หมู่บ้านกลุ่มชาติพันธุ์ชาวลาวเวียงที่มีประเพณีและวัฒนธรรมของชาวลาวเวียงค่อนข้างเด่นชัด ได้แก่ ตักบาตรหาบจังหัน, ประเพณีไหลแพไฟ, พิธีขอบคุณพืชพันธ์ – ธัญญาหาร นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่เก็บรักษาประวัติศาสตร์ของหมู่บ้าน เพื่อให้ผู้คนที่ได้เข้ามาได้เรียนรู้อีกด้วย
ตั้งชื่อขึ้นตามลักษณะภูมิประเทศที่ตั้งของหมู่บ้านในขณะนั้น ซึ่งเป็นทางออกของลำน้ำสองสายที่ไหลมาบรรจบกันคือ แม่น้ำน่านกับคลองตรอน ลักษณะการเป็นลำน้ำสองสายไหลมาบรรจบกันจึงเรียกกันว่า “สองแคว” และบริเวณที่ตั้งของหมู่บ้าน ได้เกิดเป็นสันทรายยื่นออกมาเป็นแนวหาดทรายยาวตลอดหมู่บ้าน จึงเรียกบริเวณนี้ว่า “บ้านหาดสองแคว”
หมู่บ้านกลุ่มชาติพันธุ์ชาวลาวเวียงที่มีประเพณีและวัฒนธรรมของชาวลาวเวียงค่อนข้างเด่นชัด ได้แก่ ตักบาตรหาบจังหัน, ประเพณีไหลแพไฟ, พิธีขอบคุณพืชพันธ์ – ธัญญาหาร นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่เก็บรักษาประวัติศาสตร์ของหมู่บ้าน เพื่อให้ผู้คนที่ได้เข้ามาได้เรียนรู้อีกด้วย
ชุมชน “ลาวเวียง” หมู่บ้านหาดสองแคว ตำบลหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นชุมชนลาวจากเมืองเวียงจันทน์ที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 หลังจากปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ได้แล้วในปี พ.ศ. 2371 การย้ายถิ่นเข้ามาของครอบครัวลาวเมืองเวียงจันทน์ ถูกกวาดต้อนด้วยกองทัพกรุงเทพฯ และบรรดาหัวเมืองลาวต่าง ๆ ได้แก่ เมืองพิษณุโลก เมืองพิชัย เป็นต้น
เมื่อกระแสน้ำน่านไหลผ่านบริเวณที่ตั้งของหมู่บ้าน ซึ่งมีสภาพพื้นที่ลาดชันน้อยลง กระแสน้ำไหลช้าลงกรวดทรายและโคลนตมที่น้ำพัดพามาด้วยจึงตกจมลงที่ก้นของลำน้ำ เมื่อวันเวลาผ่านไปตะกอนเหล่านั้นก็ทับถมสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นสันทรายตลอดแนวทางยาวของหมู่บ้านบรรพบุรุษของชาวลาวเวียงจันทน์ จึงตั้งบ้านเรือนขึ้นเป็นชุมชนเล็ก ๆ และเรียกบริเวณนี้ว่า “บ้านหาดสองแคว” ซึ่งหมายถึงหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บริเวณสันทราย หรือ หาดทราย ซึ่งเกิดขึ้นจากการกระทำของธารน้ำ (คลองตรอน) ที่ไหลมาพบกับสายน้ำที่ใหญ่กว่า(แม่น้ำน่าน) ที่ได้พัดพาเอากรวดทรายและโคลนตามมาตกตะกอนสะสมกันจนมีลักษณะเป็นแนวยาวขนานไปกับริมฝั่งแม่น้ำและบรรพบุรุษชาวลาวเวียงบางกลุ่มก็ยังเดินทางเรื่อยขึ้นไปจนถึงเขตบ้านแก่งและตั้งเป็นชุมชนสร้างบ้านปลูกเรือน
ตั้งแต่นั้นมาและจากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ ได้กล่าวไว้ว่า “บรรพบุรุษของตนได้ถูกกวาดต้อนมาจากเมืองลาวในฐานะเชลยศึกสงครามแรกเริ่มถูกส่งเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่านที่หมู่บ้านกองโค ตำบลคอรุมอำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ในปัจจุบัน เมื่อชุมชนขยายใหญ่ขึ้น จึงขยายขึ้นไปทางทิศเหนือตามลำแม่น้ำน่านจนถึงเขตบ้านแก่ง จนเกิดเป็นชุมชนเล็ก ๆ ได้แก่บ้านวังสะโม บ้านหาดสองแคว บ้านเด่นสำโรง และบ้านวังแดง" พัฒนาการของชุมชนชาวลาวเวียงหมู่บ้านหาดสองแควสันนิษฐานว่าเกิดจากการขยายตัวของจำนวนประชากรออกไปในพื้นที่ใกล้เคียงและกว้างไกลออกไปเพื่อบุกเบิกที่ดินทำกิน เป็นของตนเองโดยได้เดินทางอพยพขึ้นเหนือมาตามลำน้ำน่านจากหมู่บ้านกองโค จนมาถึงบ้านวังสะโม ส่วนหนึ่งได้หักล้างถางพงสร้างบ้านปลูกเรือน ณ ที่นี้ ส่วนกลุ่มอื่นๆ ก็ได้เคลื่อนย้ายกันต่อไป จนกระทั่งถึงบริเวณที่ตั้งของหมู่บ้านหาดสองแควในปัจจุบัน ที่มีลักษณะเป็นทางออกของลำน้ำสองสาย ที่ไหลมาบรรจบกันคือ แม่น้ำน่านกับคลองตรอน
จากเส้นทางการเดินทางอพยพของบรรพบุรุษชาวลาวเวียงจันทน์กลุ่มนี้หากคิดเป็นระยะทางจากหมู่บ้านกองโคไปยังหมู่บ้านชาวลาวเวียงกลุ่มต่าง ๆ ที่ตั้งถิ่นฐานตามริมแม่น้ำน่านนั้น ซึ่งประกอบด้วยหมู่บ้านวังสะโม หมู่บ้านหาดสองแควหมู่บ้านเด่นสำโรงและหมู่บ้านวังแดงตามลำดับ ซึ่งทางน้ำและทางบกในปัจจุบันแล้วสามารถใช้ระยะเวลาในการเดินทางเพียงไม่เกิน 1 วันเท่านั้น จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ว่าการอพยพของบรรพบุรุษชาวลาวเวียงจันทน์
หมู่บ้านหาดสองแควนั้น น่าจะเกิดจากการขยายตัวของจำนวนประชากรออกไปในพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อบุกเบิก ที่ดินทำกินเป็นของตนเองมากกว่าสาเหตุอื่น
ชุมชนบ้านหาดสองแคว ตั้งอยู่ที่ตำบลหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยอยู่ภายใต้องค์การบริหารส่วนตำบลหาดสองแคว ครอบคลุมพื้นที่ตำบล หาดสองแคว ทั้งตำบล สามารถเข้าถึงได้จากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 102 จากตัวอำเภอเมืองอุตรดิตถ์และเข้าสู่เส้นทางหลวงชนบทหมายเลข 4,055 ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตรและเข้าสู่เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 117ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร รวมระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านชำทอง ตำบลบ้านแก่ง บ้านปลายราง ตำบลข่อยสูง บ้านไร่ ตำบลน้ำอ่าง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านท่าสัก บ้านเต่าไหเหนือ ตำบลท่าสัก อำเภอพิชัย
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านปลายราง ตำบลข่อยสูง อำเภอตรอน บ้านน้ำขุม ตำบลนครอิฐ อำเภอศรีนคร
- ทิศตะวันออก เนื่องจากพื้นที่แนวเขตปกครองเป็นรูปสามเหลี่ยม มีทิศเหนือจดทิศใต้และทิศตะวันตกไปจึงไม่มีอาณาเขตด้านทิศตะวันออก
ข้อมูล ณ วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2564 ได้มีการระบุเกี่ยวกับจำนวนประชากรในพื้นที่ชุมชนหาดสองแควทั้งสิ้น 4,195 คน แยกเป็นชาย 2,036 คน แยกเป็นหญิง 2,159 คน มีความหนาแน่นเฉลี่ย 110 คน/ตารางกิโลเมตร
ลาวเวียงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่ประชาชนหาดสองแควยังคงร่วมกันอนุรักษ์ไว้ เช่น กิจกรรม “การตักบาตรหาบจังหัน” หรือ “การหาบสาแหรก” กล่าวได้ว่าเป็นกิจกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวลาวเวียงในพื้นที่ชุมชนหาดสองแควที่กระทำสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ โดยเป็นการถวายอาหารแด่พระสงฆ์ในยามเช้าพระสงฆ์จากวัดหาดสองแคว และชาวบ้านที่มารอตักบาตรก็จะใส่บาตรเฉพาะข้าวสุก โดยไม่มีกับข้าวใส่บาตร แต่จะนำกับข้าวคาวหวานอื่น ๆ ตามไปถวายพระที่วัดภายหลัง ซึ่งแต่เดิมจะมีนางหาบ นายหาบ ที่เป็นชาวลาวเวียงภายในหมู่บ้าน แต่งกายชุดลาวเวียง เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน
โดยเมื่อเริ่มเช้าของวัน (ประมาณ 05.30 – 06.00 น.) ชาวบ้านที่อยู่ท้ายหมู่บ้านจะตีเกราะเป็นสัญญาณ เพื่อจะได้ออกมายืนรอตักบาตรเฉพาะข้าวสุก (ข้าวเจ้า) ทั้งนี้เมื่อพระสงฆ์เดินกลับวัดไปแล้ว แต่ละบ้านก็จะนำสำรับอาหารหรือปิ่นโตมาวางบนแป้นไม้หน้าบ้าน จากนั้นก็จะมีคน “หาบสาแหรกไม้คานสายละ 34 คน” นำสำรับอาหารของแต่ละบ้านที่ว่างบนแป้นไม้เหล่านั้นหาบไปถวายพระสงฆ์ที่วัดและหลังจากที่คนหาบจังหันไปยังวัดแล้วก็จะจัดเรียงอาหารลงถาดโดยไม่ต้องถ่ายถ้วยชาม ผู้ชายจะทำหน้าที่ประเคนอาหารพระแล้วนั่งรอจนพระฉันเสร็จ เมื่อพระให้ศีลให้พรแล้วก็จะนำอาหารมากิน ส่วนที่เหลือก็ส่งกลับเจ้าของเดิม ถ้าถ้วยอาหารของใครหมด คนหาบก็จะตักข้าวสุกใส่ให้จนเต็มถ้วย จากนั้นจะหาบถ้วยอาหารไปวางคืนไว้ตามแป้นไม้หน้าบ้านตามเดิมโดยไม่ผิดชามหรือผิดบ้าน นอกจากนี้การดำเนินชีวิตของชาวลาวเวียงในชุมชนหาดสองแควส่วนใหญ่ เริ่มแรกตื่นนอนในตอนเช้าจะตื่นขึ้นมาทำบุญตักบาตรหลังจากนั้นประชาชนจะแยกย้ายไปทำงานของตนเอง พอมีเวลาว่างก็จะมานั่งร้องเพลงหรือพูดคุยกัน เป็นอย่างนี้เป็นประจำทุกวัน ยกเว้นแต่ก็เมื่อพระมีกิจนิมนต์
การแต่งกาย เสื้อผ้าการแต่งกายมีความแตกต่างจากชุมชนอื่น ทั้งผู้หญิงและผู้ชายจะใส่ชุดลาวเวียงไปทำบุญกันทุกวันพระ
- ผู้หญิงจะใส่ผ้าถุงสี เช่น สีส้ม สีแดง สีน้ำเงิน สวมเสื้อสีขาวแล้วจะมีสไปทับด้านบนไหล่
- ผู้ชายจะแต่งกายนุ่งกางเกงขาก๊วยสีพื้น สวมเสื้อคอกระเช้า หรือ เสื้อยืดสีขาว
ทุนทางด้านประเพณี
- ประเพณีไหลแพไฟ ประเพณีไหลแพไฟเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งจะจัดขึ้นทุกวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เพื่อแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็นการขอบคุณพืชพันธุ์ธัญญาหารและสายน้ำที่นำความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ชาวลาวเวียงมีความเป็นอยู่ที่สงบ ร่มเย็น ดำรงตนภายใต้ความมีน้ำใจเอื้ออาทร แบ่งปันช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกัน ก่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีตามแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
- ประเพณีขอบคุณพืชพันธุ์ธัญญาหารและสายน้ำน่าน งานย้อนรอยการเสด็จประพาสต้นรัชกาลที่ 5 จัดขึ้นในวันที่ 22 ตุลาคมของทุกปี ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของชาวลาวเวียงในชุมชนได้ช่วยกันอนุรักษ์ รักษา สืบสานและสืบทอดสิ่งต่างๆ นี้ไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมให้กับลูกหลาน ด้วยอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมลาวเวียงสไตล์ ส่งผลทำให้ชุมชนลาวเวียงหาดสองแควเป็นที่รู้จักคนนอกอย่างแพร่หลาย ด้านวิถีชีวิตทำกินผูกพันอยู่กับการเกษตร การประมง เลี้ยงสัตว์ ดำเนินชีวิตตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ทั้งนี้ในชุมชนหาดสองแควตั้งแต่อพยพเข้ามาจากรุ่นบรรพบุรุษจนถึงปัจจุบันหมู่บ้านหาดสองแควได้มีศิลปะ หัตถกรรม ในเรื่องของการจักสาน การทอผ้า การสานแห สานสวิง กลองยาว เพลงพื้นบ้าน เพลงแห่นาค เป็นต้น นอกจากนี้ ประชาชนในพื้นที่มีความเชื่อของศาสนาเป็นหลัก โดยการบูชาเทพเจ้า เป็นวิถีที่ทำเฉพาะพื้นที่
ด้านอาหารพื้นถิ่น
- ชุมชนหาดสองแคว (ลาวเวียง) นั้นขึ้นชื่อเรื่องอาหารที่มีรสชาติที่จัดและร้อนแรง ซึ่งเป็นอาหารวัฒนธรรมของชุมชนลาวเวียง ตำบลหาดสองแคว ได้แก่ อั่วพริก แกงหยวก แจ่วหม้อ ขนมดาดกระทะ เป็นต้น
ทุนทางด้านกิจกรรม/การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน
ถนนสายวัฒนธรรม
- ถนนสายวัฒนธรรมชุมชนลาวเวียงหาดสองแคว ตั้งอยู่ระหว่างหมู่ที่ 1 - 2 จัดขึ้นทุกวันศุกร์และเสาร์แรกของเดือน เปิดตลาดตั้งแต่เวลา 15.00 – 20.00 น. เป็นพื้นที่เพื่อเปิดโอกาสให้คนในชุมชนตำบลหาดสองแควได้มาแลกเปลี่ยนกิจกรรมต่าง ๆ มีการจำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรมและเกษตรกรรม การแสดงศิลปวัฒนธรรมของชุมชน รวมถึงการสาธิตทางวัฒนธรรมด้านอาชีพ ความรู้เชิงช่างภูมิปัญญาชาวบ้านและปราชญ์ท้องถิ่น อาหารพื้นบ้านและกิจกรรมทางวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่คงความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนลาวเวียง นำมาซึ่งแหล่งรายได้ที่สุจริต เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจภายในชุมชนลาวเวียงหาดสองแคว และจากชุมชนใกล้เคียง อีกทั้งยังก่อให้เกิดความสัมพันธ์ และสร้างปฏิสัมพันธ์อันดีในระดับชุมชน รวมถึงนักท่องเที่ยว ผ่านกระบวนการปลุกจิตสำนึกร่วมของคนในชุมชน จุดเด่นของถนนสายวัฒนธรรม บรรยากาศภายในตลาดเป็นการจำลองตลาดย้อนยุคของชาวลาวเวียง โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการร้านค้าแต่งกายด้วยผ้าพื้นเมือง เสื้อสีขาว นุ่งผ้าซิ่นสีต่าง ๆ ใส่งอบ ใช้ร่มผ้าสีขาว และแคร่ไม้ไผ่ปูทับด้วยสื่อกกในการตั้งร้านจำหน่ายสินค้า ซึ่งแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่โดดเด่นและไม่เหมือนใครของชาวลาวเวียงหาดสองแคว ทั้งใช้วัสดุที่ผลิตจากธรรมชาติเป็นภาชนะใส่สินค้าและอาหาร แทนการใช้กล่องโฟมถุงพลาสติก และสินค้าที่จำหน่ายภายในตลาดเป็นสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน อาหารพื้นบ้าน ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ทางวัฒนธรรม งานประดิษฐ์ Handmade เท่านั้น
ทุนทางด้านสิ่งปลูกสร้าง สถาปัตยกรรม, โบราณวัตถุ
- พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน เป็นแหล่งรวบรวมโบราณวัตถุไว้มิให้สูญหายไป และให้คนในชุมชนเกิดจิตสำนึกรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงได้มีการประชุมปรึกษาหารือกลุ่มแกนนำในชุมชนได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้น เพื่อให้เป็นแหล่งองค์ความรู้ในเรื่องของวิวัฒนาการการเปลี่ยนทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา และนอกจากนั้นยังเป็นการจัดการทรัพยากรที่มีความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ คนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ คนกับสังคมและคนกับแหล่งเรียนรู้ กล่าวคือศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ เนื้อหาภายใน เก็บรวบรวมประวัติความเป็นมา สิ่งที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะเก่าแก่ของตำบลหาดสองแคว เพื่อจัดแสดงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของตำบลต่อไป รวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ประจำวัน และพระพุทธรูปจากชาวบ้านที่นำมาบริจาคไว้ สิ่งของทุกชิ้นจะมีชื่อเจ้าของเดิมกำกับไว้ นอกจากนี้บ้านหาดสองแควเต็มไปด้วยวัดเก่าแก่คู่ชุมชน อย่างวัดบ้านแก่งใต้ ที่เป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่ออกแตก” เก่าแก่มาตั้งแต่ราวกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเล่ากันว่าครั้งพม่ายกทัพมาตีและยึดเมืองไว้เหล่าชาวบ้านในอดีตช่วยกันก่อปูนปิดองค์พระพุทธรูปศิลาแลงไว้ด้านในขณะที่วัดคลึงคราช คือ วัดโบราณที่เล่าขานตำนานที่ตั้งว่าอยู่ในเมืองของชูชก ตามพระเวสสันดรชาดก
- วัดบ้านแก่งใต้ วัดบ้านแก่งใต้ เป็นวัดเก่าแก่อายุประมาณ 300 ปี แต่เดิมวัดตั้งอยู่กลางลำน้ำน่าน แต่กระแสน้ำไหลเชี่ยว ทำให้ตลิ่งพัง จึงต้องย้ายมาสร้างใหม่ในสถานที่ปัจจุบัน วัดนี้ยังเคยเป็นสถานที่ฝึกมวยของพระยาพิชัยเมื่อครั้งท่านยังเป็นเด็ก นอกจากนี้ยังเป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อเพชร” พระพุทธรูปปางสมาธิเพชร ขนาดหน้าตัก 3.80 เมตร สูง 4.50 เมตร เนื่องจากอุโบสถวัดแห่งนี้ สร้างมาประมาณ 60 ปีแล้ว เกิดการชำรุด ทางวัดจึงบูรณะองค์พระประธานหลวงพ่อเพชร ขณะที่ช่างจากจังหวัดพิจิตรทำการซ่อมแซมองค์พระประธานอยู่นั้น ก็พบว่ามีปูนจำนวนมากหลุดร่วงออกจากบริเวณท้องของพระประธาน แลพบว่ามีเศียรพระซ่อนอยู่ข้างใน ชาวบ้านจึงเรียกว่า “พระอกแตก” ต่อมามีผู้เสนอให้เรียกชื่อว่า “พระพุทธซ้อน”
- วัดคลึงคราช วัดคลึงคราช (คะลึงคะราช) หมู่ 4 บ้านเด่นสำโรง ต.หาดสองแคว อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ เป็นโบราณสถานประเภทวัดที่มีโบสถ์เก่าแก่ อายุ 109 ปี ขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปกรเพื่อเป็นสมบัติของชาติ เนื่องจากเป็นศิลปะแบบลาวเวียงจันทน์ หลวงพระบาง หนึ่งเดียวในจังหวัดอุตรดิตถ์ที่ลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 8 เมตร ยาว 16 เมตร สูง 10 เมตร เป็นโบสถ์แบบมหาอุด มีประตูทางเข้าด้านหน้าเพียงด้านเดียว มีหน้าต่าง 2 ด้านรวม 6 ช่อง และมีสิงห์คู่ตั้งอยู่ด้านหน้าประตูทางเข้า หลังคามุงด้วยสังกะสี โดยปัจจุบันมีสภาพที่ทรุดโทรมและแตกร้าวแยกออกจากกัน รอวันถล่ม เป็นที่น่าหวาดกลัวและเป็นอันตรายต่อประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ไปทำบุญ ทางวัดใช้ลวดสลิงขึงรัดรอบตัวอุโบสถเอาไว้ พร้อมนำไม้และเสาปูนช่วยค้ำยันผนังด้านทิศเหนือ ที่เอียงและทรุดตัว เพื่อไม่ให้ตัวอาคารของโบสถ์พังถล่มลงมา และห้ามไม่ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าใกล้บริเวณดังกล่าว หวั่นโบสถ์ถล่มจะได้รับอันตราย อุโบสถดังกล่าวก่อสร้างในปี พ.ศ. 2450 โดยหลวงพ่อพุ่ม จันทสโร อดีตเจ้าอาวาสวัดคลึงคราช พระเกจิและพระนักเทศน์ชื่อดังของจังหวัดอุตรดิตถ์ และพุทธศาสนิกชนชาวตำบลหาดสองแคว ตามภูมิปัญญาของชาวลาวเวียงจันทน์ คือ อิฐทุกก้อนใช้ดินเผาจากการขุดบ่อเลี้ยงปลาภายในวัด เรียงเป็นรูปสี่เหลี่ยม ไม่มีเสาและโครงสร้างหลังคาใช้ไม้สัก เพื่อใช้เป็นสถานที่ในกิจกรรมของสงฆ์ เพื่อเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนา หลังกรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียน ตามระเบียบในรัศมีใกล้เคียง 20 เมตร ห้ามมีการก่อสร้างและดำเนินการใด ๆ ทำให้อุโบสถถูกปล่อยร้าง ทางวัดไม่สามารถเข้าไปพัฒนาหรือปรับปรุงซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่ดีกว่าปัจจุบันนี้ได้ จึงอยากให้ทางเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรเข้ามาตรวจสอบและเร่งซ่อมแซมให้โดยไว เพราะหวั่นพังทลายลงมา และหวั่นเป็นอันตรายต่อประชาชนทั่วไปที่แวะเข้ามาท่องเที่ยวภายในวัด อย่างไรก็ตามวัดแห่งนี้ ถูกผูกและเล่าเรื่องตั้งอยู่ในเมืองตาชูชก ซึ่งเป็นเมืองเก่าแก่และมีประวัติความเป็นมากับพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า ในชาดกเรื่องพระเวสสันดร โดยเฉพาะกัณฑ์ชูชก 1 ใน 13 กัณฑ์ เทศมหาชาติพระเวสสันดรชาดก เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพุทธศาสนาของนักเรียน นักศึกษา จัดคณะมาศึกษาเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
ภาษาลาวเวียงเป็นภาษาในตระกูลไท-กะได ซึ่งเป็นตระกูลภาษาที่มีความสำคัญมากตระกูลหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใช้สื่อสารครอบคลุมพื้นที่บริเวณประเทศไทย ลาว เมียนมาร์ แคว้นอัสสัมทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย เวียดนามเหนือ และทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มีการเรียกขานต่างกันไปตามชื่อเผ่าพันธุ์ หรือตามที่ชาติอื่นใช้เรียก เช่น ภาษาชาน (Shan) ในเมียนมาร์ ภาษาไทย (Thai) ในประเทศไทย และภาษาลาว (Laos) ในประเทศลาว ภาษาถิ่นตระกูลไทย ที่ใช้พูดในประเทศไทย
นอกจากภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาราชการแล้ว ยังมีภาษาไทยถิ่นอื่นอีกมามาย อันมีกลุ่มที่สำคัญกลุ่มหนึ่ง ได้แก่ ภาษาลาว (Laos) ที่ใช้กันมากในแถบตะวันออกเฉียงเหนือของไทย และที่กระจายอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ ในภาคกลางและภาคตะวันออก เช่น จังหวัดลพบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เป็นต้น
ชาวบ้านหาดสองแคว จังหวัดอุตรดิตถ์ เชิญชวนนักท่องเที่ยวสัมผัสประเพณีหาบจังหัน และวิถีชีวิตลาวเวียง ที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน 1 ใน 50 ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีต้นแบบระดับประเทศทุกเช้าที่บ้านหาดสองแคว ตำบลหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ มีชาวพุทธมารอใส่บาตรกันตลอด 2 ข้างทางเหมือนกับพื้นที่อื่น แต่ที่ไม่ธรรมดา คือ ที่นี่มีประเพณีการตักบาตรหาบจังหัน ซึ่งหลายคนอาจไม่เคยเห็น หรือได้ยินมาก่อนในชีวิต นายวันชัย รุ่งเรืองธรรม กลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้าน บ้านหาดสองแคว กล่าวว่า การตักบาตรหาบจังหัน เป็นวัฒนธรรมแบบชาวลาวเพราะผู้คนในท้องถิ่นมีเชื้อสายลาวเวียงหรือเชื้อสายของชาวลาว จากเมืองเวียงจันทน์ โดยทุก ๆ เช้าพระสงฆ์ออกบิณฑบาต จะรับไปเฉพาะข้าวสวย ส่วนกับข้าวนั้นชาวบ้าน เรียกว่า นางหาบ ใส่เสื้อสีขาว นุ่งผ้าซิ่น จะหาบจังหัน หรือสาแหรก ตามไปถวายที่วัด ซึ่งเป็นไปตามจิตศรัทธา และมีความเชื่อว่ายิ่งหาบหนักเท่าไหร่ก็ยิ่งได้บุญมากเท่านั้น ส่วนบ้านไหนติดภารกิจเข้าไร่ ไปนา ก็จะนำกับข้าวใส่ถ้วยไปวางไว้ที่แป้นไม้หน้าบ้าน นางหาบทั้งหลายก็จะช่วยนำไปถวายพระให้ หลังจากทำบุญเสร็จก็จะนำถ้วยกลับมาวางคืนไว้ที่เดิม ยกเว้นวันพระที่พระสงฆ์ไม่ได้ออกบิณฑบาต ชาวพุทธในพื้นที่ก็จะหาบจังหันไปทำบุญใส่บาตรกันที่วัด ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ที่ชาวบ้านหาดสองแควสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน
นอกจากการตักบาตรหาบจังหัน ที่นักท่องเที่ยวสามารถมาสัมผัสได้ทุกเช้า ที่นี่ยังพูดคุยกันด้วยภาษาลาวเวียง มีอาหารการกินที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น อั่วบักเผ็ด หรือพริกใหญ่สอดไส้หมูทอด ที่หากไม่ได้ชิม ถือว่ามาไม่ถึงหาดสองแคว โดยที่นี่มีโฮมสเตย์มาตรฐานกว่า 20 หลัง รอต้อนรับนักท่องเที่ยวให้ได้สัมผัสกับวิถีชีวิตชาวลาวเวียงอย่างใกล้ชิด ด้วยเสน่ห์เฉพาะตัว วัฒนธรรมที่แตกต่างโดยไม่ต้องปรุงแต่ง ชุมชนเข้มแข็ง การบริหารจัดการที่เป็นระบบ ทำให้บ้านหาดสองแคว ได้รับเลือกเป็นต้นแบบชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี 1 ใน 50 แห่งของประเทศ
ทุกวันศุกร์แรกของเดือน ในบรรยากาศริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันตกในหมู่บ้าน ประดับประดาจนงดงาม ขนม และอาหารเรียงรายตามแผง และเต็มไปด้วยเสียงร้องรำทำเพลงในภาษาลาวอันมีเอกลักษณ์ ผู้คนในพื้นที่พร้อมที่จะให้ข้อมูล หรือ แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับผู้ที่มาท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวสามารถที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในชุมชนลาวเวียง บ้านหาดสองแคว และสามารถร่วมกิจกรรมเพื่อเรียนรู้วัฒนธรรม ความเป็นลาวเวียงได้ ดังนี้
สัมผัสวิถีชีวิตชาวลาวเวียง ใน 2 วัน 1 คืน
วันที่ 1
- สวมใส่ชุดลาวเวียง
- เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดหาดสองแคว
- รับประทานอาหารพื้นบ้าน
- เยี่ยมชมวัดบ้านแก่งใต้
- เดินเล่นถนนสายวัฒนธรรม รับประทานอาหารพื้นบ้าน
วันที่ 2
- สวมใส่ชุดลาวเวียง
- อะเมซิ่งตักบาตรหาบจังหัน
- ร่วมกิจกรรมปักเย็บกระเป๋าผ้าลาวเวียง
- เยี่ยมชมวัดคลึงคราช
- ร่วมกิจกรรมทำอาหารพื้นเมืองลาวเวียง
กรมการท่องเที่ยว. (ม.ป.ป.). โครงการออกแบบพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในแหล่งท่องเที่ยวชุมชนต้นแบบ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2566. จาก http://www.dla.go.th/
กรุงเทพธุรกิจ. (2559). อุโบสถในตำนาน ‘พระเวสสันดรชาดก’ รอวันพังถล่ม. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2566. เข้าถึงได้จาก: https://www.bangkokbiznews.com/
กิตติภัต นันท์ธนะวานิช. (2545). ลาวเวียง กรณีศึกษาบ้านหาดสองแคว หมู่ที่ 2 ตำบลหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์. วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตร์บัณฑิต ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์. มหาวิทยาลัยนเรศวร.
วรรณา รัตนประเสริฐ. (2528). คำและลักษณะคำในภาษาลาวเวียงในจังหวัดฉะเชิงเทรา. กรุงเทพฯ: บัณฑิต วิทยาลัยมหาวิทยาลัยศิลปากร.
วาสนา ผลดี. (2562). การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของชุมชนลาวเวียง กรณีศึกษาบ้านหาดสองแคว หมู่ที่ 2 ตำบลหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์. วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตร์บัณฑิต ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์. มหาวิทยาลัยนเรศวร.
องค์การบริหารส่วนตำบลหาดสองแคว. (2566). ข้อมูลพื้นฐานของ อบต.หาดสองแคว. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2566. เข้าถึงได้จาก: http://www.hardsongkwae.go.th/
ฐากูร โกมารกุล ณ นคร. (2562). หาดสองแคว... แง่งามวัฒนธรรมลาวเวียง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2566. เข้าถึงได้จาก: http://www.culture.go.th/