Advance search

ชุมชนบ้านยายม่อมมีระบบนิเวศป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ พบบริเวณที่มีหาดทรายสีดำ ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ชุมชนจึงมีภูมิปัญญาการทำสปาทรายดำอันเป็นภูมิปัญญาเฉพาะของชาวชุมชนบ้านยายม่อม
หมู่ที่ 1
แหลมงอบ
แหลมงอบ
ตราด
วิภาพร บำรุงเกตุ
21 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
8 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
29 เม.ย. 2023
บ้านยายม่อม

ชุมชนบ้านยายม่อมได้ชื่อมาจากตำนานอันเกี่ยวเนื่องกับโขดหินริมทะเลหน้าชุมชน คือ ตำนานแหลมงอบ – เกาะช้าง 


ชุมชนชาติพันธุ์

ชุมชนบ้านยายม่อมมีระบบนิเวศป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ พบบริเวณที่มีหาดทรายสีดำ ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ชุมชนจึงมีภูมิปัญญาการทำสปาทรายดำอันเป็นภูมิปัญญาเฉพาะของชาวชุมชนบ้านยายม่อม
หมู่ที่ 1
แหลมงอบ
แหลมงอบ
ตราด
10520
12.17063
102.39619
เทศบาลตำบลแหลมงอบ

ชุมชนบ้านยายม่อมได้ชื่อมาจากตำนานอันเกี่ยวเนื่องกับโขดหินริมทะเลหน้าชุมชน คือ ตำนานแหลมงอบ-เกาะช้าง ซึ่งเป็นนิทานพื้นถิ่นของจังหวัดตราดที่ผูกเรื่องราวเล่าขานความเป็นมาอันเกี่ยวโยงกับสภาพธรรมชาติ เช่น เกาะ แหลม อ่าว แม้แต่โขดหินต่าง ๆ ในทะเล ดังมีรายละเอียดที่เล่าสืบกันมาว่า

"มีพระโพธิสัตว์สร้างตำหนักบนเกาะช้างและเลี้ยงช้างพรายชื่อ อ้ายเพชร ให้สองตายาย ชื่อตาบ๋ายและยายม่อมดูแล วันหนึ่งอ้ายเพชรหนีเตลิดเข้าป่าไปติดช้างพังจนเกิดลูก 3 ตัวพระโพธิสัตว์ให้ตาบ๋ายกับยายม่อมตามจับ โดยแยกไปคนละทาง อ้ายเพชรหนีไปสุดเกาะช้างทางเหนือแล้วลงทะเลว่ายน้ำข้ามไปขึ้นฝั่งอ่าวธรรมชาติ ลูกช้างสามตัวที่ตามไปด้วยจมน้ำตาย กลายเป็นโขดหินสามกองอยู่บริเวณอ่าวคลองสน จึงได้ชื่อว่า ‘หินช้างสามลูก’

ขณะที่อ้ายเพชรว่ายน้ำอยู่นั้นก็ถ่ายมูลออกมากลางร่องน้ำลึก จึงปรากฏกองหินที่เรียกว่า ‘หินขี้ช้าง’ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกระโจมไฟหรือประภาคารแหลมงอบ เมื่อขึ้นฝั่งตราดบริเวณอ่าวธรรมชาติอ้ายเพชรก็มุ่งหน้าเลียบชายฝั่งไปทางใต้ตาบ๋ายเห็นว่าตามไม่ทันจึงรีบกลับไป ในขณะที่ยายม่อมยังคงติดตามจนทัน แต่กลับพลัดตกลงไปในหล่มจมโคลนถึงแก่ความตายกลายเป็นหินอยู่ตรงฝั่งทะเลมีชื่อเรียกว่า ‘หินยายม่อม’ ส่วนงอบที่สวมอยู่หลุดกระเด็นไปติดที่ปลายแหลมกลายเป็นหินเช่นกัน เรียกว่า ‘แหลมงอบ’ พระโพธิสัตว์คาดการณ์ว่าเมื่ออ้ายเพชรเดินมาถึงฝั่งด้านใต้ของแผ่นดินใหญ่แล้วก็จะต้องว่ายน้ำข้ามกลับมายังท้ายเกาะอีกจึงเกณฑ์ผู้คนมาทำคอกช้าง

ดังนั้นหมู่บ้านบริเวณเกาะช้างด้านใต้ จึงมีชื่อบ้านนามเมืองว่า ‘สลักคอก’ ส่วนลิ่มและสลักซึ่งเป็นเครื่องมือในการทำคอกกลายเป็นเกาะลิ่มและเกาะสลัก และอ้ายเพชรก็ว่ายน้ำกลับมาดังคาด ขณะว่ายน้ำก็ถ่ายมูลออกมาอีกกลายเป็น ‘หินกอง’ แต่ไปถึงแล้วไม่ยอมเข้าคอก กลับเตลิดอ้อมปลายแหลมไปยังอ่าวด้านนอก พระโพธิสัตว์จึงสั่งให้คนสกัดหน้าจับตัวไว้ เรียกเป็นภาษาถิ่นว่า ‘สลักหน้า’ หมู่บ้านในบริเวณนั้นจึงมีชื่อบ้านนามเมืองว่า ‘สลักเพชร’ หมายถึง สกัดหน้าเพื่อดักช้างอ้ายเพชรนั่นเอง ทั้งยังเป็นชื่อของยอดสลักเพชรยอดเขาที่สูงที่สุดในเกาะช้างอีกด้วยจากการที่ช้างอ้ายเพชรเป็นต้นเหตุแห่งความยุ่งยาก พระโพธิสัตว์จึงฝังอาถรรพ์ไว้ตามเกาะต่าง ๆ ไม่ให้มีช้างมาอยู่อาศัยอีกต่อไป" ดังนั้น ป่าในหมู่เกาะทะเลตราดจึงไม่เคยปรากฏว่ามีช้างป่านอกจากช้างที่นำมาเลี้ยงในภายหลัง ปัจจุบันชายฝั่งทะเลบ้านยายม่อมยังคงมีโขดหิน "ยายม่อม" ตามตำนานเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน

ความเป็นมาของชาวมุสลิมเชื้อสายจามบ้านยายม่อม

สมัยรัชกาลที่ 3 เกิดสงครามเขมร-ญวน โปรดฯให้ยกทัพบกและทัพเรือไปปราบปรามได้รับชัยชนะกวาดต้อนพลเมืองชาวเขมร ญวน จีนเขมร รวมทั้งแขกจาม หรือมุสลิมเชื้อสายเขมรเข้ามายังไทยทั้งทางบกและทางเรือ สำหรับชาวมุสลิมจามที่มากับทัพเรือ ได้ส่งขึ้นฝั่งให้ตั้งบ้านเรือนอยู่กับชาวไทยและชาวจีนที่บ้านน้ำเชี่ยว ด้วยเมืองตราดเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ ประกอบกับคนตราดมีอุปนิสัยเอื้อเฟื้ออารีต่อคนต่างถิ่น แม้แต่ต่างชาติต่างศาสนาก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 5 มีกลุ่มชาวมุสลิมจามเชื้อสายเขมร ลงเรืออพยพหนีภัยจากการบีบบังคับเรื่องการนับถือศาสนาของจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสจำนวนสามกลุ่ม กลุ่มแรก เข้ามาอาศัยอยู่กับชุมชนมุสลิมบ้านน้ำเชี่ยวที่อยู่มาก่อน กลุ่มที่ 2 ขึ้นฝั่งและตั้งบ้านเรือนที่ปากน้ำเมืองระยอง กลุ่มที่ 3 เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ โปรดเกล้าฯ ให้อยู่อาศัยร่วมกับชุมชนมุสลิมจามที่บ้านครัว ริมคลองแสนแสบ ย่านถนนเพชรบุรี เขตปทุมวัน

นอกจากนี้ ยังมีการอพยพแขกครัวที่กรุงเทพฯ ให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านน้ำเชี่ยวเมืองตราด ด้วยเห็นว่ามีเชื้อสายเดียวกันทำให้บ้านน้ำเชี่ยวเป็นชุมชนมุสลิมขนาดใหญ่ จึงมีการขยับขยายพื้นที่อยู่ อาศัยไปจับจองที่ทำกินทางชายฝั่งทะเลแหลมงอบบริเวณปากคลองยายม่อมคือชุมชนมุสลิมยายม่อมในปัจจุบัน

ในส่วนประวัติความเป็นมาของชนชาติจามบรรพบุรุษดั้งเดิมมีว่า แต่เดิมชาวจามมีอาณาจักรอยู่ตอนกลางของประเทศเวียดนาม ชื่อ "อาณาจักรจามปา" รุ่งเรืองอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 7-19 ปกครองโดยกษัตริย์ มีศิลปวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพุทธนิกายมหายานจากจีนและศาสนาพราหมณ์จากอินเดีย ต่อมามีชาวมลายูเดินเรือเข้ามาตั้งรกรากแต่งงานกับชาวจามพื้นถิ่น จึงเข้านับถือศาสนาอิสลาม มีลูกหลานเป็นชาวมุสลิมจามเชื้อสายมลายูทวีจำนวนจนเป็นชนกลุ่มใหญ่ อาณาจักรจามปาล่มสลายเมื่อกษัตริย์ญวนกรีฑาทัพเข้าทำลายบ้านเมือง สังหารพลเมือง และจับเป็นเชลยจำนวนมาก มีบางส่วนที่อพยพหนีไปอยู่ในดินแดนเขมร จึงมีชื่อเมือง "กำปงจาม" มีลูกหลานสืบเชื้อสายเป็นชาวมุสลิมจามเชื้อสายเขมร ส่วนที่ยังหลงเหลืออยู่ในดินแดนญวนก็ถูกกลืนชาติไปหมดสิ้น อีกส่วนหนึ่งอพยพผ่านเขมรและลาวเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารกษัตริย์ไทยในสมัยอยุธยา

บทบาทและเรื่องราวของชาวมุสลิมจามเชื้อสายมลายูได้ปรากฏอยู่ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทยในกฎหมายตราสามดวง พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ความว่า "ชาวมุสลิมจามมีความสามารถในการเดินเรือ การค้าต่างประเทศ มีกำลังพลจำนวนมากที่มีฝีมือทางการรบ มีระเบียบวินัย และมีความภักดี จึงได้รับความไว้วางใจให้รับราชการในราชสำนักตามความเชี่ยวชาญ" ดังนั้น จึงปรากฏตำแหน่งขุนนาง ทั้งในกรมท่าและกลาโหมเป็นเชื้อชาติมุสลิมจาม อาทิ เจ้าพนักงานกำปั่นหลวง เจ้าเมืองปกครองเมืองที่ชายฝั่งทะเลดูแลการค้าต่างประเทศ ตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพเรือ ผู้บังคับการกองเรือพระที่นั่ง เป็นต้น

นอกจากนี้ ชาวมุสลิมจามยังมีบทบาทด้านการรบเข้าร่วมราชการสงครามกับกองทัพหลวงมาหลายยุคสมัย จึงเป็นที่มาของ "กองอาสาจาม" ซึ่งมีบทบาทการรบในคราวที่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ตีฝ่าวงล้อมของพม่า เข้าสวามิภักดิ์กับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี กอบกู้เอกราชและยังมีบทบาทการรบในสงครามเก้าทัพสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสถานที่ตั้งครัวเรือนบริเวณนอกกำแพงพระนคร ซึ่งเป็นท้องทุ่งนากว้างใหญ่ มีบึงบัวและมีคลองบางกะปิเป็นเส้นทางคมนาคม ขุนนางที่มีเชื้อสายมุสลิมจามยังคงรับราชการตลอดมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อมีพระราชบัญญัตินามสกุลก็เป็นต้นตระกูลให้ลูกหลานสืบเนื่องมาหลายสายสกุล

ชุมชนบ้านยายม่อม ตั้งอยู่ หมู่ที่ 1 บ้านแหลมงอบ ในเขตพื้นที่การปกครองของเทศบาล ตำบลแหลมงอบ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 5 หมู่บ้านได้แก่ หมู่ 1 บ้านแหลมงอบ หมู่ 2 บ้านคลองบ่อ หมู่ 3 บ้านแหลมมะขาม หมู่ 4 บ้านหัวหิน และหมู่5 บ้านแหลมทองหลาง จุดเด่นทางภูมิศาสตร์ของตำบลแหลมงอบที่มีลักษณะยื่นล้ำออกไปในทะเล จึงมีชื่อบ้านนามเมืองที่ขึ้นต้นด้วย “แหลม” หลายแห่ง

อาณาเขต

  • ทางทิศใต้และทิศตะวันออก ติดกับ ทะเลอ่าวไทยซึ่งสามารถออกสู่น่านน้ำประเทศกัมพูชาประชาธิปไตยจึงกำหนดให้เป็นจุด “สุดเขตแดนบูรพา”
  • ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลบางปิด อำเภอแหลมงอบ
  • ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลน้ำเชี่ยวและตำบลคลองใหญ่ อำเภอแหลมงอบ 

ชุมชนบ้านยายม่อมอยู่ห่างจากอำเภอเมืองตราดประมาณ 18 กิโลเมตร ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3148 สายตราด-แหลมงอบภายในชุมชนมีศาสนสถาน อันเป็นศูนย์รวมจิตใจคือ “มัสยิดนูรู้ลการีม” ตั้งอยู่ที่บ้านยายม่อม หมู่ที่ 1 ตำบลแหลมงอบ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด เป็นอาคารตึกสองชั้นรูปแบบสถาปัตยกรรมตามขนบแห่งศาสนาคือมียอดหลังคาเป็นโดมทรงกลมสีขาว ด้านขวาของอาคารเป็นที่ตั้งหออะซาน สร้างเป็นโดมยอดแหลมสีฟ้า ประดับยอดด้วยสัญลักษณ์ซีกวงเดือนและดวงดาวตัดขอบระเบียงสองชั้นด้วยสีแดงรับกับกรอบของหลังคาอาคารมัสยิดหากมองจากทะเลมายังชายฝั่งแหลมงอบจะเห็นมัสยิดนูรู้ลการีมเด่นเป็นสง่าบ่งบอกถึงตำแหน่งที่ตั้งของชุมชนบ้านยายม่อมอย่างชัดเจน

ประชากรในพื้นที่ชุมชนบ้านยายม่อมมีทั้งหมด 543 คน แบ่งเป็นเพศชาย 264 คน และเพศหญิง 279 ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนสืบเชื้อสายมุสลิมและเชื้อสายจาม

มลายู, เวียดนาม

กลุ่มคณะทำงานที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดแผนนโยบายขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่ 1 กลุ่มผู้นำศาสนามัสยิดนูรู้ลการีม มีหน้าที่ควบคุมและตรวจสอบความเหมาะสมในการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวชุมชน

กลุ่มที่ 2 กลุ่มสตรีมุสลิมที่เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ชุมชนยายม่อมหน้าที่ดูแลและให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพของคนในชุมชน รวมทั้งครูภูมิปัญญาด้านธรรมชาติบำบัด

กลุ่มที่ 3 กลุ่มกองทุนฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร มีหน้าที่ผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารทะเล โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรจังหวัดตราด

กลุ่มที่ 4 กลุ่มเรือประมง มีหน้าที่รับจ้างหาเรือท่องเที่ยว

กลุ่มที่ 5 กลุ่มเยาวชนจิตอาสา ประกอบด้วยเยาวชนจากโรงเรียนแหลมงอบวิทยาคมโรงเรียนชุมชนแหลมงอบ และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมัสยิดนูรุ้ลการีม

ในปัจจุบันชุมชนบ้านยายม่อมอยู่ใกล้กับเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแหลมมะขาม มีระบบนิเวศป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นบริเวณที่มีหาดทรายสีดำ มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยและมีเพียง 5 แห่งในโลกนี้เท่านั้น จึงเกิดเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในการใช้ทรายดำหมกตัวเป็นวิธีปฏิบัติที่สืบทอดกันมานานมาจนถึงปัจจุบัน

วิถีชีวิตของชุมชนบ้านยายม่อมมีความเป็นอยู่แบบเรียบง่ายและไม่รบกวนธรรมชาติ เป็นชุมชนที่เข้มแข็งในการจัดการเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จัดตั้งเป็นนิเวศพิพิธภัณฑ์บ้านยายม่อม (Eco Museum of Yaimom) ซึ่งจะเป็นศูนย์ความรู้ จัดเก็บสิ่งของที่เป็นทรัพยากรทางธรรมชาติ สมุนไพรที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน เช่น ชาใบขลู่ ต้นผักที่ขึ้นตามบริเวณป่าชายเลนใกล้กับหาดทรายดำ แล้วเอามาแปรรูปเป็นใบชาทำเป็นยาสมุนไพรช่วยขับปัสสาวะให้ใส แก้ปวดเมื่อยตามข้อกระดูก แล้วก็ยังมีธนาคารสีเขียว เป็นหนึ่งโครงการที่ชาวบ้านร่วมกันก่อตั้งโดยธนาคารจะมีกิจกรรมปล่อยปูไข่นอกกระดอง ปล่อยแมงดากลับคืนสู่ธรรมชาติ มีวิธีการทำประมงพื้นบ้านแบบเล็ก ๆ มีการรวมกลุ่มของผู้สูงอายุ เพื่อแปรรูปอาหารทะเลแบบดั้งเดิม ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลาโคกก็จะมีก้างปลาโคกแดดเดียว ปลาโคกหวาน ปลาโคกแดดเดียว ที่สะอาด ปลอดสารพิษ มีแคลเซียม มีประโยชน์ อีกหนึ่งอาหารเด่นของที่ชุมชนบ้านยายม่อม ก็คือ น้ำพริกปลาโคก อาหารขึ้นชื่อของที่นี่มาดูขั้นตอนวิธีการทำและยังได้ช่วยผัดน้ำพริกอีกด้วย อร่อยหรือไม่บอกไม่ได้ถ้าไม่ได้ชิมด้วยตัวเอง อีกหนึ่งอาหารที่ไม่ควรพลาด คือ เมี่ยงคำไส้แห้ง กินกับเครื่องเคียงสมุนไพรไม่ว่าจะเป็นหอมแดง พริก ถั่วลิสง มะนาว และห่อด้วยใบชะพลู อร่อยไม่แพ้เมี่ยงคำที่อื่น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม ภูมิปัญญา

  • มัสยิดนูรุ้ลการีม จากคำบอกเล่าของ ณรงค์ เจ๊ะเซ็น หรือ ท่านอับดุลเลาะห์อิหม่ามมัสยิดนูรู้ลการีมคนปัจจุบันกล่าวว่า “ประมาณ 80 ปีล่วงมาแล้ว เมื่อมีชาวมุสลิมประมาณ 10 ครัวเรือน แยกย้ายจากหมู่ข้านน้ำเชี่ยวและหมู่บ้านแหลมทองหลาง ตำบลแหลมงอบ อำเภอแหลมงอบมาจับจองที่ทำกิน ณ บริเวณหาดทรายดำใกล้ปากคลองยายม่อม เรียกบริเวณนี้ว่า ‘หัวสวน’ ขณะนั้นบริเวณนี้มีชาวจีนตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ก่อนประมาณ 2-3 ครัวเรือน แต่ต่อมาชาวจีนกลุ่มนี้ได้ย้ายไปตั้งบ้านเรือนใหม่ที่บ้านหินกลาง สมัยนั้นมีการสร้างมัสยิชั่วคราวด้วยไม้ เรียกว่า ‘บะแล’ ณ บริเวณลานทรายดำ ท่านยูซฟ มันจะหุนา หรือ อิหม่ามสม เป็นผู้บุกเบิกและเป็นอิหม่ามคนแรก หลังจากที่อิหม่ามสมถึงแก่กรรมจึงแต่งตั้ง ท่านยูชูฟ สลาม ซึ่งมีเชื้อสายเดิมเป็นชาวสตูล ขึ้นเป็นอิหม่ามคนที่ 2 ซึ่งท่านเป็นทั้งครูบักตั้บ และอิหม่ามประจำมัสยิด การที่บะแลหรือมัสยิดหลังแรกอยู่ห่างจากทะเลประมาณ 3-4 วา ในฤดูหนาวคลื่นลมแรง น้ำทะเลจะหนุนขึ้นสูง ทำให้ชายฝั่งถูกน้ำทะเลท่วมและกัดเซาะ จึงมีสภาพทรุดโทรม การเดินทางไปประกอบศาสนกิจค่อนข้างยากลำบากประกอบกับมีพี่น้องชาวมุสลิมจากที่ต่าง ๆ เช่น จากฉะเชิงเทรา นครนายก พระนครศรีอยุธยา มีนบุรี ทยอยเดินทางมาตั้งบ้านเรือนเป็นชุมชนใหญ่ขึ้น ประมาณปี พ.ศ. 2512 สมัยอิหม่ามคนที่ 3 คือ ท่านสุรินทร์ ยิหวาซ้อน จึงย้ายมาสร้างมัสยิดเป็นอาคารไม้ ณ ที่ตั้งปัจจุบัน หลังจากนั้นอีกประมาณ 6 ปี จึงต่อเติมเป็นอาคารสองชั้นครึ่งปูนส่วนล่างส่วนด้านบนเป็นไม้แต่อีก 10 ปี ต่อมาก็ประสบปัญหาปลวกกัดกินส่วนที่สร้างด้วยไม้ ทำให้มีสภาพทรุดโทรม ประมาณปี พ.ศ. 2544 มีการรวบรวมทุนทรัพย์เพื่อสร้างมัสยิดหลังใหม่ซึ่งผู้บริจาคส่วนใหญ่มาจากตระกูลที่มีชื่อเสียงในกรุงเทพฯ และผู้มีจิตศรัทธาอีกหลายท่าน” นอกจากนี้ ยังมีการระดมทุนเรื่อยมาจนกระทั่งสร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อปี พ.ศ. 2546 ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
  • ภูมิปัญญาการทำถ่านกะลาเพื่อกู้วิกฤตไข้เลือดออก ชุมชนบ้านยายม่อมประสบปัญหาไข้เลือดออกระบาดเพราะมีการทิ้งเศษกะลามะพร้าวจากครัวเรือนเป็นจำนวนมากจนกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ด้วยเหตุนี้ กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านจึงพยายามรณรงค์ให้คนในชุมชนเกิดจิตสำนึกร่วมกันในการแก้ไขปัญหา โดยนำกะลามะพร้าวมาเผาถ่านเพื่อสร้างรายได้แก่กลุ่มผู้สูงอายุ อีกทั้งในแต่ละเดือนจะมีการจัดกิจกรรมเดินรณรงค์เตือนภัยโรคไข้เลือดออก มีการรวมกลุ่มคนในชุมชนและเยาวชนจิตอาสาช่วยกันเก็บขยะที่คลื่นลมพัดพาเข้ามาในชุมชน นอกจากนี้มีการนำผงถ่านกะลามาใช้ในการทำขนมพื้นบ้าน ได้แก่ ขนมเปียกปูนถ่านกะลา โรตีถ่านกะลา เป็นต้น
  • ภูมิปัญญาการหมักปุ๋ยจากปลาโคก ปลาโคกเป็นปลาน้ำกร่อยที่มีรูปร่างคล้ายปลาตะเพียนน้ำจืด ลำตัวป้อมสั้นจะงอยปากสั้นทู่ตามีเยื่อไขมันหุ้ม ปากเล็ก ท้องแบนเป็นสันคมซึ่งเกิดขึ้นเพราะการเปลี่ยนรูปของเกล็ดไปทำหน้าที่ในการป้องกันตัว ครีบหางเว้าลึก ครีบอื่น ๆ มีขนาดเล็ก สีของลำตัวด้านหลังมีสีดำปนเทาทางด้านท้องสีขาวเงิน หลังช่องเปิดเหงือกมีจุดสีดำข้างละจุด มักอาศัยรวมกันเป็นฝูงหากินตามพื้นหน้าดินตามชายฝั่งและบริเวณปากแม่น้ำ พบทั่วไปในอ่าวไทย ชาวมุสลิมบ้านยายม่อม มีภูมิปัญญาการนำปลาโคกมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ปลาโคกแดดเดียวเพื่อสร้างรายได้ให้กลุ่มผู้สูงอายุ แต่เนื่องจากมีเศษซากของปลาโคกและปลาอื่น ๆ ที่เหลือจำนวนมากจากการแปรรูปทางกลุ่มกองทุนฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรบ้านยายม่อม และกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จึงได้รวมกลุ่มกันจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนผลิตปุ๋ยปลาโคกจำหน่ายแก่เกษตรกรในพื้นที่ คุณภาพดีและราคาย่อมเยา
  • ภูมิปัญญาการสกัดน้ำไผ่กอหลวง ต้นไผ่กอหลวงนับว่าเป็นพืชท้องถิ่นที่มีเฉพาะในจังหวัดตราด มักเจริญเติบโตในพื้นที่เขตชายฝั่งทะเลคุณลักษณะพิเศษ คือ เนื้อไม้ไผ่มีความแข็งแกร่งกว่าไผ่พันธุ์อื่น ๆ ชาวมุสลิมบ้านยายม่อมมีการสืบทอดภูมิปัญญาการสกัดน้ำไผ่ฮาลาลจากไผ่กอหลวงมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งค้นพบว่าหากรับประทานน้ำที่สกัดจากไผ่กอหลวงจะช่วยขับสารพิษและสลายนิ่วได้เมื่อรับประทานอย่างต่อเนื่องประมาณ 2 สัปดาห์ หรือนำมาประพรมบริเวณใบหน้าจะช่วยบำรุงผิวและชะลอการเกิดริ้วรอย ช่วงเวลาที่เหมาะแก่การเก็บผลผลิตน้ำสกัดจากไผ่กอหลวงคือช่วงเช้ามืดจะได้น้ำไผ่บริสุทธิ์ วิธีการเก็บผลผลิตจะทำการใช้สว่านเจาะให้เป็นรูบริเวณลำต้นจากนั้นเสียบหลอดด้านหนึ่งเข้าไปในลำกระบอกไม้ไผ่ ทิ้งไว้สักพักจะมีน้ำไหลออกมา สามารถนำขวดหรือภาชนะใส่เก็บไว้ หลังจากเก็บน้ำไผ่แล้วจะใช้โคลนขาวหรือดินน้ำมันอุดตามรูที่เจาะบนลำต้นเพื่อกันแมลงและมดเข้าไปทำรัง ปัจจุบันไผ่กอหลวงเป็นพืชหายาก ชาวบ้านจึงหันมาเก็บน้ำไผ่จากต้นไผ่ตงแทน เพราะหาได้ง่ายและให้น้ำไผ่ในปริมาณมากกว่า ทำให้วิถีชีวิตและภูมิปัญญาการสกัดน้ำไผ่ฮาลาลจากต้นไผ่กอหลวงจึงกำลังถูกลืมเลือน
  • ภูมิปัญญาการกัวซาบำบัดด้วยน้ำมันฮับบะตุสเซาดะฮ์ (ยี่หร่าดำ) ฮับบะตุสเซาดะฮ์ เป็นชื่อสมุนไพรชนิดหนึ่ง ในภาษาไทยรู้จักแพร่หลายในชื่อ “เทียนดำ” หรือ “ยี่หร่าดำ” ลักษณะของเมล็ดของฮับบะตุสเซาดะฮ์มีสีดำคล้ายงา รสชาติร้อนและขมเล็กน้อย นับว่าเป็นพืชที่มีคุณประโยชน์นานับประการการแพทย์แผนมุสลิมโบราณนิยมใช้ฮับบะตุสเซาดะฮ์เป็นส่วนประกอบในการรักษาโรคทุกชนิด ปัจจุบันชุมชนบ้านยายม่อมมีภูมิปัญญาการนวดกัวซาบำบัดบริเวณใบหน้าด้วยเขาควายเผือกภูมิปัญญาดังกล่าวสืบทอดโดยตระกูลวันยาเรซึ่งเป็นมุสลิมเชื้อสายจามที่อพยพมาจากชุมชนบ้านครัวกรุงเทพฯ ในอดีตใช้น้ำมันสกัดจากเมล็ดฮับบะตุสเซาดะฮ์ในการนวดกัวซาบำบัด ซึ่งนำเข้าจากเครือข่ายชุมชนมุสลิมในจังหวัดจันทบุรี แต่ปัจจุบันน้ำมันฮับบะตุสเซาดะฮ์เป็นของหายากและมีราคาสูงต้องนำเข้าจากเครือข่ายชุมชนมุสลิมในภาคเหนือภูมิปัญญาการนวดกัวซาโดยใช้น้ำมันฮับบะตุสเซาดะฮ์จึงอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญหาย เพราะมีการใช้น้ำมันมะพร้าวซึ่งเป็นวัตถุดิบที่หาง่ายกว่ามาแทนที่วิธีการแบบดั้งเดิม

ทุนกายภาพ

  • หาดทรายดำ ตำบลแหลมงอบ เป็นบริเวณที่มีหาดทรายสีดำมีมรดกนิเวศที่เป็นสิ่งมหัศจรรย์แห่งเดียวในประเทศไทยเป็น คือ ทรายดำ ซึ่งนำมาใช้บำบัดรักษาร่างกายภายนอก โดยชาวมุสลิมบ้านยายม่อมค้นพบคุณค่าของทรายดำ จากการลุยทรายในขณะแดดร้อนจัดเพื่อประกอบพิธีละหมาดที่ “บะแล” (มัสยิดที่สร้างขึ้นชั่วคราวด้วยไม้โกงกาง) แล้วสังเกตว่าการเดินย่ำบนทรายดำช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อย เลือดไหลเวียนสะดวก ผู้สูงอายุมีสุขภาพแข็งแรงไม่ป่วยเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต การที่ลานทรายดำแห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งบะแล เป็นที่ปฏิบัติศาสนกิจและทำละหมาดเป็นประจำต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายปี มีการกล่าวอัญเชิญโองการต่าง ๆ จากพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน และการกล่าวถ้อยคำวิงวอนต่อองค์พระอัลลอฮฺ ซึ่งชาวมุสลิมเชื่อว่าย่อมเป็นคาถาแห่งการบำบัดได้ทุกโรค ดังนั้นการบำบัดรักษาด้วยทรายดำในบริเวณนี้ย่อมที่จะสัมฤทธิ์ผล

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา. (2564). ชุมชนท่องเที่ยวบ้านยายม่อม. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 21 มีนาคม 2566, จาก https://thailandtourismdirectory.go.th/.

ณิศิรา กายราศ. (2560). รูปแบบนิเวศพิพิธภัณฑ์เพื่อการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโดยชุมชนมุสลิม กรณีศึกษา ชุมชนบ้านยายม่อม อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยสวนดุสิต. 

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(องค์การมหาชน). (2563). วิสาหกิชุมชนกลุ่มฟื้นฟูอาชีพบ้านยายม่อม. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 21 มีนาคม 2566, จาก https://cbtthailand.dasta.or.th/