เป็นชุมชนชาวไทยและกะเหรี่ยง ซึ่งอพยพจากริมแม่น้ำแควใหญ่เข้ามาอยู่ในพื้นที่บ้านปากนาสวน โดยภายในบริเวณวัดศรีเกษตรารามมีอุโบสถไม้เก่าแก่ที่สร้างด้วยไม้ประดู้ทั้งหลัง
เป็นชุมชนชาวไทยและกะเหรี่ยง ซึ่งอพยพจากริมแม่น้ำแควใหญ่เข้ามาอยู่ในพื้นที่บ้านปากนาสวน โดยภายในบริเวณวัดศรีเกษตรารามมีอุโบสถไม้เก่าแก่ที่สร้างด้วยไม้ประดู้ทั้งหลัง
ชุมชนบ้านปากนาสวน เป็นชุมชนชาติพันธ์ุชาวกะเหรี่ยงซึ่งอพยพจากริมแม่น้ำแควใหญ่ เพราะการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ และได้มาตั้งรกรากเข้ามาอยู่ในพื้นที่บ้านปากนาสวน มีการสืบสานวัฒนธรรม วิถีชีวิต มาอย่างยาวนาน โดยชุมชนบ้านปากนาสวนมีการประกอบอาชีพหลักคือ การทำไร่ทำนามาตั้งแต่ในอดีต
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
องค์การบริหารส่วนตำบลนาสวนมีพื้นที่ครอบคลุม 1 ตำบล คือ ตำบลนาสวน ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอำเภอศรีสวัสดิ์ โดยองค์การบริหารส่วนตำบลนาสวนจะอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 3 กิโลเมตร เนื้อที่ทั้งหมดตำบลนาสวนประมาณ 508 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 317,000 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลด่านแม่แฉลบ อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลเขาโจด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลด่านแม่แฉลบ อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี
ลักษณะภูมิประเทศ
ตำบลนาสวน มีสภาพทางกายภาพเป็นภูเขาที่มีราบสลับกับไหล่เขา พื้นที่สูงส่วนใหญ่ยังเป็นป่าต้นน้ำลำธาร โดยลำน้ำแหล่งนี้เป็นลำน้ำสายสั้นที่ไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ มีหมู่บ้านตั้งอยู่ตามขอบอ่างเก็บน้ำ
ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพอากาศจังหวัดกาญจนบุรี แบ่งออกเป็น 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว อากาศร้อนอบอ้าวในฤดูร้อน และหนาวเย็นมากในฤดูหนาว เดือนที่มีอากาศร้อนอบอ้าวมากที่สุด คือ เดือนเมษายน และหนาวเย็นที่สุด คือ เดือนธันวาคม
สถิติประชากรแยกรายละเอียดขององค์การบริหารตำบลนาสวน จากผลสรุปข้อมูลพื้นฐานระดับหมู่บ้าน (กชช.2ค) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 - 2562 ระดับตำบล ตำบลนาสวน อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี
ปี 2560
- ชาย 1,203 คน
- หญิง 1,113 คน
รวม 2,316 คน 771 ครัวเรือน
ปี 2561
- ชาย 1,173 คน
- หญิง 1,115 คน
รวม 2,288 คน 777 ครัวเรือน
ปี 2562
- ชาย 1,161 คน
- หญิง 1,095 คน
รวม 2,256 คน 786 ครัวเรือน
ระบบเศรษฐกิจ
การเกษตร
- อาชีพเกษตรกรรม (ทำไร่, เลี้ยงสัตว์) ร้อยละ 90.00 ของประชากร
- อาชีพลูกจ้าง/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 05.00 ของประชากร
- อาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 03.00 ของประชากร
การประมง เนื่องจากตำบลนาสวนมีสภาพภูมิศาสตร์อยู่ในบริเวณอ่างเก็บน้ำที่เป็นภูเขาสูงอยู่เหนือเขื่อนศรีนครินทร์เหมาะกับการประมง เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
การปศุสัตว์ เป็นการประกอบการในลักษณะเลี้ยงในครัวเรือนเป็นอาชีพหลักละอาชีพเสริม เช่น การเลี้ยงไก่ เป็ด กระบือ โค จำนวนสัตว์ในพื้นที่โดยประมาดังนี้
- โค/ กระบือ 100 - 500 ตัว
- ไก่บ้าน/ ไก่ชน 100 - 200 ตัว
- เป็ด 50 - 100 ตัว
วิถีชีวิตชุมชนบ้านนาสวนมีการทำเกษตรกรรม ทำไร่ ทำนา เลี้ยงสัตว์ หาของป่า เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมเป็นป่าจึงมีการหาของป่าในการเลี้ยงชีพ และมีการใช้ชีวิตแบบพอเพียงร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุลอีกทั้งยังมีการทอผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวกะเหรี่ยง การทอผ้าที่กลายเป็นชุดหรือเครื่องแต่งกายของชาวกะเหรี่ยง
ทุนวัฒนธรรม
วัดถ้ำองจุ วัดถ้ำองจุเป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อใหญ่ ตั้งอยู่เลขที่ 109 บ้านองจุ หมู่ที่ 1 ตำบลนาสวน อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี สร้างเมื่อ พ.ศ. 2536 รอยพระพุทธบาทประดิษฐานในถ้ำองจุ วัดถ้ำองจุ ตั้งเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2484 บริเวณวัดมีถ้ำซึ่งเรียกชื่อตามลำห้วยว่าถ้ำองจุ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 เขตวิสุงคามสีมา วัดถ้ำองจุเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวกะเหรี่ยงบ้านนาสวน ชาวบ้านได้สักการะบูชามาจนถึงปัจจุบัน
การแต่งกาย การแต่งกายของชาวกะเหรี่ยงบ้านนาสวน ส่วนใหญ่แต่งกายด้วยผ้าทอมือที่ทอกันเองภายในหมู่บ้าน ผู้สูงอายุจะใส่ชุดกะเหรี่ยงเป็นประจำ ส่วนวัยรุ่นจะใส่ไปวัด งานเลี้ยงงานประเพณีตามเทศกาลต่างๆวัยเด็ก จะแต่งกายชุดกะเหรี่ยงสีขาว สีแดง มีแถบข้างและกลางสีแดง และเหลืองวัยรุ่นที่ยังไม่ได้แต่งงาน ผู้หญิง จะใส่ชุดยาวสีขาวคล้ายกะโปรง มีแถบสีแดงที่แขนและคอ ผู้ชายจะใส่ชุดโสร่งสีขาวมีแถบข้างสีแดงและขาวผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะใส่เป็นผ้าถุง เสื้อ ส่วนใหญ่เป็นสีแดงลายดอกผู้ชายจะใส่โสร่งสีแดง เสื้อแขนยาวสีขาว
อาหาร แกงหยวกกล้วยใส่ไก่บ้าน เป็นแกงประจำเผ่าโพล่ง รสชาติคล้ายแกงป่าแต่หอมสมุนไพรกว่ามาก วัตถุดิบทั้งหมดเป็นของที่ชาวบ้านหามาได้จากบริเวณหมู่บ้าน นอกจากรสชาติที่อร่อยกลมกล่อมแล้ว แกงชนิดนี้ยังมีความหมายอีกด้วย ชาวบ้านเล่าว่า แกงชนิดนี้มักจะใช้ในงานแต่งงาน เพราะว่าหยวกกล้วย มีความหมายถึงการมีเยื่อใยต่อกัน รักกันยืดยาว ส่วนไก่มีพฤติกรรมตื่นแต่เช้าขยันหากิน แฝงความหมายว่าคู่แต่งงานจะต้องขยันทำมาหากิน
ขนมทองโย๊ะ ทำจากงากับแง (งาขี้ม่อน) และข้าวเหนียว นำมาตำจนกลายเป็นเนื้อเดียวกันรสชาติคล้ายขนมโมจิ แต่มีกลิ่นหอมของงาและแง (งาขี้ม่อน) มักจะทานกับน้ำผึ้งหรือนมข้นหวานขนมชนิดนี้ถือเป็นขนมมงคลของเผ่าโพล่ง มีความหมายว่ารักกันเหนียวแน่น
การละเล่นทอยสะบ้า ในช่วงเวลาวันสงกรานต์ทุกปี ตามหมู่บ้านจะมีการแสดงสะบ้า หรือการละเล่นสะบ้าของหนุ่มสาว เป็นการละเล่นพื้นเมืองของชาวไทยรามัญ การละเล่นสะบ้ามีประมาณ 30 กว่าบท เป็นลีลาการแสดงพื้นเมือง การละเล่นสะบ้ามิใช่การเล่นพนันขันต่อแต่อย่างใด มีการเล่นในเวลากลางคืน บ่อนหนึ่ง ๆ จะมีสาวงามประจำบ่อนอย่างน้อย 7 คู่ อย่างมาก 10 คู่ บ่อนใช้ใต้ถุนเรือนหรือที่ว่างพอที่จะตกแต่งเป็นบ่อนสะบ้าได้ บ่อนจะต้องทุบดินให้เรียบแต่งบ่อนด้วยกระดาษสีต่าง ๆ มีแสงสว่างมากพอปัจจุบันได้ใช้ไฟฟ้า (สมัยก่อนเราใช้ไฟตะเกียง หรือไฟใต้) ลูกสะบ้านั้นกลึงเป็นลูกกลมแบนเรียบ ทำด้วยเขาสัตว์ เช่น เขาวัว เขาควาย เงิน ทองเหลือง หรือไม้เนื้อแข็งก็ได้ กาละเล่นสะบ้ามีหนุ่มฝ่ายหนึ่ง และสาวฝ่ายหนึ่งแสดงสลับกันไปตามลีลาของวิธีเล่นสะบ้าพื้นเมือง ซึ่งมีประมาณ 15 ถึง 30 ท่า เช่น ทิ่นเติง จั้งฮะยู อีมายยับ ตองเก้ม อะลอง เดิง เป็นต้น การเล่นสะบ้าทอยต้องใช้ความตั้งใจสูง และต้องมีความชำนาญในการเล่น การเล่นสะบ้าทอยจะทอยกัน จนกว่าชนะและมีรางวัลเป็นการตอบแทน โดยกั้นคอกเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีขนาดกว้าง 2 เมตร ยาว 20 เมตร การทอยนั้นจะทอยจากด้านหนึ่งไปยังลูกสะบ้าที่เป็นเป้า
กะเหรี่ยง
ชุมชนบ้านปากนาสวนมีกิจกรรมที่น่าสนใจคือกิจกรรมนั่งเรือชมเขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีการทำประมงน้ำจืดใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย
สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม. (2563). ชุมชนบ้านปากนาสวน. (ออนไลน์) สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2566, จาก: https://culturalenvi.onep.go.th/site/detail/2623.
องค์การบริหารส่วนตำบลนาสวน อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี. (2562). แผนพัฒนาท้องถิ่น พ.ศ. 2561 - 2565. ม.ป.ท.: ม.ป.พ.
Travel.trueid. (2563). แล้วคุณจะหลงรัก “บ้านนาสวน กาญจนบุรี”. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2566, จาก: https://travel.trueid.net/detail/VxZllwjKkNOy.