Advance search

เกาะสาหร่าย

เกาะระโดดใหญ่, เกาะโตด, เกาะโตดใหญ่

ชุมชนขนาดเล็กบนพื้นที่ทะเลอันดามัน แต่เต็มไปด้วยความสงบงามและคุณค่าของวิถีชีวิตอันยิ่งใหญ่ของชาวประมง

เกาะสาหร่าย
เกาะสาหร่าย
เมืองสตูล
สตูล
ธำรงค์ บริเวธานันท์
29 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
29 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
30 เม.ย. 2023
เกาะสาหร่าย
เกาะระโดดใหญ่, เกาะโตด, เกาะโตดใหญ่

เดิมมีชื่อว่า "เกาะโตด" ผู้ปกครองในอดีตเห็นว่าชื่อฟังดูไม่เพราะ จึงมีคำสั่งให้เปลี่ยนคำว่า "โตด" ซึ่งมีที่มาจากสาหร่าย มาเป็น "เกาะสาหร่าย" 


ชุมชนชนบท

ชุมชนขนาดเล็กบนพื้นที่ทะเลอันดามัน แต่เต็มไปด้วยความสงบงามและคุณค่าของวิถีชีวิตอันยิ่งใหญ่ของชาวประมง

เกาะสาหร่าย
เกาะสาหร่าย
เมืองสตูล
สตูล
91000
วิสาหกิจชุมชน โทร. 08-1748-5115, อบต.เกาะสาหร่าย โทร. 0-7475-0905
6.668601008
99.86531228
องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่าย

ประวัติความเป็นมาชุมชนเกาะสาหร่ายของสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต (2554: 7 อ้างถึงใน สุรสีห์ น้อมเนียน, 2557) ระบุว่า ในสมัยเจ้าเมืองเจ๊ะอับดุลลาห์ (ไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด) ผู้ปกครองเมืองในสมัยนั้น ได้เปลี่ยนชื่อเกาะใหม่ เนื่องจากชื่อเดิม "เกาะโตด" ฟังดูไม่ไพเราะ จึงมีคําสั่งให้เปลี่ยนคําว่า “โตด” ซึ่งมีที่มาจากสาหร่าย มาเป็น “เกาะสาหร่าย” แต่ชาวบ้านในเกาะสาหร่ายหรือแม้กระทั่งชาวบ้านในตัวเมืองสตูลยังคงเรียกกันติดปากว่า "เกาะโตด" หรือ "เกาะโตดใหญ่"

ส่วนความเป็นมาของชื่อ "เกาะโตด" ในอีกเรื่องราวหนึ่งกล่าวว่า เมื่อก่อนมีต้นไม้ชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายกับต้นโกงกาง เรียกว่า “ต้นโตด” หรือ “ต้นพังกาหัวสุม” ขึ้นอยู่เป็นจํานวนมากรอบเกาะ จนมองไม่เห็นด้านในเกาะ ชาวบ้านที่แล่นเรือผ่านไปผ่านมา จึงเรียกเกาะแห่งนี้ว่า “เกาะโตด” ซึ่งในอดีตมีการทําสัมปทานป่าไม้ จึงตัดโค่นต้นโตดไปเผาทําฟืนเป็นจํานวนมาก ทําให้ในปัจจุบันต้นโตดสูญหายไปจนหมดจากเกาะแล้วเช่นกัน

ในอดีตเกาะสาหร่ายเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ไม่มีผู้คนอยู่อาศัย ชาวประมงที่ออกหาปลาใช้เกาะแห่งนี้เป็นที่หลบพายุฝนและคลื่นลมทะเล ต่อมาจึงมีผู้คนอพยพมาอยู่ สันนิษฐานว่าบางส่วนเป็นกลุ่มคนที่หนีคดีจากต่างถิ่นมาตั้งรกรากสร้างครอบครัวที่นี่

ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่าคนท้องถิ่นดั้งเดิมบนเกาะเป็นชนชาติใด แต่จากคําบอกเล่าของผู้ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านมาตั้งแต่เกิด สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นคนมุสลิมเชื้อสายอินโดนีเซียหรือมาเลเซียที่ยังไม่เคร่งครัดนักในเรื่องการนับถือศาสนา มีความเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์และนับถือผี อพยพทางเรือเข้ามาที่เกาะ ใช้ภาษาพูดเป็นภาษามาลายูเนื่องจากพื้นที่แถบนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของแหลมมลายูและยังไม่มีการปักปันเขตแดนที่ชัดเจนเช่นในปัจจุบัน ผู้สูงอายุบนเกาะสาหร่ายหลายคนจึงพูดภาษามลายูได้เป็นอย่างดี

อาณาเขต

เกาะสาหร่าย หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า เกาะระโดดใหญ่ ประกอบด้วย 2 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 5 บ้านเกาะสาหร่าย และหมู่ที่ 6 บ้านตะโละน้ำ ตั้งอยู่ในเขตทะเลอันดามัน โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่บ้านต่าง ๆ ในตําบลเกาะสาหร่าย ได้แก่ เกาะ ตันหยงอุมา เกาะยะระโตดนุ้ย บ้านตันหยงกลึง บ้านบากันใหญ่ และเขตพื้นที่อําเภอท่าแพ
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ เกาะลังกาวี รัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตําบลตันหยงโป และตําบลเจ๊ะบิลัง
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อุทยานแห่งชาติตะรุเตา หมู่เกาะตะรุเตา

ลักษณะภูมิประเทศ

เกาะสาหร่ายอยู่ห่างจากชายฝั่งจังหวัดสตูลทางท่าเรือเจ๊ะบิลังออกไป 12 กิโลเมตร รูปร่างของเกาะมีลักษณะสัณฐานคล้ายถุงเท้า บางพื้นที่เป็นที่ราบสูง เป็นที่ตั้งขององค์การบริหารส่วนตําบลเกาะสาหร่าย โดยสามารถใช้เป็นจุดอพยพเพื่อหลบภัยเมื่อมีประกาศเตือนภัยสึนามิ ลักษณะภูมิประเทศโดยรอบเกาะเป็นที่ราบกว้างที่มีน้ำทะเลท่วมถึง มีการขึ้นลงของน้ำทะเลทุกวัน ลักษณะดินที่ราบริมทะเลเป็นดินเลน ตะกอนดินมีสีคล้ำ เนื้อดินเหนียว มีระบบนิเวศป่าชายเลนขึ้นอยู่โดยรอบเกาะ ลักษณะของพันธุ์ไม้ที่พบ ได้แก่ ไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม ต้นแสม ต้นโกงกาง ต้นจาก ต้นลําพู เป็นต้น แต่จะพบเป็นบริเวณเล็กหย่อมขนาดเล็กไม่แน่นหนามากนัก เนื่องจากปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง จึงทําให้ต้นไม้ในระบบนิเวศป่าชายเลนเติบโตได้ไม่ดี

ในบางพื้นที่รอบเกาะมีก้อนหินขนาดเล็กใหญ่ ทั้งที่เป็นก้อนกลมและแผ่นหินขรุขระกระจัดกระจายอยู่โดยทั่วไปตามผิวหน้าดินบริเวณชายหาด ซึ่งเกิดจากการผุพังและการกัดเซาะของน้ำทะเล ทําให้มีซอกเล็กซอกน้อยอยู่ตามโขดหินมากมาย บริเวณนี้จะมีสัตว์น้ำจำนวนมากเข้ามาอาศัยอยู่ โดยจะพบสิ่งมีชีวิตจําพวกหอยและปูอาศัยอยู่อย่างชุกชุม

ในอดีตเคยมีการปลูกข้าวกันมากจนมีโรงสีข้าวบนเกาะ แต่เนื่องจากสภาพปัญหาฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ทําให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก ผลผลิตที่ได้ไม่ดีเท่าที่ควร ชาวบ้านจึงเลิกปลูกข้าวหันมาปลูกยางพาราแทน รวมทั้งเคยมีสวนมะพร้าวเป็นจํานวนมากบนเกาะ แต่ถูกโค่นไป เนื่องจากผลผลิตจากมะพร้าวมีราคาตกต่ำ จึงนําที่ดินมาใช้ประโยชน์เพื่อปลูกยางพาราเช่นกัน (ป๊ะบาเต็น, สัมภาษณ์ 19 ธันวาคม 2557 อ้างถึงใน สุรสีห์ น้อมเนียน, 2557)

ทรัพยากรธรรมชาติ

ในพื้นที่รอบเกาะสาหร่ายอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรสัตว์น้ำทะเลประเภทต่าง ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพ อันได้แก่ ปูม้า ปูดาว กั้งขาว กั้งตั๊กแตน หอยกาหยํา (หอยหวาน) หอยชักนิ้ว หอยแครง หอยนางรม ฯลฯ ซึ่งสามารถหาได้ตลอดทั้งปี ส่วนสัตว์น้ำจําพวกปลาและกุ้ง เช่น ปลาทู ปลาโอ ปลาลัง ปลาสีกุน กุ้งแชบ๊วย กุ้งขาว ฯลฯ ก็สามารถจับได้ในปริมาณมากในช่วงฤดูมรสุมตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม รวมทั้งปลาหมึกกล้วย ปลาหมึกกระดอง และปลาหมึกหอม จะจับได้เป็นจํานวนมากในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเมษายนของทุกปี นอกจากนี้ยังมีทรัพยากรทางทะเลประเภทอื่น ๆ อีกมากมายนอกเหนือจากสัตว์เศรษฐกิจที่กล่าวมา อาทิ เต่าทะเล โลมา ปลาดาว ปลาตีน ปลาปักเป้า ม้าน้ำ แมงดาทะเล หอยหนาม หญ้าทะเล ปะการัง นกยาง นกแควก นกเหยี่ยว เป็นต้น

เนื่องจากตําแหน่งที่ตั้งของเกาะอยู่ไม่ไกลจากชายฝั่งมากนัก เมื่อนั่งเรือโดยสารจากทางท่าเรือเจ๊ะบิลังจะสังเกตเห็นพรรณไม้แบบระบบนิเวศป่าชายเลนบริเวณปากแม่น้ำขึ้นหนาแน่นมาก ซึ่งการมีระบบนิเวศแบบป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ใกล้เกาะสาหร่าย จึงเปรียบเสมือนสถานอนุบาลตัวอ่อนของสัตว์น้ำ เปิดโอกาสให้สัตว์ต่าง ๆ ได้เจริญเติบโตเต็มวัยก่อนจะออกสู่ท้องทะเล

ในปัจจุบันเมื่อชุมชนเกิดการขยายตัว ระบบทุนนิยมเข้ามามีความสําคัญต่อการดํารงชีวิต ทรัพยากรสัตว์น้ำเป็นที่ต้องการของท้องตลาดอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ชาวบ้านเปลี่ยนวิถีชีวิตจากการทําประมงเพื่อยังชีพไปสู่การทําประมงเชิงธุรกิจ และด้วยความที่สัตว์น้ำในท้องทะเลเป็นทรัพยากรส่วนรวม ไม่เพียงแต่เป็นที่ต้องการของชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่เท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มนายทุนนําเรือประมงพาณิชย์เข้ามาจับสัตว์น้ำเป็นจำนวนมาก มีการใช้เครื่องยนต์กลไกและอุปกรณ์การจับสัตว์น้ำที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพในการทําประมง รวมทั้งการจับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือประมงที่ไม่เหมาะสม ไม่คํานึงถึงธรรมชาติและระบบนิเวศของท้องทะเล ซึ่งการเพิ่มขึ้นของเรือประมง ทําให้การจับสัตว์น้ำมีมากยิ่งขึ้น ทรัพยากรทางทะเลและสัตว์น้ำในบริเวณชุมชนเกาะสาหร่ายจึงเกิด ภาวะเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว (เขตกานต์ สุวรรณรัตน์, 2557: 47-48 อ้างถึงใน สุรสีห์ น้อมเนียน, 2557)

ปัจจุบันชุมชนเกาะสาหร่ายมีประชากรรวมทั้งสิ้น 634 ครัวเรือน 2,321 คน ซึ่งแยกเป็นชาย 1,104 คน หญิง 1,217 คน โดยแยกตามหมู่บ้านได้ดังนี้

  • หมู่ที่ 5 บ้านเกาะสาหร่าย มีประชากรทั้งสิ้น 422 ครัวเรือน 1,490 คน แยกเป็นชาย 724 คน หญิง 766 คน

  • หมู่ที่ 6 บ้านตะโละน้ำ มีประชากรทั้งสิ้น 212 ครัวเรือน 831 คน แยกเป็นชาย 380 คน หญิง 451 คน 

มลายู

อาชีพหลักของชาวบ้านชุมชนเกาะสาหร่าย คือ การทำประมง เนื่องจากเกาะสาหร่ายเป็นชุมชนที่มีความผูกพันกับการทําประมงมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จากลักษณะทางกายภาพของพื้นที่เป็นเกาะซึ่งมีน้ำทะเลล้อมรอบ วิถีชีวิตในแต่ละวันจึงต้องมีความเกี่ยวข้องกับท้องทะเล ในอดีตชาวบ้านทําประมงเพียงเพื่อการยังชีพ ดํารงชีวิตอยู่ ด้วยการหาจับสัตว์น้ำ เพื่อการบริโภคในครัวเรือน และแบ่งปันกันในหมู่เครือญาติ โดยแล่นเรือไปไม่ไกลจากฝั่งมากนัก มีการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทําประมง เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงที่ถูกสั่งสม และถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น ในปัจจุบันวิถีการทําประมงมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จึงมีการพัฒนาเครื่องมือจับสัตว์น้ำให้ทันสมัยมากขึ้น และมีลักษณะแตกต่างกันไปตามการใช้งานและชนิดของสัตว์น้ำที่ต้องการจับ (เขตกานต์ สุวรรณรัตน์, 2557: 103 อ้างถึงใน สุรสีห์ น้อมเนียน, 2557) ทุกวันนี้จึงเห็นชาวประมงพื้นบ้านรายย่อยจํานวนมากที่ออกเรือไปจับสัตว์น้ำและนํามาขายยังแพปลาในชุมชน เกิดการแข่งขันกันจับสัตว์น้ำทั้งจากกลุ่มชาวประมงด้วยกันเองและเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ทรัพยากรสัตว์น้ำจึงเริ่มเสื่อมโทรมลง สวนทางกับค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ที่เพิ่มมากขึ้น ทําให้การทําประมงพื้นบ้านต้องประสบกับปัญหาหลายด้าน และอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ชาวประมงต้องการให้บุตรหลานประกอบอาชีพต่อไปในอนาคต

สำหรับพื้นที่ค้าขายของชาวบ้านเกาะสาหร่ายส่วนใหญ่จะอยู่ใกล้กับสะพานท่าเทียบเรือ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “หน้าร้าน” เนื่องจากมีการขนส่งสิ่งของต่าง ๆ มากับเรือโดยสารทุกวัน เมื่อมีการขนถ่ายสิ่งของขึ้นมาจากเรือ ชาวบ้านจะนํารถจักรยานยนต์พ่วงข้างไปรับและขนส่งสินค้าไปยังร้านค้าได้อย่างสะดวก สะพานท่าเทียบเรือหน้าเกาะจึงกลายเป็นจุดรับส่งสิ่งของ และเป็นสถานที่แรกที่ผู้เดินทางมายังเกาะสาหร่ายจะได้พบเห็น อีกทั้งบริเวณหน้าร้านยังเป็นที่ตั้งของแพปลาเอกชนจํานวน 4 แห่ง เพื่อรับซื้อสัตว์น้ำจากชาวประมง ทําให้ขนส่งสัตว์น้ำที่จับได้สด ๆ ขึ้นฝั่งถึงมือผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว

การตั้งบ้านรือน

เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นเกาะ ชาวบ้านส่วนใหญ่ซึ่งประกอบอาชีพประมงจะปลูกบ้านกระจุกตัวอยู่ตามชายหาดริมทะเลตลอดแนวของถนนรอบเกาะ เพื่อความสะดวกในการจอดเรือและออกเรือไปทําประมง บางส่วนปลูกบ้านกระจายตามพื้นที่ราบ มีทางลัดเชื่อมโยงกับถนนรอบเกาะหลายสายทําให้การเดินทางเข้าถึงทุกพื้นที่มีความสะดวกรวดเร็ว

คนในชุมชนที่นับถือศาสนาพุทธจะอยู่อาศัยกันใกล้สะพานท่าเทียบเรือหน้าเกาะ หรือที่เรียกกันว่าบริเวณ “หน้าร้าน” ซึ่งเป็นพื้นที่ของชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย มีการตั้งศาลทวด (ศาลขนาดเล็กทาสีแดง) เพื่อใช้ประกอบพิธีเซ่นไหว้ ขอพรเนื่องในวันตรุษจีนและประเพณีจีนต่าง ๆ จํานวน 2 แห่ง ตั้งอยู่บริเวณต้นเลียบขนาดใหญ่ที่หน้าร้าน โดยมีความเชื่อว่าศาลหนึ่งมีทวดประจําศาลเป็นคนมุสลิม เรียกว่า “ศาลโต๊ะกิ่ง” ดังนั้นเมื่อมีการประกอบพิธีไหว้ก็จะไหว้ด้วย ไก่ ขนม ผลไม้ และน้ำชา จะไม่ไหว้ด้วยหมู ส่วนอีกศาลหนึ่งสามารถไหว้ด้วยหมูได้ เรื่อยลงไปทางทิศใต้จนถึงบริเวณที่เรียกว่า “หัวแหลม” หรือ “แหลมกาหรีม” เป็นพื้นที่ของชาวไทยพุทธ มีการตั้งศาลทวดบริเวณปลายสุดของแหลม จํานวน 1 แห่ง ในอดีตจะมีการจุดประทัด เพื่อขอพรก่อนจะออกไปทําประมงในทะเลเพื่อให้รอดจากภัยอันตรายและมีโชคลาภในการหาปลา แต่ในปัจจุบันใช้เซ่นไหว้ เพื่อขอพรในประเพณีจีนเช่นกัน สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นลักษณะเด่นสําหรับชาวบ้านในชุมชนเกาะสาหร่าย คือ การยอมรับในเรื่องการนับถือศาสนาตามความเชื่อความศรัทธาของแต่ละบุคคล เพราะถึงแม้ว่าภายในชุมชนจะมีผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามมากกว่าชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธ แต่ทั้ง 2 ศาสนาก็สามารถยอมรับความแตกต่างของกันและกัน อาศัยอยู่ร่วมกันในชุมชนด้วยการช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นอย่างดี

ประเพณีท้องถิ่นของชาวไทยมุสลิม

ประเพณีฮารีรายอ หรือเทศกาลฮารีรายอ มีอยู่ 2 วัน คือ

  • วันอีดิลฟิตรี หรือที่เรียกว่า วันฮารีรายอปอซอ วันสิ้นสุดการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน เป็นการกลับเข้าสู่สภาพเดิม ตรงกับวันที่หนึ่งของเดือนเซาวาล ซึ่งเป็นเดือนที่สิบทางจันทรคติ (ในปี ฮ.ศ.1435 ตรง กับวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2557) โดยในแต่ละปีวันจะไม่ตรงกัน

  • วันอีดิลอัฎฮา หรือที่เรียกว่า วันฮารีรายอฮัจญี คําว่า อัฎฮา แปลว่า การเชือดพลี เป็นการเชือดสัตว์เพื่อเป็นอาหารแก่ประชาชนและคนยากจน การปฏิบัติจะมีการละหมาดร่วมกันและเชือดสัตว์ เช่น วัว แพะ แกะ แล้วแจกจ่ายเนื้อสัตว์เหล่านั้นแก่คนยากจน การเชือดสัตว์พลีนี้เรียกว่า “กรุบาน” ผู้ที่ประสงค์จะเชือด ต้องไม่แตะต้องเส้นผม ขน และผิวหนังแต่อย่างใด หมายความว่าไม่อนุญาตให้ตัดผม โกนขนลับ ถอนขนรักแร้ และตัดเล็บ เป็นต้น

ประเพณีถือศีลอด ชาวมุสลิมจะละเว้นการบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม การร่วมสังวาส ระหว่างรุ่งสางจนตะวันลับขอบฟ้า เพื่อฝึกความอดทนของกําลังใจและร่างกาย ให้รู้จักอดกลั้น รับรู้ถึงความทุกข์ยาก ความอดอยากหิวโหย และสภาพอันแท้จริงของผู้ที่อัตคัดขัดสนยากจน ชาวมุสลิมรียกเดือนแห่งการถือศีลอดว่า เดือนรอมฎอน ถือเป็นเดือนที่มีความศักดิ์สิทธิ์ที่สุด

ประเพณีวันเมาลิด เมาลิดเป็นภาษาอาหรับแปลว่า ที่เกิดหรือวันเกิด หมายถึงวันเกิดของนบี มุฮัมมัด วันเมาลิดจึงเป็นวันรําลึกถึงวันที่ท่านลี้ภัยจากเมืองเมกกะไปยังเมืองมาดีนะห์ และเป็นวันมรณกรรมของท่านด้วย ในวันเมาลิดจะมีการนําประวัติของท่านศาสดามากล่าวถึงเป็นโวหารสดุดี การอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน การอ่านดูอาขอพรจากองค์อัลลอฮ์ เมื่อเสร็จพิธีทางศาสนาแล้วก็จะมีการทําบุญเลี้ยงกันที่มัสยิดหรือที่บ้าน

ประเพณีการเข้าสุหนัต การเข้าสุหนัต หรือเข้าอิสลาม หรือพิธีขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย บนเกาะสาหร่ายในปัจจุบันจะทําในเดือนเมษายนหรือช่วงปิดเทอมของเด็ก ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะศึกษาอยู่ในระดับชั้น ป.1 หรือ ป.2 มีการรวมกันจัดที่บ้านหรือที่มัสยิดแล้วแต่งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุน ประมาณ 10-15 คน โดยผู้ที่ทําการขลิบจะเป็นหมอที่มีความเชี่ยวชาญจากตัวเมืองสตูล แต่ก็มีบางครอบครัวที่พาบุตรหลานไปใช้บริการตามโรงพยาบาลกันเอง

ประเพณีท้องถิ่นของชาวไทยพุทธ

ประเพณีทอดกฐินสามัคคี ประเพณีทอดกฐินสามัคคี เป็นงานใหญ่ประจําปีที่มีความสําคัญของสํานักสงฆ์เกาะสาหร่าย เนื่องจากเป็นงานบุญที่รวมคนจากต่างที่ต่างถิ่นมาทําบุญร่วมกันในการร่วมสร้างถาวรวัตถุให้กับทางสํานักสงฆ์

ประเพณีบุญสารทเดือนสิบ ชาวบ้านบนเกาะจะมีการทําบุญเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งเป็นความเชื่อของพุทธศาสนิกชนในภาคใต้ของประเทศไทย โดยเชื่อว่าบรรพบุรุษ ได้แก่ ปู่ย่า ตายาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว หากทําความชั่วจะตกนรกกลายเป็นเปรต ต้องทนทุกข์ทรมานในอเวจี ต้องอาศัยผลบุญที่ลูกหลานอุทิศส่วนกุศลให้แต่ละปีมายังชีพ และในวันแรม 1 ค่ำ เดือนสิบ คนบาปทั้งหลายที่เรียกว่าเปรตจึงถูกปล่อยตัวกลับมายังโลกมนุษย์เพื่อมาขอส่วนบุญจากลูกหลานญาติพี่น้อง ในโอกาสนี้ลูกหลานผู้ยังมีชีวิตอยู่จึงนําอาหารไปทําบุญที่วัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ฤดูฝนในภาคใต้จะเริ่มขึ้นในปลายเดือนสิบ พระภิกษุสงฆ์บิณฑบาตยากลําบาก ชาวบ้านจึงจัดเสบียงอาหารนําไปถวายพระในรูปของหมฺรับ (พานขนาด ใหญ่สําหรับใส่อาหาร) ให้ทางวัดได้เก็บรักษาไว้เป็นเสบียงสําหรับพระภิกษุสงฆ์ในฤดูฝน

ประเพณีรดน้ำขอพรผู้สูงอายุเนื่องในวันสงกรานต์ ชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธจะมีการรวมตัวกันเพื่อไปประกอบพิธีตักบาตรทําบุญและสรงน้ำพระพุทธรูปที่สํานักสงฆ์ จากนั้นจะมีการเชิญผู้สูงอายุในชุมชนที่เคารพนับถือมารดน้ำและขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิต ภายหลังจากเสร็จพิธีต่าง ๆ ก็จะเป็นการเล่นสาดน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนาน

1. นายทั้ง ตันวรางค์กุล  ปราชญ์ชาวบ้านด้านการแพทย์พื้นบ้าน มีความเชี่ยวชาญการรักษาโรคด้วยไสยศาสตร์

2. นายสัน โกปปุเลา  ปราชญ์ชาวบ้านด้านการแพทย์แผนไทย มีความเชี่ยวชาญในเรื่องกระดูกให้เป็นผู้รักษาและคลายกล้ามเนื้อ

ภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้าน: การแพทย์พื้นบ้านในชุมชนเกาะสาหร่ายเป็นการรักษาเกี่ยวกับโรคทางไสยศาสตร์เกี่ยวข้องกับความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และแพทย์แผนปัจจุบันไม่สามารถรักษาได้ การรักษาด้วยไสยศาสตร์จะมีการอ่านบทสวดจากคัมภีร์อัรกุรอาน และการดื่มน้ำมนต์ มีนายทั้ง ตันวรางค์กุล เป็นหมอมนต์ผู้ประกอบพิธี

การแพทย์แผนไทย: เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงซึ่งต้องใช้แรงในการทำงาน ทําให้ชาวบ้านเป็นโรคระบบกล้ามเนื้อและข้อ บางส่วนเลือกที่จะมาใช้บริการกับนายสัน โกปปุเลา ซึ่งเป็นหมอนวดปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในเรื่องกระดูกให้เป็นผู้รักษาและคลายกล้ามเนื้อ และมีการผดุงครรภ์โบราณโดยหมอตําแยในชุมชน แต่ในปัจจุบันไม่มีการทําคลอดแล้ว มีเพียงการดัดท้อง (นวดท้อง) ให้กับหญิงที่ตั้งครรภ์เท่านั้น

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้ ภาษามลายู และภาษาไทยกลาง

ภาษาเขียน : ภาษาไทยกลาง 


ไฟฟ้า ภายในชุมชนเกาะสาหร่ายที่ชาวบ้านอาศัยอยู่ที่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าและสิ่งอํานวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น โทรทัศน์ พัดลม ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เป็นต้น ทําให้รับรู้ข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว และมีชีวิตที่สะดวกสบาย มีการติดตั้งเสาไฟฟ้าสาธารณะตามถนนรอบเกาะ เพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับชาวบ้านที่ใช้สัญจรในยามค่ำคืน ทําให้ชาวบ้านมีสภาพความเป็นอยู่และชีวิตที่ดี

ประปา ในอดีตชาวบ้านบนเกาะสาหร่ายใช้น้ำจากบ่อน้ำตื้น พอถึงช่วงหน้าร้อนปริมาณน้ำในบ่อจะลดลงจนแห้งขอดไม่เพียงพอต่อความต้องการของชาวบ้านบนเกาะ จึงมีการขุดสระเก็บน้ำไว้เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค ปัจจุบันชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 5 ใช้น้ำประปาจากสระเก็บน้ำและบ่อน้ำของมัสยิดนูรุลอี บาดะห์ โดยจ่ายค่าน้ำให้กับทางมัสยิด ส่วนชาวบ้านในพื้นที่หมู่ที่ 6 ใช้น้ำประปาจากสระเก็บน้ำขององค์การบริหารส่วนตําบลเกาะสาหร่าย แต่เนื่องจากสภาวะอากาศที่ร้อนจัด เกิดเป็นปัญหาภัยแล้งซ้ำซากในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี น้ำประปาไม่เพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภค ทําให้ต้องจ่ายน้ำประปาเป็นบางเวลา หรือต้องงดจ่ายน้ำ ส่งผลให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเรื่องนี้ ในอดีตต้องรอการขนส่งน้ำจากการประปาสตูลมาใช้ แต่ในปัจจุบันทางองค์การบริหารส่วนตําบลเกาะสาหร่ายได้พยายามแก้ไขปัญหาเบื้องต้นโดยการขุดลอกบ่อน้ำตื้นทั่วเกาะ และแจกจ่ายน้ำดื่มบรรจุขวดแก่ชาวบ้านเพื่อใช้ในการบริโภคไปก่อน อีกทั้งยังมีการขุดขยายสระเก็บน้ำเดิมให้มีขนาดใหญ่มากขึ้น เพื่อสามารถกักเก็บน้ำได้ในปริมาณมากกว่าเดิม 


การลดจำนวนลงของทรัพยากรสัตว์น้ำ

ทรัพยากรสัตว์น้ำเป็นทรัพยากรที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายและมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นทุกปี ทําให้มีความจําเป็นที่จะต้องจับสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น ทําให้เกิดการแข่งขันกันจับสัตว์น้ำเพื่อสร้างรายได้ให้กับ ตนเอง โดยชาวประมงจะแสวงหาเครื่องมือต่าง ๆ ที่มีศักยภาพในการจับสัตว์น้ำให้ได้เป็นจํานวนมากมาใช้ ทําให้เกิดภาวะที่ระบบนิเวศไม่สามารถฟื้นตัวได้ทัน ส่งผลให้ทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีอยู่เกิดความเสื่อมโทรม (สํานักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, 2554: 1 อ้างถึงใน สุรสีห์ น้อมเนีย, 2557)

ปัญหาการลดลงของทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปูม้า ซึ่งเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สําคัญของชาวบ้านในชุมชนเกาะสาหร่าย ทําให้มีการจัดตั้ง “ธนาคารปูไข่” ซึ่งริเริ่มมาจากกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านในชุมชน เพื่อช่วยฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน เมื่อปี พ.ศ. 2548 โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนโครงการเพิ่มเติมเรื่อยมา ทั้งจากมูลนิธิชัยพัฒนา และโครงการ “อยู่ดีมีสุข” สํานักพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการจังหวัดสตูล

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

สุรสีห์ น้อมเนียน. (2557). ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวประมงพื้นบ้าน: กรณีศึกษาชุมชนเกาะสาหร่าย หมู่ที่ 5 บ้านเกาะสาหร่าย และหมู่ที่ 6 บ้านตะโละน้ำ ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล. ประกาศนียบัตรบัณฑิต (บัณฑิตอาสาสมัคร) สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

หมู่เกาะสาหร่าย. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://thai.tourismthailand.org/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2566].