พื้นที่ลุ่มน้ำสายบุรี
ครั้งหนึ่งมีชาวบ้านเดินหาของป่าเข้ามาในพื้นที่แห่งนี้ได้เห็นต้นไม้ชนิดหนึ่งซึ่งมีลักษณะที่ใหญ่มากมีผลดก ชาวบ้านจึงเรียกต้นไม้นี้ว่า "ต้นสะโต" หรือ ต้นกระท้อน
พื้นที่ลุ่มน้ำสายบุรี
จากการบอกเล่าของคนในชุมชนเล่าว่า ในอดีตชุมชนแห่งนี้มีลักษณะเป็นป่าทึบ มีสัตว์นานาชนิด ครั้งหนึ่งมีชาวบ้านเดินหาของป่าเข้ามาในพื้นที่แห่งนี้ได้เห็นต้นไม้ชนิดหนึ่งซึ่งมีลักษณะที่ใหญ่มากมีผลดก ชาวบ้านจึงเรียกต้นไม้นี้ว่า "ต้นสะโต" หรือ ต้นกระท้อน หลังจากนั้นจึงเรียกติดปากว่า "ชุมชนสะโต"
บ้านสะโตอยู่ห่างจากตัวอำเภอรามันประมาณ 4 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 34 กิโลเมตร การเดินทางมายังชุมชนบ้านสะโตสามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านกือเม็ง หมู่ที่ 2 ตำบลอาซ่อง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านตลาดล่าง หมู่ที่ 6 ตำบลกายุบอเกาะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ แม่น้ำสายบุรี
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านบูเกะลาโม๊ะ หมู่ที่ 6 ตำบลอาซ่อง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
สภาพพื้นที่กายภาพ
สภาพทั่วไปของชุมชนสะโตมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบลุ่มติดแม่น้ำสายบุรี พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทำนาและมีบางส่วนทำการเพาะปลูกยางพารา ลักษณะพื้นที่สามารถแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนด้านในจะเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งอาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่นและพื้นที่บางส่วนเป็นทุ่งนา ส่วนพื้นที่ด้านนอกจะติดถนนใหญ่เป็นพื้นที่เพาะปลูกทางเกษตรกรรม เช่น ทำนา ยางพารา บางส่วนของพื้นที่จะเป็นที่อยู่อาศัยของของคนในชุมชน
จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือน และประชากรชุมชนบ้านสะโต จำนวน 390 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 1,741 คน แบ่งประชากรชาย 876 คน หญิง 865 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายมลายูในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวที่มีความหลากหลายช่วงวัย มีเพียงส่วนน้อยที่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผู้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน
มลายูผู้คนในชุนชนสะโตมีการรวมกลุ่มที่เป็นทางการและไม่ทางการ
กลุ่มจักสาน เป็นกลุ่มที่จัดขึ้นผ่านกลุ่มสตรีในหมู่บ้านโดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น เตยหนาม มาจักสานเป็นกระเป๋า จักสานเสื่อ ตะกร้าใส่ข้าวสาร และทำภาชนะต่าง ๆ มากหมาย ซึ่งเป็นไอเดียความคิดภูมิปัญญาท้องถิ่นตั้งแต่รุ่นยาย ได้มีการสืบทอดรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน
กลุ่มเยาวชนเปตอง เป็นการร่วมกลุ่มของวัยรุ่นในชุมชนเพื่อใช้เวลาว่างจากการเรียนมาออกกำลังกายและพบปะเยาวชนในชุมชนซึ่งจะจัดทุกวันช่วงเวลาตอนเย็น
ด้านกลุ่มอาชีพ พื้นที่แห่งนี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวน ยางพารา ทำนา ทุเรียน รองลงมาประกอบอาชีพค้าขายและรับราชการ
ในรอบปีของผู้คนบ้านสะโตมีวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นดังต่อไปนี้
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
- งานเมาลิดนบี เป็นวันแห่งการยกย่องวันเกิดของท่านนบีมูฮัมหมัด (ซ.ล.) คำว่า "เมาลิด" เป็นภาษาอาหรับแปลว่า เกิด, ที่เกิด หรือ วันเกิด ซึ่งหมายถึงวันเกิดของท่านนบีมูฮัมหมัด (ซ.ล.) ตรงกับวันที่ 12 เดือนรอบือุลเอาวัล หรือเดือนที่ 3 ตามปฏิทินอิสลาม ชุมชนบ้านสะโตจะจัดงานเมาลิดตามบ้านแต่ละหลังโดยผลัดเวียนตามเวรที่ได้รับมอบหมายจากผู้นำในพื้นที่ กิจกรรมในงานเมาลิดได้แก่ การอัญเชิญคัมภีร์อัล-กุรอาน การกล่าวสรรเสริญ อ่านซางี เพื่อระลึกถึงท่านนบีมูฮัหมัด (ซ.ล.) นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงอาหารแก่ผู้ที่ไปร่วมงานด้วย
- วันรายอแนหรือรายอหก ความหมายรายอแน คือ คำว่า "รายอ" ในภาษามลายูแปลว่า ความรื่นเริง และ คำว่า "แน" คือ หก ในทางปฏิบัติ เมื่อถึงวันตรุษอีฎี้ลฟิตรี จะเฉลิมฉลองวันอีดใหญ่และวันต่อมาชาวบ้านมักจะถือศีลอด 6 วัน ในเดือนเชาวาลต่อเนื่องไปเลย จนครบ 6 วัน เมื่อเสร็จสิ้นการถือศีลอด คนในพื้นที่จะถือโอกาสนี้เฉลิมฉลองวันรายอแน โดยจะเดินทางไปทำบุญให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับที่กุโบร์หรือสุสาน ชุมชนสะโตจะจัดงานวันรายอหกที่สุสานในชุมชนโดยกิจกรรมช่วงเช้าชาวบ้านจะมาเยี่ยมเยียนสุสานจนกระทั่งตอนเที่ยงจะร่วมรับประทานอาหารที่ลานละหมาดใกล้สุสาน บางบ้านจะทำอาหารเตรียมใว้สำหรับแขกที่มาเยี่ยมบ้าน
- กิจกรรม ฟื้นฟูค่ำคืนนิสฟูซะห์บาน ค่ำคืนนิสฟูซะห์บานจะตรงตามปฎิทินอิสลาม วันที่ 14 เดือน ซะบาน โดยมีลักษณะกิจกรรม คือ มีการละหมาดฟัรดู อ่านอัลกุรอาน ซูเราะห์ยาซีน 3 จบ ซึ่งแต่ละจบจะมีดุอาร์ ขอพรจากอัลลอฮ์ เมื่อเสร็จพิธีการจะมีการกินเลี้ยงร่วมรับประทานอาหาร และอาหารบางส่วนจะนำแจกจ่ายให้ชาวบ้านในหมู่บ้าน
- วันตรุษอิดิลฟิตรี หรือที่นิยมเรียกว่า “วันรายอปอซอ” เพราะหลังจากที่มุสลิมได้ถือศีลอดมาตลอดในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่ 9 ของศาสนาอิสลาม ก็จะถึงวันออกบวช ตอนเช้าจะมีการละหมาดร่วมกัน ทุกคนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาด สวยงาม และมีการจ่าย “ซะกาตฟิตเราะฮ์”
- วันอาซูรอ ตรงวันขึ้น 10 ค่ำ เดือนมูฮัรรอม ซึ่งตรงกับเดือนแรกของปฏิทินอิสลาม จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงประวัติของนบีนุฮ์ ตอนเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่
- วันตรุษอิดิลอัฏฮา หรือวันรายอฮัจยี เนื่องจากมุสลิมทั่วโลกเริ่มประกอบพีธีฮัจญ์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย จะมีการทำกุรบาน หรือการเชือดสัตว์เพื่อเป็นอาหารแก่เพื่อนบ้านและคนยากจน เพื่อขัดเกลาจิตใจให้เป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม
- การถือศีลอด เป็นหลักปฎิบัติที่มุสลิมจำเป็นต้องถือศีลอด ในเดือนรอมฎอน ตลอดระยะเวลา 1 เดือน มุสลิมที่มีอายุเข้าเกณฑ์ศาสนบัญญัติจะต้องงด การกิน ดื่ม การร่วมประเวณีตลอดจนทุกอย่าง ที่เป็นสิ่งต้องห้าม ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนกระทั่งตกดิน ทุกคนต้องสำรวมกาย วาจา ใจ เพราะเดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่มีประเสริฐยิ่งของศาสนาอิสลาม ซึ่งในเดือนนี้ชาวมุสลิมจะไปละหมาดที่มัสยิด ซึ่งเป็นการละหมาดที่ปฏิบัติภายในเดือนรอมฎอนเท่านั้น เรียกว่า “ละหมาดตะรอเวียะห์”
- การละหมาด เป็นการแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ ซึ่งเป็นที่ศรัทธาของชาวมุสลิม ทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยถือว่าเป็นการเข้าเฝ้าผู้ทรงสร้างที่ยิ่งใหญ่ การแต่งกายต้องสะอาด เรียบร้อย มีความสำรวม พระองค์กำหนดเวลาละหมาดไว้วันละ 5 เวลา
- การทำฮัจญ์ อัลลอฮ์ทรงบังคับให้มุสลิมที่มีความสามารถด้านกำลังกาย กำลังทรัพย์ ต้องไปทำฮัจญ์ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีขึ้นปีละครั้งชาวมุสลิมทั่วโลกจะเดินทางมารวมกัน เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร มีฐานะทางสังคมอย่างไร ต้องมาอยู่ที่เดียวกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ทุกคนมีฐานะเป็นบ่าวของอัลลอฮ์อย่างเท่าเทียมกัน ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม
- การเข้าสุนัต เป็นพิธีกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวมุสลิม ถือกันว่ามุสลิมที่แท้จริงควรเข้าสุนัต ถ้าไม่ทำถือว่าเป็นมุสลิมที่ไม่สมบูรณ์ ไม่บริสุทธิ์ การเข้าสุนัต คือการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศของผู้ชายออก เพื่อสะดวกในการรักษาความสะอาด การเข้าสุนัตจะนิยมขลิบในช่วงเดือนเมษายนเนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคการเรียนการสอนของเด็กในพื้นที่ กิจกรรมจะมีการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศ และมีการเตรียมอาหารเป็นข้าวเหนียวสีต่าง ๆ บางพื้นที่จะมีการขลิบเป็นหมู่คณะ โดยมีเด็กในชุมชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ
การประกอบอาชีพของประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ประกอบอาชีพทำสวน เช่น ปลูกยางพารา ทุเรียน ทำนา ลองกอง รองลงมาประกอบอาชีพรับราชการ
1. นายการียา เป็นผู้สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นในการนวดแผนโบราณและรักษาผู้ป่วยที่กระดูกหักซึ่งได้รับการสืบทอดจากมารดาของท่าน
ทุนวัฒนธรรม มัสยิดสะโตเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของคนในชุมชนเนื่องจากกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ในชุมชนส่วนใหญ่จะใช้มัสยิดเป็นพื้นที่หลัก เช่น งานเมาลิด งานวันอีด งานเปิดบวช เป็นต้น
ประเทศไทยมีจังหวัดที่มีประชากรพูดภาษามลายู คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาสและบางอำเภอของจังหวัดสงขลา ประชากรที่นี่ส่วนใหญ่เขียนและบันทึกโดยใช้อักษรยาวี ปัจจุบันคนในชุมชนยังคงรักษาไว้ซึ่งภาษาท้องถิ่นในพื้นที่อย่างเหนียวแน่น ชุมชนสะโตส่วนใหญ่สื่อสารภาษามลายูเป็นหลักและเมื่ออยู่ในส่วนราชการจะใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร
การเปลี่ยนแปลงของสังคมไปสู่ความทันสมัย ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือการสร้างบ้านเรือนที่มีความทันสมัยมากขึ้นประกอบกับอิทธิพลทางการศึกษาสมัยใหม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเดิมมากขึ้น
ความท้าทายของชุมชนสะโตเผชิญความท้าทายด้านทรัพยากรทางธรรมชาติ เนื่องจากเป็นพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนเป็นประจำทุกปี อย่างไรก็ตามปัญหาน้ำท่วมไม่ได้สร้างความเสียหายที่รุนแรง เนื่องจากชาวบ้านมีการปรับวิถีชีวิตโดยการสร้างบ้านยกพื้นสูงเพื่อหลีกเลี่ยงจากน้ำท่วมสูง
ในชุมชนมีจุดน่าสนใจอื่น ๆ ได้แก่ แม่น้ำสายบุรี
ซูไรดา เจะนิ. (2559). การศึกษาภูมินามของหมู่บ้านในอำเภอรามัน จังหวัดยะลา. ทุนอุดหนุนจากงบประมาณการศึกษาประจำปี 2559. มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา.
กรมการปกครอง. (2565). ระบบสถิติทางการทะเบียน จำนวนประชากร. ออนไลน์. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566. เข้าถึงได้จาก https://stat.bora.dopa.go.th/