Advance search

ชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน แหล่งอู่ต่อเรือกอและที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกทั้งยังเป็นชุมชนประมงที่มีเรือประมงพื้นบ้านมากกว่า 200 ลำ 

บ้านปาตาบูดี
แหลมโพธิ์
ยะหริ่ง
ปัตตานี
ธำรงค์ บริเวธานันท์
27 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
28 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
30 เม.ย. 2023
บ้านปาตูบูดี


ชุมชนชนบท

ชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน แหล่งอู่ต่อเรือกอและที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกทั้งยังเป็นชุมชนประมงที่มีเรือประมงพื้นบ้านมากกว่า 200 ลำ 

บ้านปาตาบูดี
แหลมโพธิ์
ยะหริ่ง
ปัตตานี
94150
6.933157937
101.3129152
องค์การบริหารส่วนตำบลแหลมโพธิ์

ปาตาบูดี เป็นชื่อหมู่บ้านชาวประมงพื้นบ้าน ตั้งอยู่บริเวณปลายแหลมตาชี ในเขตตําบลแหลมโพธิ์ อําเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ปาตาบูดี เป็นภาษามลายูท้องถิ่น โดยคําว่า “ปาตา” แปลว่า ชายหาด และคําว่า “บูดี” แปลว่า ต้นโพธิ์ทะเล ปาตาบูดีจึงมีความหมายถึงชายหาดที่มีต้นโพธิ์ทะเล ซึ่งในอดีตนั้นบริเวณพื้นที่ดังกล่าวมีต้นโพธิ์ทะเลอยู่เป็นจํานวนมาก

เมื่อ พ.ศ. 2526 ปาตาบูดีแยกออกมาจากบ้านบูดี เมื่อแยกแล้วได้ตั้งชื่อหมู่บ้านตามลักษณะภูมิประเทศที่ปรากฏ คือ มีลักษณะเป็นแหลมยื่นออกไปในทะเล บริเวณปลายแหลมมีต้นโพธิ์ต้นใหญ่ขึ้นอยู่ ตอนที่เป็นหมู่บ้านเดิมก็ชื่อว่า บ้านบูดี ซึ่งมาจากคําติดปากที่ชาวบ้านเรียก เพราะคําว่าบูดี แปลว่าต้นโพธิ์ เมื่อแยกหมู่บ้านออกมาจึงยังคงใช้ชื่อตามความหมาย

ลักษณะทางกายภาพของชุมชนบ้านปาตาบูดี ตำบลแหลมโพธิ์ มีสภาพเป็นแหลมบริเวณชายฝั่งทะเล ริมอ่าวปัตตานี มีทะเลล้อมรอบบริเวณ ไม่มีนาข้าว เนื่องจากดินในบริเวณนี้มีลักษณะเป็นดินทรายซึ่งไม่มีความเหมาะสมแก่การเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร บ้านปาตาบูดีอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ กอปรกับมีพื้นที่ติดบริเวณชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยจึงมีภูมิอากาศอบอุ่นตลอดทั้งปี มี 2 ฤดูกาล คือ ฤดูร้อน (กุมภาพันธ์-กรกฎคม) และฤดูฝน (สิงหาคม-เมษายน)

ปัจจุบันบ้านปาตาบูดี ตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 2,597 คน นับว่าเป็นชุมชนที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นมากชุมชนหนึ่งในจังหวัดปัตตานี ประชากรเกือบทั้งหมดในหมู่บ้านนับถือศาสนาอิสลาม และยึดอาชีพประมงเป็นอาชีพหลัก เนื่องมาจากลักษณะภูมิประเทศที่มีสภาพเป็นแหลม และดินเป็นดินทราย อีกทั้งชาวบ้านยังเป็นผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญในการทำประมงพื้นบ้าน การทำประมงจึงกลายเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านน้านปาตาบูดีไปโดยปริยาย  

ลักษณะความสัมพันธ์ของคนในชุมชนมีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันเหมือนญาติพี่น้อง โดยเริ่มต้นจากการถ่ายทอดความรู้ในการทําเครื่องมือที่ใช้ในการทําประมง เช่น การทําเครื่องมือประมง การดูลักษณะของดินฟ้าอากาศ อุปนิสัยของสัตว์น้ำแต่ละชนิดว่าชอบอยู่ในลักษณะพื้นที่แบบใด ดินโคลนหรือว่าดินทราย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จําเป็นที่ชาวประมงพื้นบ้านต้องเรียนรู้เพื่อนําไปปฏิบัติ ซึ่งการถ่ายทอดวิธีการเหล่านี้เป็นการถ่ายทอดจากพ่อสู่ลูกหรือไม่ก็จากผู้อาวุโสในชุมชนที่มีประสบการณ์ในการทําการประมง 

มลายู

เนื่องจากพื้นที่ตั้งบ้านปาตาบูดีที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นแหลม และไม่มีพื้นที่สำหรับการทำนา ชาวบ้านจึงมาชีพหลัก คือ การทำประมง โดยใช้เครื่องมือประมงประเภทต่าง ๆ ดังนี้

อวนลอยกุ้ง 3 ชั้น: ใช้จับสัตว์น้ำประเภทกุ้งแชบ๊วย อวนชนิดนี้จะใช้วางในบริเวณน้ำลึกไม่เกิน 8 เมตร ซึ่งเป็นเขตชายฝั่ง

อวนจมปู: หรือภาษามลายูท้องถิ่นเรียกว่า “ปูกะกือแต” ลักษณะธรรมชาติของปูม้าจะอาศัยอยู่ในน้ำลึก อาศัยอยู่รวมกับตัวอื่น ๆ แต่ไม่ถึงกับอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ แต่จะกระจายกันไปในบริเวณใกล้เคียงกัน กินปลาและลูกปลาเป็นอาหาร วิธีการวางอวนจะวางตามกระแสน้ำและจะวางช่วงเวลาที่น้ำใส ชาวประมงพื้นบ้านจะใช้เครื่องมือชนิดนี้ในช่วงเดือนเมษายน-กันยายน การวางอวนจะต้องมีธงเป็นเครื่องมือ และต้องมีก้อนหินถ่วงปลายอวนทั้ง 2 ด้าน เพื่อไม่ให้พัดไปตามกระแสน้ำไปทับกับอวนของผู้อื่น อวนชนิดนี้จะวางอยู่กับที่ติดกับหน้าดิน

อวนปลา: เป็นอวนที่ใช้จับปลากระบอกและปลาทราย โดยอวนชนิดนี้จะนิยมวางในอ่าวปัตตานี เพราะบริเวณดังกล่าวเป็นดินโคลนและเป็นแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ของปลาชนิดดังดล่าว

เบ็ดราว: หรือ ตาลีกาเอ บางแห่งเรียกเบ็ดราวปลาอินทรีย์ เป็นหนึ่งในเครื่องมือการจับสัตว์น้ำที่มีรูปแบบอย่างง่าย ๆ ประกอบขึ้นเป็นเครื่องมือได้ไม่ยาก ลักษณะเบ็ดราวจะประกอบด้วย เบ็ดหลาย ๆ อันผูกเชือกเอ็นติดกับเชือกหลัก เบ็ดราวมีอายุการใช้งานค่อนข้างนาน สามารถจะวางที่ใดก็ได้ที่มีฝูงปลาชุกชุม เบ็ดราวจัดว่าเป็นเครื่องมือที่จําเป็นต้องใช้เหยื่อล่อสําหรับการจับปลา เหยื่อล่อส่วนใหญ่จะเป็นพวกลูกกุ้ง สามารถทําได้ทั้งกลางวันและกลางคืน แต่ส่วนใหญ่จะวางในช่วงเช้ามืด

นอกเหนือจากอาชีพหลักทางการประมงพื้นบ้านแล้วก็ยังมีอาชีพอื่น ๆ อีกหลากหลาย เช่น ค้าขาย เลี้ยงสัตว์ เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ฯลฯ แต่มีอีกอาชีพหนึ่งที่ดํารงอยู่ควบคู่กับการตั้งชุมชนมายาวนานก็คือ การต่อเรือกอและท้ายตัด และการวาดลายเรือ ซึ่งเป็นจุดเด่นของชุมชนนี้ เนื่องมาจากชุมชนที่นี่มีเรือประมงพื้นบ้าน (กอและท้ายตัด) มากเป็นลําดับต้น ๆ ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเรือประมงพื้นบ้านจํานวนมากกว่า 200 ลํา และมีอู่ต่อเรือกอและท้ายตัดจํานวน 2 อู่ ซึ่งเป็นที่ขึ้นชื่อมากในการต่อเรือและการวาดลายเรือ ประกอบกับเป็นอู่ต่อเรือที่มี ความพร้อมในด้านช่างต่อเรือ การให้ความรู้และการถ่ายทอดข้อมูลการต่อเรือ

เนื่องจากสภาพพื้นที่ของบ้านปาตาบูดี เป็นพื้นที่ที่มีทะเลล้อมรอบ ไม่มีนาข้าว ทําให้ชุมชนต้องพึ่งพิงทรัพยากรบางอย่างจากภายนอกตลอดมา โดยเฉพาะข้าวซึ่งชุมชนไม่สามารถผลิตเองได้ ข้อจํากัดทางกายภาพของพื้นที่ทําให้สมาชิกในชุมชนมีทะเลเป็นฐานรากของการดํารงชีวิต บ้านบนพื้นดินเป็นเพียงที่พักอาศัยและประกอบศาสนกิจ ส่วนปัจจัยดํารงชีพทั้งหมดอยู่ในทะเล ชาวประมงพื้นบ้านในชุมชนแห่งนี้ได้ให้นิยามว่า “เรา เป็นคนทะเล” วิถีการเป็นคนทะเลทําให้ “ทะเล” มีความหมายมากกว่ากายภาพที่เป็นพื้นน้ำและมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ เท่านั้น หากทะเลกลับเป็นแหล่งให้กําเนิดชีวิตและวิถีของผู้คนและเป็นปัจจัยชี้ขาดถึงความเป็นความตายของชีวิต กล่าวถึงที่สุดแล้ว สําหรับชุมชนชาวประมงพื้นบ้านแห่งนี้ ทะเลจึงเปรียบเสมือนชีวิต ความเป็น “คนทะเล” จึงหล่อหลอมให้วิถีการดํารงอยู่ของผู้คนในชุมชนประมงพื้นบ้านบ้านปาตาบูดี จําต้องสร้างองค์ความรู้และความสัมพันธ์ที่มีลักษณะเฉพาะของ “คนทะเล” ขึ้นมาเป็นจารีตของชุมชน ทะเลจึงเป็นเสมือนทุ่งนาของคนบนพื้นราบ ทะเลและทุ่งนาจึงไม่เพียงแต่เป็นที่มาของปัจจัยในการดํารงชีวิต หากแต่ยังเป็นสถานที่ซึ่งก่อให้เกิดความรู้ ความสัมพันธ์ทางสังคม และอื่น ๆ อีกมากมาย (ดอเลาะ สะอะ และคณะ, 2557: 43)

ปราชญ์ชาวบ้านผู้มีความสามารถในการต่อเรือกอและท้ายตัด

1. นายดอเลา สะอะ

2. นายยะโก๊ะ เจ๊ะมีนา

3. นายและ แวสมาแอ

4. นายดอเลาะ แวดอเลาะ

5. นายสอและ แวดอเลาะ

6. นายมะแซะ สะอะ นายมะรูดิง สะอะ 

เรือกอและท้ายตัด

เรือกอและเป็นเรือประมงที่ใช้ตามชายฝั่งแหลมมลายู ซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบตามลักษณะรูปร่างการวางกระดูกงู ลักษณะรูปทรงของเรือและท้ายเรือ ซึ่งเรือกอและที่ใช้ในหมู่บ้านปาตาบูดีนั้น คือ เรือกอและประเภทท้ายตัด ปัจจุบันชุมชนบ้านปาตาบูดี เป็นชุมชนชาวประมงที่มีจำนวนเรือกะและท้ายตัดมากเป็นลําดับต้น ๆ ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเรือประมงพื้นบ้านจํานวนมากกว่า 200 ลํา และมีอู่ต่อเรือกอและท้ายตัดจํานวน 2 อู่ จากทั้งหมด 4 อู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งทั้งสองอู่ล้วนแต่เป็นที่ขึ้นชื่อในการต่อเรือและการวาดลายเรือ

ภาษาที่ใช้ติดต่อสื่อสารภายในชุมชนบ้านปาตาบูดี คือ ภาษามลายูถิ่นปัตตานี ซึ่งเป็นภาษาของประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับชาวมลายูในจังหวัดสามชายแดนภาคใต้จะเรียกภาษาของตนว่า บาซอ นนายู หรือ บาฮา ซอ นนยู แปลว่า ภาษามลายู

บทบาทของภาษามลายูที่มีต่อชาวบ้านปาตาบูดีและชาวบ้านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากจะใช้เพื่อการสื่อสารพูดคุยสนทนาแล้ว ยังใช้สำหรับการสอนศาสนาอิสลาม ตลอดจนใช้ในการแสดงมหรสพต่าง ๆ เช่น หนังตะลุง ลิเกฮูลู และมะโย่ง อย่างไรก็ตาม ภาษามลายูมีสถานภาพเป็นเพียงภาษาถิ่นใช้ในบทสนทนาของคนท้องที่เท่านั้น แต่ในกรณีของการติดต่อราชการหรือการเขียน ปัจจุบันจะใช้ภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาราชการ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ดอเลาะ สะอะ และคณะ. (2557). การเรียนรู้เพื่อฟื้นฟูภูมิปัญญาในการต่อเรือกอและท้ายตัดของชุมชนประมงพื้นบ้าน บ้านปตาบูดี ตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.