ปงตาพึ่งตนเอง แลกเปลี่ยนประสบการณ์หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง โคกหนองนาโมเดล
คำว่า "ปงตา" ในภาษาไทย คือ ต้นตาล สภาพโดยทั่วไปของหมู่บ้านปงตานี้ ในอดีตเป็นป่า ส่วนใหญ่เป็นที่ลาดชัน สภาพเป็นภูเขา และที่ราบสูงตามเทือกเขากาลอ มีความสมบูรณ์ตามธรรมชาติ ในอดีตยังไม่มีทุ่งนา ชาวบ้านชวนกันถางป่า ตัดต้นไม้ ขุดดินยกร่อง เพื่อทำเป็นทุ่งนา ไถนาด้วยวัว ควาย
ปงตาพึ่งตนเอง แลกเปลี่ยนประสบการณ์หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง โคกหนองนาโมเดล
วันหนึ่งได้มีกษัตริย์องค์หนึ่งซึ่งเป็นตระกูลราชวงศ์ของมลายู ได้ทราบข่าวจากชาวบ้านว่ามีช้างเผือกได้ปรากฏในป่าละแวกนี้ ซึ่งสมัยก่อนเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีต้นไม้ใหญ่ ๆ หลายชนิด เป็นเชิงเขาและเป็นป่าทึบ ทำให้กษัตริย์สนใจและดำริให้ทหารไปหาช้างเผือก เพื่อที่จะประดับบารมี เมื่อทหารได้รับคำสั่ง จึงเดินทางออกเข้ามาในพื้นที่ ก็ได้ชักชวนให้ชาวบ้านช่วยกันถางป่าเพื่อทำเป็นที่ทำกินของประชาชน และขบวนของพระองค์ก็ได้เดินทางไปเรื่อย ๆ
ครั้นมาถึงเขตพื้นที่ของหมู่บ้านปงตา ซึ่งสมัยนั้นได้มีต้นตาลขึ้นกระจายไปทั่วเขตนี้ เมื่อขบวนของพระองค์มาถึงก็หยุดเพื่อพักผ่อน ก็เอ่ยว่า "พงตา" ซึ่งเป็นคำภาษามาลายู พงตา เป็นชื่อ ต้นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง หรือเรียกภาษาไทย ก็คือ ต้นตาล กระทั่งมีราษฎรหลั่งไหลเข้ามาตั้งรกรากอยู่จำนวนหนึ่งได้มีการพูดปากต่อปากบวกกับความเจริญเข้ามา อาทิ มีการจัดตั้งสถานศึกษาแห่งแรกของตำบลบือมัง คือ โรงเรียนบ้านพงตา ต่อมา คำว่า "พงตา" ก็ได้ถูกเอ่ยคำว่าพงตาลือลั่นไปทั่ว ก็เกิดคำแผลงกลายเป็น "ปงตา" จนถึงปัจจุบัน
ในปัจจุบันบ้านปงตาเป็นต้นแบบการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักในการดำรงชีวิต ใช้ชีวิตแบบพอเพียง พอดี พอประมาณ ทำการเกษตรแบบพอเพียงตามวิถีชาวบ้าน ใช้แรงงานจากสมาชิกในครอบครัว รู้จักคิดวิเคราะห์ หาเหตุผล หาสาเหตุ เพื่อแก้ปัญหา โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและทรัพยากร ที่มีอยู่ในชุมชน ศึกษา ค้นคว้า แสวงหาความรู้ และทดลองปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา ลดการใช้สารเคมี ปรับรูปแบบการทำเกษตรเชิงเดี่ยวมาเป็นเกษตรผสมผสาน ทำให้ลดต้นทุนการผลิต สามารถพึ่งพาตนเอง จนเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับชุมชน นอกจากนี้ยังอาสาช่วยเหลือทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมและสังคม จนได้ชื่อ "โคกหนองนาโมเดลปงตา"
บ้านปงตา ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลาดชัน สภาพเป็นภูเขาและที่ราบลุ่ม มีความสมบูรณ์ตามธรรมชาติ การใช้ประโยชน์ที่ดินส่วนใหญ่จะปลูกพืชยืนต้น การคมนาคมของตำบลบือมัง มีเส้นทางลาดยาง จำนวน 3 สาย ดังนี้ สายบ้านโกตาบารู-ท่าเรือ สายบ้านลือมุ๊-บือมัง สายอนามัย-บือมัง และบ้านปงตา มีเนื้อที่ทั้งหมด 2,187 ไร่
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลโกตาบารู อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลยะต๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ 4 บ้านมาแฮ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ 2 บ้านบือมัง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
จำนวนประชากร ที่อาศัยอยู่ในครัวเรือน จากการสำรวจข้อมูลสถิติประชากรจากทะเบียนบ้าน ระดับหมู่บ้านประจำปี 2565 มีครัวเรือนทั้งหมด 178 ครัวเรือน มีจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่จริงในพื้นที่ทั้งหมด 696 คนโดยแบ่งเป็น เพศชาย 335 คนและเพศหญิง 361 คน ทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลาม และคนในชุมชนส่วนใหญ่อยู่กับแบบครอบครัวในละแวกใกล้เคียง มีความหลากหลายในช่วงวัย คนในสังคมมีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน
มลายูองค์กรชุมชน
หมู่บ้านมีการจัดตั้งกองทุนเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด เช่น กองทุนแม่ของแผ่นดิน ได้รับรางวัลกองทุนแม่ของแผ่นดินดีเด่น ประจำปี 2562 เป็นหมู่บ้านที่มีการดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดดีเด่น และได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การขับเคลื่อนกองทุนแม่ของแผ่นดินดีเด่นระดับจังหวัด ประจำปี 2561 และยังคงทำมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
อาชีพหลัก การทำสวนยาง การทำนาปี นาปรัง
อาชีพเสริม การเลี้ยงแพะ เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ เย็บผ้า และการทำเกษตรพอเพียง
การซื้อขายแลกเปลี่ยนภายในชุมชน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น อาหาร เครื่องปรุง เนื้อสัตว์ ผักสด ของใช้ในครัวเรือน ผ่านร้านขายของชำในชุมชน โดยมีร้านค้าภายในชุมชนจำนวน 2 ร้าน โดยนำสินค้าจากในพื้นที่และภายนอกมาจำหน่าย
การซื้อขายแลกเปลี่ยนกับคนภายนอก ส่วนใหญ่เป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้จากการทำเกษตรกรรม เช่น ทุเรียน ลองกอง หรือ ซื้อสินค้าจากรถกับข้าว ตามตลาดนัดภายในชุมชนในช่วงเย็นและพื้นที่ตลาดนัดรอบนอก
การออกไปทำงานนอกชุมชน การออกไปทำงานนอกชุมชน คิดเป็น 13% ของคนในชุมชน และที่ออกไปทำงานต่างประเทศมีอยู่ 2% ออกไปรับจ้างทำงานด้านอุตสาหกรรม พนักงานบริษัททั่วไป แต่ยังกลับมาอาศัยอยู่ในพื้นที่
ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกชุมชน สมาชิกชุมชนส่วนใหญ่อยู่กันเป็นกลุ่มตามโซน เป็นชุมชนที่มีพื้นว่างจากการปลูกสร้างที่พักอาศัยน้อยมาก หรือละแวกใกล้เคียงกับที่อยู่อาศัย ทำให้คนในชุมชนสามารถเข้าได้ทุกกลุ่ม โดยส่วนใหญ่จะเป็นเครือญาติที่ตามมาอยู่ในชุมชน
โครงสร้างอำนาจภายในชุมชน ตามโครงสร้างการปกครอง มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ทำงานร่วมกับหน่วยงานปกครองท้องถิ่น ส่วนภายในชุมชนในการทำโครงการต่าง ๆ จากภายนอกและงานขับเคลื่อนชุมชน โดยมีนายกอเซง ดอรอแมง เป็นแกนนำชุมชน
การรวมกลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นการรวมกลุ่มกันตามครอบครัวและกลุ่มที่สนิทกันหรือมีช่วงวัยเดียวกัน เช่น กลุ่มแกนนำชุมชนที่ทำงานชุมชนด้านต่าง ๆ กลุ่มเด็กและเยาวชน รวมตัวกันเพื่อจัดกิจกรรมทางศาสนา และทำกิจกรรมร่วมกันในชุมชน
วัฒนธรรม ประเพณี
ชาวบ้านปงตา นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 100 มีการประกอบศาสนกิจรวมกันทุกคืน ทำให้เกิดผลดีในด้านการปฏิบัติศาสนกิจแล้วยังเกิดผลดี คือการสร้างความสามัคคีและการแลกเปลี่ยนทัศนคติ ข่าวสาร กิจกรรมวันสำคัญทางศาสนา มีดังนี้
- เมาลิดินนบี เป็นวันคล้ายวันประสูติของศาสดามูฮัมหมัด (ซล.) ศาสดาแห่งมนุษยชาติ ผู้ศรัทธาในศาสนาอิสลาม จะมีการรำลึกถึงคุณงามความดี หรือประวัติของท่านในอดีตกาล ในบรรยากาศแห่งความรัก และรำลึกถึงท่านอย่างแท้จริง ซึ่งจะจัดในเดือน เราะบีอุลเอาวัล ซึ่งเป็นเดือนที่ 3 ในปฏิทินอิสลาม
- วันตรุษอิดิลฟิตรี หรือที่นิยมเรียกว่า “วันรายอปอซอ” เพราะหลังจากที่มุสลิมได้ถือศีลอดมาตลอดในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่ 9 ของศาสนาอิสลาม ก็จะถึงวันออกบวช ตอนเช้าจะมีการละหมาดร่วมกัน ทุกคนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาด สวยงาม และมีการจ่าย “ซะกาตฟิตเราะฮ์”
- วันตรุษอิดิลอัฏฮา หรือวันรายอฮัจยี เนื่องจากมุสลิมทั่วโลกเริ่มประกอบพีธีฮัจญ์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย จะมีการทำกุรบานหรือการเชือดสัตว์เพื่อเป็นอาหารแก่เพื่อนบ้านและคนยากจน เพื่อขัดเกลาจิตใจให้เป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ จะตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม
- การถือศีลอด เป็นหลักปฎิบัติที่มุสลิมจำเป็นต้องถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ตลอดระยะเวลา 1 เดือน มุสลิมที่มีอายุเข้าเกณฑ์ศาสนบัญญัติจะต้องงด การกิน ดื่ม การร่วมประเวณีตลอดจนทุกอย่าง ที่เป็นสิ่งต้องห้าม ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนกระทั่งตกดิน ทุกคนต้องสำรวมกาย วาจา ใจ เพราะเดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่มีประเสริฐยิ่งของศาสนาอิสลาม ซึ่งในเดือนนี้ชาวมุสลิมจะไปละหมาดที่มัสยิด ซึ่งเป็นการละหมาดที่ปฏิบัติภายในเดือนรอมฎอนเท่านั้น เรียกว่า “ละหมาดตะรอเวียะห์”
- การละหมาด เป็นการแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ ซึ่งเป็นที่ศรัทธาของชาวมุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยถือว่าเป็นการเข้าเฝ้าผู้ทรงสร้างที่ยิ่งใหญ่ การแต่งกายต้องสะอาด เรียบร้อย มีความสำรวม พระองค์กำหนดเวลาละหมาดไว้วันละ 5 เวลา
- การทำฮัจญ์ อัลลอฮ์ทรงบังคับให้มุสลิมที่มีความสามารถด้านกำลังกาย กำลังทรัพย์ ต้องไปทำฮัจญ์ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีขึ้นปีละครั้งชาวมุสลิมทั่วโลกจะเดินทางมารวมกัน เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร มีฐานะทางสังคมอย่างไรต้องมาอยู่ที่เดียวกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ทุกคนมีฐานะเป็นบ่าวของอัลลอฮ์อย่างเท่าเทียมกัน ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม
- การเข้าสุนัต เป็นพิธีกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวมุสลิม ถือกันว่ามุสลิมที่แท้จริงควรเข้าสุนัต ถ้าไม่ทำถือว่าเป็นมุสลิมที่ไม่สมบูรณ์ ไม่บริสุทธิ์ การเข้าสุนัต คือการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศของผู้ชายออก เพื่อสะดวกในการรักษาความสะอาด การเข้าสุนัตจะนิยมขลิบในช่วงเดือนเมษายนเนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคการเรียนการสอนของเด็กในพื้นที่ กิจกรรมจะมีการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศ และมีการเตรียมอาหารเป็นข้าวเหนียวสีต่าง ๆ บางพื้นที่จะมีการขลิบเป็นหมู่คณะ มีเด็กในชุมชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
- ประเพณีการกวนอาซูรอ เป็นการรำลึกถึงความยากลำบากของศาสดา นบีนูฮ โดยเชื่อว่าในสมัยของท่านมีเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ น้ำท่วมโลกเป็นระยะเวลานาน ศาสดานบีนูฮ ซึ่งล่องลอยเรืออยู่เป็นเวลานาน ทำให้อาหารที่เตรียมไว้ร่อยหรอลง จึงได้นำส่วนที่พอจะมีเหลือเอามารวมกันแล้วกวนกิน จึงกลายเป็นตำนานที่มาของขนมอาซูรอ
คำว่า "อาซูรอ" คือคำในภาษาอาหรับ แปลว่า การผสม ในที่นี้หมายถึงการนำของที่รับประทานได้ทั้งของคาวและของหวานจำนวน 10 อย่าง มากวนรวมกัน ประเพณีจะจัดในวันที่ 10 ของเดือนมูฮัรรอม ซึ่งเป็นเดือนแรกของฮิจเราะห์ศักราชตามปฏิทินอิสลาม เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาปีใหม่ของมุสลิม ลักษณะกิจกรรมจะมีการรวมตัวของชาวบ้านโดยที่ชาวบ้านจะนำวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเผือก มัน ฟักทอง กล้วย ข้าวสาร ถั่ว เครื่องปรุง ข่าตะไคร้ หอมกระเทียม เมล็ดผักชี ยี่หร่า เกลือ น้ำตาล กะทิ โดยวัตถุดิบทั้งหมดจะถูกกวนในกระทะเหล็กใช้เวลาเกือบ 6-7 ชั่วโมง โดยต้องกวนตลอด จนกระทั่งสุกแห้ง เมื่อเสร็จเรียบร้อยมีการแจกจ่ายแบ่งปันให้แก่ชาวบ้าน ภาพที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความสัมพันธ์และสามัคคีของคนในชุมชน
1. นายกอเซง ดอรอแมง มีความชำนาญเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง โคกหนองนาโมเดล ซึ่งท่านได้รับแนวคิดจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 โดยทางศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงได้เปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้
อาหาร การพัฒนาคนในชุมชนให้ได้รับการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพและการมีงานทำอย่างมีคุณภาพ ทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ประชาชนมีรายได้มั่นคง มั่งคั่งและมีงานทำอย่างยั่งยืน มีความสามารถทำการแข่งขัน สร้างความมั่นคงให้แก่ประชาชน สภาพสังคมในปัจจุบันมนุษย์เราได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง ในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ มีการแข่งขันทางด้านการค้า เป็นอย่างมาก ทำให้ในการดำเนินการทางด้านการค้ามีการแข่งขันกันมากขึ้นเศรษฐกิจยิ่งมีการแข่งขันกันมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีการพัฒนารูปแบบการจัดจำหน่ายในรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้นเท่านั้น ตลอดจนต้องมีการพัฒนาทางด้านการผลิตให้มีคุณภาพยิ่งขึ้นไปอาชีพ การทำปลาแปรรูป จึงเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่จะเป็นทางเลือกในการสร้างรายได้โดยการใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้ในการประกอบอาชีพ สร้างรายได้และการมีงานทำอย่างยั่งยืนของประชาชน โดยมีการคิดค้นทำปลาทับทิมแดดเดียว เพื่อเป็นอาชีพเสริมให้กับคนในชุมชนและยังสร้างรายได้ให้กับกองทุนหมู่บ้าน
ภาษาที่ใช้พูด : ภาษามลายูท้องถิ่น ภาษาญาวี
ภาษาที่ใช้เขียน : ภาษาไทยกลาง
สถานการณ์การใช้ภาษาของผู้คนในชุมชน ส่วนมากใช้ภาษามลายูท้องถิ่นและบางส่วนใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร
ประชากรบ้านปงตาส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ ได้แก่ ทำสวนยางพารา การทำนา และสวนผลไม้ เป็นสวนผสม การเลี้ยงสัตว์พื้นบ้าน เช่น วัว แพะ เป็ด และไก่ มีรายได้เฉลี่ย 35,000 บาท/คน/ปี ผลผลิตที่จำหน่ายสู่ตลาดภายในชุมชน ได้แก่ ผลไม้ และยางพารา
ประชากรบ้านปงตา นับถือศาสนาอิสลาม 100 % โดยมีมัสยิดและสุเหร่า เป็นศาสนสถานสำหรับการประกอบพิธีทางศาสนา ภายในหมู่บ้านมีมัสยิด จำนวน 1 แห่ง และสุเหร่า 1 แห่ง และมีสถานที่ราชการ 2 แห่ง คือ โรงเรียนบ้านปงตา โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
การเปลี่ยนแปลงของสังคมไปสู่ความทันสมัยระบบความคิดของคนรุ่นใหม่ในสังคม ส่งผลให้วิถีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เนื่องจากอิทธิพลของเทคโนโลยี ระบบสื่อในมิติต่าง ๆ ที่มีความรวดเร็วเชื่อมโยงก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความเชื่อของทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ ประกอบกับอิทธิพลทางการศึกษาสมัยใหม่ แต่สิ่งที่ยังคงมีอยู่ในพื้นที่คือการทำการเกษตรในรูปแบบผสมผสาน มีทั้งกลุ่มเยาวชน และกลุ่มสตรีแม่บ้านที่ยังมีส่วนร่วมในการจัดตรงนี้อีกด้วย
ประชาชนมีไฟฟ้าใช้ทุกครัวเรือน และมีเส้นทางการคมนาคมขนส่งที่สะดวกสบายมีน้ำประปาใช้ทุกครัวเรือน
ในชุมชนบ้านปงตามีจุดเด่นสำหรับนักศึกษาให้ได้มาเรียนรู้เกี่ยวกับเกษตรพอเพียง และชมสินค้าต่าง ๆ จากคนในชุมชน
กอเซง ดอรอแมง. (10 กุมภาพันธ์ 2566). ข้อมูลชุมชนบ้านมาแฮ. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)
สารีพ๊ะ ราแดง. (10 กุมภาพันธ์ 2566). ภูมิปัญญา, ปราชญ์ชุมชน. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)
รูซะนะ ดอรอแมง. (10 กุมภาพันธ์ 2566). สภาพแวดล้อม, ประชากร. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)
กอเซง ดอรอแมง และอัสมาน ดอละ. (10 กุมภาพันธ์ 2566). เศรษฐกิจพอเพียง. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)