Advance search

ชาวบ้านชุมชนบ้านบาตูปูเต๊ะ ใช้ภูมิปัญญาในการนำปลาที่อยู่ในสภาพเกือบเน่า มาหมักเกลือเพื่อรักษาสภาพเนื้อปลาจนสามารถนำมาบริโภคได้
หมู่ที่ 4
บ้านบาตูปูเต๊ะ
เกาะลิบง
กันตัง
ตรัง
ธำรงค์ บริเวธานันท์
11 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
27 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
1 พ.ค. 2023
บ้านบาตูปูเต๊ะ

บาตูปูเต๊ะ เป็นภาษามลายู หมายถึง หินขาว คำว่า บาตู หมยาถึง หิน ปูเต๊ะ หมายถึง ขาว เมื่อนำมารวมกัน จึงแปลความได้ว่า หินขาว สาเหตุที่ชื่อ หินขาว เล่ากันว่า บนเกาะลิบงมีก้อนหินสีขาวเป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของ ชื่อหมู่บ้านบาตูปูเต๊ะ 


ชาวบ้านชุมชนบ้านบาตูปูเต๊ะ ใช้ภูมิปัญญาในการนำปลาที่อยู่ในสภาพเกือบเน่า มาหมักเกลือเพื่อรักษาสภาพเนื้อปลาจนสามารถนำมาบริโภคได้
บ้านบาตูปูเต๊ะ
หมู่ที่ 4
เกาะลิบง
กันตัง
ตรัง
92110
7.231624204
99.39495608
องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะลิบง

ประวัติศาสตร์เกาะลิบงและบ้านบาตูปูเต๊ะ มีความสัมพันธ์กับหัวเมืองมลายู ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ชุมชนและผู้คนบนเกาะบง สามารถสืบความทรงจำและมีความร่วมสมัยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุการณ์ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนในชุมชนโดยรวม สามารถแบ่งช่วงประวัติศาสตร์ของเกาะลิบงได้ดังนี้

  • ช่วงที่ 1 ปี พ.ศ. 2204 - พ.ศ. 2310 หัวเมืองมลายู
  • ช่วงที่ 2 ปี พ.ศ. 2310 - พ.ศ. 2365 เมืองท่าค้าขายของตรัง
  • ช่วงที่ 3 ปี พ.ศ. 2433 - ปัจจุบัน 

สมัยรัชกาลที่ 5 พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี เจ้าเมืองตรัง พัฒนาเมืองในหลายด้านและนำยางพารามาปลูกที่เกาะลิบง รวมทั้งตั้งด่านตรวจเก็บภาษีบริเวณแหลมจูโหย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเกาะลิบงเริ่มมีผู้คนจากแผ่นดินใหญ่อพยพมาตั้งถิ่นฐาน และหลังจากนี้ไม่นานมีการสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ที่กันตังส่งผลให้ท่าเรือเกาะลิบงคลายความสำคัญลง ในช่วงต้นเกาะลิบง เป็นที่อยู่ของคน 2 กลุ่ม คือ ชาวเล อาศัยทางด้านทิศใต้บริเวณคลองเคียนจนถึงเขาบาตูปูเต๊ะกับชาวมุสลิม

ชาวมุสลิม อพยพเข้ามาใหม่ อาศัยอยู่ทางด้านเหนือบริเวณบ้านโคกสะท้อน ขณะนั้นมีเพียง 3 ตระกูลคือ หาดเด็น จิเลา และสารสิทธิ์ จำนวน 5 ครัวเรือน ใช้ชีวิตบนบกเลี้ยงชีพด้วยการทำไร่และการประมง จากนั้นมีการปลูกสร้างบ้านเรือนต่อมา ไปทางใต้ที่บ้านบาตูปูเต๊ะหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าหน้าบ้านหมู่ 4 และขยายไปทางหลังเขาหมู่ที่ 5 หลังจากที่มีการตั้งถิ่นฐานและรวมกลุ่มเป็นชุมชนค่อนข้างแน่นอนแล้ว เป็นช่วงของการพัฒนาประเทศเริ่มมีโครงการวางโครงสร้างพื้นฐานของชุมชน เริ่มด้วยการสร้างโรงเรียนเป็นแห่งแรก ปี พ.ศ. 2482 จากนั้นการคมนาคมสาธารณสุข ไฟฟ้า ประปา โทรคมนาคม เกิดขึ้นตามลำดับ ปี พ.ศ. 2500 มีการนำรถจักรยานยนต์เข้ามาใช้ในเกาะ ซึ่งก่อนหน้านี้ชาวบ้านใช้การเดินในการติดต่อมาไปมาหาสู่กัน ปี พ.ศ. 2525 มีการนำรถจักรยานยนต์ 3 ล้อมารับจ้างภายในเกาะ ส่วนการเดินทางไปมาระหว่างเกาะใช้เรือยางแทนเรือแจว เหตุการณ์สำคัญของเกาะลิบงที่เกี่ยวข้องกับบ้านบาตูปูเต๊ะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีดังนี้

  • พ.ศ. 2484 - พ.ศ. 2487 = กองทัพญี่ปุ่นขึ้นเกาะลิบงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
  • พ.ศ. 2498 = ไข้ทรพิษระบาดบนเกาะลิบง
  • พ.ศ. 2512 = เริ่มปลูกยางพารา
  • พ.ศ. 2516 = สร้างโรงเรียนบาตูปูเต๊ะเป็นโรงเรียนขยายโอกาส
  • พ.ศ. 2520 = เริ่มมีอวนเข้ามาจับสัตว์และมีการทำประมงโดยใช้เรือหางยาว
  • พ.ศ. 2522 = ประกาศบังคับใช้เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง
  • พ.ศ. 2523 = สร้างสถานีอนามัย
  • พ.ศ. 2525 = มีรถจักรยานยนต์รับจ้างภายในเกาะ
  • พ.ศ. 2534 = มีหน่วยงานภายนอก NGO เข้ามาทำงานเริ่มต้นยุคฟื้นฟูทรัพยากร
  • พ.ศ. 2537 = จัดตั้งจัดตั้งชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง
  • พ.ศ. 2537 = สร้างโรงไฟฟ้าเครื่องยนต์ดีเซล
  • พ.ศ. 2538 = มีการสร้างชลประทาน
  • พ.ศ. 2541 = ตัดถนนบนเกาะลิบง และเลือกตั้ง อบต.เกาะลิบง ครั้งแรก
  • พ.ศ. 2545 = เปลี่ยนท่าเรือจากท่าเรือบ้านบาตูปูเต๊ะเป็นท่าเรือบ้านพร้าว
  • พ.ศ. 2546 = หมู่ 7 แยกตัวออกจาก หมู่ 4
  • พ.ศ. 2547 = เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ
  • พ.ศ. 2548 = สร้างหอเตือนภัยสึนามิ
  • พ.ศ. 2548 = จัดตั้งกลุ่มโฮมสเตย์
  • พ.ศ. 2552 = โรงเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะเปิดสอนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
  • พ.ศ. 2554 = มีการใช้ระบบไฟฟ้าด้วยสายเคเบิ้ลใต้น้ำ
  • พ.ศ. 2554 = มีโครงการบ้านมั่นคง
  • พ.ศ. 2556 = เกิดเหตุการณ์ดินสไลด์และน้ำท่วมเกาะลิบงเป็นครั้งแรก
  • พ.ศ. 2558 = สร้างหอชมพะยูน
  • พ.ศ. 2559 = สร้างเตาเผาขยะ
  • พ.ศ. 2560 = มีเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ
  • พ.ศ. 2561 = ปรับปรุงศูนย์สาธิตการตลาดบาตูปูเต๊ะเป็นศูนย์บริการนักท่องเที่ยวและจำหน่ายสินค้าชุมชน (นตนน นรานันท์,2560)

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 1 บ้านโคกสะท้อน
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 7 บ้านทรายแก้ว ทะเลอันดามัน
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 5 บ้านหลังเขา
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ทะเลอันดามัน

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ

บ้านบาตูปูเต๊ะ ตั้งอยู่บนเกาะลิบง ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ในทะเลอันดามันเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในทะเลตรัง มีพื้นที่ 25,000 ไร่ ได้รับการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง พื้นที่ราว 40 % เป็นภูเขาวางตัวแนวเหนือ - ใต้ค่อนไปทางตะวันตกของเกาะ จุดที่สูงที่สุดของยอดเขาประมาณ 300 เมตร ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ในช่วงนี้ฝนตกราวเดือนพฤษภาคม ถึง ตุลาคม และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงนี้อากาศร้อนราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนพฤษภาคม นออกจากนี้ชุมชนยังมีการเรียกลมประจำถิ่น ที่พัดผ่านในพื้นที่ซึ่งเอื้อต่อการทำประมงเป็นภูมิปัญญาด้านการดูทิศทางลมที่สั่งสมมาจากรุ่นบรรพบุรุษ อาทิ ลมตาหรา พัดจากทิศเหนือช่วงเดือนพฤศจิกายน - กุมภาพันธ์ เอื้อต่อการจับสัตว์น้ำทั่วไป  ลมหัวนอน พัดจากทิศใต้ ช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคม ลมนี้ก่อให้เกิดคลื่นใต้น้ำ ทำให้กุ้ง ปลา ชุกชุม เป็นต้น

จำนวนประชากรของบ้านบาตูปูเต๊ะ จากการสำรวจข้อมูลสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) โดยสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง เดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2566 รายงานจำนวนประชากร บ้านบาตูปูเต๊ะ หมู่ที่ 4 ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ปรากฏจำนวนประชากรชาย 417 คน จำนวนประชากรหญิง 414 คน จำนวนประชากรทั้งหมด 831 คน และจำนวนหลังคาเรือน 281 (หลังคาเรือน) 

มลายู
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

สมาชิกชุมชนบ้านบาตูปูเต๊ะนับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่  วัฒนธรรมอิสลามจึงเป็นวิถีชีวิตของชุมชน การปฏิบัติตนตามหลักคำสอนของศาสนาเป็นสิ่งที่สมาชิกของชุมชนดำเนินอย่างไม่บกพร่อง วัฒนธรรมอิสลามของชุมชนประกอบด้วย การละหมาดประจำสัปดาห์ พิธีเข้าสุหนัต นิกะห์ การถือศีลอด วันฮารีรายอ

ด้านการประกอบอาชีพสมาชิกในชุมชน ประกอบอาชีพหลากหลายทั้งด้านการเกษตรกรรม การประมง รับจ้างทั่วไป ขายของทั่วไปในชุมชน เช่น อาหาร ร้านของชำ นอกจากนี้ทำธุรกิจสืบเนื่องจากการท่องเที่ยว อาทิ การขับเรือท่องเที่ยว โฮมสเตย์ เป็นต้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนชุมชนบ้านบาจูปูเต๊ะ ที่เป็นการใช้ประโยชน์จากปลาอย่างคุ้มค่า และเป็นหนึ่งในการถนอมอาหารแบบพื้นบ้านของชุมชนประมงคือ ภูมิปัญญาการทำปลาเนื้อส้ม ซึ่งเกิดจากความต้องการแก้ปัญหาของชาวประมง ที่พบว่าปลาที่อยู่ในครัว ในเรือหรือปลาที่จับมาได้มีลักษณะเสียสภาพไม่สามารถขายได้ กล่าวคือเป็นปลาตายระยะที่ 3 ของของการเปลี่ยนแปลงชีวเคมี  ในทางวิทยาศาสตร์เมื่อปลาตายระยะเกือบเน่า จะเกิดจากการย่อยสลายของเอนไซม์ภายในเนื้อปลา นอกจากนั้นอาจมีปฏิกิริยาจากจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนเนื้อเยื่อร่วมด้วย เนื้อที่ทิ้งไว้ในระยะนี้เวลานานจะเกิดการอ่อนตัวและยุ่ยเละในที่สุด ระยะเวลาขึ้นอยู่กับอุณหภูมิในการเก็บรักษาเนื้อปลา ปลาในระยะนี้พบสารประกอบโมเลกุลเล็ก ๆ เกิดขึ้นมากมาย  ทำให้เกิดสีกลิ่นและรสชาติแตกต่างกันไป ชุมชนหาวิธีการในการแปรรูป ด้วยกระบวนการหมักโดยใช้เกลือเป็นตัวช่วยในการหมัก ซึ่งเกลือที่ใช้คือเกลือสมุทรเพราะหาง่าย ราคาถูกและเป็นแหล่งจุลินทรีย์ที่ส่งผลต่อการหมัก

ปลาเนื้อส้ม จึงเป็นภูมิปัญญาอาหารของชุมชนเป็นการถนอมอาหารที่เริ่มมาจากปลาเน่าแล้ว และนำมาเก็บรักษาให้นานขึ้น ขั้นตอนและวิธีการทำเป็นการทำที่ต้องมีใจรักเริ่มตั้งแต่กระบวนการทำ ถ้าเก็บรักษาปลาพองไม่ดีปลาถูกแมลงวันวางไข่ การแก้ปัญหาของผู้แปรรูปจะใช้ข้าวสารมายัดในตัวปลาที่แมลงวันมาวางไข่

ภาษาถิ่นใต้ จังหวัดตรัง เกาะลิบง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การทำปลาเนื้อส้มของชุมชนบ้านบากูปูเต๊ะ กรณีเป็นปลาอินทรีย์

  • ควักไส้ ควักเหงือก ออกให้หมดโดยไม่ใช้มีดกรีดบริเวณช่องท้องของปลา
  • วางปลา ในพื้นที่อากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อให้ปลามีลักษณะผิวตึง ลักษณะของปลาสีขาวนวล
  • เมื่อปลาเริ่มพอง นำเกลือใส่ในตัวปลา การใส่เกลือในตัวปลาเปิดบริเวณเหงือกปลาใต้คาง ใส่เกลืออัดเข้าในตัวปลาจนแน่น ต้องระวังไม่ให้บริเวณช่องท้องแตก
  • นำแผ่นพลาสติกห่อให้ทั่วตัวปลาแบบมิดชิด เพื่อป้องกันแมลงวันลงไปไข่ที่ตัวปลา
  • มัดเชือกแบบพันรอบตัว การพันเชือกเหมือนกับการพันเชือกข้าวต้มมัด การพันเชือกแบบนี้เพื่อเป็นการบังคับรูปทรงตัวปลาให้มีลักษณะตัวปลาตรงสวยงาม
  • นำปลาที่มัดพันเชือกแขวนให้ส่วนหัวปลาชี้ขึ้นฟ้า ส่วนหางปลาอยู่ข้างล่าง แขวนลักษณะนี้ 3 วัน เมื่อครบกำหนด 3 วัน ทำการแขวนสลับกลับหัวหางคือ หัวปลาชี้ลงพื้น หางปลาชี้ขึ้นฟ้า โดยแขวนสลับแบบนี้ทุก 3 วัน กำหนดระยะเวลาในการแขวนปลาแบบนี้ 10-14 วัน
  • เมื่อครบกำหนดวัน ลักษณะของตัวปลาผิวหนังไม่พองและไม่ตึงจนเกินไป สีของปลาด้านในเป็นสีส้ม ชมพูกลิ่นเหมือนปลาอินทรีย์เค็ม สามารถนำมาทอดรับประทานได้ทันที 

วิธีทำปลาเนื้อส้มกรณีปลาสีเสียด

  • ควักไส้ ควักเหงือก ออกให้หมดโดยไม่ใช้มีดกรีดบริเวณช่องท้องของปลา
  • นำปลามาเก็บไว้ในลังโฟมเพื่อให้ตัวปลามีลักษณะผิวตึงสีของปลามีสีขาวนวล
  • เมื่อปลาเริ่มพอง นำเกลือใส่ในตัวปลา การใส่เกลือในตัวปลาเปิดบริเวณเหงือกปลาใต้คาง ใส่เกลืออัดเข้าในตัวปลาจนแน่น
  • นำกระดาษอ่อนสีน้ำตาลอ่อนมาห่อให้ทั่วตัวปลาแบบมิดชิดเพื่อป้องกันแมลงวันไข่ในตัวปลา
  • มัดเชือกแบบพันรอบตัว การพันเชือกเหมือนกับการพันเชือกข้าวต้มมัด การพันเชือกแบบนี้เพื่อเป็นการบังคับรูปทรงตัวปลาให้มีลักษณะตัวปลาตรงสวยงาม
  • นำปลาที่มัดพันเชือกมาแขวนให้ส่วนหัวปลาชี้ขึ้นฟ้าหางปลาอยู่ด้านล่างแขวนแบบนี้ 3 วันเมื่อครบกำหนดนำปลามาแขวนสลับแบบข้างต้นหัวปลาชี้ลงพื้นหางปลาชี้ขึ้นฟ้าแขวนสลับแบบนี้ทุก 3 วันเป็นเวลา 10-14 วันโดยมีถุงพลาสติกมัดเว้นระยะพื้นที่ว่างให้น้ำจากหัวปลาไหลลงถุง
  • เมื่อครบกำหนดวัน ลักษณะของตัวปลาผิวหนังไม่พอง (แห้ง) สีของปลาด้านในเป็นสีน้ำตาลเข้ม

การแปรรูปปลาเนื้อส้ม ข้อสำคัญคือการใส่เกลือในปลา เพราะถ้าหากใส่เกลือน้อยเกินไปเนื้อปลาจะเละไม่เป็นรูปหรือชิ้นของปลา เป็นไปได้ว่าปลาเนื้อส้มอาจเน่าเสียได้ แต่ถ้าหากใส่เกลือเยอะเกินไปในการแปรรูปเนื้อของปลาส้มจะมีลักษณะแข็ง

นตนน นรานันท์. (2560). การศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นปลาเนื้อส้ม: กรณีศึกษาบ้านบาตูปูเต๊ะ ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.