ชุมชนชาวมุสลิมลุ่มแม่น้ำปัตตานี หมู่บ้านที่ซึ่งยังคงดำเนินวิถีชีวิตโดยมีธรรม ยึดถือปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมดั้งเดิมของชุมชนมายาวนาน
ชุมชนชาวมุสลิมลุ่มแม่น้ำปัตตานี หมู่บ้านที่ซึ่งยังคงดำเนินวิถีชีวิตโดยมีธรรม ยึดถือปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมดั้งเดิมของชุมชนมายาวนาน
บ้านปะกาลิมาปุโระ ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ตําบลบาราเฮาะ อําเภอเมือง จังหวัดปัตตานี อยู่ห่างตัวเมืองปัตตานี ประมาณ 10 กิโลเมตร และอยู่ห่างถนนสายหลักคือ จากถนนสายปัตตานี-ยะลา ประมาณ 4 กิโลเมตร ด้วยสภาพพื้นที่อยู่ในบริเวณที่ลุ่ม และอยู่ใกล้กับแม่น้ำปัตตานี ทำให้พื้นที่หมู่บ้านเหมาะแก่การทำเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพของชาวบ้านส่วนใหญ่ แต่เมื่อถึงฤดูฝนมาเยือน บ้านปะกาลิมาปุโระ ประสบกับปัญหาน้ำท่วมขังเป็นประจำทุกปี ซึ่งในช่วงนี้จะไม่สามารถประกอบอาชีพทางการเกษตรได้ เมื่อประกอบอาชีพทางการเกษตรไม่ได้ บรรดากลุ่มพ่อบ้านในหมู่บ้านจะออกหาปลาเพื่อมาบริโภคในครัวเรือน และนำออกไปขายเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว ส่วนแม่บ้านจะใช้เวลาว่างช่วงนี้ให้เกิดประโยชน์โดยการทําผลิตภัณฑ์จักสาน ได้แก่ กระด้ง กระเชอ ตระกร้า ใส่ของ ใส่ผัก และเครื่องมือหาปลา ฯลฯ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนเก่าคนแก่ที่ได้คิดค้นสร้างสรรค์เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจําวันและถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน
ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปของบ้านปะกาลิมาปุโระมีสภาพเป็นพื้นที่ราบลุ่มติดแม่น้ำปัตตานี ในช่วงฤดูน้ำหลากจึงมักประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ดินสำหรับทำการเกษตร โดยเฉพาะที่นา มีบริเวณที่เนินบ้างเล็กน้อยที่ใช้สำหรับปลูกมะพร้าว ทรัพยากรธรรมชาติโดยรอบยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งทรัพยากรดิน ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่านานาหลากหลายหลายพันธุ์ มีสถานที่สำคัญประจำชุมชน ได้แก่ โรงเรียนบ้านปะกาลิมาปุโระ
ชาวบ้านปะกาลิมาปุโระทั้งหมู่บ้าน คือ ชาวไทยมุสลิมที่นับถือศาสนาอิสลาม
มลายูชาวบ้านปะกาลิมาปุโระส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาเป็นอาชีพหลัก และเนื่องจากพื้นที่ชุมชนตั้งอยู่ใกล้เขตเทศบาลเมืองปัตตานี ชาวบ้านส่วนมากจึงมักจะเดินทางเข้าไปประกอบอาชีพในเมือง เช่น รับจ้างทำการประมง ค้าขาย ฯลฯ รวมถึงเดินทางไปรับจ้างในต่างประเทศด้วย (มาเลเซีย)
ประเพณีเข้าสุนัต (มาโซะยาวี) หรือพิธีขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายเข้ารีตถืออิสลาม ซึ่งคําว่ามาโซะยาวีใช้กับคนที่มิใช่เป็นมุสลิม สุนัดเป็นพิธีพึงปฏิบัติ ส่วนผู้ทําการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศ คือ มูดีม
ประเพณีแต่งงาน การกระทําพิธีแต่งงานของไทยมุสลิมจะยึดถือปฏิบัติกฎและหลักเกณฑ์ตามลัทธิอิสลาม ซึ่งมีข้อแตกต่างจากชาวไทยพุทธ คือ ผู้ชายสามารถแต่งงานกับผู้หญิงได้ถึง 4 คน แต่มีข้อแม้คือจะต้องเลี้ยงดูได้ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการช่วยเหลือหญิงหม้าย หญิงอนาถา และยังมีข้อบังคับต่าง ๆ เช่น ถ้าสามีออกจากบ้านเกิน 3 วัน โดยไม่ได้รับการยินยอมจากภรรยา หากภรรยาฟ้องร้องต่อคณะกรรมการอิสลามก็ต้องมีการพิจารณาและสามีจะต้องให้เงินค่าเลี้ยงดู หรือหากสามีออกจากบ้านเกิน 6 เดือน โดยไม่ได้รับการยินยอมจากภรรยา ให้ถือว่าหมดสภาพการเป็นสามีภรรยา การทําพิธีแต่งงานของชาวมุสลิมต้องมีการลงชื่อของโต๊ะอิหม่าม เจ้าบ่าว เจ้าสาว บิดาฝ่ายหญิงและพยานในหนังสือสําคัญเพื่อเป็นหลักฐาน การแต่งงานตามประเพณีนิยมในหมู่บ้าน ฝ่ายหญิงจะเชิญ ญาติบิดามาร่วมพิธีเรียกว่า “มาแกปูโต๊ะ” (กินเหนียว) ส่วนฝ่ายชายจะเชิญญาติมิตรฝ่ายตน เรียกว่า เชิญมา “มางานา” คือเชิญมารู้จักเจ้าสาวและร่วมรับประทานอาหารกัน
ประเพณีมาแกปูโต๊ะ (กินเหนียว) งานกินเหนียวหรือมาแกปูโต๊ะนี้ความจริงไม่ใช่กินเหนียวโดยตรง แต่เชิญไปกินข้าวธรรมดา สันนิษฐานว่าเดิมคงใช้ข้าวเหนียว แล้วจึงเปลี่ยนมากินข้าวจ้าว ประเพณีมาแกปูโต๊ะสมัยก่อน หมายถึง การกินเลี้ยงเนื่องในพิธีแต่งงานและพิธีสุหนัตเท่านั้น แต่ปัจจุบันมาแกปูโต๊ะมีความหมายกว้างออกไปถึงการกินเลี้ยงในงานมงคลต่าง ๆ เช่น งานสร้างมัสยิด งานเลี้ยงส่งบุตรไปศึกษาต่อ
ประเพณีทําศพ การทําศพในศาสนาอิสลามมี 4 ขั้นตอน ได้แก่ การอาบน้ำศพ การห่อศพ การละหมาดให้ศพและการฝังศพ ชาวไทยมุสลิมจะมีการฝังศพอย่างเดียวไม่มีการเผา โดยจะวางศพให้นอนตะแคงไหล่ขวาลง โดยหันหน้าไป นครเมกกะ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังมีวันสําคัญในศาสนาอิสลามตามคตินิยมของไทยมุสลิมภาคใต้
วันศุกร์ ชายมุสลิมจะต้องไปทําพิธีละหมาดที่มัสยิด โดยมี “คอเดม” ของมัสยิดเป็นองค์ปาฐกฐา หากขาดการละหมาดเกิน 3 ครั้ง จะถือว่าเป็นผู้มีมลทิน
วันปอซอ (วันถือศีลอด) คือ ไม่กินอาหารและไม่ให้สิ่งใด ๆ เข้าไปในทวารต่าง ๆ ของร่างกายตั้งแต่รุ่งสางจนถึงตะวันพลบค่ำเป็นเวลา 1 เดือน ชาวอิสลามเรียกช่วงเวลานี้ว่า เดือนรอมฎอน
วันฮารีรายอปอซอ (วันถือศีลอด) เป็นวันที่สิ้นสุดการถือศีลอด จะมีการทําขนมต่าง ๆ แจกจ่ายและเลี้ยงฉลองกัน ซึ่งจะทําก่อน 1 วัน และเมื่อถึงวันฮารีรายอปอซอ จะไปมัสยิดหรือสุเหร่าเพื่อทําการละหมาดแผ่ผลบุญดวงวิญาณบรรพบุรุษ
วันฮารีรายอฮัจยี เป็นที่สําคัญที่สุดยิ่งกว่าวันตรุษใด ๆ เนื่องจากชาวมุสลิมประกอบพิธีฮัจญ์ ณ นครเมกกะ มีการประกอบพิธีเหมือนกับวันฮารีรายอปอซอ แต่เพิ่มการทําพิธีกุรบาน คือ การฆ่าสัตว์ เช่น วัว ควาย แพะ แกะ เพื่อทําทานซึ่งเนื้อสัตว์นี้จะนํามาทําอาหารเลี้ยงหรือแจกจ่ายกันไป
ทุนทางเศรษฐกิจ ชาวบ้านปะกาลิมาปุโระมีแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ธนาคารอิสลาม กองทุนหมู่บ้าน และมีบางรายที่ไปกู้เงินจากนายทุนในพื้นที่
ทุนทางภูมิปัญญา การทำเครื่องจักสานจากไม้ไผ่ เช่น กระด้ง ตะกร้า ตะแกรง ฯลฯ
ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ภายในพื้นที่หมู่บ้านปะกาลิมาปุโระ มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มากมาย ทั้งทรัพยากรดิน ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งมีหลากหลายหลายพันธุ์ ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณท้องถิ่นนานาที่มีอยู่ ชาวบ้านได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของทรัพยากร ไม่อยากปล่อยให้พืชพรรณเหล่านี้ต้องตายเปล่าตามวัฏจักร ชาวบ้านจึงคิดค้นหาวิธีที่จะนำทรัพยากรเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ โดยการนำมาประยุกต์ร่วมกับภูมิปัญญาชุมชน พืชพรรณท้องถิ่นที่พบในพื้นที่ชุมชน แล้วมีการนำมาสร้างสรรค์เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้าน ดังนี้
- ต้นนมแมว : นำมาแปรรูปเป็นตะกร้า และกระถางแขวนต้นไม้ ดอกไม้
- เตยบ้าน : นำมาทำหัตถกรรมจักสานเป็นกระเป๋า ตะกร้า และเสื่อ
- ลูกมะพร้าว : นำมาทำเป็นที่เขี่ยบุหรี่ กระถางต้นไม้ กระบวยและทัพพี
- ลูกตาลโตนด : นำมาทำเป็นมือลิง (ที่เกาหลัง) และที่เขี่ยบุหรี่
- ต้นมะขาม : นำมาทำป้าย พวงกุญแจและเขียง
ภาษาพูด : ภาษามลายู
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
รัตนา ดือเระซอ และคณะ. (2557). แนวทางการพัฒนาอาชีพการทำผลิตภัณฑ์จักสานเพื่อสร้างรายได้เสริมกลุ่มแม่บ้านปะลาลิมาปุโระ ตำบลบาราเฮาะ อำเอเมือง จังหวัดปัตตานี. กองทุนสนับสนุนการวิจัย.
นิทัศน์ นิมะ. (2561). โรงเรียนบ้านปะกาลิมาปุโระ. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.google.com/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566].