Advance search

ชุมชนชาติพันธุ์ลาวเวียงที่มีการตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณใกล้กับแม่น้ำแม่กลอง ผู้คนในชุมชนยังคงมีการยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมของบรรพบุรุษชาวลาวเวียงสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ การตั้ง "ศาลปู่ตา" การประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิต อาหาร และการแต่งกาย

ขนุน
บ้านเลือก
โพธาราม
ราชบุรี
มนิสรา นันทะยานา
27 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
5 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
30 เม.ย. 2023
ลาวเวียงบ้านเลือก

ถูกตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากเดิมเป็นชุมชนที่มีการเลี้ยงโค กระบือ และม้า เอาไว้ใช้งานและเป็นบรรณาการแก่เจ้านายชั้นสูง โดยเฉพาะม้าและโคของชุมชนแห่งนี้มีลักษณะดีเหมาะสำหรับใช้ในการศึกหรือราชการงานทั่วไป รัชกาลที่ 5 จึงทรงโปรดฯ ให้หมู่บ้านแห่งนี้เป็นที่คัดเลือกม้าเพื่อเข้าไปใช้ในราชการ ชุมชนแห่งนี้จึงได้รับการขนานนามว่า “บ้านเลือก” เป็นต้นมา


ชุมชนชาติพันธุ์ลาวเวียงที่มีการตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณใกล้กับแม่น้ำแม่กลอง ผู้คนในชุมชนยังคงมีการยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมของบรรพบุรุษชาวลาวเวียงสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ การตั้ง "ศาลปู่ตา" การประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิต อาหาร และการแต่งกาย

ขนุน
บ้านเลือก
โพธาราม
ราชบุรี
70120
13.700299
99.874704
เทศบาลตำบลบ้านเลือก

ตำบลบ้านเลือกตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำแม่กลอง ชุมชนนี้ได้รับการสถาปนาเป็นตำบลตั้งแต่ปี พ.ศ.2400 ชื่อเรียกเดิมของชุมชนบ้านเลือกนั้นไม่ปรากฏ แต่มีหลักฐานว่าชื่อ “บ้านเลือก” ได้ถูกตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากเดิมเป็นชุมชนที่มีการเลี้ยงโค กระบือ และม้า เอาไว้ใช้งานและเป็นบรรณาการแก่เจ้านายชั้นสูง โดยเฉพาะม้าและโคของชุมชนแห่งนี้มีลักษณะดีเหมาะสำหรับใช้ในการศึกหรือราชการงานทั่วไป รัชกาลที่ 5 จึงทรงโปรดฯ ให้หมู่บ้านแห่งนี้เป็นที่คัดเลือกม้าเพื่อเข้าไปใช้ในราชการ ชุมชนแห่งนี้จึงได้รับการขนานนามว่า “บ้านเลือก” เป็นต้นมา

การตั้งถิ่นฐานของชาวลาวเวียงทั้ง 7 หมู่บ้านในตำบลบ้านเลือกนั้น มีลำดับความเป็นมาอย่างไรนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจน แต่จากบันทึกของชุมชน สภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านเลือก กล่าวว่า โดยทั่วไปภายในหมู่บ้านของชาวลาวจะมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพสักการะเป็นศาลกลางบ้านเรียกว่า ศาลปู่ตา หรือศาลปู่ตาเจ้านาย ทั้งนี้ เนื่องจากในการย้ายถิ่นของบรรพบุรุษของชาวลาวในตำบลบ้านเลือกจากเมืองเวียงจันทน์นั้น เป็นเหตุการณ์ในช่วงสงคราม การนำปู่ย่าตายายที่ไม่แข็งแรงและเจ้านายที่ถูกดข่นฆ่ามาด้วยนั้น ไม่สามารถกระทำได้ จึงมีการตั้งศาลกลางบ้านขึ้น เรียกว่า “ศาลปู่ตาเจ้านาย” โดยอัญเชิญดวงวิญญาณของบรรพบุรุษและเจ้านายที่เป็นที่เคารพที่ตกค้างอยู่เมืองเวียงจันทน์ มาสิงสถิตเพื่อปกป้องคุ้มครองลูกหลานให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ในบริเวณตำบลบ้านเลือก มีศาลปู่ตาอยู่ด้วยกัน 2 แห่ง แห่งแรกอยู่บริเวณกลางชุมชนหมู่ 3 (บ้านขนุน) เรียกว่า “ศาลปู่ตา” ซึ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจและช่วยปกป้องคุ้มครองลูกหลายของชุมชนให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข แห่งที่สองอยู่บริเวณชายทุ่งหนองแข้ของหมู่ 4 (บ้านเลือก) เรียกว่า “ศาลเจ้านาย” หรือ “ศาลปู่ทุ่ง” ศาลปู่ทุ่งนี้ ถูกสร้างขึ้นเพื่อปกป้องคุ้มครองไร่ นา และการทำมาหากินของลูกหลานให้พ้นภัยพิบัติจากธรรมชาติ จึงสันนิษฐานได้ว่า บริเวณชุมชน หมู่ 3 และหมู่ 4 น่าจะเป็นพื้นที่แรกๆ ที่มีการตั้งถิ่นฐานของชาวลาวเวียงในบริเวณพื้นที่ตำบลบ้านเลือก และการขยายตัวของชุมชนบริเวณตำบลก็น่าจะมีการขยายออกจากบริเวณกลุ่มนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม การขยายชุมชนในบริเวณตำบลบ้านเลือกยังพบการขยายตัวของชุมชนมาจากพื้นที่ใกล้เคียงด้วย โดยเฉพาะจากตำบลบ้านฆ้อง ซึ่งเป็นชุมชนที่เป็นแหล่งที่ตั้งของชาวลาวเวียงในสมัยแรกๆ เช่นกัน การขยับขยายชุมชนของชาวลาวเวียงจากบ้านฆ้องสู่บ้านเลือก โดยเฉพาะหมู่ 2 (บ้านดอนกลาง) ซึ่งถูกก่อตั้งเป็นหมู่บ้านขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ.2457 เดิมพื้นที่ของชุมชนหมู่ 2 นี้เรียก ฟากโทง หรือ ฟากทุ่ง (แปลว่า ที่โล่งในการทำนา) พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ดอนและเป็นพื้นที่ในการทำนาของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ ณ บ้านฆ้อง โดยจะมีเถียงนาของแต่ละบ้านตั้งอยู่ พอชาวบ้านไป-กลับระหว่างบ้านและที่นานานวันเข้า ประกอบกับที่ดินในการขยับขยายบ้านเรือนเริ่มมีความหนาแน่น จึงได้ทำการปักหลักสร้างบ้านเรือนอยู่ ณ สถานที่แห่งนี้ และเมื่อมีจำนวนครัวเรือนตามเกฑ์ของทางราชการ (18 ครัวเรือน) จึงได้มีการขอจัดตั้งเป็นหมู่บ้านขึ้น

ชุมชนลาวเวียงบ้านเลือก ห่างจากที่ว่าการอำเภอโพธาราม ประมาณ 6 กิโลเมตร อยู่ห่างจากตัวจังหวัดราชบุรี ประมาณ 3 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 78 กิโลเมตร การเดินทางจากกรุงเทพฯ มายังชุมชนลาวเวียงบ้านเลือก สามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล และรถโดยสารประจำทางปรับอากาศ

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ

ลักษณะของตำบลบ้านเลือกเป็นที่ราบลุ่มกว้าง มีบ้านเรือนที่ถูกโอบล้อมด้วยท้องทุ่งสำหรับการทำนา แต่ละท้องทุ่งจะมีชื่อเรียกแตกต่างกัน เช่น ทุ่งหนองเดียว ทุ่งหนองแข้ ทุ่งลาด เป็นต้น บริเวณตำบลมีถนนเพชรเกษมสายเก่าตัดผ่านไปเชื่อมกับถนนโพธาราม-บ้านเลือก และถนนเพชรเกษมสายใหม่ (ทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 4) และมีคลองที่สำคัญ คือ คลองวัดโพ คลองปลาดุก และคลองตาคตตอนปลาย นอกจากนี้ในบริเวณพื้นที่ตำบลยังมีโรงงานอุตสาหกรรมทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่อยู่ประปราย ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษม

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรในบ้านขนุน จำนวน 428 หลังคาเรือน ประชากรทั้งหมด 845 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 387 คน หญิง 458 คน ชาวบ้านยังคงมีการไปมาหาสู่กัน มีความสนิทสนมกลมเกลียวกันและมีความเป็นอยู่แบบพี่น้อง และเครือญาติ

ชาติพันธุ์

ชาวลาวเวียงเป็นกลุ่มคนที่มีการย้ายถิ่นฐานมาพร้อมกับลาวกลุ่มอื่นๆเข้ามายังดินแดนสยามในสมัยกรุงธนบุรี และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ชาวลาวส่วนใหญ่มักถูกส่งให้มาอยู่บริเวณหัวเมืองชั้นใน      เพื่อป้องกันการหนีกลับ และเพื่อเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของสยามอีกด้วย โดยชาวลาวเวียงจะถูกทำหน้าที่เป็นไพร่หลวงเพื่อการทำส่วย

การย้ายถิ่นของชาวลาวเวียงจะถูกกำหนดให้อยู่ในที่ที่มีภูมิประเทศใกล้เคียงกับบ้านเมืองเดิมของตน และให้อยู่กันตามเชื้อชาติ ซึ่งนอกจากจะสะดวกในเรื่องของการควบคุมดูแลแล้ว ยังเป็นการคำนึงถึงความรู้สึกของชาวลาวที่มีความรักใคร่กันในหมู่คณะอีกด้วย

พื้นที่จังหวัดราชบุรีเป็นพื้นที่สำคัญที่มีชาวลาวเวียงอาศัยอยู่จำนวนมากโดยเข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ในสมัยกรุงธนบุรี จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น การกวาดตอนคั้งใหญ่เกิดขึ้นในช่วง พ.. 2322 เมื่อกวาดต้อนเข้ามายังดินแดนสยามแล้ว พระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดฯให้ชาวลาวเวียงไปตั้งถิ่นฐานที่เมืองสระบุรี และบางส่วนไปเมืองราชบุรี

การกวาดตอนครอบครัวลาวจากเวียงจันทน์เกิดขึ้นอีกครั้งในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  พ.. 2369 ในครั้งนั้นเกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ โดยเจ้าอนุวงศ์ร่วมกับเจ้าราชบุตร (โย้) ผู้เป็นพระราชโอรส ครองเมืองจำปาศักดิ์ เข้ามานำชาวลาวเวียงจากเมืองนครราชสีมา และเมืองสระบุรีกลับไปเวียงจันทน์เป็นจำนวนมาก รัชกาลที่ 3 จึงส่งกองทัพไปปราบ และสามารถตีเมืองเวียงจันทน์และหัวเมืองรายทางที่เข้ากับเวียงจันทน์ได้ ในการตีเวียงจันทน์ครั้งนี้รัชกาลที่ 3 มีพระราชประสงค์ให้กวาดต้อนผู้คนจากเวียงจันทน์และหัวเมืองลาวให้ได้มากที่สุด เพื่อไม่ให้เวียงจันทน์ตั้งเป็นบ้านเมืองอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้ชาวลาวเวียงและ        ชาวลาวจากหัวเมืองจึงถูกกวาดต้อนเข้ามายังดินแดนสยามเป็นจำนวนมาก และถูกส่งให้ไปอยู่รวมกับพวกที่เคยอยู่ก่อนตามหัวเมืองต่างๆ แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานที่ระบุเวลาชัดเจนว่าชาวลาวเวียงมาอยู่ที่ราชบุรีเมื่อไหร่ แต่ก็คาดว่าน่าจะมีบางส่วนถูกส่งมาด้วย ทั้งนี้เนื่องจากราชบุรีเป็นแหล่งที่มีชาวลาวเวียงอยู่มาก่อน และยังเป็นเมืองหน้าด่านอีกด้วย

ชาวลาวเวียงในราชบุรีได้แยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานตามที่ต่างๆ หลังการเลิกทาส การโยกย้ายแบ่งเป็น 2 สาย สายแรกจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลองจากเขาแร้งไปยังอำเภอจอมบึง สายที่สองขยายมาทางทิศตะวันออกจากบริเวณวัดพญาไม้ไปตั้งถิ่นฐานยังบริเวณอื่นๆ

ลาวเวียง

ด้านกลุ่มอาชีพ ในอดีตชาวลาวเวียงในตำบลบ้านเลือกจะมีอาชีพหลัก คือ ทำนา และมักเป็นการทำนาแบบดั้งเดิมที่มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย แต่ภายหลังโดยเฉพาะในช่วงปี พ.ศ. 2532-2533 ชาวบ้านส่วนใหญ่มีการเทขายที่นาให้กับนายทุนที่มากว้านซื้อที่ดิน ทำให้ชาวบ้านเลิกทำนากันเป็นจำนวนมาก ในปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปและทำตุ๊กตา และบางส่วนประกอบอาชีพทำไร่ทำนา เลี้ยงสัตว์ รับราชการ ค้าขาย ลูกจ้างโรงงานและประกอบธุรกิจส่วนตัว

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

ชาวลาวเวียงส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และมีประเพณีและกิจกรรมการทำบุญร่วมกันที่วัดอย่างสม่ำเสมอ โดยประเพณีที่สำคัญของชาวลาวเวียงในตำบล ได้แก่ งานบุญข้าวจี่หรือบุญข้าวหลาม (เดือนสาม) งานวันสงกรานต์ (เดือนห้า) งานเบิกบ้านและทำบุญกลางบ้าน (เดือนหก) และงานวันสารทลาวหรือแก้ห่อข้าว (เดือนสิบ) เป็นต้น

1. ประเพณีการแต่งงานของชาวลาวเวียง การแต่งงานหรือพิธีกินดองของคนลาวเวียงถือได้ว่าเป็นประเพณีเกี่ยวกับชีวิตประเพณีหนึ่งที่มีเอกลักษณ์ของตน สมัยก่อนเมื่อหนุ่มสาวชาวลาวเวียงตกลงที่จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน ฝ่ายชายจะจัดขันหมากมาสู่ขอหญิงเพื่อมาเป็นภรรยา เมื่อตกลงกันเรียบร้อยแล้ว ทั้งสองฝ่ายจะเริ่มเตรียมจัดหาของสำหรับพิธีกินดอง ในวันพิธีกินดอง ฝ่ายชายจะเตรียมยกขันหมากไปที่บ้านของฝ่ายหญิง เมื่อไปถึงบ้านของฝ่ายหญิงก็จะมีการตรวจนับเงินค่าดอง และมอบให้พ่อแม่ของเจ้าสาว จากนั้นคู่บ่าวสาวจึงมานั่งเพื่อทำการผูกข้อมือ และป้อนไข่ขวัญให้กัน เสร็จแล้วบ่าวสาวจะนำดอกไม้ ธูป เทียน และผ้าไปไหว้ญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย เสร็จแล้วเจ้าบ่าวและญาติพี่น้องจะกลับไปบ้านของตน เมื่อได้เวลา 2 – 3 ทุ่ม ญาติพี่น้องเจ้าบ่าวจะนำเจ้าบ่าวไปส่งที่บ้านเจ้าสาวเพื่อทำพิธีปูที่นอน และสั่งสอนอบรมคู่บ่าวสาวในเรื่องของการใช้ชีวิตคู่

2. วันสารทลาวเวียง เป็นประเพณีของชาวไทยเชื้อสายลาวเวียง จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี เพื่อให้พี่น้อง ลูกหลานที่ไปทำมาหากินต่างถิ่น กลับมาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ในวันนี้ชาวลาวเวียงจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สวยงามแบบชาวลาวเวียง โดยเริ่มพิธีตั้งแต่เวลาประมาณ 09.00 น. จะนำสำรับอาหารคาวหวานที่เรียกว่า “พาเวร” โดยจะมีอาหารคาว 2 – 3 อย่าง อาหารหวานจำพวกขนมหม้อแกง ทองหยิบ ทองหยอด และผลไม้ต่างๆ และที่ขาดไม่ได้คือ กระยาสารท โดยนำอาหารมาถวายเพลที่วัด เจ้าของพาเวรจะต้องจุดเทียนไว้ที่พาเวรของตน เมื่อพระสงฆ์มาติกาบังสุกุล ผู้ที่มาทำบุญจะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว เป็นอันเสร็จพิธีทางสงฆ์ ญาติโยมทั้งหลายจะนำห่อข้าวน้อย เป็นห่อข้าวที่ทำเป็นคู่ ๆ ข้างในจะมีข้าวปลาอาหารนำไปแขวนไว้ตามต้นไม้ โดยมีความเชื่อว่า เป็นการทำบุญให้กับผีที่ไม่มีญาติ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

1. วัดโบสถ์ ตำบลบ้านเลือก อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เป็นวัดเก่าแก่อายุเกือบ 200 ปี เริ่มตั้งแต่สมัยพระอธิการบุตตา ได้สร้างกุฏิและวางรากฐานอุโบสถตั้งแต่ปี พ.ศ.2370 มีชาวบ้านรวม 3 หมู่บ้าน ร่วมกันทำบุญกุศลอยู่ที่วัด ที่เสนาสนะต่างๆ เช่น อุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิ ศาลาอเนกประสงค์ ศาลาฌาปนสถาน ตลอดจนถาวรวัตถุภายในวัด วัดโบสถ์นี้ แต่เดิมคือ วัดบ้านเลือกเหนือ ซึ่งเป็นวัดคู่กับ วัดบ้านเลือกใต้ (วัดบ้านเลือก) ต่อมาหลวงปู่อินทร์ (พระครูประสาทสังวรกิจ) ได้สร้างอุโบสถขึ้นมาใหม่ เพื่อทำสังฆกรรมของพระภิกษุสงฆ์ในวัดบ้านเลือกเหนือ เนื่องจากอุโบสถใหม่นี้มีความวิจิตรงดงาม ผู้คนที่เข้ามาเห็นต่างเล่าลือบอกต่อๆ กันว่า ที่วัดแห่งนี้มีโบสถ์ที่สวยงามยิ่งนัก ต่อมาคนจึงเรียกว่า วัดโบสถ์งาม และกร่อนมา “วัดโบสถ์” มาจนถึงปัจจุบันนี้

2. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านลาวเวียง ตั้งอยู่ในเขตตำบลบ้านเลือก อำเภอโพธาราม ห่างจากตัวเมืองราชบุรีประมาณ 30 กิเลมตร เริ่มจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2539 ประเด็นการรื้อฟื้นอัตลักษณ์ของชาวลาวเวียงได้รับความสนใจอย่างมากจากกลุ่มชาวบ้าน ดังจะเห็นได้จากการจัดสร้างหอวัฒนธรรมลาวเวียงขึ้นบริเวณวัดโบสถ์อีกแห่งหนึ่ง และการจัดตั้งเป็นสมาคมลาวเวียง (Laovien Association) ที่ไม่ได้เพียงพยายามรื้อฟื้นประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมของกลุ่มตน แต่ยังพยายามขยายเครือข่ายออกไปนอกประเทศ ทั้งที่เวียงจันทน์ ประเทศลาว ถิ่นฐานดั้งเดิมของบรรพบุรุษ ดังที่มีการเดินทางมาเยี่ยมเยียนชุมชนลาวเวียงของ ฯพณฯ อ้วน พรหมจักร อัครราชทูตแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในปี พ.ศ. 2553 และกิจกรรมของเยาวชนชาวลาวเวียงในประเทศสหรัฐอเมริกา

3. ตลาดวัฒนธรรมลาวเวียงบ้านเลือก ตลาดท่าลาว เกิดขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านเลือกวัดโบสถ์ และการสนับสนุนจากภาครัฐ ภาคเอกชนที่ร่วมเป็นภาคีเครือข่าย ภายใต้โครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ใช้ทุนทางวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ลาวเวียง ตำบลบ้านเลือก การดำเนินงานตลาดของชาวลาวเวียง โดยมีคำขวัญของตลาดว่า “ลาวเฮ็ด ลางเฮ็ด” ซึ่งหมายถึง ลาวขยันลาวทำ มีตราสัญลักษณ์เป็นรูปม้าศึก ซึ่งเป็นที่มาของชื่อตำบล ตลาดท่าลาว มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ อาหารพื้นบ้านและภูมิปัญญาของชาวลาวเวียง มีแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรมของชาวลาวเวียง โดยจะเปิดทุกวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 08.00 น. ถึง 17.00 น.

4. การแต่งกาย แต่เดิมทุกครอบครัวจะมีการทอผ้าเพื่อใช้สอยและถ่ายทอดวิธีการทอผ้าให้แก่สมาชิก โดยเฉพาะสมาชิกที่เป็นเพศหญิง โดยแม่หรือยายเป็นผู้ถ่ายทอด ใช้เวลาที่ว่างจากการทำไร่ไถนาจนสั่งสมเป็นภูมิปัญยาจากรุ่นสู่รุ่น การทอผ้าเป็นการสืบสานวัฒนธรรมที่ผู้หญิงต้องเรียนรู้ตลอดช่วงอายุ สำหรับชาวลาวเวียงผ้าทอถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันตั้งแต่เกิดจนตาย ทั้งประเภท “นุ่ง” ที่ต้องสวมใส่ พัน โพก และประเภท “ห่ม” ที่เกี่ยวกับการนั่ง หนุน อิง และนอน รวมถึงการใช้ในงานบุญประเพณีพิธีกรรมต่างๆ ถ้าทอในอดีตจึงแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ตามโอกาสการใช้สอย เช่น ผ้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ผ้าทอที่ใช้ในโอกาสพิเศษ และผ้าทอที่ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา

5. อาหาร ชาวลาวเวียงผูกพันกับวิถีชีวิตทางการเกษตรโดยมีอาหารหลัก คือ “ข้าว” เดิมทีชาวลาวเวียงกินข้าวเหนียว เช่นเดียวกับลาวกลุ่มอื่นๆ แต่เมื่อต้องมาอยู่ในสภาพแวดล้อมและมีความใกล้ชิดกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่กินข้าวเจ้าเป็นหลัก ส่งผลให้ชาวลาวเวียงปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ ข้าวเหนียวจึงเป็นข้าวที่ชาวลาวเวียงใช้เป็นขนม หรืออาหารที่ไม่ใช่อาหารหลัก สะท้อนให้เห็นว่า ชาวลาวเวียงมีการปรับเปลี่ยนวิถีวัฒนธรรมการกินของกลุ่มตน นอกจากข้าวยังมีอาหารประเภทอื่นๆ ที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ มีปลาร้าเป็นส่วนประกอบสำคัญในอาหารคาวแทบทุกชนิด รวมทั้งอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากชุมชนคือแกงกะทิประเภทต่างๆ แต่ได้นำมาประยุกต์ตามรสนิยมหรือความชอบด้วยการใส่ปลาร้าลงไปในแกง เช่น ป่นปลา แกงลาวหรือแกงเปรอะ แกงผ่าหรือแกงไข่ผ่า เป็นต้น

ภาษาลาวเวียง เป็นภาษาในตระกูลไท-กะได ซึ่งเป็นตระกูลภาษาที่มีความสำคัญมากตระกูลหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกฉียงใต้ ใช้สื่อสารครอบคลุมพื้นที่บริเวณประเทศไทย ลาว เมียนมาร์ แคว้นอัสสัมทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย เวียดนามเหนือ และทางตะวันตกเฉียงใต้ของตีน มีการเรียกขานต่างกันไปตามชื่อเผ่าพันธุ์หรือตามที่ชาติอื่นใช้เรียก ชาวลาวเวียงใช้ภาษาลาวเวียงพูดสื่อสารกันในครอบครัว ชุมชน และผู้ที่พูดภาษาลาวเวียงแค่ใช้ภาษาไทยกลาง (ไทยมาตรฐาน) ในโรงเรียนและในสถานที่ราชการ ทั้งนี้ไม่พบว่ามีการใช้ภาษาเขียนในการติดต่อสื่อสาร สันนิษฐานว่า เมื่ออพยพมาอยู่ในประเทศไทย ชาวลาวเวียงใช้การสื่อสารด้วยภาษาพูดเป็นหลักจึงไม่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรหลงเหลืออยู่


การเปลี่ยนแปลงของสังคมไปสู่ความทันสมัย ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ปัจจุบันชาวลาวเวียงที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ลืมความเป็นคนลาวเวียง ในเรื่องภาษา วัฒนธรรมการแต่งกาย ทิ้งไว้เพียงแต่คนรุ่นปู่ รุ่นย่าโดยในชุมชน ได้เริ่มการอนุรักษ์วัฒนธรรมง่ายๆ โดยการปลูกฝังถ่ายทอดข้อมูลให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ มีการรณรงค์ให้มีการแต่งกายชุดประจำถิ่นอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งวัน เพื่อให้คนลาวเวียงได้มีโอกาสชื่นชมและย้อนอดีตของตนเอง และมีการบรรจุหลักสูตรวัฒนธรรมลาวเวียงให้เป็นหลักสูตรท้องถิ่นให้ลูกหลานได้ศึกษา เริ่มต้นที่โรงเรียนสู่ชุมชน จากเด็กส่งผ่านถึงผู้ปกครอง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กรมการปกครอง. (2565). ระบบสถิติทางการทะเบียน จำนวนประชากร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2566, จาก: http://stat.bora.dopa.go.th/new_stat/webPage/statByYear.php.

จุฑารัตน์ กัณหา. ประวัติชาวลาวเวียงในราชบุรี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2566, เข้าถึงได้ จาก: https://nookphotha53.wordpress.com/ประวัติชาวลาวเวียงในรา.

ผู้จัดการออนไลน์. (2563). เปิดตลาดวัฒนธรรมลาวเวียงบ้านเลือก ท่าลาว ส่งเสริมท่องเที่ยว วัฒนธรรมสร้างงานสร้างรายได้สู่ชุมชน (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2566, จาก: https://mgronline.com/local/detail/9630000119703.

วันดี พินิจวรสิน. (2554). บ้านพื้นถิ่นลาวเวียง...ที่บ้านเลือก. หน้าจั่ว: ว่าด้วยสถาปัตยกรรม การออก แบบ และสภาพแวดล้อม, ฉบับที่ 8 (กันยายน 2554-สิงหาคม 2555) 216-235.

ศิริสาร เหมือนโพธิ์ทอง. (2564). เอกสารลาวเวียงในโพธาราม. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2566, จาก: https://communityarchive.sac.or.th/blog/79.

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน). (2553). หอวัฒนธรรมลาวเวียง บอกที่มาของชาว ชุมชนตำบลบ้านเลือก. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2566, จาก: https:// ref.codi.or.th/2015-08-04-11-01-52/11030-2010-01-26-07-04-58.

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านลาวเวียง ราชบุรี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 28 มีนาคม 2566, จาก: https://happyschoolbreak.com/พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านลาวเ/.