คุณภาพชีวิตดี เศรษฐกิจยั่งยืน สู่ชุมชนเข้มแข็ง บ้านบือแนตือบู เต็มไปด้วยนาข้าว เรียงรายต้นยางพารา พึ่งพาเศรษฐกิจพอเพียง
บือแนตือบู คนในชุมชนประกอบอาชีพในการปลูกอ้อยเป็นส่วนใหญ่จึงมีชื่อเรียกกันว่า "ตือบู" เพราะตือบูในภาษามาลายูนั้นแปลว่า อ้อย
คุณภาพชีวิตดี เศรษฐกิจยั่งยืน สู่ชุมชนเข้มแข็ง บ้านบือแนตือบู เต็มไปด้วยนาข้าว เรียงรายต้นยางพารา พึ่งพาเศรษฐกิจพอเพียง
บ้านบือแนตือบูตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 7 ตำบลเนินงาม อำเภอรามัน จังหวัดยะลา บ้านบือแนตือบู เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกเป็นภาษามาลายูถิ่นว่า บือแนตือบู ซึ่งแปลว่า นาอ้อย (บือแน แปลว่า นา) (ตือบู แปลว่า ต้นอ้อย) เนื่องด้วยสมัยก่อนชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นเกษตรกรและมักนิยมใช้พื้นที่นาปลูกอ้อย ยึดเป็นอาชีพหลัก เล่าว่ามีการปลูกอ้อยเรียงเป็นแถว ๆ ยาวประมาณ 2 ไร่ ซึ่งจะอยู่ในราว ๆ ประมาณ 2 กิโลเมตร ถือว่าไกลถึง บือแนตา (นาต้นตาล) ครอบคลุมพื้นที่ในหมู่บ้านเกือบจะทั้งหมด เมื่อถึงเวลาอ้อยเจริญเติบโตได้สมบูรณ์แล้ว ชาวบ้านจะนำอ้อยมาแปรรูปเป็นผลผลิตต่าง ๆ เช่น น้ำอ้อย (แน่นนอนว่าสมัยก่อนไม่มีเครื่องจักรที่อำนวยความสะดวกมากนัก แต่ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน เลือกใช้วัวหรือควายเป็นเครื่องจักรช่วยในการรีดน้ำอ้อยให้ไหลออกมา) เมื่อได้น้ำอ้อยส่วนหนึ่งก็เอาไปทำเป็นน้ำไว้รับรองแขกที่มาบ้าน อีกส่วนก็เอาไปทำเป็นน้ำตาลอ้อยหรือเรียกอีกอย่างว่าน้ำตาลโตนด พื้นที่แห่งนี้จึงเรียกว่า บ้านบือแนตือบู หมู่ที่ 7 ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่เกิดขึ้นมานานแล้วโดยประชากรมีอาชีพในการปลูกอ้อยเป็นส่วนใหญ่จึงมีชื่อเรียกกันว่า ตือบู เพราะตือบูในภาษามาลายูนั้นแปลว่าอ้อยแต่ในปัจจุบันนี้ประชากรหันมาปลูกต้นข้าวเพราะแลเห็นสภาพทำเลที่เหมาะสมแก่การทำนาจึงหันมาทำนาเป็นอาชีพหลักและการปลูกอ้อยนั้นก็เริ่มลดน้อยลงไป จนถึงปัจจุบัน
บ้านบือแนตือบู ห่างออกจากเทศบาลตำบลโกตาบารูประมาณ 5 กิโลเมตร อยู่ห่างจากตัวเมืองยะลา ประมาณ 18 กิโลเมตร การเดินทางสามารถเดินด้วยรถส่วนบุคคล รถโดยสารประจำทางได้
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านวังพญา ตำบลวังพญา อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านการีแย ตำบลเนินงาม
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านจาเน็ง ตำบลเนินงาม
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านกูแบฮาแร ตำบลเนินงาม
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
หมู่ที่ 7 ตำบลเนินงาม เป็นพื้นที่สูงเนินและที่ราบลุ่ม อยู่ทางตอนเหนือและทางทิศตะวันตกของตำบลเหมาะแก่การปลูกยางพาราไม้ผลไม้ยืนต้นและมีที่ราบลาดมาทางตอนกลางของตำบล และทางทิศตะวันออกของตำบล ซึ่งพื้นที่ราบนี้ถ้าเป็นดอนจะเหมาะแก่การปลูกยางพารา แต่ถ้าเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำนา สภาพอากาศมีความร้อนชื้นเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ มี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กุมภาพันธ์ ถึงสิงหาคม และฤดูฝน กันยายนถึงมกราคม มีฝนตกตลอดช่วงฤดู และมีฝนตกชุกมากที่สุดในระหว่างเดือนตุลาคมถึงมกราคม
จากข้อมูลที่สำรวจโดย จปฐ. ระบุจำนวนครัวเรือนมีทั้งหมด 123 ครัวเรือน (ข้อมูลปี 2565) จำนวนประชากร 586 คน (ข้อมูลปี 2565) ชาย 312 คน หญิง 274 คน ทั้งหมดเป็นอิสลาม คนในชุมชนส่วนอยู่กับแบบครอบครัว ในละแวกใกล้เคียง มีความหลากหลายในช่วงวัย คนในสังคมมีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้คนในสังคมมีความเอื้อเฟื่อเผื่อแผ่ระหว่างกัน อยู่กันแบบครอบครัว
มลายูอาชีพหลัก ทำเกษตรกรรมสวนยาง สวนผลไม้ผสม การเย็บผ้า การทำนา
อาชีพเสริม การเลี้ยงวัว เลี้ยงไก่ ทำขนม ปลูกผักริมรั้ว เลี้ยงปลาในกระชัง
การซื้อขายแลกเปลี่ยนภายในชุมชน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น อาหาร เครื่องปรุง เนื้อสัตว์ ผักสด ของใช้ในครัวเรือน ผ่านร้านขายของชำในชุมชน โดยมีร้านค้าภายในชุมชนจำนวน 4 ร้าน โดยนำสินค้าจากในพื้นที่และภายนอกมาจำหน่าย
การซื้อขายแลกเปลี่ยนกับคนภายนอก ส่วนใหญ่เป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้จากการทำเกษตรกรรม เช่น ทุเรียน ลองกอง มังคุด หรือ ซื้อสินค้าจากรถกับข้าวรถพ่วงข้างขายของสดและอาหารแห้งทั่วไป ที่เข้ามาในชุมชนหรือตลาดนัดภายในชุมชนในช่วงเย็นและพื้นที่ตลาดนัดรอบนอก ตลาดนัดในชุมชนจะมีช่วงเย็นของวันพุธทุก ๆ สัปดาห์ จะมีประชาชนจากนอกพื้นที่มาขายในพื้นที่ตลาดนัดของหมู่บ้าน
การออกไปทำงานนอกชุมชน การออกไปทำงานนอกชุมชน คิดเป็น 30% ของคนในชุมชน ออกไปรับจ้างทำงานด้านอุตสาหกรรม พนักงานบริษัททั่วไปและรับราชการ แต่ยังกลับมาอาศัยอยู่ในพื้นที่ การทำงานนอกพื้นที่จะเป็นการออกไปรับจ้างทั่วไปในตัวเมืองและละแวกใกล้เคียงชุมชนที่อุตสาหกรรมขนาดเล็ก เช่น ปั๊มน้ำมัน ร้านขายของชำ บริษัทมอเตอร์ไซค์ เป็นต้น
ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกชุมชน สมาชิกชุมชนส่วนใหญ่อยู่กันเป็นกลุ่มตามคุ้ม ในส่วนมากจะดูแลกันเป็นโซนพื้นที่ เป็นชุมชนที่มีพื้นว่างจากการปลูกสร้างที่พักอาศัยน้อยมาก และมีพื้นที่ทำทุ่งนา 30% หรือละแวกใกล้เคียงกับที่อยู่อาศัย ทำให้คนในชุมชนสามารถเข้าได้ทุกกลุ่ม โดยส่วนใหญ่จะเป็นเครือญาติที่ตามมาอยู่ในชุมชน มีที่อยู่อาศัยเป็นกลุ่มคุ้มบางส่วนญาติอยู่คนละคุ้มก็ยังไปมาหาสู่ในพื้นที่
โครงสร้างอำนาจภายในชุมชน
ตามโครงสร้างการปกครอง มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ทำงานร่วมกับหน่วยงานปกครองท้องถิ่น ส่วนภายในชุมชนในการทำโครงการต่าง ๆ จากภายนอกและงานขับเคลื่อนชุมชน โดยมีนายสาบีดี เปาะกะตี เป็นแกนนำชุมชนและแบ่งการปกครองเป็น 4 กลุ่มบ้าน คือ
- กลุ่มบ้านบือแนตือบู
- กลุ่มบ้านลาฆอปาเซ
- กลุ่มบ้านดาโต๊ะ
- กลุ่มบ้านลาฆอกาเงาะ
การรวมกลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นการรวมกลุ่มกันตามครอบครัวและกลุ่มที่สนิทกันหรือมีช่วงวัยเดียวกัน เช่น กลุ่มแม่บ้านขนมดอกจอก กลุ่มแม่บ้านตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กลุ่มแม่บ้านตัดเย็บเสื้อผ้า กลุ่มแม่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง คณะกรรมการกลางหมู่บ้าน (กม.) กลุ่มทำว่าว กลุ่มแกนนำชุมชนที่ทำงานชุมชนด้านต่าง ๆ กลุ่มเด็กและเยาวชน รวมตัวกันเพื่อจัดกิจกรรมทางศาสนา และทำกิจกรรมร่วมกันในชุมชน ส่วนกลุ่มที่ไม่เป็นทางการส่วนมาก
วัฒนธรรม ประเพณี ชาวบ้านแนตือบู นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 100 มีการประกอบศาสนกิจรวมกันทุกคืน ทำให้เกิดผลดีในด้านการปฎิบัติศาสนกิจแล้วยังเกิดผลดี คือการสร้างความสามัคคีและการแลกเปลี่ยนทัศนคติ ข่าวสาร กิจกรรมวันสำคัญทางศาสนา มีดังนี้
- เมาลิดินนบี เป็นวันคล้ายวันประสูติของศาสดามูฮัมหมัด (ซล.) ศาสดาแห่งมนุษยชาติ ผู้ศรัทธาในศาสนาอิสลาม จะมีการรำลึกถึงคุณงามความดี หรือประวัติของท่านในอดีตกาล ในบรรยากาศแห่งความรัก และรำลึกถึงท่านอย่างแท้จริง ซึ่งจะจัดในเดือน เราะบีอุลเอาวัล ซึ่งเป็นเดือนที่ 3 ในปฏิทินอิสลาม
- วันตรุษอิดิลฟิตรี หรือที่นิยมเรียกว่า “วันรายอปอซอ” เพราะหลังจากที่มุสลิมได้ถือศีลอดมาตลอดในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่ 9 ของศาสนาอิสลาม ก็จะถึงวันออกบวช ตอนเช้าจะมีการละหมาดร่วมกัน ทุกคนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาด สวยงาม และมีการจ่าย “ซะกาตฟิตเราะฮ์”
- วันตรุษอิดิลอัฏฮา หรือวันรายอฮัจยี เนื่องจากมุสลิมทั่วโลกเริ่มประกอบพีธีฮัจญ์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย จะมีการทำกุรบานหรือการเชือดสัตว์เพื่อเป็นอาหารแก่เพื่อนบ้านและคนยากจน เพื่อขัดเกลาจิตใจให้เป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม
- การถือศีลอด เป็นหลักปฎิบัติที่มุสลิมจำเป็นต้องถือศีลอด ในเดือนรอมฎอน ตลอดระยะเวลา 1 เดือน มุสลิมที่มีอายุเข้าเกณฑ์ศาสนบัญญัติจะต้องงด การกิน ดื่ม การร่วมประเวณีตลอดจนทุกอย่างที่เป็นสิ่งต้องห้าม ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนกระทั่งตกดิน ทุกคนต้องสำรวมกายวาจาใจ เพราะเดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่มีประเสริฐยิ่งของศาสนาอิสลาม ซึ่งในเดือนนี้ชาวมุสลิมจะไปละหมาดที่มัสยิด ซึ่งเป็นการละหมาดที่ปฏิบัติภายในเดือนรอมฎอนเท่านั้น เรียกว่า “ละหมาดตะรอเวียะห์”
- การละหมาด เป็นการแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ ซึ่งเป็นที่ศรัทธาของชาวมุสลิม ทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยถือว่าเป็นการเข้าเฝ้าผู้ทรงสร้างที่ยิ่งใหญ่ การแต่งกายต้องสะอาด เรียบร้อย มีความสำรวม พระองค์กำหนดเวลาละหมาดไว้วันละ 5 เวลา
- การทำฮัจญ์ อัลลอฮ์ทรงบังคับ ให้มุสลิมที่มีความสามารถด้านกำลังกาย กำลังทรัพย์ ต้องไปทำฮัจญ์ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีขึ้นปีละครั้ง ชาวมุสลิมทั่วโลกจะเดินทางมารวมกัน เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร มีฐานะทางสังคมอย่างไรต้องมาอยู่ที่เดียวกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ทุกคนมีฐานะเป็นบ่าวของอัลลอฮ์อย่างเท่าเทียมกัน ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม
- การเข้าสุนัต เป็นพิธีกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวมุสลิม ถือกันว่ามุสลิมที่แท้จริงควรเข้าสุนัต ถ้าไม่ทำถือว่า เป็นมุสลิมที่ไม่สมบูรณ์ ไม่บริสุทธิ์ การเข้าสุนัต คือการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศของผู้ชายออก เพื่อสะดวกในการรักษาความสะอาด การเข้าสุนัตจะนิยมขลิบในช่วงเดือนเมษายนเนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคการเรียนการสอนของเด็กในพื้นที่ กิจกรรมจะมีการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศ และมีการเตรียมอาหารเป็นข้าวเหนียวสีต่าง ๆ บางพื้นที่จะมีการขลิบเป็นหมู่คณะ โดยมีเด็กในชุมชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
- ประเพณีการกวนอาซูรอ เป็นการรำลึกถึงความยากลำบากของศาสดา นบีนูฮ โดยเชื่อว่าในสมัยของท่านมีเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ น้ำท่วมโลกเป็นระยะเวลานาน ศาสดานบีนูฮ ซึ่งล่องลอยเรืออยู่เป็นเวลานาน ทำให้อาหารที่เตรียมไว้น้อยลง จึงได้นำส่วนที่พอจะมีเหลือเอามารวมกันแล้วกวนกิน จึงกลายเป็นตำนานที่มาของขนมอาซูรอ
คำว่า "อาซูรอ" คือคำในภาษาอาหรับ แปลว่า การผสม ในที่นี้หมายถึงการนำของที่รับประทานได้ทั้งของคาวและของหวานจำนวน 10 อย่าง มากวนรวมกัน ประเพณีจะจัดในวันที่ 10 ของเดือนมูฮัรรอม ซึ่งเป็นเดือนแรกของฮิจเราะห์ศักราชตามปฏิทินอิสลาม เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาปีใหม่ของมุสลิม ลักษณะกิจกรรมจะมีการรวมตัวของชาวบ้านโดยที่ชาวบ้านจะนำวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเผือก มัน ฟักทอง กล้วย ข้าวสาร ถั่ว เครื่องปรุง ข่าตะไคร้ หอมกระเทียม เมล็ดผักชี ยี่หร่า เกลือ น้ำตาล กะทิ โดยวัตถุดิบทั้งหมดจะถูกกวนในกระทะเหล็กใช้เวลาเกือบ 6-7 ชั่วโมง โดยต้องกวนตลอด จนกระทั่งสุกแห้ง เมื่อเสร็จเรียบร้อยมีการแจกจ่ายแบ่งปันให้แก่ชาวบ้าน ภาพที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความสัมพันธ์และสามัคคีของคนในชุมชน
- ประเพณีการกินนาซิบารู คำว่า "นาซิบารู" หมายถึงข้าวสารใหม่ที่ได้ผ่านกรรมวิธีจากการลงแขกเก็บเกี่ยวข้าวในช่วงฤดูทำนา เมื่อเสร็จการทำนา ข้าวเปลือกที่ได้จะนำไปโรงสีข้าวเพื่อเปลี่ยนมาเป็นข้าวสาร หลังจากนั้นชาวบ้านจะเชิญผู้รู้ทางศาสนาและคนในชุมชนมาร่วมรับประทานอาหารที่บ้านเพื่อเป็นการขอบคุณพระผู้เป็นเจ้าที่ได้ทำนาสำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี
พฤติกรรมการกินอยู่ การทำงาน
ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพด้านการเกษตร ด้วยการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์และทำการประมง โดยมากมักมีฐานะยากจน พอมีพอกิน ส่วนมุสลิมในภาคอื่น ๆ ส่วนใหญ่จะมีฐานะค่อนข้างดี เช่น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ โดยส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเป็นพ่อค้าเนื้อเป็นหลัก ในภาคกลางและในกรุงเทพมหานครชาวมุสลิมจะมีฐานะดี เป็นเจ้าของที่ดินที่มีราคาสูงและชาวมุสลิมส่วนใหญ่จะเลือกที่อยู่ติดกับแม่น้ำลำคลอง ประเพณีของอิสลาม เมื่อมีคนเสียชีวิตชาวบ้านก็จะช่วยกันขุดหลุมศพ ปั้นลูกดินขนาดใหญ่เพื่อใส่ในหลุม จะมีผู้คนไปร่วมหลับนอนในบ้านที่มีคนเสียชีวิตและจะมีการจุดไฟสว่างไสวเพื่อให้เกียรติแก่ผู้เสียชีวิตไปแล้ว ในการอาบน้ำศพผู้เสียชีวิตญาติที่เป็นชายหรือบุตรผู้ตายจะเข้าไปช่วยอาบน้ำศพให้พ่อ ส่วนบุตรสาวหรือญาติที่เป็นสตรีจะเป็นผู้อาบน้ำศพให้แม่ ผู้ชายเมื่อเสียชีวิตจะห่อด้วยผ้าขาว 3 ผืน ส่วนผู้หญิงจะห่อด้วยผ้าขาว 5 ผืน ลักษณะเช่นนี้ไม่ว่าจะเป็นภาคใต้ ภาคกลาง ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ อิสลามจะมีวัฒนธรรมเหมือนกันหมดโดยที่มาจากคัมภีร์อัลกุรอาน ฉะนั้นคำว่าอิสลามจึงมีความหมายกว้างขวาง สำหรับมุสลิมแล้วถือว่าอิสลามเป็นวิถีชีวิต ด้วยเหตุนี้ศาสนาจึงเป็นส่วนหนึ่งของอิสลาม ในส่วนของการปฏิบัติตามหลักศาสนาจะเหมือนกันหมดสำหรับมุสลิมในประเทศไทย เช่น การถือศีลอด การไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอารเบีย การออกทานบังคับหรือซะกาตร้อยละ 2.5 ในสังคมมุสลิมถือว่ามัสยิดเป็นศูนย์รวมของจิตใจ ฉะนั้นมัสยิดจึงเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญเป็นสถานที่รวมตัวกัน ฉะนั้นจึงมีคำสอนของอิสลามว่าเวลาละหมาดไปทำที่มัสยิด ความมุ่งหมายเพื่อให้คนได้มารวมตัวกันให้รู้จักกันและอิสลามนั้นไม่มีการแบ่งสีผิวเผ่าพันธุ์ ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ศาสนาอิสลามมีความเรียบง่ายและการสักการะบูชานั้นจะสักการะเฉพาะพระผู้เป็นเจ้าพระองค์เดียว
การแต่งกายของชาวมุสลิม การแต่งกายตามหลักศาสนาอิสลามผู้หญิงจะต้องปกปิดทุกส่วนในร่างกายยกเว้นใบหน้าและฝ่ามือที่สามารถเปิดได้ ส่วนการแต่งกายของผู้ชายจะต้องปิดตั้งแต่สะดือถึงหัวเข่า สำหรับการตั้งชื่อของชาวไทยมุสลิมนั้นสามารถตั้งชื่อเป็นภาษาอาหรับอันเป็นภาษาศาสนาได้ซึ่งรัฐธรรมนูญได้ให้โอกาสของความเท่าเทียมกันในการใช้ชื่อที่มาจากภาษาอาหรับอันเป็นภาษาของศาสนาอิสลาม ถึงการแต่งกายของผู้หญิงที่ต้องปกปิด รุ่นพี่บอกว่าการที่หญิงต้องแต่งกายปกปิดเปิดได้บริเวณใบหน้าและฝ่ามือเท่านั้น เนื่องจากแถบตะวันออกกลางซึ่งมีภูมิประเทศเป็นทะเลทราย ร้อนและแห้งแล้ง ในทะเลทรายจะมีลมพัดและมีพายุซึ่งจะพัดพาเอาทรายมาใส่ผู้คนที่อาศัยอยู่ในทะเลทราย จึงต้องมีสิ่งปกปิดร่างกายเพื่อป้องกันอันตรายจากทราย แสงแดดที่ร้อนแรง และเชื้อโรคที่อาจมากับลมและทราย แต่ของอิสลามสอนย้ำให้มีความศรัทธาและเชื่อมั่นในพระเป็นเจ้าด้วยการไป "ละหมาด” วันละ 5 เวลา และจะ ไม่ทำ ประพฤติ ปฏิบัติ อะไรที่ผิดไปจากคำสอนในคัมภีร์อัลกุรอาน ถ้าทำก็เป็นบาปและพระเป็นเจ้าจะพิพากษาและลงโทษคนบาปนั้น
การทำงานส่วนใหญ่ประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรมทั้งในพื้นที่ของตัวเอง และพื้นที่ที่เป็นของสมาชิกชุมชน รวมถึงการออกไปรับจ้างทำงานภายนอกชุมชนในบางช่วงเวลา ในส่วนของอาหารจะใช้วัตถุดิบที่หาได้จากในชุมชน เช่น ผักพื้นบ้านที่ได้จากละแวกบ้านและในไร่ ของป่าตามฤดูกาล ข้าว ส่วนเนื้อสัตว์และผักภายนอกซื้อจากรถพุ่มพวงและร้านค้าในชุมชน ที่จะรับสินค้าจากข้างนอกเข้ามาขาย เช่น เนื้อ ไก่ ไส้กรอกลูกชิ้น ผักต่าง ๆ ไข่ไก่ ส่วนเครื่องปรุงต่าง ๆ เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว น้ำมันพืช จะซื้อจากร้านขายของชำเป็นหลัก
1. นายดาโอ๊ะ แปอะรอนิง มีความชำนาญ การทำว่าวบูหลัน ว่าวพื้นบ้าน โดยได้เรียนศิลปะการทำว่าวจากบิดาของท่านซึ่งเป็นความรู้ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น
ผลิตภัณฑ์ ชาวบ้านในพื้นที่จะทำว่าว ซึ่งเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านกันทุกหมู่บ้าน โดยจะมีทั้งคนรุ่นเก่า รุ่นใหม่ ซึ่งเป็นเยาวชนที่ได้รับการสืบทอดในเรื่องการทำว่าวกันมาจากรุ่นสู่รุ่นเมื่อ 40-50 ปีก่อนสำหรับว่าวที่ทำขึ้นมานี้ นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาการละเล่นท้องถิ่นให้คงอยู่แล้ว ก็ยังทำไว้เล่น เพื่อความสุข ความสนุกสนาน ของคนในหมู่บ้านและเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างหมู่บ้าน รวมทั้งทำเป็นของที่ระลึกไว้ขาย เพื่อเป็นรายได้เสริม หลังการทำนา อีกด้วย นายอับดุลฮาเล็ม แสแตแล ประธานศูนย์ประสานงานองค์กรชุมชน ตำบลเนินงาม/รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเนินงาม เล่าให้ฟังว่า ตำบลเนินงาม เป็นพื้นที่กว้างใหญ่ ส่วนของพื้นที่โล่ง 4 พันกว่าไร่ที่เป็นที่นาเหมาะกับการเล่นว่าว ซึ่งเป็นที่มาของการทำว่าว มีมากว่า 40-50 ปีที่แล้ว ตั้งแต่สมัยในอดีต ตำบลเนินงามจะมี 7 หมู่บ้าน ซึ่งทุกหมู่บ้านชาวบ้านก็จะทำว่าวและเล่นว่าวกัน ที่เป็นกลุ่มก็มีมาหลายปี ที่ผ่านมา อบต.เนินงาม ได้สนับสนุนจัดแข่งว่าวประเพณีทุกปี เพื่อเป็นการอนุรักษ์ สืบสานไว้ให้คนรุ่นหลัง ปัจจุบันคนทำว่าวไม่เพียงแต่มีอายุ วัยกลางคนและเยาวชนรุ่นใหม่ก็สามารถทำได้ การทำว่าวที่นี่ ส่วนใหญ่ก็จะนิยมทำว่าววงเดือน หรือเรียกว่า“วาบูแล หรือวาบูลัน” หรือว่าวบุหลัน นั่นเอง ทำทั้งเพื่อแข่ง เล่นสนุกสนาน มีบ้างส่วนของนำไปขาย เพื่อให้เกิดรายได้สู่ชุมชน ซึ่งเป็นหมู่บ้านสัมมาชีพอยู่แล้ว รายได้จากการทำว่าว ของตำบลเนินงาม ก็จะทำขายเป็นของที่ระลึก ใส่กรอบ ทำว่าวเล็ก ๆ เพื่อเป็นพวงกุญแจ หรือทำว่าวแปะไว้ที่ฝาผนัง
ภาษาที่ใช้พูด : ภาษามลายูท้องถิ่น
ภาษาที่ใช้เขียน : ภาษาไทยกลาง
สถานการณ์การใช้ภาษาของผู้คนในชุมชนส่วนมากใช้ภาษามลายูท้องถิ่นและบางส่วนใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร
ประชาชนในหมู่บ้านและมีหน่วยงานราชการในพื้นที่ต่างมีความร่วมมือกันสอดส่องดูแลความสงบในพื้นที่และมีการเข้าเวรยามของ ชรบ.ทุกคืน
สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยน้อย ขาดแคลนที่ทำกินเป็นของตนเอง เกษตรกรรายย่อยที่มีที่ทำกินจะหันมาพัฒนาด้านการเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่ได้รับพระราชทานแนวพระราชดำริจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีความเป็นไปได้น้อย เพราะปัจจัยด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมขนาดกลาง และขนาดย่อมจะได้รับการฟื้นฟู สมาชิกในสังคมไทยมีค่านิยมในการพึ่งตนเองมากขึ้น พัฒนาตนเองสู่อาชีพธุรกิจขนาดย่อมแทนการเข้ารับราชการหรือ เป็นลูกจ้างมีการใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีในทุกวงการ เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือคอมพิวเตอร์จะมีบทบาทในการประกอบธุรกิจมากขึ้น มีการพัฒนาช่างฝีมือและส่งเสริมรายได้จากการผลิตที่ใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นเพื่องส่งเสริมแรงงานท้องถิ่นมากขึ้นโดยเน้นเศรษฐกิจชุมชน ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นแนวโน้มด้านสังคม คนไทยมีการเปลี่ยนแปลงค่านิยมเรื่องของสิทธิสตรีมากขึ้น สตรีจะมีบทบาทในสังคมไทยมากขึ้น แนวโน้มครอบครัวมีขนาดเล็กลง ความสัมพันธ์ในครอบครัวระบบเครือญาติลดลง หน้าที่การอบรมเลี้ยงดูบุตรหรือการขัดเกลาทางสังคมลดลง สถาบันการศึกษามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางการผลิตบุคคลเข้าสู่อาชีพและตลาดแรงงานที่ขาดแคลนมากขึ้นชุมชนและสังคมได้รับการพพัฒนาแบบยั่งยืนมากขึ้น แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมือง ประชาชนมีส่วนร่วมทางการการเมืองการปกครองมากขึ้น ระบบการตรวจสอบการทำงานของข้าราชการและนักกรเมืองจะมีปประสิทธิภาพมากขึ้น ประชาชนเข้าใจสิทธิเสรีภาพมากขึ้น รู้จักใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเองและส่วนรวมมากขึ้น
ประชาชนในพื้นที่นับถือศาสนาอิสลาม และมีมัสยิดเป็นที่ขัดเกลาจิตใจสำหรับศาสนาอิสลาม และอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
การคมนาคมสะดวก เพราะมีถนนสายหลักเชื่อมต่อระหว่าตำบล และมีสถานีรถไฟ
มีการจัดกิจกรรมการสอนการออกกำลังกายทุกช่วงวัย ความสะอาดหมู่บ้าน มีการจัดตั้งถังขยะแลกบุญตามมัสยิดทุกหมู่บ้าน เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้ไปใช้บริการ
เยาวชนส่วนใหญ่ขาดโอกาสและการศึกษา เนื่องจากมีฐานะยากจน
มีสภาพแวดล้อมแบบชนบท ยังไม่มีผลกระทบจากมลพิษต่าง ๆ แต่ยังขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อยตามบริเวณบ้าน มีแหล่งน้ำธรรมชาติ คือ บ่อน้ำตื้นที่ขุดขึ้นใช้เองในครัวเรือน
ในชุมชนบ้านบือแนตือบูมีจุดเด่นการแข่งขันขึ้นว่าวบูหลัน
สาบีดี เปาะกะตี. (28 กุมภาพันธ์ 2566). ข้อมูลชุมชนบ้านบือแนตือบู. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)
สารีย๊ะ มะรียาแม และนายดาโอ๊ะ แปอะรอนิง. (28 กุมภาพันธ์ 2566). ภูมิปัญญา, ปราชญ์ชุมชน. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)
ดอเลาะ บือซา และมารีย๊ะ กาหลง. (28 กุมภาพันธ์ 2566). สภาพแวดล้อม, ประชากร. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)
ธนพิชฌน์ แก้วกา. (2562). เนินงามโมเดล”หมู่บ้านสัมมาชีพ ยะลา สืบสาน “ทำว่าว” วิถีชีวิตการละเล่นพื้นบ้านจากรุ่นสู่รุ่น. ค้นจาก https://thainews.prd.go.th/