บ้านนาค้อใต้ ชุมชนเกษตรกรรมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หมู่บ้านที่มีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานมานานกว่า 600 ปี
“นาค้อใต้” ชื่อต้นไม้ใหญ่ชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์มะขาม ผลกลมติดช่อยาวเป็นพวง (คาดว่าน่าจะเป็นมะขามป้อม)
บ้านนาค้อใต้ ชุมชนเกษตรกรรมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หมู่บ้านที่มีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานมานานกว่า 600 ปี
ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านนาค้อใต้ มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าพื้นที่บริเวณนี้ในอดีตอยู่ในเขตบ้านป่าบอน สมัยนั้นมีผู้นําหมู่บ้านที่ชาวบ้านเรียกว่าโต๊ะกะก๊ะ (พูดติดอ่าง) เป็นผู้ใหญ่บ้านท่านหนึ่ง สืบทอดการปกครองมากว่า 6 ชั่วอายุคน จากการคำนวณอายุของผู้ใหญ่บ้านจึงคาดว่าบ้านป่าบอนมีการตั้งหมู่บ้านขึ้นมากว่า 560 ปี ภายหลังเมื่อมีการสร้างทางรถไฟ ทําให้ต้องเวนคืนที่ดินและตั้งบ้านเรือนกันใหม่ จึงมีชาวบ้าน 7 ครอบครัว แยกตัวออกจากบ้านป่าบอน อพยพออกมาตั้งหมู่บ้านใหม่ชื่อว่า “นาค้อใต้” อันเป็นต้นไม้ใหญ่ชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์มะขาม ผลกลมติดช่อยาวเป็นพวง (คาดว่าน่าจะเป็นมะขามป้อม) ตั้งแต่ พ.ศ. 2425 หรือประมาณ 120 ปี รวมแล้วชุมชนดั้งเดิมและชุมชนใหม่มีอายุรวมกันถึง 680 ปี
สภาพหมู่บ้านในอดีตจะเป็นป่าสนสลับกับป่าเสม็ดและทุ่งหญ้าป่าเสม็ดตอนนี้เหลืออยู่ประมาณ 2 ไร่ พื้นที่ของบ้านนาค้อใต้มีภูเขาสองลูกทางทิศใต้ ขึ้นเหนือจะเป็นที่ราบลุ่ม มีพื้นที่พรุ 3 แห่ง เวลาชาวบ้านจะปลูกข้าว ชาวบ้านจะนําเกลือมาโรยเพื่อปรับสภาพดิน เวลาขุดเจาะน้ำบาดาลจะพบหินเป็นชั้น ๆ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “บาฮาปา”
อาณาเขต
- ทิศเหนือ จรด หมู่ที่ 3 บ้านแลแป ตำบลมะกรูด อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
- ทิศใต้ จรด หมู่ที่ 1 บ้านยางแดง ตำบลมะกรูด อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
- ทิศตะวันออก จรด หมู่ที่ 1 บ้านางแดง ตำบลมะกรูด อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
- ทิศตะวันตก จรด หมู่ที่ 3 บ้านแลแป ตำบลมะกรูด อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
ลักษณะชุมชน
ลักษณะภาพรวมของชุมชนหมู่ที่ 4 บ้านนาค้อใต้ ตําบลมะกรูด อําเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เป็นหมู่บ้านในชนบทที่มีความสงบ น่าอยู่ ไม่มีปัญหาวุ่นวายหรือมีเรื่องเดือดร้อนใด ๆ ผู้คนมีอัธยาศัยดี หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ทักทายดี ไม่มีสถิติอาชญากรรม ทําร้ายร่างกายหรือโจรกรรม มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน หมู่บ้านไม่มีแหล่งอบายมุขหรือมั่วสุม
การคมนาคม
ถนนในหมู่บ้านเดิมเป็นทางเดินตามคันนาเปลี่ยนเป็นถนนลูกรัง เมื่อ พ.ศ. 2483 ความยาว 1.8 กิโลเมตร ต่อมาการเดินทางและการคมนาคมภายในหมู่บ้านและระหว่างหมู่บ้านเริ่มสะดวก มีถนนดินลูกรัง ถนนลาดปูนซีเมนต์เป็นบางส่วน ใช้สัญจรติดต่อกันได้ทุกฤดูกาล ยานพาหนะมีใช้ทุกชนิด คือ จักรยาน จักรยานยนต์ รถยนต์ รวมทั้งการเดินเท้า
ข้อมูลประชากรจากเทศบาลตำบลมะกรูด ปรากฏประชากรที่มีชื่อทะเบียนราฎร์บ้านนาค้อใต้ หมู่ที่ 4 ตำบลมะกรูด จำนวน 980 คน ชาวบ้านจะมีน้ำใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เมื่อบ้านใครจัดงานทําบุญจะมีเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นบ้านใกล้เรือนเคียง หรือระหว่างหมู่บ้านจะมาช่วยเหลือ นอกจากนี้ ในยามที่เพื่อนบ้านประสบเหตุร้ายหรือเรื่องที่ต้องขอความช่วยเหลือ เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม ชาวบ้านจะมารวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือเพื่อนบ้าน บางครั้งจะมีการบริจาคทรัพย์ช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ ที่พบบ่อยครั้งประจําทุกปี คือเหตุการณ์น้ำท่วม ก่อนที่ภาครัฐจะเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ซึ่งเป็นการแสดงน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของชาวบ้านนาค้อใต้ ซึ่งในแต่ละปีก็จะมีการจัดงานขึ้นในหมู่บ้าน เช่น งานเมาลิด งานอิดิลฟิตตรี งานอิดิลอัฐฮา งานอะมีลอ ชาวบ้านจะมาร่วมกิจกรรมกันอย่างมากมายและมาช่วยงานจนเสร็จ
มลายูการประกอบอาชีพของชาวบ้านหมู่บ้านนาค้อใต้ค่อนข้างที่จะมีความหลากหลากหลาย แต่อาชีพหลักส่วนใหญ่จะเป็นการทำงานในภาคเกษตรกรรม ได้แก่ นำนา สวนยางพารา ปลูกแตงโม พืชผัก การเลี้ยงสัตว์ ส่วนอาชีพอื่นนอกเหนือภาคการเกษตร ได้แก่ ค้าขาย ขับรถโดยสาร ก่อสร้าง และมีชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่ออกไปทำงานนอกพื้นที่ และต่างประเทศ
ชาวบ้านนาค้อใต้ทุกหลังคาเรือนนับถือศาสนาอิสลาม ในชุมชนมีสถานที่ประกอบศาสนกิจ คือ มัสยิด 1 แห่ง ประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามจะมาประกอบศาสนากิจเนื่องในวันเมาลิด งานอีดิลฟิตรี งานอีดิลอัฎฮา งานร่วมอะมีลอ เป็นต้น เมื่อเกิดปัญหาข้อวิวาทระหว่างสมาชิกภายในชุมชนจะมีผู้นําศาสนาคณะกรรมการมัสยิด โต๊ะครู โต๊ะอิหม่าม เป็นคนกลางตัดสิน ทําให้ชุมชนอยู่กันอย่างสงบ นอกจากนี้ชุมชนได้ร่วมทํากิจกรรมกับชุมชนใกล้เคียงอื่น ๆ เช่น การแข่งขันกีฬาเชื่อมความสามัคคี การจัดงานวันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ วันเด็ก เป็นต้น
- วันเมาลิด : คำว่า”เมาลิด” เป็นภาษาอาหรับแปลว่า เกิด ที่เกิด หรือวันเกิด ซึ่งหมายถึงวันเกิดของท่านนบีมูฮัมหมัด ตรงกับวันที่ 12 เดือนรอบิอุลเอาวัล หรือเดือนที่ 3 ตามปฏิทินอิสลาม กิจกรรมในงานเมาลิดได้แก่ การอัญเชิญคัมภีร์อัล-กุรอาน การกล่าวสรรเสริญเพื่อระลึกถึงท่านนบี ประกวดเพลงอนาซีด เป็นต้น
- งานอีดิลฟิตรี : หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “วันอีด” เป็นหนึ่งในวันเฉลิมฉลองวันฮารีรายอ หรือเทศกาลปีใหม่ของชาวมุสลิม
- วันอีดิลอัฎฮา : หรือวันรายอฮัจยี เป็นวันเฉลิมฉลองการเชือดสัตว์เพื่อพลีทาน ชาวมุสลิมจะทำการละหมาดและฟังคำสอนที่มัสยิด และจะสวมเสื้อผ้าใหม่ ไปเยี่ยมครอบครัวและเพื่อน และในผู้ที่พอมีกำลังทรัพย์สามารถทำการเชือดสัตว์พลีทาน (กุรบาน) เป็นสัญลักษณ์แทนความเต็มใจของอิบรอฮีมในการเชือดลูกชายคนเดียวของตัวเอง และมีการบริจาคเงินให้กับคนที่ยากจน และในช่วงวันอีดิ้ลอัฏฮา ชาวมุสลิมทั่วโลกจะเดินทางไปนครเมกกะและพื้นที่โดยรอบในซาอุดีอาระเบียเพื่อประกอบพิธีฮัจญ์
1. นายฮามะ มอนอง หมอยาสมุนไพรโบราณ
2. นายสุรัตน์ สุรสิทธิ์ หมอนวดแผนโบราณ
3. นายอาแว ดาหวี หมอรักษากระดูกหักและหมอนวดแผนโบราณ
โต๊ะอิหม่าม: ผู้นำทางศาสนาของชาวมุสลิม โดยปกติหมุ่บ้านที่นับถือศาสนาอิสลามจะมีโต๊ะอิหม่ามประจำหมู่บ้านเช่นเดียวกับหมู่บ้านนาค้อใต้
ภาษาที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารส่วนใหญ่ คือ ภาษามลายูถิ่น มีหอกระจายข่าวประจําหมู่บ้านตั้งอยู่ที่มัสยิดซใจกลางหมู่บ้าน เป็นแหล่งประชาสัมพันธ์ข่าวสารให้กับประชาชนในหมู่บ้านได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร ทั้งนี้ภาษามลายูเป็นเพียงภาษาที่ชาวบ้านใช้สื่อสารพูดคุยกันเฉพาะคนในหมู่บ้านเท่านั้น แต่สำหรับการพูดคุยกับคนต่างถิ่นหรือสถานที่ราชการมักจะใช้ภาษาไทยกลาง
ภายในชุมชนมีสาธารณูปโภคอย่างเพียงพอ มีไฟฟ้า ประปา บ่อน้ำตื้น บ่อน้ำบาดาล บางบ้านใช้น้ำประปา และบางหลังคาเรือนใช้ร่วมกันทั้งสองอย่าง
บ้านนาค้อใต้ ตําบลมะกรูดอยู่ในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลโคกโพธิ์ เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 90 เตียง ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 3 บ้านแลแป ตําบลมะกรูด อําเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ตั้งอยู่ใจกลางพื้นที่ ตําบลมะกรูด ทําให้ประชาชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบสามารถมาใช้บริการเดินทางได้สะดวกระยะทางห่างจาก โรงพยาบาล 3 กิโลเมตร
นอกจากกาเข้ารับการรักษาโดยวีการแพทย์แผนปัจจุบันแล้ว บ้านนาค้อใต้ยังมีปราชญ์ชาวบ้านที่ให้การรักษาชาวบ้านยามเจ็บไข้ไม่สบายซึ่งความรู้ที่นํามาใช้ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษต่อ ๆ กันมา และเป็นที่ยอมรับของชาวบ้านในชุมชนและละแวกอื่นที่มารับการรักษาพยาบาล ซึ่งบุคคลเหล่านี้ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่แต่อายุมากแล้ว ซึ่งได้แก่ นายฮามะ มอนอง หมอยาสมุนไพรโบราณ นายสุรัตน์ สุรสิทธิ์ หมอนวดแผนโบราณ นายอาแว ดาหวี หมอรักษากระดูกหักและหมอนวดแผนโบราณ นอกจากนี้ ในชุมชนยังมีการ รวมกลุ่มกันเพื่อทํากิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ เช่น กลุ่มออกกําลังกายแตะฟุตบอล ตะกร้อ ในการออกกําลังกายในการรวมกลุ่มออกกําลังกายจะเป็นกลุ่มวัยเรียน วัยรุ่น ส่วนผู้ใหญ่และวัยผู้สูงอายุ มีการออกกําลังกายโดยตอนหัวรุ่งเดินไปกรีดยาง เดินจูงวัวไปทํานา ประชาชนในหมู่บ้านนี้เป็นชุมชนอิสลามไม่มีการดื่มสุราของมึนเมา
สิเปาะ เจะอะ และคณะ. (2552). ทุนทางสังคมด้านสุขภาพและองค์ความรู้การแพทย์พื้นบ้านเพื่อฟื้นฟูศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชนบ้านค้อใต้ ตำบลมะกรูด อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
บ้านนาค้อใต้. ได้จาก: https://www.facebook.com/ [สืบค้นเมื่อวันทื่ 28 เมษาน 2566].