ส่งเสริมการเกษตร ทุ่งนาสวย เกษตรผสมผสาน
"กาลูปัง" มาจากคำว่า "กาลูแป" ซึ่งหมายถึงชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ขึ้นอยู่ในบริเวณหมู่บ้านแห่งนี้ ชาวบ้านจึงเรียกชื่อหมู่บ้านตามต้นไม้ชนิดนี้ว่า "กาแป" หรืออีกคำหนึ่งว่า "กาลูปัง"
ส่งเสริมการเกษตร ทุ่งนาสวย เกษตรผสมผสาน
บ้านกาลูปัง เล่ากันว่าในอดีตนั้นหมู่บ้านแห่งนี้มีต้นกาลูปังหรือพูดภาษายาวี ท้องถิ่นว่า ต้นกะลูแป เล่ากันว่ามีอยู่มากมายและมีต้นหนึ่งลักษณะต้นใหญ่มาก เล่ากันว่า ประมาณสองถึงสามคนโอบถึงจะครบรอบต้นไม้ของชนิดนี้ ดอกของต้นไม้นี้มีรูปลักษณะที่สวย สีออกแดงอ่อน ๆ เมื่อมีชาวบ้านผ่านไปมาก็จะแวะชมต้นไม้ต้นนี้ ต้นไม้ชนิดนี้ลักษณะเหมือนต้นนุ่น ด้วยเพราะต้นไม้ชนิดนี้มีอยู่มากมายในหมู่บ้านแห่งนี้ จึงเป็นที่เรียกติดปากกันว่า “บ้านกาลูแป” และ ได้เพี้ยนมาเป็นกาลูปัง จนถึงปัจจุบัน
บ้านกาลูัง หมู่ที่ 2 ตั้งอยู่ในตำบลตำบลกาลูปัง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา โดยอยู่ทางทิศเหนือของตำบลโกตาบารู ห่างจากอำเภอรามันประมาณ 10 กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดยะลา ประมาณ 18 กิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลโกตาบารู อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลยะต๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลกาลูปัง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลกาลูปัง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
สภาพพื้นที่ตำบลกาลูปัง ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ เหมาะสำหรับการทำสวนยางและทำนาคิดเป็นร้อยละ 65 ของพื้นที่ตำบล ที่เหลือร้อยละ 35 เป็นพื้นที่ตอนบนมีภูเขาเตี้ย ๆ ที่ด้านทิศตะวันออกในหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 3 ประชากรมีอาชีพในการทำนา ทำสวนผลไม้ สวนยางพารา ปลูกพืชไร่ ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์
ลักษณะภูมิอากาศมีสภาพร้อนชื้น มี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อนและฤดูฝน ซึ่งฝนตกเกือบตลอดปี ฤดูร้อน ประมาณช่วงปลายเดือนมกราคม - สิงหาคม ฤดูฝน ประมาณช่วงเดือนกันยายน - ธันวาคม
จากข้อมูลที่สำรวจโดยการเก็บข้อมูล จปฐ. ของบัณฑิตอาสา ระบุจำนวนครัวเรือนมีทั้งหมด 329 ครัวเรือน (ข้อมูลปี 2565) จำนวนประชากร 1,408 คน (ข้อมูลปี 2565) ชาย 678 คน หญิง 730 คน ทั้งหมดเป็นอิสลาม คนในชุมชนส่วนใหญ่อยู่กันแบบครอบครัว ในละแวกใกล้เคียง มีความหลากหลายในช่วงวัย คนในสังคมมีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติ ทำให้คนในสังคมมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน
มลายูอาชีพหลัก มีการประกอบอาชีพหลากหลาย ประกอบด้วย การทำนา ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ทำสวนยางพารา ปลูกไม้ผล เช่น เงาะ ทุเรียน ลองกอง มังคุด โรงสีข้าว
อาชีพเสริม การเลี้ยงโค เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา และเย็บผ้า
การซื้อขายแลกเปลี่ยนภายในชุมชน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น อาหาร เครื่องปรุง เนื้อสัตว์ ผักสด ของใช้ในครัวเรือน ผ่านร้านขายของชำในชุมชน โดยมีร้านค้าภายในชุมชนจำนวน 6 ร้าน โดยนำสินค้าจากในพื้นที่และภายนอกมาจำหน่าย
การซื้อขายแลกเปลี่ยนกับคนภายนอก ส่วนใหญ่เป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้จากการทำเกษตรกรรม เช่น ทุเรียน ลองกอง มังคุด หรือ ซื้อสินค้าจากรถกับข้าว (รถพุ่มพวง) ที่เข้ามาในชุมชนหรือตลาดนัดภายในชุมชนในช่วงเย็นและพื้นที่ตลาดนัดรอบนอก
การออกไปทำงานนอกชุมชน การออกไปทำงานนอกชุมชน คิดเป็น 22% ของคนในชุมชน และที่ออกไปทำงานต่างประเทศมีอยู่ 3% ออกไปรับจ้างทำงานด้านอุตสาหกรรม พนักงานบริษัททั่วไป พนักงานราชการ รับจ้างทั่วไป แต่ยังกลับมาอาศัยอยู่ในพื้นที่ ภายในตำบลกาลูปังไม่มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีเพียงอุตสาหกรรมขนาดเล็กประเภทแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ โรงสีข้าว จำนวน 2 แห่ง
ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกชุมชน สมาชิกชุมชนส่วนใหญ่อยู่กันเป็นกลุ่มตามโซน เป็นชุมชนที่มีพื้นที่ว่างจากการปลูกสร้างที่พักอาศัยน้อยมาก คนในชุมชนสามารถเข้ากันได้ทุกกลุ่ม โดยส่วนใหญ่จะเป็นเครือญาติที่ตามมาอยู่ในชุมชน มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันในพื้นที่ตามโซนที่ตนเองอยู่
โครงสร้างอำนาจภายในชุมชน ตามโครงสร้างการปกครอง มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ทำงานร่วมกับหน่วยงานปกครองท้องถิ่น ส่วนภายในชุมชนมีการทำโครงการต่าง ๆ จากภายนอกและงานขับเคลื่อนชุมชน โดยมีนายฮาเซ็ง สะมะอิ เป็นแกนนำชุมชน
การรวมกลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นการรวมกลุ่มกันตามครอบครัวและกลุ่มที่สนิทกันหรือมีช่วงวัยเดียวกัน เช่น กลุ่มแกนนำชุมชนที่ทำงานชุมชนด้านต่าง ๆ กลุ่มเด็กและเยาวชน รวมตัวกันเพื่อจัดกิจกรรมทางศาสนา และทำกิจกรรมร่วมกันในชุมชน ส่วนกลุ่มที่ไม่เป็นทางการส่วนมาก มีความคล้ายคลึงกับทุกพื้นที่ในละแวกเดียวกัน
วัฒนธรรม ประเพณี
ชาวบ้านกาลูปัง นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 100 มีการประกอบศาสนกิจรวมกันทุกคืน ส่งผลดีเกิดการสร้างความสามัคคีและการแลกเปลี่ยนทัศนคติ ข่าวสาร กิจกรรมวันสำคัญทางศาสนา มีดังนี้
- เมาลิดินนบี เป็นวันคล้ายวันประสูติของศาสดามูฮัมหมัด (ซล.) ศาสดาแห่งมนุษยชาติ ผู้ศรัทธาในศาสนาอิสลาม จะมีการรำลึกถึงคุณงามความดี หรือประวัติของท่านในอดีตกาล ในบรรยากาศแห่งความรัก และรำลึกถึงท่านอย่างแท้จริง ซึ่งจะจัดในเดือน เราะบีอุลเอาวัล ซึ่งเป็นเดือนที่ 3 ในปฏิทินอิสลาม
- วันตรุษอิดิลฟิตรี หรือที่นิยมเรียกว่า “วันรายอปอซอ” เพราะหลังจากที่มุสลิมได้ถือศีลอดมาตลอด ในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่ 9 ของศาสนาอิสลาม ก็จะถึงวันออกบวช ตอนเช้ามีการละหมาดร่วมกัน ทุกคนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาด สวยงาม และมีการจ่าย “ซะกาตฟิตเราะฮ์”
- วันตรุษอิดิลอัฏฮา หรือวันรายอฮัจยี เนื่องจากมุสลิมทั่วโลกเริ่มประกอบพีธีฮัจญ์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย มีการทำกุรบานหรือการเชือดสัตว์เพื่อเป็นอาหารแก่เพื่อนบ้านและคนยากจน เพื่อขัดเกลาจิตใจให้เป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม
- การถือศีลอด เป็นหลักปฎิบัติที่มุสลิมจำเป็นต้องถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ตลอดระยะเวลา 1 เดือน มุสลิมที่มีอายุเข้าเกณฑ์ศาสนบัญญัติจะต้องงด การกิน ดื่ม การร่วมประเวณีตลอดจนทุกอย่างที่เป็นสิ่งต้องห้าม ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนกระทั่งตกดิน ทุกคนต้องสำรวมกายวาจาใจ เพราะเดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่มีประเสริฐยิ่งของศาสนาอิสลาม ซึ่งในเดือนนี้ชาวมุสลิมจะไปละหมาดที่มัสยิด ซึ่งเป็นการละหมาดที่ปฏิบัติภายในเดือนรอมฎอนเท่านั้น เรียกว่า “ละหมาดตะรอเวียะห์”
- การละหมาด เป็นการแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ ซึ่งเป็นที่ศรัทธาของชาวมุสลิม ทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยถือว่าเป็นการเข้าเฝ้าผู้ทรงสร้างที่ยิ่งใหญ่ การแต่งกายต้องสะอาด เรียบร้อย มีความสำรวม พระองค์กำหนดเวลาละหมาดไว้วันละ 5 เวลา
- การทำฮัจญ์ อัลลอฮ์ทรงบังคับให้มุสลิมที่มีความสามารถด้านกำลังกาย กำลังทรัพย์ ต้องไปทำฮัจญ์ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีขึ้นปีละครั้ง ชาวมุสลิมทั่วโลกจะเดินทางมารวมกัน เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร มีฐานะทางสังคมอย่างไร ต้องมาอยู่ที่เดียวกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ทุกคนมีฐานะเป็นบ่าวของอัลลอฮ์อย่างเท่าเทียมกัน ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม
- การเข้าสุนัต เป็นพิธีกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวมุสลิม ถือกันว่ามุสลิมที่แท้จริงควรเข้าสุนัต ถ้าไม่ทำถือว่าเป็นมุสลิมที่ไม่สมบูรณ์ ไม่บริสุทธิ์ การเข้าสุนัต คือการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศของผู้ชายออก เพื่อสะดวกในการรักษาความสะอาด การเข้าสุนัตจะนิยมขลิบในช่วงเดือนเมษายนเนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคการเรียนการสอนของเด็กในพื้นที่ กิจกรรมจะมีการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศ และมีการเตรียมอาหารเป็นข้าวเหนียวสีต่าง ๆ บางพื้นที่จะมีการขลิบเป็นหมู่คณะ โดยมีเด็กในชุมชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
- ประเพณีการกวนอาซูรอ เป็นการรำลึกถึงความยากลำบากของศาสดา นบีนูฮ โดยเชื่อว่าในสมัยของท่านมีเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ น้ำท่วมโลกเป็นระยะเวลานาน ศาสดานบีนูฮ ซึ่งล่องลอยเรืออยู่เป็นเวลานาน ทำให้อาหารที่เตรียมไว้ร่อยหรอลง จึงได้นำส่วนที่พอจะมีเหลือเอามารวมกันแล้วกวนกิน จึงกลายเป็นตำนานที่มาของขนมอาซูรอ
คำว่า "อาซูรอ" คือคำในภาษาอาหรับ แปลว่า การผสม ในที่นี้หมายถึงการนำของที่รับประทานได้ทั้งของคาวและของหวานจำนวน 10 อย่าง มากวนรวมกัน ประเพณีจะจัดในวันที่ 10 ของเดือนมูฮัรรอม ซึ่งเป็นเดือนแรกของฮิจเราะห์ศักราชตามปฏิทินอิสลาม เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาปีใหม่ของมุสลิม ลักษณะกิจกรรมจะมีการรวมตัวของชาวบ้านโดยที่ชาวบ้านจะนำวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเผือก มัน ฟักทอง กล้วย ข้าวสาร ถั่ว เครื่องปรุง ข่าตะไคร้ หอมกระเทียม เมล็ดผักชี ยี่หร่า เกลือ น้ำตาล กะทิ โดยวัตถุดิบทั้งหมดจะถูกกวนในกระทะเหล็กใช้เวลาเกือบ 6-7 ชั่วโมง โดยต้องกวนตลอด จนกระทั่งสุกแห้ง เมื่อเสร็จเรียบร้อยมีการแจกจ่ายแบ่งปันให้แก่ชาวบ้าน ภาพที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความสัมพันธ์และสามัคคีของคนในชุมชน
- ประเพณีการกินนาซิบารู คำว่า "นาซิบารู" หมายถึง ข้าวสารใหม่ที่ได้ผ่านกรรมวิธีจากการลงแขกเก็บเกี่ยวข้าวในช่วงฤดูทำนา เมื่อเสร็จการทำนา ข้าวเปลือกที่ได้จะนำไปโรงสีข้าวเพื่อเปลี่ยนมาเป็นข้าวสาร หลังจากนั้นชาวบ้านจะเชิญผู้รู้ทางศาสนาและคนในชุมชนมาร่วมรับประทานอาหารที่บ้านเพื่อเป็นการขอบคุณพระผู้เป็นเจ้าที่ได้ทำนาสำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี
1. นางสาวอาอีเสาะ เด็งสาแม มีความชำนาญด้านการเกษตรยุคใหม่ ใส่ใจสุขภาพ มีการทำแปลผักไฮโดรโปรนิค แปลงผักลอย ผักริมรั้ว เกิดจากแนวคิดว่าเวลานั้นเป็นช่วงหน้าฝน ซึ่งกินเวลายาวนานประมาณหกเดือน พื้นดินมีลักษณะน้ำขังทำให้ไม่สามารถปลูกผักได้ จึงริเริ่มการปลูกผักแบบลอยน้ำซึ่งได้รับผลผลิตเป็นจำนวนมากจนสามารถขายต่อได้
อาหาร กลุ่มแม่บ้านกาลูปัง ได้มีการจัดตั้งกลุ่มไอศกรีมโบราณทำมือ ที่ตั้งอยู่ในตึกแถวเก่าเล็ก ๆ ส่งต่อความหอมหวานของไอติมกะทิจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งเกิดจากแนวคิดที่คนนอกหมู่บ้านนำมาจำหน่ายในพื้นที่ จนมีความคิดริเริ่มคิดสูตรให้เข้ากับปัจจุบันมากยิ่งขึ้น เริ่มแรกยังขายไม่ค่อยได้เนื่องจากยังมีพ่อค้า แม่ค้า ภายนอกยังเข้ามาจำหน่ายในพื้นที่ คนในพื้นที่เลยจัดพ่วงข้างขายตามซอยเล็ก ๆ ในหมู่บ้านเสมอ จนมีรายได้พอที่จะแบ่งกันในกลุ่ม จะมีการทำทุก ๆ เย็นแบบวันเว้นวัน เนื่องจากบ้างคนเหนื่อยล้าจากงานประจำ และยังต้องดูแลคนในครอบครัวจึงคิดทำช่วงเย็นของวัน จันทร์ พุธ ศุกร์ อาทิตย์ และตอนนี้ที่ยังขาดคืออุปกรณ์การเก็บความเย็น ในการพ่วงข้างเข้าไปขายหมู่บ้านต้องใช้ถังที่เก็บความเย็นเป็นอย่างดี เพื่อจะได้ต่อยอดต่อไป ในปัจจุบันการขายไอศกรีมในชุมชน ทำให้กลุ่มแม่บ้านมีรายได้เสริมสัปดาห์ละ 500 บาท เพียงพอต่อการจุนเจื้อในครอบครัวได้บ้าง
ภาษาที่ใช้พูด : ภาษามลายูท้องถิ่น
ภาษาที่ใช้เขียน : ภาษาไทยกลาง
สถานการณ์การใช้ภาษาของผู้คนในชุมชนส่วนมากใช้ภาษามลายูท้องถิ่นและบางส่วนใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร
ประชาชนส่วนใหญ่ปลูกพืชผักกินเองเพื่อลดรายจ่าย พืชผลทางการเกษตรผลผลิตมีจำนวนมากแต่ยังขาดตลาดรองรับในการรับซื้อผลผลิตทางเกษตรก่อให้เกิดภาระหนี้ ประกอบกับประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีงานทำ ก่อให้เกิดการว่างงานในพื้นที่
ประชาชนและเยาวชนบางกลุ่มติดยาเสพติด สาเหตุมาจากปัญหาทางครอบครัวเนื่องจากประชากรในพื้นที่ส่วนใหญ่ออกไปอาชีพในประทศเพื่อนบ้านเป็นระยะเวลานานจึงจะกลับมา ทำให้บุตรหลานขาดการดูแลเอาใจใส่จากผู้ปกครอง ขาดความรักและความอบอุ่น
ถนนในหมู่บ้านไม่ได้มาตรฐานเป็นอุปสรรคในการเดินทางบางสาย ขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค (น้ำสีแดง) พื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม มีปัญหาน้ำท่วมขัง เยาวชนในพื้นที่ออกไปทำงานนอกบ้าน มีปัญหาในการสื่อสาร
มีสภาพแวดล้อมแบบชนบท ยังไม่มีผลกระทบจากมลพิษต่าง ๆ แต่ยังขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อยตามบริเวณบ้าน มีแหล่งน้ำธรรมชาติ คือ บ่อน้ำตื้นที่ขุดขึ้นใช้เองในครัวเรือน
ในชุมชนบ้านกาลูปังมีจุดเด่นทางวัฒนธรรมการขี่ช้าง ในทุก ๆ ปีจะมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมงานมหกรรมต่าง ๆ โดยจัดให้นักท่องเที่ยวผู้เข้าร่วมมีส่วนร่วมในกิจกรรม
ซูไฮบ๊ะ เด็งระกีนา. (17 กุมภาพันธ์ 2566). ข้อมูลชุมชนบ้านกาลูปัง. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)
อาแอเสาะ เด็งสาแม และยามีละห์ สาแม. (17 กุมภาพันธ์ 2566). ภูมิปัญญา, ปราชญ์ชุมชน. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)
ซารีฮะ กามินิ และแวกัสมา สาแม. (17 กุมภาพันธ์ 2566). สภาพแวดล้อม, ประชากร. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)