผ่านการจัดทำขนมพื้นบ้านเพื่อจำหน่ายในชุมชนหรือนอกชุมชน
ด้านกลุ่มอาชีพ พื้นที่แห่งนี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก พื้นที่กอตอตือร๊ะส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทำนาส่วนมาก ส่วนอาชีพรองลงมา คือ กรีดยาง ค้าขายและรับราชการ
ในรอบปีของผู้คนบ้านกอตอตือร๊ะมีวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นดังต่อไปนี้
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
- งานเมาลิดนบี เป็นวันแห่งการยกย่องวันเกิดของท่านนบีมูฮัมหมัด (ซ.ล.) คำว่า "เมาลิด" เป็นภาษาอาหรับแปลว่า เกิด, ที่เกิด หรือวันเกิด ซึ่งหมายถึงวันเกิดของท่านนบีมูฮัมหมัด (ซ.ล.) ตรงกับวันที่ 12 เดือนรอบือุลเอาวัล หรือเดือนที่ 3 ตามปฏิทินอิสลาม ชุมชนบ้านกอตอตือร๊ะจะจัดงานเมาลิดตามบ้านแต่ละหลังโดยผลัดเวียนตามเวรที่ได้รับมอบหมายจากผู้นำในพื้นที่ กิจกรรมในงานเมาลิดได้แก่ การอัญเชิญคัมภีร์อัล-กุรอาน การกล่าวสรรเสริญ อ่านซางี เพื่อระลึกถึงท่านนบีมูฮัหมัด (ซ.ล.) นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงอาหารแก่ผู้ที่ไปร่วมงานด้วย เดือนรอบือุลเอาวัล หรือเดือนที่ 3 ตามปฏิทินอิสลาม
- วันรายอแนหรือรายอหก ความหมายรายอแน คือ คำว่า "รายอ" ในภาษามลายูแปลว่า ความรื่นเริง และ คำว่า "แน" คือ หก ในทางปฏิบัติ เมื่อถึงวันตรุษอีฎี้ลฟิตรี จะเฉลิมฉลองวันอีดใหญ่และวันต่อมาชาวบ้านมักจะถือศีลอด 6 วัน ในเดือนเชาวาลต่อเนื่องจนครบ 6 วัน เมื่อเสร็จสิ้นการถือศีลอด คนในพื้นที่จะถือโอกาสนี้เฉลิมฉลองวัน วันรายอแน โดยจะเดินทางไปทำบุญให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับที่กุโบร์หรือสุสาน
- กิจกรรมฟื้นฟูค่ำคืนนิสฟูซะห์บาน ค่ำคืนนิสฟูซะห์บานจะตรงตามปฎิทินอิสลาม วันที่ 14 เดือน ซะบาน โดยมีลักษณะกิจกรรม คือ มีการละหมาดฟัรดู อ่านอัลกุรอาน ซูเราะห์ยาซีน 3 จบ ซึ่งแต่ละจบจะมีดุอาร์ ขอพรจากอัลลอฮ์ เมื่อเสร็จพิธีการ จะมีการกินเลี้ยงร่วมรับประทนอาหาร และอาหารบ้างส่วนจะนำแจกจ่ายให้ชาวบ้านในหมู่บ้าน
- วันอาซูรอ ตรงวันขึ้น 10 ค่ำ เดือนมูฮัรรอม ซึ่งตรงกับเดือนแรกของปฏิทินอิสลาม จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงประวัติของนบีนุฮ์ ตอนเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่
- วันตรุษอิดิลอัฏฮา หรือวันรายอฮัจยี เนื่องจากมุสลิมทั่วโลกเริ่มประกอบพีธีฮัจญ์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย จะมีการทำกุรบานหรือการเชือดสัตว์เพื่อเป็นอาหารแก่เพื่อนบ้านและคนยากจน เพื่อขัดเกลาจิตใจให้เป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม
- การถือศีลอด เป็นหลักปฎิบัติที่มุสลิมจำเป็นต้องถือศีลอดในเดือนรอมฎอนตลอดระยะเวลา 1 เดือน มุสลิมที่มีอายุเข้าเกณฑ์ศาสนบัญญัติจะต้องงด การกิน ดื่ม การร่วมประเวณีตลอดจนทุกอย่าง ที่เป็นสิ่งต้องห้าม ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนกระทั่งตกดิน ทุกคนต้องสำรวมกาย วาจา ใจ เพราะเดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่มีประเสริฐยิ่งของศาสนาอิสลาม ซึ่งในเดือนนี้ชาวมุสลิมจะไปละหมาดที่มัสยิด ซึ่งเป็นการละหมาดที่ปฏิบัติภายในเดือนรอมฎอนเท่านั้น เรียกว่า “ละหมาดตะรอเวียะห์”
- การละหมาด เป็นการแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ ซึ่งเป็นที่ศรัทธาของชาวมุสลิม ทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยถือว่าเป็นการเข้าเฝ้าผู้ทรงสร้างที่ยิ่งใหญ่ การแต่งกายต้องสะอาด เรียบร้อย มีความสำรวม พระองค์กำหนดเวลาละหมาดไว้วันละ 5 เวลา
- การทำฮัจญ์ อัลลอฮ์ทรงบังคับ ให้มุสลิมที่มีความสามารถด้านกำลังกาย กำลังทรัพย์ ต้องไปทำฮัจญ์ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีขึ้นปีละครั้งชาวมุสลิมทั่วโลกจะเดินทางมารวมกัน เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร มีฐานะทางสังคมอย่างไรต้องมาอยู่ที่เดียวกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ทุกคนมีฐานะเป็นบ่าวของอัลลอฮ์อย่างเท่าเทียมกัน ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม
- การเข้าสุนัต เป็นพิธีกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวมุสลิม ถือกันว่ามุสลิมที่แท้จริงควรเข้าสุนัต ถ้าไม่ทำถือว่าเป็นมุสลิมที่ไม่สมบูรณ์ ไม่บริสุทธิ์ การเข้าสุนัต คือการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศของผู้ชายออก เพื่อสะดวกในการรักษาความสะอาด การเข้าสุนัตจะนิยมขลิบในช่วงเดือนเมษายนเนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคการเรียนการสอนของเด็กในพื้นที่ กิจกรรมจะมีการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศ และมีการเตรียมอาหารเป็นข้าวเหนียวสีต่าง ๆ บางพื้นที่จะมีการขลิบเป็นหมู่คณะ มีเด็กในชุมชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพของประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำนา ปลูกยางพารา อาชีพรองลงมา รับราชการ
1. นาย อับดุลตอเลบ เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลและเป็นนักประวัติศาสตร์ชุมชนที่มีความรู้ในด้านประวัติศาสตร์ของพื้นที่กอตอตือร๊ะ ท่านมักจะถูกเชิญบรรยายเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ในพื้นที่แก่ผู้ที่สนใจในด้านประวัติศาสตร์ชุมชน
ทุนวัฒนธรรม มัสยิดกอตอตือร๊ะเป็นมัสยิดที่สร้างบนพื้นที่วังเก่า ในอดีตที่พื้นที่แห่งนี้เคยมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นสถานที่สอนในด้านศาสนาให้แก่คนในชุมชน มีการรวมตัวจัดกิจกรรมงานเมาลิดและวันสำคัญต่าง ๆ ทางศาสนา
ประเทศไทยมีจังหวัดที่มีประชากรพูดภาษามลายู คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาสและบางอำเภอของจังหวัดสงขลา โดยมักเรียกว่า ภาษาญาวี เนื่องจากประชากรที่นี้ส่วนใหญ่ใช้เขียนและบันทึกใช้อักษรยาวี ปัจจุบันพื้นที่ชุมชนกอตอตือร๊ะส่วนใหญ่จะสื่อสารภาษามลายูเป็นหลักและเมื่ออยู่ในสถานที่ราชการการสื่อสารจะใช้เป็นภาษาไทย
การเปลี่ยนแปลงของสังคมไปสู่ความทันสมัย ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือการสร้างบ้านเรือนที่มีความทันสมัยมากขึ้น ประกอบกับอิทธิพลทางการศึกษาสมัยใหม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเดิม ความท้าทายของชุมชนบ้านกอตอตือร๊ะเผชิญปัญหากับความท้าทายเกี่ยวกับปัญหายาเสพติดที่ระบาดในเยาวชนแต่ด้วยความตระหนักของผู้นำได้เข้ามาจัดการแก้ปัญหาการระบาดทำให้การระบาดของยาเสพติดลดลงเป็นอย่างมาก
ในชุมชนมีจุดน่าสนใจอื่น ๆ ได้แก่ รถไฟสายไม้แก่น
ซูไรดา เจะนิ. (2559). การศึกษาภูมินามของหมู่บ้านในอำเภอรามัน จังหวัดยะลา. ทุนอุดหนุนจากงบประมาณการศึกษาประจำปี 2559. มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา.
กรมการปกครอง. (2565). ระบบสถิติทางการทะเบียน จำนวนประชากร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566. เข้าถึงได้จาก https://stat.bora.dopa.go.th/