ชุมชนตลาดบ้านแป้ง เป็นย่านตลาดเก่าแก่ของชาวลาวเวียง ในอดีตเป็นจุดค้าขายและขนส่งสินค้าของอำเภอพรหมบุรี ตลาดบ้านแป้งนี้ขึ้นชื่อเรื่องของการอนุรักษ์อาคารไม้โบราณและอาหารรสเด็ดสูตรดั้งเดิมของนักปรุงอาหารรุ่นเก่า เช่น ขนมเบื้องญวนแม่ประเสริฐ
ชุมชนตลาดบ้านแป้ง เป็นย่านตลาดเก่าแก่ของชาวลาวเวียง ในอดีตเป็นจุดค้าขายและขนส่งสินค้าของอำเภอพรหมบุรี ตลาดบ้านแป้งนี้ขึ้นชื่อเรื่องของการอนุรักษ์อาคารไม้โบราณและอาหารรสเด็ดสูตรดั้งเดิมของนักปรุงอาหารรุ่นเก่า เช่น ขนมเบื้องญวนแม่ประเสริฐ
ย่านตลาดเก่าริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดกลางธนรินทร์ มีสภาพเป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านทางด้านทิศตะวันตก ซึ่งในอดีตชาวบ้านแป้งเป็นชาวลาวเวียงที่เคลื่อนย้ายมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ปัจจุบันเป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่มีอาคารไม้ห้องแถว โดยมีสินค้าที่ขึ้นชื่อ คือ ก๋วยเตี๋ยวบ้านแป้ง ขนมเบื้องญวน ขนมไทย หมูย่างและหอยทอด นอกจากนี้ ยังมีป้อมแนวคูค่ายพม่า และทุ่งข้าวเป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่ ทั้งนี้ยังพบว่าเดิมตําบลบ้านแป้งเคยเป็นแหล่งผลิตหม้อดินเผา ซึ่งถือว่าเป็นภาชนะที่สำคัญและมีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตประจำวันของคนไทยมาตั้งแต่อดีต
ที่ตั้งและอาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลพรหมบุรี อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลบางน้ำเชี่ยว อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลท่าวุ้ง อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ แม่น้ำเจ้าพระยาและตำบลโรงช้าง อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี
พื้นที่ชุมชนตําบลบ้านแป้ง ตั้งอยู่ในเขตปกครองส่วนท้องถิ่นองค์การบริหารส่วนตําบลบ้านแป้ง มีฐานะเป็นองค์การบริหารส่วนตําบลขนาดกลาง มีพื้นที่ประมาณ 6.7 ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างจากตัวจังหวัดสิงห์บุรี ประมาณ 17 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 6 หมู่บ้าน คือ บ้านเจดีย์หัก บ้านสามหมื่น บ้านฉางปูน บ้านเสาธงทอง บ้านบางจิก และบ้านบางชัน พื้นที่ตำบลบ้านแป้ง มีลักษณะภูมิประเทศ เป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงมีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแหล่งน้ำหลัก โดยมีคลองชลประทานมหาราช และคลองบางชันไหลผ่าน พื้นที่โดยทั่วไปเหมาะแก่การทําเกษตรกรรม
ประชากรรวมทั้งสิ้น 780 ครัวเรือน จํานวน 2,322 คน ประกอบด้วย ชายจำนวน 1,084 คน คิดร้อยละ 46.68 และหญิงจำนวน 1,238 คน คิดเป็นร้อยละ 53.32 ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร รับจ้างทั่วไป ค้าขาย และยังมีอุตสาหกรรมครัวเรือน ที่ขึ้นชื่อของตําบลบ้านแป้ง อาทิ ปลาส้มฟักสูตรโบราณ เครื่องดื่มสมุนไพร (แม่กิมเฮง) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตมาจากสมุนไพรไทย มีประโยชน์ต่อร่างกาย มีให้เลือกหลากหลาย เช่น น้ำตะไคร้ น้ำขิง เป็นต้น
ลาวเวียงการรวมกลุ่มขององค์กรชุมชนและกลุ่มอาชีพ มีดังนี้
- อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) จำนวน 1 กลุ่ม
- อาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐาน (อ.ส.ม.) จำนวน 6 กลุ่ม
- กลุ่มสตรี จำนวน 1 กลุ่ม
- กองทุนหมู่บ้าน จำนวน 6 กลุ่ม
- กลุ่มเกษตรกรทำนา หมู่ที่ 3 จำนวน 1 กลุ่ม
- กลุ่มเกษตรกรทำนา หมู่ที่ 5 จำนวน 1 กลุ่ม
- กลุ่มเกษตรกรทำนา หมู่ที่ 3 จำนวน 1 กลุ่ม
- กลุ่มสมาชิกเกษตรบ้านแป้ง หมู่ที่ 4 จำนวน 1 กลุ่ม
- กลุ่มแม่บ้านเกษตรแปรรูป จำนวน 1 กลุ่ม
- กลุ่มอาชีพ อื่น ๆ จำนวน 2 กลุ่ม
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
ประเพณียายดอกไม้ ชุมขนตำบลบ้านแป้ง อำเภอพรหมบุรี มีประวัติความเป็นมาที่เก่าแก่ มีวิถีความเป็นอยู่และประเพณีเก่าแก่ที่ชาวตำบลบ้านแป้งถือปฏิบัติต่อเนื่องกันมาตลอดเป็นเวลาอันยาวนานแล้วคือ ประเพณีทำบุญเข้าพรรษา ที่มีการนำดอกไม้ไปใส่บาตรพระ เรียกกันว่า ประเพณี "ยายดอกไม้" คือ ประเพณีตักบาตรดอกไม้ เป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวเวียงจันทน์ ประเทศลาว บรรพบุรุษของชาวชุมชนบ้านแป้ง ซึ่งอพยพมาจากเมืองเวียงจันทน์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ได้ถือปฏิบัติกันมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ภายหลังประเพณีนี้ก็ค่อย ๆ หายไป ดังนั้นเพื่อเป็นการฟื้นฟูประเพณี "ยายดอกไม้" ของชุมชนตำบลบ้านแป้งเอาไว้ทางวัดจินดามณีได้ร่วมกับประชาชนในตำบลบ้านแป้ง ทำการฟื้นฟูและจัดงานประเพณียายดอกไม้ขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2555 และเพื่อเป็นการอนุรักษ์ประเพณีพื้นบ้านและเป็นการสืบทอดต่อไป ถือว่าเป็นประเพณีสำคัญของชาวตำบลบ้านแป้งที่ได้สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
ทุนวัฒนธรรม
1. วัดอัมพวัน เป็นวัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก เป็นวัดสำคัญในชุมชนตลาดบ้านแป้ง อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี เป็นชื่อเดิมมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา ศิลาจารึกในอุโบสถหลังเก่าจารึกเป็นภาษาจีนว่าคนจีนได้สร้างอุโบสถวัดอัมพวันป้ายวัดอัมพวัน สมัยเหม็งเชี้ยว คนจีนได้นำเรือกำปั่นมาทำการค้าขายกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมืองลพบุรีมากับฝรั่งชาติฮอลันดาจอดหน้าวัดอัมพวัน ได้สร้างโบสถ์วัดอัมพวันสมัยเจ้าอาวาสวัดอัมพวันชื่อ พระครูญาณสังวร อายุ 99 ปี สร้างโบสถ์เสร็จแล้วฝรั่งเพื่อนคนจีนได้ขอพระราชทานพระหน้าปรกหินทั้งสององค์จากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชให้คนจีนเอาไว้ในโบสถ์จนถึงการสร้างโบสถ์หลังใหม่มาจนถึงทุกวันนี้
2. วัดกลางธนรินทร์ ก่อตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2380 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ชาวเวียงจันทน์ซึ่งถูกกวาดต้อนมาในฐานะเชลย ได้มาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินอยู่ ณ ตำบลบ้านแป้งในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีพระยากลางธนรินทร์ เป็นหัวหน้าของชาวเวียงจันทน์อยู่นั้น จึงร่วมกันสร้างวัดขึ้น ร่วมกันสร้างวัดนี้ขึ้นเป็น 1 ใน 4 วัด คือ วัดคู วัดกลางธนรินทร์ วัดจินดามณี และวัดพุทธาราม ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2435 ภายในวัดมีพระบรมธาตุเจดีย์บ้านแป้ง มีลักษณะคล้าย ๆ เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง มีขนาดกว้าง 24.70 เมตร ยาว 27.40 เมตร มีลักษณะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม ภายในมณฑปเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองและพระบรมสารีริกธาตุ รอบมณฑปมีเจดีย์เล็ก ๆ เรียงรายอยู่อีก 8 องค์ และวิหารคดล้อมรอบอีก 4 ทิศ บริเวณโดยรอบมีต้นโพธิ์และต้นจามจุรี (ต้นก้ามปู) ขนาดใหญ่
3. คูค่ายพม่า เป็นแหล่งชุมชนโบราณมีลักษณะเป็นเนินดินแนวยาวรูปร่างคล้ายตัว L ยาวประมาณ 5-15 เมตร กว้างประมาณ 3 เมตร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2127 ครั้งที่พม่ายกกองทัพมาตั้งที่ปากน้ำบางพุทราเพื่อรวบรวมกำลังเข้าตีกรุงศรีอยุธยา นับเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ปัจจุบันได้ปรับปรุงให้เป็นสวนสาธารณะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป
ชัยวัชร พรหมจิติพงศ์, ณัฐกฤตตา งามมีฤกธิ์ และณภัทร โพธิ์วัน. (2559). การศึกษาอัตลักษณ์ชุมชนและขีดความสามารถในการรองรับได้เพื่อการบริหารจัดการ วางแผนอนุรักษ์และพัฒนาสภาพแวดล้อมชุมชน ตำบลบ้านแป้ง อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี. วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, 9(1), 111–132.
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (ม.ป.ป). ทะเบียนย่านชุมชนเก่าในพื้นที่ภาคกลาง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 21 มีนาคม 2566, จาก https://www.onep.go.th/
องค์กรบริหารส่วนตำบลบ้านแป้ง. (ม.ป.ป). ข้อมูลหน่วยงาน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 21 มีนาคม 2566, จาก https://www.banpang.go.th/