Advance search

มอญเกาะเกร็ด

ชุมชนเกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีพื้นที่ประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยเป็นชุมชนมอญเก่าแก่ทำให้มีวิถีชีวิตวัฒนธรรมรูปแบบชาวมอญภายในชุมชน ชุมชนแห่งนี้ยังเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียงและโด่ดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เรียกว่า "เครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด" นอกจากนี้ภายในชุมชนยังมีศาสนถานที่สำคัญของชาวมอญอย่าง "วัดปรมัยยิกาวาส" ซึ่งภายในวัดแห่งนี้จะมีเจดีย์เอียงอันเป็นสัญลักษณ์สำคัญของพื้นที่เกาะเกร็ด

เกาะเกร็ด
ปากเกร็ด
นนทบุรี
วิสาหกิจชุมชน โทร. 08-5163-4214, อบต.เกาะเกร็ด โทร. 0-2583-9544
วีรวรรณ สาคร
15 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
9 เม.ย. 2023
วีรวรรณ สาคร
28 เม.ย. 2023
เกาะเกร็ด
มอญเกาะเกร็ด

แต่เดิมพื้นที่ชุมชนเกาะเกร็ดไม่ได้มีชื่อเรียกแน่นอนมักเรียกชื่อพื้นที่ตามสิ่งต่าง ๆ เช่น ตามลักษณะภูมิประเทศอย่างบ้านแหลม เพราะแต่เดิมพื้นที่เกาะมีลักษณะเป็นแหลม หรืออาจเรียกตามผู้สร้างสถานที่สำคัญในเกาะอย่างเกาะศาลากุ่น เป็นต้น จนกระทั่งได้มีอำเภอเกิดขึ้นจึงเรียก เกาะเกร็ด มาจากภาษามอญ "เกร็ด" หรือ "เตร็จ" หมายถึง ลำน้ำขนาดเล็กที่ขุดขึ้นเป็นทางลัดเพื่อเชื่อมลำน้ำขนาดใหญ่


ชุมชนเกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีพื้นที่ประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยเป็นชุมชนมอญเก่าแก่ทำให้มีวิถีชีวิตวัฒนธรรมรูปแบบชาวมอญภายในชุมชน ชุมชนแห่งนี้ยังเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียงและโด่ดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เรียกว่า "เครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด" นอกจากนี้ภายในชุมชนยังมีศาสนถานที่สำคัญของชาวมอญอย่าง "วัดปรมัยยิกาวาส" ซึ่งภายในวัดแห่งนี้จะมีเจดีย์เอียงอันเป็นสัญลักษณ์สำคัญของพื้นที่เกาะเกร็ด

เกาะเกร็ด
ปากเกร็ด
นนทบุรี
11120
13.911426365424374
100.47624840260609
องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะเกร็ด

เกาะเกร็ด แต่เดิมไม่มีชื่อเรียกชัดเจนอาจเรียกตามบริบทพื้นที่ที่เป็นแหลมยื่นลงไปว่า “บ้านแหลม” จนในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เรียกบริเวณนี้ว่า "เกาะศาลากุ่น" ภายหลังเมื่อมีอำเภอจึงเรียก "เกาะเกร็ด" มาจากภาษามอญ เกร็ด หรือ เตร็จ หมายถึง ลำน้ำขนาดเล็กที่ขุดขึ้นเป็นทางลัดเพื่อเชื่อมลำน้ำขนาดใหญ่ เกาะเกร็ดเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่กลางแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีประวัติศาสตร์มานับตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยพบว่าหลักฐานการปรากกฎตัวของเกาะเกร็ดคือในสมัยพระนาราย์มหาราชได้มีหลักฐานปรากฎอยู่ในแผนที่ของชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ส่วนในด้านชุมชนคาดว่าชุมชนเกาะเกร็ดมีคนเริ่มเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ก่อนหน้านี้ และเริ่มเจริญในช่วงปลายสมัยอยุธยาจากการค้าขาย รวมถึงการเป็นที่ตั้งด่านตรวจเรือต่าง ๆ ที่จะผ่านสู่เมืองหลวงขณะนั้น

ในสมัยพระเจ้าท้ายสระมีหลักฐานพบว่าบริเวณนี้มีสภาพเป็นเกาะขนาดใหญ่ ซึ่งในช่วงก่อนรัชสมัยพระเจ้าท้ายสระบริเวณนี้เป็นแผ่นดินโค้งรูปเกือกม้ามีคลองเกร็ดน้อยไหลจากบ้านปากเกร็ดน้อยผ่านไปออกตรงวัดปากอ่าวหรือวัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร ซึ่งคลองเกร็ดน้อยนี้คาดว่าถูกขุดเพื่อให้ชุมชนที่อยู่กลางเกาะเกร็ดสามารถใช้อุปโภคและบริโภค อีกทั้งเพื่อย่นระยะการเดินเรือผ่านปากเกร็ด ทำให้พื้นที่เกาะเกร็ดเริ่มมีสภาพเป็นเกาะแต่ยังไม่เด่นชัดนัก จนกระทั่งปี พ.ศ. 2265 ในสมัยของพระเจ้าท้ายสระพระองค์ได้เสด็จเลียบแม่น้ำเจ้าพระยามาวัดปากอ่าวไปจนถึงท้ายด่าน พบว่าการเดินทางมีสภาพคดเคี้ยวและอ้อมโค้งมาก อีกทั้งเรือสินค้าจากต่างประเทศในช่วงเวลานั้นผ่านลำน้ำเจ้าพระยาจำนวนมาก ทำให้เห็นความสำคัญในการขุดคลอง จึงมีพระราชดำริให้ขุดคลองเกร็ดน้อยให้ลึก 6 วา ยาว 29 เส้นเศษ ต่อมาด้วยกระแสน้ำทำให้กัดเซาะตลิ่งออกไปจนกว้างเป็นแม่น้ำ ทำให้เกาะเกร็ดเป็นลักษณะเกาะที่เด่นชัด ผู้คนนิยมเดินทางบริเวณคลองเกร็ดน้อยมากเพราะย่นระยะการเดินทางมากขึ้น อีกทั้งในบริเวณด้านทิศตะวันออกของเกาะเกร็ดยังเป็นที่ตั้งด่านปากเกร็ด ซึ่งเรือต่างชาติต่างจอดบริเวณนี้มากมาย ทำให้เป็นจุดแลกเปลี่ยนสินค้า ชาวบ้านภายในชุมชนเกาะเกร็ดแต่เดิมมักจะนำเอาสินค้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยนกับเรือสินค้าต่างประเทศ ไม่นานบริเวณชุมชนเกาะเกร็ดมีความเจริญมากขึ้นกลายเป็นชุมชนใหญ่ การค้าที่เจริญนี้ทำให้เกิดตลาดขึ้นในชุมชน (บ้านบางตลาด) 

ทั้งนี้ในช่วงสมัยอยุธยายังพบว่ามีการสร้างวัดเป็นรูปแบบศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลายไว้หลายวัดเพื่อเป็นแหล่งพึ่งพิงทางศาสนาแก่คนในชุมชน เช่น วัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร หรือวัดปากอ่าว วัดป่าลิไลยก์ วัดป่าฝ้าย (วัดฉิมพลีในปัจจุบัน) วัดชมพูราย วัดสนามเหนือ วัดสนามไชย วัดกลางเกร็ด วัดศาลากุล

ในชุมชนเกาะเกร็ดจะพบว่ามีชาวมอญอยู่อาศัยภายในชุมชนมาก ทำให้สามารถเรียกชุมชนเกาะเกร็ดได้ว่าชุมชนมอญเกาะเกร็ด โดยพบว่าชาวมอญอพยพเข้ามาในเมืองไทยกระจายไปยังบริเวณต่าง ๆ นับตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งชุมชนเกาะเกร็ดเป็นพื้นที่ที่มีการอพยพของชาวมอญ 2 ครั้งใหญ่ โดยในสมัยกรุงธนบุรี ปี พ.ศ. 2317 พระเจ้าตากสินมหาราชได้รับชาวมอญของพระยาเจ่งมาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณปากเกร็ด (นนทบุรี) เนื่องจากชาวมอญกลุ่มนี้เป็นชาวมอญที่อพยพมาจากเมาะตะมะจากการแพ้สงครามกับพม่าจึงเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระเจ้ากรุงธนบุรี ภายหลังชาวมอญเหล่านี้เริ่มกระจายตัวทั่วปากเกร็ดส่วนหนึ่งเข้าไปตั้งถิ่นฐานบริเวณเกาะเกร็ด

ต่อมาชาวมอญได้อพยพเข้ามาอีกระลอกหนึ่งจากภัยสมัยของพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์รับชาวมอญที่หนีภัยสงครามพม่ามาอาศัยในไทยหลายจุด โดยในพื้นที่เกาะเกร็ดพบเริ่มตั้งถิ่นฐานบริเวณวัดเสาธงทอง อ้อมเกาะเกร็ดจนถึงวัดฉิมพลี จากการเข้ามาของชาวมอญทำให้ชุมชนเกาะเกร็ดมีชาวมอญอาศัยอยู่กระจายทั่วทั้งพื้นที่อันเป็นจุดที่ทำให้เกิดวิถีชีวิต ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมชาวมอญในชุมชน เช่น การทำเครื่องปั้นดินเผา การสร้างเสาหงส์ เป็นต้น นอกจากนี้ชาวมอญยังได้ผสมผสานกับคนในพื้นที่เกิดเป็นลูกหลานชาวไทยเชื้อสายมอญในปัจจุบัน

ชุมชนเกาะเกร็ดและพื้นที่โดยรอบมีผู้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยเป็นจำนวนมากขึ้น ทำให้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปี พ.ศ. 2427 ได้มีการโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งอำเภอปาดเกร็ดแล้วให้บริเวณเกาะเกร็ดตั้งเป็นตำบลเกาะเกร็ด ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้ในปัจจุบันและด้วยการที่บริเวณนี้มีคนมอญอาศัยอยู่มากจึงมีการแต่งตั้งนายอำเภอที่เป็นชาวมอญชื่อพระรามัญนนทเขต โดยนายอำเภอคนนี้เป็นคนในชุมชนเกาะเกร็ดมีบ้านอยู่ในพื้นที่

ทั้งนี้ในพื้นที่ชุมชนเกาะเกร็ดยังพบอีกว่าในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง ช่วงหลังจาก พ.ศ. 2475 และช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หมู่บ้านในตำบลย่านเกาะเกร็ดกลายเป็นแหล่งหลบซ่อนตัวเพื่อเตรียมรับสภาวะวิกฤตในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเป็นเกาะในเขตกรุงเทพที่สามารถเฝ้าระวังได้ มีนักการเมืองและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายท่านได้มาสร้างบ้านสำรองไว้ยามฉุกเฉินในพื้นที่ แต่อย่างไรก็ตามต่อมาทางส่วนกลางเข้ายึดทำลายบ้านเหล่านี้

ปัจจุบันชุมชนเกาะเกร็ดได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และโบราณสถานที่ขึ้นชื่อของจังหวัดนนทบุรี อีกทั้งเป็นแหล่งชุมชนคนมอญที่มีชื่อเสียงผู้คนต่างถิ่นมักมาท่องเที่ยวในชุมชนเพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวมอญที่สืบทอดมาตั้งแต่อดีตและอุดหนุนสินค้าของคนในชุมชน เช่น เครื่องปั้นดินเผา ที่มีความสวยงามตามแบบลวดลายมอญของพื้นที่นี้ ทำให้ผู้คนในชุมชนเกาะเกร็ดส่วนหนึ่งประกอบอาชีพอันสัมพันธ์กับการท่องเที่ยวที่เจริญขึ้นของพื้นที่อย่างการค้าขายและการทำหัตถกรรม การที่ผู้คนสามารถหารายได้จากการท่องเที่ยวจึงทำให้เกิดการรวมกลุ่มร่วมกับภาครัฐเพื่อพัฒนาชุมชน ส่งผลให้พื้นที่ชุมชนเกาะเกร็ดได้พัฒนาเจริญอยู่คู่กับการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจในกรุงเทพฯ

เกาะเกร็ดเป็นเกาะขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา มีพื้นที่ 4.2 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 2,625 ไร่ อยู่ในเขตพื้นที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี มีฐานะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ขั้นที่ 5 อยู่ทิศใต้ของอำเภอปากเกร็ด ระยะห่างประมาณ 2 กิโลเมตร เกาะเกร็ดเป็นพื้นที่ราบต่ำ ล้อมรอบด้วยแม่น้ำเจ้าพระยา โดยพื้นที่ชุมชนเกาะเกร็ดยังประกอบด้วยพื้นที่หมู่บ้าน 7 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านลัดเกร็ด บ้านศาลากุนนอก บ้านศาลากุนใน บ้านคลองสระน้ำอ้อย บ้านท่าน้ำ บ้านเสาธงทอง บ้านโอ่งอ่าง

การเดินทางมาบริเวณเกาะเกร็ดสามารถเดินทางได้ทั้งทางโดยรถยนต์และต่อเรือ หรือจะเดินทางด้วยเรือทั้งหมด กล่าวคือ

  1. ทางรถยนต์ เดินทางไปที่ห้าแยกปากเกร็ด และขับตรงไปยังท่าน้ำเทศบาลข้ามฝั่งโดยเรือข้ามฟากไปยังเกาะเกร็ด หรืออีกเส้นทางก่อนจะถึงท่าเรือเทศบาลจะมีถนนแยกไปทางซ้ายขับตรงไปจะมีท่าเรือข้ามฟากที่บริเวณวัดสนามเหนือ ซึ่งจะข้ามไปวัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร
  2. ทางเรือ ใช้บริการเรือด่วนเจ้าพระยา ซึ่งเปิดบริการระหว่างเส้นทาง วัดราชสิงขร เขตยานนาวาถึงท่าน้ำวัดเตย อำเภอปากเกร็ด

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลคลองพระอุดมโดยมีแม่น้ำเจ้าพระยากั้นกลาง
  • ทิศใต้ ติดกับ ตำบลท่าอิฐโดยมีแม่น้ำเจ้าพระกั้นกลาง
  • ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลปากเกร็ดมีแม่น้ำเจ้าพระยากั้นกลาง
  • ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลอ้อมเกร็ดบางพลับโดยมีแม่น้ำเจ้าพระยากั้นกลาง

ลักษณะทางกายภาพ

พื้นที่เกาะเกร็ดเป็นพื้นที่ราบต่ำล้อมรอบด้วยแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณพื้นที่ริมน้ำเป็นที่ลุ่มมากกว่าพื้นที่ตอนกลาง พื้นที่ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นที่ราบน้ำท่วมถึง ทำให้พื้นที่ทั่วทั้งเกาะเกร็ดเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการทำการเกษตรกรรม จะเห็นได้ว่ามีการทำสวนไม้ผลไม้ยืนต้นอยู่ทั่วไป พื้นที่เกาะเกร็ดที่ค่อนข้างเป็นพื้นที่ราบลุ่ม โดยเฉพาะบริเวณริมเกาะจึงทำให้เกิดน้ำท่วมได้ง่าย เกาะเกร็ดจึงประสบปัญหาเรื่องน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูน้ำหลาก คือ ในระหว่างเดือนกันยายน และเดือนพฤศจิกายน บริเวณส่วนกลางของเกาะเกร็ดแต่เดิมเป็นพื้นที่ทำนาปลูกข้าวเจ้า แต่ไม่มีการทำนามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 เนื่องจากบริเวณกลางเกาะเป็นที่ดอนสูงกว่าบริเวณริมเกาะ การดึงน้ำเข้าสู่พื้นที่นาต้องอาศัยเครื่องสูบน้ำอีกทั้งสภาพคูคลองภายในเกาะเกร็ดปัจจุบันตื้นเขินไม่มีการขุดลอกมาเป็นระยะเวลานาน การทำนาจึงไม่คุ้มกับการลงทุน

ทรัพยากรทางธรรมชาติ

ทรัพยากรดิน พื้นที่เกาะเกร็ดเป็นที่ราบ ซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอนที่น้ำพัดพามา ดังนั้นลักษณะของดินส่วนใหญ่จึงเป็นดินตะกอนซึ่งเป็นดินเหนียว เป็นดินกลุ่มอินเซฟติซอล โดยดินตะกอนใหม่พบทั่วไปในเขตที่ราบภาคกลางตอนล่างของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

ทรัพยากรน้ำ แหล่งน้ำตามธรรมชาติในเกาะเกร็ด คือแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนที่อ้อมรอบเกาะ คือแม่น้ำอ้อมเกร็ด สวนที่ตัดตรง คือ แม่น้ำลัดเกร็ด นอกจากแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วยังมีแหล่งน้ำตามธรรมชาติในเกาะ คือคลองต่าง ๆ ได้แก่ 1.คลองวัดฉิมพลี 2.คลองสระน้ำอ้อย 3.คลองวัดจันทร์ 4.คลองปรมัยยิกาวาส 5.คลองศาลากุล 6.คลองวัดไผ่ล้อม 7.คลองวัดมะขามทอง 8.คลองวัดเสาธงทอง 9.คลองโต๊ะดำ 10.คลองชมพูลาย

ชุมชนเกาะเกร็ดมีประชากรทั้งสิ้น 5,678 คน แยกเป็นชาย 2,549 คน เป็นหญิง 3,129 คน จำนวนครัวเรือน 1,684 ครัวเรือน จากจำนวนประชากรทั้งหมดของตำบล แยกตามการตั้งถิ่นฐานและเชื้อชาติได้ดังนี้

  • หมู่ที่ 1, 6, 7 มีประชากรเชื้อชาติมอญ ร้อยละ 35 ของประชากรทั้งตำบล
  • หมู่ที่ 2, 3 ประชากรซึ่งอาศัยบริเวณริมแม่น้ำ มีประชากรนับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 15 ของประชากรทั้งตำบล
  • หมู่ที่ 2, 3, 4, 5 เป็นประชากรเชื้อชาติไทย, ไทย - จีน บางส่วนร้อยละ 50 ของประชากรทั้งตำบล

กลุ่มชาติพันธุ์

ชาวมอญ 

กลุ่มชาติพันธุ์มอญเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ในพื้นที่เกาะเกร็ด โดยพบการอพยพเข้ามาอยู่อาศัยของชาวมอญในเกาะเกร็ด สาเหตุหลักคือการหนีภัยสงครามจากพม่ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร 2 ช่วง พ.ศ. 2310 - 2325 ช่วงแรกคือสมัยธนบุรีพระเจ้าตากสินมหาราช โดยโปรดเกล้าฯ ให้ชาวมอญที่อพยพเข้ามาได้ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ตามที่ต่าง ๆ เช่น เกาะเกร็ด ปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และสามโคก จังหวัดปทุมธานี ส่วนครั้งที่ 2 นั้นเมื่อ พ.ศ. 2358 ในรัชสมัยของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยชาวมอญอพยพส่วนใหญ่ที่เข้ามาในครั้งนี้ จะมาตั้งถิ่นฐานอยู่ตั้งแต่ที่วัดเสาธงทอง อ้อมเกร็ดมาจนถึงวัดฉิมพลีในลัดเกร็ด เมื่อกลุ่มชาวมอญอพยพเข้ามาแล้วได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานแต่งงาน ทำให้พื้นที่เกาะเกร็ดมีลูกหลานชาวมอญอาศัยอยู่ในปัจจุบัน

ชาวมุสลิมมลายู

ชาวมุสลิมเป็นกลุ่มอพยพเข้าสู่นนทบุรี โดยพบว่ามีการอพยพช่วงแรกเป็นชาวปัตตานีอพยพเข้ามาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ตำบลบางกระสอ และตำบลบางตะนาวศรี ในเขตอำเภอเมืองนนทบุรี ส่วนกลุ่มหลังเป็นชาวไทรบุรี อพยพเข้ามาสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ตำบลท่าอิฐ อำเภอปากเกร็ด ซึ่งต่อมาได้ข้ามฝั่งมาตั้งถิ่นฐานก่อสร้างบ้านเรือนยังพื้นที่เกาะเกร็ด ใกล้วัดศาลากุล ในหมู่ 3 ตรงข้ามกับชุมชนเดิมที่ฝั่งตำบลท่าอิฐ

จีน, มลายู, มอญ

กลุ่มอาชีพ

1. กลุ่มอาชีพสหกรณ์ศิลปะประดิษฐ์ เป็นกลุ่มที่มีการรวมตัวกันโดยเฉพาะชาวมุสลิมในพื้นที่เกาะเกร็ดเพื่อจัดจำหน่ายสินค้าประเภทศิลปะประดิษฐ์ในชุมชน เช่น การทำผ้าบาติค การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผ้าบาติค เสื้อผ้าบาติคสำเร็จรูป ผ้าพันคอ ผ้าผืน ดอกไม้ประดิษฐ์จากใยบัว เป็นต้น โดยกลุ่มนี้ก่อตั้งโดยมี คุณลัดดา วันบาเล เป็นประธานกลุ่ม จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2545

2. กลุ่มหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด เป็นกลุ่มที่ก่อตั้งเมื่อ 6 สิงหาคม ปี พ.ศ. 2540 โดยนางยุพิน จันทร์หอมกุล มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนอาชีพการทำเครื่องปั้นดินเผาของตนในชุมชนและเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้สืบสานภูมิปัญญาพื้นบ้านด้วยการอนุรักษ์งานหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา อีกทั้งเพื่อให้เป็นศูนย์กลางการตลาดในการผลิตและจำหน่ายเครื่องปั้นดินเผาอันมีชื่อของเกาะเกร็ด ตลอดจนเพื่อเป็นการควบคุมราคาสินค้าให้ยุติธรรมแก่ผู้บริโภค

วิถีชีวิตของผู้คนในเกาะเกร็ดมีวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นอย่างมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีชาวมอญอาศัยหนาแน่น ซึ่งชาวมอญเหล่านี้ยังคงสืบทอดอนุรักษ์ประเพณี วิถีชีวิตที่มีมาอย่างขันแข็งทำให้ภายในพื้นที่เกาะเกร็ดจึงมีประเพณีวิถีชีวิตและกิจกรรมชาวมอญที่โดดเด่นให้เห็นอยู่ ดังนี้

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

  • การโกนผมไฟ เมื่อเด็กเกิดได้ครบ 3 เดือน ชาวมอญเกาะเกร็ดจะโกนผมไฟของเด็กใส่ในใบบอนพร้อมด้วยหญ้าแพรกและดินเหนียวปั้นเป็นลูกกระสุนเล็ก ๆ ห่อรวมกันแล้วนำไปฝังไว้ใต้ต้นโพธิ์ (การโกนผมไฟนั้นจะโกนออกไม่หมดจะต้องเหลือไว้บ้างเล็กน้อย)
  • ทำบุญวันปวารณาหรือประเพณีตักบาตรร้อยเรือ ในวันปวารณาออกพรรษานอกจากจะเป็นการทำบุญครั้งใหญ่ของชาวมอญแล้ว ยังเป็นการทำบุญที่แปลกไปจากการทำบุญโดยทั่วไปในวันนี้ชาวมอญจะทำบุญตักบาตรที่ริมน้ำหน้าวัดสำคัญของชาวมอญเรียกว่า ตักบาตรพระร้อย หรือ ตักบาตรเรือ ประชาชนนำอาหารไปใส่บาตรในเรือและใส่บาตรที่ลูกศิษย์วัดนำขึ้นมารับบนฝั่ง ในประเพณีตักบาตรเรือที่หน้าวัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร การที่เรียกว่าตักบาตรพระร้อยหรือตักบาตรเรือนั้น เพราะจะมีพระสงฆ์จำนวนนับร้อยจากวัดต่าง ๆ มิใช่เฉพาะวัดในชุมชนมอญเดินทางมารับบาตรโดยทางเรือ (เดิมพระจะพายเรือมา แต่ปัจจุบันมักจะเดินทางมาโดยเรือติดเครื่องยนต์) มารับบิณฑบาตจากประชาชนซึ่งรอตักบาตรอยู่ริมน้ำหน้าวัดสำคัญของชุมชนมอญ สำหรับประชาชนตำบลเกาะเกร็ดและตำบลใกล้เคียงมักจะมารวมกันตักบาตรเรือที่ริมน้ำหน้าวัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร
  • ประเพณีตักบาตรดอกไม้ วันออกพรรษาหลังพิธีตักบาตรเรือในตอนเช้าแล้ว ในเวลาเพลชาวไทยเชื้อสายมอญตำบลเกาะเกร็ดจะจัดสำรับอาหารคาวหวานไปถวายพระสงฆ์สำหรับฉันเพลที่ศาลาการเปรียญวัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร โดยแจ้งความจำนงกับเจ้าหน้าที่ของวัดว่าต้องการจะถวายสำรับอาหารแก่พระสงฆ์องค์ใด ชาวบ้านจะจัดถาดสำรับอาหารอย่างสวยงามเป็นพิเศษนำไปวางเรียงรวมกันไว้บนศาลาการเปรียญ แล้วนั่งฟังพระสงฆ์สวด พระพุทธมนต์ ถึงเวลาฉัน เจ้าของสำรับหรือเจ้าหน้าที่ของวัดจะนำสำรับอาหารแต่ละชุดไปถวายพระสงฆ์ตามที่แจ้งความจำนงไว้หลังจากพระสงฆ์ฉันอาหารเพลเสร็จแล้วเวลาประมาณ 14:00 – 15:00 นาฬิกา พระสงฆ์ทั้งหมดจะไปร่วมพิธีปวารณาออกพรรษาในพระอุโบสถ ระหว่างทางเดินประชาชนตำบลเกาะเกร็ดและบริเวณใกล้เคียงจะนำดอกไม้ธูปเทียนจัดใส่ถาดมานั่งคอย เตรียมถวายพระสงฆ์ตั้งแต่บันไดศาลาการเปรียญไปจนถึงบันไดเข้าพระอุโบสถ การนำดอกไม้ธูปเทียนมาถวายพระสงฆ์ในวันนี้ชาวมอญทำเป็นประเพณีมาแต่โบราณเรียกว่า ประเพณีตักบาตรดอกไม้
  • ประเพณีสงกรานต์ คนมอญให้ความสำคัญกับเทศกาลสงกรานต์ในฐานะวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งอยู่ในช่วงวันที่ 13-17 เมษายนของทุกปี ก่อนถึงวันสงกรานต์ชาวมอญในเกาะเกร็ดมักจะมีพิธีนำกาละแมมอบให้ผู้ใหญ่และถวายพระเพื่อแสดงความนับถือ เมื่อถึงวันสงกรานต์ภายในงานประกอบไปด้วยกิจกรรมการแห่ข้าวแช่ การแห่ปลา แห่น้ำหวาน และการฟ้อนรำมอญเจ้าประจำปีของแต่ละหมู่บ้าน การสรงน้ำพระ คนมอญถือกันว่าประเพณีนี้เป็นการขึ้นศักราชใหม่จึงจัดให้มีการเฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่ด้วย
  • ประเพณีแห่ข้าวแช่ เป็นประเพณีที่คนมอญเรียกว่า “เปิงฮุงกราน” โดยประเพณีแห่ข้าวแช่ของชาวเกาะเกร็ดมีเพียงแห่งเดียวของไทย ในวันที่ 13 เมษายนของทุกปี จะมีการหุงข้าวแช่เพื่อนำไปถวายวัด มีการจัดขบวนแห่ร้องรำสนุกสนาน มีการหาบกระจาดข้าวแช่สวยงามแห่ไปยังวัด ข้าวแช่ที่เกาะเกร็ดจะนำข้าวสาร 1 กำ ฝัดเอาข้าวเปลือกและขี้ผงออก 7 ครั้ง ซาวน้ำจนยางหมดแล้วนำไปหุงให้สุกแบบเป็นตัวโดยหุงแช่อบควันเทียนให้พ้นชายคาบ้าน หุงเสร็จนำออกจากหม้อใส่ภาชนะคลุมด้วยผ้าข้าวแล้วนำใส่กระจาดไปแห่
  • ประเพณีแห่หางธงตะขาบ ชาวมอญเรียกประเพณีนี้ว่าแห่ฮะต๊ะโน่ โดยเกิดขึ้นในวันสุดท้ายของวันสงกรานต์ ชาวมอญเกาะเกร็ดมักจะมีการแห่ธงตะขาบ การแห่หางหงส์นี้เพื่อระลึกถึงบ้านเกิดกรุงหงสาวดีอดีตเมืองหลวงของมอญ ชาวมอญจะใช้ผ้า ไม้ไผ่และเชือกเย็บประกอบกันเป็นธงตะขาบมีการประดับดอกไม้ที่ธง ซึ่งชาวมอญมักรวมตัวกันทำที่วัดหรือสถานที่กว้างใช้เวลาทำประมาณ 2 วัน เมื่อเสร็จก็จะจัดขบวนแห่ร้องรำกันสนุกสนานไปตามหมู่บ้านจนถึงวัด เมื่อถึงวัดจะนำหางหงส์ไปแขวนกับยอดเสาหงส์
  • ประเพณีแห่ปลา จัดในช่วงหลังสงกรานต์ชาวมอญเกาะเกร็ดจะจัดประเพณีแห่งหางหงษ์ แห่ข้าวแช่ และแห่ปลาในวันเดียวกัน ประเพณีสืบเนื่องมาจากตำนานของชาวมอญในพื้นที่เกี่ยวกับการปล่อยปลาสืบดวงชะตา
  • ประเพณีแห่น้ำหวาน จะเกิดในช่วง 14 - 15 เมษายน ของทุกปีชาวบ้านเกาะเกร็ดจะนำน้ำหวานไปถวายพระสงฆ์ตามวัดต่าง ๆ การแห่น้ำหวานนี้ชาวบ้านเล่าว่ามาจากการที่ช่วงเทศกาลอากาศร้อน ชาวบ้านเกาะเกร็ดเห็นว่าพระภิกษุสงฆ์กระหายน้ำบ่อยจึงนำน้ำหวานไปถวายพระทำสืบเนื่องกันมาจนกลายเป็นประเพณี
  • ตักบาตรน้ำผึ้ง เป็นประเพณีเก่าแก่ของมอญจัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 โดยจะมีการทำบุญตักบาตรถวายอาหารแก่พระภิกษุ เมื่อถวายอาหารเสร็จจะนำน้ำผึ้งที่เตรียมมารินลงบาตรหรือภาชนะที่จัดไว้ ซึ่งที่มาของการตักบาตรน้ำผึ้งนี้มาจากความเชื่อพระพุทธศาสนาและอีกส่วนหนึ่งก็เพราะสมัยก่อนพระภิกษุสามเณรจะนำน้ำผึ้งไปผสมยาสมุนไพรเป็นลูกกลอนเพื่อรักษาตน แม้ว่าสมัยนี้จะมียาแผนปัจจุบันแต่ในพื้นที่ยังคงสืบสานประเพณีนี้ไว้
  • ประเพณีค้ำต้นโพธิ์ มีขึ้นในเดือนเมษายนโดยที่เกาะเกร็ดแตกต่างจากชุมชนมอญแหล่งอื่นบ้างในรายละเอียดของกิจกรรมและช่วงเวลา แต่ก็มาจากคติความเชื่อและจุดมุ่งหมายเดียวกันกับประเพณีรดน้ำต้นโพธิ์และปลูกต้นโพธิ์ของชาวมอญย่านอื่น แต่เหตุที่ชาวเกาะเกร็ดไม่ปลูกต้นโพธิ์ตามประเพณีเพราะวัดทุกวัดในเกาะเกร็ดมีต้นโพธิ์ครบทุกวัดแล้วแถมบางวัดมีหลายต้น ทำให้หมดความจำเป็นที่จะปลูกขึ้นอีกจึงปรับเปลี่ยนพิธีมาเป็นค้ำต้นโพธิ์แทน
  • สะบ้ามอญ การเล่นสะบ้ามอญเป็นการละเล่นพื้นบ้านของคนมอญในเกาะเกร็ดระหว่างเทศกาลสงกรานต์คือในวันที่ 13 - 15 เมษายน ช่วงตอนเย็นและกลางคืนจะมีการเล่นสะบ้ามอญตามหมู่บ้านต่าง ๆ เป็นการเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้มีโอกาสรู้ จักสนิทสนมกัน สถานที่เล่นสะบ้ามอญเกิดขึ้นในบริเวณหมู่บ้าน หรือในบริเวณบ้านใดบ้านหนึ่งหรือหลาย ๆ บ้านในหมู่บ้าน สถานที่เล่นสะบ้ามอญ เรียกว่า “บ่อน” ทำบนลานดิน ต้องปรับที่ทุบดินให้เรียบ ที่กว้างขวางพอที่จะให้สาว ๆ นั่งเรียงกันได้ตั้งแต่ 8 - 12 คน ประดับประดาบริเวณด้วยกระดาษสีและผ้าสีต่าง ๆ มีการเตรียมอาหารและเครื่องดื่มไว้รับรองแขก

1. พิศาล บุญผูก เป็นบุคคลสำคัญที่ช่วยฟื้นฟูและให้ความรู้เกี่ยวกับพื้นที่เกาะเกร็ด โดยเขาได้จัดทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านขึ้นที่บ้านเกาะเกร็ด อำเภอเกาะเกร็ด ซึ่งเป็นบ้านของตนเองได้รวบรวมศิลปวัตถุที่มีค่าและหาได้ยากไว้ ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องปั้นดินเผา ที่มีลักษณะเป็นแบบมอญโบราณและพยายามสะสม หาซื้อเพิ่มเติมเพื่อเก็บรวบรวมไว้ให้มากที่สุด ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจทั้งชาวไทยและต่างประเทศเข้ามาชมโดยไม่คิดมูลค่าอันเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับพื้นที่ นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2529 เขายังได้ร่วมกับวัดปรมัยยิกาวาสวรวิหารจัดพิพิธภัณฑ์ขึ้นที่วัดเพื่อรวบรวมศิลปวัตถุโบราณ และสิ่งของที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และยังได้ร่วมมือกับศูนย์วัฒนธรรม จังหวัดนนทบุรี หาทุนเพื่อซ่อมภาพจิตรกรรมฝาผนังและบูรณะโบราณสถานต่าง ๆ ในจังหวัดนนทบุรี

ทุนทางวัฒนธรรม

1. เครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด การทำเครื่องปั้นดินเผาของชาวมอญเกาะเกร็ด สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สันนิษฐานว่าดั้งเดิมของบรรพบุรุษของชาวมอญเหล่านี้คงจะมีอาชีพเดิมในการทำเครื่องปั้นดินเผา ดังนั้นเมื่ออพยพเข้ามาสู่ประเทศไทยจึงได้นำความรู้ในการผลิตเครื่องปั้นดินเผานี้ติดตัวเข้ามาด้วย อีกทั้งเกาะเกร็ดมีสภาพดินเหมาะสมในการทำเครื่องปั้นดินเผา ชาวมอญจึงเริ่มผลิตเครื่องปั้นดินเผาเพื่อใช้ในครัวเรือนของตนก่อน จากนั้นจึงเริ่มทำเครื่องปั้นดินเผาเพื่อไว้ค้าขายเป็นอาชีพ ทั้งนี้เครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ดที่มีคุณภาพดีด้วยภูมิปัญญาชั้นสูงในการผลิตและก่อเตาเผา โดยสามารถผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่มีคุณภาพดีและสวยงามได้ อีกทั้งประกอบกับความสามารถด้านศิลปะทำให้การออกแบบลวดลายบนเครื่องปั้นดินเผานั้นสวยงามประณีตและมีเอกลักษณ์ยากที่จะหาใครเลียนแบบได้ ส่งผลให้เครื่องปั้นดินเผามอญที่เกาะเกร็ดมีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก

2. วัดปรมัยยิกาวาส เป็นวัดที่ตั้งอยู่ในเกาะเกร็ดบริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะตรงมุมแม่น้ำเจ้าพระยากับคลองลัดเกร็ด สร้างขึ้นครั้งแรกในช่วงอยุธยาตอนปลาย เมื่อคนมอญอพยพมาอาศัยอยู่ที่เกาะเกร็ดนี้จึงได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้น คนมอญเรียกวัดนี้เป็นภาษามอญว่า “เพี้ยมู่ฮะเดิ้ง” ปัจจุบันวัดนี้ก็ยังเป็นที่ร่วมทำบุญในโอกาสสำคัญของคนมอญ ในช่วงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้สถาปนาใหม่ทั้งพระอารามและได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดปรมัยยิกาวาส” ภายในวัดมีโบราณสถานที่สำคัญหลัก ๆ คือเจดีย์เอียงตั้งอยู่หัวมุมเกาะเป็นสัญลักษณ์ประจำเกาะเกร็ด พระอุโบสถและจิตกรรมฝาผนังภายในที่เป็นฝีพระหัตถ์ของหม่อมเจ้าประวิชชุมสาย นอกจากนี้ยังเป็นที่ประดิษฐาน "พระนนทมุนินท์" พระพุทธรูปประจำจังหวัดนนทบุรี

3. อาหาร พื้นที่เกาะเกร็ดเป็นชุมชนมอญขนาดใหญ่ทำให้มีอาหารการกินแบบชาวมอญ โดยในเกาะเกร็ดจะพบอาหารพื้นบ้านมอญที่โด่ดเด่นในพื้นที่ เช่น ข้าวแช่ เป็นอาหารที่เรียกได้ว่าเป็นเอกลักษณ์อีกหนึ่งอย่างที่ทำให้ผู้คนทั่วไปรู้จักคนไทยเชื้อสายมอญเกาะเกร็ด นอกจากนี้ยังมี “ทอดมันหน่อกะลา” โดยหน้าตาจะคล้ายทอดมันทั่วไปแต่ผสมหน่อกะลาเข้าไปด้วย หน่อกะลาถือเป็นพืชที่มีเฉพาะในเกาะเกร็ดเท่านั้น จึงเป็นที่มาของคำพูดที่ว่า ถ้ามาเกาะเกร็ดแล้วไม่ทานทอดมันหน่อกะลาเท่ากับมาไม่ถึงเกาะเกร็ด 

4. การแต่งกาย เนื่องด้วยพื้นที่ชุมชนเกาะเกร็ดเป็นพหุวัฒนธรรมที่ผสมระหว่างไทย มอญ และมุสลิมทำให้การแต่งกายในพื้นที่จึงมีลักษณะรูปแบบต่าง ๆ โดยการแต่งกายของคนเชื้อสายมอญจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับการแต่งกายของพม่า เมื่อครั้งมอญเสียเอกราชแก่พม่า พม่ารับเอาศิลปวัฒนธรรมทุกประการของมอญไปใช้เมื่อพบเห็นศิลปวัฒนธรรมมอญ คนทั่วไปจึงเข้าใจว่าเป็นการแต่งกายแบบพม่า การแต่งกายตามประเพณีหรือแต่งกายแบบมอญจะแต่งเมื่อมีงานประเพณีหรือเทศกาลสำคัญ เช่น ประเพณีสงกรานต์ เข้าพรรษา เป็นต้น เมื่อถึงประเพณีนั้น ๆ ผู้ชายจะนุ่งโสร่งลายหมากรุก สวมเสื้อกุยเฮงมีผ้าพาดไหล่ ผู้หญิงจะนุ่งซิ่นสวมเสื้อลูกไม้ตัดตามนิยมและมีผ้าสไบพาดไหล่ ส่วนผู้สูงอายุอาจนุ่งโจงกระเบนหรือนุ่งซิ่นสวมเสื้อผ่าอกตัดด้วยผ้าลูกไม้หรือผ้าชนิดอื่น ๆ และผ้าสไบเฉียง ส่วนการไว้ทรงผมหรือการทำผม ผู้ชายจะทำผมทรงเดียวกับชายไทยทั่วไป ผู้หญิงบางส่วนยังพยายามรักษาเอกลักษณ์วัฒนธรรมแบบมอญไว้โดยการเกล้าผมมวย

ส่วนชาวมุสลิมในพื้นที่เกาะเกร็ดจะมีการแต่งกายเป็นไปตามรูปแบบของสังคมมุสลิมที่มีลักษณะเฉพาะของชาติพันธุ์ ซึ่งตามหลักการแต่งกายในศาสนาอิสลามมีวัตถุประสงค์สำคัญคือต้องการปกปิดร่างกาย โดยเฉพาะร่างกายของผู้หญิงมุสลิม โดยหญิงมุสลิมในเกาะเกร็ดนั้นส่วนมากจะใส่เสื้อผ้ามัสลินหรือเสื้อลูกไม้ตัวยาวแบบมลายู นุ่งซิ่นปาเต๊ะหรือซิ่นทอและสวม “ฮิญาบ” การแต่งกายมุสลิมชายในเกาะเกร็ด โดยส่วนมากจะแต่งตัวตามสมัยนิยมทั่วไป แต่จะสวมหมวกที่เรียกว่า “หมวกกปิเยาะ”

ทุนกายภาพ

สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติภายในพื้นที่เกาะเกร็ดถือเป็นจุดแข็งของการท่องเที่ยวภายในชุมชน เนื่องด้วยมีความเป็นธรรมชาติของภูมิทัศน์ชุมชนริมน้ำที่ยังสามารถคงการดำเนินชีวิตรูปแบบสมัยก่อนไว้ได้ โดยเกาะเกร็ดมีแม่น้ำเจ้าพระยาล้อมรอบเกาะ อีกทั้งภายในเกาะมีแม่น้ำลำคลองเข้าไปภายในชุมชน ทำให้ภายในพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ใช้ประโยชน์พื้นที่โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรม ทำสวน 

ภาษามอญ 

มอญเป็นชนชาติที่สืบเชื้อสายมาจากมองโกลอยด์ (Mongoloid) โดยมีถิ่นฐานเดิมอยู่ทางตะวันตกของประเทศจีน นักปราชญ์ทางภาษาและมานุษยวิทยาได้จัดมอญไว้ในกลุ่มภาษาตระกูลมอญ - เขมรหรือที่เรียกว่าตระกูลออสโตรเอเชียติค หมายถึง ภาษาเอเชียตะวันออก โดยในพื้นที่เกาะเกร็ดพบว่าคนไทยเชื้อสายมอญเกราะเกร็ดยังคงใช้ภาษามอญในการสื่อสารกันบ้างในกลุ่มของผู้ใหญ่และผู้สูงวัยโดยในชุมชนเกาะเกร็ดก็จะมีสำเนียงเฉพาะที่แตกต่างไปจากชุมชนอื่น ผู้ใหญ่ในชุมชนยังคงมีการสอนลูกหลานให้พูดภาษามอญแต่การใช้ภาษามอญเพื่อการสื่อสารในปัจจุบันของคนไทยเชื้อสายมอญเกาะเกร็ดเริ่มมีน้อยลง ถือเป็นข้อเสียอย่างมากสำหรับผู้ที่ต้องการดำรงอัตลักษณ์ทางภาษามอญไว้

ภาษามลายู 

ภาษาที่ใช้พูดกันมากในชีวิตประจำวันของคนไทยเชื้อสายมุสลิมมีอยู่ 2 ภาษา คือ ภาษาไทย ภาษามลายูท้องถิ่นหรือนิยมเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่าภาษานายู ภาษามลายูท้องถิ่นใช้กันมากในหมู่คนมุสลิมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในชุมชนเกาะเกร็ดนั้น มีความเคร่งครัดในความเชื่อและหลักคำสอนทางศาสนา ดั้งนั้น “ภาษามลายู” ถือเป็นภาษาสำคัญที่ชาวมุสลิมเกาะเกร็ดใช้ศึกษาด้านศาสนาและใช้สนทนาในกลุ่มคนเชื้อสายมุสลิมด้วยกัน


การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ พบว่าการประกอบอาชีพเกษตรกรรมลดลงมาก โดยพบการทำเกษตรกรรมในพื้นที่ลดลงถึงครึ่งหนึ่ง เนื่องจากหนุ่มสาวสมัยใหม่ไม่นิยมทำการเกษตรแต่จะนิยมเดินทางไปรับจ้างทำงานภายนอกเกาะโดยเฉพาะตามโรงงานอุตสาหกรรม อีกทั้งภายในเกาะเกร็ดยังประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่เสมอ ทำให้พื้นที่เพาะปลูกพืชสวนพืชไร่เสียหายส่งผลให้เกิดการขาดทุนแก่ผู้เพาะปลูก ดังนั้นจำนวนครัวเรือนที่ทำอาชีพเกษตรกรในชุมชนเกาะเกร็ดจึงมีจำนวนลดลงเป็นอย่างมาก การลดลงของอาชีพนี้ทำให้ที่ดินในเกาะเกร็ดถูกทิ้งร้างหลายที่โดยเฉพาะพื้นที่ตอนกลาง นอกจากการประกอบอาชีพเกษตรที่ซบเซาลงไปแล้ว ยังพบว่าการประกอบอาชีพเครื่องปั้นดินเผาอันมีชื่อของเกาะเกร็ดยังซบเซาอีกด้วย โดยแต่เดิมเกาะเกร็ดจะมีการปั้น โอ่ง อ่าง ครกเท่านั้น โดยการใช้แรงงาน แต่การค้าขายเริ่มไม่ดีเมื่อมีเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาแข่งขันในการผลิตทำให้สินค้าถูกกว่า สวยงามกว่า คงทนกว่า นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันของครกจากภาคอีสานและยังมีปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ทำให้เตาเผาภาชนะเสียหาย ปัญหาต้นทุนที่สูงเนื่องจากดินเหนียวหายากขึ้นทำให้ต้องสั่งจากพื้นที่อื่น จากจุดนี้ทำให้ชาวบ้านในช่วงปี พ.ศ. 2538-2539 ค่อย ๆ เลิกประกอบอาชีพเครื่องปั้นดินเผา

จนในปี พ.ศ. 2539-2540 นายอำเภอในขณะนั้นได้ริเริ่มฟื้นฟูการผลิตเครื่องปั้นดินเผา เริ่มการนำเครื่องปั้นดินเผามาทำของที่ระลึก มีการจัดตั้งกลุ่ม OTOP ขึ้นช่วงเวลานี้เรียกได้ว่าเครื่องปั้นดินเผาฟื้นฟูอีกครั้ง อย่างไรก็ตามแม้จะมีการพยายามฟื้นฟูแต่ปัญหาก็ยังไม่ได้หมดไป การลงทุนเครื่องปั้นดินเผายังมีราคาที่สูงและไม่ได้เป็นที่นิยม การที่คนในพื้นที่จะสามารถค้าขายได้จึงจำเป็นต้องรับจากพื้นที่อื่น นำไปสู่การค้าขายตัดราคาสินค้าระหว่างกัน ทำให้การค้าเครื่องปั้นดินเผาจึงมีกำไรน้อย ดังนั้นปัจจุบันการค้าเครื่องปั้นจึงน้อยลง มีการค้าไม่กี่พื้นที่ในชุมชน คนรุ่นใหม่ไม่นิยมการค้าขายหรือการทำเครื่องปั้นดินเผา ผู้ค้าส่วนมากจึงเป็นผู้สูงอายุ


การเปลี่ยนแปลงในด้านสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า ลักษณะของการตั้งชุมชนของชาวเกาะเกร็ดนั้น พื้นที่ชุมชนส่วนใหญ่จะติดกับทางด้านตลาดปากเกร็ด เนื่องด้วยเมื่อในอดีตตั้งแต่ก่อนการตัดคลองคอดเกร็ดขึ้นมานั้น ชุมชนดั้งเดิมซึ่งเป็นชาวมอญได้ตั้งถิ่นฐานบริเวณริมน้ำมาก่อนแล้ว และหลังจากการขุดคลองนี้ขึ้นชุมชนก็ได้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นไปตามแนวริมเกาะออกทั้งสองทิศทางคือ ทางทิศเหนือและทิศใต้

ในปัจจุบันพื้นที่ริมน้ำเหล่านี้เกิดความเสื่อมโทรมและการปรับปรุงบ้านเรือนโดยไม่มีแบบแผนในการอนุรักษ์ทั้งในเรื่องของรูปแบบของอาคารที่มิได้คำนึงถึงลักษณะที่มีเอกลักษณ์ของบ้านเรือนชุมชนริมน้ำในอดีต วัสดุอาคารที่มิได้กำหนดแนวทางในการเลือกใช้จึงขึ้นอยู่กับรสนิยมส่วนตัวของผู้ถือครอง ทำให้เกิดการสูญเสียมนต์เสน่ห์และความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนไป

นอกจากนี้ยังพบอีกว่าในปัจจุบันภายในชุมชนมีขยะอยู่มาก เนื่องด้วยชาวบ้านไม่ร่วมมือกันในการเก็บกวาด ชาวบ้านมักดูแลเฉพาะบ้านเรือนของตนทำให้ภูมิทัศน์สภาพแวดล้อมของชุมชนเสื่อมโทรมอย่างมาก ยิ่งเมื่อมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาทำให้มีขยะมากขึ้น เมื่อไม่มีคนเก็บทำความสะอาดความเสื่อมโทรมของชุมชนก็ยิ่งมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้กระทบกับการท่องเที่ยวที่เป็นจุดขายหลักของเกาะเกร็ดส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงไปด้วย

นอกจากนี้ภายในเกาะเกร็ดยังพบปัญหาที่ว่าภายในชุมชนเกาะเกร็ดประสบกับน้ำท่วมอยู่ตลอด เนื่องจากพื้นที่เกาะเกร็ดล้อมรอบไปด้วยน้ำ ทำให้ประสบปัญหาน้ำท่วมในหน้าน้ำเป็นประจำ ปัญหานี้ได้ส่งผลให้กิจกรรมการท่องเที่ยวภายในชุมชนหยุดชะงักชาวบ้านเกิดการขาดรายได้ ซึ่งหลายหน่วยงานได้รับทราบถึงปัญหานี้แต่การแก้ปัญหาได้จะต้องใช้งบประมาณมากจึงจะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้อย่างจริงจัง โดยในขณะนี้มีโครงการสร้างเขื่อนบริเวณรอบเกาะเกร็ดของภาครัฐซึ่งดำเนินการไปบ้างแล้ว อย่างไรก็ตามการสร้างเขื่อนทำให้คนในชุมชนคัดค้านเนื่องด้วยปัญหาด้านภูมิทัศน์ ขยะและกระทบต่อวิถีชีวิตดั้งเดิม

 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กนกพร วิวัฒนาการ. (2543). การเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยบนเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี. วิทยานิพนธ์เคหะพัฒนาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

จารุภา ศิริธุวานนท์. (2551). การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมชุมชนมอญเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการโครงการและประเมินโครงการ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร.

จิตกร บุญลอย. (2555). วัฒนธรรมทางการเมืองของคนไทยเชื้อสายมอญชุมชนเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

แดนชัย ไพรสณฑ์. (2557). การอนุรักษ์ภูมิทัศน์วัฒนธรรม กรณีศึกษา : ชุมชนเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี. วิทยานิพนธ์ภูมิสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.

แดนชัย ไพรสณฑ์และชัยสิทธิ์ ด่านกิตติกุล. (2557). การอนุรักษ์ภูมิทัศน์วัฒนธรรม กรณีศึกษา : ชุมชนเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี. วารสารฉบับมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์และศิลปะ, 7(2), 1477-1487.

วิรุญา แก้วสมบูรณ์. (2553). บทบาทของพิพิธภัณฑ์ชาวมอญ บ้านกวานอาม่านในการเผยแพร่ความเป็นมอญผ่านเครื่องปั้นดินเผา (พ.ศ.2525-พ.ศ.2553). วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ศุภวรรณ เจริญชัยสมบัติ. (2554). การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตชุมชนจากการท่องเที่ยวกรณีศึกษาเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี. วิทยานิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาการประกอบการ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร.

สมบูรณ์ แก้วกระบิล. (2550). กระบวนการพัฒนาภูมิปัญญาชาวบ้านเครื่องปั้นดินเผาของชุมชนเกาะเกร็ดเพื่อนำไปสู่หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ดีเด่น. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม.

สิริฉัตร ภู่ภักดี. (2547). วิวัฒนาการและรูปแบบการตั้งถิ่นฐานของเมืองที่พึ่งพาบกและพึ่งพาน้ำ : กรณีศึกษาเทศบาลนครปากเกร็ดและเกาะเกร็ด. วิทยานิพนธ์การวางแผนภาคและเมืองมหาบัณฑิต สาขาการวงผังเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สุพัตรา วิชยประเสริฐกุล. (2545). แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี. วิทยานิพนธ์การวางแผนภาคและเมืองมหาบัณฑิต สาขาการวางผังเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

อธิคม ปัทมาคม. (2547). การถ่ายทอดภูมิปัญญาของชุมชนเกาะเกร็ดในการผลิตเครื่องปั้นดินเผาและอาหารคาว - หวาน. วิทยานิพนธ์นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขานิเทศศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์.

อรสา เงินฉาย. (2550). การศึกษาสภาพวัฒนธรรมของชุมชนชาวมอญเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

อรอุมา แก่นแก้ว. (2550). การศึกษาวัฒนธรรมวัตถุ และวิถีชีวิตของชาวมอญเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาไทยศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

อลิสา รามโกมุท. (2556). วิถีชีวิตชาวมอญเกาะเกร็ด เตาเผาโบราณ : เปรียบเทียบระหว่างเตาหลังเต่าที่เกาะเกร็ดกับเตาทุเรียนที่เมืองศรีสัชนาลัย. กรุงเทพฯ: ไอเดียสแควร์.

วิสาหกิจชุมชน โทร. 08-5163-4214, อบต.เกาะเกร็ด โทร. 0-2583-9544