Advance search

บ้านท่าขอนยาง

จากชุมชนชนบทในอดีตที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ไทญ้อ การเปลี่ยนแปลงมาสู่ชุมชนเมืองจากการเข้ามาของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม สร้างความร่ำรวยให้ชาวบ้านที่เป็นเจ้าของที่ดิน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้ทำงานภายในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทำให้ ไทญ้อ อนุรักษ์ สร้างอัตลักษณ์เพื่อดำรงอยู่ซึ่งความเป็น ญ้อท่าขอนยาง

1 2 3 4 และ 11
ชุมชนท่าขอนยาง
ท่าขอนยาง
กันทรวิชัย
มหาสารคาม
เกริกกฤษณ์ โชคชัยรัชดา
20 เม.ย. 2023
วุฒิกร กะตะสีลา
24 เม.ย. 2023
เกริกกฤษณ์ โชคชัยรัชดา
30 เม.ย. 2023
บ้านท่าขอนยาง

ผู้คนในอดีตเรียกชุมชนแห่งนี้ว่า เมืองท่า เพราะตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้เเม่น้ำชี ส่วนคำว่า ขอนยางมีที่มาจากในชุมชนมีต้นยางขนาดใหญ่จำนวนมากตั้งอยู่ริมเเม่น้ำชี จึงนำ 2 คำนี้มารวมกันเป็นชุมชนบ้านท่าขอนยาง


จากชุมชนชนบทในอดีตที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ไทญ้อ การเปลี่ยนแปลงมาสู่ชุมชนเมืองจากการเข้ามาของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม สร้างความร่ำรวยให้ชาวบ้านที่เป็นเจ้าของที่ดิน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้ทำงานภายในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทำให้ ไทญ้อ อนุรักษ์ สร้างอัตลักษณ์เพื่อดำรงอยู่ซึ่งความเป็น ญ้อท่าขอนยาง

ชุมชนท่าขอนยาง
1 2 3 4 และ 11
ท่าขอนยาง
กันทรวิชัย
มหาสารคาม
44150
วิสาหกิจชุมชน โทร. 08-3794-0596, เทศบาลท่าขอนยาง โทร. 0-4399-5620
16.23520039
103.2653837
เทศบาลตำบลท่าขอนยาง

ประวัติศาสตร์ของชุมชนบ้านท่าขอนยาง นั้นเคยเป็นเมืองและมีเจ้าเมืองปกครองมาก่อน กล่าวคือเมื่อ พ.ศ. 2379 พระคำก้อน หรือถ้าคำก้อน (พระลำดวน) ราชวงศ์ ราชบุตร เมืองคำเกิด แขวงเมืองหลวงพระบางได้อพยพผู้คน จำนวน 2,859 คน มาตั้งอยู่บ้านท่าขอนยาง และพระคำแดง อุปฮาด เมืองคำม่วน ได้อพยพผู้คนจำนวน 933 คน มาตั้งอยู่ที่ ตำบลบึงกระดาน (อยู่ในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์) ทั้งพระลำดวน และพระคำแดง ไปสวามิภักดิ์ต่อพระยามหาอำมาตย์ พระยามหาอำมาตย์จึงให้ทั้งสองคนตั้งเมืองที่บ้าน ท่าขอนยาง และที่บึงกระดานโดยให้ทั้ง 2 เมือง ขึ้นตรงต่อเมืองท่าอุเทน แต่การส่งส่วยลำบาก จึงให้เมืองท่าขอนยางขึ้นตรงต่อเมืองกาฬสินธุ์ในเวลาต่อมา และประมาณปี พ.ศ. 2388 ในสมัยพระยาไชยสุนทร (เลื่อน) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ได้มีใบบอกลงไปยังกรุงเทพฯ จึงได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ให้พระลำดวน ซึ่งตั้งอยู่บ้านท่าขอนยาง เป็นพระสุวรรณภักดี เป็นเจ้าเมือง และให้อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตรเมืองคำเกิด เป็นราชวงศ์ราชบุตรโดยผูกส่วยผลเร็วใน จำนวน 107 คน เป็นผลเร็ว 10 หาบ คิดหาบละ 5 ตำลึง รวมเป็นเงินส่งแทนผลเร็ว ปีละ 10 ขัง และพระราชทานให้พระสุวรรณภักดี เงินตราชั่ง 5 ตำลึง ถาดหมาก คนโทเงิน 1 สัปทนแพรกัน 1 เสื้อเข็บขามก้านแยง 1 ผ้าโพกแพรขลิบ 1 ผ้าปักทองมีซับ 1 แพรยาวห่ม 1 ผ้าปูม 1 และพระราชทานอุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร เมืองท่าขอนยาง อย่างเดียวกันกับเมืองภูแล่นช้าง (อำเภอยางตลาดในปัจจุบัน)

เมื่อพ.ศ. 2395 พระสุวรรณภักดี (พระลำดวน) เจ้าเมืองท่าขอนยาง ได้ถึงแก่กรรม จึงได้แต่งตั้งให้อุปฮาด เป็นพระสุวรรณภักดี เจ้าเมือง และได้เลื่อนราชวงศ์เป็นอุปฮาด และแต่งตั้งให้ท้าวพรมมาเป็นราชวงศ์ เมื่อเจ้าเมือง คนที่ 2 ถึงแก่กรรม อุปฮาด ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมือง คนที่ 3 ท้าวพรมมา ก็ได้เลื่อนเป็นอุปฮาด และได้แต่งตั้งให้ท้าวหงส์เป็นราชวงศ์ต่อมา จนถึง พ.ศ. 2419 พระสุวรรณภักดี คนที่ 3 ได้ถึงแก่กรรมลง พระยามหาอำมาตย์ จึงแต่งตั้งให้อุปฮาดพรมมาเป็นพระสุวรรณภักดีคนที่ 4 เป็นเจ้าเมืองท่า แต่งตั้งให้ราชวงศ์ หงส์ เป็นอุปฮาดเมืองท่าขอนยางพ.ศ. 2426 พระสุวรรณภักดี คนที่ 4 เจ้าเมือง ท่าขอนยาง ไม่ประสงค์ที่จะให้เมืองท่าขอนยางขึ้นต่อเมืองกาฬสินธุ์ จึงได้อพยพครอบครัวจากท่าขอนยาง ไปขึ้นกับเมืองท่าอุเทน ส่วนเมืองท่าขอนยางมีแต่อุปฮาดราชวงศ์ กรมการเมืองรักษาเมืองอยู่ เมืองท่าขอนยางที่ว่างจากเจ้าเมืองมาตั้งแต่บัดนั้นการที่พระสุวรรณภักดีอพยพครอบครัวหนีในครั้งนี้ สันนิษฐานว่ามาจากเหตุ 2 ประการ คือ บุตรถูกจระเข้กินเป็นอาหารและมีเรื่องขัดใจกับเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2449 เมืองท่าขอนยางก็ถูกยุบลงเป็นตำบล ขึ้นตรงต่ออำเภอกันทรวิชัย ในปี พ.ศ. 2453 ได้โอนอำเภอกันทรวิชัยจากเมืองกาฬสินธุ์ ไปขึ้นต่อเมืองร้อยเอ็ด และได้ย้ายอำเภอปัจฉิมสารคามไปตั้งใหม่ในปี พ.ศ. 2443 ใกล้หนองบ่อ บ้านซาแอด จึงให้ชื่ออำเภอที่ย้ายไปตั้งใหม่นั้นว่า อำเภอท่าขอนยาง เพื่อให้เป็นเกียรติประวัติแก่ เมืองท่าขอนยาง อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตถึงชื่อ "ท่าขอนยาง" ว่ามีสาเหตุใดจึงเรียกเช่นนั้น กล่าวกันว่าแต่ก่อนมีต้นยางใหญ่จำนวนมาก แต่ปัจจุบันคงเหลืออยู่ที่บ้านนายสงวนศักดิ์ บุตรมูล อายุ 59 ปี เพียงต้นเดียว ชาวบ้านหลายคนได้เล่าให้ฟังถึงเรื่องต้นยางว่า แต่ก่อนมีมาก ที่วัดสว่างวารี หมู่ที่ 3 ภายหลังมีคนตัดและเลื่อยเป็นท่อน ๆ คล้ายท่อนไม้จึงเรียกว่า "ขอนยาง" และการที่มีคำ "ท่า" นำก็คงเนื่องมาจากเหตุที่ว่าต้นยางชอบขึ้นตามท่าน จึงเรียกว่า "ท่าขอนยาง”

ชาวบ้านบางกลุ่มได้รับคำบอกเล่ามาจากบรรพบุรุษว่า เมื่อผู้คนอพยพลงมาและ เตรียมจะสร้างเมืองใหม่นั้นได้แลเห็นบริเวณบ้านท่าขอนยางในปัจจุบันนี้มี วัดร้าง โบสถ์ร้าง และ มีพระพุทธรูปโบราณ (ปัจจุบันคือพระประธานในพระอุโบสถวัดเจริญผล : วัดใต้) ชาวบ้านเชื่อกันว่าบริเวณที่สร้างเมืองนี้เป็นถิ่นที่อยู่ของชุมชนเก่ามาก่อนแต่ไม่ทราบว่าเป็น ชุมชนพวกใด และมาอยู่ที่บ้านท่าขอนยางนานเท่าไร ตลอดจนย้ายถิ่นฐานไปเมื่อใด ด้วยไม่ ปรากฏหลักฐานยืนยัน ส่วนสาเหตุของการตั้งชื่อ ท่าขอนยางนั้น น่าจะเนื่องมาจากบริเวณ ริมฝั่งแม่น้ำชี ซึ่งอยู่ในบริเวณบ้านท่าขอนยาง มีต้นยางขนาดใหญ่ต้นหนึ่ง ขนาดของลำต้น มีความใหญ่มาก โดยกล่าวว่าบนตอไม้ดังกล่าวสามารถนั่งล้อมวงรับประทานอาหารได้ถึง 10 คน เมื่อต้นยางได้ล้มพาดลำน้ำชีจึงได้ตั้งชื่อเมืองที่สร้างขึ้นใหม่ว่า "ท่าขอนยาง" นอกจากนี้ยังมีนิทานบอกเล่าสืบต่อกันมาว่า สาเหตุที่ตั้งชื่อว่า เมืองท่าขอนยางนั้น เนื่องจากเมื่อคราวเกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์เมืองเวียงจันทน์แล้ว กองทัพจากทางกรุงเทพฯ ปราบปรามกบฏเจ้าอนุวงศ์เรียบร้อยแล้วได้กวาดต้อนผู้คน ของเมืองคำเกิด คำม่วนมาด้วย ซึ่งในจำนวนผู้ที่ถูกกวาดต้อนมานั้นมีชายคนหนึ่งได้ ตอนบางไก่ (ตอนบางไก่ หมายถึง การหาบยางซึ่งเป็นอุปกรณ์ของชาวบ้านทำด้วยไม้ไผ่ สานแล้วมีลักษณะคล้ายเข่งมีเชือกผูกตรงปากสำหรับใช้หาบหรือคอน และยางดังกล่าวใส่ไก่) มาด้วย ซึ่งเป็นที่อัศจรรย์เป็นอย่างยิ่งว่าตล ว่าตลอดระยะเวลาที่ถูกไล่ต้อนมานั้นชายดังกล่าว ได้วางยางไม่ลงบริเวณใดไก่ที่อยู่ภายในยางนั้นก็ไม่ยอมออกมาจากยางนั้นแต่อย่างใด แต่ครั้นเมื่อเดินทางมาถึงบริเวณที่สร้างเมืองท่าขอนยางชายดังกล่าวได้วางยางไม่ลง เขี่ยดินหาอาหาร พวกที่ถูกกวาดต้อนมาจึงได้พากัน ปรากฏว่าไก่ได้ออกจากยางออกมาคุ้ยเขี่ยดินหาอาหารตัดสินใจสร้างเมืองใหม่โดยตั้งชื่อเมืองว่า "ท่าคอนยาง" แต่ต่อมาภายหลัง เรียกชื่อเพี้ยน ไปจากเดิมเป็น "ท่าขอนยาง" ถ้านับช่วงระยะเวลาหลังจากที่ เมืองท่าขอนยางได้ถูกยุบ ลงเป็นตำบลท่าขอนยางเมื่อปี พ.ศ. 2443 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน  

วิถีชีวิตของผู้คนชุมชนท่าขอนยาง ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากสถานะเดิมที่ชนบทกลายมาเป็นกึ่งชุมชนเมือง นั้นเป็นเพราะเมื่อ พ.ศ.2537 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เข้ามาตั้งในเขตพื้นที่ตำบลท่าขอนยางและตำบลขามเรียง ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนที่พึ่งพาธรรมชาติได้ค่อยๆปรับตัวเข้าสู่ระบบทุนนิยม จากที่ดินที่ไม่มีราคาได้กลับกลายมามีราคาสูง เพราะกลุ่มนายทุนได้ทำการซื้อมาสร้างอสังหาริมทรัพย์ตามที่ต่างๆของชุมชน เมื่อมหาวิทยาลัยมหาสารคามเข้ามาตั้งอยู่ในพื้นที่ สิ่งที่ตามเข้ามา คือ ผู้คนจากภายนอก ทำให้พื้นที่บริเวณนี้เกิดการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจและสภาพของชุมชนได้กลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่เกิดการลงทุนมากมาย เช่น ร้านสะดวกซื้อ สถานบันเทิง ร้านอาหาร สนามฟุตบอลหญ้าเทียม เป็นต้น และที่สำคัญความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ไทญ้อ /ย้อ  ค่อยๆถูกกลืนจากท่ามกลางกระแสที่มีความแตกต่างวัฒนธรรม เยาวชนไม่กล้าที่พูดสำเนียงญ้อ ซึ่งในอนาคตสำเนียงการพูด ญ้อ อาจจะค่อยๆสูญหายไปจากชุมชนบ้านท่าขอนยาง

ลักษณะสภาพทั่วไปของชุมชนบ้านท่าขอนยางเป็นหมู่บ้านที่อยู่ติดแนวถนนถีนานนท์ ซึ่งเป็นทางหลวงแผ่นดิน เชื่อมติดต่อระหว่าง จังหวัดมหาสารคามกับจังหวัดกาฬสินธุ์ และมีแม่น้ำไหลชีผ่านทาง ทิศใต้ของหมู่บ้าน มีระยะทางยาวประมาณ 8 กิโลเมตร การตั้งบ้านเรือนของชาวบ้านท่าขอนยาง ตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มใกล้ชิดกัน และเป็นแนวยาวตามแนวริมฝั่งแม่น้ำ พื้นที่ส่วนใหญ่ของบ้านท่าขอนยางเป็นที่ราบและมีความจากทางทิศเหนือไปทิศใต้ เข้าหาแม่น้ำชี ความแตกต่างของระดับพื้นที่มีน้อยจึงทำให้สามารถปรับแต่งได้ง่าย มี แม่น้ำไหลผ่านตามแนวเขตติดต่อระหว่าง อำเภอเมืองมหาสารคามซึ่งอยู่ทางทิศใต้ ทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากลำชีในด้านการเกษตรโดยมีโรงสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้า จำนวน 2 สถานี ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านท่าขอนยางและบ้านใคร่นุ่น ทำให้สามารถส่งน้ำเข้าสู่ พื้นที่การเกษตรได้

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับตำบลคันธาราษฎร์ อำเภอกันทรวิชัย

  • ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลเกิ้ง อำเภอเมือง

  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลมะค่า อำเภอกันทรวิชัย

  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย

ด้วยความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทญ้อทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนภายในหมู่บ้านอยู่ในรูปของวงเครือญาติและมีความใกล้ชิดกันมาก ซึ่งการสำรวจจำนวนประชากรที่เป็นชาวท่าขอนยางที่เป็นคนในท้องถิ่น นั้นมีค่อนข้างข้อจำกัด เพราะจำนวนประชากรแฝงมีจำนวนมาก กลุ่มตระกูลของชุมชนท่าขอนยาง อาทิ สุวรรณภักดี บุตรราช พรสอน บุญสิทธิ์ เป็นต้น

ญ้อ
  • โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล

  • ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของชุมชนบ้านขามเรียง

  • ตลาดนัดของชุมชน

  • กองทุนหมู่บ้าน

  • โรงเรียนผู้สูงอายุ

ชุมชนบ้านท่าขอนยางมีประเพณี พิธีกรรม และความเชื่อที่ยังยึดถือสืบต่อกันมาจวบจนปัจจุบันนี้ คือ ประเพณีฮีตสิบสอง คลองสิบสี่ คือ จะมีประเพณีครบทั้ง 12 เดือน ดังเช่นภาคอีสานทั่วไป อาทิ เดือนอ้ายตรงกับเดือนธันวาคม มีประเพณีบุญเข้ากรรม โดยประเพณีนี้ชาวบ้านจะคอยปรนนิบัติรับใช้พระสงฆ์ จนกว่าพระสงฆ์ออกจากกรรม แต่มีประเพณีที่สำคัญของชุมชนชาวญ้อบ้านท่าขอนยาง คือ ประเพณีไหลเรือไฟ โดยชาวบ้านจะมีการจัดขบวนแห่ไหลเรือไฟและมีการประกวดเรือไฟที่มีการประดับตกแต่งกันอย่างสวยงาม ตอนเย็นจะมีพิธีกรรมที่สำคัญคือ พิธีกรรมขอขมาพระแม่คงคา เพราะชาวบ้านเชื่อว่าเป็นการขอบคุณที่พระแม่คงคาได้ให้น้ำเราใช้ในกิจวัตรประจำวัน นอกจากนี้ยังมีพิธีกรรมเกี่ยวกับผีสางเทวดา คือ การเลี้ยงผีปู่ตา ผู้เจ้าสำราญ ซึ่งผีปู่ตาและผีเจ้าสำราญนั้นคอยปกปักษ์รักษาคนในชุมชนให้อยู่ดีกินดีปราศจากโรคภัยไข้เจ็บจึงเกิดความเชื่อที่ว่า หากปีใดไม่ทำพิธีเลี้ยงผีปู่ตาและผีเจ้าสำราญ ในปีนั้นจะเกิดอาเพศขึ้น อาทิ หมู่บ้านเกิดความแห้งแล้ง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
  • วัด ประกอบไปด้วย วัดมหาผล (วัดเหนือ) วัดเจริญผล (วัดใต้) และวัดสว่างวารี แต่วัดที่มีความสำคัญมากที่สุดของชุมชนชาวญ้อบ้านท่าขอนยาง คือ วัดเจริญผล เนื่องจากวัดเจริญผลเป็นวัดที่เก่าแก่ ที่ก่อตั้งมาพร้อมกับชุมชนและมีพระพุทธรูปเก่าแก่ที่ชุมชนชาวญ้อบ้านท่าขอนยางอัญเชิญมาจากประเทศลาว ภายในวัดยังมีศาลาวัฒนธรรมที่เป็นที่รวบรวมทุกสิ่งทุกอย่างของวัฒนธรรมญ้อตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง

  • ศาลปู่ตา ศาลปู่ตา เป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้าน อันได้แก่ ศาลเจ้าพ่อพิลือ ศาล 2 นาง ศาลเจ้าพ่อสำราญ สถานที่เหล่านี้เป็นสิ่งก่อสร้างที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ โดยแต่ละหมู่บ้านจะมีศาลปู่ตาประจำหมู่บ้านของตนเอง ศาลปู่ตามีลักษณะโดยทั่วไปคล้ายกันคือ เป็นเรือนไม้ยกเสา 4 เสา หลังคาจั่วภายในศาลเป็นห้องโล่งเพียงห้องเดียว วางรูปเคารพต่าง ๆ ไว้ตามความเชื่อของชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่ามีผีปู่ตาจะช่วยปกปักษ์รักษาบ้านเมือง และชาวบ้านในชุมชนให้อยู่เย็นเป็นสุข จะมีประเพณีเลี้ยงผีปู่ตาในวันพุธข้างขึ้นเดือน 4 ของทุกๆ ปี นอกจากนี้ยังมีสิ่งก่อสร้างที่ชุมชนชาวญ้อบ้านท่าขอนยางให้ความสำคัญ อาทิ โรงเรียนบ้านท่าขอนยาง สถานีอนามัย และสาธารณูปโภคต่าง ๆ

ผู้คนในชุมชนที่เป็นชาวท่าขอนยาง ภาษาพูดเป็นสำเนียงไทญ้อ และใช้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการ


จากการเข้ามาตั้งของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม พ.ศ.2537 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ผู้คนจากภายนอกได้เคลื่อนย้ายเข้ามาพักอาศัยและลงทุนในระบบอสังหาริมทรัพย์ เกิดความหนาแน่นส่งผลให้ชุมชนเกิดการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของวิถีชีวิตที่ผู้คนบางรายได้ทำการขายที่ดินของตนเองเพื่อนำเงินมาลงทุนในภาคธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลาง บางคนเปิดร้านอาหารตามสั่ง ส้มตำ ฯลฯ ทำให้เกิดการสร้างงาน จ้างแรงงานขึ้น ซึ่งการประกอบอาชีพนี้ไม่มีแต่เฉพาะคนในชุมชนเท่านั้น คนจากภายนอกได้เข้ามาลงทุนทำธุรกิจในที่แห่งนี้เช่นเดียวกัน ส่วนผู้คนบางกลุ่มจึงได้ทิ้งบ้านเรือนเข้าไปขายแรงงานในภาคอุตสาหกรรมตามหัวเมืองต่างๆ ปัญหาเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม 

ชุมชนแห่งนี้มีความหลากหลายทางด้านทางด้านบริการ เช่นร้านอาหารต่างๆ เช่นร้านแจ่วฮ้อนท่าขอนยาง ร้านส้มตำสิรินาถ ร้านส้มตำจอส สถานบันเทิง (ร้านเหล้า) ร้านอาหารไทย-ญวน ร้านข้าวมันไก่สิริกร และร้านคาเฟ่ (ร้านกาแฟ) ซึ่งเป็นที่นิยมสำหรับนิสิตของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นต้น

ทีมวิจัยไทญ้อ.(2551).รากเหง้าเผ่าพันธุ์ญ้อท่าขอนยาง.มหาสารคาม : อภิชาติการพิมพ์

สมเกียรติ ภู่วัฒนะและคณะ.(2547) พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น:พื้นที่วัฒนธรรมตำบลท่าขอนยาง-ขามเรียงอำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม.สนับสนุนโดยฝ่ายวิจัยมหาวิทยาลัยมหาสารคาม