เป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย เช่น กลุ่มลาวเวียงจันทน์ กลุ่มมอญ กลุ่มจีน กลุ่มมุสลิม เป็นต้น
ชื่อชุมชนมีที่มาจากชื่อของผู้นำชุมชน “ขุนศรีภูมิ” ที่เป็นหัวหน้าหมู่บ้านชาวลาวเวียงจันทน์ ที่ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ชาวบ้านในพื้นที่เลยเรียกหมู่บ้านดังกล่าวตามชื่อของผู้นำชุมชน จนในเวลาต่อมาหมู่บ้านขยายตัวขึ้นกลายเป็นชุมชน "ศรีภูมิ" ในที่สุด
เป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย เช่น กลุ่มลาวเวียงจันทน์ กลุ่มมอญ กลุ่มจีน กลุ่มมุสลิม เป็นต้น
ประวัติของชุมชนศรีภูมินั้นเริ่มปรากฏตั้งแต่ช่วงสมัย ปลายกรุงธนบุรี ถึง ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ โดยมีเหตุการณ์ "กบฏเจ้าอนุวงศ์" ที่เวียงจันทน์ กล่าวคือ ผลจากการเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้มีการอพยพย้ายถิ่นฐานของชาวลาวบางส่วนเข้ามาอยู่อาศัยในเขตพื้นที่บริเวณกรุงธนบุรี ในเขตต่าง ๆ นอกจากนี้สงครามภายในระหว่างกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ทำให้เกิดการอพยพของชาวลาวด้วยเช่นกัน
ขุนศรีภูมิ หรือ นายกองสีภูมิ ผู้นำชุมชนชาวลาวขณะนั้น ได้อพยพย้ายถิ่นฐานจากเวียงจันทน์ และชักชวนชาวลาวกลุ่มอื่น ๆ มาตั้งถิ่นฐานบริเวณฝั่งธนบุรี โดยเป็นช่วงเวลาพร้อม ๆ กันกับชาว ลาวบางไส้ไก่ ที่ได้ทำการอพยพและย้ายมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณใกล้เคียงกันนับแต่นั้นเป็นต้นมา อย่างไรก็ตามที่มาของชื่อชุมชนมีที่มาจากชื่อของ "ขุนศรีภูมิ" จึงกลายเป็นที่มาของ "ชุมชนศรีภูมิ"
เหตุการณ์ที่สำคัญ คือ ขุนศรีภูมิ ได้ทำการขุดคลองที่อยู่หน้าชุมชนตนเอง (บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาปัจจุบัน) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ตั้งมหาวิทยาลัย โดยเป็นที่ดินของท่านผู้หญิงพัน ภรรยาของท่านสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ได้ขุดออกไปจนทะลุ คลองบางไส้ไก่ ซึ่งคลองที่ขุนศรีภูมิขุดนี้นี้แต่เดิมชื่อว่า "คลองสวนบ้านลาว" ปัจจุบันผนวกเป็นคลองสมเด็จไปทั้งหมดแล้ว
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ชุมชนวัดใหญ่ศรีสุพรรณ
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ชุมชนประสานมิตร
- ทิศใต้ ติดต่อกับ วัดเวฬุราชิณ
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ คลองบางกอกใหญ่
ประชากรส่วนมากต่างมีที่มาที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่ได้ทำการอพยพเข้ามาอยู่อาศัย สำหรับ ชุมชนศรีภูมิ ส่วนมากแล้วจะมีกลุ่มคนลาวเวียงจันทน์ มากเป็นพิเศษเนื่องจากในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ได้มีการอพยพครั้งใหญ่ ซึ่งทำให้ผู้คนจำนวนมากนั้นย้ายเข้ามาอยู่ในพื้นที่ อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไปก็มีกลุ่มที่อพยพเข้ามาอยู่อาศัยในชุมชนแห่งนี้เพิ่มเติม ได้แก่ กลุ่มชาวมุสลิมจากทางภาคใต้ กลุ่มพ่อค้าชาวจีน และกลุ่มคนอื่น ๆ
มอญ, ลาวเวียงสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และมูลนิธิเล็ก - ประไพ วิริยะพันธุ์ ได้ร่วมจัดโครงการ "รอยลาวศรีภูมิถึงลาว บางไส้ไก่" ซึ่งได้มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น หรือ ผู้ที่ชำนาญการได้ด้านพัฒนาการและวัฒนธรรมของพื้นที่ได้ร่วมกันให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ การอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในชุมชนช่วงต้นรัตนโกสินทร์ วิถีชีวิต และสภาพเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน นอกจากนี้แล้วภายในพื้นที่ (แขวงหิรัญรูจี) ยังเป็นพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์ในด้านภูมิปัญญา โดยสามารถแบ่งสาขาศิลปกรรมรวมกันทั้งสิ้น 8 ภูมิปัญญา ดังนี้
ด้านดนตรี (นาฏศิลป์ และการละเล่นพื้นเมือง) มี 3 ภูมิปัญญา ได้แก่
- ขลุ่ยบ้านลาว
- หัวโขนบ้านศิลปไทย ตั้งอยู่ในชุมชนบางไส้ไก่
- เทศน์โส้สำเภา ตั้งอยู่ในชุมชนวัดประดิษฐาราม
ด้านงานประดิษฐ์ มี 5 ภูมิปัญญา ได้แก่
- การประดิษฐ์ดอกไม้จากผ้าใยบัว
- การทำกระเช้าสบู่
- งานสานจากพลาสติก
- เหรีญโปรยทาน อยู่ในชุมชนวัดหิรัญรูจี
- การร้อยพวงมาลัย อยู่ในชุมชนศรีภูมิ
ทุนทางด้านประวัติศาสตร์
กล่าวได้ว่าพื้นที่ของชุมชนศรีภูมินั้น มีประวัติศาสตร์กว่า 1 ศตวรรษ ที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์และมีเรื่องราวการอพยพของกลุ่มผู้คนที่หลากหลายเชื้อชาติเข้ามาภายในพื้นที่ชุมชนทำให้กลายเป็นชุมชน "พหุวัฒนธรรม" ประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่อพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาในพื้นที่ เช่น ชาวลาว ชาวมอญ ชาวจีน ชาวมุสลิม เป็นต้น
ทุนทางด้านทรัพยากร- ทรัพยากรทางด้านธรรมชาติ
ภายในชุมชนมีการปลูกสมุนไพรที่ใช้ภายในครัวเรือน ซึ่งสามารถที่จะนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ เครื่องสำอางจากใบมะรุม โดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ทำการเก็บตัวอย่างและนำไปพัฒนาจนสามารถที่จะต่อยอดออกมาเป็นเครื่องสำอางได้ นอกจากใบมะรุมแล้ว ภายในชุมชนยังมี ใบเตย และยอดอัญชัน ที่สามารถนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพิ่มเติมภายในอนาคต
- ทรัพยากรทางด้านวัฒนธรรม
เนื่องจากภายในชุมชนเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธํุที่มีความหลากหลายทางด้านภาษา และวัฒนธรรม ทำให้ผู้ที่จะเข้าไปศึกษาสามารถที่จะเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของกลุ่มคนเหล่านั้นภายในชุมชนได้ นอกจากนี้แล้วชุมชนศรีภูมิยังเป็นชุมชนที่มีการติดต่อกับชุมชนอื่นที่อยู่ใกล้เคียงภายในพื้นที่อีกด้วย จึงทำให้ย่านหิรัญรูจี ในเขตธนบุรี เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่มีความโดดเด่นในด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิต
- ทรัพยากรทางด้านสิ่งปลูกสร้าง
ภายในชุมชนมี "ศาลพ่อปู่ศรีภูมิ" อันเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชนรุ่นแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่บริเวณดังกล่าว ซึ่งในปัจจุบันยังได้รับความสนใจจากทั้งผู้คนที่อยู่ในชุมชน หรือ นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเยี่ยมชมชุมชน เพราะเปรียบเสมือนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกป้อง ดูแล รักษาชุมชนให้ผลจากความชั่วร้าย หรือ ภัยอันตรายต่าง ๆ
เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 สำนักศิลปะและวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ร่วมกับมูลนิธิเล็ก - ประไพ วิริยะพันธุ์ ร่วมจัดโครงการเปิดบ้านสมเด็จเจ้าพระยารักษาวัฒนธรรม ครั้งที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กิจกรรมจัดให้มีการเสวนาวิชาการ เรื่อง "รอยลาวศรีภูมิถึงลาวบางไส้ไก่" โดยมีช่วงแรกเป็นกิจกรรมทัศนศึกษาจรเพื่อตามหาร่องรอยคนลาวที่อาศัยในฝั่งธน ตั้งต้นจากลานด้านหน้า สน.บางยี่เรือ ริมถนนเทอดไท เข้าสำรวจชุมชนลาว "บ้านศรีภูมิ" ถิ่นฐานบ้านลาวอันได้ชื่อมาแต่นายกองคุมขุดคลองในอดีต แล้วเข้าสักการะ "หลวงพ่อดำ" พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แห่ง "วัดใหญ่ศรีสุพรรณ" วัดแรกสร้างโดยเจ้าขรัวทองขุนนางจีนสมัยกรุงธนบุรี วัดสำคัญของชาวชุมชนศรีภูมิในปัจจุบัน จากนั้นออกตามหา "รอยลาว" ผ่าน "ศาลพ่อปู่ - พ่อตา ท้าวนนทะเสน – ท้าวอินทะเสน" ก่อนทอดน่องเดินตามเสียงขลุ่ยเข้าเยี่ยมเยียนบ้านลาวที่ "ชุมชนบางไส้ไก่"
และช่วงที่สอง เปิดวงเสวนาพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ในหัวข้อ "ประวัติศาสตร์ย่านบ้านลาวและขลุ่ยลาวในดนตรีไทย" ณ ลานด้านหน้าพิพิธภัณฑ์บ้านเอกะนาค มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา กล่าวเปิดงานโดย ผศ.รังสรรค์ บัวทอง ผู้อำนวยการสำนักศิลปวัฒนธรรม เปิดประเด็นพูดคุยโดย รศ.วัชรา คลายนาทร นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ธนบุรี และอาจารย์อานันท์ นาคคง นักมานุษยวิทยาดนตรีชาติพันธุ์ นอกจากนี้ยังมีการสาธิตการบรรเลงดนตรีประกอบการเสวนาจากนักศึกษา วิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิษณุ บางเขียว รองอธิการบดี เป็นประธานกล่าวต้อนรับผู้มาร่วมกิจกรรม ณ บ้านเอกะนาค มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
จิราพร แซ่เตียว. (2562). รอยลาวศรีภูมิถึงลาวบางไส้ไก่. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2566. เข้าถึงได้จาก: https://www.muangboranjournal.com/post/roylao_thonburi2019
ชฎากาญจน์ เจริญรบ และคณะ. (2559). การถ่ายทอดภูมิปัญญาชุมชน สาขาศิลปกรรม ในเขตธนบุรี ด้วยระบบสารสนเทศภูมิปัญญาชุมชน. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี.
สุชาดา มานอก และคณะ. (2559). การพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากใบมะรุมที่พบในชุมชนศรีภูมิในพื้นที่ฝั่งธนบุรี. วารสารเภสัชศาสตร์อีสาน. 13(2). 82.
เอ็มไทย. (2562). เสวนาวิชาการ เรื่อง “รอยลาวศรีภูมิถึงลาวบางไส้ไก่” ณ บ้านเอกะนาค มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2566. เข้าถึงได้จาก: https://talk.mthai.com/pr/488092.html