Advance search

บ้านบาลูกา

บลูกา

ธรรมชาติสวยงามตา พัฒนาคุณภาพชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง

หมู่ที่ 3
บ้านบาลูกา
กาลูปัง
รามัน
ยะลา
อับดุลเลาะ รือสะ
2 มี.ค. 2023
นิรัชรา ลิลละฮ์กุล
26 มี.ค. 2023
อับดุลเลาะ รือสะ
28 เม.ย. 2023
บ้านบาลูกา
บลูกา

“บาลูกา” เป็นชื่อป่าในภาษามาลายูท้องถิ่น คำว่า "บาลูกา" ชาวมาลายูเรียกว่า "บลูกา" ซึ่งพื้นที่ของบาลูกานี้จะเป็นป่าลักษณะที่มีต้นไม้ขนาดเล็กเกิดเป็นจำนวนมาก


ชุมชนชนบท

ธรรมชาติสวยงามตา พัฒนาคุณภาพชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง

บ้านบาลูกา
หมู่ที่ 3
กาลูปัง
รามัน
ยะลา
95140
อบต.กาลูปัง โทร. 0-7329-2913
6.4646117
101.3805445
องค์การบริหารส่วนตำบลกาลูปัง

“บาลูกา” เป็นชื่อป่า ในภาษามาลายูท้องถิ่น คำว่า "บาลูกา" ชาวมาลายูเรียกว่า "บลูกา" ซึ่งพื้นที่ของบาลูกานี้จะเป็นป่าลักษณะที่มีต้นไม้ขนาดเล็กเกิดเป็นจำนวนมาก จะเป็นพื้นที่ชาวบ้านมักจะมาจับจองเป็นพื้นที่ทำมาหากินเป็นสัดเป็นส่วน แต่เมื่อมีการสร้างที่อยู่อาศัยจึงเกิดเป็นหมู่บ้าน ชื่อของหมู่บ้านก็จะเรียกตามสถานที่ ๆ มาก่อน นั้นคือบ้านบาลูกา ตามภาษามาลายูท้องถิ่นนั้นเอง เป็นที่รู้จักกันว่า “บ้านบาลูกา” ก็จะรู้ว่าอยู่ที่ไหน ตำบลไหน และหมู่บ้านบาลูกาจะเป็นสองส่วนคือ บาลูกาฮีเลจะเป็นหมู่บ้านที่เข้ามาทางตำบลกอตอตือร๊ะ และบาลูกาฮูลูเป็นหมู่บ้านที่อยู่ติดกับถนนใหญ่ จากลักษณะภูมิประเทศที่เป็นป่า มีลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่ารกทึบเป็นจำนวนมากและเป็นป่าเขาที่มีลำธารแม่น้ำไหลผ่านทุกปี เนื่องจากเป็นที่ราบลุ่มบางส่วนเมื่อฝนตกหนักหนัก เกิดปัญหาน้ำท่วมดินทลายน้ำไหลผ่านพื้นบางส่วนของชาวบ้าน การตั้งถิ่นฐานส่วนใหญ่มนุษย์จะเลือกอยู่ใกล้แหล่งน้ำ และพื้นดินอุดมสมบูรณ์เป็นหลักในการตั้งบ้านเรือนถิ่นฐาน เพื่ออยู่อาศัยมาแต่ดั้งเดิมการตั้งถิ่นฐานเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในการดำรงชีวิตของมนุษย์ มนุษย์แต่ดึกดำบรรพ์จะเลือกถิ่นฐานที่อยู่อาศัย โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเป็นหลักสำคัญ โดยการเลือกถิ่นใกล้แหล่งพื้นดินที่อุดมสมบูรณ์ อันหมายถึงการเลือกแหล่งเพาะปลูกพืชพันธ์ธัญญาหารเพื่อการยังชีพ เลือกแหล่งน้ำเพราะน้ำเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิต นอกจากนี้แล้วยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด

นอกจากนำมาใช้เป็นอาหารแล้ว ยังนำไปแลกเปลี่ยนซื้อขายสิ่งอื่นมาเพื่อความอยู่รอดของชีวิต โดยการประกอบอาชีพจับสัตว์น้ำอีกด้วย การเลือกตั้งถิ่นฐานจึงสำคัญมากในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่อดีต และสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การที่มนุษย์เพิ่มขึ้นในถิ่นนั้น ๆ ทำให้เกิดการแข่งขันกันในเรื่องการดำรงชีวิต เป็นสาเหตุของการอพยพย้ายถิ่นและการกระจายหมู่บ้านเพื่อหาแหล่งทำมาหากิน หรือเป็นการขยายหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านขยาย เป็นต้น 

บ้านบาลูกาตั้งอยู่ในเขตปกครองของอำเภอรามัน ตั้งอยู่ทางทางทิศเหนือของตำบลกอตอตือร๊ะ ของอำเภอรามัน ห่างจากจังหวัดยะลาประมาณ 23 กิโลเมตร และห่างจากตัวอำเภอรามัน ประมาณ 7 กิโลเมตร

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านกาดือแป ตำบลกอตอตือร๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บัานบือแนบารู ตำบลกาลูปัง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
  • ทิศตะวันออก ติตต่อกับ บ้านพงจือนือเร๊ะ ตำนลกายูบอเกาะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านกาลูปังและเลสุ ตำบลกาลูปัง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา

สภาพทางกายภาพ

หมู่ที่ 3 บ้านบาลูกา ตำบลกาลูปัง เป็นพื้นที่ราบเหมาะแก่การทำเกษตรกรรม ได้แก่ ทำสวนยางพารา ทำนา และเป็นพื้นที่ตอนมีภูเขาเตี้ย ๆ ทางด้านทิศตะวันออก ลักษณะภูมิอากาศของบ้านบาลูกาเป็นแบบร้อนชื้น เนื่องจากใด้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ มี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อนและฤดูฝน โดยฤดูร้อนจะเริ่มตั้งแต่กุมภาพันธ์ถึงเดือนสิงหาคม และฤดูฝนตั้งแต่กันยายนถึงเดือนมกราคม มีฝนตกตลอดช่วงฤดูและมีฝนตกชุกมากที่สุด ในระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม 

จำนวนประชากร ที่อาศัยอยู่ในครัวเรือน จากการสำรวจข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ระดับหมู่บ้านประจำปี 2565 มีครัวเรือนทั้งหมด 116 ครัวเรือน มีจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่จริงในพื้นที่ทั้งหมด 501 คน โดยแบ่งเป็น เพศชาย 240 คนและเพศหญิง 261 คน นับถือศาสนาอิสลาม 100 % วิถีชีวิตอยู่กันแบบญาติพี่น้อง ใครเดือดร้อนก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่กันเสมือนเครือญาติมีการประกอบศาสนกิจร่วมกันเป็นกลุ่มทุกคืนไม่ว่าจะเป็นที่มัสยิดและสุเหร่าทำให้เกิดผลดี นอกจากในด้านศาสนาแล้วยังมีผลดีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นรับทราบข่าวสารและความเป็นอยู่ของชาวบ้าน

มลายู

อาชีพหลัก การทำสวนยาง การทำสวนผลไม้ผสมผสาน

อาชีพเสริม การเลี้ยงแพะ เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ เลี้ยงวัว เลี้ยงแพะ ทำขนมพื้นบ้าน 

การซื้อขายแลกเปลี่ยนภายในชุมชน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น อาหาร เครื่องปรุง เนื้อสัตว์ ผักสด ของใช้ในครัวเรือน ผ่านร้านขายของชำในชุมชน โดยมีร้านค้าภายในชุมชนจำนวน 3 ร้าน โดยนำสินค้าจากในพื้นที่และภายนอกมาจำหน่าย มีการนำสินค้าจากชาวบ้านมาจำหน่ายภายในร้านเป็นการหมุนเวียนรายได้ในชุมชน

การซื้อขายแลกเปลี่ยนกับคนภายนอก ส่วนใหญ่เป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้จากการทำเกษตรกรรม เช่น ทุเรียน ลองกอง มังคุด เงาะ หรือ ซื้อสินค้าจากรถกับข้าวและรถพ่วงข้าง ที่เข้ามาในชุมชนหรือตลาดนัดภายในชุมชนในช่วงเย็นและพื้นที่ตลาดนัดรอบนอก บ้านบาลูกามีตลาดทุกเย็นของทุกวันโดยมีบุคคลจากภายนอกและคนในชุมชนร่วมกันมาขายในตลาดนัดมีทั้ง สินค้าอุปโภค บริโภค 

การออกไปทำงานนอกชุมชน การออกไปทำงานนอกชุมชน คิดเป็น 26% ของคนในชุมชน และที่ออกไปทำงานต่างประเทศมีอยู่ 3% จาก 26% ที่ออกไปรับจ้างทำงานด้านอุตสาหกรรม พนักงานบริษัททั่วไปและบ้างส่วนรับราชการ แต่ยังกลับมาอาศัยอยู่ในพื้นที่ การออกไปทำงานตัวเมืองรามัน

ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกชุมชน สมาชิกชุมชนส่วนใหญ่อยู่กันเป็นกลุ่มตามโซน เป็นชุมชนที่มีพื้นว่างจากการปลูกสร้างที่พักอาศัยน้อยมาก หรือละแวกใกล้เคียงกับที่อยู่อาศัย ทำให้คนในชุมชนสามารถเข้าได้ทุกกลุ่ม โดยส่วนใหญ่จะเป็นเครือญาติที่ตามมาอยู่ในชุมชน

โครงสร้างอำนาจภายในชุมชน ตามโครงสร้างการปกครอง มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ทำงานร่วมกับหน่วยงานปกครองท้องถิ่น ส่วนภายในชุมชนในการทำโครงการต่าง ๆ จากภายนอกและงานขับเคลื่อนชุมชน โดยมีนายอับดุลอาซิ  ดาละเล็ง เป็นแกนนำชุมชน ในแต่ละโซนจากแบ่งออกเป็น 2 โซน บลูกาฮีเล บลูกาฮูลู โดยจะมีเจ้าหน้าที่ปกครองดูแลตามโซนไป

การรวมกลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นการรวมกลุ่มกันตามครอบครัวและกลุ่มที่สนิทกันหรือมีช่วงวัยเดียวกัน เช่น กลุ่มแกนนำชุมชนที่ทำงานชุมชนด้านต่าง ๆ  กลุ่มสตรี กลุ่มแกนนำสตรี กลุ่มเด็กและเยาวชน รวมตัวกันเพื่อจัดกิจกรรมทางศาสนา และทำกิจกรรมร่วมกันในชุมชน ส่วนกลุ่มที่ไม่เป็นทางการส่วนมาก 

ประเพณีและวัฒนธรรม ชาวบ้านบาลูกา นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 100 มีการประกอบศาสนกิจรวมกันทุกคืน ทำให้เกิดผลดีในด้านการปฎิบัติศาสนกิจแล้วยังเกิดผลดี คือการสร้างความสามัคคีและการแลกเปลี่ยนทัศนคติ ข่าวสาร กิจกรรมวันสำคัญทางศาสนา มีดังนี้

  • เมาลิดินนบี เป็นวันคล้ายวันประสูติของศาสดามูฮัมหมัด (ซล.) ศาสดาแห่งมนุษยชาติ ผู้ศรัทธาในศาสนาอิสลาม จะมีการรำลึกถึงคุณงามความดีหรือประวัติของท่านในอดีตกาล ในบรรยากาศแห่งความรัก และรำลึกถึงท่านอย่างแท้จริง ซึ่งจะจัดในเดือน เราะบีอุลเอาวัล ซึ่งเป็นเดือนที่ 3 ในปฏิทินอิสลาม

  • วันตรุษอิดิลฟิตรี หรือที่นิยมเรียกว่า “วันรายอปอซอ” เพราะหลังจากที่มุสลิมได้ถือศีลอดมาตลอดในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่ 9 ของศาสนาอิสลาม ก็จะถึงวันออกบวช ตอนเช้าจะมีการละหมาดร่วมกัน ทุกคนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาด สวยงาม และมีการจ่าย “ซะกาตฟิตเราะฮ์”

  • วันตรุษอิดิลอัฏฮา หรือวันรายอฮัจยี เนื่องจากมุสลิมทั่วโลกเริ่มประกอบพีธีฮัจญ์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย จะมีการทำกุรบานหรือการเชือดสัตว์เพื่อเป็นอาหารแก่เพื่อนบ้านและคนยากจน เพื่อขัดเกลาจิตใจให้เป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม

  • การถือศีลอด เป็นหลักปฎิบัติที่มุสลิมจำเป็นต้องถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ตลอดระยะเวลา 1 เดือน มุสลิมที่มีอายุเข้าเกณฑ์ศาสนบัญญัติจะต้องงด การกิน ดื่ม การร่วมประเวณีตลอดจนทุกอย่าง ที่เป็นสิ่งต้องห้าม ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนกระทั่งตกดิน ทุกคนต้องสำรวม กาย วาจา ใจ เพราะเดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่มีประเสริฐยิ่งของศาสนาอิสลาม ซึ่งในเดือนนี้ชาวมุสลิมจะไปละหมาดที่มัสยิด ซึ่งเป็นการละหมาดที่ปฏิบัติภายในเดือนรอมฎอนเท่านั้น เรียกว่า “ละหมาดตะรอเวียะห์”

  • การละหมาด เป็นการแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ ซึ่งเป็นที่ศรัทธาของชาวมุสลิม ทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยถือว่าเป็นการเข้าเฝ้าผู้ทรงสร้างที่ยิ่งใหญ่ การแต่งกายต้องสะอาด เรียบร้อย มีความสำรวม พระองค์กำหนดเวลาละหมาดไว้วันละ 5 เวลา

  • การทำฮัจญ์ อัลลอฮ์ทรงบังคับให้มุสลิมที่มีความสามารถด้านกำลังกาย กำลังทรัพย์ ต้องไปทำฮัจญ์ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีขึ้นปีละครั้งชาวมุสลิมทั่วโลกจะเดินทางมารวมกัน เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร มีฐานะทางสังคมอย่างไรต้องมาอยู่ที่เดียวกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ทุกคนมีฐานะเป็นบ่าวของอัลลอฮ์อย่างเท่าเทียมกัน ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม

  • การเข้าสุนัต เป็นพิธีกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวมุสลิม ถือกันว่ามุสลิมที่แท้จริงควรเข้าสุนัต ถ้าไม่ทำถือว่าเป็นมุสลิมที่ไม่สมบูรณ์ ไม่บริสุทธิ์ การเข้าสุนัต คือการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศของผู้ชายออก เพื่อสะดวกในการรักษาความสะอาด การเข้าสุนัตจะนิยมขลิบในช่วงเดือนเมษายนเนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคการเรียนการสอนของเด็กในพื้นที่ กิจกรรมจะมีการคลิปหนังหุ้มอวัยเพศ และมีการเตรียมอาหารเป็นข้าวเหนียวสีต่าง ๆ บ้างพื้นที่จะมีการขลิบเป็นหมู่คณะ โดยมีเด็กในชุมชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

  • ประเพณีการกวนอาซูรอ เป็นการรำลึกถึงความยากลำบากของศาสดา นบีนูฮ โดยเชื่อว่าในสมัยของท่านมีเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ น้ำท่วมโลกเป็นระยะเวลานาน ศาสดานบีนูฮ ซึ่งล่องลอยเรืออยู่เป็นเวลานาน ทำให้อาหารที่เตรียมใว้น้อยลง จึงได้นำส่วนที่พอจะมีเหลือเอามารวมกันแล้วกวนกิน จึงกลายเป็นตำนานที่มาของขนมอาซูรอ

คำว่า "อาซูรอ" คือคำในภาษาอาหรับ แปลว่า การผสม ในที่นี้หมายถึงการนำของที่รับประทานได้ทั้งของคาวและของหวานจำนวน 10 อย่าง มากวนรวมกัน ประเพณีจะจัดในวันที่ 10 ของเดือนมูฮัรรอม ซึ่งเป็นเดือนแรกของฮิจเราะห์ศักราชตามปฏิทินอิสลาม เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาปีใหม่ของมุสลิม ลักษณะกิจกรรมจะมีการรวมตัวของชาวบ้านโดยที่ชาวบ้านจะนำวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเผือก มัน ฟักทอง กล้วย ข้าวสาร ถั่ว เครื่องปรุง ข่าตะไคร้ หอมกระเทียม เมล็ดผักชี ยี่หร่า เกลือ น้ำตาล กะทิ โดยวัตถุดิบทั้งหมดจะถูกกวนในกระทะเหล็กใช้เวลาเกือบ 6-7 ชั่วโมง โดยต้องกวนตลอด จนกระทั่งสุกแห้ง เมื่อเสร็จเรียบร้อยมีการแจกจ่ายแบ่งปันให้แก่ชาวบ้าน ภาพที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความสัมพันธ์และสามัคคีของคนในชุมชน

1. นายกอเดร์ วอโตะแม  มีความชำนาญการเลี้ยงโคพื้นเมืองบ้านบาลูกาเกิดจากไอเดียที่ว่า หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวจะให้วัวมากินหญ้าในท้องนาโดยไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานคน 

อาหาร ขนมกอและห์ (กอแหละ, ขนมกวน) ขนมหวานพื้นบ้านของชาวไทยมุสลิม ใช้เวลาทำนานมาก ทำจากแป้งข้าวเจ้าแดงกวนกับน้ำตาลทรายและน้ำตาลแว่น นึ่งให้สุกแล้วพักไว้ เคี่ยวกะทิจนมีขี้มันเป็นสีแดงเข้ม จากนั้นก็ตักราดลงบนขนม โรยหน้าด้วยมะพร้าวคั่ว ในอดีตเป็นการทำกอและห์แบบทั่วไป ทำจากแป้งข้าวเจ้าแดงกวน และในปัจจุบันมีการกวนกอและห์มันสำปะหลัง กล้วย มีการนำไปวางขายตามรถพ่วง รถขายของสดเพื่อเป็นการเพิ่มการตลาดในแบบชาวบ้าน และยังมีการทำขายในทุกวันช่วงเช้าตั้งตามร้านอาหารในหมู่บ้านและละแวกใกล้เคียง รายได้ในการจำหน่ายขนมครึ่งนึงจะเอามาเก็บไว้ในกองทุนหมู่บ้าน แล้วอีกส่วนเก็บไว้ทำทุน แบ่งจากการทำทุนมาเป็นส่วนกำไรแบ่งให้คนในหมู่บ้านสัปดาห์ละครั้ง

ภาษาที่ใช้พูด : ภาษามลายูท้องถิ่น

ภาษาที่ใช้เขียน : ภาษาไทยกลาง

สถานการณ์การใช้ภาษาของผู้คนในชุมชนส่วนมากใช้ภาษามลายูท้องถิ่นและบางส่วนใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร


ประชาชนส่วนใหญ่ปลูกพืชผักกินเองเพื่อลดรายจ่าย แต่พืชผลทางการเกษตรผลผลิตมีจำนวนมากแต่ยังขาดตลาดรองรับในการรับซื้อผลผลิตทางเกษตรก่อให้เกิดภาระหนี้ ประกอบกับประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีงานทำ ก่อให้เกิดการว่างงานในพื้นที่ ส่วนใหญ่ประชากรประกอบอาชีพ ได้แก่ ทำสวนยางพาราและสวนผลไม้เป็นสวนแบบผสมผสาน เช่น เงาะ ทุเรียน ลองกอง มังคุด การเลี้ยงสัตว์พื้นบ้าน เช่น วัว แพะ เป็ด ไก่ เป็นต้น พบว่า รายได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 40,000บาท/คน/ปี ผลผลิตที่จำหน่ายสู่ตลาดภายในและภายนอกชุมชนได้แก่ ผลไม้ต่างๆ และยางพารา ผลผลิตแปรรูปการทำหมากแห้งสะตอดอง ลูกเหรียง เป็นต้น


ประชาชนและเยาวชนบางกลุ่มติดยาเสพติด สาเหตุมาจากปัญหาทางครอบครัวเนื่องจากประชากรในพื้นที่ส่วนใหญ่ออกไปอาชีพในประเทศเพื่อนบ้านเป็นระยะเวลานานจึงจะกลับทำให้บุตรหลายขาดการดูแลเอาใจใส่จากผู้ปกครอง ขาดความรักและความอบอุ่น ประชากรในชุมชนนับถือศาสนาอิสลาม 100 % โดยมีมัสยิดและสุเหร่า เป็นศาสนสถานสำหรับการประกอบพิธีทางศาสนาภายในหมู่บ้านมีมัสยิด จำนวน 2 แห่งและสุเหร่า 1 แห่ง สถานอบรมคุณธรรมจริยธรรมหรือโรงเรียนตาดีกา 1 แห่ง สถาบันการศึกษาปอเนาะ จำนวน 1 แห่ง

การเปลี่ยนแปลงของสังคมไปสู่ความทันสมัยระบบความคิดของคนรุ่นใหม่ในสังคม ส่งผลให้วิถีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เนื่องจากอิทธิพลของเทคโนโลยี การเป็นอยู่ ระบบสื่อในมิติต่าง ๆ ที่มีความรวดเร็วเชื่อมโยงก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความเชื่อของทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ ประกอบกับอิทธิพลทางการศึกษาสมัยใหม่ที่ ครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบความสัมพันธ์ทางสังคม และวัฒนธรรมในชุมชนลดน้อยลง สภาพชุมชนเกิดความหวาดระแวง ไม่ไว้ใจซึ่งกัน และกัน ดังนั้น ภาครัฐ หน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องและประชาสังคมในพื้นที่ ควรมีนโยบายส่งเสริมการจัดกิจกรรมในชุมชนในแนวทางการประสานความสัมพันธ์ของประชาชนในชุมชน และควรมีมาตรการป้องกันเหตุการณ์ที่จะเกิด จากสถานการณ์ความไม่สงบในชุมชนอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์และสามารถดำรงชีวิตได้อย่างสันติสุข


มีการจัดกิจกรรมการสอนการออกกำลังทุกวัยทุกวัย ความสะอาดหมู่บ้าน มีการจัดตั้งถังขยะแลกบุญตามมัสยิดทุกหมู่บ้าน เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้ไปใช้บริการ


มีสภาพแวดล้อมแบบชนบท ยังไม่มีผลกระทบจากมลพิษต่าง ๆ แต่ยังขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อยตามบริเวณบ้าน มีแหล่งน้ำธรรมชาติ คือ บ่อน้ำตื้นที่ขุดขึ้นใช้เองในครัวเรือน

ในชุมชนบ้านบาลูกา มีจุดเด่นในเรื่องแหล่งการซื้อขายวัวพันธ์ุพื้นเมือง

อามีเนาะ วอโตะแม. (25 กุมภาพันธ์ 2566). ข้อมูลชุมชนบ้านบาลูกา. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)

ซานียะห์ อูเซ็ง. (25 กุมภาพันธ์ 2566). ภูมิปัญญาปราชญ์ชุมชน. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)

อามีเนาะ กาจะลากี. (25 กุมภาพันธ์ 2566). สภาพแวดล้อมประชากร. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)