ชุมชนหัวทางเป็นชุมชนที่มีการเพาะเลี้ยงปูนิ่มมากที่สุดในจังหวัดสตูล
ชุมชนบ้านหัวทาง เป็นหมู่บ้านในตำบลพิมาน อำเภอเมือง จังหวัดสตูล “หัวทาง” หมายถึง สุดทางของถนนแต่เป็นจุดเริ่มต้นของท่าเรือ มาจากภาษามลายูว่า “เกอปาลาบาตัส” มีเรื่องเล่าว่าเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2434 โต๊ะตาเอบ พระคง ชาวบ้านจากบ้านม่วง จังหวัดตรัง เป็นคนแรกที่เข้ามาบุกเบิกพื้น เพื่อประกอบอาชีพตัดไม้ทำไม้พื้นซีกส่งไปขายยังประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ ในเวลาต่อมาโต๊ะนาง โต๊ะชายหมาด โต๊ะและ โต๊ะหมาดเล็บ ได้อพยพครอบครัวเข้ามาอาศัยอยู่ 2 ครัวเรือน แต่ว่าอยู่บ้านหลังเดียวกัน มีบางกระแสเล่าว่า โต๊ะตาเอบ ขายที่ดินทั้งหมดให้โต๊ะนางด้วยราคา 18 บาท บางกระแสเล่าว่าโต๊ะตาเอบได้มอบที่ดินให้อยู่อาศัย (หรือที่เรียกว่าให้โดย เสน่หา) และอีกกระแสหนึ่งเล่าว่าโต๊ะตาเอบขายที่ดินทั้งหมดโต๊ะนางด้วยราคา 75 บาท ต่อมาโต๊ะนางได้นําลูกหลานเข้ามาอาศัยและประกอบอาชีพประมง เช่น ตกปลา หาปู หาหอย ดักโพงพาง ตัดไม้ส่งหลุมถ่าน รวมระยะเวลาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันชุมชนแห่งนี้มีอายุประมาณ 132 ปีมาแล้ว
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ท่านายเทาว์
- ทิศใต้ ติดต่อกับ คลิงเจ๊ะสมาท เขตป่าชายเลนที่ 34
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ โคกพยอม-คลองเจ๊ะสมาท
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ชุมชนคลองเส็นเต็น
ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศชุมชนบ้านหัวทางมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบลุ่มติดชายฝั่งทะเลอันดามัน ทางด้านทิศตะวันออกเป็นภูเขาสลับซับซ้อนกับป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งมีผลต่อการประกอบอาชีพของคนในชุมชน ทำให้คนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง เช่น ตกปู ตกปลา เก็บหอย ขุดเพรียงทะเล ทำเหยื่อโพงพาง เลี้ยงปู วางอวน เป็นต้น
ชุมชนบ้านหัวทางมีแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญ 2 สาย ทั้งสองสายนี้เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของคนในชุมชนมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คือ คลองเจ๊ะสมาท และคลองพร้าว โดยคลองเจ๊ะสมาทเริ่มจากปากอ่าวหลุมถ่านใต้ถึงสะพานตา-ยาย มีความยาวประมาณ 15 กิโลเมตร ในอดีตบริเวณปากคลองเจ๊ะสมาท กว้าง 150 เมตร ลึก 20 เมตร และบริเวณท่าเทียบเรือหัวทางกว้าง 20 เมตรลึก 6 เมตร ปากคลองเจ๊ะสมาทเป็นแหล่งชุกชุมของปลาจวด ปลาดุกทะเล ปลากะพงขาว ปลากระเบน (เบนเสือ เบนธง เบนทราย) ฉลามพร้าตัวเท่าลําเรือ ปูดํา ปูหน้าขาว
ลําคลองสายนี้มีภูเขาทั้งหมด 5 ลูก มีสถานที่ท่องเที่ยว เช่น น้ำตกเขาโต๊ะอีดํา ถ้ำทะลุ ถ้ำราชสีห์ รอยเท้ามนุษย์โบราณอยู่บนพื้น 2 รอย มีขนาดความยาว 1 ฟุต ความกว้าง 8 นิ้ว ปรากฏอยู่บนโขดหินบริเวณเขาโต๊ะปูหมอ และเมื่อขึ้นไปยืนบนจุดชมวิวเขาโต๊ะปูหมอจะเห็นทัศนียภาพรอบเมืองสตูล
ประชากรชุมชนหัวทางส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม คิดเป็นร้อยละประมาณ 98 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 2 คือชาวไทยพุทธ
มลายูปัจจุบันประชากรในชุมชนบ้านหัวทางส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำประมง โดยสัตว์เศรษฐกิจของชุมชน คือ ปูนิ่มที่ชาวบ้านเพาะเลี้ยง โดยรูปแบบการเลี้ยงปูนิ่มของชาวบ้านหัวทาง คือ การเลี้ยงในกล่อง ซึ่งมีมากกว่า 200,000 กล่อง สำหรับการขายปูนิ่มส่วนใหญ่จะเป็นการขายแบบเหมารวมหรือคละทุกขนาด เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 300-350 บาท โดยรูปแบบการเลี้ยงปูนิ่มของชุมชนบ้านหัวทางมีวิธีการเลี้ยง 3 รูปแบบ ได้แก่ การเลี้ยงแบบอิงธรรมชาติ การเลี้ยงแบบ่อพัฒนาบ่อส่วนตัว และการเลี้ยงแบบบ่อพัฒนาบ่อรวม
- การเลี้ยงแบบอิงธรรมชาติ หมายถึง การเลี้ยงโดยรอบบริเวณและกลางบ่อจะมีต้นไม้ให้ร่มเงาและเพิ่มออกซิเจนให้ปูดำ (ปูนิ่ม)
- การเลี้ยงแบบบ่อพัฒนาบ่อส่วนตัว หมายถึง การเลี้ยงในบ่อกุ้งร้าง แต่เลี้ยงประมาณ 1-2 คน
- การเลี้ยงแบบบ่อพัฒนาบ่อรวม หมายถึง การเลี้ยงในบ่อกุ้งร้างแต่เลี้ยงรวมกันหลายคน
ในส่วนของพันธุ์สายพันธุ์ปูดำ (ปูนิ่ม) ที่นิยมในชุมชนบ้านหัวทาง มาจาก 3 แหล่งที่ม่ด้วยกัน ดังนี้
- พันธุ์ปูดำในพื้นที่ นำมาจากป่าชายเลนในขอบเขตบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย เรียกว่า “คลองกุ้ง”
- พันธุ์ปูดำจากอำเภอหัวไทร และอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช
- พันธุ์ปูดำจากรัฐเปอร์ลิส รัฐยะโฮร์ ประเทศมาเลเซียร์
ในอดีตแรกก่อตั้งชุมชน ชาวบ้านหัวทางทั้งหมู่บ้านนับถือศาสนาอิสลาม แต่ในปัจจุบันเนื่องจากมีคนหลายพื้นที่เข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชนบ้านหัวทางเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการเข้ามาของศาสนาใหม่ คือ ศานาพุทธ แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น
สำหรับการประกอบประเพณีพิธีกรรมทางศาสนาของชาวบบ้านในชุมชนจะมีความแตกต่าวกันตามศาสนาที่นับถือ ชาวมุสลิมซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของชุมชนจะเดินทางไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่มัสยิด ส่วนชาวพุทธก็จะไปประกอบพิธีกรรมที่วัด
1. นายชอลีฮีน อิสมาแอล ผู้นำการเลี้ยงปูนิ่มแบบใส่กล่องเข้ามาในชุมชนบ้านหัวทาง โดยได้เรียนรู้วิธีการเลี้ยงมาจากจังหวัดตราด
การผลิตปูนิ่มโดยเลี้ยงในกล่อง
วิธีการเลี้ยงปูนิ่มของชาวบ้านหัวทางในช่วงแรกเริ่มของการเลี้ยงปูนิ่ม นิยมเลี้ยงในตะกร้าแบบหักขาและก้าม แต่ต่อมานายซอลีอีน อิสมาแอล ได้นำวิธีการเลี้ยงปูนิ่มแบบใหม่มาจากจังหวัดตราด คือ การเลี้ยงปูนิ่มในกล่องโดยไม่ต้องหักขาและก้าม โดยการวางกล่องพลาสติกบนแพที่ทำจากท่อพีวีซี อาหารให้ปลาเหยื่อสดเป็นอาหารวันละ 1-2 ครั้ง/วัน ซึ่งต้องใช้เวลาเลี้ยงประมาณปูจึงจะทยอยลอกคราบหมด โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
- การเตรียมบ่อน้ำ ส่วนใหญ่จะเป็นการเลี้ยงในบ่อดิน ซึ่งเป็นวิธีการเลี้ยงแบบธรรมชาติ ในขั้นตอนนี้ต้องมีการวัดปริมาณน้ำ และคำนวนค่าความเป็นกรดด่างให้ละเอียด เพราะจะส่งผลต่อระยะการเจริญเติบโตของปูนิ่ม
- การเตรียมแพและกล่องสำหรับผลิตปูนิ่ม ส่วนใหญ่ใช้ท่อพีวีซีขนาด 1-2 นิ้ว ขนาดความกว้างตามกล่องที่จะใส่ปู วางเป็นแนวยาวตามทิศทางลม
- การเตรียมปู เมื่อเตรียมน้ำและกล่องได้คุณภาพที่เหมาะสมแล้ว นำปูขนาด 100-120 กรัม ใส่ลงในกล่อง กล่องละ 1 ตัว
- การให้อาหาร จะใช้เหยื่อปลาสดตัดเป็นชิ้นขนาด 2-3 เซนติเมตร ให้กล่องละ 1 ชิ้น/วัน/กล่อง และให้หมั่นสังเกตว่าหากปูไม่กินอาหาร หมดงว่าปูพร้อมที่จะลอกคราบภายในเวลา 2-3 วัน จะหยุดให้อาหาร
- เมื่อปูลอกคราบแล้ว จะนำปูที่ลอกคราบมาล้างทำความสะอาดในน้ำจืด เพื่อเอาเมือกหรือเศษวัสดุอื่น ๆ ออก
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
ชุมชนบ้านหัวทาง. (2559). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.facebook.com/huatangsatun [สืบค้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2566].
ประดิษฐ์ สาตัน และคณะ. (2556). การเลี้ยงปูนิ่มที่สอดคล้องกับระบบนิเวศ เพื่อพัฒนาเป็นอาชีพที่ยั่งยืน ของชุมชนบ้านหัวทาง ตำบลพิมาน อำเภอเมือง จังหวัดสตูล. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
เส้นทางเศรษฐี. (2560). เกษตรอินเทรนด์. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.sentangsedtee.com [สืบค้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2566].