ชุมชนแห่งการค้า พื้นที่แข่งขันการจับปลา
ตั้งชื่อตามผู้มาอาศัยในพื้นที่นี้เป็นคนแรก คือ นายอูแบ จึงเป็นที่มาของ ชื่อชุมชน "อูแบ"
ชุมชนแห่งการค้า พื้นที่แข่งขันการจับปลา
เมื่อปี พ.ศ. 2465 หรือประมาณ 100 ปี ที่ผ่านมา มีชายคนหนึ่งชื่อนายอูแบ ไม่ทราบชื่อสกุล เดินทางมาจากพื้นที่ต่างถิ่น ตั้งถิ่นฐานเข้ามาอาศัยในพื้นที่บ้านอูแบ หมู่ที่ 4 ตำบลยะต๊ะ ต่อมาได้มีผู้อพยพอื่น ๆ เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้เป็นจำนวนมาก จนเกิดเป็นหมู่บ้านขึ้น ซึ่งหมู่บ้านนี้ไม่มีการตั้งชื่อหมู่บ้านแต่อย่างใด จนชาวบ้านที่ได้มาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเรียกชื่อหมู่บ้านตามชื่อผู้ที่เดินทางเข้ามาอาศัยอยู่เป็นคนแรกว่า “อูแบ” และได้เรียกชื่อหมู่บ้านอูแบจนถึงทุกวันนี้
พื้นที่การปกครอง หมู่ที่ 4 แบ่งกลุ่มบ้านออกเป็น 7 โซนบ้าน คือ
- กำปงยาโต๊ะ
- บือแนเมาะแนะ
- บ้านอูแบใต้
- บ้านอูแบเหนือ
- บ้านกอแล
- บ้านบือแนอูแบ
- บ้านปูตะ
บ้านอูแบ หมู่ที่ 4 มีเนื้อที่ 1,055 ไร่ อยู่ห่างจากอำเภอรามัน ไปทางทิศตะวันตก 12 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดยะลา ไปทางทิศตะวันออก 19 กิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 1 ตำบลยะต๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 2 ตำบลยะต๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 5 ตำบลบือมัง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 3 ตำบลยะต๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม โดยเฉลี่ยเป็นที่ราบค่อนข้างสูงและภูเขาสลับซับซ้อน เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกยางพารา ไม้ผล และไม้ยืนต้น ตั้งอยู่ในเขตมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้มีสภาพอากาศแบบร้อนชื้น มี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ เดือนมกราคม – เมษายน และฤดูฝนเริ่มตั้งแต่พฤษภาคม – ธันวาคม มีฝนตกเฉลี่ย 135 วัน/ปี เดือนตุลาคม – ธันวาคม มีฝนตกชุกที่สุด
จากข้อมูลที่สำรวจโดยการเก็บข้อมูล จปฐ ของบัณฑิตอาสา ระบุจำนวนครัวเรือนมีทั้งหมด 244 ครัวเรือน (ข้อมูลปี 2565) จำนวนประชากร 1,078 คน (ข้อมูลปี 2565) ชาย 550 คน หญิง 528 คน ทั้งหมดเป็นอิสลาม คนในชุมชนส่วนอยู่กับแบบครอบครัว ในละแวกใกล้เคียง มีความหลากหลายในช่วงวัย คนในสังคมมีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้คนในสังคมมีความเอื้อเฟื่อเผื่อแผ่ระหว่างกัน
มลายูอาชีพหลัก เลี้ยงสัตว์ ทำสวนยางพารา ปลูกไม้ผล
อาชีพเสริม การเลี้ยงโค เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลาในกระชัง หาปลา หุงข้าว และเย็บผ้า
การซื้อขายแลกเปลี่ยนภายในชุมชน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น อาหาร เครื่องปรุง เนื้อสัตว์ ผักสด ของใช้ในครัวเรือน ผ่านร้านขายของชำในชุมชน โดยมีร้านค้าภายในชุมชนจำนวน 5 ร้าน โดยนำสินค้าจากในพื้นที่และภายนอกมาจำหน่าย และยังมีปั๊มน้ำมันในพื้นที่อีกด้วย
การซื้อขายแลกเปลี่ยนกับคนภายนอก ส่วนใหญ่เป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้จากการทำเกษตรกรรม เช่น ทุเรียน ลองกอง มังคุด หรือ ซื้อสินค้าจากรถกับข้าว (รถพุ่มพวง) ที่เข้ามาในชุมชนหรือตลาดนัดภายในชุมชนในช่วงเที่ยงและช่วงเย็นและยังมีพื้นที่ตลาดนัดรอบนอก
ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกชุมชน สมาชิกชุมชนส่วนใหญ่อยู่กันเป็นกลุ่มตามโซน เป็นชุมชนที่มีพื้นที่ว่างจากการปลูกสร้างที่พักอาศัยน้อยมาก หรือละแวกใกล้เคียงกับที่อยู่อาศัย ทำให้คนในชุมชนสามารถเข้าได้ทุกกลุ่ม โดยส่วนใหญ่จะเป็นเครือญาติที่ตามมาอยู่ในชุมชน
โครงสร้างอำนาจภายในชุมชน ตามโครงสร้างการปกครอง มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ทำงานร่วมกับหน่วยงานปกครองท้องถิ่น ส่วนภายในชุมชนในการทำโครงการต่าง ๆ จากภายนอกและงานขับเคลื่อนชุมชน โดยมีนายอับดุเลาะ เตะมะแอ เป็นแกนนำชุมชน
การรวมกลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นการรวมกลุ่มกันตามครอบครัวและกลุ่มที่สนิทกันหรือมีช่วงวัยเดียวกัน เช่น กลุ่มแกนนำชุมชนที่ทำงานชุมชนด้านต่าง ๆ กลุ่มเด็กและเยาวชน และกลุ่มเยาวชนผู้ชายมีการจัดตั้งกลุ่มลงแหจับปลาบริเวณสันเขื่อนของชุมชน รวมตัวกันเพื่อจัดกิจกรรมทางศาสนา และทำกิจกรรมร่วมกันในชุมชน ส่วนกลุ่มที่ไม่เป็นทางการส่วนมาก
วัฒนธรรม ประเพณี
ชาวบ้านปิแยะ นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 100 มีการประกอบศาสนกิจรวมกันทุกคืน ทำให้เกิดผลดีในด้านการปฎิบัติศาสนกิจแล้วยังเกิดผลดี คือ การสร้างความสามัคคีและการแลกเปลี่ยนทัศนคติ ข่าวสาร กิจกรรมวันสำคัญทางศาสนา มีดังนี้
- เมาลิดินนบี เป็นวันคล้ายวันประสูติของศาสดามูฮัมหมัด (ซล.) ศาสดาแห่งมนุษยชาติ ผู้ศรัทธาในศาสนาอิสลาม จะมีการรำลึกถึงคุณงามความดี หรือประวัติของท่านในอดีตกาล ในบรรยากาศแห่งความรัก และรำลึกถึงท่านอย่างแท้จริง ซึ่งจะจัดในเดือน เราะบีอุลเอาวัล ซึ่งเป็นเดือนที่ 3 ในปฏิทินอิสลาม
- วันตรุษอิดิลฟิตรี หรือที่นิยมเรียกว่า “วันรายอปอซอ” เพราะหลังจากที่มุสลิมได้ถือศีลอดมาตลอดในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่ 9 ของศาสนาอิสลาม ก็จะถึงวันออกบวช ตอนเช้าจะมีการละหมาดร่วมกัน ทุกคนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาด สวยงาม และมีการจ่าย “ซะกาตฟิตเราะฮ์”
- วันตรุษอิดิลอัฏฮา หรือวันรายอฮัจยี เนื่องจากมุสลิมทั่วโลกเริ่มประกอบพีธีฮัจญ์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย จะมีการทำกุรบานหรือการเชือดสัตว์เพื่อเป็นอาหารแก่เพื่อนบ้านและคนยากจน เพื่อขัดเกลาจิตใจให้เป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม
- การถือศีลอด เป็นหลักปฎิบัติที่มุสลิมจำเป็นต้องถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ตลอดระยะเวลา 1 เดือน มุสลิมที่มีอายุเข้าเกณฑ์ศาสนบัญญัติจะต้องงด การกิน ดื่ม การร่วมประเวณีตลอดจนทุกอย่างที่เป็นสิ่งต้องห้าม ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนกระทั่งตกดิน ทุกคนต้องสำรวมกาย วาจา ใจ เพราะเดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่มีประเสริฐยิ่งของศาสนาอิสลาม ซึ่งในเดือนนี้ชาวมุสลิมจะไปละหมาดที่มัสยิด ซึ่งเป็นการละหมาดที่ปฏิบัติภายในเดือนรอมฎอนเท่านั้น เรียกว่า “ละหมาดตะรอเวียะห์”
- การละหมาด เป็นการแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ ซึ่งเป็นที่ศรัทธาของชาวมุสลิม ทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยถือว่าเป็นการเข้าเฝ้าผู้ทรงสร้างที่ยิ่งใหญ่ การแต่งกายต้องสะอาด เรียบร้อย มีความสำรวม พระองค์กำหนดเวลาละหมาดไว้วันละ 5 เวลา
- การทำฮัจญ์ อัลลอฮ์ทรงบังคับให้มุสลิมที่มีความสามารถด้านกำลังกาย กำลังทรัพย์ ต้องไปทำฮัจญ์ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย จัดให้มีขึ้นปีละครั้ง ชาวมุสลิมทั่วโลกจะเดินทางมารวมกัน เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร มีฐานะทางสังคมอย่างไร ต้องมาอยู่ที่เดียวกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ทุกคนมีฐานะเป็นบ่าวของอัลลอฮ์อย่างเท่าเทียมกัน ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม
- การเข้าสุนัต เป็นพิธีกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวมุสลิม ถือกันว่ามุสลิมที่แท้จริงควรเข้าสุนัต ถ้าไม่ทำถือว่าเป็นมุสลิมที่ไม่สมบูรณ์ ไม่บริสุทธิ์ การเข้าสุนัต คือ การขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศของผู้ชายออก เพื่อสะดวกในการรักษาความสะอาด การเข้าสุนัตจะนิยมขลิบในช่วงเดือนเมษายนเนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคการเรียนการสอนของเด็กในพื้นที่ กิจกรรมจะมีการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศ และมีการเตรียมอาหารเป็นข้าวเหนียวสีต่าง ๆ บางพื้นที่จะมีการขลิปเป็นหมู่คณะ โดยเด็กในชุมชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
- ประเพณีการกวนอาซูรอ เป็นการรำลึกถึงความยากลำบากของศาสดา นบีนูฮ โดยเชื่อว่าในสมัยของท่านมีเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ น้ำท่วมโลกเป็นระยะเวลานาน ศาสดานบีนูฮ ซึ่งล่องลอยเรืออยู่เป็นเวลานาน ทำให้อาหารที่เตรียมไว้ร่อยหรอลง จึงได้นำส่วนที่พอจะมีเหลือเอามารวมกันแล้วกวนกิน จึงกลายเป็นตำนานที่มาของขนมอาซูรอ
คำว่า "อาซูรอ" คือคำในภาษาอาหรับ แปลว่า การผสม ในที่นี้หมายถึงการนำของที่รับประทานได้ทั้งของความและของหวานจำนวน 10 อย่าง มากวนรวมกัน ประเพณีจะจัดในวันที่ 10 ของเดือนมูฮัรรอม ซึ่งเป็นเดือนแรกของฮิจเราะห์ศักราชตามปฏิทินอิสลาม เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาปีใหม่ของมุสลิม ลักษณะกิจกรรมจะมีการรวมตัวของชาวบ้านโดยที่ชาวบ้านจะนำวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเผือก มัน ฟักทอง กล้วย ข้าวสาร ถั่ว เครื่องปรุง ข่าตะไคร้ หอมกระเทียม เมล็ดผักชี ยี่หร่า เกลือ น้ำตาล กะทิ โดยวัตถุดิบทั้งหมดจะถูกกวนในกระทะเหล็กใช้เวลาเกือบ 6-7 ชั่วโมง โดยต้องกวนตลอด จนกระทั่งสุกแห้ง เมื่อเสร็จเรียบร้อยมีการแจกจ่ายแบ่งปันให้แก่ชาวบ้าน ภาพที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความสัมพันธ์และสามัคคีของคนในชุมชน
- ประเพณีการกินนาซิบารู คำว่า "นาซิบารู" หมายถึง ข้าวสารใหม่ที่ได้ผ่านกรรมวิธีจากการลงแขกเก็บเกี่ยวข้าวในช่วงฤดูทำนา เมื่อเสร็จการทำนา ข้าวเปลือกที่ได้จะนำไปโรงสีข้าวเพื่อเปลี่ยนมาเป็นข้าวสาร หลังจากนั้นชาวบ้านจะเชิญผู้รู้ทางศาสนาและคนในชุมชนมาร่วมรับประทานอาหารที่บ้านเพื่อเป็นการขอบคุณพระผู้เป็นเจ้าที่ได้ทำนาสำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี
1. นางสาวพาตีเมาะ มาดี มีความชำนาญด้านการหุ้งข้าวแบบโบราณ ในการจัดงานเลี้ยงวาลีมะห์ งานขึ้นบ้านใหม่ งานประจำปีของชุมชนและละแวกใกล้เคียงจะใช้บริการบ่อยโดยให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมและมีรายได้เสริม เกิดจากการฝึกฝนอย่างบ่อยและได้รับคำแนะนำจากคนในพื้นที่จนรู้สูตรการหุงข้าวแบบโบราณ
อาหาร ส้มแขกตากแห้งเป็นสิ้นค้าที่ขึ้นชื่อของบ้านอูแบ เป็นการเอาผลส้มแขกมาหั่นเป็นชิ้นๆพอประมาณนำมาตากแห้ง เพื่อใช้แทนมะนาวในการทำอาหารเป็นจำนวนมาก เป็นการต่อยอดจากการไปหุ้งข้าวตามพื้นที่ละแวกใกล้เคียง และนำสิ้นค้าไปเสนอขายจนได้มาเป็นสินค้าขายดีของชุมชน
ภาษาที่ใช้พูด : ภาษามลายูท้องถิ่น
ภาษาที่ใช้เขียน : ภาษาไทยกลาง
สถานการณ์การใช้ภาษาของผู้คนในชุมชนส่วนมากใช้ภาษามลายูท้องถิ่นและบางส่วนใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร
การประกอบอาชีพ ประชากรบ้านอูแบ หมู่ที่ 4 ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำสวนยางพารา ปลูกไม้ผล เช่น เงาะ ทุเรียน ลองกอง มังคุด เป็นต้น ประมาณร้อยละ 75 รองลงมา ได้แก่ อาชีพรับจ้าง ประมาณร้อยละ 20 ค้าขายและลูกจ้าง พนักงานของรัฐ ประมาณร้อยละ 5 และอื่น ๆ เช่น ทำงานประเทศมาเลเซีย เป็นต้น ทั้งนี้ยังมีบางส่วนที่ว่างงาน ไม่มีงานทำเป็นหลักแหล่ง มีตลาดนัด 1 แห่ง คือ ตลาดนัดวันอังคาร โดยมี นางแยนะ กาเดร์ เป็นเจ้าของตลาดนัด
ปัญหาทางเศรษฐกิจที่ซบเซาบ้างในด้านการค้าขายผลผลิตทางการเกษตร เช่น ไม้ผลราคาตกต่ำ พ่อค้าคนกลางกดราคา อ้างว่าไม่กล้ามาซื้อผลไม้ในพื้นที่ส่งผลให้เกษตรบางรายขาดรายได้น้อยลง ประชาชนส่วนใหญ่มีความยากจนและว่างงานโดยเฉพาะเยาวชนหนุ่มสาว ขาดการศึกษา ซึ่งทำให้ไม่สามารถเรียนรู้และเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันผลทำให้เกิดปัญหาด้านสังคม ภัยคุกคามผู้คนจากภายนอกมาสร้างสถานการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เกิดความหวาดระแวง หวาดกลัว ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนในพื้นที่ สิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของคนในพื้นที่ ในการประชุมประชาคมหมู่บ้านส่วนมากองค์ประชุมมาไม่ครบ เป็นปัญหาในการตัดสินใจบางเรื่องที่ต้องกำหนดทิศทางของหมู่บ้าน/ชุมชน
เศรษฐกิจชุมชนกำลังพัฒนา เพราะมีการทำสวนยางพารา สวนผลไม้ ราคาพืชผลทางการเกษตรต้องดีขึ้น ชุมชนมีความต้องการที่จะจัดตั้งกลุ่มเพื่อร่วมกันผลิต ทำให้มีกำลังในการต่อรอง ทั้งขอสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ และการตลาด ส่งเสริมการเรียนรู้ เท่าทันและปรับตนเองในสถานการณ์ที่สังคมในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และส่งเสริมในด้านคุณธรรม จริยธรรม และศีลธรรมอันดีงาม ปฏิบัติตามหลักศาสนาที่ถูกต้อง ตามขนบธรรมเนียมประเพณีในท้องถิ่น ประชาชนให้ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐมากขึ้น ในการรักษาความสงบเรียบร้อยในหมู่บ้าน โดยมีชุด ชรบ.หมู่บ้าน จัดเวรยาม โดยที่ชาวบ้านให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำให้เหตุการณ์ความไม่สงบในหมู่บ้านน้อยลง มีกฎหมายรองรับในการจัดตั้งคณะกรรมการหมู่บ้าน (อปพ.) เพื่อสร้างองค์กรที่เข้มแข็ง การมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น แก้ไขปัญหาร่วมกัน ความเสียสละ หน้าที่ความรับผิดชอบต่อสังคม จุดอ่อนคือ ในการประชุมประชาคมหมู่บ้านส่วนมากองค์ประชุมมาไม่ครบ เป็นปัญหาในการตัดสินใจบางเรื่องที่ต้องกำหนดทิศทางของหมู่บ้าน/ชุมชน
ในชุมชนบ้านอูแบมีกิจกรรมแห่จับปลาในช่วงหน้าฝน มีนักลงแห่ลงมาทุกปี ๆ
ซูไบดา สาแม. (12 กุมภาพันธ์ 2566). ข้อมูลชุมชนบ้านอูแบ. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)
พาตีเมาะ มาดี. (12 กุมภาพันธ์ 2566). ภูมิปัญญา,ปราชญ์ชุมชน. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)
ซูไบดา สาแม และอัมมะ โซเฟียดา. (12 กุมภาพันธ์ 2566). สภาพแวดล้อม, ประชากร. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)
รอกีเยาะ โซเฟียดา. (12 กุมภาพันธ์ 2566). ข้อมูลทั่วไป. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)