
ชุมชนที่มีการทำขนมจีนจำหน่ายเป็นจำนวนมาก
พระครูวินัยธร (เปลี่ยน เรืองศรีมั่น) วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานครเป็นผู้ตั้งให้ เพราะเห็นคนในชุมชนทุกครัวเรือนประกอบอุตสาหกรรมในครัวเรือนคือการทำขนมจีนขายเป็นจำนวนมาก ท่านจึงเปลี่ยนชื่อจากคุ้มน้อย เป็นคุ้มขนมจีน และกลายเป็นชื่อของชุมชนจนถึงปัจจุบัน
ชุมชนที่มีการทำขนมจีนจำหน่ายเป็นจำนวนมาก
ชุมชนบ้านขนมจีน ตำบลโคกพระ อำเภอกันทรวิชัย ตั้งชุมชนขึ้นในปี 2470 โดยนายเขียว เรืองศรีมั่น,นายเบ้า นิลอ่อน,นายหลี่ ทองรัตน์,นายสังข์ นางขำ ศรีคำ,นางทองอยู่ ศรีคำ,นายเอ่อ ไม่ทราบนามสกุล,นายที ศรีจำนงค์, นายหลม เรืองศรีมั่น,นายแป๊ะ เรืองศรีมั่น,นายชู เรืองศรีมั่น,นายปลื้ม เรืองศรีมั่น และนายคง หลงพิมาย ได้อพยพมาอยู่ ณ พื้นที่ก่อนตั้งชุมชนขนมจีน แต่ไม่ทราบว่าอพยพมาจากที่ไหน โดยเข้ามาทำการจับจองถากถางเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินสภาพเดิมของชุมชนมีลักษณะเป็นป่า มีสัตว์นานชนิดอาศัยอยู่ชาวบ้าน อาศัยการดำรงชีวิตด้วยการพึ่งพิงธรรมชาติเป็นหลัก
เดิมชุมชนขนมจีน ชื่อว่า คุ้มน้อย ราวปี 2516 พระครูวินัยธร (เปลี่ยน เรืองศรีมั่น) แห่งวัดบวรนิเวศวิหาร ได้ทำการเปลี่ยนชื่อคุ้มจากคุ้มน้อยเป็นคุ้มขนมจีน ด้วยเหตุผลว่าคนในชุมชนส่วนใหญ่ทำขนมจีนจำหน่ายเป็นจำนวนมาก และมีจำนวนประชากรในชุมชนมีจำนวนมากขึ้น จึงได้แยกชุมชนเป็นชุมชนขนมจีนจึงถึงปัจจุบัน
ชุมชนบ้านขนมจีน ตำบลโคกพระ อำเภอกันทรวิชัย ตั้งอยู่ไม่ไกลจากตัวอำเภอกันทรวิชัยมากนั้นโดยมีพื้นที่ตั้ง/อาณาบริเวณของชุมชนดังนี้ ทิศใต้ของชุมชนจรดพื้นที่บ้านโคกพระ ตำบลโคกพระ อำเภอกันทรวิชัย พื้นที่ทางด้านทิศเหนือจรดบ้านหนองไร่ ตำบลโคกพระ อำเภอกันทรวิชัย ทางทิศตะวันออกจรดบ้านหนองแวง ตำบลโคกพระ อำเภอกันทรวิชัย และพื้นที่ทางด้านทิศตะวันตกจรดกับบ้านน้ำเที่ยง ตำบลศรีสุข อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาเป็นอาชีพหลักเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำตามธรรมชาติ มีคลองส่งน้ำไหลผ่าน นอกจากทำนาแล้วยังมีอาชีพอื่นๆ โดยแบ่งแยกได้ดังนี้ อาชีพรองจากการทำนาคือการทำขนมจีนจำหน่าย ในการทำขนมจีนทำให้มีผู้รู้จักและสร้างชื่อเสียงให้กับชุมชน นอกจากนั้น ยังมีการประกอบอาชีพอื่นๆด้วยเช่น รับจ้างทั่วไป รับราชการ อาชีพบริการ เป็นต้น
ปัจจุบันประชากรของชุมชนบ้านขนมจีนมีจำนวนประชากรทั้งหมด 378 คน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการทำนาเป็นอาชีพหลักและทำขนมจีนจำหน่ายเป็นอาชีพเสริม
- วิสาหกิจชุมชนกลุ่มขนมเทียนแก้วผู้ใหญ่สมดี
- วิสาหกิจชุมชนขนมเทียนแก้วตราแม่พูลศรี
- ร้านผลิตขนมจีน 2-3 ร้าน
คนในชุมชนบ้านขนมจีนมีอาชีพหลักคือ การทำนา ซึงเป็นอาชีพที่ยึดถือกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ และอีกอาชีพหนึ่งที่เป็นอาชีพหลักๆในชุมชนคือการออกเดินทางไปทำงานรับจ้างต่างจังหวัดโดยเฉพาะวัยรุ่นที่เดินทางออกไปทำงานยังต่างจังหวัด ส่วนอาชีพเสริมหลังจากการทำนาคือการทำขนมจีนจำหน่าย โดยในปัจจุบัน มีทั้งการขายปลีกและขายส่ง และการขับเร่ขายตามชุมชนอื่นๆด้วยนับได้ว่าเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับครัวเรือนได้เป็นอย่างดี
- นางสมดี เหล่าเคน : ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขนมเทียนแก้วผู้ใหญ่สมดี
- นางพูลศรี รอบวงจันทร์ : ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขนมเทียนแก้วตราแม่พูลศรี
- การทำขนมจีนซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่สืบเนื่องมาแต่ครั้นบรรพบุรุษและส่งต่อมาให้คนรุ่นหลังได้สร้างอาชีพ
- พื้นที่ตั้งของชุมชนอยู่ไม่ห่างจากตลาดสดของอำเภอกันทรวิชัยมาก จึงง่ายต่อการนำผลิตภัณฑ์ไปทำการจำหน่าย
สกุณา พานชมภู.(2545). การจัดทำแผนแม่บทชุมชนบ้านขนมจีน หมู่ 3 ตำบลโคกพระ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม.มหาสารคาม : มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
สกุณา พานชมภู.(2545). การศึกษาวิเคราะห์ชุมชนบ้านขนมจีน หมู่ 3 ตำบลโคกพระ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม.มหาสารคาม : มหาวิทยาลัยมหาสารคาม