Advance search

บ้านบือดอง

บือดอง

ทุ่งนาอุดมสมบูรณ์ ต้นข้าวเขียวขจี ผู้นำนักพัฒนา ประชาชนมีสุขถ้วนหน้า

หมู่ที่ 4
บ้านบือดอง
เนินงาม
รามัน
ยะลา
อับดุลเลาะ รือสะ
28 ก.พ. 2023
นิรัชรา ลิลละฮ์กุล
26 มี.ค. 2023
อับดุลเลาะ รือสะ
28 เม.ย. 2023
บ้านบือดอง
บือดอง

"บือดอง" เป็นภาษามลายูแปลว่า สวยงาม ปกครองอยู่เป็นตำบลที่มีแต่ความสวยงาม ทุกอย่างที่อยู่ในหมู่บ้านดีงามทั้งสิ้น ผู้คนก็มีจิตใจที่สวยงามจึงนำมาตั้งเป็นชื่อชุมชนแห่งนี้


ชุมชนชนบท

ทุ่งนาอุดมสมบูรณ์ ต้นข้าวเขียวขจี ผู้นำนักพัฒนา ประชาชนมีสุขถ้วนหน้า

บ้านบือดอง
หมู่ที่ 4
เนินงาม
รามัน
ยะลา
95140
อบต.เนินงาม โทร. 0-7329-9983
6.4865641
101.3703789
องค์การบริหารส่วนตำบลเนินงาม

"บือดอง" เป็นภาษายาวี แปลว่าสวยงาม มีตำนานเล่าว่า เมื่อสมัยพระยารามันห์ปกครองในอาณาเขตนี้ ได้มีข่าวว่าบริเวณนี้มีช้างที่มีลักษณะสวยงามเป็นช้างเผือกซึ่งเป็นที่ต้องการมาก ในเวลาต่อมามีพรานกลุ่มหนึ่งได้ทำการไล่ล่าช้างอยู่ในบริเวณนี้ ได้เห็นพื้นที่เป็นหมู่บ้านซึ่งมีความสวยงามพืชพันธุ์ ต้นไม้ ทุกอย่างซึ่งอยู่ในบริเวณหมู่บ้านนี้มีความเจริญงอกงามกว่าที่อื่น ๆ เมื่อนายพรานมาเจอที่แห่งนี้จึงได้ตั้งหลักปักฐานอยู่ที่หมู่บ้านแห่งนี้และได้ตั้งชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “บือดอง” ซึ่งในภาษามลายู บราเดา หมายถึง ความสวยงาม ณ พื้นที่แห่งนี้ไม่เคยมีน้ำท่วม และมีความร่ำลือว่าบริเวณพื้นที่แห่งนี้เป็นที่สำนักของราชวงศ์กอตอตือระ ก่อนจะย้ายไปที่โกตาบารู ในปัจจุบันบ้านบือดองมีการปกครองเป็น 4 โซน ซึ่งแต่โซนจะมี ผรส.ดูแลในแต่ละโซน

บ้านบือดอง หมู่ที่ 4 ตำบลเนินงาม ตั้งอยู่ทางทางทิศใต้ของตำบลบาโงย อำเภอรามัน ระยะทางจากอำเภอไปหมู่บ้าน ประมาณ 13 กิโลเมตร จากจังหวัดไปหมู่บ้าน ประมาณ 18 กิโลเมตร 

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านลูโบ๊ะนีบง หมู่ที่ 1 ตำบลบาโงย อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านกาลูปัง หมู่ที่ 2 อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านกาดือแป หมู่ที่ 5 ตำบลกอตอตือร๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตาโงง หมู่ที่ 5 ตำบลเนินงาม อำเภอรามัน จังหวัดยะลา

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ

ลักษณะการตั้งบ้านเรือนขนานไปตามแนวทางของถนนเป็นส่วนมาก และมีบ้านเล็กน้อยที่กระจายออกไปตามพื้นที่ราบสูง เป็นเนินสูงและภูเขาเตี้ย ๆ อยู่ทางตอนเหนือและทางทิศตะวันตกของตำบล เหมาะแก่การปลูกยางพาราไม้ผลไม้ยืนต้นและมีที่ราบลาดมาทางตอนกลางของตำบล และทางทิศตะวันออกของตำบล ซึ่งพื้นที่ราบนี้ถ้าเป็นดอนจะเหมาะแก่การปลูกยางพารา แต่ถ้าเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำนา ได้สรุปพื้นที่ของตำบลเนินงาม

ลักษณะภูมิอากาศร้อนชื้น เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ มี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อน (เริ่มตั้งแต่กุมภาพันธ์ถึงสิงหาคม) และฤดูฝน (กันยายนถึงมกราคม) มีฝนตกตลอดช่วงฤดู และมีฝนตกชุกมากที่สุดในระหว่างเดือนตุลาคมถึงมกราคม 

จากข้อมูลที่สำรวจโดย จปฐ. ระบุจำนวนครัวเรือนมีทั้งหมด 212 ครัวเรือน (ข้อมูลปี 2565) จำนวนประชากร 873 คน (ข้อมูลปี 2565) ชาย 416 คน หญิง 457 คน ส่วนใหญ่เป็นคนมุสลิมเชื้อสายมลายู คนในชุมชนส่วนอยู่กับแบบครอบครัว ในละแวกใกล้เคียงมีความหลากหลายในช่วงวัย คนในสังคมมีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้คนในสังคมมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน ลักษณะความเป็นอยู่จะเป็นครอบครัวใหญ่

มลายู

การประกอบอาชีพ ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ได้แก่ สวนยางพารา สวนผลไม้ ทำนา ทำไร่ และตัดเย็บเสื้อผ้าอาชีพเสริม ทำขนมพื้นบ้านจำหน่าย

การซื้อขายแลกเปลี่ยนภายในชุมชน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น อาหาร เครื่องปรุง เนื้อสัตว์ ผักสด ของใช้ในครัวเรือน ผ่านร้านขายของชำในชุมชน โดยมีร้านค้าภายในชุมชนจำนวน 5 ร้าน โดยนำสินค้าจากในพื้นที่และภายนอกมาจำหน่าย บางส่วนจะมีการออกไปซื้อในตัวเมืองเพื่อนำมาขายในพื้นที่ เป็นอาชีพนึงที่ทำให้มีรายได้เข้ามาหมุนเวียนในชุมชน

การซื้อขายแลกเปลี่ยนกับคนภายนอก ส่วนใหญ่เป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้จากการทำเกษตรกรรม เช่น ทุเรียน ลองกอง มังคุด หรือ ซื้อสินค้าจากรถกับข้าว (รถพุ่มพวงและรถขายของสด) ที่เข้ามาในชุมชนหรือตลาดนัดภายในชุมชนในช่วงเย็นและพื้นที่ตลาดนัดรอบนอก และยังมีการออกไปซื้อขายในตลาดตัวเมืองรามัน

การออกไปทำงานนอกชุมชน แรงงาน ในวัยแรงงานของประชากร ร้อยละ 70 เป็นแรงงานในภาคเกษตรกรรม ส่วนใหญ่เป็นแรงงานครัวเรือน เช่น แรงงานในการทำนา ทำสวน ส่วนแรงงานร้อยละ 30 เป็นแรงงานประเภทต่าง ๆ เช่น การรับจ้าง ค้าขาย ลูกจ้างในภาครัฐและการทำงานต่างประเทศ โดยการออกไปทำงานนอกพื้นที่และต่างประเทศบางส่วนไปประมาณ 2-3 เดือน จึงจะกลับมา

ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกชุมชน สมาชิกชุมชนส่วนใหญ่อยู่กันเป็นกลุ่มตามโซนพื้นที่การและในส่วนมากจะดูแลกันเป็นโซนพื้นที่ เป็นชุมชนที่มีพื้นที่ว่างจากการปลูกสร้างที่พักอาศัยน้อยมาก และมีพื้นที่ทำทุ่งนา 60% ของพื้นที่ทั้งหมดของหมู่ที่ 4 บ้านบือดอง และยังเป็นการรวมตัวเป็นโซนหรือระแวกใกล้เคียงกับที่อยู่อาศัย ทำให้คนในชุมชนสามารถเข้าได้ทุกกลุ่ม โดยส่วนใหญ่จะเป็นเครือญาติที่ตามมาอยู่ในชุมชน

โครงสร้างอำนาจภายในชุมชน ตามโครงสร้างการปกครอง มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ทำงานร่วมกับหน่วยงานปกครองท้องถิ่น ส่วนภายในชุมชนในการทำโครงการต่าง ๆ จากภายนอกและงานขับเคลื่อนชุมชน โดยมีนายอับดุลอาซิ มูดิง เป็นแกนนำชุมชน และยังมีการปกครองตามโซนโดยมี ผรส.ของแต่ละหมู่ดูแลและจัดระเบียบชุมชน

การรวมกลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นการรวมกลุ่มกันตามครอบครัวและกลุ่มที่สนิทกันหรือมีช่วงวัยเดียวกัน เช่น กลุ่มแกนนำชุมชนที่ทำงานชุมชนด้านต่าง ๆ กลุ่มเด็กและเยาวชน รวมตัวกันเพื่อจัดกิจกรรมทางศาสนา และทำกิจกรรมร่วมกันในชุมชน ส่วนกลุ่มที่ไม่เป็นทางการส่วนมาก ลักษณะการตั้งบ้านเรือน การตั้งบ้านเรือนของประชาชนมีลักษณะตั้งบ้านเรือนขนานไปตามแนวทางของถนน เป็นส่วนมากและมีบ้านเล็กน้อยที่กระจายออกไปตามพื้นที่ราบสูง

วัฒนธรรม ประเพณี ชาวบ้านยึดมั่นในหลักศาสนา นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 100 มีการประกอบศาสนกิจรวมกันทุกคืน ทำให้เกิดผลดีในด้านการปฏิบัติศาสนกิจแล้วยังเกิดผลดี คือ การสร้างความสามัคคีและการแลกเปลี่ยนทัศนคติ ข่าวสาร กิจกรรมวันสำคัญทางศาสนา มีดังนี้

  • เมาลิดินนบี เป็นวันคล้ายวันประสูติของศาสดามูฮัมหมัด (ซล.) ศาสดาแห่งมนุษยชาติ ผู้ศรัทธาในศาสนาอิสลาม จะมีการรำลึกถึงคุณงามความดี หรือประวัติของท่านในอดีตกาล ในบรรยากาศแห่งความรัก และรำลึกถึงท่านอย่างแท้จริง ซึ่งจะจัดในเดือน เราะบีอุลเอาวัล ซึ่งเป็นเดือนที่ 3 ในปฏิทินอิสลาม

  • วันตรุษอิดิลฟิตรี หรือที่นิยมเรียกว่า “วันรายอปอซอ” เพราะหลังจากที่มุสลิมได้ถือศีลอดมาตลอดในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่ 9 ของศาสนาอิสลาม ก็จะถึงวันออกบวช ตอนเช้าจะมีการละหมาดร่วมกัน ทุกคนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาด สวยงาม และมีการจ่าย “ซะกาตฟิตเราะฮ์”

  • วันตรุษอิดิลอัฏฮา หรือวันรายอฮัจยี เนื่องจากมุสลิมทั่วโลกเริ่มประกอบพีธีฮัจญ์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย จะมีการทำกุรบานหรือการเชือดสัตว์เพื่อเป็นอาหารแก่เพื่อนบ้านและคนยากจน เพื่อขัดเกลาจิตใจให้เป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม

  • การถือศีลอด เป็นหลักปฎิบัติที่มุสลิมจำเป็นต้องถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ตลอดระยะเวลา 1 เดือน มุสลิมที่มีอายุเข้าเกณฑ์ศาสนบัญญัติจะต้องงด การกิน ดื่ม การร่วมประเวณีตลอดจนทุกอย่าง ที่เป็นสิ่งต้องห้าม ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนกระทั่งตกดิน ทุกคนต้องสำรวมกาย วาจา ใจ เพราะเดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่มีประเสริฐยิ่งของศาสนาอิสลาม ซึ่งในเดือนนี้ ชาวมุสลิมจะไปละหมาดที่มัสยิด ซึ่งเป็นการละหมาดที่ปฏิบัติภายในเดือนรอมฎอนเท่านั้น เรียกว่า “ละหมาดตะรอเวียะห์”

  • การละหมาด เป็นการแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ซึ่งเป็นที่ศรัทธาของชาวมุสลิม ทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยถือว่าเป็นการเข้าเฝ้าผู้ทรงสร้างที่ยิ่งใหญ่ การแต่งกายต้องสะอาด เรียบร้อย มีความสำรวม พระองค์กำหนดเวลาละหมาดไว้วันละ 5 เวลา

  • การทำฮัจญ์ อัลลอฮ์ทรงบังคับ ให้มุสลิมที่มีความสามารถด้านกำลังกาย กำลังทรัพย์ ต้องไปทำฮัจญ์ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีขึ้นปีละครั้ง ชาวมุสลิมทั่วโลกจะเดินทางมารวมกัน เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร มีฐานะทางสังคมอย่างไร ต้องมาอยู่ที่เดียวกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ทุกคนมีฐานะเป็นบ่าวของอัลลอฮ์อย่างเท่าเทียมกัน ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม

  • การเข้าสุนัต เป็นพิธีกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวมุสลิม ถือกันว่ามุสลิมที่แท้จริงควรเข้าสุนัต ถ้าไม่ทำถือว่าเป็นมุสลิมที่ไม่สมบูรณ์ ไม่บริสุทธิ์ การเข้าสุนัต คือการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศของผู้ชายออก เพื่อสะดวกในการรักษาความสะอาด การเข้าสุนัตจะนิยมขลิบในช่วงเดือนเมษายนเนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคการเรียนการสอนของเด็กในพื้นที่ กิจกรรมจะมีการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศ และมีการเตรียมอาหารเป็นข้าวเหนียวสีต่าง ๆ บางพื้นที่จะมีการขลิบเป็นหมู่คณะ โดยมีเด็กในชุมชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

1. นายรอนิง ดือเระ มีความชำนาญ การทำเชื้อเห็ด เนื่องจากบริเวณ เนื่องจากเห็นว่าราคาเห็ดมีราคาสูงประกอบกับพื้นที่ที่อาศัยใกล้กับตลาดนัดเลยเล็งเห็นช่องทางในการสร้างรายได้จึงได้คิดค้นผลิตหัวเชื้อโดยศึกษาจากยูทูบจนประสบความสำเร็จ

2. นางพาตีเมาะ อูเซ็ง มีความชำนาญ การทำน้ำยาฆ่าแมลงและปุ๋ยหมัก เกิดจากการทดลองโดยใช้สารที่อยู่ในบุหรี่นำมาหมักแล้วลองไปพ่นที่ในสวนแตงโมปรากฏว่ามีผลสำเร็จจึงได้นำความรู้นี้ไปต่อยอดให้คนในชุมชน

อาหาร การเพาะเห็ดจะต้องประสานงานกันอยู่ตลอดเวลาในการเพาะเห็ด ไม่ว่าจะเป็นการทำก้อนเชื้อเห็ด และการนึ่งก้อนเห็ดในการฆ่าเชื้อ จะต้องประสานงานหรือการพูดคุยกันอยู่เสมอ เพื่อความเข้าใจกันในการทำงาน การเพาะเห็ดของแต่ละสายพันธุ์นั้นจะมีการเพาะปลูกที่ไม่เหมือนกัน การที่จะเพาะปลูกเห็ดในแต่ละครั้ง จะต้องมีการวางแผนในการปลูกและจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ในการเพาะปลูกให้เรียบร้อย และเชื้อเห็ดจะต้องมีความพร้อมในการปลูก การเพาะเห็ดด้วยการทำก้อนเห็ด และวิธีการหยอดเชื้อเห็ด เมื่อทำก้อนเชื้อเห็ดเสร็จแล้ว เราก็นำก้อนเชื้อที่ได้มาทำการหยอดเชื้อและบ่มเชื้อเห็ด จากการศึกษาเรื่อง การคัดเลือก แบคทีเรียสร้างเอนโดสปอร์ที่มีศักยภาพในการเพิ่มผลผลิตเห็ดฟาง ได้กล่าวว่า วิธีการเพาะเห็ด

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีผู้คิดค้นดัดแปลงทั้งวัสดุเพาะหัวเชื้อ สายพันธุ์เห็ด มีวิธีการเพาะปลูก เห็ดที่หลากหลาย แต่การคิดที่จะนำจุลินทรีย์มาช่วยในการเพิ่มผลผลิตเห็ดเพิ่งจะได้รับความสนใจเมื่อไม่นานมานี้ นอกจากนี้ การวางแผนจะต้องเริ่มตั้งแต่ก่อนที่จะปลูก และจะต้องทำตามลำดับ ขั้นตอน ซึ่งในเรื่องของการดูแลเห็ดในเรื่องของสภาพอากาศหรือสภาพภูมิประเทศของสถาน ที่ตั้งฟาร์มเห็ดจึงมีความสำคัญ ต้องมีความเหมาะสมของประเภทของเห็ด การดูแลเห็ด จะต้องดูแลตั้งแต่อุณหภูมิ ไม่ร้อนจนเกินไป และจะต้องไม่เย็นจนเกินไป ความชื้นจะต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม น้ำควรรดน้ำบ่อยครั้งในช่วงฤดูร้อน 3 ครั้งต่อวัน การรดน้ำจะต้องไม่รดน้ำมากจนเกินไป หากเป็นช่วงฤดูร้อนสามารถรดน้ำได้มากกว่าฤดูอื่น ๆ ถ้าเกิดไม่มีการประสานงานในการดูแลรดน้ำ อาจจะทำให้มีการรดน้ำซ้ำกันจะทำให้เห็ดเกิดอาการช้ำน้ำและเน่าเสียได้ ซึ่งสอดคล้องกับการวิจัย เรื่อง การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีไอโอทีควบคุมฟาร์ม อัจฉริยะในโรงเรือนเพาะเห็ดนางฟ้าปัญหาต่าง ๆ ในโรงเรือนเพาะเห็ด ทำให้ผลผลิตไม่คุ้มทุน จึงมีการวิเคราะห์หาตลาดเพื่อให้รายได้เสริมของคนในชุมชนยังคงมีมาเรื่อย ๆ โดยการเจาะตลาดทั้งในชุมชนและส่งออกไปขายในตลาดตามชานเมืองและตัวเมืองต่าง ๆ ที่ใกล้เคียงในละแวกเดียวกัน

ภาษาที่ใช้พูด : ภาษามลายูท้องถิ่น

ภาษาที่ใช้เขียน : ภาษาไทยกลาง

สถานการณ์การใช้ภาษาของผู้คนในชุมชนส่วนมากใช้ภาษามลายูท้องถิ่นและบางส่วนใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร


ประชากรบ้านบือดอง ส่วนใหญ่มีการประกอบอาชีพการเกษตรกรรม รองลงมาได้แก่อาชีพรับจ้างและค้าขาย ในวัยแรงงาน เป็นแรงงานในภาคเกษตรกรรม ส่วนใหญ่เป็นแรงงานในครัวเรือน แรงงานในการทำนา ทำสวนผลไม้ สวนยางพารา ส่วนแรงงานเป็นแรงงานประเภทต่าง ๆ เช่น รับจ้าง ค้าขาย รับราชการ เป็นต้น ประชาชนและเยาวชนบางกลุ่มติดยาเสพติด สาเหตุมาจากปัญหาทางครอบครัวเนื่องจากประชากรในพื้นที่ส่วนใหญ่ออกไปประกอบอาชีพในประเทศเพื่อนบ้านเป็นระยะเวลานาน จึงทำให้บุตรหลานขาดการดูแลเอาใจใส่จากผู้ปกครอง ขาดความรักและความอบอุ่น ความท้าทายในการปราบปรามที่มีอยู่มากในพื้นที่ยังคงเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้ในปัจจุบัน และเมื่อถึงยุคที่มีการปลดล็อคกัญชาทำให้การดูแลบุตรหลานต้องมีความเข้มงวดในการจัดการปัญหาทั้งในครอบครัวและชุมชน การสร้างกำแพงในครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ลดปัญหาในชุมชนได้เบื้องต้น


ประชาชนและเยาวชนบางกลุ่มติดยาเสพติด สาเหตุมาจากปัญหาทางครอบครัวเนื่องจากประชากรในพื้นที่ส่วนใหญ่ออกไปอาชีพในประเทศเพื่อนบ้านเป็นระยะเวลานานจึงจะกลับทำให้บุตรหลานขาดการดูแลเอาใจใส่จากผู้ปกครอง ขาดความรักและความอบอุ่น


 มีสภาพแวดล้อมแบบชนบท ยังไม่มีผลกระทบจากมลพิษต่าง ๆ แต่ยังขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อยตามบริเวณบ้าน มีแหล่งน้ำธรรมชาติ คือ บ่อน้ำตื้นที่ขุดขึ้นใช้เองในครัวเรือน

ในชุมชนบ้านบือดองมีการแข่งขันการทำว่าววงเดือนแข่งขันในช่วงมีนาคม-เมษายน

รอฮานี สะมุแย. (22 กุมภาพันธ์ 2566). ข้อมูลชุมชนบ้านบือดอง. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)

อับดุลอาซิ มูดิง และรอนิง ดือเระ. (22 กุมภาพันธ์ 2566). ภูมิปัญญาปราชญ์ชุมชน. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)

ซากูเราะ มามะลาดี. (22 กุมภาพันธ์ 2566). สภาพแวดล้อมประชากร. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)

ซารีปะ โดตะแม. (22 กุมภาพันธ์ 2566). การประกอบอาชีพ. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)