
ชุมชนตลาดเก่า มีวัดตรีสตกูฏ เป็นศาสนสถานสำคัญประจำชุมชน ภายในวัดมีพิพิธภัณฑ์เล่าขานตำนานสามร้อยยอด เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น และมีศาลพ่อปู่สามร้อยยอด ซึ่งสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนทั้งในและนอกชุมชนให้ความเคารพนับถือ นอกจากนี้ผู้คนในชุมชนยังมีการสืบทอดประเพณีตักบาตรดาวดึงส์ที่จัดขึ้นในช่วงเทศกาลออกพรรษา
ชุมชนตลาดเก่า มีวัดตรีสตกูฏ เป็นศาสนสถานสำคัญประจำชุมชน ภายในวัดมีพิพิธภัณฑ์เล่าขานตำนานสามร้อยยอด เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น และมีศาลพ่อปู่สามร้อยยอด ซึ่งสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนทั้งในและนอกชุมชนให้ความเคารพนับถือ นอกจากนี้ผู้คนในชุมชนยังมีการสืบทอดประเพณีตักบาตรดาวดึงส์ที่จัดขึ้นในช่วงเทศกาลออกพรรษา
เป็นชุมชนตลาดเก่า (ชาวจีน) ตั้งอยู่ที่บ้านสามร้อยยอด (หมู่ 2) มีบ้านเรือนหนาแน่นบริเวณทางฝั่งตะวันตกของสถานีรถไฟสามร้อยยอดและบริเวณโดยรอบวัดตรีสตกูฏ โดยมีศาลเจ้าในชุมชนและบริเวณโดยรอบเป็นแปลงนาข้าว
ชุมชนตลาดริมทางรถไฟสามร้อยยอด ห่างจากที่ว่าการอำเภอสามร้อยยอด ประมาณ 8 กิโลเมตร อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประมาณ 16 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 243 กิโลเมตร การเดินทางจากกรุงเทพมหานครมายังชุมชนตลาดริมทางรถไฟสามร้อยยอด สามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ และรถไฟ
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปของพื้นที่เทศบาลตำบลไร่เก่า เป็นที่ราบเชิงเขาตะนาวศรี สภาพพื้นที่ลาดเอียงจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก ที่แห่งนี้จึงเหมาะสำหรับการขยายตัวของชุมชนเพราะมีถนนสายหลัก คือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ทอดตัวในแนวเหนือใต้ขนานไปกับทางรถไฟสายใต้
จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี พ.ศ. 2554 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรในเขตเทศบาลตำบลไร่เก่า จำนวน 1,542 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 4,414 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 2,193 คน และหญิง 2,221 คน
ด้านกลุ่มอาชีพ
ประชากรส่วนใหญ่ในเขตเทศบาลตำบลไร่เก่าประกอบอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้าง โดยอาชีพด้านการเกษตรเป็นอาชีพหลักของประชาชนในเขตเทศบาลตำบลไร่เก่า โดยพื้นที่การเกษตรทั้งสองฝั่งได้รับน้ำจากคลองชลประทาน ด้านการปศุสัตว์ ประชาชนส่วนใหญ่จะเลี้ยงสัตว์ คือโค กระบือ สุกร เป็ด ไก่ และเลี้ยงปลา มีการส่งเสริมวิธีการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ ส่วนด้านอุตสาหกรรมที่มีผลต่อเศรษฐกิจในท้องถิ่นมากที่สุด คืออุตสาหกรรมแปรรูปสับปะรด อุตสาหกรรมแปรรูปน้ำมันปาล์ม โรงงานสีข้าว และอุตสาหกรรมแปรรูปผลไม้
ประเพณีที่สำคัญในชุมชน คือ ประเพณีตักบาตรดาวดึงส์ เป็นประเพณีของชาวตำบลไร่เก่า อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จัดขึ้นในช่วงเทศดาลวันออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 โดยจะมีการทำบุญตักบาตรข้าวสารและลูกอมแด่พระภิกษุสามเณร
ตักบาตรดาวดึงส์ หรือการตักบาตรเทโวโรหณะ หรือการตักบาตรเทโวโรหณะ หรือการตักบาตรเทโวโรหณะโลก โดยเกิดขึ้นหลังวันออกพรรษา 1 วัน เป็นประเพณีที่กล่าวกันว่า ปฏิบัติกันมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นเวลาหนึ่งพรรษา เพื่อเทศน์โปรดพุทธมารดาที่เสวยชาติเป็นเทพบุตรอยู่บนสวรรค์ชั้นนี้ เมื่อครบกำหนดพรรษา พุทธองค์ทรงเสด็จลงมายังโลกมนุษย์ ณ เมืองสังกัสสะนคร เรียกการเสด็จจากเทวโลกว่า “เทโวโรหณะ”
ทุนวัฒนธรรม
1. วัดตรีสตกูฏ ตั้งอยู่ที่หมู่ 5 ตำบลไร่เก่า อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เดิมวัดสร้างอยู่ทางทิศตะวันตกของวัดในปัจจุบัน ประมาณ 5 เส้น แต่ไม่สะดวกในเรื่องที่ดินที่จะสร้างวัด ชาวบ้านสามร้อยยอดมีนายปั่น อยู่คง เป็นผู้นำในการหาที่ดินเพื่อที่จะสร้างวัด โดยนายผ่อง จันทร์ชูกลิ่น และนางไพร จันทร์ชูกลิ่น ได้ยกที่ดินให้เป็นที่สำหรับสร้างวัด เมื่อตกลงกันได้แล้วจึงได้ย้ายมาอยู่ตรงที่ปัจจุบัน การสร้างวัดสามร้อยยอดในยุคเริ่มแรกประมาณปี พ.ศ. 2480 เต็มไปด้วยอุปสรรค ความแห้งแล้งของพื้นที่ซึ่งเป็นที่ทุรกันดาร มีพระอาจารย์นิ่ม ธมมสโร เป็นหัวหน้าในการก่อสร้างและดูแลรักษาวัด ปี พ.ศ. 2482 สร้างกุฏิขึ้น 1 หลัง เป็นแบบทรงไทยและได้รับอนุญาตให้สร้างวัดในปี พ.ศ. 2483 และพ.ศ. 2484 กระทรวงศึกษาธิการประกาศจัดตั้งเป็นวัดให้ชื่อว่า “วัดตรีสตกูฏ” ในปัจจุบันมีที่ดินจำนวน 62 ไร่ ใช้เป็นอาคารกุฏิสงฆ์ พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ พิพิธภัณฑ์เล่าขานตำนานสามร้อยยอด เป็นที่รวบรวมศิลปวัตถุโบราณวัตถุ มาจัดทำประวัติและจัดแสดงเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าความเป็นมาของท้องถิ่น ศูนย์การเรียนชุมชนเป็นสถานที่สำหรับการศึกษาสายสามัญของประชาชนในพื้นที่ตำบลไร่เก่า โดยได้กำหนดเขตแห่งพุทธาวาส สังฆาวาส ที่สาธารณะกุศล นอกจากนี้ทางวัดได้อนุรักษ์พันธุ์ป่าไม้และรวบรวมพืชสมุนไพรที่หายากจัดเป็นสวนสมุนไพรเพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าและขยายพันธุ์ไม้ที่หายากให้คงอยู่สืบไป ภายในวัดพบหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ ได้แก่ ศาลาการเปรียญ เป็นเรือนไม้ทรงไทยขนาดใหญ่ หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องซีเมนต์ เครื่องลำยองไม้แกะสลักประดับกระจกสี ฝาด้านข้างเป็นฝาปะกนลูกฟัก เจาะช่องหน้าต่างเป็นกรอบหกเหลี่ยมติดลูกกรงเหล็ก ด้านละ 6 ช่อง ด้านหน้าและด้านหลังเป็นบานเฟี้ยม ด้านหน้า (ด้านทิศตะวันออก) เจาะช่องหน้าต่างแบบเดียวกับด้านข้าง 2 ข่อง ด้านหลังเจาะช่องหน้าต่าง 1 ช่อง และมีชานยื่นออกมา ทำบันไดขึ้น 2 ทาง คือทางทิศเหนือและทิศใต้มีลูกกรงไม้ประดับที่ราวบันได บนศาลาการเปรียญมีธรรมาสน์ อยู่ 1 หลัง เป็นไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจกหมู่กุฏิสงฆ์ เป็นเรือนไม้ทรงไทย ฝากระดาน หลังคามุงกระเบื้องซีเมนต์
2. ศาลพ่อปู่สามร้อยยอด วัดตรีสตกูฎ (สามร้อยยอด) พ่อปู่สามร้อยยอดได้เข้าจับทรงในร่างของนางทองคำ กองเพชร ชาวบ้านทั้งใกล้และไกลต่างมีศรัทธา มีความเคารพเชื่อถือ พากันเดินทางไปเพื่อเชิญวิญญาณพ่อปู่สามร้อยยอด ขอความสว่างในการดำเนินสัมมาชีพเพื่อชีวิตที่ดี มีการทำการบันทึกภาพพ่อปู่สามร้อยยอด ภาพที่ปรากฏเป็นลักษณะชาวจีนแก่ ๆ มีหนวดเครายาว นั่งมือขวาทับวางอยู่ที่เข่าขวา มือซ้ายจับอยู่ที่เข่าซ้าย ในลักษณะวางปรากฏนิ้วให้เห็นเพียง 3 นิ้ว ปัจจุบันมีผู้ศรัทธาและเคารพนับถือได้ทำการเชิญพ่อปู่สามร้อยยอดขึ้นประดิษฐาน ณ กิ่งอำเภอสามร้อยยอด “ศาลพ่อปู่สามร้อยยอด” ถือเป็นสถานที่สำคัญและเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งในอำเภอสามร้อยยอด ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณวัดตรีสตกูฏ หรือที่ชาวบ้านในพื้นที่รู้จักกันในนาม “วัดสามร้อยยอด” เป็นสถานที่ประดิษฐานรูปปั้นจำลองของพ่อปู่สามร้อยยอด ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวอำเภอสามร้อยยอดให้ความนับถือและสักการะกันมาช้านาน
กรมการปกครอง. (2565). ระบบสถิติทางการทะเบียนจำนวนประชากร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2566, จาก http://stat.bora.dopa.go.th/new_stat/webPage/statByYear.php.
กองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม. (2564). ชุมชนตลาดริมทางรถไฟสามร้อยยอด [บ้านเขาแดง]. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2566, จาก https://culturalenvi.onep.go.th/site/detail/3149.
เทศบาลตำบลไร่เก่า. (2550). สภาพและข้อมูลพื้นฐาน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2566, จาก https://www.raikaocity.go.th/general1.php.
_______. (2550). แหล่งท่องเที่ยว. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2566, จาก https://www.raikaocity.go.th/album_travel/view.php?album_id=3.
พยุง วงษ์น้อย. (2539). วัดตรีสตกูฏ โบราณสถานในเขตกิ่งอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์. (เอกสารอัดสำเนา).
แรมทาง. (2562). ประเพณี ‘ตักบาตรดาวดึงส์’ กับกิจกรรมหลังออกพรรษา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566, จาก https://d.dailynews.co.th/article/736524/.
_______. (2550). ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2566, จาก http://www.dooasia.com/thailandinfo/oldcity/prachuapkhirikhan7.html.