ชุมชมเก่า สุสานร้อยปี
จากการบอกเล่าของคนในพื้นที่เล่าว่า สมัยก่อนชาวบ้านต้องเดินทางสัญจรไปมาเข้าออกหมู่บ้านโดยจะต้องผ่านทางเส้นทางที่มีต้นไม้ขนาดใหญ่อยู่บริเวณนั้น ในภาษามลายู เรียกว่า "ยือนือเร๊ะ" หรือ "ต้นแซะ"
นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าในการตั้งชื่อของหมู่บ้านว่ามาจากกลุ่มคนที่เดินทางตามรอยเท้าของช้างเผือกซึ่งได้ผ่านพื้นที่หมู่บ้านจะกว๊ะและได้มุ่งหน้าสู่หมู่บ้านแห่งนี้โดยกลุ่มคนที่ติดตามดังกล่าวได้พบเห็นต้นไม้ขนาดใหญ่ จึงเรียกต้นไม้แห่งนี้ว่า "จือนือเร๊ะ" หรือ ต้นแซะ
ชุมชมเก่า สุสานร้อยปี
ประวัติชุมชนบ้านยือนือเร๊ะจากการบ้านเล่าของคนในพื้นที่เล่าว่า สมัยก่อนชาวบ้านต้องเดินทางสัญจรไปมาเข้าออกหมู่บ้านโดยจะต้องผ่านทางเส้นทางที่มีต้นไม้ขนาดใหญ่อยู่บริเวณนั้น ในภาษามลายูเรียกว่า ยือนือเร๊ะหรือต้นแซะ ลักษณะของต้นไม้เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่มาก มีผลขนาด 1 กำมือ ใบดก สามารถพบเห็นได้ในพื้นที่
อีกรายงานหนึ่งกล่าวว่าการตั้งชื่อของหมู่บ้านมาจากกลุ่มคนที่เดินทางตามรอยเท้าของช้างเผือกซึ่งได้ผ่านพื้นที่หมู่บ้านจะกว๊ะและได้มุ่งหน้าสู่หมู่บ้านแห่งนี้โดยกลุ่มคนที่ติดตามดังกล่าวได้พบเห็นต้นไม้ขนาดใหญ่ จึงเรียกต้นไม้แห่งนี้ว่า จือนือเร๊ะ หรือต้นแซะ
บ้านยือนือเร๊ะอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอรามัน ประมาณ 18 กิโลเมตร อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 40 กิโลเมตร การเดินทางมายังชุมชนบ้านยือนือเร๊ะสามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารสองแถวสายรามัน-ต้นไทร
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านลีเซ็งใน หมู่ที่ 5 ตำบลจะกว๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านพะปูเงาะ หมู่ที่ 4 ตำบลเกะรอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านลีเซ็งใน หมู่ที่ 4 ตำบลจะกว๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านปุลาสือนอ หมู่ที่ 3 ตำบลจะกว๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
สภาพพื้นที่กายภาพ
สภาพทั่วไปของบ้านยือนือเร๊ะ มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มและภูเขาสลับซับซ้อน โดยพื้นที่ของหมู่บ้านแบ่งเป็นพื้นที่สองส่วน บริเวณพื้นที่ส่วนในมีลักษณะเป็นป่ายาง มีการเพาะปลูกต้นยางเป็นจำนวนมาก ส่วนพื้นที่ด้านนอกจะมีลักษณะเป็นที่ลุ่ม ในอดีตพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นที่ทำนาของชาวบ้าน ปัจจุบันไม่มีการทำนาแล้ว ส่วนมากพื้นที่ส่วนนี้เป็นชุมชมที่อาศัยของชาวบ้านอาศัยอย่างหนาแน่น
ลักษณะภูมิอากาศเฉกเช่นเดียวกับภาคใต้ตอนล่างของพื้นที่อื่น กล่าวคือลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้น มี 2 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อนและฤดูฝน
จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือน และประชากรชุมชนบ้านยือนือเร๊ะ จำนวน 303 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 1,391 คน แบ่งประชากรชาย 659 คน หญิง 732 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายมลายู คนในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวที่มีความหลากหลายช่วงวัย มีเพียงส่วนน้อยที่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผู้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน
มลายูผู้คนในชุนชนบ้านยือนือเร๊ะ มีการรวมกลุ่มที่เป็นทางการ
กลุ่มสตรี เป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือสตรีในพื้นที่ให้มีรายได้ช่วงเวลาว่างจากการเลี้ยงลูกโดยมีสถานที่อบรมอาชีพทำขนมพื้นบ้านส่วนใหญ่สินค้าขนมพื้นบ้านที่ทำเสร็จแล้วจะวางจำหน่ายตามร้านค้าในพื้นที่หรือคนนอกพื้นที่มารับซื้อต่อไปขายในพื้นที่อื่น
ด้านกลุ่มอาชีพ พื้นที่แห่งนี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร ปลูกต้นยาง ทุเรียน ลองกอง รองลงมาประกอบอาชีพโรงงานผลิตข้าวเกรียบรามันและค้าขาย
ในรอบปีของผู้คนบ้านยือนือเร๊ะ มีวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นดังต่อไปนี้
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
- วันรายอแนหรือรายอหก ความหมายรายอแน คือ คำว่า "รายอ" ในภาษามลายูแปลว่า ความรื่นเริง และ คำว่า "แน" คือ หก ในทางปฏิบัติ เมื่อถึงวันตรุษอีฎี้ลฟิตรี จะเฉลิมฉลองวันอีดใหญ่และวันต่อมาชาวบ้านมักจะถือศีลอด 6 วัน ในเดือนเชาวาลต่อเนื่องไปเลย จนครบ 6 วัน เมื่อเสร็จสิ้นการถือศีลอด คนในพื้นที่จะถือโอกาสนี้เฉลิมฉลองวันรายอแน โดยจะเดินทางไปทำบุญให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับที่กุโบร์หรือสุสาน สุสานยือนือเร๊ะเป็นสุสานขนาดใหญ่ชาวบ้านได้เล่าว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นที่ฝังศพคนที่เสียชีวิตจากนอกพื้นที่เป็นจำนวนมาก เพราะบริเวณบ้านยือนือเร๊ะเป็นทางสายหลักในการเดินทางสู่พื้นที่อื่น เมื่อถึงวันรายอหกจะมีคนนอกพื้นที่มาเยี่ยมที่กุโบร์แห่งนี้เป็นทุกปี
- กิจกรรม ฟื้นฟูค่ำคืนนิสฟูซะห์บาน ค่ำคืนนิสฟูซะห์บานจะตรงตามปฎิทินอิสลาม วันที่ 14 เดือน ซะบาน โดยมีลักษณะกิจกรรม คือ มีการละหมาดฟัรดู อ่านอัลกุรอาน ซูเราะห์ยาซีน 3 จบ ซึ่งแต่ละจบจะมีดุอาร์ ขอพรจากอัลลอฮ์ เมื่อเสร็จพิธีการ จะมีการกินเลี้ยงร่วมรับประทานอาหาร และอาหารบางส่วนจะนำแจกจ่ายให้ชาวบ้านในหมู่บ้าน
- ประเพณีการกวนอาซูรอ เป็นการรำลึกถึงความยากลำบากของศาสดา นบีนูฮ โดยเชื่อว่าในสมัยของท่านมีเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ น้ำท่วมโลกเป็นระยะเวลานาน ศาสดานบีนูฮ ซึ่งล่องลอยเรืออยู่เป็นเวลานาน ทำให้อาหารที่เตรียมไว้ จึงได้นำส่วนที่พอจะมีเหลือเอามารวมกันแล้วกวนกิน จึงกลายเป็นตำนานที่มาของขนมอาซูรอ
คำว่า "อาซูรอ" คือคำในภาษาอาหรับ แปลว่า การผสม ในที่นี้หมายถึงการนำของที่รับประทานได้ทั้งของคาวและของหวานจำนวน 10 อย่าง มากวนรวมกัน ประเพณีจะจัดในวันที่ 10 ของเดือนมูฮัรรอม ซึ่งเป็นเดือนแรกของฮิจเราะห์ศักราชตามปฏิทินอิสลาม เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาปีใหม่ของมุสลิม ลักษณะกิจกรรมจะมีการรวมตัวของชาวบ้านโดยที่ชาวบ้านจะนำวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเผือก มัน ฟักทอง กล้วย ข้าวสาร ถั่ว เครื่องปรุง ข่าตะไคร้ หอมกระเทียม เมล็ดผักชี ยี่หร่า เกลือ น้ำตาล กะทิ โดยวัตถุดิบทั้งหมดจะถูกกวนในกระทะเหล็กใช้เวลาเกือบ 6-7 ชั่วโมง โดยต้องกวนตลอด จนกระทั่งสุกแห้ง เมื่อเสร็จเรียบร้อยมีการแจกจ่ายแบ่งปันให้แก่ชาวบ้าน ภาพที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความสัมพันธ์และสามัคคีของคนในชุมชน วิธีการสร้างความสัมพันธ์ของชุมชนคือการได้ร่วมกิจกรรมพร้อมกันซึ่งกิจกรรมกวนอาซูรอเป็นการหล่อหลอมความเป็นอันหนึ่งเดียวโดยชาวบ้านจะมาร่วมกวนขนมซึ่งต้องใช้ความอดทนในการรอให้ขนมสุกที่ใช้เวลาทั้งวันในการกวน
- เมาลิดินนบี เป็นวันคล้ายวันประสูติของศาสดามูฮัมหมัด (ซล.) ศาสดาแห่งมนุษยชาติ ผู้ศรัทธาในศาสนาอิสลามจะมีการรำลึกถึงคุณงามความดี หรือประวัติของท่านในอดีตกาล ในบรรยากาศแห่งความรัก และรำลึกถึงท่านอย่างแท้จริง ซึ่งจัดในเดือน เราะบีอุลเอาวัล ซึ่งเป็นเดือนที่ 3 ในปฏิทินอิสลาม
- วันตรุษอิดิลฟิตรี หรือที่นิยมเรียกว่า “วันรายอปอซอ” เพราะหลังจากที่มุสลิมได้ถือศีลอดมาตลอด ในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่ 9 ของศาสนาอิสลาม ก็จะถึงวันออกบวช ตอนเช้าจะมีการละหมาดร่วมกัน ทุกคนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาด สวยงามและมีการจ่าย “ซะกาตฟิตเราะฮ์”
- วันตรุษอิดิลอัฏฮา หรือวันรายอฮัจยี เนื่องจากมุสลิมทั่วโลกเริ่มประกอบพีธีฮัจญ์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย มีการทำกุรบาน หรือการเชือดสัตว์เพื่อเป็นอาหารแก่เพื่อนบ้านและคนยากจน เพื่อขัดเกลาจิตใจให้เป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม
- การถือศีลอด เป็นหลักปฎิบัติที่มุสลิมจำเป็นต้องถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ตลอดระยะเวลา 1 เดือน มุสลิมที่มีอายุเข้าเกณฑ์ศาสนบัญญัติจะต้องงด การกิน ดื่ม การร่วมประเวณีตลอดจนทุกอย่าง ที่เป็นสิ่งต้องห้าม ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนกระทั่งตกดิน ทุกคนต้องสำรวมกาย วาจา ใจ เพราะเดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่ประเสริฐยิ่งของศาสนาอิสลาม ซึ่งในเดือนนี้ชาวมุสลิมจะไปละหมาดที่มัสยิด ซึ่งเป็นการละหมาดที่ปฏิบัติภายในเดือนรอมฎอนเท่านั้น เรียกว่า “ละหมาดตะรอเวียะห์”
- การละหมาด เป็นการแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ ซึ่งเป็นที่ศรัทธาของชาวมุสลิม ทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยถือว่าเป็นการเข้าเฝ้าผู้ทรงสร้างที่ยิ่งใหญ่ การแต่งกายต้องสะอาด เรียบร้อย มีความสำรวม พระองค์กำหนดเวลาละหมาดไว้วันละ 5 เวลา
- การทำฮัจญ์ อัลลอฮ์ทรงบังคับให้มุสลิมที่มีความสามารถด้านกำลังกาย กำลังทรัพย์ ต้องไปทำฮัจญ์ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีขึ้นปีละครั้ง ชาวมุสลิมทั่วโลกจะเดินทางมารวมกัน เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร มีฐานะทางสังคมอย่างไรต้องมาอยู่ที่เดียวกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ทุกคนมีฐานะเป็นบ่าวของอัลลอฮ์อย่างเท่าเทียมกัน ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม
- การเข้าสุนัต เป็นพิธีกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวมุสลิม ถือกันว่ามุสลิมที่แท้จริงควรเข้าสุนัต ถ้าไม่ทำถือว่าเป็นมุสลิมที่ไม่สมบูรณ์ ไม่บริสุทธิ์ การเข้าสุนัต คือการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศของผู้ชายออก เพื่อสะดวกในการรักษาความสะอาด การเข้าสุนัตจะนิยมขลิบในช่วงเดือนเมษายนเนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคการเรียนการสอนของเด็กในพื้นที่ กิจกรรมจะมีการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศ และมีการเตรียมอาหารเป็นข้าวเหนียวสีต่าง ๆ บางพื้นที่จะมีการขลิบเป็นหมู่คณะ โดมีเด็กในชุมชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ
การประกอบอาชีพของประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ได้แก่ สวนยางพารา สวนผลไม้ ค้าขายและโรงงานผลิตกรือโปะหรือข้าวเกรียบ บางส่วนเลือกไปทำงานต่างประเทศ เช่น ประเทศมาเลเซีย เป็นต้น
1. รอมเลาะ มะอูมา สามารถรักษาโรคได้หลายชนิด ได้รับความรู้จากบรรพบุรุษในตระกูลของท่าน เช่น ทำการปัดเป่าผู้ป่วยที่โดนโรคมืด ทำการรักษาผู้ป่วยกระดูกหักด้วยการปัดเป่าและดัดกระดูก เป็นหมอดู เป็นต้น
อาหาร ด้วยพื้นที่แห่งนี้มีลักษณะเป็นป่ายาง ในช่วงปลายฤดูฝนจะมีพืชชนิดหนึ่งที่เติบโตตามโคนต้นยาง คือ เห็ดโคน ส่วนมากจะพบในป่ายาง ชาวบ้านมักเก็บมาปรุงเป็นอาหารได้หลายชนิด เช่น แกงเหลืองเห็ดโคน แกงจืดเห็ดโคน
ภาษามลายู หรือภาษามาเลย์ เป็นภาษาหนึ่งในตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน ซึ่งใช้ในดินแดนประเทศ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน และภาคใต้ของประเทศไทย
ประเทศไทยมีจังหวัดที่มีประชากรพูดภาษามลายู คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาสและบางอำเภอของจังหวัดสงขลา ประชากรที่นี่ส่วนใหญ่เขียนและบันทึกโดยใช้อักษรยาวี ปัจจุบันคนในชุมชนยังคงรักษาไว้ซึ่งภาษาท้องถิ่นในพื้นที่อย่างเหนียวแน่น ชุมชนยือนือเร๊ะยังคงสื่อสารภาษามลายูท้องถิ่นเป็นหลัก
การเปลี่ยนแปลงของสังคมไปสู่ความทันสมัย ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือการสร้างบ้านเรือนที่มีความทันสมัยมากขึ้น ประกอบกับอิทธิพลทางการศึกษาสมัยใหม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเดิม
ปัจจุบันพบว่ามีชาวบ้านบางส่วนเลือกไปประกอบอาชีพในพื้นที่อื่นมากขึ้น เช่น ทำงานร้านอาหารต้มยำที่ประเทศมาเลเซีย
ในชุมชนมีจุดเด่นที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว ได้แก่ โรงงานผลิตกรือโปะยือนือเร๊ะ
ซูไรดา เจะนิ. (2559). การศึกษาภูมินามของหมู่บ้านในอำเภอรามัน จังหวัดยะลา. ทุนอุดหนุนจากงบประมาณการศึกษาประจำปี 2559.มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา.
กรมการปกครอง. (2565). ระบบสถิติทางการทะเบียน จำนวนประชากร. ออนไลน์. สืบค้นเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566. เข้าถึงได้จาก https://stat.bora.dopa.go.th/