Advance search

กะเหรี่ยงบ้านสองพี่น้อง

ชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง หรือ “หมู่บ้านกะเหรี่ยง” ในเขตตำบลสองพี่น้อง ซึ่งในอดีตได้อพยพมาจากชายแดนพม่าและเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ทางฝั่งตะวันออกของอ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน 

บ้านสองพี่น้อง
สองพี่น้อง
แก่งกระจาน
เพชรบุรี
ศิริณภา นาลา
1 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
14 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
30 เม.ย. 2023
บ้านสองพี่น้อง
กะเหรี่ยงบ้านสองพี่น้อง

ตั้งชื่อตามสองพี่น้องที่นำชาวกะเหรี่ยงต่อสู้กับพม่า คนรุ่นหลังได้ตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า "บ้านสองพี่น้อง" เพื่อให้เกียรติและรำลึกถึงทหารทั้งสองพี่น้อง ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของเขา และต่อสู้เพื่อแผ่นดินที่พวกเขาอยู่


ชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง หรือ “หมู่บ้านกะเหรี่ยง” ในเขตตำบลสองพี่น้อง ซึ่งในอดีตได้อพยพมาจากชายแดนพม่าและเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ทางฝั่งตะวันออกของอ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน 

บ้านสองพี่น้อง
สองพี่น้อง
แก่งกระจาน
เพชรบุรี
76170
12.8954095845
99.6319976221
องค์การบริหารส่วนตำบลสองพี่น้อง

ชาวกะเหรี่ยงตำบลสองพี่น้องเดิมอยู่ในเขตชายแดนพม่า ได้มาตั้งถิ่นฐานเป็นหมู่บ้านทำมาหากินในบริเวณนี้ ต่อมาชาวกะเหรี่ยงได้ทำสงครามรบกับพม่า โดยในหมู่บ้านมีพี่น้องอยู่สองคนเป็นทหารฝีมือดี และเป็นผู้นำในการรบ แต่เนื่องด้วยการรบมีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก และชาวบ้านได้นำศพคนกะเหรี่ยงเหล่านั้นมาเผาในทุ่งกลางหมู่บ้านคนจึงเรียกทุ่งนั้นว่า "ทุ่งเผาผี" จนถึงปัจจุบัน

ต่อมาสองพี่น้องได้นำคน 4,000 คนไปรบกับพม่าอีก เมื่อถึงบริเวณที่สู้รบ ทหารได้เอาดาบปักลงพื้นดิน (ในลักษณะการขุด) ทั้ง 4,000 คน จนเป็นบ่อน้ำขนาดเล็กและมีน้ำซึมออกมาได้ดื่มกัน หลังจากสู้รบกันแล้ว สัตว์ป่าได้ลงมากินนอนจนเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่จนปัจจุบัน ซึ่งหนองน้ำนี้อยู่ติดหมู่บ้าน หลังจากสู้รบกับพม่าแล้ว ผู้นำทั้งสองพี่น้องได้นำกำลังพลที่เหลือกลับมายังหมู่บ้านที่ตั้งของตน และเอาดาบที่สู้รบกันนั้นมาล้างบริเวณท่าน้ำของแม่น้ำเพชรบุรี กลางหมู่บ้าน และเรียกสถานที่นี้ว่า "วังล้างดาบ" จากเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ ชนรุ่นหลังได้ตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า "บ้านสองพี่น้อง" เพื่อให้เกียรติและรำลึกถึงทหารทั้งสองพี่น้อง ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของเขา และต่อสู้เพื่อแผ่นดินที่พวกเขาอยู่

ชาวกะเหรี่ยงใช้ภาษากะเหรี่ยงในการสื่อสารในชีวิตประจำวัน และใช้ภาษาไทยในการสื่อสารกับคนต่างถิ่น มีขนบธรรมเนียมและประเพณีดั้งเดิมที่สืบทอดกันมา เช่น ประเพณีกินข้าวห่อกะเกรี่ยง ในช่วงเดือน 9 ก่อนเข้าพรรษา, ประเพณีเวียนศาลา และยกฉัตร 9 ชั้น ในทุก ๆ เดือน 12 ของทุกปี มีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย พึ่งพาอาศัยธรรมชาติ บ้านเรือนทำด้วยไม้ สองชั้น ไต้ถุนสูง ชั้นบนไม่สูงมากนัก ประมาณ 2 เมตร ชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีเครื่องมือเครื่องใช้ทำมาจากไม้และไม้ไผ่สาน เช่น เครหรือกระด้ง อีจู้ อีตั้ง เครื่องปั่นฝ้าย เป่อ กระทอไก่ เป็นต้น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย แต่เดิมทอผ้าสวมใส่เอง รูปทรงเรียบง่าย ถักทอลวดลายบ่งบอกลักษณะความเป็นอยู่ของชาวกะเหรี่ยงเอง เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว เหลือผู้ที่ทอผ้ากะเกรี่ยงเพียงคนเดียว และยังไม่มีผู้สืบทอด

ตำบลสองพี่น้อง เป็นหนึ่งใน 6 ตำบลของอำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งประกอบด้วย ตำบลสองพี่น้อง ตำบลแก่งกระจาน ตำบลวังจันทร์ ตำบลพุสวรรค์ ตำบลป่าเด็ง และตำบลห้วยแม่เพรียง องค์การบริหารส่วนตำบลสองพี่น้อง อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอแก่งกระจานทางทิศเหนือ ประมาณ 8 กิโลเมตร โดยตำบลสองพี่น้อง มีเนื้อที่ทั้งหมด 323,974 ไร่ หรือคิดเป็น 518.36 ตารางกิโลเมตร

ทิศเหนือ       ติดต่อกับ ตำบลแก่งกระจาน อำเภอแก่งกระจาน

ทิศใต้          ติดต่อกับ ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน

ทิศตะวันออก   ติดต่อกับ ตำบลแก่งกระจาน และตำบลกลัดหลวง อำเภอท่ายาง

ทิศตะวันตก    ติดต่อกับ ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ

ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านสองพี่น้องตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลสองพี่น้อง ขึ้นอยู่กับอำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ทิศเหนือติดกับกับตำบลแก่งกระจาน ทิศใต้ติดกับอำเภอหัวหิน ทิศตะวันออกติดกับเขากระปุก ทิศตะวันตกติดกับประเทศพม่า การเดินทางแยกจากถนนสายเพชรเกษมเข้าไปตามเส้นทางสายท่ายาง - แก่งกระจาน ผ่านเขื่อนเพชรไปถึงกิโลเมตรที่ 27 แยกเข้าเป็นถนนลูกรังอักแน่นอีก 6 กิโลเมตรจะถึงหมู่บ้าน โดยไม่มีรถประจำทางวิ่งผ่าน บริเวณที่มีการตั้งบ้านเรือนมีแม่น้ำเพชรบุรี โดยไหลผ่านทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน

หมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่ในที่ราบระหว่างภูเขา การตั้งบ้านเรือนไม่ห่างกันมากนัก จะตั้งขนานไปกับถนนในหมู่บ้านตลอดทั้งสองข้างถนน แบ่งออกเป็นบ้านล่าง บ้านบน บ้านนอกและบ้านใน โดยแบ่งตรงบริเวณที่ถนนหน้าโรงเรียนเข้าไปในหมู่บ้านขึ้นไปทางเหนือเป็นบ้านบน ลงมาทางทิศใต้เป็นบ้านล่าง ส่วนบ้านในนั้นนับจากข้ามสะพานข้ามแม่น้ำเพชรบุรีไปอีกฝั่งของหมู่บ้านเป็นบ้านใน และบ้านนอกคือบริเวณติดกับถนนทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา 

ปัจจุบันตำบลสองพี่น้อง มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 4,748 คน แยกเป็นชาย 2,585 คน หญิง 2,163 คน  ความหนาแน่นเฉลี่ย 9.16 คน/ตารางกิโลเมตร เฉพาะบ้านสองพี่น้อง ตำบลสองพี่น้อง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี มีประชากรทั้งสิ้น 705 คน โดยแบ่งเป็น เพศชาย 365 คน เพศหญิง 340 คน 244 ครัวเรือน กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่นั้นเป็นชาวกะเหรี่ยงที่อพยพมาจากประเทศพม่า ซึ่งได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่แถบย่านสองพี่น้องและเขตใกล้เคียง

ปกาเกอะญอ
กลุ่มผ้าทอกะเหรี่ยงโปว์บ้านสองพี่น้อง จุดเด่นคือ มีการพัฒนาวัตถุดิบในการนำมาทอผ้าด้วยการการย้อมเส้นไหม-เส้นฝ้าย ด้วยสีธรรมชาติจากเปลือกตาลโตนด และทลายตาลโตนด ซึ่งเป็นของเหลือทิ้ง ไม่เกิดประโยชน์ ไม่มีมูลค่า จึงนำเปลือกตาลโตนดมาต้มสกัดสี และนำน้ำสีที่สกัดไปย้อม จะให้สีน้ำตาล- ทองแดง มีการฟิกซ์สีด้วยน้ำด่างขี้เถ้าทลายตาลโตนด และนำไปหมักโคลนเกลือ เมื่อนำไปทอผสมกันจะให้ผืนผ้าที่มีสีน้ำตาลอ่อนอมเทา(พาสเทล)เป็นที่นิยม เนื้อผ้ามีความนุ่มขึ้น เมื่อทอตกแต่งด้วยเส้นพุ่งฝ้ายย้อมครั่งด้วยภูมิปัญญาชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์บ้านสองพี่น้องจะได้ผืนผ้าที่มีสีทูโทนสวยงาม ในทุกขั้นตอน และกระบวนการผลิต ไร้สารเคมี ไม่เป็นอันตรายต่อผิวของผู้ใช้ เป็นการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น ที่เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และซีโร่เวสท์ (Zero Wase) เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มวัสดุเหลือใช้ เป็นการลดขยะตั้งแต่ต้นทาง เนื่องจาก เปลือกตาลโตนด หลังจากต้มสกัดสีแล้ว นำไปเป็นปุ๋ยใส่ต้นไม้ หรือนำไป ตากแห้ง นำกลับมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้อีก ส่วน ทลายตาลโตนด ที่เหลือทิ้งนำไปตากแห้ง ทำเชื้อเพลิง สำหรับย้อมสีเส้นไหม-เส้นฝ้าย และเป็นขี้เถ้าทำน้ำด่างสำหรับฟิกซ์สี เพื่อทำให้สีไม่ตก ติดทนนาน ผู้สนใจสามารถติดต่อชมผลิตภัณฑ์ได้ที่ วิสาหกิจชุมชนอัตลักษณ์ผ้าทอกะเหรี่ยงโปว์บ้านสองพี่น้อง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

ประชาชนในเขตชุมชนกะเหรี่ยงบ้านสองพี่น้อง ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และนับถือผี เป็นชนกลุ่มหนึ่งที่มีชีวิตเป็นอิสระท่ามกลางธรรมชาติ ต้นไม้ ภูเขา โขดหิน ลำธาร ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ชาวกะเหรี่ยงจึงเชื่อว่าธรรมชาตินั้นมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีวิญญาณ ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ สายน้ำหรือพื้นดิน ชาวกะเหรี่ยงจึงมีประเพณีความเชื่อในการกราบไหว้ บวงสรวง 

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม 

1) ประเพณีข้าวห่อ 

ประเพณีกินข้าวห่อ เป็นประเพณีของชาวกะเหรี่ยงโปว์ หรือโพล่ง จัดขึ้นในช่วงเดือน 9 ของทุกปี  คืออยู่ในราวเดือนสิงหาคมจนถึงกันยายน ส่วนใหญ่ชาวกะเหรี่ยงในแถบภูมิภาคตะวันตกในเขตราชบุรี  เพชรบุรี จะทยอยจัดงานประเพณีกินข้าวห่อเวียนไปตามหมู่บ้านต่างๆ ตลอดทั้งเดือน

ในภาษากะเหรี่ยง เรียกประเพณีนี้ว่า “อั้งมี่ถ่อง” อั้งแปลว่า กิน มี่ถ่องแปลว่า ข้าวห่อ อั้งมี่ถ่องแปลว่ากินข้าวห่อ  อย่างก็ดีในอดีตชาวกะเหรี่ยงจะเรียกประเพณีนี้ว่า “ไค่จุ้งหล่าค่อก”  ไค่จุ้งแปลว่าผูกแขนหรือผูกข้อมือ  หล่าแปลว่าเดือนหรือขวัญ ค่อกแปลว่าเลขเก้า  ซึ่งโดยรวมมีความหมายว่า “พิธีสู่ขวัญเดือนเก้า” การผูกแขนหรือผูกข้อมือ เปรียบเสมือนการผูกขวัญหรือเรียกขวัญนั่นเอง

2) ประเพณีเทศกาลเวียนศาลา  

เป็นประเพณีของชาวกระเหรี่ยงแถบอำเภอหนองหญ้าปล้อง และ แก่งกระจานที่ปฏิบัติมานานในปีหนึ่ง ๆ จะเวียนศาลา 2 ครั้ง คือ วันแรม 8 ค่ำ เดือน 5 ของทุก ๆ ปี โดยจะนำดอกไม้สดมาร้อยด้วยมือเป็นมาลัยซึ่งมีลักษณะคล้ายการเวียนเทียนของชาวไทย จะประกอบ ไปด้วย ธูปเทียน ดอกไม้และนัดกันมาเวียนศาลาในเวลากลางคืน จะทำกันที่ศาลาวัดเก่าครั้งโบราณ ประจำหมู่บ้าน เป็นความเชื่อว่าเมื่อเวียนศาลาแล้วจะมีความสุขความเจริญ เป็นการบูชาและทำความ เคารพดวงวิญญาณของผู้ที่ตายไปแล้วที่ที่มาสิงสถิตอยู่ ณ ศาลา 

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

ชาวกะเหรี่ยงบ้านสองพี่น้องประกอบอาชีพเกษตรกรรม คือข่าวไร่ และไร่สวน เป็นหลัก พืชที่ปลูกมักเป็น มะนาว ข้าวโพด มะละกอ กล้วย มะม่วง ส้มโอ ขนุน นุ่น ละหุ่ง มะเขือ เป็นต้น โดยมักจะใช้การปลูกสลับกันในแต่ละชนิด เนื่องด้วยสภาพอากาศและพื้นที่การเพาะปลูก

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วิสาหกิจชุมชนอัตลักษณ์ผ้าทอกะเหรี่ยงโปว์บ้านสองพี่น้อง ผ้าทอวิสาหกิจชุมชนอัตลักษณ์ผ้าทอกะเหรี่ยงโปว์บ้านสองพี่น้อง ต.สองพี่น้อง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่สืบทอดกันมาช้านาน ล่าสุดมีการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญากลุ่มชาติพันธุ์ด้วยการย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติจากเปลือกตาลโตนด

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ มีแนวคิดพัฒนาวัตถุดิบที่นำมาทอผ้าด้วยการย้อมเส้นไหม เส้นฝ้ายด้วยสีธรรมชาติจากเปลือกตาลโตนด และทะลายตาลโตนด ซึ่งเป็นของเหลือทิ้ง ไม่เกิดประโยชน์ ไม่มีมูลค่า เริ่มจากนำเปลือกตาลโตนดมาต้มสกัดสีและนำน้ำสีที่สกัดได้ไปย้อมจะให้ได้สีน้ำตาลทองแดง ฟิกซ์สีด้วยน้ำด่างขี้เถ้าทะลายตาลโตนด และนำไปหมักโคลนเกลือ เมื่อนำไปทอผสมกันจะให้ผืนผ้าที่มีสีน้ำตาลอ่อนอมเทา (พาสเทล) เป็นที่นิยม เพราะเนื้อผ้ามีความนุ่มขึ้นเมื่อทอตกแต่งด้วยเส้นพุ่งฝ้ายย้อมครั่งจะได้ผืนผ้าสีทูโทนสวยงาม

ทุกขั้นตอนกระบวนการผลิตไร้สารเคมีไม่เป็นอันตรายต่อผิวของผู้ใช้ เป็นการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นที่เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และซีโรเวส (Zero Wase) เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มวัสดุเหลือใช้อีกทั้งเป็นการลดขยะตั้งแต่ต้นทาง เนื่องจากเปลือกตาลโตนดหลังจากต้มสกัดสีแล้วนำไปเป็นปุ๋ยใส่ต้นไม้ หรือนำไปตากแห้งนำกลับมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้อีก ส่วนทะลายตาลโตนดที่เหลือทิ้งนำไปตากแห้งทำเชื้อเพลิงสำหรับย้อมสีเส้นไหม-เส้นฝ้าย และเป็นขี้เถ้าทำน้ำด่างสำหรับฟิกซ์สี เพื่อทำให้สีไม่ตก ติดทนนาน

ประชากรในชุมชนกะเหรี่ยงบ้านสองพี่น้อง พูดอยู่ 2 ภาษา คือ ภาษากะเหรี่ยงและภาษาไทย ภาษากะเหรี่ยงที่นี่จะไม่เหมือนกับจังหวัดอื่น มักใช้ภาษากะเหรี่ยงสื่อสารกันภายในหมู่บ้านหรือกับกะเหรี่ยงชุมชนอื่น

เนื่องด้วยกาลเวลาผ่านไป หน่วยงานของรัฐเข้ามามีบทบาทในหมู่บ้านสองพี่น้อง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อาทิ การใช้ภาษา ที่ต้องใช้ภาษาไทยมากขึ้น ทำให้ภาษากะเหรี่ยงนั้นมีบทบาทน้อยลง การแต่งกายที่เปลี่ยนรูปแบบไป ถนนที่มีการตัดผ่านเข้าหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านได้ติดต่อเดินทางหากันได้ง่ายยิ่งขึ้น อีกทั้งในเรื่องเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตตามแบบชาวกะเหรี่ยงอีกด้วย


แก่งกระจาน
ป่ายางน้ำกลัดเหนือ
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กระทรวงวัฒนธรรม. (2550). กระเหรี่ยงตำบลสองพี่น้อง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: http://www.m-culture.in.th/album/view/169262

กองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (ม...). ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านสองพี่น้อง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://culturalenvi.onep.go.th/site/detail/3482

ข้อมูลจังหวัดเพชรบุรี. (ม.ป.ป). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: http://phetchaburi.go.th/phet2/CODE/files/1416470966_ข้อมูลจังห.pdf

ดำรงพล  อินทร์จันทร์. (2562). รายงานโครงการวิจัยพลวัตชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงภาคตะวันตกของไทย ระยะที่ 1 พื้นที่ศึกษา จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี ;ชุดโครงการศึกษาวิจัยพลวัตของชุมชนชาติพันธุ์เพื่อการสร้างแผนที่วัฒนธรรมมีชีวิต ปีที่ 1 (พ.ศ.2562). กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

สุรพล นาคนคร. (2564). ผ้าทอย้อมสีเปลือกตาลโตนด. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://www.thairath.co.th/news/local/central/2184520

อมรรัตน์ พงศ์พรหม. (2532). พฤติกรรมเด็กกับการศึกษา กรณีศึกษาชุมชนชาวกะเหรี่ยงบ้านสองพี่น้องต.สองพี่น้อง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี. สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.