พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ แหล่งท่องเที่ยวจุดชมวิว
คำว่า "มะ" เป็นชื่อของคนที่ตัดต้นไม้ขนาดใหญ่ในพื้นที่ ส่วนคำว่า "ดือลง" หมายถึง ต้นไม้มีลักษณะไม้ยืนต้น ลำต้นหนาแข็งแรงสามารถมาสร้างบ้านได้
พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ แหล่งท่องเที่ยวจุดชมวิว
ความเป็นมาของชุมชนมะดือลงจากการบอกเล่าของชาวบ้านกล่าวว่า คำว่า "มะ" เป็นชื่อของคนที่ตัดต้นไม้ขนาดใหญ่ในพื้นที่ ส่วนคำว่า "ดือลง" หมายถึง ต้นไม้มีลักษณะไม้ยืนต้น ลำต้นหนาแข็งแรงสามารถมาสร้างบ้านได้ ชาวบ้านในพื้นที่นิยมนำไม้ดือลงมาสร้างบ้านในสมัยก่อน เมื่อรวมคำสองคำจากคำว่า "มะ" กับ "ดือลง" ชาวบ้านจึงเรียกว่า "มะดือลง" กระทั่งเรียกติดปากจนถึงทุกวันนี้ พื้นที่แห่งนี้ในอดีตเคยเป็นพื้นที่พระราชวังของกษัตริย์โกตาบารูแต่ในปัจจุบันไม่สามารถพบพระราชวังดังกล่าวมีเพียงหลักฐานทางด้านวัตถุที่เป็นอุปกณ์การใช้ในสมัยก่อน
บ้านมะดือลงอยู่ห่างจากตัวอำเภอรามันประมาณ 10 กิโลเมตรและอยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 23 กิโลเมตร การเดินทางมายังชุมชนบ้านรามันมะดือลงสามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านปาโล๊ะ หมู่ที่ 4 ตำบลบาโงย อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านกาลูปัง หมู่ที่ 2 ตำบลกาลูปัง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านจาลงฮีเล หมู่ที่ 3 ตำบล โกตาบารู อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านโกตาบารู หมู่ที่ 1 ตำบล โกตาบารู อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
สภาพพื้นที่กายภาพ
สภาพทั่วไปของชุมชนมะดือลงเป็นพื้นที่ราบลุ่มเป็นพื้นที่เหมาะทำการเกษตร ปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่ถูกเปลี่ยนเป็นพื้นย่านการค้ามีตึกแถวยาวเรียงราย สถานีตำรวจ ชุมชนที่อยู่อาศัย พื้นที่ส่วนในจะมีทุ่งนาร้างซึ่งพบว่าปัจจุบันไม่มีการทำนาแล้ว มะดือลงถือว่าเป็นที่ทางผ่านสู่หลายจังหวัดได้แก่ ปัตตานี และนราธิวาส
จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือน และประชากรชุมชนบ้านตอแล จำนวน 698 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 1,797 คน แบ่งประชากรชาย 876 คน หญิง 921 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายมลายูรองลงมาเป็นไทยพุทธ คนในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวที่มีความหลากหลายช่วงวัย มีเพียงส่วนน้อยที่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผู้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน
มลายูผู้คนในชุนชนมะดือลงมีการรวมกลุ่มที่เป็นทางการ
กลุ่มแม่บ้าน เป็นกลุ่มที่จัดตั้งเพื่อเป็นแหล่งทุนช่วยเหลือสตรีในชุมชนให้มีความเข้มแข็งและเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ผ่านการจัดทำขนมพื้นบ้านเพื่อจำหน่ายในชุมชนหรือนอกชุมชน
ด้านกลุ่มอาชีพ พื้นที่แห่งนี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนเป็นส่วนใหญ่ ปลูกยางพารา ทุเรียน อาชีพรองลงมารับราชการและพนักงานตามบริษัท
ในรอบปีของผู้คนบ้านมะดือลงมีวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นดังต่อไปนี้
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
- งานเมาลิดนบี เป็นวันแห่งการยกย่องวันเกิดของท่านนบีมูฮัมหมัด (ซ.ล.) คำว่า "เมาลิด" เป็นภาษาอาหรับแปลว่า เกิด, ที่เกิด หรือวันเกิด ซึ่งหมายถึงวันเกิดของท่านนบีมูฮัมหมัด (ซ.ล.) ตรงกับวันที่ 12 เดือนรอบือุลเอาวัล หรือเดือนที่ 3 ตามปฏิทินอิสลาม ชุมชนบ้านมะดือลงจะจัดงานเมาลิดตามบ้านแต่ละหลังโดยผลัดเวียนตามเวรที่ได้รับมอบหมายจากผู้นำในพื้นที่ กิจกรรมในงานเมาลิดได้แก่ การอัญเชิญคัมภีร์อัล-กุรอาน การกล่าวสรรเสริญ อ่านซางี เพื่อระลึกถึงท่านนบีมูฮัหมัด (ซ.ล.) นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงอาหารแก่ผู้ที่ไปร่วมงานด้วย
- วันรายอแนหรือรายอหก ความหมายรายอแน คือ คำว่า "รายอ" ในภาษามลายูแปลว่า ความรื่นเริง และ คำว่า "แน" คือ หก ในทางปฏิบัติ เมื่อถึงวันตรุษอีฎี้ลฟิตรี จะเฉลิมฉลองวันอีดใหญ่และวันต่อมาชาวบ้านมักจะถือศีลอด 6 วัน ในเดือนเชาวาลต่อเนื่องจนครบ 6 วัน เมื่อเสร็จสิ้นการถือศีลอดคนในพื้นที่จะถือโอกาสนี้เฉลิมฉลองวันรายอแน โดยจะเดินทางไปทำบุญให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับที่กุโบร์หรือสุสาน
- กิจกรรมฟื้นฟูค่ำคืนนิสฟูซะห์บาน ค่ำคืนนิสฟูซะห์บานจะตรงตามปฎิทินอิสลาม วันที่ 14 เดือน ซะบาน โดยมีลักษณะกิจกรรม คือ มีการละหมาดฟัรดู อ่านอัลกุรอาน ซูเราะห์ยาซีน 3 จบ ซึ่งแต่ละจบจะมีดุอาร์ ขอพรจากอัลลอฮ์ เมื่อเสร็จพิธีการ จะมีการกินเลี้ยงร่วมรับประทานอาหาร และอาหารบางส่วนจะนำแจกจ่ายให้ชาวบ้านในหมู่บ้าน
- วันตรุษอิดิลฟิตรี หรือที่นิยมเรียกว่า “วันรายอปอซอ” เพราะหลังจากที่มุสลิมได้ถือศีลอดมาตลอดในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่ 9 ของศาสนาอิสลาม ก็จะถึงวันออกบวช ตอนเช้าจะมีการละหมาดร่วมกัน ทุกคนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาด สวยงาม และมีการจ่าย “ซะกาตฟิตเราะฮ์”
- วันตรุษอิดิลอัฏฮา หรือวันรายอฮัจยี เนื่องจากมุสลิมทั่วโลกเริ่มประกอบพีธีฮัจญ์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย จะมีการทำกุรบานหรือการเชือดสัตว์เพื่อเป็นอาหารแก่เพื่อนบ้านและคนยากจน เพื่อขัดเกลาจิตใจให้เป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม
- การถือศีลอด เป็นหลักปฎิบัติที่มุสลิมจำเป็นต้องถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ตลอดระยะเวลา 1 เดือน มุสลิมที่มีอายุเข้าเกณฑ์ศาสนบัญญัติจะต้องงด การกิน ดื่ม การร่วมประเวณีตลอดจนทุกอย่างที่เป็นสิ่งต้องห้าม ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนกระทั่งตกดิน ทุกคนต้องสำรวมกาย วาจา ใจ เพราะเดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่มีประเสริฐยิ่งของศาสนาอิสลาม ซึ่งในเดือนนี้ชาวมุสลิมจะไปละหมาดที่มัสยิด ซึ่งเป็นการละหมาดที่ปฏิบัติภายในเดือนรอมฎอนเท่านั้น เรียกว่า “ละหมาดตะรอเวียะห์”
- การละหมาด เป็นการแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ ซึ่งเป็นที่ศรัทธาของชาวมุสลิม ทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยถือว่าเป็นการเข้าเฝ้าผู้ทรงสร้างที่ยิ่งใหญ่ การแต่งกายต้องสะอาด เรียบร้อย มีความสำรวม พระองค์กำหนดเวลาละหมาดไว้วันละ 5 เวลา
- การทำฮัจญ์ อัลลอฮ์ทรงบังคับให้มุสลิมที่มีความสามารถด้านกำลังกาย กำลังทรัพย์ ต้องไปทำฮัจญ์ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีขึ้นปีละครั้งชาวมุสลิมทั่วโลกจะเดินทางมารวมกัน เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร มีฐานะทางสังคมอย่างไรต้องมาอยู่ที่เดียวกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ทุกคนมีฐานะเป็นบ่าวของอัลลอฮ์อย่างเท่าเทียมกัน ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม
- การเข้าสุนัต เป็นพิธีกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวมุสลิม ถือกันว่ามุสลิมที่แท้จริงควรเข้าสุนัต ถ้าไม่ทำถือว่าเป็นมุสลิมที่ไม่สมบูรณ์ ไม่บริสุทธิ์ การเข้าสุนัต คือการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศของผู้ชายออก เพื่อสะดวกในการรักษาความสะอาด การเข้าสุนัตจะนิยมขลิบในช่วงเดือนเมษายนเนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคการเรียนการสอนของเด็กในพื้นที่ กิจกรรมจะมีการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศ และมีการเตรียมอาหารเป็นข้าวเหนียวสีต่าง ๆ บางพื้นที่จะมีการขลิบเป็นหมู่คณะ โดยมีเด็กในชุมชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
- ประเพณีการกวนอาซูรอ เป็นการรำลึกถึงความยากลำบากของศาสดา นบีนูฮ โดยเชื่อว่าในสมัยของท่านมีเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ น้ำท่วมโลกเป็นระยะเวลานาน ศาสดานบีนูฮ ซึ่งล่องลอยเรืออยู่เป็นเวลานาน ทำให้อาหารที่เตรียมไว้ร่อยหรอลง จึงได้นำส่วนที่พอจะมีเหลือเอามารวมกันแล้วกวนกิน จึงกลายเป็นตำนานที่มาของขนมอาซูรอ
คำว่า "อาซูรอ" คือคำในภาษาอาหรับ แปลว่า การผสม ในที่นี้หมายถึงการนำของที่รับประทานได้ทั้งของคาวและของหวานจำนวน 10 อย่าง มากวนรวมกัน ประเพณีจะจัดในวันที่ 10 ของเดือนมูฮัรรอม ซึ่งเป็นเดือนแรกของฮิจเราะห์ศักราชตามปฏิทินอิสลาม เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาปีใหม่ของมุสลิม ลักษณะกิจกรรมจะมีการรวมตัวของชาวบ้านโดยที่ชาวบ้านจะนำวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเผือก มัน ฟักทอง กล้วย ข้าวสาร ถั่ว เครื่องปรุง ข่าตะไคร้ หอมกระเทียม เมล็ดผักชี ยี่หร่า เกลือ น้ำตาล กะทิ โดยวัตถุดิบทั้งหมดจะถูกกวนในกระทะเหล็กใช้เวลาเกือบ 6-7 ชั่วโมง โดยต้องกวนตลอด จนกระทั่งสุกแห้ง เมื่อเสร็จเรียบร้อยมีการแจกจ่ายแบ่งปันให้แก่ชาวบ้าน ภาพที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความสัมพันธ์และสามัคคีของคนในชุมชน
- ประเพณีการกินนาซิบารู คำว่า "นาซิบารู" หมายถึง ข้าวสารใหม่ที่ได้ผ่านกรรมวิธีจาการลงแขกเก็บเกี่ยวข้าวในช่วงฤดูทำนา เมื่อเสร็จการทำนา ข้าวเปลือกที่ได้จะนำไปโรงสีข้าวเพื่อเปลี่ยนมาเป็นข้าวสาร หลังจากนั้นชาวบ้านจะเชิญผู้รู้ทางศาสนาและคนในชุมชนมาร่วมรับประทานอาหารที่บ้านเพื่อเป็นการขอบคุณพระผู้เป็นเจ้าที่ได้ทำนาสำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี
สำหรับคนไทยพุทธจะจัดงานดังนี้
- ประเพณีชิงเปรต เป็นประเพณีเนื่องในเทศกาลวันสารทเดือนสิบของชาวภาคใต้ โดยมีความสำคัญคือ เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณผู้ล่วงลับไปแล้ว อาหารที่ใช้ตั้งเปรต ได้แก่ ขนมลา ขนมพอง ขนมบ้า ขนมเจาะหู ขนมไข่ปลา และมีของแห้ง เช่น ข้าวสาร หอม กระเทียม พริก กะปิ น้ำตาล ปลาเค็ม กล้วย อ้อย มะพร้าว ไต้ เข็มเย็บผ้า ด้าย ธูปเทียน นำลงจัดในหม โดยเอาของแห้งดังกล่าวรองก้นและอยู่ภายใน ส่วนขนมวางไว้ชั้นนอกปิดคลุมด้วยผืนลาทำเป็นรูปเจดีย์ยอดแหลมหรือรูปอื่นแล้วแต่การประดิษฐ์ของผู้จัด หลังจากนั้นนำหมที่จัดไปที่วัด รวมกันตั้งไว้บน ร้านเปรต ซึ่งสร้างกลางวัดยอดเสาสูง หลังฉลองหมเสร็จ ประชาชนจะนำขนมอีกส่วนหนึ่งไปวางไว้ตามบริเวณวัดเรียกว่า ตั้งเปรต เมื่อตั้งขนม ผลไม้ และเงินทำบุญเสร็จแล้ว ก็จะนำสายสิญจน์ที่ได้บังสุกุลแล้วผูกกับของจุดตั้งเปรตเผื่อแผ่ส่วนกุศล เมื่อเสร็จพิธีสงฆ์จะเก็บสายสิญจน์ จากนั้นการ ชิงเปรต จะเริ่มขึ้น ทั้งผู้ใหญ่และเด็กจะวิ่งกันเข้าไปแย่งขนมกันอย่างคึกคัก ตามความเชื่อว่าของที่เหลือจากการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ถ้าใครได้ไปกินจะได้กุศลแรง เป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และครอบครัว
1. นายต่วนอับดุลเลาะ ดาโต๊ะมูลียอ เป็นเจ้าของพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมโกตาบารู ซึ่งได้จัดตั้งสถานที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์เมืองโกตาบารูเพื่อแหล่งเรียนรู้แก่เยาวชนรุ่นหลัง
ทุนวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมโกตาบารูเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมของชุมชนที่มีเอกลักษณ์ของคนในพื้นที่โดยวัตถุประสงค์ในการตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เพื่อเป็นสร้างที่อนุรักษณ์วัฒนธรรมที่มีอยู่ในท้องถิ่นแต่ละพื้นที่
ประเทศไทยมีจังหวัดที่มีประชากรพูดภาษามลายู คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาสและบางอำเภอของจังหวัดสงขลา ประชากรที่นี่ส่วนใหญ่เขียนและบันทึกโดยใช้อักษรยาวี ปัจจุบันคนในชุมชนยังคงรักษาไว้ซึ่งภาษาท้องถิ่นในพื้นที่อย่างเหนียวแน่น พื้นที่ชุมชนมะดือลงส่วนใหญ่สื่อสารเป็นภาษามลายูและบางส่วนจะสื่อสารภาษาไทยกับคนไทยพุทธที่อยู่ในชุมชน
การเปลี่ยนแปลงของสังคมไปสู่ความทันสมัย ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือการสร้างบ้านเรือนที่มีความทันสมัยมากขึ้น ประกอบกับอิทธิพลทางการศึกษาสมัยใหม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเดิม
ความท้าทายของชุมชนบ้านมะดือลงได้แก่การเคลื่อนย้ายของประชากรจากต่างพื้นที่เข้ามาในชุมชนมากขึ้นจากอดีตทำให้การจัดการยังไม่ทั่วถึง ถึงอย่างไรก็ตามผู้นำในพื้นที่ได้มีการสำรวจการเข้ามาอาศัยของคนนอกพื้นที่เพื่อเป็นการดูแลบุคลเหล่านี้อย่างทั่วถึง
ในชุมชนมีจุดน่าสนใจอื่น ๆ ได้แก่ สุสานโต๊ะนิ วัดวชิรปราการ โกตาบารูทะเลหมอก
ซูไรดา เจะนิ. (2559). การศึกษาภูมินามของหมู่บ้านในอำเภอรามัน จังหวัดยะลา. ทุนอุดหนุนจากงบประมาณการศึกษาประจำปี 2559. มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา.
กรมการปกครอง. (2565). ระบบสถิติทางการทะเบียน จำนวนประชากร. ออนไลน์. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566. เข้าถึงได้จาก https://stat.bora.dopa.go.th/