มัดย้อมสีธรรมชาติ
บ้านตะโล๊ะ เดิมเขตนี้มีลักษณะภูมิประเทศเป็นป่าดงดิบชื้น มีลำธารหลายสาย มีต้นน้ำจากภูเขาสูง จึงเป็นที่มาของคำว่า “ตะโละ” ที่มีความหมายว่า พื้นที่ที่อยู่ลึกเข้าไป
มัดย้อมสีธรรมชาติ
บ้านตะโละ เดิมเขตนี้มีลักษณะภูมิประเทศเป็นป่าดงดิบชื้น มีลำธารหลายสาย มีต้นน้ำจากภูเขาสูงที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน มีต้นน้ำไหลผ่าน มีสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่อย่างชุกชุมเป็นพื้นที่ที่อยู่ลึกเข้าไปข้างในและเป็นพื้นที่ลุ่มเชิงเขาด้วยลักษณะดังกล่าวจึงเป็นที่มาของคำว่า “ตะโละ” บ้านตะโละ หมู่ที่ 3 ต.ยะต๊ะ จ.ยะลา ในปัจจุบันมีพื้นที่แยกออกเป็น 3 คุ้มบ้าน ดังนี้
คุ้มที่ 1 บ้านตะโละ ต่อมามีราษฎรกลุ่มแรกที่เข้ามาอาศัยเป็นกลุ่มโดยหนีร้อนมาพึ่งเย็น มาจากหมู่บ้าน คอลอ กาปัส นำโดยสามพี่น้อง ประกอบด้วย แชเซะ แชมือซะ แชบูละ โดยมาตั้งบ้านเรือนอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้านตะโละในปัจจุบัน มีชื่อว่า บ้านตะโละปาโจ มีความหมายว่า หมู่บ้าน ที่อยู่ลึกเข้าไปและมีน้ำตกไหลผ่าน บุคคลทั้งสาม คือ ต้นตระกูล สะกะแย เป็นคนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในปัจจุบัน แต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า บุคคลทั้งสามเข้ามาเมื่อปี พ.ศ. ใด และได้คาดการณ์ว่าราว 150 ปี ก่อนหน้านี้ และมีบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งเข้ามาอยู่อาสัยในบริเวณใกล้เคียง ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของบ้านตะโละปาโจ บุคคลดังกล่าว ประกอบด้วย แชเปาะแมะนะ แชเปาะเยาะ ทั้งสองเป็นต้นตระกูล อิหะโละ และตระกูล อุชมิ ตามลำดับ และได้ตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า ตะโละงอเบาะ เนื่องจากบริเวณนี้มีนกชนิดหนึ่งชุกชุมมาก ซึ่งนกชนิดนี้มีชื่อภาษามลายูว่า งอเบาะ
คุ้มที่ 2 บ้านกะดือแป กะดือแป เป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งที่มีลักษณะของต้นใหญ่ มีผลเหมือนลูกมะม่วง มีรสเปรี้ยว ซึ่งในปัจจุบันไม่มีแล้ว
คุ้มที่ 3 บ้านตะโละยามิง เป็นการเรียกชื่อตามบุคคลอื่นที่ย้ายเข้ามาในพื้นที่ตะโล๊ะ ที่จะมาตั้งรกรากในพื้นที่นี้ ดังนั้นบุคคลอื่นที่ย้ายเข้ามาในพื้นที่ต้องให้คนพื้นที่ที่อยู่ก่อนรับรองจึงจะเข้าอยู่ได้ คำว่า ยามิง หมายถึง รับรอง
บ้านตะโละ หมู่ที่ 3 ตั้งอยู่ในตำบลยะต๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ห่างจากอำเภอรามัน ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ 13 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดยะลา ไปทางทิศเหนือ 22 กิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลกายูบอเกาะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 2 บ้านตูกู ตำบลยะต๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 4 บ้านอูแบ ตำบลยะต๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลบือมัง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม โดยเฉลี่ยเป็นที่ราบค่อนข้างสูงและภูเขาสลับซับซ้อน เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกยางพารา ไม้ผล และไม้ยืนต้น ตั้งอยู่ในเขตมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้มีสภาพอากาศแบบร้อนชื้น ระหว่างเดือนตุลาคม – ธันวาคม มีฝนตกชุกที่สุด
จากข้อมูลที่สำรวจโดยการเก็บข้อมูล จปฐ. ของบัณฑิตอาสา ระบุจำนวนครัวเรือนมีทั้งหมด 405 ครัวเรือน (ข้อมูลปี 2565) จำนวนประชากร 1,824 คน (ข้อมูลปี 2565) ชาย 916 คน หญิง 908 คน ทั้งหมดเป็นอิสลาม คนในชุมชนส่วนอยู่กับแบบครอบครัว ในละแวกใกล้เคียง มีความหลากหลายในช่วงวัย คนในสังคมมีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้คนในสังคมมีความเอื้อเฟื่อเผื่อแผ่ระหว่างกัน
มลายูอาชีพหลัก มีการประกอบอาชีพหลากหลาย ประกอบด้วย การทำนา ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ทำสวนยางพารา ปลูกไม้ผล เช่น เงาะ ทุเรียน ลองกอง มังคุด
อาชีพเสริม การเลี้ยงโค เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา แปรรูปสมุนไพร และเย็บผ้า
การซื้อขายแลกเปลี่ยนภายในชุมชน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น อาหาร เครื่องปรุง เนื้อสัตว์ ผักสด ของใช้ในครัวเรือน ผ่านร้านขายชำในชุมชน โดยมีร้านค้าภายในชุมชนจำนวน 6 ร้าน โดยนำสินค้าจากในพื้นที่และภายนอกมาจำหน่าย
การซื้อขายแลกเปลี่ยนกับคนภายนอก ส่วนใหญ่เป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้จากการทำเกษตรกรรม เช่น ทุเรียน ลองกอง มังคุด หรือ ซื้อสินค้าจากรถกับข้าว (รถพุ่มพวง) ที่เข้ามาในชุมชนหรือตลาดนัดภายในชุมชนในช่วงเย็นและพื้นที่ตลาดนัดรอบนอก
การออกไปทำงานนอกชุมชน การออกไปทำงานนอกชุมชน คิดเป็น 20% ของคนในชุมชน และที่ออกไปทำงานต่างประเทศมีอยู่ 4% ออกไปรับจ้างทำงานด้านอุตสาหกรรม พนักงานบริษัททั่วไป พนักงานราชการ รับจ้างทั่วไป แต่ยังกลับมาอาศัยอยู่ในพื้นที่
ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกชุมชน สมาชิกชุมชนส่วนใหญ่อยู่กันเป็นกลุ่มตามโซน เป็นชุมชนที่มีพื้นที่ว่างจากการปลูกสร้างที่พักอาศัยน้อยมาก หรือละะแวกใกล้เคียงกับที่อยู่อาศัย ทำให้คนในชุมชนสามารถเข้าได้ทุกกลุ่ม โดยส่วนใหญ่จะเป็นเครือญาติที่ตามมาอยู่ในชุมชน มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันในพื้นที่ตามโซนที่ตนเองอยู่
โครงสร้างอำนาจภายในชุมชน ตามโครงสร้างการปกครอง มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ทำงานร่วมกับหน่วยงานปกครองท้องถิ่น ส่วนภายในชุมชนในการทำโครงการต่าง ๆ จากภายนอกและงานขับเคลื่อนชุมชน มีนายมอหมัดตอฮา ไสสากา เป็นแกนนำชุมชน
การรวมกลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นการรวมกลุ่มกันตามครอบครัวและกลุ่มที่สนิทกันหรือมีช่วงวัยเดียวกัน เช่น กลุ่มแกนนำชุมชนที่ทำงานชุมชนด้านต่าง ๆ กลุ่มเด็กและเยาวชน รวมตัวกันเพื่อจัดกิจกรรมทางศาสนา และทำกิจกรรมร่วมกันในชุมชน ส่วนกลุ่มที่ไม่เป็นทางการส่วนมาก มีความคล้ายคลึงกับทุกพื้นที่ในละแวกเดียวกัน
วัฒนธรรม ประเพณี ชาวบ้านตะโละ นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 100 มีการประกอบศาสนกิจรวมกันทุกคืน ทำให้เกิดผลดีในด้านการปฎิบัติศาสนกิจแล้วยังเกิดผลดี คือการสร้างความสามัคคีและการแลกเปลี่ยนทัศนคติ ข่าวสาร กิจกรรมวันสำคัญทางศาสนา มีดังนี้
- เมาลิดินนบี เป็นวันคล้ายวันประสูติของศาสดามูฮัมหมัด (ซล.) ศาสดาแห่งมนุษยชาติ ผู้ศรัทธาในศาสนาอิสลาม จะมีการรำลึกถึงคุณงามความดี หรือประวัติของท่านในอดีตกาล ในบรรยากาศแห่งความรัก และรำลึกถึงท่านอย่างแท้จริง ซึ่งจะจัดในเดือน เราะบีอุลเอาวัล ซึ่งเป็นเดือนที่ 3 ในปฏิทินอิสลาม
- วันตรุษอิดิลฟิตรี หรือที่นิยมเรียกว่า “วันรายอปอซอ” เพราะหลังจากที่มุสลิมได้ถือศีลอดมาตลอดในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่ 9 ของศาสนาอิสลาม ก็จะถึงวันออกบวช ตอนเช้าจะมีการละหมาดร่วมกัน ทุกคนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาด สวยงาม และมีการจ่าย “ซะกาตฟิตเราะฮ์”
- วันตรุษอิดิลอัฏฮา หรือวันรายอฮัจยี เนื่องจากมุสลิมทั่วโลกเริ่มประกอบพีธีฮัจญ์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย จะมีการทำกุรบาน หรือการเชือดสัตว์เพื่อเป็นอาหารแก่เพื่อนบ้านและคนยากจน เพื่อขัดเกลาจิตใจให้เป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม
- การถือศีลอด เป็นหลักปฎิบัติที่มุสลิมจำเป็นต้องถือศีลอด ในเดือนรอมฎอน ตลอดระยะเวลา 1 เดือน มุสลิมที่มีอายุเข้าเกณฑ์ศาสนบัญญัติจะต้องงด การกิน ดื่ม การร่วมประเวณีตลอดจนทุกอย่าง ที่เป็นสิ่งต้องห้าม ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนกระทั่งตกดิน ทุกคนต้องสำรวมกายวาจาใจ เพราะเดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่มีประเสริฐยิ่งของศาสนาอิสลาม ซึ่งในเดือนนี้ ชาวมุสลิมจะไปละหมาดที่มัสยิด ซึ่งเป็นการละหมาดที่ปฏิบัติภายในเดือนรอมฎอนเท่านั้น เรียกว่า “ละหมาดตะรอเวียะห์”
- การละหมาด เป็นการแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ ซึ่งเป็นที่ศรัทธาของชาวมุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยถือว่าเป็นการเข้าเฝ้าผู้ทรงสร้างที่ยิ่งใหญ่ การแต่งกายต้องสะอาด เรียบร้อย มีความสำรวม พระองค์กำหนดเวลาละหมาดไว้วันละ 5 เวลา
- การทำฮัจญ์ อัลลอฮห์ทรงบังคับ ให้มุสลิมที่มีความสามารถด้านกำลังกาย กำลังทรัพย์ ต้องไปทำฮัจญ์ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีขึ้นปีละครั้งชาวมุสลิมทั่วโลกจะเดินทางมารวมกัน เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮห์ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร มีฐานะทางสังคมอย่างไรต้องมาอยู่ที่เดียวกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ทุกคนมีฐานะเป็นบ่าวของอัลลอฮ์อย่างเท่าเทียมกัน ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม
- การเข้าสุนัต เป็นพิธีกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวมุสลิม ถือกันว่ามุสลิมที่แท้จริงควรเข้าสุนัต ถ้าไม่ทำถือว่าเป็นมุสลิมที่ไม่สมบูรณ์ ไม่บริสุทธิ์ การเข้าสุนัต คือการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศของผู้ชายออก เพื่อสะดวกในการรักษาความสะอาด การเข้าสุนัตจะนิยมขลิบในช่วงเดือนเมษายนเนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคการเรียนการสอนของเด็กในพื้นที่ กิจกรรมจะมีการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศ และมีการเตรียมอาหารเป็นข้าวเหนียวสีต่าง ๆ บางพื้นที่จะมีการขลิบเป็นหมู่คณะ โดยมีเด็กในชุมชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
- ประเพณีการกวนอาซูรอ เป็นการรำลึกถึงความยากลำบากของศาสดา นบีนูฮ โดยเชื่อว่าในสมัยของท่านมีเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ น้ำท่วมโลกเป็นระยะเวลานาน ศาสดานบีนูฮ ซึ่งล่องลอยเรืออยู่เป็นเวลานาน ทำให้อาหารที่เตรียมไว้น้อยลง จึงได้นำส่วนที่พอจะมีเหลือเอามารวมกันแล้วกวนกิน จึงกลายเป็นตำนานที่มาของขนมอาซูรอ
คำว่า "อาซูรอ" คือคำในภาษาอาหรับ แปลว่า การผสม ในที่นี้หมายถึงการนำของที่รับประทานได้ทั้งของคาวและของหวานจำนวน 10 อย่าง มากวนรวมกัน ประเพณีจะจัดในวันที่ 10 ของเดือนมูฮัรรอม ซึ่งเป็นเดือนแรกของฮิจเราะห์ศักราชตามปฏิทินอิสลาม เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาปีใหม่ของมุสลิม ลักษณะกิจกรรมจะมีการรวมตัวของชาวบ้านโดยที่ชาวบ้านจะนำวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเผือก มัน ฟักทอง กล้วย ข้าวสาร ถั่ว เครื่องปรุง ข่าตะไคร้ หอมกระเทียม เมล็ดผักชี ยี่หร่า เกลือ น้ำตาล กะทิ โดยวัตถุดิบทั้งหมดจะถูกกวนในกระทะเหล็กใช้เวลาเกือบ 6-7 ชั่วโมง โดยต้องกวนตลอด จนกระทั่งสุกแห้ง เมื่อเสร็จเรียบร้อยมีการแจกจ่ายแบ่งปันให้แก่ชาวบ้าน ภาพที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความสัมพันธ์และสามัคคีของคนในชุมชน
- ประเพณีการกินนาซิบารู คำว่า "นาซิบารู" หมายถึง ข้าวสารใหม่ที่ได้ผ่านกรรมวิธีจากการลงแขกเก็บเกี่ยวข้าวในช่วงฤดูทำนา เมื่อเสร็จการทำนา ข้าวเปลือกที่ได้จะนำไปโรงสีข้าวเพื่อเปลี่ยนมาเป็นข้าวสาร หลังจากนั้นชาวบ้านจะเชิญผู้รู้ทางศาสนาและคนในชุมชนมาร่วมรับประทานอาหารที่บ้านเพื่อเป็นการขอบคุณพระผู้เป็นเจ้าที่ได้ทำนาสำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี
1. นางสารีเพาะ เด็งสาแม มีความชำนาญ การนำสมุนไพรธรรมชาติมาสังเคราะห์เป็นสีธรรมชาติโดยได้รับการอบรมจากวิทยาลัยชุมชนยะลา
ผลิตภัณฑ์ กลุ่มแม่บ้านตำบลยะต๊ะ รวมกลุ่มย้อมผ้าสีสมุนไพรจากวัตถุดิบในพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างรายได้หลังกรีดยาง ซึ่งเป็นที่ตั้งกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรย้อมผ้าสีสมุนไพร โดยมี นางสารีเพาะ เด็งสาแม ประธานกลุ่มฯ และสมาชิกอีก 20 คน ร่วมกันดำเนินการ โดยการนำพืชสมุนไพรที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ใบมังคุด ใบลองกอง ใบกระท้อน เปลือกหมาก เปลือกขนุน และขมิ้น มาทำกิจกรรมย้อมสีผ้า จนสามารถผลิตผ้าย้อมสีสมุนไพรจากธรรมชาติ ทั้งนี้ยังได้มีการตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น เสื้อ, กางเกง, กระโปรง, ผ้าคลุมผมสตรี, ผ้ากันเปื้อน, หมวก, รองเท้าสำหรับใส่ในบ้าน, กระเป๋าใส่เหรียญ และกระเป๋าใส่เครื่องสำอาง เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ และต่อยอดในการสร้างตลาดการส่งจำหน่าย จนสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพให้สมาชิกในชุมชนให้มีรายได้อย่างสม่ำเสมอ
ทั้งนี้ สมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรย้อมผ้าสีสมุนไพร ได้ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินงาน โดยการลดรายจ่ายจากการเลือกใช้วัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น และเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่ม ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของกลุ่มฯ สามารถจำหน่ายได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ทำการตัดเย็บเป็นกระเป๋าใส่เหรียญ จะอยู่ในราคา 19 - 40 บาท, กระเป๋าใส่เครื่องสำอาง จะอยู่ในราคา 30 - 80 บาท, ผ้ากันเปื้อน หมวก ราคาอยู่ชุดละ 100 บาท, รองเท้าสำหรับใส่ในบ้าน ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 49 - 120 บาท ส่วนเสื้อ กางเกง กระโปรง และผ้าคลุมผมสตรี ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 100 บาท เป็นต้นไปแล้วแต่เนื้อผ้าและขนาด ผู้ที่สนใจสั่งซื้อสามารถจะติดต่อสอบถามได้ที่ นางสารีเพาะ เด็งสาแม
ภาษาที่ใช้พูด : ภาษามลายูท้องถิ่น
ภาษาที่ใช้เขียน : ภาษาไทยกลาง
สถานการณ์การใช้ภาษาของผู้คนในชุมชน ส่วนมากใช้ภาษามลายูท้องถิ่นและบางส่วนใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร
ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองมากขึ้น ระบบการตรวจสอบการทำงานของข้าราชการและนักการเมืองจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประชาชนเข้าใจสิทธิเสรีภาพ รู้จักใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเองและส่วนรวมมากขึ้น
ประชากรบ้านตะโละ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ ได้แก่ ทำสวนยางพารา การทำนา สวนผลไม้เป็นสวนผสม เช่น ทุเรียน ลองกอง เงาะ มังคุด การปลูกพืชผักในครัวเรือน เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ พริกขี้หนู แตงกวา ถั่วผักยาว กะลำปลี สะตอ การเลี้ยงสัตว์พื้นบ้าน เช่น วัว แพะ เป็ด และไก่ การค้าขาย เช่น ของชำ ข้าวยำ น้ำชา ซื้อขี้ยาง รายได้เฉลี่ย 35,000 บาท/คน/ปี ผลผลิตที่จำหน่ายสู่ตลาดภายในชุมชนได้แก่ ผลไม้ ข้าวเปลือก และยางพารา ผลผลิตแปรรูปการทำหมากแห้ง สะตอดอง ประชาชนมีไฟฟ้าใช้ทุกครัวเรือนและมีเส้นทางการคมนาคมขนส่งที่สะดวกสบาย มีน้ำประปาใช้ทุกครัวเรือน
เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยน้อย ขาดแคลนที่ทำกินเป็นของตนเอง เกษตรกรรายย่อยที่มีที่ทำกินจะหันมาพัฒนาด้านการเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่ได้รับพระราชทานแนวพระราชดำริจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีความเป็นไปได้น้อย เพราะปัจจัยด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมจะได้รับการฟื้นฟู
สมาชิกในสังคมไทยมีค่านิยมในการพึ่งตนเองมากขึ้น พัฒนาตนเองสู่อาชีพธุรกิจขนาดย่อมแทนการเข้ารับราชการหรือเป็นลูกจ้าง มีการใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีในทุกวงการ เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือคอมพิวเตอร์จะมีบทบาทในการประกอบธุรกิจมากขึ้น มีการพัฒนาช่างฝีมือและส่งเสริมรายได้จากการผลิตที่ใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมแรงงานท้องถิ่นมากขึ้นโดยเน้นเศรษฐกิจชุมชน ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น
แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านสังคม มีการเปลี่ยนแปลงค่านิยมเรื่องของสิทธิสตรีมากขึ้น สตรีจะมีบทบาทในสังคมไทยมากขึ้น ครอบครัวมีขนาดเล็กลง ความสัมพันธ์ในครอบครัวระบบเครือญาติลดลง หน้าที่การอบรมเลี้ยงดูบุตรหรือการขัดเกลาทางสังคมลดลง สถาบันการศึกษามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางการผลิตบุคคลเข้าสู่อาชีพและตลาดแรงงานที่ขาดแคลนมากขึ้น รัฐบาลมุ่งเน้นการสร้างครอบครัวให้เข้มแข็ง ชุมชนและสังคมได้รับการพัฒนาแบบยั่งยืน
ในชุมชนบ้านตะโล๊ะมีจุดเด่นการทำนาปี
สารีเพาะ เด็งสาแม. (12 กุมภาพันธ์ 2566). ข้อมูลชุมชนบ้านยะต๊ะ. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)
สารีพะ เด็งสาแม และอามีเนาะ สาแม. (12 กุมภาพันธ์ 2566). ภูมิปัญญา, ปราชญ์ชุมชน. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)
มอหมัดตอฮา ไสสากา และซูไบดา สาแม. (12 กุมภาพันธ์ 2566). สภาพแวดล้อม, ประชากร. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)
ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า. ออนไลน์. สืบค้นเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566. เข้าถึงได้จาก https://web.facebook.com/