
ชุมชนเก่าริมแม่น้ำโขง ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ มีวัดพระธาตุท่าอุเทนเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน
ชุมชนเก่าริมแม่น้ำโขง ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ มีวัดพระธาตุท่าอุเทนเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน
ท่าอุเทน เป็นชุมชนเก่าริมแม่น้ำโขงในจังหวัดนครพนม มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน ตามจดหมายเหตุหลวงชำนาญอุเทนดิษฐ์ (บาฮด กิติศรีวรพันธุ์) ได้กล่าวถึงการตั้งถิ่นฐานของคนไทญ้อในย่านชุมชนเก่าท่าอุเทนว่า
เดิมนั้นมีถิ่นฐานอยูที่เมืองหงสา แขวงไชยบุรี เมื่อราว พ.ศ. 2351 (สมัยรัชกาลที่ 1 ) หัวหน้าชาวไทญ้อ ชื่อท้าวหม้อ และภรรยาชื่อนางสุนันทา ได้อพยพครอบครัวและบ่าวไพร่ราว 100 คน เนื่องจากถูกเนรเทศทางการเมือง ได้ล่องแพมาตามลำน้ำโขงถึงเวียจันทน์ ท้าวหม้อได้ขอสวามิภักดิ์ต่อเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ โดยได้รับอนุญาตให้ตั้งเมืองที่ปากน้ำสงคราม สร้างเมืองใหม่ชื่อเมือง “ไชยสุทธิ์อุตตบุรี” (ปัจจุบันคือ ตำบลไชยบุรี อยู่ทางทิศเหนือ ห่างจากอำเภอท่าอุเทนราว 16 กิโลเมตร) เจ้าอนุวงศ์ได้ตั้งให้ท้าวหม้อเป็น “พระยาหงสาวดี และท้าวเล็กน้องชาวท้าวหม้อเป็นอุปฮาดวังหน้า
ในสมัยรัชกาลที่ 3 เกิดเหตุการณ์ไม่สงบเจ้าอนุวงศ์เป็นกบฎต่อกรุงเทพฯ พระยาหงสาวดีเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยจึงพาไพร่พลไปฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ตั้งเมืองใหม่ชื่อปุเลงหรือปุงเลิง ทิ้งเมืองไขยสุทธิ์อุตตมบุรีเป็นเมืองร้าง แต่ต่อมาเกิดปัญหาภายในมีไพร่พลที่ไม่พอใจอพยพจากเมืองปุเลงมาพักอยู่ดอนหาดทรายกลางแม่น้ำโข ตรงกับบ้านท่าอุเทนร้างในแขวงเมืองนครพนม
ต่อมาในปี พ.ศ. 2376 พระยามหาอำมาตย์(ป้อม อมาตยกุล) เป็นแม่ทัพตั้งอยู่ ณ เมืองนครพนมได้ไปกวาดต้อนผู้คนจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เช่น ผู้ไท ข่า โซ่ กะเลิง แสก ญ้อ และโย้ย และเกลี้ยกล่อมชาวเมืองปุเลง ซึ่งเป็นไทญ้อและไทญ้อในแขวงคำเกิดคำม่วนให้มาตั้งถิ่นฐานทางฝั่งท่าอุเทน รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าแต่งตั้งให้พระปทุม เจ้าเมืองปุเลงเป็นพระศรีวรราช เจ้าเมืองท่าอุเทนคนแรก ราวต้นรัชกาลที่ 6 ยุบเมืองท่าอุเทนเป็นอำเภอท่าอุเทน ขึ้นกับนครพนมและแต่งตั้งให้ขุนศุภกิจ-จำนง(จันทิมา พลเดชา) ข้าหลวงประจำเมือง เป็นนายอำเภอท่าอุเทนคนแรก
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอศรีสงครามและอำเภอบ้านแพง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอเมืองนครพนม
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ เมืองหินบูน แขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอโพนสวรรค์และอำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม
- งานบุญเดือนสี่ หรืองานนมัสการพระธาตุ ท่าอุเทนในเดือนมีนาคม งานแห่ต้นดอกไม้ เดือนเมษายน โดยเป็นการสรงน้ำพระในตอนกลางวัน และแห่ต้นดอกไม้ในเวลากลางคืนร่วมด้วยการรำไทญ้ออย่างงดงาม
- พิธีกรรมลงนางเทียน คือการทำพิธีเคารพผีบรรพบุรุษ ที่ถือว่าเป็นผีปู่ตา ที่ศาลหลักเมือง คล้ายกับการเข้าทรง โดยที่ร่างทรงจะทำพิธีไหว้ผีบรรพบุรุษ ให้คอยปกป้องคุ้มครองชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุข โดยจะมีพิธี 3 ครั้ง ในเดือนกุมภาพันธ์ พฤษภาคม และตุลาคม ส่วนชาวไทย เชื้อสายเวียดนามนั้นอยู่รวมกันเป็นชุมชนอย่างเหนียวแน่น และมีการสืบสานประเพณีงานสารท ซึ่งเป็นพิธีไหว้ศาลเจ้ามณีธรรมในเดือนมิถุนายน
นอกจากสองวัฒนธรรม ผสมผสานเป็นหนึ่งเดียวก่อเกิดเอกลักษณ์เฉพาะตัวของท่าอุเทนแล้ว ยังมีประเพณีของชาวท่าอุเทนที่จัดว่าเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ ซึ่งเป็นการร่วมมือร่วมใจกันไม่ว่าจะเป็นญ้อ เวียดนามหรือไทย คือ ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา ประเพณีแข่งเรือยาว และประเพณีไหลเรือไฟ และการทำบุญตักบาตรถนนสายวัฒนธรรม โดยมิได้ทำกันเพื่อความสนุกสนานหรือเอารางวัล แต่ทำขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ด้วยความเชื่อ ความศรัทธา และเสริมสร้างความสามัคคี ในแต่ละชุมชน ก่อเกิดเป็นความประทับใจแก่ผู้มาเยือน
1. อาจารย์วรสันต์ กิติศรีวรพันธุ์ ปราชญ์ชาวบ้านชุมชนท่าอุเทน ผู้อุทิศชีวิตเพื่อท่าอุเทน เป็นผู้ริเริ่มให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ย่านชุมชนเก่าท่าอุเทน โดยให้มีการทำประชาคม เพื่อเป็นกฎกติกาการอยู่ร่วมกันของชุมชน เพราะปัจจุบันมีการย้ายถิ่นฐาน มีคนต่างถิ่นเข้ามาอาศัย
ทุนทางวัฒนธรรรม
- อาคารเก่าบริเวณชุมชนท่าอุเทน ชาวชุมชนท่าอุเทนมีความเป็นอยู่ เรียบง่าย ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการนำภูมิปัญญาท้องถิ่น มาปรับใช้และพึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก การประกอบอาชีพ ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ตั้งอยู่บนรากฐาน และความเชื่อเกี่ยวกับน้ำ และชุมชนเก่าท่าอุเทนเป็นชุมชนได้รับการบรรจุอยู่ในย่านชุมชนเก่าที่เป็นแหล่งศิลปกรรมที่ควรอนุรักษ์ มีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่น่าสนใจทั้งเรื่องเล่าขานที่สืบถอดต่อกันมาจนมาถึงสถาปัตยกรรมที่ยังคงรูปแบบเดิมจึงทำให้กลายเป็นเอกลักษณ์อีกหนึ่งอย่างที่สร้างประโยชน์ให้กับแหล่งชุมชนนี้
- ย่านชุมชนเก่าท่าอุเทน ได้รับความสนใจจากคนนอกมากขึ้น เหตุหนึ่งเนื่องจากชุมชนได้รับการบรรจุอยู่ในย่านชุมชนเก่าที่เป็นแหล่งศิลปกรรมที่ควรอนุรักษ์ ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ราวปี พ.ศ. 2556 เนื่องจากเป็นชุมชนที่มีความโดดเด่นทั้งด้านภายภาพ สถาปัตยกรรมของอาคารบ้านเรือนโดยมีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมือง และนฤมิตรศิปล์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นที่ปรึกษาโครงการ ด้วยความร่วมมือจากเทศบาลตำบลท่าอุเทน ประชาคมท่าอุเทน และคนในชุมชนทำให้ยังคงมีอาคารเก่า บ้านเก่าที่ยังได้รับการอนุรักษ์ไว้อยู่จนถึงในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น บ้านนิลวรรณ มุขพรม บ้านลิขิต จังกาจิต ที่เป็นเรือนเก่าประยุกต์แบบสมัยใหม่ โรงเรียนทุเทนวิทยาคาร เป็นอาคารราชการที่เป็นโครงสร้างอาคารครึ่งปูนครึ่งไม้ คงความดั้งเดิมไว้ในตัวเป็นต้น
- พระธาตุท่าอุเทน ไม่ปรากฏประวัติการก่อสร้างที่แน่ชัด ทราบประวัติเท่าที่จารึกไว้ที่กำแพงพระธาตุ ซึ่ง กล่าวว่า พระอาจารย์สีทัตถ์ ญาณสัมปันโน ได้เป็นหัวหน้าชักชวนพระภิกษุสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกาทั่วไปร่วมกันก่อสร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2453 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2455 บรรจุพระพุทธสารีริกธาตุ ที่อัญเชิญมาจากเมืองย่างกุ้ง เมื่อปี พ.ศ. 2540 รวมทั้งพระพุทธรูป และของมีค่าต่าง ๆ ส่วนซุ้มประตูชั้นล่างขององค์พระธาตุด้านทิศใต้ได้พังทลายลง กรมศิลปากรจึงได้ทำ การบูรณะจนแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ. 2541 พร้อมทั้งได้ทำการเสริมคานคอนกรีตภายในเพื่อป้องกันองค์พระธาตุพังทลาย และ ราวปลายปี พ.ศ. 2557 พระธาตุท่าอุเทนได้รับการบูรณะอีกครั้งจนแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558
ท่าอุเทนกับการเป็นชุมชนต้นแบบการบริหารจัดการย่านชุมชนเก่าอย่างยั่งยืน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยสำนักจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ และศิลปกรรม ได้ดำเนินการเกี่ยวกับการอนุรักษ์ย่าน ชุมชนเก่ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ด้วยการ จัดทำมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม ประเภทย่านชุมชนเก่า และจัดทำทะเบียนย่านชุมชนเก่าแต่ละภาคของประเทศ
โดยในปี พ.ศ. 2558 สำนักงานฯ ได้วางแผนการดำเนินงานไปสู่การปฏิบัติผ่านพื้นที่ตัวอย่าง เพื่อนำไปสู่การเป็นชุมชนต้นแบบการบริหารจัดการย่านชุมชนเก่าอย่างยั่งยืน โดยย่านชุมชนเก่าท่าอุเทนเป็นชุมชนทีมีเสน่ห์ของตนเอง แต่สิ่งที่สัมผัสแล้วรับรู้ได้ถึงความโดดเด่น นอกเหนือจากเสน่ห์ทางกายภาพและการสืบสานวัฒนธรรมอันเข้มแข็งคือ ความตระหนัก ความรู้ค่า ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชุมชนและท้องถิ่นในการนำพาความฝันของชาวท่าอุเทนไปสู่การจัดการตนเอง ในวิถีทางแห่งการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน พร้อมที่จะเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ย่านชุมชนเก่าให้กับชุมชนอื่น ๆ ต่อไป โดยการดำเนินงานด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานส่วนท้องถิ่น และสร้างความพร้อมของท้องถิ่นในการกำหนดทิศทางการบริหารจัดการย่านชุมชนเก่าท่าอุเทน
นันทวัชร์ สุพัฒนานนท์. (2560). ภูมิ-มูนมัง ชุมชนท่าอุเทน จังหวัดนครพนม. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2566 จาก, https://oer.learn.in.th/
ปณิตา สระวาสี. (2561). ภูมิ-มูนม้ง ชุมชนท่าอุเทน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2566, จาก https://db.sac.or.th/museum/
มัณฑนา ศิริวรรณ. (2559). Tha Uthen Mekong Riverside Historical Residential District: Where Dreams Come True. วารสารธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. 5(2), 4-25.
สำนักงานจังหวัดนครพนมแหล่ง. (ม.ป.ป.). ท่องเที่ยวทางศาสนาและวัฒนธรรม. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2566, จาก http://www.nakhonphanom.go.th/