ชุมชนตลาดเจ็ดเสมียน มีอายุกว่า 100 ปี เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีตำนานท้องถิ่นบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของชุมชน โดยชุมชนแห่งนี้ที่ได้รับการฟื้นคืนชีวิตตลาดขึ้นมาใหม่ให้มีความร่วมสมัยมากขึ้นภายใต้โครงการ All About Arts ซึ่งเป็นโครงการที่ทำให้ชุมชนได้มีการเผยแพร่วัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาในชุมชน ทั้งยังมีการผลิตไชโป๊ว ที่ขึ้นชื่อว่า มีรสชาติดี
ชื่อ “เจ็ดเสมียน” มีที่มาจากเรื่องเล่า ตำนาน รวมไปถึงบันทึกต่าง ๆ ในหลายสำนวน โดยมักกล่าวถึง เจ็ดเสมียน ในความหมายของเสมียนจำนวนเจ็ดคนในสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไปตามเรื่องเล่า ตำนาน และบันทึกแต่ละเรื่อง
ชุมชนตลาดเจ็ดเสมียน มีอายุกว่า 100 ปี เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีตำนานท้องถิ่นบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของชุมชน โดยชุมชนแห่งนี้ที่ได้รับการฟื้นคืนชีวิตตลาดขึ้นมาใหม่ให้มีความร่วมสมัยมากขึ้นภายใต้โครงการ All About Arts ซึ่งเป็นโครงการที่ทำให้ชุมชนได้มีการเผยแพร่วัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาในชุมชน ทั้งยังมีการผลิตไชโป๊ว ที่ขึ้นชื่อว่า มีรสชาติดี
เจ็ดเสมียน เป็นชื่อบ้านนามเมืองแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ชื่อนี้ปรากฏอยู่ในหลักฐานทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและเป็นตำนานบอกเล่า เช่น ในตำนานพระปฐมเจดีย์ ฉบับพระยาราชสัมภารากรและฉบับตาปะขาวรอด ได้บันทึกเรื่องราวของนิทานพื้นบ้านเรื่องพระยากง พระยาพาน โดยได้กล่าวถึง “บ้านเจ็ดเสมียน” เมื่อครั้งที่พระเจ้าแผ่นดินสุโขทัยให้บุตรบุญธรรมพระยาพาน ซึ่งเป็นผู้มีบุญญาธิการมาก ลงมาซ่องสุมผู้คนตั้งอยู่ที่ “บ้านเจ็ดเสมียน”
ความเป็นมาของชื่อบ้าน “เจ็ดเสมียน” ปรากฏเรื่องราวเล่าขานเป็นตำนานท้องถิ่นสืบต่อกันมาว่า ในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 พระเจ้าตากสินมหาราชได้รวบรวมไพร่พลออกจากรุงศรีอยุธยาเดินทางผ่านมายังเมืองราชบุรี แล้วโปรดให้รี้พลพากันข้ามแม่น้ำแม่กลองไปตั้งค่ายพักแรมบริเวณที่มีต้นไม้ใหญ่ จากนั้นดำริให้ป่าวประกาศรับสมัครชายชาติทหารเพื่อร่วมรบกับข้าศึก เช้าวันรุ่งขึ้นมีผู้คนมาสมัครเป็นจำนวนมาก พระองค์จึงโปรดให้รับสมัครผู้รู้หนังสือมาเป็นเสมียนรับลงทะเบียนเพิ่มเติม ปรากฏว่ามีคนมาอาสาทำหน้าที่ดังกล่าวถึง 7 คน และทำการบันทึกรายชื่อทหารได้ทันพลบค่ำพอดี จึงกลายเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน “เจ็ดเสมียน”
ในนิราศพระแท่นดงรังของสามเณรกลั่น ซึ่งแต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2376 เมื่อครั้งที่ท่านเดินทางไปนมัสการพระแท่นดงรัง ได้เล่าถึงเรื่องราวความเป็นมาของย่านเจ็ดเสมียนว่า เจ็ดเสมียนเป็นย่านใหญ่ เดิมมีจระเข้อยู่เป็นจำนวนมาก แม้พระมหากษัตรย์จะใช้เสมียนถึงเจ็ดคนมาทำการจดก็ยังไม่พอ
ชื่อ “เจ็ดเสมียน” ปรากฏอยู่ใน “กลอนเพลงยาวนิราศเรื่องรบพม่าที่ท่าดินแดง” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เมื่อคราวที่เสด็จไปรับศึกพม่าที่กาญจนบุรีปลาย พ.ศ. 2329 ทรงกล่าวถึงสถานที่ต่าง ๆ ตามเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินรวมทั้ง “เจ็ดเสมียน”
นอกจากนี้ ยังมีนิราศซึ่งเป็นลักษณะของการพรรณาการเดินทางอีกหลายเรื่องที่กล่าวถึง เจ็ดเสมียน ในความหมายของเสมียนจำนวน 7 คน เช่น โคลงนิราศตามเสด็จทัพลำน้ำน้อยเขวงเมืองกาญจนบุรี ของพระยาตรัง, โคลงนิราศทวาย ของ พระพิพิธสาลี, ลิลิตเสด็จไปขัดทัพพม่าเมืองกาญจนบุรี พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ, นิราศไทรโยค พระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และเรื่องเที่ยวไทรโยคคราวสมเด็จพระปิตุลา บรมวงศาภิมุข เสด็จประพาสเมื่อ พ.ศ. 2464 เป็นต้น
ในพระราชนิพนธ์ “ระยะทางเสด็จประพาสไทรโยคในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งแรก ปี ฉลู พ.ศ. 2420 ได้มีการกล่าวถึง “เจ็ดเสมียน” ด้วยเช่นกัน
รายงานทะเบียนวัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ระบุว่า วัดเจ็ดเสมียน เป็นวัดราษฎร์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2300 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า บริเวณนี้มีชุมชนเก่าแก่ และที่มาของชื่อวัดอาจตั้งตามชื่อหมู่บ้านซึ่งมีอยู่มาแต่เดิม ตามลักษณะของการตั้งชื่อสถานที่ ชื่อที่ตั้งขึ้นแต่ละยุคสมัยจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมที่ปรากฏในสมัยใดสมัยหนึ่ง ชื่อจึงเป็นเครื่องหมายบอกเรื่องราวภูมิหลังเพื่ออ้างอิงการรับรู้ร่วมกัน ชื่อบ้าน “เจ็ดเสมียน” สะท้อนแนวคิดในเรื่องชื่อบ้านนามเมืองหรือภูมินามพื้นบ้าน เป็นการบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของชุมชนผ่านการตั้งชื่อ
ในสมุดราชบุรีปี พ.ศ. 2468 ระบุว่า “เจ็ดเสมียน” เคยเป็นที่ตั้งของอำเภอมาก่อน โดยอำเภอโพธารามเดิมเรียกว่า อำเภอเจ็ดเสมียน ต่อมาในปี พ.ศ. 2438 (ร.ศ. 114) จึงได้ย้ายขึ้นไปตั้งที่ตำบลโพธารามทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำแม่กลอง ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จพระราชดำเนินซ้อมรบเสือป่าที่จังหวัดราชบุรี และใช้พื้นที่เจ็ดเสมียนในการซ้อมรบด้วย
ตลาดนัดชุมชนหลังสถานีรถไฟ ต.เจ็ดเสมียน หรือตลาดเจ็ดเสมียนสมบูรณ์ ตั้งอยู่ในทำเลที่มีเส้นทางคมนาคมหลักสามเส้นทางโอบล้อม พาดผ่าน คือ มีแม่น้ำแม่กลองอยู่ทางด้านตะวันตกของชุมชน มีสถานีรถไฟเจ็ดเสมียนอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของชุมชน และคั่นกลางด้วยถนนของชุมชน
เมื่อครั้งที่แม่น้ำยังเป็นเส้นทางสัญจรหลัก ตลาดมีลักษณะเป็นโรงหลังคามุงจาก มีเรือจากชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงมาทำการค้าขายที่ท่าตลาดเจ็ดเสมียนอย่างคับคั่ง มีทั้งเรือจากโพธาราม บ้านโป่ง บางนกแขวก บางคนที ดำเนินสะดวก และอัมพวา โดยแต่เดิมตลาดแห่งนี้เป็นตลาดนัดเช้า มีขึ้นทุกวันขึ้นและแรม 3 ค่ำ 8 ค่ำ และ 13 ค่ำ ภายหลังเมื่อการคมนาคมทางน้ำซบเซาลง พร้อมกับการเกิดขึ้นของทางรถไฟและถนน อาคารร้านค้าที่เคยหันหน้าสู่แม่น้ำ จึงมีการพัฒนามาเป็นตึกแถวและเรือนไม้สองชั้นหันหน้าเข้าสู่ถนน เพื่อให้เหมาะกับพื้นที่มากขึ้น ในเวลาต่อมา เมื่อร้านค้าในตลาดซบเซาลงอีกครั้ง ร้านค้าส่วนใหญ่ซึ่งเป็นของชาวจีน เมื่อทำการค้าจนร่ำรวย จึงทำให้แต่ละครัวเรือนพยายามส่งบุตรหลานให้ได้รับการศึกษาระดับสูง คนรุ่นหลังมีการอพยพย้ายถิ่นฐานเข้าไปอยู่ในเมือง หรืออยู่ต่างถิ่นมากขึ้น ส่งผลให้เรือนไม้ที่ปรากฏในตลาด บางส่วนใช้เป็นที่อยู่อาศัย บางส่วนปิดตาย เหลือผู้สืบทอดกิจการของบรรพบุรุษอยู่เพียงไม่กี่ราย
อย่างไรก็ตาม ตลาดนัดเจ็ดเสมียนยังคงทำหน้าที่เป็นแหล่งซื้อขายของชุมชนอย่างแข็งขันจวบจนปัจจุบัน นอกจากตลาดนัดเช้าที่มีตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ยังมีตลาดนัดเย็นทุกวันพุธ ศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ด้วย ซึ่งเมื่อถึงเวลานัด ลานโล่งกลางตลาดจะเต็มไปด้วยผู้คนและแผงค้าขาย
ปัจจุบัน เทศบาลตำบลเจ็ดเสมียนมีการร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน ดำเนินการโครงการ All About Arts (สืบสานงานศิลป์ ภูมิปัญญาคนของแผ่นดิน) ตลาดเก่า 119 ปี เจ็ดเสมียน เพื่อรำลึกถึงตลาดเก่าที่มีมาแต่เดิม โดยถือผู้คนในชุมชนถือเอา ปี พ.ศ. 2431 ซึ่งเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ประพาสต้น เป็นวันเริ่มนับอายุตลาดเจ็ดเสมียนแห่งนี้
ชุมชนตลาดเจ็ดเสมียนห่างจากที่ว่าการอำเภอโพธาราม ประมาณ 9 กิโลเมตร อยู่ห่างจากตัวจังหวัดราชบุรี ประมาณ 15 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 90 กิโลเมตร การเดินทางจากกรุงเทพฯ มายัง ชุมชนตลาดเจ็ดเสมียน สามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลและรถไฟ
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
ชุมชนตลาดเจ็ดเสมียน เดิมเป็นชุมชนเกษตรกรรมริมน้ำ ในระยะแรกมีการตั้งถิ่นฐานรวมกลุ่มกันไปตามริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ต่อมาเมื่อมีเส้นทางคมนาคมผ่านให้ประชาชนใช้ในการสัญจรทั้งทางรถยนต์และรถไฟ การตั้งถิ่นฐานภายในชุมชนตลาดเจ็ดเสมียนมีการกระจายตัวทั้ง 2 ทิศทางในแนวริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง และแนวทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3238 โดยมีสถานที่ตั้งของสาธารณูปการเดิม เช่น วัด โรงเรียน ตลาด เรียงรายอยู่ตามชุมชนเดิม คือ ริมแม่น้ำแม่กลอง
จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี พ.ศ. 2565 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรชุมชนบ้านเจ็ดเสมียน จำนวน 72 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 157 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 80 คน หญิง 77 คน ผู้คนในชุมชนมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เป็นความสัมพันธ์แบบเครือญาติ และความสัมพันธ์ในลักษณะสังคมชนบท เนื่องจากชุมชนมีสภาพเป็นชุมชนปิด ไม่ได้ตั้งอยู่บนทำเลที่ตั้งที่เป็นทางผ่าน หรือเป็นที่รู้จักของผู้คนภายนอกจากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี พ.ศ. 2565 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรชุมชนบ้านเจ็ดเสมียน จำนวน 72 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 157 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 80 คน หญิง 77 คน ผู้คนในชุมชนมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เป็นความสัมพันธ์แบบเครือญาติ และความสัมพันธ์ในลักษณะสังคมชนบท เนื่องจากชุมชนมีสภาพเป็นชุมชนปิด ไม่ได้ตั้งอยู่บนทำเลที่ตั้งที่เป็นทางผ่าน หรือเป็นที่รู้จักของผู้คนภายนอก
ชุมชนตลาดเจ็ดเสมียน ประกอบด้วยผู้คนหลากหลายกลุ่มชนอาศัยอยู่ร่วมกัน เช่น คนไทยพื้นถิ่นเดิม คนไทยเชื้อสายเขมร คนไทยเชื้อสายลาว และคนไทยเชื้อสายจีน โดยในอดีตกลุ่มชนแต่ละกลุ่มได้ประพฤติ ปฏิบัติตนตามแบบแผนวัฒนธรรมดั้งเดิมของตน ทั้งในเรื่องความคิด ภาษา ประเพณี และพิธีกรรม
บรรพบุรุษของคนเจ็ดเสมียนที่อาศัยอยู่ทางทิศตะวันออกของทางรถไฟมาจากเวียงจันทน์และเมืองใกล้เคียง เรียกคนกลุ่มนี้ว่า “ลาวตี้” ส่วนบรรพบุรุษของชาวเจ็ดเสมียนอีกกลุ่มนั้นอพยพมาจากสุรินทร์ เป็นนายกองเลี้ยงช้างของพระเจ้าแผ่นดิน มาลงหลักปักฐานกันอยู่ที่บ้านสนามชัย บ้านกุ่มหรือบ้านเกาะสมบูรณ์ มักเรียกกันว่า “คนไทยเชื้อสายเขมร”
ขแมร์ลือ, จีน, ลาวเวียงกลุ่มอาชีพ ผู้คนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม นิยมปลูก ข้าว อ้อย มะขามเทศมัน และพืชผัก ผลไม้อื่น ๆ และมีการจำหน่ายสินค้าซึ่งเป็นผลผลิตที่เหลือจากการบริโภคในครัวเรือน ทำให้สินค้าบางส่วนเกิดการแปรรูปและสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ผู้คนในชุมชนจึงมีอาชีพอีกอย่างหนึ่ง คือ การค้าและอุตสาหกรรม โดยด้านการค้า มีทั้งขนาดเล็กถึงปานกลาง ส่วนใหญ่เป็นการทำโรงงานทำหัวผักกาดเค็ม (หัวไชโป๊ว) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากของชุมชน นอกจากนี้ ยังมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จำนวน 1 แห่ง เป็นโรงงานผลิตผลไม้อบแห้ง ซึ่งถือเป็นการสร้างงานให้ผู้คนในชุมชนได้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง
ในรอบปีของผู้คนในชุมชนตลาดเจ็ดเสมียนมีวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น ดังต่อไปนี้
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
ประเพณีแห่ดอกไม้ท้ายสงกรานต์ งานประเพณีสำคัญของชุมชนตลาดเจ็ดเสมียน ซึ่งชาวบ้านช่วยกันสืบทอดและอนุรักษ์ไว้เป็นเวลายาวนานกว่า 100 ปี ประเพณีแห่ดอกไม้ท้ายสงกรานต์ เป็นประเพณีของคนไทยเชื้อสายลาวที่มาอาศัยอยู่ในตำบลเจ็ดเสมียน จัดขึ้นในช่วงสัปดาห์ต่อจากเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี เพื่อกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์และผู้มีพระคุณในช่วงปีใหม่ มีรากเหง้ามาจากกลุ่มชาวลาวที่แต่เดิมมีการเก็บดอกไม้จากตามหัวบ้านหัวนามารวมกลุ่มกันตกแต่งเกวียนแห่ไปวัด ดอกไม้อีกส่วนหนึ่งแบ่งไว้ถวายพระ สักการะกองผ้าป่า หรือปักไว้ที่กองพระทราย ช่วงเทศกาลนี้ถือเป็นงานบุญรื่นเริงสนุกสนาน มีการละเล่นต่าง ๆ เช่น การเล่นลูกช่วง การเล่นเข้าผี และการเล่นเพลงพื้นบ้านต่างๆ ปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงจากการใช้ขบวนเกวียนแห่ไปที่วัดเป็นขบวนรถบุปผชาติแทน โดยเป็นงานใหญ่ระดับจังหวัด มีการเพิ่มการแข่งขันเรือยาว การประกวด “นางงอมหัวไชโป๊ว” ที่จำกัดอายุผู้เข้าประกวดไม่ต่ำกว่า 70 ปี และมหรสพสมโภชต่าง ๆ
วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ
All About Arts (สืบสานงานศิลป์ ภูมิปัญญาคนของแผ่นดิน) ตลาดเก่า 119 ปี เจ็ดเสมียน เป็นโครงการของเทศบาลตำบลเจ็ดเสมียนร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมกันจัดงานรำลึกถึงตลาดเก่าที่มีมาแต่เดิม เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยจัดขึ้นทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ สุดท้ายของเดือน เวลาประมาณ 16.00 น. เป็นต้นไป จัดในรูปแบบการเลือกซื้อเลือกกิน แบบวิถีชีวิตชาวบ้านในตลาดหลังสถานีรถไฟ ชมผลงานศิลปะร่วมสมัย โดยนักแสดงไทยและต่างชาติ การแสดงของสวนศิลป์บ้านดิน (ภัทราวดี เธียเตอร์) เพลงพื้นบ้านตำรับดั้งเดิม โดยศิลปินอาวุโสในท้องถิ่น อายุ 80 ปี ขึ้นไป การละเล่นเข้าผี ผีสุ่ม ผีกระด้ง ผีกะลา ผีกระบอก ของชุมชนบ้านดอนไม้เรียง โดยมีการแบ่งพื้นที่การแสดงออกเป็น 3 พื้นที่ ดังนี้
1. บริเวณลานโพธิ์หน้าวัดเจ็ดเสมียน เป็นพื้นที่การแสดงของศิลปินอาวุโสในพื้นที่ เพื่อให้นักแสดงอาวุโสได้ถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน เช่น การแสดงทำขวัญข้าว การละเล่นเข้าผี ผีสุ่ม ผีกระด้ง ผีกะลา ผีกระบอก ของชุมชนเจ้าของวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นถูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีค่า ก่อให้เกิดความรักความสามัคคีภายในชุมชน และมีการแสดงดนตรีไทยของเด็กนักเรียนโรงเรียนในพื้นที่
2. บริเวณศาลาเอนกประองค์ริมน้ำ วัดเจ็ดเสมียน เป็นเวทีแสดงศิลปวัฒนธรรมของเยาวชน และกลุ่มบุคคลทั่วไปที่มีวัตถุประสงค์จะเข้าร่วมการแสดงในโครงการฯ เพื่อให้เด็กและเยาวชนกล้าแสดงออก เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ รู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวม และเกิดความภาคภูมิใจ
3. เวทีการแสดงศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เพื่อต่อยอดภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมจากอดีตสู่ปัจจุบัน พร้อมทั้งสร้างสรรค์ สะสม และสร้างต้นทุนใหม่ทางวัฒนธรรมแก่สังคมให้รู้เท่าทันและก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกาภิวัตน์ทางด้านศิลปวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดคุณประโยชน์ต่อชาติในด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และศิลปะ
1. นายมานพ จำรัส ศิลปินรางวัลศิลปาธร สำนักงานศิลปร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม นายมานพ จำรัส หรือที่ผู้คนในชุมชนตลาดเจ็ดเสมียนรู้จักกันในชื่อ “ครูนาย” มีภูมิลำเนาอยู่ที่ชุมชนตลาดเจ็ดเสมียน และเป็นนักแสดงสำคัญของภัทราวดีเธียรเตอร์ นายมานพ จำรัส เดินทางกลับมายังภูมิลำเนาเพื่ออนุรักษ์ สืบสาน และต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิมของชุมชนตลาดเจ็ดเสมียนให้มีคุณค่า และเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น โดยเป็นผู้มีส่วนร่วมในโครงการ All About Arts (สืบสานงานศิลป์ ภูมิปัญญาคนของแผ่นดิน) ตลาดเก่า 119 ปี เจ็ดเสมียน โดยเริ่มจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านในชุมชน ผู้นำในชุมชน และผู้บริหาร จนกระทั่งกลายเป็นโครงการดังกล่าว ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์แก่คนในชุมชน และบุคคลภายนอกที่สนใจ
2. นางภัทรวดี มีชูธน นักแสดงและศิลปินอาวุโส เป็นผู้มีส่วนร่วมในโครงการ All About Arts (สืบสานงานศิลป์ ภูมิปัญญาคนของแผ่นดิน) ตลาดเก่า 119 ปี เจ็ดเสมียน ทั้งในส่วนของการเสนอแนวคิด วางแผนการดำเนินงาน และเป็นผู้นำนักแสดงจากนานาชาติมาร่วมแสดงในโครงการดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับจุดประสงค์ของโครงการที่ต้องการให้ตลาดแห่งนี้เป็นที่ที่แสดงให้เห็นถึงศิลปวัฒนธรรมและเป็นแหล่งเรียนรู้ที่กว้างขึ้น
ทุนวัฒนธรรม
1. การเข้าผี
เป็นวัฒนธรรมของกลุ่มคนที่สืบเชื้อสายมาจากชาวเขมร มีทั้งผีกระด้ง ผีกะลา ผีสุ่ม ผีกระบอก โดยผีแต่ละแบบล้วนแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวนาในการทำมาหากิน ผีดังกล่าวเป็นผีดี ต้องมีพิธีกรรมชุมนุมเทวดาก่อนการอัญเชิญ โดยผู้นำพิธีจะต้องเป็นบุคคลที่อยู่ในศีลในธรรม ชาวบ้านให้การเคารพนับถือ เป็นการขอขมาลาโทษต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกปักรักษาอยู่ ณ บริเวณนั้น เพื่อให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี แล้วจึงต่อด้วยการเข้าผี ตามแต่ละชนิดของผี โดยมีเพลงที่ใช้ในการเชิญผีแตกต่างกันตามชนิดของผี พี่เลี้ยงจะเป็นผู้ร้องเพลง เพื่อเชิญผีเข้าสู่ร่างผู้ที่เข้าผี จากนั้นเมื่อผีเข้าสู่ร่างแล้ว พี่เลี้ยงจะเป็นผู้สั่งให้ผู้ที่ผีเข้าทำตามคำสั่ง ครั้นเมื่อสนุกสนานได้ที่แล้ว พี่เลี้ยงจึงเชิญผีบอก เป็นการจบการเข้าผี
การเข้าผีเป็นศาสตร์และกุศโลบายของคนโบราณให้ผู้ที่มีจิตใจอ่อนไหวง่าย หรือคนขี้อายที่ไม่กล้าแสดงออก ได้มีความกล้า โดยเชื่อว่าผีจะไม่เข้าทุกคน ขึ้นอยู่กับสภาวะจิตใจ ทั้งนี้การเข้าผีกระด้ง ผีกะลา และผีสุ่ม ส่วนใหญ่ผู้หญิงจะเป็นผู้ถูกเข้า ส่วนผีกระบอก ผู้ชายจะเป็นผู้ถูกเข้า
2. อาหาร
ไชโป๊ว เป็นผลิตภัณฑ์สร้างชื่อให้แก่ตำบลเจ็ดเสมียน เดิมไชโป๊วที่ผู้คนในชุมชนทำจะมีแต่ชนิดหมักเกลือดองเค็ม ส่วนไชโป๊วแบบหวานนั้น เริ่มทำและได้รับความนิยมในภายหลัง โดยผู้ผลิตได้มีการสืบทอดวิธีการผลิตตกทอดกันมาไม่น้อยกว่า 2-4 รุ่น พื้นที่ตำบลเจ็ดเสมียนเป็นแหล่งปลูกหัวไชเท้าซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับทำไชโป๊ว โดยเริ่มแรกคนจีนทำกินกันในครัวเรือน ภายหลังวางตลาดแล้วขายดี จึงทำขายกันจนมีชื่อเสียงว่าอร่อย ผู้ผลิตในชุมชนมีการสืบทอดวิธีการผลิตตกทอดกันมาไม่น้อยกว่า 2-4 รุ่น
สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชนที่ปรากฏให้เห็นชัดเจนในด้านสังคมและประชากร รวมถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน มีรายละเอียด ดังนี้
การเคลื่อนย้ายของประชากร ในอดีตผู้คนในชุมชนอาศัยอยู่ร่วมกัน มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเนื่องจากชุมชนเป็นลักษณะชุมชนปิด มีการสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณี พิธีกรรม ภูมิปัญญา และ การละเล่นต่าง ๆ สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาระบบการคมนาคมให้เข้าถึงพื้นที่ชุมชน จึงเกิดการเคลื่อนย้ายออกไปนอกพื้นที่ชุมชนมากขึ้น ตั้งแต่วัยเด็กที่ออกไปศึกษานอกชุมชน การประกอบอาชีพ การแต่งงาน จนนำไปสู่การตั้งถิ่นฐานต่างถิ่น การเคลื่อนย้ายของประชากรส่งผลต่อระบบวัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรม ภูมิปัญญา และการละเล่นต่าง ๆ บางอย่างไม่ได้รับการสืบทอดต่อ จึงทำให้วัฒนธรรมนั้นถูกลืมเลือนไป
การมีส่วนร่วม ชุมชนตลาดเจ็ดเสมียนเป็นชุมชนตลาดเก่าแก่ ที่มีการดำเนินการค้าขายอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ผู้คนในชุมชนมีการบริหารจัดการตลาดที่ดี มีการร่วมมือกัน สร้างจิตสำนึกให้ผู้คนในชุมชนรู้จักรักและหวงแหนท้องถิ่นที่ตนดำรงอยู่ ประกอบกับชุมชนตลาดเจ็ดเสมียนเป็นชุมชนที่มีทุนทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า จึงทำให้เกิดเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้คนในชุมชน ในชื่อ All About Arts (สืบสานงานศิลป์ ภูมิปัญญาคนของแผ่นดิน) ตลาดเก่า 119 ปี เจ็ดเสมียน ซึ่งทำให้ชุมชนตลาดเจ็ดเสมียนเป็นที่รู้จักมากขึ้น และเป็นกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดราชบุรีในชุมชนตลาดเจ็ดเสมียน มีจุดสนใจอื่น ๆ เช่น สวนศิลป์ บ้านดิน เค้กมะพร้าวอ่อนทั้งจากร้านยุพาเค้กมะพร้าวอ่อน และร้านน้องทรายเบเกอรี่ พิพิธภัณฑ์ร้านช่างทองเก่า ศาลเจ้าริมน้ำ และภาพถ่ายเก่าที่ประดับบนกำแพงอาคารไม้เก่า
กรมการปกครอง. (2565). ระบบสถิติทางการทะเบียน จำนวนประชากร. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 9 มีนาคม 2566, จาก https://stat.bora.dopa.go.th/.
กองบรรณาธิการนายรอบรู้. ตลาดเจ็ดเสมียน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 9 มีนาคม 2566, จาก https://api.guideglai.com/.
เที่ยวราชบุรี. สวนศิลป์ บ้านดิน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 9 มีนาคม 2566, จาก https://www.เที่ยวราชบุรี.com.
ธิติรัฐ ธรรมจง. (2553). การสื่อสารการตลาดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม: ศึกษาเฉพาะกรณีตลาดเก่า 119 ปี เจ็ดเสมียน จังหวัดราชบุรี. วิทยานิพนธ์วารสารศาสตรมหาบัณฑิต สื่อสารมวลชน คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ปราจิน เครือจันทร์. (2563). เจ็ดเสมียน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 9 มีนาคม 2566, จาก https://www.finearts.go.th/