Advance search

บ้านบือแนบารู

บือแนบารู

ชุมชนเข้มแข็ง เศรษฐกิจพอเพียง ชาวบ้านมีสุข

หมู่ที่ 1
บ้านบือแนบารู
กาลูปัง
รามัน
ยะลา
อับดุลเลาะ รือสะ
20 ก.พ. 2023
นิรัชรา ลิลละฮ์กุล
26 มี.ค. 2023
อับดุลเลาะ รือสะ
28 เม.ย. 2023
บ้านบือแนบารู
บือแนบารู

"บือแนบารู" หมายถึง นาที่ทำมาขึ้นใหม่ เดิมหมู่บ้านบือแนบารูมาจากหมู่บ้านกำปง หลังจากนั้นชาวลือแกะได้มาอาศัยอยู่และได้มีการคิดหาวิธีทำนาในพื้นที่ป่าเชิงเขาในทิศเหนือของหมู่บ้าน หลังจากนั้นได้มีการตั้งชื่อหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงตั้งชื่อ หมู่บ้านว่า "บ้านบือแนบารู"


ชุมชนชนบท

ชุมชนเข้มแข็ง เศรษฐกิจพอเพียง ชาวบ้านมีสุข

บ้านบือแนบารู
หมู่ที่ 1
กาลูปัง
รามัน
ยะลา
95140
อบต.กาลูปัง โทร. 0-7329-2913
6.456139103
101.3712922
องค์การบริหารส่วนตำบลกาลูปัง

เมื่อสมัยก่อนเดิมบริเวณนี้มีป่าเชิงเขาและเป็นราบลุ่มเหมาะสมต่อการทำสวนยาง ปลูกบ้านบริเวณป่าเชิงเขา แต่แล้วมีคนจำนวนหนึ่งจากจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นคนในราชวังมหารายาเรลา เป็นคนที่มีฐานะร่ำรวย ชื่อว่า โต๊ะกายอ ขุดแร่ดีบุกขายให้กับรายารือมัน ชื่อปัจจุบัน คือรายารามัน ซึ่งเป็นอำเภอรามัน และคนเหล่านี้ใด้สร้างทุ่งนาขึ้นมาเพื่อทำการเกษตร ปลูกข้าวกินในตอนที่ไม่ได้ขุดแร่ ก็มาปักดำต้นกล้าซึ่งเป็นต้นข้าวและได้ปักหลักอยู่ที่นี้ตลอดไป จนได้ตั้งชื่อหมู่บ้านขึ้นมาว่า บือแนบารู พากันขุดดินยกร่องขึ้นมาทำเป็นนาข้าว

คำว่า "บือแนบารู" หมายถึง นาที่ทำมาขึ้นใหม่ เดิมหมู่บ้านบือแนบารูมาจากหมู่บ้านกำปงหลังจากนั้นชาวลือแกะได้มาอาศัยอยู่ ได้มีการคิดค้นว่าจะทำนาในพื้นที่ป่าเชิงเขาในทิศเหนือของหมู่บ้าน หลังจากนั้นได้มีการตั้งชื่อหมู่บ้าน ชาวบ้านก็เลยตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านบือแนบารู" ตั้งอยู่ในป่าดงดิบ ป่าดงดิบเป็นป่าที่มีคุณค่ามากในทุกด้านทั้งให้ผลผลิตในรูปของไม้และของป่า ที่ชาวบ้านอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ป่าดงดิบเพราะมีความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่มีต้นไม้หลายชนิดและเป็นทุ่งนามากมายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ทำมาหากิน เป็นที่เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชผัก ผลไม้หรือผักสวนครัว พื้นที่แห่งนี้มีความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ส่วนมากสัตว์ป่ามักอาศัยอยู่ในป่าดงดิบ เช่น ลิง กวาง เป็นต้น

บ้านบือแนบารู อยู่ห่างจากอำเภอรามัน  ไปทางทิศตะวันตก 8 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดยะลา ไปทางทิศตะวันออก 24 กิโลเมตร

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านอูแบ ตำบลยะต๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านบาลูกา ตำบลกาลูปัง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านพงจือนือเร๊ะ ตำบลกายูบอเกาะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านกาลูปัง ตำบลกาลูปัง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ

สภาพพื้นที่บ้านบือแนบารู ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ เหมาะสำหรับการทำสวนยางและทำนาคิดเป็นร้อยละ 65 ของพื้นที่ตำบลที่เหลือร้อยละ 35 เป็นพื้นที่ตอนบนมีภูเขาเตี้ยๆ ที่ด้านทิศตะวันออกติดต่อกับบ้านพงจือนือเร๊ะ ตำบลกายูบอเกาะ ประชากรมีอาชีพในการทำนา  ทำสวนผลไม้ สวนยางพารา ปลูกพืชไร่ ปลูกพืช และ เลี้ยงสัตว์  โดยมีสภาพอากาศร้อนชื้น มี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อนและฤดูฝน ซึ่งฝนตกเกือบตลอดปี ฤดูร้อน ประมาณช่วงปลายเดือนมกราคม - สิงหาคม

จากข้อมูลที่สำรวจโดยการเก็บข้อมูล จปฐ. ของบัณฑิตอาสา ระบุจำนวนครัวเรือนมีทั้งหมด 179 ครัวเรือน (ข้อมูลปี 2565) จำนวนประชากร 781 คน (ข้อมูลปี 2565) ชาย 402 คน  หญิง 379 คน ทั้งหมดเป็นอิสลามคนในชุมชนส่วนอยู่กับแบบครอบครัว ในละแวกใกล้เคียง มีความหลากหลายในช่วงวัย คนในสังคมมีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้คนในสังคมมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน เป็นชุมชนที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองรามันมากเท่าไร 

มลายู

อาชีพหลัก เลี้ยงสัตว์ ทำสวนยางพารา ปลูกไม้ผลสวนผสม 

อาชีพเสริม การเลี้ยงโค เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลาในกระชัง และเย็บผ้า

การซื้อขายแลกเปลี่ยนภายในชุมชน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น อาหาร เครื่องปรุง เนื้อสัตว์ ผักสด ของใช้ในครัวเรือน ผ่านร้านขายของชำในชุมชน โดยมีร้านค้าภายในชุมชนจำนวน 3 ร้าน โดยนำสินค้าจากในพื้นที่และภายนอกมาจำหน่าย

การซื้อขายแลกเปลี่ยนกับคนภายนอก ส่วนใหญ่เป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้จากการทำเกษตรกรรม เช่น ทุเรียน ลองกอง มังคุด หรือ ซื้อสินค้า และตลาดในเขตตัวเมืองรามัน ตลาดนัดภายในชุมชนในช่วงเที่ยงและช่วงเย็นและยังมีพื้นที่ตลาดนัดรอบนอก และยังมีรถพ่วงข้างมาจำหน่ายสินค้าในพื้นที่ แต่มีมาไม่บ่อยสักเท่าไร ทำให้คนในพื้นที่ส่วนมากออกไปซื้อตามตลาดสัปดาห์ละครั้ง มาตุนไว้ใช้ในครัวเรือน

ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกชุมชน สมาชิกชุมชนส่วนใหญ่อยู่กันเป็นกลุ่มตามโซน เป็นชุมชนที่มีพื้นที่ว่างจากการปลูกสร้างที่พักอาศัยน้อยมาก ส่วนมากจะป็นพื้นที่การทำนาข้าว หรือละแวกใกล้เคียงกับที่อยู่อาศัย ทำให้คนในชุมชนสามารถเข้ากันได้ทุกกลุ่ม โดยส่วนใหญ่จะเป็นเครือญาติที่ตามมาอยู่ในชุมชน

โครงสร้างอำนาจภายในชุมชน ตามโครงสร้างการปกครอง มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ทำงานร่วมกับหน่วยงานปกครองท้องถิ่น ส่วนภายในชุมชนมีการทำโครงการต่าง ๆ จากภายนอกและงานขับเคลื่อนชุมชน โดยมี นายการียา สะมะอิ เป็นแกนนำชุมชน ในการดูแลในพื้นที่และยังมี นายฮาซัน นิหะริงเป็นผู้นำทางด้านศาสนาในพื้นที่

การรวมกลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นการรวมกลุ่มกันตามครอบครัวและกลุ่มที่สนิทกันหรือมีช่วงวัยเดียวกัน เช่น  กลุ่มแกนนำชุมชนที่ทำงานชุมชนด้านต่าง ๆ กลุ่มเด็กและเยาวชน และกลุ่มสตรีทำขนม และกลุ่มเยาวชนผู้ชายมีการจัดตั้งกลุ่ม รวมตัวกันเพื่อจัดกิจกรรมทางศาสนา และทำกิจกรรมร่วมกันในชุมชน

การประกอบอาชีพ ประชากรบ้านบือแนบารู หมู่ที่ 1 ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำสวนยางพารา ปลูกไม้ผล เช่น เงาะ ทุเรียน ลองกอง มังคุด ทำนา เป็นต้น ประมาณร้อยละ 70 รองลงมาได้แก่อาชีพรับจ้าง ประมาณร้อยละ 20 ค้าขายและลูกจ้าง พนักงานของรัฐ ประมาณร้อยละ 5 และอื่นๆ เช่น ทำงานประเทศมาเลเซีย เป็นต้น ทั้งนี้ยังมีบางส่วนที่ว่างงาน ไม่มีงานทำเป็นหลักแหล่ง

ด้านสังคม  ประชากรในพื้นที่นับถือศาสนาอิสลาม 100% มีมัสยิด 1 แห่ง ชื่อมัสยิดอัลฮามีดี มีโรงเรียนตาดีกา 1 แห่ง สถาบันปอเนาะ 1 แห่ง

วัฒนธรรม ประเพณี ชาวบ้านบือแนบารู นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 100 มีการประกอบศาสนกิจร่วมกันทุกคืน ทำให้เกิดผลดีในด้านการปฎิบัติศาสนกิจแล้วยังเกิดผลดี คือการสร้างความสามัคคีและการแลกเปลี่ยนทัศนคติ ข่าวสาร กิจกรรมวันสำคัญทางศาสนา มีดังนี้

  • เมาลิดินนบี เป็นวันคล้ายวันประสูติของศาสดามูฮัมหมัด (ซล.) ศาสดาแห่งมนุษยชาติ ผู้ศรัทธาในศาสนาอิสลาม มีการรำลึกถึงคุณงามความดีหรือประวัติของท่านในอดีตกาล ในบรรยากาศแห่งความรัก และรำลึกถึงท่านอย่างแท้จริง ซึ่งจะจัดในเดือน เราะบีอุลเอาวัล เดือนที่ 3 ในปฏิทินอิสลาม

  • วันตรุษอิดิลฟิตรี หรือที่นิยมเรียกว่า “วันรายอปอซอ” เพราะหลังจากที่มุสลิมได้ถือ ศีลอดมาตลอด ในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่ 9 ของศาสนาอิสลาม ก็จะถึงวันออกบวช ตอนเช้าจะมีการละหมาดร่วมกัน ทุกคนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาด สวยงาม และมีการจ่าย “ซะกาตฟิตเราะฮ์”

  • วันตรุษอิดิลอัฏฮา หรือวันรายอฮัจยี เนื่องจากมุสลิมทั่วโลกเริ่มประกอบพีธีฮัจญ์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย จะมีการทำกุรบานหรือการเชือดสัตว์เพื่อเป็นอาหารแก่เพื่อนบ้านและคนยากจน เพื่อขัดเกลาจิตใจให้เป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม

  • การถือศีลอด เป็นหลักปฎิบัติที่มุสลิมจำเป็นต้องถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ตลอดระยะเวลา 1 เดือน มุสลิมที่มีอายุเข้าเกณฑ์ศาสนบัญญัติจะต้องงด การกิน ดื่ม การร่วมประเวณีตลอดจนทุกอย่างที่เป็นสิ่งต้องห้าม ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนกระทั่งตกดิน ทุกคนต้องสำรวมกาย วาจา ใจ เพราะเดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่มีประเสริฐยิ่งของศาสนาอิสลาม ซึ่งในเดือนนี้ชาวมุสลิมจะไปละหมาดที่มัสยิด เป็นการละหมาดที่ปฏิบัติภายในเดือนรอมฎอนเท่านั้น เรียกว่า “ละหมาดตะรอเวียะห์”

  • การละหมาด เป็นการแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ ซึ่งเป็นที่ศรัทธาของชาวมุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยถือว่าเป็นการเข้าเฝ้าผู้ทรงสร้างที่ยิ่งใหญ่ การแต่งกายต้องสะอาด เรียบร้อย มีความสำรวม พระองค์กำหนดเวลาละหมาดไว้วันละ 5 เวลา

  • การทำฮัจญ์ อัลลอฮ์ทรงบังคับให้มุสลิมที่มีความสามารถด้านกำลังกาย กำลังทรัพย์ ต้องไปทำฮัจญ์ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีขึ้นปีละครั้ง ชาวมุสลิมทั่วโลกจะเดินทางมารวมกัน เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร มีฐานะทางสังคมอย่างไร ต้องมาอยู่ที่เดียวกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ทุกคนมีฐานะเป็นบ่าวของอัลลอฮ์อย่างเท่าเทียมกัน ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม

  • การเข้าสุนัต เป็นพิธีกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวมุสลิม ถือกันว่ามุสลิมที่แท้จริงควรเข้าสุนัต ถ้าไม่ทำถือว่าเป็นมุสลิมที่ไม่สมบูรณ์ ไม่บริสุทธิ์ การเข้าสุนัต คือการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศของผู้ชายออก เพื่อสะดวกในการรักษาความสะอาด การเข้าสุนัตจะนิยมขลิบในช่วงเดือนเมษายนเนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคการเรียนการสอนของเด็กในพื้นที่ กิจกรรมจะมีการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศ และมีการเตรียมอาหารเป็นข้าวเหนียวสีต่าง ๆ บางพื้นที่จะมีการขลิบเป็นหมู่คณะ โดยมีเด็กในชุมชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

  • ประเพณีการกวนอาซูรอ เป็นการรำลึกถึงความยากลำบากของศาสดา นบีนูฮ โดยเชื่อว่าในสมัยของท่านมีเหตการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ น้ำท่วมโลกเป็นระยะเวลานาน ศาสดานบีนูฮ ซึ่งล่องลอยเรืออยู่เป็นเวลานาน ทำให้อาหารที่เตรียมไว้ร่อยหรอลง จึงได้นำส่วนที่พอจะมีเหลืออเอามารวมกันแล้วกวนกิน จึงกลายเป็นตำนานที่มาของขนมอาซูรอ

คำว่า "อาซูรอ" คือคำในภาษาอาหรับ แปลว่า การผสม ในที่นี้หมายถึงการนำของที่รับประทานได้ทั้งของคาวและของหวานจำนวน 10 อย่าง มากวนรวมกัน ประเพณีจะจัดในวันที่ 10 ของเดือนมูฮัรรอม ซึ่งเป็นเดือนแรกของฮิจเราะห์ศักราชตามปฏิทินอิสลาม เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาปีใหม่ของมุสลิม ลักษณะกิจกรรมจะมีการรวมตัวของชาวบ้านโดยที่ชาวบ้านจะนำวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเผือก มัน ฟักทอง กล้วย ข้าวสาร ถั่ว เครื่องปรุง ข่าตะไคร้ หอมกระเทียม เมล็ดผักชี ยี่หร่า เกลือ น้ำตาล กะทิ โดยวัตถุดิบทั้งหมดจะถูกกวนในกระทะเหล็กใช้เวลาเกือบ 6-7 ชั่วโมง โดยต้องกวนตลอด จนกระทั่งสุกแห้ง เมื่อเสร็จเรียบร้อยมีการแจกจ่ายแบ่งปันให้แก่ชาวบ้าน ภาพที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความสัมพันธ์และสามัคคีของคนในชุมชน

  • ประเพณีการกินนาซิบารู คำว่า "นาซิบารู" หมายถึงข้าวสารใหม่ที่ได้ผ่านกรรมวิธีจากการลงแขกเก็บเกี่ยวข้าวในช่วงฤดูทำนา เมื่อเสร็จการทำนา ข้าวเปลือกที่ได้จะนำไปโรงสีข้าวเพื่อเปลี่ยนมาเป็นข้าวสาร หลังจากนั้นชาวบ้านจะเชิญผู้รู้ทางศาสนาและคนในชุมชนมาร่วมรับประทานอาหารที่บ้านเพื่อเป็นการขอบคุณพระผู้เป็นเจ้าที่ได้ทำนาสำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี 

1. นายมาหะมะพาไหมิง จาดาเร๊าะ  มีความชำนาญ การทำแปลงผักเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกผักทำนา โดยยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9

อาหาร ขนมจูจุนหรือขนมจูโจหรือมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าขนมฝักบัว คนมลายูจะเรียกขนมนี้ว่า ตือปงจูโจ มักพบในพิธีกรรมต่างๆของคนภาคใต้ และยังเป็นขนมไทยโบราณที่หายากในตอนนี้ เนื่องจากคนสมัยใหม่รับอิทธิพลจากประเทศเพื่อนบ้านและมักรับประทานขนมสมัยใหม่จึงทำให้ขนมไทยโบราณ ค่อย ๆ จางหาย ได้มีการเปิดกิจการเกี่ยวกับขนมไทยโบราณเป็นกิจการเล็ก ๆ ขายตามท้องตลาดมาประมาณ 10 กว่าปี เมื่อประสบความสำเร็จจึงได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้กับบุตรสาวของตนเอง นางสุไบยะ ฮามะ หรือ กะยะห์ เพื่อต่อยอดกิจการ ขนมจูจุน มักจะไม่ค่อยมีขายในตัวเมือง แต่จะพบได้ตามท้องตลาดในท้องถิ่น หรือ ตามหมู่บ้าน ที่ยังคงรักษาขนมไทยโบราณ ขนมจูจุน สามารถนำไปใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมทางศาสนาพุทธ หรือ ศาสนาอิสลาม อาทิเช่น งานแต่งงาน งานทำบุญเดือนสิบ หรือ สารทเดือน10 ขนมจูจุนมีขั้นตอนการทำที่ง่ายและกำลังจะจางหายไป ดังนั้นเราจึงต้องอนุรักษ์ไว้ ให้รุ่นหลังได้เรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรม ขนมไทยโบราณของชาวใต้ต่อไป

ภาษาที่ใช้พูด : ภาษามลายูท้องถิ่น

ภาษาที่ใช้เขียน : ภาษาไทยกลาง

สถานการณ์การใช้ภาษาของผู้คนในชุมชนส่วนมากใช้ภาษามลายูท้องถิ่นและบางส่วนใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร


การเปลี่ยนแปลงทางด้านการศึกษา ในปัจจุบันการเข้าถึงการศึกษาได้ง่าย แต่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำทำให้คนในพื้นที่ขาดรายได้ ทำให้ไม่สามารถส่งลูกหลานเรียนในระดับที่สมควรที่จะส่งเรียนได้ และยังมีปัญหาการว่างงานในเนื่องจากไม่ได้รับการศึกษาตามที่บริษัทและนายจ้างกำหนด ซึ่งมันเป็นปัญหาลูกโซ่มาอย่างต่อเนื่อง

การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ชาวบ้านให้ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐมากขึ้น ในการรักษาความสงบเรียบร้อยในหมู่บ้าน โดยมีชุด ชรบ.หมู่บ้าน จัดเวรยาม โดยที่ชาวบ้านให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำให้เหตุการณ์ความไม่สงบในหมู่บ้านน้อยลง มีกฎหมายรองรับในการจัดตั้งคณะกรรมการหมู่บ้าน (อปพ.) เพื่อสร้างองค์กรที่เข้มแข็ง การมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น แก้ไขปัญหาร่วมกัน ความเสียสละ หน้าที่ความรับผิดชอบต่อสังคม จุดอ่อนคือในการประชุมประชาคมหมู่บ้านส่วนมากองค์ประชุมมาไม่ครบ เป็นปัญหาในการตัดสินใจบางเรื่องที่ต้องกำหนดทิศทางของหมู่บ้าน ชาวบ้านมีความร่วมมือร่วมใจในการทำงานส่วนร่วมทั้งในด้านศาสนา งานด้านพัฒนาชุมชน ถึงจะมีขัดแย้งในทางการเมืองในพื้นที่ แต่ภายหลังชาวบ้านก็กลับมาคุยกันปรองดองกันเป็นปกติ

ในชุมชนบ้านบือแนบารู มีจุดเด่นด้านการปลูกผักสวนครัว

การียา สะมะอิ. (17 กุมภาพันธ์ 2566). ข้อมูลชุมชนบ้านบือแนบารู. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)

มาหะมะพาไหมิง จาดาเร๊าะ และสากีนา สะมะแอ. (17 กุมภาพันธ์ 2566). ภูมิปัญญาปราชญ์ชุมชน. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)

ซานีตา บูเกะ. (17 กุมภาพันธ์ 2566). สภาพแวดล้อมประชากร. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)

มารียานี จาดาเร๊าะ. (17 กุมภาพันธ์ 2566). ข้อมูลทั่วไป. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)